สรุปภาวะเศรษฐกิจและการเงินภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ปี 2554

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday February 1, 2012 14:35 —ธนาคารแห่งประเทศไทย

ฉบับที่ 03/2555

เศรษฐกิจภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ปี 2554 ขยายตัวน้อยกว่าปีก่อน โดยด้านอุปทานภาคเกษตรกรรมชะลอลงตามราคาสินค้าเกษตรสำคัญแม้ผลผลิตจะเพิ่มขึ้น และภาคการค้าชะลอลง เนื่องจากได้รับผลกระทบจากอุทกภัยในภาคกลาง ในขณะที่ภาคอุตสาหกรรมขยายตัวเพิ่มขึ้น ตามผลผลิตน้ำตาลและเครื่องดื่มมีแอลกอฮอล์ ส่วนด้านอุปสงค์ การอุปโภคบริโภคภาคเอกชนขยายตัว ตามการการเพิ่มขึ้นของรายได้เกษตรกรโดยเฉพาะในช่วงครึ่งแรกของปี ขณะที่ราคาสินค้าทั่วไปชะลอลง อย่างไรก็ตามการลงทุนภาคเอกชนชะลอลงตามผลกระทบของอุทกภัยในภาคกลางเป็นสำคัญ ประกอบกับการใช้จ่ายของภาครัฐที่ชะลอลงจากปีก่อน สำหรับอัตราเงินเฟ้ออยู่ที่ร้อยละ 3.85 ชะลอลงจากปีก่อนที่ร้อยละ 4.49 รายละเอียดของภาวะเศรษฐกิจการเงินภาคตะวันออกเฉียงเหนือ มีดังนี้

1. ด้านการผลิต

ดัชนีมูลค่าผลผลิตพืชผล สูงขึ้นจากปีก่อนร้อยละ 24.3 แต่ชะลอตัวจากปี 2553 ที่เพิ่มขึ้นร้อยละ 34.6เนื่องจากราคาสินค้าเกษตรสำคัญชะลอลงทุกตัว โดยดัชนีราคาพืชผลเกษตรเพิ่มขึ้นจากปีก่อนเพียงร้อยละ 7.3 ชะลอลงจากปีที่แล้วตามราคาข้าวเปลือกหอมมะลิ ข้าวเปลือกเหนียว มันสำปะหลัง อ้อยโรงงาน ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์และยางพารา ในขณะที่ดัชนีผลผลิตเพิ่มขึ้นจากปีก่อนร้อยละ 15.9 ขยายตัวเพิ่มขึ้นตามผลผลิตข้าวนาปรังอ้อยโรงงาน และยางพารา เป็นสำคัญ สำหรับสถานการณ์ด้านราคา ข้าวเปลือกหอมมะลิ ราคาเฉลี่ยเกวียนละ 13,790 บาท สูงขึ้นจากปีก่อนเพียงร้อยละ 0.5 ชะลอตัวจากปีก่อนหน้า เนื่องจากโรงสีและผู้ส่งออกยังมีสต็อกเพียงพอต่อการส่งมอบ ขณะที่ ข้าวเปลือกเหนียว ราคาเฉลี่ยเกวียนละ 14,672 บาท สูงขึ้นจากปีก่อนร้อยละ 10.5 ชะลอตัวจากปีก่อนหน้า ตามความต้องการของตลาดต่างประเทศที่ลดลง ประกอบกับมีผลผลิตเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะจากข้าวนาปรัง หัวมันสำปะหลัง ราคาเฉลี่ยกิโลกรัมละ 2.47 บาท สูงขึ้นจากปีก่อนร้อยละ 2.7 ชะลอตัวจากปีก่อนหน้าตามความต้องการของประเทศจีน ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ราคาเฉลี่ยกิโลกรัมละ 6.77 บาทสูงขึ้นจากปีก่อนร้อยละ 21.1 ชะลอตัวจากปีก่อนหน้าตามแนวโน้มของตลาดต่างประเทศ ยางแผ่นดิบชั้น 3 ราคาเฉลี่ยกิโลกรัมละ 128.5 บาท สูงขึ้นจากปีก่อนร้อยละ 29.1 ชะลอตัวจากปีก่อนหน้า เนื่องจากความต้องการใช้ยางที่ชะลอตัว ส่วนหนึ่งเป็นผลจากภัยสึนามิที่ญี่ปุ่นในไตรมาสแรก อุทกภัยในภาคกลางช่วงไตรมาสที่ 4 ส่งผลให้โรงงานผลิตรถยนต์ทั้งในและต่างประเทศหยุดผลิต

