สุนทรพจน์: Financial Market Infrastructure: Competitiveness to AEC 2015

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday December 7, 2011 14:01 —ธนาคารแห่งประเทศไทย

ปาฐกถาพิเศษ

ดร. ประสาร ไตรรัตน์วรกุล

ผู้ว่าการ ธนาคารแห่งประเทศไทย

“Financial Market Infrastructure: Competitiveness to AEC 2015”

ในงานสัมมนาระบบการเงิน เรื่อง “Financial Market Integration: A World of Opportunity,

is Thailand Ready?

ณ โรงแรมคอนราด กรุงเทพฯ

วันพุธที่ 7 ธันวาคม 2554

ท่านเลขาธิการอาเซียน ดร.สุรินทร์ พิศสุวรรณ และท่านผู้มีเกียรติทุกท่าน

ผมรู้สึกยินดีและเป็นเกียรติที่ได้มาร่วมงานสัมมนาประจำปีของ National ITMX ในครั้งนี้National ITMX มีบทบาทสำคัญต่อระบบเศรษฐกิจไทยและให้บริการแก่ประชาชนและภาคธุรกิจได้ดีตลอดมา ในฐานะผู้ดำเนินการระบบการชำระเงินที่เป็นโครงสร้างพื้นฐานของประเทศ อย่างระบบ ATM และระบบการโอนเงินรายย่อยระหว่างธนาคาร รวมถึงการเชื่อมโยงระบบการชำระเงินกับต่างประเทศดังนั้น National ITMX จึงถือได้ว่าเป็นหัวจักรสำคัญในการขับเคลื่อนอนาคตระบบการเงินของประเทศและจะเป็นปัจจัยหลักประการหนึ่งที่จะสร้างโอกาสให้ประเทศไทยมีผลิตภัณฑ์และบริการทางการเงินที่เป็นเลิศในภูมิภาค

งานสัมมนาในวันนี้จึงนับเป็นโอกาสที่ดียิ่งที่เราจะได้มาร่วมกันแลกเปลี่ยนวิสัยทัศน์ และกลยุทธ์ที่จะผลักดันบทบาทของภาคการเงินไทยในยุคแห่งการรวมตัวของอาเซียน

การรวมตัวเป็นประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนหรือ ASEAN Economic Community ที่เรียกสั้นๆ ว่า AEC นั้น เราก็ได้เห็นความคืบหน้ากันมาอย่างต่อเนื่อง ทั้งการเปิดเสรีการค้าสินค้า การค้าบริการ การลงทุน แรงงานฝีมือ และการเคลื่อนย้ายเงินทุนที่เสรีขึ้น แต่เป้าหมายของ AEC 2015 จะให้ภาพของการเป็นประชาคมที่ชัดเจน โดยที่ตลาดต่างๆ รวมกันเป็นหนึ่งเดียว มีความเสรี และมีขนาดใหญ่ระดับโลกวิสัยทัศน์นี้จึงเป็นโอกาสและความท้าทายที่สำคัญของพวกท่านที่เป็นผู้นำในระบบการเงินของไทย

วันนี้ ถ้าเรามองไปรอบๆ ประเทศเพื่อนบ้านอาเซียน จะพบว่าหลายประเทศได้มีการเตรียมความพร้อมไปมากแล้ว ทั้งการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันพร้อมที่จะแข่งไม่เพียงแต่ในประเทศของตน แต่มีกลยุทธ์ที่จะไปแข่งในตลาดใหม่ๆ ของประเทศเพื่อนบ้านด้วย หลายประเทศก็ได้เร่งพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานทางการเงินเพื่อใช้ประโยชน์จาก AEC อย่างเต็มที่ ผมคิดว่าขณะนี้ เป็นเวลาที่เราไม่ควรนิ่งเฉย แต่เราต้องร่วมมือกันทุกฝ่ายทั้งภาครัฐและเอกชนให้มีความพร้อมที่จะคว้าโอกาสจากการรวมตัวทางเศรษฐกิจของอาเซียน พร้อมแข่งขันทางธุรกิจกับคู่แข่งจากประเทศอื่นในอาเซียน ทั้งในประเทศและการแข่งขันข้ามพรมแดน ผมเห็นว่า AEC จะเป็นโอกาสต่อประชาชน ต่อธุรกิจของท่านและต่อส่วนรวมของประเทศ

สำหรับหัวข้อในวันนี้ Financial Market Infrastructure: Competitiveness to AEC 2015 ผมจะพูดใน 3 เรื่อง คือ (1) โอกาสทางธุรกิจจาก AEC (2) ภาคการเงินและระบบการชำระเงินกับการรวมตัวเป็น AEC และ (3) การเตรียมพร้อมของภาคการเงินไทย

