สุนทรพจน์: ทิศทางการดำเนินนโยบายของ ธปท. ในปี 2555

ข่าวเศรษฐกิจ Monday January 30, 2012 14:12 —ธนาคารแห่งประเทศไทย

สุนทรพจน์

ดร. ประสาร ไตรรัตน์วรกุล ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย

งานแถลงนโยบาย

เรื่อง ทิศทางการดำเนินนโยบายของ ธปท. ในปี 2555

ณ ห้องประชุม ป๋วย อึ๊งภากรณ์ ธนาคารแห่งประเทศไทย

วันศุกร์ที่ 27 มกราคม 2555

สวัสดีครับ ผู้แทนสื่อมวลชนและผู้มีเกียรติทุกท่าน

ปี 2555 นี้เป็นปีที่พิเศษ เพราะเป็นวาระที่แบงก์ชาติจะครบรอบการเปิดดำเนินการเป็นปีที่ 70 หากเปรียบกับท่านทั้งหลายคงกล่าวได้ว่าเป็นบุคคลที่ผ่านประสบการณ์มาอย่างยาวนานในฐานะองค์กรแบงก์ชาติก็ได้เผชิญภาวะเศรษฐกิจที่ท้าทายต่อการดำเนินนโยบายการเงินและนโยบายสถาบันการเงินมาหลายรูปแบบ ซึ่งสิ่งหนึ่งที่เรายังยึดมั่นตลอด 70 ปีที่ผ่านมา คือ การดำเนินนโยบายอย่างมีหลักการ มีความยืดหยุ่นให้ทันต่อพลวัตสภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงไป ทั้งนี้ เพื่อรักษาเสถียรภาพทางเศรษฐกิจและระบบการเงินของประเทศให้มีความมั่นคงในระยะยาว

แนวนโยบายที่ผมตั้งใจจะดำเนินการในปี 2555 นี้ จะเป็นการสานต่อปณิธานจุดยืนของแบงก์ชาติ ที่หวังจะเห็นเศรษฐกิจไทยเข้มแข็ง และประชาชนมีความเป็นอยู่ที่ดีอย่างยั่งยืน แม้ขณะนี้ดูเหมือนปัญหาต่างๆ จะประดังเข้าใกล้ตัวมากขึ้น แต่ความท้าทายโดยรวมยังคงไม่เปลี่ยนแปลง สิ่งที่ควรจะเปลี่ยนแปลง คือ เราๆ ท่านๆ ที่จะนิ่งอยู่เฉยไม่ได้ เพราะการนิ่งอยู่เฉยท่ามกลางกระแสการแข่งขันอาจทำให้เราตกขบวนรถไฟได้ ดังนั้น ทุกภาคส่วนควรเร่งปรับตัวมุ่งไปข้างหน้าแสวงหาการพัฒนา และเตรียมรองรับกับความผันผวนที่จะเข้ามาปะทะในอนาคต องค์กรอย่างแบงก์ชาติก็เช่นเดียวกัน เราไม่ได้นิ่งนอนใจ แต่มีการปรับกลยุทธ์ให้เหมาะกับสถานการณ์ และพร้อมยื่นมือประสานทำงานร่วมกับทุกฝ่ายเพื่อให้เศรษฐกิจเติบโตตามศักยภาพอย่างต่อเนื่อง

การดำเนินนโยบายในปีที่ผ่านมา

ในปี 2554 แบงก์ชาติเน้นดำเนินนโยบายเพื่อสร้างเสถียรภาพหลังจากเศรษฐกิจฟื้นตัวได้ดีในสามไตรมาสแรก การดำเนินนโยบายอัตราดอกเบี้ยจึงมีทิศทางปรับเข้าสู่ภาวะปกติ (Normalization) ตามที่ผมได้แถลงนโยบายไว้ตั้งแต่ต้นปี จนกระทั่งในไตรมาสสุดท้าย ประเทศไทยต้องเผชิญกับมหาอุทกภัย ผนวกกับเศรษฐกิจโลกที่ซบเซายืดเยื้อ แบงก์ชาติก็ไม่ได้อยู่เฉย เราได้ประเมินสถานการณ์อย่างรอบด้าน และเห็นความจำเป็นต้องดำเนินนโยบายการเงินให้เหมาะสมกับสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไป จนกระทั่งคณะกรรมการนโยบายการเงิน (หรือ กนง.) มีมติให้ลดอัตราดอกเบี้ยลงในครั้งสุดท้ายของปี