ผลผลิตภาคอุตสาหกรรม เพิ่มขึ้นร้อยละ 17.0 จากปีก่อน และขยายตัวมากกว่าปีก่อน เป็นผลจากการผลิตในอุตสาหกรรมน้ำตาลที่มีปริมาณอ้อยเข้าสู่โรงงานสูงสุดเป็นประวัติการณ์ และอุตสาหกรรมเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์เพิ่มขึ้นเนื่องจากมีการผลิตเพื่อสต็อกสินค้าสำหรับรองรับความต้องการของตลาดที่ขยายตัว โดยเฉพาะในช่วงที่มีการหาเสียงเลือกตั้งและข่าวการปรับราคาเพิ่มขึ้นประกอบกับมีการเร่งผลิตเพื่อทดแทนโรงงานในเครือที่ได้รับผลกระทบจากอุทกภัย สำหรับอุตสาหกรรมการผลิตชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ในกลุ่ม Hard Disk Drive (HDD) หดตัวลงเป็นผลจากผลกระทบของอุทกภัยในภาคกลางและการชะลอคำสั่งซื้อจากต่างประเทศ

ภาคการค้า ขยายตัวจากปีก่อนร้อยละ 8.0 แต่ขยายตัวน้อยกว่าปีที่แล้ว เนื่องจากได้รับผลกระทบจากสึนามิในญี่ปุ่นในไตรมาสแรก และอุทกภัยน้ำท่วมภาคกลางในช่วงปลายปี ส่งผลให้ยอดจำหน่ายรถยนต์ และวัสดุก่อสร้างชะลอลง จากปัญหาการส่งมอบสินค้า อย่างไรก็ตาม การค้าในหมวดการค้าส่งและการค้าปลีกยังขยายตัวดี

2. ด้านอุปสงค์

การอุปโภคบริโภคภาคเอกชน ดัชนีการอุปโภคบริโภคภาคเอกชนเพิ่มขึ้นปีก่อนร้อยละ 2.2 ขยายตัวมากกว่าปีก่อน ส่วนหนึ่งเป็นผลจากรายได้เกษตรกรที่ขยายตัวอยู่ในเกณฑ์ดีโดยเฉพาะในช่วงต้นปี ประกอบกับมีการเลือกตั้งในช่วงกลางปี อย่างไรก็ตาม การจดทะเบียนรถยนต์และรถจักรยานยนต์ยังขยายตัวแต่ชะลอลงในช่วงไตรมาสที่ 4 ของปีเนื่องจากภาวะน้ำท่วมที่ภาคกลาง ทำให้เป็นอุปสรรคในการผลิตและการขนส่งมาจำหน่ายยังภาคต่างๆ