เรื่องแรก โอกาสทางธุรกิจจาก AEC

การรวมตัวเป็น AEC เป็นการเพิ่มโอกาสทางธุรกิจของทุกประเทศในอาเซียนจากการขยายตลาดสินค้าและบริการต่างๆ ซึ่งจะทำให้อาเซียนเป็นตลาดเดียวกันที่มีประชากรเกือบ 600 ล้านคน ในขณะเดียวกันก็เป็นการขยายฐานการผลิตด้วย ซึ่งการรวมตัวเป็น AEC ภายในปี 2015 นั้นไม่ใช่เรื่องใหม่ แต่เป็นการสานต่อการเปิดเสรีการค้าสินค้าของอาเซียนหรือ AFTA ที่ดำเนินการมาอย่างต่อเนื่องจนเมื่อปีที่แล้ว ประเทศสมาชิกหลักได้ลดภาษีสินค้านำเข้าเกือบทุกรายการจนเหลือ 0% และกลุ่มประเทศที่เหลือ คือ กัมพูชา ลาว พม่า และเวียดนาม หรือที่เราเรียกกันย่อๆ ว่า CLMV ก็จะลดภาษีให้เหลือ 0% ภายในปี 2015 เช่นกัน นอกจากนั้น การเป็นตลาดเดียวของอาเซียนจะสมบูรณ์ได้เมื่อมีการเปิดเสรีด้านอื่นๆ ไปพร้อมกันด้วย ได้แก่ การค้าบริการซึ่งรวมภาคการเงิน การลงทุน การเคลื่อนย้ายเงินทุนและแรงงานฝีมือ ควบคู่กับความร่วมมือระหว่างประเทศสมาชิกอาเซียนในการเชื่อมโยงโครงสร้างพื้นฐานทางการเงิน เช่น ระบบการชำระเงิน เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดจากการรวมตัวเป็นAEC ดังนั้น ประโยชน์และโอกาสจากการรวมตัวเป็น AEC คือ การขยายตลาดและโอกาสการค้าการลงทุนระหว่างกัน ทำให้ธุรกิจของอาเซียนแข็งแกร่งขึ้น และทำให้อาเซียนเป็นตลาดที่น่าสนใจสำหรับนักลงทุน นำมาซึ่งการขยายตัวของภาคเศรษฐกิจจริง และความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นของประชาชนในประเทศสมาชิกอาเซียน

โอกาสทางธุรกิจจากการรวมตัวเป็น AEC ไม่ได้จำกัดอยู่เพียงตลาดภายในอาเซียนเท่านั้นด้วยขนาดของตลาดอาเซียนที่ใหญ่และสำคัญขึ้น ปัจจัยการผลิตและสภาพแวดล้อมด้านการลงทุนที่จูงใจไม่ว่าจะเป็นกฎระเบียบ และความโปร่งใสในการทำธุรกิจ จะดึงดูดให้เกิดการรวมตัวการค้าการลงทุนกับเศรษฐกิจขนาดใหญ่ในเอเชีย เช่น จีน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ หรือที่เรียกว่า ASEAN+3 และการรวมตัวอีกขั้นหนึ่งกับออสเตรเลีย นิวซีแลนด์และอินเดีย หรือที่เรียกว่า ASEAN+6 กลายเป็นตลาดขนาดใหญ่ขึ้นที่มีประชากรในหลักพันล้านคน ซึ่งประเทศเหล่านี้มีจุดเด่น คือ มีเสถียรภาพจากการปฏิรูประบบการเงินและมีการขยายตัวอย่างรวดเร็วจากการเปิดเสรี มีกำลังซื้อมหาศาลจากจำนวนชนชั้นกลางที่เพิ่มขึ้น และก็มีฐานะทางการเงินมั่นคงด้วยเงินสำรองระหว่างประเทศที่มีจำนวนสูงถึง 4.8 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ

ดังนั้น โอกาสทางธุรกิจจากการรวมตลาดอาเซียนเป็นตลาดเอเชียยิ่งทวีคูณ เช่น ปริมาณการค้าระหว่างประเทศของตลาดอาเซียน จากเดิมอยู่ที่ 2 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ เมื่อรวมกับการค้าในตลาดเอเชียจะขยายเป็น 4 เท่า ส่วนโอกาสในการลงทุนทางการเงินก็ย่อมจะสูง เพราะ AEC มีการออมที่สูงถึงร้อยละ 30 ของ GDP ซึ่งจะเป็นฐานรองรับการลงทุนเพื่อยกระดับเศรษฐกิจ ไม่ว่าจะเป็นการพัฒนาระบบโครงสร้างพื้นฐานด้านสาธารณูปโภค หรือด้านการขยายฐานตลาดการเงิน โดยที่ผ่านมาอาเซียนได้เล็งเห็นถึงโอกาสทางธุรกิจดังกล่าวและได้ประสานความร่วมมือทางเศรษฐกิจกับกลุ่มประเทศ เอเชียเหล่านี้ ทั้งการจัดทำข้อตกลงเขตการค้าเสรี FTA และความร่วมมือด้านการเงิน เช่น Chiang Mai Initiative Multilateralization หรือ CMIM และการพัฒนาตลาดทุนในเอเชีย หรือ Asian Bond Market Initiative หรือ ABMI ซึ่งจะช่วยส่งเสริมบทบาทและความน่าเชื่อของเอเชียในเวทีเศรษฐกิจโลกให้มีมากขึ้นด้วย