ในขณะเดียวกัน แบงก์ชาติยังให้ความสำคัญกับนโยบายที่เอื้อต่อการดำเนินธุรกิจให้เป็นไปอย่างสะดวกและราบรื่นทั้งในยามปกติและยามวิกฤต จากการดูแลค่าเงินให้เคลื่อนไหวตามปัจจัยพื้นฐานของเศรษฐกิจและไม่ผันผวนจนภาคธุรกิจปรับตัวไม่ทัน พร้อมทั้งกำกับดูแลให้สถาบันการเงินเป็นตัวกลางทางการเงินที่มีประสิทธิภาพ และสามารถตอบสนองความต้องการของภาคธุรกิจโดยช่วยหล่อลื่นกระบวนการทางธุรกิจให้มีความรวดเร็วยิ่งขึ้น ดังเช่น การส่งเสริมใหส้ ถาบันการเงินมีการคิดค่าธรรมเนียมที่สมเหตุสมผล ระบบการหักบัญชีด้วยภาพเช็ค การผ่อนปรนมาตรการด้านสถาบันการเงินเพื่อบรรเทาความเดือดร้อนให้กับลูกค้าที่ได้รับความเสียหายจากภาวะอุทกภัย เป็นต้น

สถานการณ์เศรษฐกิจการเงิน และความท้าทายในปีนี้

ท่านผู้มีเกียรติครับ

เมื่อมองไปข้างหน้า หนทางสู่อนาคตไม่ได้เป็นถนนที่ราบเรียบ ระหว่างทางยังเต็มไปด้วยสิ่งกีดขวาง ทั้งสิ่งกีดขวางเดิมๆ ที่ไม่เคยออกพ้นจากเส้นทาง และสิ่งกีดขวางใหม่ๆ ที่เติมเข้ามาเพิ่มอุปสรรคให้กับเศรษฐกิจไทยมากขึ้น แต่เมื่อพิเคราะห์อย่างใกล้ชิดจะพบว่าแก่นแท้ของประเด็นปัญหาเหล่านี้เป็นโจทย์ร่วมสมัยของเศรษฐกิจไทยมาอย่างต่อเนื่องความท้าทายจากปัจจัยภายในประเทศยังคงเป็นสิ่งสำคัญที่ไทยต้องก้าวผ่านขณะเดียวกันอุปสรรคจากปัจจัยภายนอกประเทศยังคงสร้างความท้าทายในมิติต่างๆ โดยเฉพาะจากกระแสหลัก (Mega trend) ของวิกฤตเศรษฐกิจโลกตะวันตก และกระแสการรวมตัวทางเศรษฐกิจในภูมิภาค

ผมขอเรียนว่า ประเทศไทยกำลังข้ามไปสู่การเปลี่ยนผ่าน (Transitional gateway) เข้าสู่โลกยุคใหม่ที่ยังไม่มีความชัดเจนว่าจะมีโฉมหน้าเป็นอย่างไร ความยืดเยื้อของปัญหาในประเทศอุตสาหกรรมหลักทั้งสหรัฐฯ และยุโรป จนมาสู่ปัญหาหนี้สาธารณะและสถาบันการเงินที่ยังไม่มีทีท่าว่าจะกระเตื้องขึ้น ขณะที่มีการคาดการณ์ว่าเมื่อผ่านพ้นช่วงเปลี่ยนผ่าน เอเชียจะมีบทบาทในเวทีโลกมากขึ้น โดยมีผู้นำอย่างจีนที่จะเป็นหัวจักรสร้างการขยายตัวทางเศรษฐกิจให้กับประเทศในภูมิภาค อย่างไรก็ดี ประเทศเอเชียก็ไม่ควรชะล่าใจ เพราะความผันผวนจากวิกฤตโลกตะวันตกที่ส่งผ่านช่องทางการค้าและการเงินระหว่างประเทศมีอยู่เป็นระยะ แต่ความแรงจะมากหรือน้อยขึ้นอยู่กับการเตรียมพร้อมรับมือเป็นสำคัญ

การเปลี่ยนผ่านในภาคต่างประเทศที่สำคัญอีกประการหนึ่ง คือ การเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนหรือที่เรียกกันว่า ASEAN Economic Community หรือ AEC ในปี 2558 ซึ่งมีความหมายไม่เพียงแต่การปรับตัวทางการค้าการลงทุน แต่เป็นการปรับตัวในเชิงทัศนคติ คือ ทัศนคติของความเป็นพลเมืองอาเซียน โดยการคบค้าสมาคมไปมาหาสู่กันมากขึ้น ทั้งนี้ AEC ไม่ใช่จุดสุดท้ายของการเดินทาง แต่เป็นเพียงจุดต่อยอดในการสร้างความแข็งแกร่งทางเศรษฐกิจเพื่อให้ในที่สุดอาเซียนกลายเป็นตลาดและฐานการผลิตเดียวกัน ซึ่งจะเป็นการสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับเศรษฐกิจสังคมไทย (Value-added economy) และเป็นโอกาสต่อประชาชน ต่อธุรกิจ และต่อส่วนรวมของประเทศ จนนำมา ซึ่งความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นของประชาชน

