การลงนามบันทึกข้อตกลงระหว่างธนาคารแห่งประเทศไทยและธนาคารกลางประเทศมาเลเซียในการใช้หลักทรัพย์ข้ามพรมแดนระหว่างกันเป็นหลักประกันในการปล่อยสภาพคล่อง (Cross-border Collateral Arrangement)

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday February 2, 2012 10:45 —ธนาคารแห่งประเทศไทย

ฉบับที่ 8/2555

ดร.ประสาร ไตรรัตน์วรกุล ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ได้ร่วมลงนามกับ Dr.Zeti Akhtar Aziz ผู้ว่าการธนาคารกลางประเทศมาเลเซีย (Bank Negara Malaysia -BNM) ในบันทึกข้อตกลงในการใช้หลักทรัพย์ข้ามพรมแดนระหว่างกันเป็นหลักประกันในการปล่อยสภาพคล่อง (Cross-border Collateral Arrangement - CBCA) เพื่อส่งเสริมช่องทางในการเข้าถึงสภาพคล่องของสถาบันการเงินในทั้งสองประเทศ

การลงนามในบันทึกข้อตกลงดังกล่าวสะท้อนการตระหนักถึงบทบาทที่เพิ่มขึ้นของการธนาคารข้ามพรมแดนและความสำคัญของความเชื่อมโยงทางการค้าระหว่างกัน ความร่วมมือระหว่างกันนี้จะช่วยสนับสนุนการดูแลเสถียรภาพทางการเงินของธนาคารกลางทั้งสองแห่ง รวมทั้งส่งเสริมความร่วมมือระหว่างกันในด้านการจัดการสภาพคล่อง

ภายใต้ข้อตกลงนี้ สถาบันการเงินที่มีคุณสมบัติตามที่กำหนดในประเทศมาเลเซียสามารถเข้าถึงสภาพคล่องในสกุลริงกิตจาก BNM โดยเสนอหลักประกันเป็นเงินบาทหรือตราสารหนี้ของรัฐบาลไทยหรือของ ธปท. ให้กับ BNM ในขณะที่สถาบันการเงินที่มีคุณสมบัติตามที่กำหนดในประเทศไทย สามารถเข้าถึงสภาพคล่องในสกุลบาทจาก ธปท. โดยเสนอหลักประกันเป็นเงินสกุลริงกิตหรือตราสารหนี้ของรัฐบาลมาเลเซียหรือของ BNM ให้กับ ธปท. ในลักษณะเดียวกัน

Dr.Zeti Akhtar Aziz ผู้ว่าการ BNM กล่าวว่า การดำเนินการดังกล่าวจะช่วยเสริมสร้างความแข็งแกร่งให้กับการบริหารสภาพคล่องข้ามพรมแดนระหว่างระบบการเงินของมาเลเซียและของไทย พร้อมทั้งช่วยส่งเสริมความสัมพันธ์ด้านเศรษฐกิจและการเงินของทั้งสองประเทศ นอกจากนี้ การใช้หลักทรัพย์ข้ามพรมแดนระหว่างกันดังกล่าวจะสนับสนุนการขยายตัวทางธุรกิจในระดับภูมิภาคของสถาบันการเงินของทั้งสองประเทศ รวมทั้งช่วยเสริมสร้างความเชื่อมโยงทางการเงินในระดับภูมิภาคอีกด้วย

ดร.ประสาร ไตรรัตน์วรกุล ผู้ว่าการ ธปท. กล่าวว่า การใช้หลักทรัพย์ข้ามพรมแดนระหว่างกันเป็นหลักประกันในการปล่อยสภาพคล่องของ ธปท. และ BNM จะเป็นรากฐานของความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการเงินระหว่างกัน นอกจากนี้ ยังสะท้อนถึงความสำคัญของการธนาคารข้ามพรมแดนและบทบาทของธนาคารกลางทั้งสองแห่ง ซึ่งถือเป็นก้าวที่สำคัญอีกก้าวหนึ่งที่จะนำไปสู่การบูรณาการด้านการเงินในระดับภูมิภาคและระดับสากล

ที่มา: ธนาคารแห่งประเทศไทย


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