เรื่องที่สอง ภาคการเงินและระบบการชำระเงินกับการรวมตัวเป็น AEC

การจะบรรลุวัตถุประสงค์ของการรวมตัวเป็น AEC เพื่อสร้างโอกาสทางธุรกิจให้เกิดขึ้นอย่างชัดเจนนั้น ต้องอาศัยการทำงานและความร่วมมือที่สนับสนุนซึ่งกันและกันของส่วนต่างๆ ในระบบเศรษฐกิจของประเทศ ซึ่งภาคการเงินก็มีบทบาทสำคัญที่จะช่วยสนับสนุนภาคเศรษฐกิจจริงในการขยายตลาดและฐานการผลิต เพื่อให้เกิดการค้าการลงทุนระหว่างกันมากขึ้น ทำให้อาเซียนเป็นภูมิภาคที่มีความสามารถในการแข่งขัน และประชาชนในภูมิภาคมีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น โดยความร่วมมือด้านการเงินของประเทศสมาชิกอาเซียนมี 4 เรื่องที่สำคัญ คือ (1) ความร่วมมือด้านระบบการชำระเงิน (2) การเปิดเสรีด้านเงินทุนเคลื่อนย้าย (3) การเปิดเสรีภาคการธนาคาร และ (4) การพัฒนาตลาดทุน

ท่านผู้มีเกียรติครับ ผมจะขอลำดับให้เห็นภาพรวมของความร่วมมือด้านการเงินของอาเซียน (1) ความร่วมมือด้านระบบการชำระเงิน

ระบบการชำระเงินที่เชื่อมโยงกันในภูมิภาคอาเซียนที่มีประสิทธิภาพ น่าเชื่อถือสะดวกในการใช้สำหรับประชาชนและภาคธุรกิจ และไม่แพง เป็นหนงึ่ ในบทบาทสำคัญของภาคการเงินที่จะส่งเสริมการรวมตัวเป็น AEC เนื่องจากระบบการชำระเงินเปรียบได้กับถนนสายหลักทางการเงินในภูมิภาคอาเซียนที่เชื่อมโยงภาคธุรกิจของประเทศต่างๆ เข้าด้วยกัน ทั้งในด้านการทำธุรกรรมการค้าและลงทุนระหว่างประเทศ การโอนเงินข้ามพรมแดน รวมถึงการชำระและส่งมอบหลักทรัพย์ทางการเงิน

ด้วยเล็งเห็นความสำคัญในเรื่องนี้ ธนาคารแห่งประเทศไทยได้ร่วมกับธนาคารกลางอินโดนีเซียเป็นประธานร่วมของคณะทำงานด้านระบบการชำระเงิน ซึ่งมีกลยุทธ์ในการพัฒนาระบบการชำระเงินของอาเซียน เริ่มต้นจากการส่งเสริมให้ประเทศสมาชิกมีมาตรฐานด้านระบบการชำระเงินที่เป็นสากลร่วมกัน โดยแต่ละประเทศเตรียมความพร้อมของระบบการชำระเงินของตน ให้สามารถเชื่อมต่อระบบการชำระเงินระหว่างประเทศสมาชิกอาเซียนได้โดยสะดวก มีความปลอดภัย และมีประสิทธิภาพเพื่อรองรับธุรกรรมการเงินระหว่างประเทศด้านต่างๆ เช่น การชำระเงินเพื่อการค้าระหว่างประเทศ การโอนเงินของกลุ่มแรงงานที่ไปทำงานต่างประเทศ การชำระเงินรายย่อย การชำระเงินสำหรับธุรกรรมตลาดทุน สอดคล้องกับการเปิดเสรีภาคการเงินในแผนงานสู่การรวมตัวเป็นประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนหรือ AEC Blueprint และในระยะต่อไปจะสานต่อการเชื่อมโยงระบบการชำระเงินระหว่างอาเซียนกับภายนอกภูมิภาค

(2) การเปิดเสรีเงินทุนเคลื่อนย้าย

นอกเหนือจากความร่วมมือด้านระบบการชำระเงินระหว่างอาเซียนแล้ว การเปิดเสรีเงินทุนเคลื่อนย้ายระหว่างประเทศก็เป็นอีกบทบาทหนึ่งที่สำคัญของภาคการเงินในการสนับสนุนให้เกิดการรวมตัวเป็น AEC ซึ่งเปรียบได้กับการลดด่านตรวจที่ชายแดนภายหลังจากอาเซียนเชื่อมโยงระบบถนนสายหลักทางการเงินเข้าด้วยกันแล้ว ด้วยการลดอุปสรรคจากกฎระเบียบและขั้นตอนในการอนุญาตให้มีการเคลื่อนย้ายเงินทุนเพื่อรองรับการลงทุนจัดตั้งธุรกิจ และการลงทุนทางการเงินข้ามพรมแดน