การลงทุนภาคเอกชน ดัชนีการลงทุนเพิ่มขึ้นจากปีก่อนร้อยละ 4.8 แต่ขยายตัวน้อยกว่าปี 2553 ส่วนหนึ่งเป็นผลจากผลกระทบของสึนามิที่ประเทศญี่ปุ่น และผลของอุทกภัยในภาคกลาง สะท้อนจากการชะลอตัวของทั้งพื้นที่ขอรับอนุญาตก่อสร้าง ยอดจำหน่ายวัสดุก่อสร้าง และการใช้รถยนต์เชิงพาณิชย์ อย่างไรก็ดี การประกอบกิจการโรงงานใหม่เพิ่มขึ้นกว่า 2 เท่าตัว ประเภทโรงงานผลิตพลังงานไฟฟ้า โรงงานแปรรูปยางพาราในหลายจังหวัด การจดทะเบียนธุรกิจที่ขยายตัวร้อยละ 22.6 ในธุรกิจประเภทก่อสร้าง และการค้าส่งค้าปลีกส่วนการได้รับอนุมัติส่งเสริมการลงทุนหดตัวร้อยละ 52.0 เนื่องจากในปีก่อนมีการลงทุนสูงในโครงการผลิตไฟฟ้าหลายโครงการ

ภาคการคลัง รายได้ของภาครัฐบาลจากการจัดเก็บภาษีอากรทั้งสิ้น 50,120.3 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีก่อนร้อยละ 11.6 และขยายตัวเพิ่มขึ้นจากปีก่อน ตามการจัดเก็บภาษีสรรพากรจากภาษีมูลค่าเพิ่ม และภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาเป็นสำคัญ ส่วนภาษีสรรพสามิตขยายตัวเพิ่มขึ้นโดยเฉพาะจากภาษีประเภทเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ สำหรับการเบิกจ่ายเงินงบประมาณ 279,330.8 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีก่อนร้อยละ 18.1 ตามการเบิกจ่ายเงินงบประมาณประจำและงบลงทุน หากรวมงบไทยเข้มแข็งแล้วเพิ่มขึ้นเพียงร้อยละ 1.1

3. ภาคต่างประเทศ

การค้าชายแดนไทย - ลาว มูลค่าการค้าเพิ่มขึ้นจากปีก่อนร้อยละ 47.6 เร่งตัวเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับปีก่อนทั้งมูลค่าการส่งออกและการนำเข้า โดยสินค้าสำคัญที่ไทยส่งออกไปลาว ได้แก่ หมวดสินค้าหมวดคอมพิวเตอร์และอุปกรณ์ โดยเฉพาะชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ หมวดน้ำมันปิโตรเลียมและเชื้อเพลิงอื่น ๆ หมวดสินค้าอุปโภคบริโภค และหมวดวัสดุก่อสร้าง สำหรับสินค้าสำคัญที่ไทยนำเข้าจากลาว ได้แก่ สินแร่ทองแดง หมวดเครื่องใช้ไฟฟ้าและหมวดเสื้อผ้าสำเร็จรูปจากประเทศจีน

การค้าชายแดนไทย - กัมพูชา (ด้านจังหวัดสุรินทร์ ศรีสะเกษ และอุบลราชธานี) มูลค่าการค้าหดตัวจากปีก่อนร้อยละ 37.1 เป็นผลจากการลดลงของการส่งออกน้ำมันเชื้อเพลิงและสินค้าอุปโภคบริโภค อย่างไรก็ตามสินค้าหมวดทุน เครื่องใช้ไฟฟ้าและอุปกรณ์ ยานพาหนะและส่วนประกอบ ยังคงขยายตัว ส่วนมูลค่าการนำเข้าลดลงเนื่องจากไม่มีการนำกลับเครื่องจักรสำหรับการก่อสร้าง และการลดลงของสินค้าหมวดของป่า

4. ภาวะการเงิน

ธนาคารพาณิชย์ เงินฝากคงค้างเพิ่มขึ้นจากปีก่อน และขยายตัวอย่างต่อเนื่อง เนื่องจากธนาคารพาณิชย์แข่งขันกันระดมเงินฝากเพื่อรองรับการขยายตัวของสินเชื่อ ส่งผลให้เงินฝากขยายตัวทุกประเภทสำหรับสินเชื่อคงค้างขยายตัวต่อเนื่อง โดยขยายตัวทั้งสินเชื่อแก่ภาคครัวเรือน และภาคธุรกิจ สะท้อนจากสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัย สินเชื่อเช่าซื้อ และสินเชื่อเพื่อการค้าปลีกค้าส่งที่ขยายตัว

