แถลงข่าวเศรษฐกิจและการเงินเดือนตุลาคม 2554

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday December 1, 2011 13:17 —ธนาคารแห่งประเทศไทย

ฉบับที่ 54/2554

ภาวะเศรษฐกิจในเดือนตุลาคม 2554 ได้รับผลกระทบจากอุทกภัยและภาวะเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัวส่งผลให้การผลิตและการส่งออกสินค้าอุตสาหกรรมสำคัญหดตัว โดยเฉพาะยานยนต์ อิเล็กทรอนิกส์ และเครื่องใช้ไฟฟ้า ขณะที่การส่งออกสินค้าในกลุ่มที่ไม่ได้รับผลกระทบจากอุทกภัยยังคงขยายตัว ส่วนอุปสงค์ในประเทศขยายตัวชะลอลงจากปัญหาการผลิตและการขนส่งเป็นสำคัญ สำหรับอัตราเงินเฟ้อยังคงอยู่ในระดับสูง

รายละเอียดของภาวะเศรษฐกิจไทย มีดังนี้

สถานการณ์อุทกภัยที่รุนแรงและขยายวงกว้างในพื้นที่ภาคกลาง โดยเฉพาะในจังหวัดพระนครศรีอยุธยาและปทุมธานีซึ่งเป็นที่ตั้งของนิคมอุตสาหกรรม 7 แห่ง รวมถึงเป็นแหล่งเพาะปลูกข้าว ที่สำคัญ ส่งผลกระทบต่อการผลิตและการส่งออก โดยดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมหดตัวร้อยละ 35.8 จากระยะเดียวกันปีก่อน เป็นการหดตัวในทุกหมวดสินค้า ส่วนใหญ่เป็นผลจากการหยุดผลิตของโรงงานที่ได้รับผลกระทบจากอุทกภัยทั้งทางตรงและทางอ้อมจากปัญหาขาดแคลนชิ้นส่วน โดยเฉพาะการผลิตฮาร์ดดิสก์ไดรฟ์ ยานยนต์ หลอดอิเล็กทรอนิกส์และส่วนประกอบ และเครื่องใช้ไฟฟ้า ส่งผลให้การส่งออกสินค้าในกลุ่มดังกล่าวหดตัว ขณะที่การส่งออกสินค้าในหมวดอื่นที่ไม่ได้รับผลกระทบจากอุทกภัย อาทิผลิตภัณฑ์ยาง น้ำตาล และอาหารพร้อมปรุง ยังคงขยายตัวตามอุปสงค์ต่างประเทศที่มีอย่างต่อเนื่องโดยรวมแล้วการส่งออกในเดือนนี้หดตัวร้อยละ 0.1 จากระยะเดียวกันปีก่อน โดยมีมูลค่าการส่งออก 17,019 ล้านดอลลาร์ สรอ. ส่วนการนำเข้าขยายตัวร้อยละ 20.6 จากระยะเดียวกันปีก่อน แต่หากไม่นับรวมทองคำการนำเข้าในเดือนนี้จะขยายตัวร้อยละ 8.7 ชะลอลงจากเดือนก่อนในเกือบทุกหมวดสินค้า ส่วนหนึ่งเป็นผลจากปัญหาอุทกภัยที่ทำให้ความต้องการสินค้าทุนและวัตถุดิบเพื่อการผลิตลดลง รวมทั้งความต้องการในตลาดโลกที่ชะลอตัวทำให้การนำเข้าชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์สำหรับการผลิตเพื่อส่งออกชะลอลง

สำหรับภาคเกษตร ผลผลิตขยายตัวร้อยละ 7.4 จากระยะเดียวกันปีก่อน ชะลอลงจากเดือนก่อนตามผลผลิตข้าวที่ชะลอลงเป็นสำคัญ เป็นผลจากการเร่งเก็บเกี่ยวผลผลิตในเดือนก่อนเพื่อหลีกเลี่ยงความเสียหายจากน้ำท่วม รวมถึงบางส่วนได้รับความเสียหายจากน้ำท่วมโดยตรง ขณะที่ผลผลิตยางพาราและปาล์มน้ำมันยังขยายตัวในเกณฑ์ดี ด้านราคาสินค้าเกษตรชะลอลงตามราคายางพาราเป็นสำคัญจากอุปสงค์ที่ลดลงจากการหยุดผลิตของโรงงานรถยนต์หลายแห่ง ส่งผลให้รายได้เกษตรกรขยายตัวชะลอลงเหลือร้อยละ 11.8 เมื่อเทียบกับเดือนก่อนที่ขยายตัวร้อยละ 22.2