ขณะเดียวกันอาเซียนก็ให้ความสำคัญต่อการดูแลเสถียรภาพการเงิน หากเงินทุนเคลื่อนย้ายและอัตราแลกเปลี่ยนมีความผันผวน ดังนั้น การเปิดเสรีเงินทุนเคลื่อนย้ายของอาเซียนจึงหมายถึง การเปิดเสรีตามความพร้อมของแต่ละประเทศ ที่คำนึงถึงความสมดุลระหว่างการอำนวยความสะดวกของการเคลื่อนย้ายเงินทุน และความจำเป็นในการรักษาเสถียรภาพของระบบการเงิน ควบคู่ไปกับการมีระบบบริหารความเสี่ยงด้านอัตราแลกเปลี่ยนที่ดี

(3) การเปิดเสรีภาคการธนาคาร

เมื่อมีโครงสร้างพื้นฐานทางการเงินทั้งในด้านระบบการชำระเงิน และกฎเกณฑ์ที่อำนวยความสะดวกในการเคลื่อนย้ายเงินทุนแล้ว การเปิดเสรีภาคการธนาคารจะช่วยให้มีผู้ให้บริการที่แข่งกันพัฒนาผลิตภัณฑ์ทางการเงินที่ตอบโจทย์ของธุรกิจและประชาชน โดยเฉพาะโจทย์ของธุรกิจข้ามพรมแดน ดังนั้น ธนาคารจึงเปรียบเสมือนเป็นผู้ให้บริการรถขนส่งข้ามประเทศที่มีรถที่ดี รู้จักเส้นทางปลอดภัย เคารพกฎจราจร และคิดราคาที่แข่งขันได้ ซึ่งจะนำพาธุรกิจไทยไปสู่ตลาดอาเซียน โดยจะสนับสนุนภาคเศรษฐกิจจริง ด้วยการแข่งขันกันให้บริการทางการเงินที่หลากหลาย ผ่านเครือข่ายถนนสายหลักทางการเงินที่ไม่มีอุปสรรคในการเคลื่อนย้ายเงินทุน เป็นการขยายโอกาสให้สถาบันการเงินไทยในการให้บริการแก่ธุรกิจและแรงงานไทยในอาเซียน ขณะเดียวกัน ก็เป็นโอกาสสำหรับผู้บริโภคและธุรกิจในประเทศที่จะได้รับประโยชน์จากการแข่งขันที่เพิ่มขึ้นโดยการเข้ามามีบทบาทที่มากขึ้นของสถาบันการเงินของอาเซียนในไทย และกระตุ้นให้สถาบันการเงินไทยปรับตัวต่อการแข่งขันในการให้บริการทางการเงินที่ตอบสนองความต้องการและคุ้มครองผู้ใช้บริการอย่างเหมาะสม

ทั้งนี้ การเปิดเสรีภาคการธนาคารเป็นปัจจัยที่สำคัญอีกประการหนึ่งในการรวมตัวเป็น AEC เนื่องจากบทบาทของภาคการธนาคารในการเป็นแกนหลักของระบบการเงินในภูมิภาค ทั้งในด้านเป็นผู้ให้บริการหลักในระบบการชำระเงิน เป็นตัวกลางในการระดมเงินออมและจัดสรรเงินลงทุนของระบบเศรษฐกิจ รวมถึงการเป็นผู้ขายบริการด้านการบริหารความเสี่ยง เช่น ความเสี่ยงด้านอัตราแลกเปลี่ยน ให้กับภาคธุรกิจและประชาชน ธนาคารกลางของอาเซียนจึงได้เร่งดำเนินการจัดทำแผนเปิดเสรีภาคการธนาคารให้ชัดเจนขึ้น โดยคำนึงถึงความพร้อมและสอดคล้องกับแผนพัฒนาระบบสถาบันการเงินของแต่ละประเทศ

(4) การพัฒนาตลาดทุน

องค์ประกอบสำคัญสุดท้ายของภาคการเงินที่จะทำให้การรวมตัวเป็น AEC สมบูรณ์แบบและการเชื่อมโยงทางการเงินในภูมิภาคอาเซียนอย่างครบวงจร คือ การพัฒนาตลาดทุน ซึ่งจะเกิดประโยชน์ต่อระบบเศรษฐกิจในภาพรวมที่ทำให้ระบบการเงินของอาเซียนมีความสมดุลและลดความเสี่ยงที่จะเกิดวิกฤตทางการเงิน โดยไม่ต้องพึ่งพาระบบสถาบันการเงินเพียงอย่างเดียวในการระดมเงินออมและจัดสรรเงินลงทุน ขณะเดียวกัน การพัฒนาตลาดทุนในภูมิภาคอาเซียนยังเป็นการเพิ่มแหล่งระดมทุนสำหรับภาคธุรกิจ และเป็นทางเลือกใหม่ในการออมและลงทุนในตลาดทุนของประเทศสมาชิกอาเซียน นอกเหนือจากตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย

ด้วยตลาดทุนของแต่ละประเทศในอาเซียนมีขนาดค่อนข้างเล็ก ไม่สามารถแข่งขันกับตลาดทุนสำคัญของโลก ดังนั้น อาเซียนจึงสนับสนุนให้มีการเชื่อมโยงตลาดทุนอาเซียนเข้าด้วยกันเพื่อยกระดับความสำคัญของตลาดหลักทรัพย์ในกลุ่มอาเซียนให้เพิ่มสูงขึ้น ขณะเดียวกันนักลงทุนก็สามารถเข้ามาลงทุนหรือระดมทุนได้สะดวกรวดเร็วจากการมีมาตรฐานและกฎระเบียบที่สอดคล้องกัน นอกจากนี้ ยังมีการพัฒนา ASEAN products ที่มีความลึกและหลากหลายยิ่งขึ้น รวมถึงการรวมกลุ่มหลักทรัพย์ bluechip ของตลาดหลักทรัพย์แต่ละแห่งในอาเซียน ที่เรียกว่า ASEAN Stars ให้ที่เป็นที่รู้จักของนักลงทุนทั่วโลก

เรื่องนี้มีความสำคัญเชิงกลยุทธ์ต่อการกำหนดบทบาทของอาเซียนในเวทีโลกใน 3 ประการ ประการแรก ตลาดอาเซียนจะมีความสำคัญในสายตาของนักลงทุนโลก ทำให้หลักทรัพย์ของอาเซียนถูกจัดเอาไว้ในกรอบการลงทุนของผู้ลงทุนที่สำคัญ ประการที่สอง จะช่วยให้เสียงของอาเซียนมีความสำคัญมากขึ้นในการกำหนดกฎเกณฑ์สากลที่นำมากำกับดูแลสถาบันการเงิน ทำให้เรามีโอกาสที่จะผลักดันให้เกณฑ์เหล่านั้นมีความสอดคล้อง และเอื้อต่อเศรษฐกิจของเรา และประการที่สาม การพึ่งพิงตลาดทุนในประเทศพัฒนาแล้วจะน้อยลง สมดุลขึ้น ซึ่งเป็นสิ่งจำเป็นที่จะต้องมีทางเลือก เมื่อประเทศเหล่านี้ยังมีปัญหาวิกฤตการณ์ทางการเงิน

ท่านผู้มีเกียรติครับ

จากที่ท่านได้ฟังบทบาทของภาคการเงินและระบบการชำระเงินในการรวมตัวเป็น AEC ไปแล้ว ผมขอเล่าต่อถึงส่วนที่สาม ซี่งเป็นสิ่งที่เราได้พัฒนาโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ ที่จำเป็นไปบ้างแล้ว แต่ก็ยังจำเป็นต้องได้รับการพัฒนาเพิ่มเติมและปฏิบัติอย่างจริงจังต่อไปอีก

เรื่องที่สาม การเตรียมพร้อมของภาคการเงินไทย

ในช่วงนี้ ผมขอสรุปการเตรียมความพร้อมของภาคการเงินไทยในแต่ละด้าน (1) ความร่วมมือด้านระบบการชำระเงิน

ระบบการชำระเงินของไทยมีพัฒนาการไปมาก ในปัจจุบันก็มีบริการที่สามารถรองรับการชำระเงินในธุรกรรมการค้า การลงทุน และชำระเงินรายย่อยได้ดีพอควร ในด้านการเชื่อมโยงระบบการชำระเงินกับต่างประเทศ ก็สามารถดำเนินการผ่านระบบ Correspondent banking และมีการเชื่อมโยงกับระบบ ATM ASEANPay ซึ่ง National ITMX ได้ดำเนินการเชื่อมโยงระบบ ATM ของประเทศไทยกับมาเลเซียแล้ว ทำให้ผู้ถือบัตร ATM ของสองประเทศสามารถถอนเงินสดที่เครื่อง ATM ของอีกประเทศหนึ่งได้ เป็นการอำนวยความสะดวกให้กับนักธุรกิจและนักท่องเที่ยวของทั้งสองประเทศ ไม่ต้องถือเงินสดจำนวนมากในการเดินทาง ในระยะต่อไปก็จะขยายการเชื่อมโยงระบบ ATM ให้ครอบคลุมประเทศอื่นๆ ในอาเซียนอีกด้วย จึงนับได้ว่าระบบการชำระเงินของเราก็มีบริการที่พร้อมระดับหนึ่งในการที่จะรองรับกิจกรรมทางเศรษฐกิจในอาเซียนที่มีแนวโน้มขยายตัวและเชื่อมโยงกันมากขึ้น