ความท้าทายจากภายนอกสองประการที่ผมกล่าวข้างต้น เมื่อมาผนวกกับเหตุการณ์อุทกภัยเมื่อปลายปีที่แล้ว ทำให้ประเทศไทยจำเป็นต้องปรับโครงสร้างพื้นฐานเพื่อยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ โดยเน้นการลงทุนของภาครัฐเพื่อสร้างการบริหารจัดการทรัพยากรอย่างเป็นระบบ และการสร้างธรรมาภิบาลในกลไกภาครัฐ ซึ่งจะเป็นแรงขับเคลื่อนสำคัญในการสนับสนุนการเติบโตอย่างยั่งยืนได้

กิจกรรมทางเศรษฐกิจที่จะอนุวัตรตามการเปลี่ยนแปลงของบริบท

ท่านผู้มีเกียรติครับ

แม้จะมีอุปสรรคเฉพาะหน้าที่เปลี่ยนไป แต่ความท้าทายโดยรวมยังคงอยู่ ดังนั้น ทุกภาคส่วนควรมีการปรับตัว โดยกำหนดกรอบแนวคิดและแผนงาน (Policy space) ที่จะสนับสนุนให้เศรษฐกิจไทยก้าวข้ามช่วงเปลี่ยนผ่านอย่างราบรื่น

ในส่วนของภาครัฐ การดำเนินนโยบายด้านการลงทุนที่เสริมศักยภาพในการแข่งขันอย่างมีประสิทธิภาพ ทั้งการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐาน ระบบการศึกษา และการสร้างความเข้มแข็งของสถาบัน อาทิ ปัญหาคอร์รัปชั่นและเสถียรภาพทางการเมือง จะเป็นหนทางช่วยให้ประเทศเร่งเครื่องออกห่างจากคู่แข่งที่กำลังตามมาในระยะกระชั้นชิด เพราะการลงทุนภาครัฐเปรียบเสมือนแม่เหล็กที่ดึงดูดการลงทุนของภาคเอกชนทั้งในและต่างประเทศได้ (Crowding in effect)

สำหรับภาคเอกชน การหาลู่ทางเปิดตลาดใหม่ การพัฒนาประสิทธิภาพการผลิต การสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้าและบริการ และการบริหารความเสี่ยงที่มีประสิทธิภาพ จะทำให้เอกชนพร้อมรับกับความท้าทายใหม่ๆ ที่จะเข้ามา นอกจากนี้ ผมเห็นว่าควรเร่งเสริมความรู้ โดยการศึกษาและทำความเข้าใจเกี่ยวกับความซับซ้อนและความเสี่ยงของผลิตภัณฑ์ทางการเงินให้มากขึ้น เพื่อให้ผู้ประกอบการได้ใช้ประโยชน์จากผลิตภัณฑ์ทางการเงินที่เหมาะสมกับความเสี่ยงของธุรกิจ ซึ่งจะช่วยลดต้นทุนโดยรวม ส่งเสริมความสามารถในการแข่งขันของธุรกิจไทย และเปิดโอกาสให้ภาคการเงินมีบทบาทสนับสนุนภาคธุรกิจมากขึ้น

ส่วนภาคสถาบันการเงิน การพัฒนาองค์กรภายในให้เติบโตอย่างเข้มแข็ง และการพัฒนาระบบการเงินให้มีประสิทธิภาพ จะเป็นปัจจัยที่ทำให้สถาบันการเงินมีศักยภาพในการแข่งขัน และส่งเสริมให้ผู้ประกอบการดำเนินธุรกิจได้อย่างคล่องตัวและมีความเชื่อมั่นมากขึ้นถ้อยแถลงนโยบาย