อุปสงค์ในประเทศ การบริโภคภาคเอกชนขยายตัวชะลอลงจากปัญหาอุทกภัยที่ส่งผลกระทบต่อภาคการผลิต การขนส่ง และรายได้ของผู้บริโภคในหลายจังหวัด สะท้อนจากดัชนีการอุปโภคบริโภค

ภาคเอกชนที่ขยายตัวจากระยะเดียวกันปีก่อนร้อยละ 2.2 ชะลอลงตามเครื่องชี้การบริโภคในทุกหมวด ส่วนการลงทุนภาคเอกชนขยายตัวชะลอลงจากผลของอุทกภัยและการเร่งลงทุนไปแล้วในช่วงก่อนหน้า สะท้อนจากดัชนีการลงทุนภาคเอกชนที่ขยายตัวจากระยะเดียวกันปีก่อนร้อยละ 6.3 ชะลอลงจากเดือนก่อน โดยเฉพาะการลงทุนในหมวดเครื่องจักรและอุปกรณ์ สำหรับภาครัฐการเบิกจ่ายลดลงจากระยะเดียวกันปีก่อน เนื่องจาก พ.ร.บ. งบประมาณรายจ่ายประจำปี 2555 ยังไม่ประกาศใช้ ขณะที่การจัดเก็บรายได้ขยายตัวในอัตราชะลอลงจากปัญหาอุทกภัยและการขยายระยะเวลาปรับลดอัตราภาษีสรรพสามิตน้ำมันไปจนถึงสิ้นเดือนธันวาคม 2554 อย่างไรก็ดี รัฐบาลจัดเก็บรายได้น้อยกว่ารายจ่าย ทำให้รัฐบาลขาดดุลเงินสด 64.9 พันล้านบาท

ภาคการท่องเที่ยวได้รับผลกระทบจากอุทกภัยเช่นเดียวกันจากการที่หลายประเทศประกาศเตือนการเดินทางมาพื้นที่น้ำท่วมในประเทศไทย ส่งผลให้นักท่องเที่ยวชะลอการเดินทาง โดยจำนวนนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติในเดือนนี้มีจำนวน 1.4 ล้านคน ขยายตัวจากระยะเดียวกันปีก่อนร้อยละ 7.5 ชะลอลงจากเดือนก่อนที่ขยายตัวร้อยละ 23.5 ขณะที่อัตราการเข้าพักเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนจากการที่ผู้ประสบภัยย้ายที่พักชั่วคราว โดยเฉพาะในพื้นที่ภาคกลาง

เสถียรภาพเศรษฐกิจในประเทศ อัตราเงินเฟ้อทรงตัวในระดับสูง โดยอัตราเงินเฟ้อทั่วไปเร่งขึ้นจากเดือนก่อนมาอยู่ที่ร้อยละ 4.19 ตามราคาอาหารสดที่เร่งขึ้นจากปัญหาอุทกภัยในหลายพื้นที่ ส่วนอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานอยู่ที่ร้อยละ 2.89 ทรงตัวใกล้เคียงกับเดือนก่อน สำหรับเสถียรภาพเศรษฐกิจต่างประเทศอยู่ในเกณฑ์มั่นคง โดยสัดส่วนเงินสำรองระหว่างประเทศต่อหนี้ระยะสั้นและต่อการนำเข้ายังอยู่ในเกณฑ์สูง

ธนาคารแห่งประเทศไทย

ข้อมูลเพิ่มเติม: ทีมเศรษฐกิจมหภาค

โทร. 0-2283-5647, 0-2283-5648

e-mail: MPGMacroEconomics@bot.or.th

ที่มา: ธนาคารแห่งประเทศไทย


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