การที่จะพัฒนาระบบการชำระเงินของเราให้เกิดความเชื่อมโยง และรองรับกิจกรรมการค้าการลงทุนกับประเทศอาเซียนอื่นอย่างมีประสิทธิภาพ เราจำเป็นต้องปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของคนไทยที่ยังคงนิยมใช้เงินสดในการชำระเงิน ในขณะที่ประเทศอื่นได้หันไปใช้การชำระเงินทางอิเล็กทรอนิกส์กันมากขึ้นแล้ว ทั้งนี้ ระบบการชำระเงินที่ใช้เงินสดมีต้นทุนสูงจากการผลิตและการจัดการธนบัตร อีกทั้งยังทำให้เกิดความไม่สะดวกและยุ่งยากในการชำระเงินระหว่างประเทศ ด้วยตระหนักถึงจุดอ่อนในเรื่องการชำระเงินรายย่อยของประเทศนี้ ธนาคารแห่งประเทศไทยจึงมีนโยบายที่จะพัฒนาการให้บริการการชำระเงินทางอิเล็กทรอนิกส์ของประเทศให้ตรงตามความต้องการของผู้บริโภค เข้าถึงได้ง่าย ในต้นทุนที่เหมาะสม และมีความมั่นใจในความปลอดภัย ซึ่งจะทำให้มีการใช้บริการการชำระเงินทางอิเล็กทรอนิกส์กันอย่างแพร่หลายจนสามารถทดแทนการใช้เงินสดได้ในที่สุด ซึ่งเรื่องนี้เราจะดำเนินการผ่านแผนกลยุทธ์ระบบการชำระเงินปี 2012-2016 ที่จะเริ่มดำเนินการตั้งแต่ปีหน้าเป็นต้นไปโดยจะทำควบคู่ไปกับการพัฒนาระบบ และโครงสร้างพื้นฐานด้านระบบการชำระเงินต่าง ๆ เพื่อให้เป็นไปตามมาตรฐานกลางที่จะใช้ในกลุ่มประเทศอาเซียน เพื่อเตรียมพร้อมสำหรับการเชื่อมโยงกันรองรับ AEC ในอนาคตด้วย

(2) การเปิดเสรีเงินทุนเคลื่อนย้าย

การเปิดเสรีเงินทุนเคลื่อนย้ายระหว่างประเทศของไทยมีความคืบหน้าไปมากแล้วโดยปัจจุบันไม่มีข้อจำกัดด้านเงินทุนนำเข้า ขณะที่ด้านเงินทุนไหลออก ได้ทยอยผ่อนคลายหลักเกณฑ์การโอนเงินออกนอกประเทศอย่างต่อเนื่อง เพื่อสนับสนุนให้ภาคธุรกิจและนักลงทุนไทยมีทางเลือกในการลงทุนมากขึ้น พร้อมๆ กับการเพิ่มศักยภาพในการแข่งขันทางธุรกิจ ตัวอย่างเช่น ธุรกิจไทยสามารถลงทุนโดยตรงหรือให้กู้ยืมแก่บริษัทลูกในต่างประเทศได้โดยเสรี และมีการเพิ่มวงเงินให้นักลงทุนสถาบันและนักลงทุนรายย่อยที่ลงทุนในหลักทรัพย์และอสังหาริมทรัพย์ในต่างประเทศ

ในระยะต่อไป จะมีแผนแม่บทเงินทุนเคลื่อนย้ายที่มีขั้นตอนการเปิดเสรีที่ชัดเจน เพื่อเตรียมความพร้อมของประเทศสำหรับการรวมตัวเป็น AEC เช่น การลงทุนหลักทรัพย์ในต่างประเทศ จะมีการผ่อนคลายวงเงิน เพิ่มประเภทผู้ลงทุน และขยายขอบเขตหลักทรัพย์ ส่วนการลงทุนโดยตรง จะเปิดโอกาสให้คนไทยลงทุนหรือให้กู้แกกิ่จการที่เกี่ยวข้องในต่างประเทศได้โดยเสรี และในส่วนของการบริหารความเสี่ยง จะผ่อนคลายหลักเกณฑ์ให้มีความยืดหยุ่นขึ้น เช่น การเพิ่มทางเลือกแก่ภาคธุรกิจในการทำธุรกรรมป้องกันความเสี่ยงด้านอัตราแลกเปลี่ยน โดยเปิดให้ซื้อขาย currency futures ในตลาด TFEX ภายในกลางปีหน้า ซึ่งจะช่วยพัฒนาตลาดอนุพันธ์ในประเทศและภาคธุรกิจขนาดเล็กจะมีเครื่องมือบริหารทางการเงินที่มีประสิทธิภาพและช่วยลดต้นทุนทางการเงิน