ท่านผู้มีเกียรติครับ

ความยากที่ผู้กำหนดนโยบายต้องเผชิญ นอกจากความท้าทายของโจทย์ปัญหาที่ต้องแก้แล้ว ยังมีความยากของการสื่อให้ทุกคนเข้าใจ เพราะต้องแยกแยะให้เห็นความแตกต่างว่านโยบายเป็นเรื่องของการวางรากฐานระยะยาว และจะเห็นผลจับต้องได้ในช่วงเวลาหลายปี ในขณะที่ความสนใจของคนทั่วไปจะให้ความสำคัญต่อความยากลำบากซึ่งหน้า บางประเด็นก็เป็นเรื่องชั่วคราว การตอบโจทย์จึงเป็นเพียงการแก้ปัญหาเฉพาะหน้า และบรรเทาความเดือดร้อนได้แค่ช่วงระยะเวลาหนึ่งเท่านั้น ซึ่งจะต่างจากแนวนโยบายที่หวังเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้างและหวังผลลัพธ์ที่ยั่งยืน

เมื่อประมวลภาพการเปลี่ยนแปลงของเศรษฐกิจโลก ความเสี่ยง และพลวัตของโครงสร้างสังคมเข้าด้วยกันแล้ว แบงก์ชาติมุ่งหวังที่จะรักษาเสถียรภาพของเศรษฐกิจไทย และคงไว้ ซึ่งการเติบโตอย่างยั่งยืน ซึ่งจะเกิดขึ้นได้จากการสร้างวิสัยทัศน์ร่วมกับผู้เกี่ยวข้องทุกฝ่าย (Common vision) เพื่อผสมผสานนโยบายต่างๆ ให้สอดคล้องลงตัว อันจะนำไปสภู่ วะแวดล้อมทางการเงินที่เอื้อต่อการพัฒนาอย่างเท่าเทียม และความเป็นอยู่ที่ดีอย่างยั่งยืนของไทย

นโยบายการเงินและนโยบายอัตราแลกเปลี่ยน

แบงก์ชาติจะดำเนินนโยบายการเงินเพื่อดูแลเสถียรภาพให้สอดคล้องกับวัฏจักรของเศรษฐกิจโดยในปีนี้ การชะลอตัวของเศรษฐกิจโลกยังคงเป็นประเด็นที่ต้องติดตาม ขณะที่แรงกดดันต่อเงินเฟ้อจะเป็นปัจจัยเสี่ยงต่อเศรษฐกิจไทยน้อยลงเมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา ดังนั้น แนวโน้มการดำเนินนโยบายการเงินจึงสนับสนุนธุรกิจให้เติบโตตามศักยภาพ และสามารถรับมือกับความผันผวนจากเศรษฐกิจโลกได้

นอกจากนโยบายการเงินแล้ว การดำเนินนโยบายอัตราแลกเปลี่ยนจะยังคงยึดหลักการให้ค่าเงินปรับเปลี่ยนได้ตามปัจจัยพื้นฐานทางเศรษฐกิจ ในขณะเดียวกันแบงก์ชาติเตรียมการจะผลักดัน “แผนแม่บทการเปิดเสรีเงินทุนเคลื่อนย้ายและเงินตราต่างประเทศ” เพื่อเพิ่มความสะดวกให้กับคนไทยในการลงทุนในต่างประเทศในต้นทุนที่ถูกลง และเสริมความยืดหยุ่นให้กับระบบเศรษฐกิจด้วยการพัฒนาตลาดการเงิน อาทิ การขยายประเภทนักลงทุนและวงเงินลงทุน การลดขั้นตอนและกฎระเบียบ ตลอดจนการบริหารความเสี่ยงที่มีความยืดหยุ่นมากขึ้นอย่างไรก็ตาม แบงก์ชาติก็ได้เตรียมกลไกหรือ Valve เพื่อรับมือกับเหตุการณ์ฉุกเฉิน ซึ่งระดับความเข้มงวดจะแตกต่างกันตามสถานการณ์ ทั้งนี้ กระบวนการจัดทำแผนแม่บทการเปิดเสรีเงินทุนเคลื่อนย้ายฯ อยู่ระหว่างการจัดทำประชาพิจารณ์ (Public hearing) เพื่อรับฟังความเห็นจากทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง

นโยบายสถาบันการเงิน

สำหรับการดำเนินนโยบายสถาบันการเงินนั้น แบงก์ชาติจะมุ่งเน้นให้สถาบันการเงินสามารถแข่งขันได้ภายใต้โครงสร้างของระบบที่มั่นคง และการสอดส่องดูแลความเสี่ยงเชิงระบบที่มีประสิทธิภาพ พร้อมทั้งทำหน้าที่เป็นตัวกลางทางการเงินอย่างมีประสิทธิภาพ

