ฉบับที่ 58/2554
นางทองอุไร ลิ้มปิติ ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายนโยบายสถาบันการเงิน ชี้แจงหลักเกณฑ์เกี่ยวกับการอนุญาตให้จัดตั้งธนาคารพาณิชย์ที่เป็นบริษัทลูกของธนาคารพาณิชย์ต่างประเทศหรือ Subsidiary โดยมีเนื้อหาดังนี้
ตามที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ได้ให้ความเห็นชอบในประกาศกระทรวงการคลังกำหนดหลักเกณฑ์ในเรื่องการอนุญาตให้จัดตั้งธนาคารพาณิชย์ที่เป็น Subsidiary (บริษัทลูกของธนาคารพาณิชย์ต่างประเทศ) ภายใต้แผนพัฒนาระบบสถาบันการเงินระยะที่ 2 โดยให้มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 15 ธันวาคม 2554 นั้น
ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ขอแจ้งให้ทราบว่าหลักเกณฑ์ดังกล่าวเป็นการอนุญาตให้สาขาของธนาคารพาณิชย์ต่างประเทศ (Branch) ในปัจจุบัน ยื่นขอยกระดับเป็นธนาคารพาณิชย์ที่เป็นบริษัทลูกของธนาคารพาณิชย์ต่างประเทศ (Subsidiary) ที่มีสาขาได้ 20 แห่งและ ATM นอกสถานที่ 20 เครื่อง ซึ่งเป็นการส่งเสริมให้เกิดการแข่งขันและทำให้ระบบธนาคารพาณิชย์มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น เป็นผลดีต่อผู้ใช้บริการทางการเงนิ ในประเทศรวมถึงนักลงทุนจากต่างประเทศที่จะได้รับบริการทางการเงินอย่างสะดวกและทั่วถึง สอดรับกับปริมาณการค้าการลงทุนระหว่างประเทศที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น
มีฐานะมั่นคง มีผลการดำเนินงานดี ชำนาญด้านธุรกิจการเงินระหว่างประเทศ เป็นธนาคารพาณิชย์ต่างประเทศที่จดทะเบียนในประเทศที่มีความสัมพันธ์ทางธุรกิจกับประเทศไทยทั้งด้านการเงิน การค้า การลงทุน หรือมีแนวโน้มที่จะมีความสัมพันธ์ทางธุรกิจกับประเทศไทยในอนาคต และมีหน่วยงานกำกับดูแลของธนาคารพาณิชย์ต่างประเทศในประเทศนั้นมีความน่าเชื่อถือและมีความสัมพันธ์อันดีกับ ธปท. โดยสาขาธนาคารพาณิชย์ต่างประเทศในประเทศไทยต้องมีคุณสมบัติตามที่ ธปท. กำหนด เช่น เงินกองทุนต่อสินทรัพย์เสี่ยงไม่ต่ำกว่าร้อยละ 12 อัตราส่วนสินทรัพย์ด้อยคุณภาพต่อสินทรัพย์ทั้งสิ้น (NPLs) ไม่เกินร้อยละ 3.5 มีผลการจัดอันดับที่ดีตามเกณฑ์ ธปท. และมีการบริหารความเสี่ยงดี รวมทั้งธนาคารพาณิชย์ที่จัดตั้งต้องมีทุนจดทะเบียนซึ่งชำระแล้ว ไม่ต่ำกว่า 10,000 ล้านบาท เป็นต้น
ปัจจุบันมีธนาคารพาณิชย์ต่างประเทศที่เปิดดำเนินการในประเทศไทยจำนวน 16 แห่ง ประกอบด้วย Subsidiary ที่เปิดดำเนินการอยู่แล้ว 1 แห่ง คือ ธนาคารเมกะสากลพาณิชย์ และสาขาธนาคารพาณิชย์ต่างประเทศ 15 แห่ง ธนาคารพาณิชย์ต่างประเทศดังกล่าวสามารถยื่นคำขออนุญาตได้ตั้งแต่วันที่ 4 มกราคม - 28 ธันวาคม 2555 เมื่อได้รับใบอนุญาตจากกระทรวงการคลังแล้วสามารถยื่นคำขอจัดตั้งสาขาและ ATM ต่อ ธปท. ตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดได้ทันที
ธนาคารพาณิชย์ต่างประเทศที่เปิดดำเนินการในประเทศไทยในปัจจุบัน
1. ธนาคารแห่งโตเกียว-มิตซูบิชิ ยูเอฟเจ จำกัด
2. ธนาคารมิซูโฮ คอร์ปอเรต จำกัด
3. ธนาคารซูมิโตโม มิตซุย แบงกิ้ง คอร์ปอเรชั่น
4. ธนาคารดอยซ์แบงก์
5. ธนาคารซิตี้แบงก์ เอ็น.เอ.
6. ธนาคารฮ่องกงและเซี่ยงไฮ้แบงกิ้งคอร์ปอเรชั่น จำกัด
7. ธนาคารเจพีมอร์แกน เชส
8. ธนาคารเครดิต อะกริกอล คอร์ปอเรทแอนด์อินเวสเมนท์แบงก ?
9. ธนาคารบีเอ็นพี พารีบาส ?
10. ธนาคารเดอะรอยัลแบงก์อ๊อฟสกอตแลนด์ เอ็น.วี.
11. ธนาคารโอเวอร์ซี-ไชนีสแบงกิ้งคอร์ปอเรชั่น จำกัด
12. ธนาคารแห่งอเมริกาเนชั่นแนลแอสโซซิเอชั่น
13. ธนาคารแห่งประเทศจีน จำกัด
14. ธนาคารอาร์ เอช บี จำกัด
15. ธนาคารอินเดียนโอเวอร์ซีส์
1. ธนาคารเมกะ สากลพาณิชย์ จำกัด (มหาชน)
ที่มา: ธนาคารแห่งประเทศไทย