(3) การเปิดเสรีภาคการธนาคาร

การเปิดเสรีภาคการธนาคารของไทยได้ดำเนินการตามแผนพัฒนาระบบสถาบันการเงินไทย ระยะที่ 2 ในระหว่างปี 2010-2014 ที่มุ่งกระตุ้นความพร้อมของสถาบันการเงินไทยให้มีความสามารถในการแข่งขันเพิ่มขึ้น โดยลดต้นทุนของระบบสถาบันการเงินจากกฎระเบียบที่เป็นอุปสรรคในการทำธุรกิจ การเพิ่มประสิทธิภาพในการทำธุรกิจ ด้วยการส่งเสริมการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานทางการเงิน อาทิ กฎหมาย เครื่องมือบริหารความเสี่ยงที่สำคัญ ขณะเดียวกันก็กระตุ้นให้สถาบันการเงินมีการแข่งขันและส่งเสริมการเข้าถึงบริการทางการเงินที่เพิ่มขึ้น โดยที่ผ่านมา ระบบธนาคารพาณิชย์ไทยก็มีความแข็งแกร่งขึ้น โดยมีความมั่นคงแม้ในภาวะวิกฤติการเงินโลก มี NPL ลดลงต่อเนื่องมีเงินกองทุนที่มั่นคง และมีการขยายบริการให้หลากหลายขึ้น ซึ่งธนาคารแห่งประเทศไทยก็ได้ดำเนินการตามแผนพัฒนาฯ ระยะที่ 2 อย่างต่อเนื่อง โดยในส่วนของการส่งเสริมการแข่งขัน ได้อนุญาตให้สาขาธนาคารต่างประเทศเปิดสาขาเพิ่มได้อีก 2 สาขา และในช่วงปีนี้ จะอนุญาตให้ธนาคาร ต่างประเทศที่มีสาขาในไทยอยู่แล้ว ขอยกระดับเป็น Subsidiary ที่มีสาขาได้ไม่เกิน 20 แห่ง และ ATM นอกสถานที่ได้ไม่เกิน 20 แห่ง

ตามที่ได้ประกาศไว้ในแผนพัฒนาฯ ระยะที่ 2 ในช่วงปี 2012-2013 ก็อาจให้มีการเพิ่มผู้ให้บริการรายใหม่ หากธนาคารแห่งประเทศไทยประเมินว่า ยังมีช่องว่างในการให้บริการ โดยผู้ให้บริการรายใหม่อาจมีรูปแบบธนาคารพาณิชย์จำกัดขอบเขตธุรกิจ หรือ Restricted License Bank เช่น Microfinance, Investment bank, Trust bank หรือ Custodian bank และ Islamic bank เป็นต้น และในปี 2014 ก็อาจให้มีผู้ให้บริการรายใหม่ที่เป็นธนาคารพาณิชย์เต็มรูปแบบได้ หากประเมินว่า ยังมีช่องว่างในการให้บริการ ซึ่งผู้ให้บริการรายใหม่นี้อาจเป็นได้ทั้งไทยหรือต่างชาติ หรือร่วมทุน เพื่อนำความรู้ความชำนาญที่จำเป็น ซึ่งยังไม่เพียงพอในประเทศเข้ามาเสริมในระบบสถาบันการเงิน โดยหากเป็นต่างชาติ ก็จะเน้นรายที่สามารถสร้างประโยชน์ในด้านการส่งเสริมการค้าการลงทุนระหว่างประเทศของไทย โดยเฉพาะที่สอดคล้องกับทิศทางแนวโน้มการเปิดเสรีในภูมิภาค

ควบคู่กับแผนพัฒนาฯ ระยะที่ 2 ซึ่งเราทำในส่วนของไทย ในระดับอาเซียนก็ได้มีการตั้งเป้าหมายให้เกิดการรวมตัวของภาคการธนาคาร ทั้งนี้ ในภาคการธนาคาร เช่นเดียวกับภาคบริการอื่นๆ ก็มีเป้าหมายให้เปิดเสรี (free trade in services) แต่โดยที่สมาชิกอาเซียน เห็นร่วมกันว่า ภาคบริการทางการเงินมีความอ่อนไหว และต้องสร้างความพร้อมเพื่อให้เกิดประโยชน์จากการเพิ่มการแข่งขัน แต่ก็ต้องดูแลความมั่นคงและเสถียรภาพทางการเงินควบคู่กันด้วย โดยหากขาดความสอดคล้องแล้ว ก็อาจมีความเสี่ยงดังเช่นที่เห็นจากประสบการณ์ของการรวมกลุ่มเศรษฐกิจหลายแห่ง

ดังนั้น อาเซียนจึงกำหนดว่า ภาคการธนาคารจะมีการเปิดเสรีอย่างช้าภายในปี 2020 โดยวิสัยทัศน์ที่เป็นเป้าหมายคือ จะมีธนาคารจำนวนหนึ่งที่เรียกว่า Qualified ASEAN Bank หรือ QAB ซึ่งจะได้รับอนุญาตให้ทำธุรกิจในทุกประเทศในอาเซียน ในชั้นนี้ อาเซียนกำลังหารือกันเพื่อกำหนดกรอบมาตรฐานของธนาคาร QAB และมาตรการการกำกับดูแล เพื่อให้เป็นธนาคารที่มีความมั่นคงตลอดจนทางการสามารถดูแลเสถียรภาพระบบการเงินร่วมกันได้ในภาวะที่ QAB ทำธุรกิจข้ามพรมแดนและมีความสำคัญกับความความมั่นคงทางการเงินของประเทศต่างๆ หลายประเทศ โดยแนวทางดังกล่าวในชั้นนี้ คาดว่าจะมีข้อสรุปภายในสิ้นปีหน้า ก่อนที่จะทยอยเปิดเสรีอย่างเป็นขั้นเป็นตอนต่อไป

ดังนั้น ในการเตรียมตัวของธนาคารไทยนั้น นอกจากความท้าทายปกติที่ ก็จะต้องให้ความสำคัญกับการเพิ่มประสิทธิภาพ ลดต้นทุน การแข่งขันในเชิงคุณภาพของบริการ ตลอดจนความหลากหลายของผลิตภัณฑ์ และการบริหารความเสี่ยงแล้ว ยังต้องเพิ่มมิติของกลยุทธ์ที่ชัดเจนในการแข่งขันภายใต้โจทย์ AEC ที่สำคัญคือ จะต้องเร่งสร้างความเข้าใจและความชำนาญเกี่ยวกับประเทศเพื่อนบ้านในอาเซียน ซึ่งธนาคารแห่งประเทศไทยก็ได้มีการหารือกับธนาคารพาณิชย์ ตลอดจนลูกค้าของธนาคารพาณิชย์มาระยะหนึ่งแล้ว เพื่อดูว่าธนาคารแห่งประเทศไทยจะมีบทบาทใดในการส่งเสริมกลยุทธ์ของธนาคารพาณิชย์ เพื่อให้เสริมต่อกับกลยุทธ์ของภาคธุรกิจที่เป็นลูกค้าของธนาคารพาณิชย์เพื่อให้เราร่วมทางกันไปสู่อาเซียน และธนาคารแห่งประเทศไทยก็พร้อมที่จะเสริมความร่วมมือยิ่งขึ้นไปอีกในปีหน้า ซึ่งเป็นปีสำคัญที่จะมีผลโดยตรงต่อภาคการธนาคารตามแผนงานของ AEC

(4) การพัฒนาตลาดทุน

ประเทศไทยได้ดำเนินการตามแผนพัฒนาตลาดทุนไทย เพื่อรองรับการรวมตัวเป็น AECโดยในปีหน้าจะเปิดเสรีให้ทำธุรกิจหลักทรัพย์ได้เต็มรูปแบบ ซึ่งนักลงทุนจะมีทางเลือกมากขึ้นและมีค่าธรรมเนียมลดลง ขณะเดียวกันบริษัทหลักทรัพย์และบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน ก็ต้องปรับตัวเพื่อรองรับการแข่งขันที่จะเพิ่มขึ้นโดยการพัฒนาสินค้าและบริการใหม่ๆ หรือหาพันธมิตรทั้งในและนอกประเทศ ซึ่งการดำเนินการตามแผนพัฒนาตลาดทุนที่ผ่านมา ทำให้บริษัทที่จัดทำดัชนีชั้นนำของโลก อย่าง FTSE ได้ยกระดับตลาดทุนไทยจาก Secondary Emerging Market เป็น Advanced Emerging Market ซึ่งจะนำไปใช้ในการคำนวณ FTSE Global Equity Index Series ในเดือนมีนาคมปีหน้า เป็นการเพิ่มความเชื่อมั่นจากผู้ลงทุนทั่วโลกต่อตลาดทุนไทย ว่าอยู่ในระดับชั้นนำของประเทศเกิดใหม่เทียบเท่าประเทศมาเลเซีย บราซิล และไต้หวัน และคาดว่าจะช่วยดึงดูดเงินลงทุนจากนักลงทุน ต่างประเทศให้เข้ามาลงทุนในไทยมากขึ้นด้วย

สุดท้ายนี้ ผมหวังเป็นอย่างยิ่งว่า สิ่งที่เราคุยกันวันนี้ จะช่วยจุดประกายให้งานสัมมนาในวันนี้บรรลุวัตถุประสงค์ ให้เกิดความตระหนักถึงโอกาสของการรวมตัวเป็น AEC และกระตุ้นให้เกิดความร่วมมืออย่างจริงจังจากทุกฝ่ายในการดำเนินกลยุทธ์เกี่ยวกับระบบการเงินและการชำระเงินให้เศรษฐกิจไทยได้ประโยชน์สูงสุดจาก AEC และพร้อมรับกับการแข่งขันทางการเงินที่เพิ่มขึ้น ทั้งนี้ ความท้าทายของการรวมตัวเป็น AEC จะเป็นอีกบททดสอบหนึ่งที่สำคัญที่ผมเชื่อมั่นว่า พวกเราจะสามารถร่วมกันสร้างถนนสายหลักทางการเงินของประเทศ ด้วยระบบการชำระเงินที่มีประสิทธิภาพ เพอื่ สร้างประโยชน์ให้กับประชาชน ธุรกิจ และประเทศ จากการรวมตัวเป็น AEC

ขอบคุณครับ

ที่มา: ธนาคารแห่งประเทศไทย


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