ท่านผู้มีเกียรติครับ

เพื่อสร้างความสามารถในการแข่งขันให้กับสถาบันการเงิน แบงก์ชาติมุ่งพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานของระบบการเงิน อาทิ การพัฒนาต่อยอดในขอบเขตและประสิทธิภาพของระบบการชำระเงิน เพื่อสนับสนุนการดำเนินธุรกิจให้คล่องตัวมากขึ้นและเพื่อเตรียมความพร้อมรองรับการชำระเงินด้วยเงินสกุลภูมิภาค รวมทั้งสนับสนุนการยกระดับสถาบันการเงินไทยให้สอดรับมาตรฐานในการทำธุรกิจในระดับภูมิภาคที่เรียกว่า Qualified ASEAN Banks (QAB) เพื่อให้สถาบันการเงินที่ผ่านเกณฑ์มาตรฐานสามารถดำเนินธุรกิจในกลุ่มประเทศสมาชิกอาเซียนได้ ซึ่งแบงก์ชาติมีแผนที่จะดำเนินการทุกเรื่องดังกล่าวไว้แล้ว และจะเร่งดำเนินการอย่างต่อเนื่องให้สอดคล้องกับการเติบโตของเอเชีย และกระแสการรวมกลุ่มทางเศรษฐกิจในภูมิภาค

ในการผลักดันให้สถาบันการเงินทำหน้าที่เป็นตัวกลางทางการเงิน เพื่อส่งเสริมการเติบโต อย่างมีส่วนร่วม (Inclusive growth) และลดความเหลื่อมล้ำของการเข้าถึงบริการทางการเงินของประชาชนนั้น เราจะสนับสนุนให้สถาบันการเงินมีบริการทางการเงินที่มีคุณภาพ หลากหลาย ทั่วถึง ในราคาที่เหมาะสมโดยเฉพาะเครื่องมือป้องกันความเสี่ยงเพื่อตอบสนองความต้องการของลูกค้าได้อย่างตรงจุด

ส่วนการคุ้มครองผู้บริโภค เพื่อสร้างภูมิคุ้มกันทางการเงินให้แก่ประชาชน ผมเห็นว่าเป็นสิ่งเร่งด่วนที่ต้องทำควบคู่ไปกับการเพิ่มบริการทางการเงิน เพื่อให้ประชาชนมีความรู้ความเข้าใจในผลิตภัณฑ์ได้ดีขึ้น ซึ่งนำมาสู่การเลือกใช้ได้ตรงกับความต้องการ โดยแบงก์ชาติจะดำเนินการผ่านศูนย์คุ้มครองผู้ใช้บริการทางการเงิน ซึ่งปัจจุบันได้เปิดให้บริการแล้วในลักษณะ One-touch service เน้นทำงานทั้งเชิงรับและเชิงรุก อาทิ การรับและดูแลเรื่องร้องเรียนด้านการบริการของสถาบันการเงินภายใต้การกำกับดูแลของแบงก์ชาติ รวมถึงการให้บริการของแบงก์ชาติเองผ่านสายด่วนหมายเลข 1213 (สิบสองสิบสาม) นอกจากนี้ ยังมีการให้ความรทู้ งการเงินแก่ประชาชน เพื่อให้ความรู้เข้าถึงประชาชนอย่างทั่วถึง

ท่านผู้มีเกียรติครับ

ผมขอย้ำว่านโยบายที่แถลงไปข้างต้นนั้น เป็นรากฐานระยะยาวที่จะผลักดันเศรษฐกิจไทยให้เข้มแข็งและมีความเป็นอยู่ที่ดีอย่างยั่งยืนได้ แต่การจะบรรลุเป้าหมายดังกล่าวได้ ไม่เพียงแต่แบงก์ชาติจะต้องรักษาเสถียรภาพทางเศรษฐกิจอย่างมีหลักการ ทุกภาคส่วนจะต้องประสานมือกัน และสร้างวิสัยทัศน์ร่วมกัน ในขณะเดียวกันผลสัมฤทธิ์เชิงนโยบายที่มุ่งหวัง จะต้องถูกกำหนดบนพื้นฐานความต้องการของประชาชนอย่างแท้จริง ซึ่งในการนี้ แบงก์ชาติก็ได้แสดงความพยายามอย่างต่อเนื่องที่จะเข้าถึงเป้าหมายการกินดีอยู่ดีของคนทุกระดับ ทั้งนี้ก็เพื่อที่จะให้ประเทศไทยก้าวข้ามช่วงเปลี่ยนผ่านของเศรษฐกิจและสามารถยืนหยัดอยู่บนเวทีโลกได้อย่างเข้มแข็งและมั่นคง

ที่มา: ธนาคารแห่งประเทศไทย


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