สถาบันการเงินเฉพาะกิจ เงินฝากคงค้างขยายตัวจากปีก่อน โดยเป็นการขยายตัวของทุกธนาคารเนื่องจากมีการออกผลิตภัณฑ์เงินฝากเพื่อจูงใจลูกค้าแข่งขันกับธนาคารพาณิชย์ สำหรับสินเชื่อคงค้างเพิ่มขึ้นจากปีก่อน ส่วนใหญ่เป็นสินเชื่อตามนโยบายของภาครัฐ โดยเฉพาะธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตรขยายตัวจากสินเชื่อตามโครงการรับจำนำข้าว และสินเชื่อของธนาคารออมสิน ขยายตัวจากสินเชื่อเพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิต ขณะที่ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมที่ขยายตัวจากสินเชื่อในหมวดอาหารและเครื่องดื่ม และหมวดการผลิต

5. เสถียรภาพราคาและการจ้างงาน

อัตราเงินเฟ้อทั่วไป อยู่ที่ร้อยละ 3.85 ชะลอตัวจากปีก่อน ตามราคาข้าวและน้ำมันเชื้อเพลิงที่ชะลอลงและราคาผักและผลไม้ที่ลดลง เป็นสำคัญ อย่างไรก็ตาม สินค้าที่ยังมีราคาสูงขึ้นมาก ได้แก่ ไข่ที่สูงขึ้นร้อยละ 16.4 เนื้อสัตว์สูงขึ้นร้อยละ 12 น้ำตาลสูงขึ้นร้อยละ 19.7 เครื่องแบบเด็กสูงขึ้นร้อยละ 11.1 สำหรับเงินเฟ้อพื้นฐานเร่งตัวสูงขึ้นร้อยละ 2.10 จากปีก่อนที่เงินเฟ้อพื้นฐานร้อยละ 1.1

ภาวะการจ้างงาน การจัดหางานของภาครัฐปีนี้มีผู้สมัครงาน 120,003 คน เพิ่มขึ้นจากปีก่อนร้อยละ 10.6 ขณะที่ตำแหน่งงานว่าง 57,646 อัตรา ลดลงร้อยละ 16.6 สำหรับผู้ได้รับการบรรจุงาน 60,156 คน เพิ่มขึ้นร้อยละ 7.7 โดยผู้ได้รับการบรรจุงานส่วนใหญ่อยู่ในอุตสาหกรรมการผลิต การขายส่ง การขายปลีก และการซ่อมแซมยานยนต์ ส่วนแรงงานที่ขาดแคลนส่วนใหญ่ได้แก่ ช่างตัดเย็บเสื้อผ้า ช่างโลหะ และพนักงานขาย

แรงงานที่ขออนุญาตเดินทางไปทำงานต่างประเทศ มีจำนวน 75,096 คน ลดลงจากปีก่อนร้อยละ 14.4 ตามการลดลงของแรงงานที่เดินทางไปทำงานที่ไต้หวันเป็นสำคัญ แรงงานส่วนใหญ่มีภูมิลำเนาอยู่ใน จังหวัดอุดรธานี นครราชสีมา ขอนแก่น และบุรีรัมย์

ส่วนเศรษฐกิจภาค

ธนาคารแห่งประเทศไทย

สำนักงานภาคตะวันออกเฉียงเหนือ

ข้อมูลเพิ่มเติม: นายโรจน์ลักษณ์ ปรีชา เศรษฐกรอาวุโส

E-mail: Rotelakp@bot.or.th

โทร: 0-4333-3000 ต่อ 3411

ที่มา: ธนาคารแห่งประเทศไทย


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