สุนทรพจน์: SMEs จะรับมืออย่างไรกับเศรษฐกิจไทยวันนี้

ข่าวเศรษฐกิจ Friday March 16, 2012 13:40 —ธนาคารแห่งประเทศไทย

คพกล่าวเปิดงาน และปาฐกถาพิเศษ

ดร. ประสาร ไตรรัตน์วรกุล

ผู้ว่าการ ธนาคารแห่งประเทศไทย

เรื่อง “SMEs จะรับมืออย่างไรกับเศรษฐกิจไทยวันนี้”

ในงาน Financial Wisdom Fair ปัญญาสู่ความมั่นคงทางการเงิน

ณ ห้องบอลรูม ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์

วันศุกร์ที่ 16 มีนาคม 2555 เวลา 10.00 - 10.30 น. ......................................................

วิทยากร และท่านผู้มีเกียรติทุกท่านครับ

ผมมีความยินดีเป็นอย่างยิ่งที่ได้มากล่าวเปิดงาน Financial Wisdom Fair ปัญญาสู่ความมั่นคงทางการเงิน และกล่าวปาฐกถาพิเศษเรื่อง “SMEs จะรับมืออย่างไรกับเศรษฐกิจไทยวันนี้” ในวันนี้ครับ

การจัดงาน Financial Wisdom Fair ปัญญาสู่ความมั่นคงทางการเงิน ในครั้งนี้จะมีขึ้นทั้งสิ้น 3 วัน มีเป้าหมายเพื่อเผยแพร่ความรู้ทางการเงินที่เป็นประโยชน์ต่อผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อม หรือ SMEs และประชาชนทั่วไป ซึ่งเป็นผู้ใช้บริการทางการเงินด้วยกันทั้งสิ้น การดูแลให้ผู้ใช้บริการทางการเงินได้รับความคุ้มครอง และมีความเข้มแข็งเป็นหนึ่งในภารกิจหลักของแบงก์ชาติ และเป็นส่วนหนึ่งที่จะนำเราไปสู่จุดหมายปลายทาง คือ “ความเป็นอยู่ที่ดีอย่างยั่งยืนของไทย”

ท่านผู้มีเกียรติครับ

ธุรกิจ SMEs แม้จะไม่ใช่ธุรกิจขนาดใหญ่ แต่ก็มีความสำคัญต่อการขับเคลื่อนเศรษฐกิจไม่น้อยกว่าธุรกิจขนาดใหญ่เลย ดังจะเห็นได้จากข้อมูลของสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมหรือ สสว. ว่าในปี 2554 มีผู้ประกอบการ SMEs ประมาณ 99% ของวิสาหกิจทั้งหมด ซึ่งคิดเป็นสัดส่วนถึง 37% ของ GDP รวม นอกจากนี้ SMEs ยังเป็นผู้ผลิตสินค้าและบริการหลากหลายประเภท ทั้งผลิตภัณฑ์ที่ผู้บริโภคนำไปใช้โดยตรง และผลิตภัณฑ์ในสายห่วงโซ่อุปทานเพื่อสนับสนุนการผลิตของบริษัทต่างชาติ หรือกลุ่มธุรกิจขนาดใหญ่ ดังนั้น SMEs จึงเปรียบเสมือนยักษ์เล็กที่เป็นกำลังสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ

“SMEs จะรับมืออย่างไรกับเศรษฐกิจไทยวันนี้” น่าจะเป็นคำถามในใจของหลาย ๆ ท่าน และในฐานะที่ท่านต้องติดตามการเปลี่ยนแปลงของเศรษฐกิจอยู่เสมอ ก็คงพอมีคำตอบอยู่บ้างแล้วเช่นกัน ผมมีเรื่องที่อยากแบ่งปันกับทุกท่าน 4 เรื่อง คือ (1) ภาวะเศรษฐกิจและแนวโน้มที่ SMEs เผชิญหน้าอยู่ (2) การเตรียมพร้อมรับโอกาสและความท้าทายของภาคธุรกิจ (3) บทบาทของแบงก์ชาติที่เอื้อต่อการปรับตัวและการดำเนินธุรกิจของ SMEs โดยตรง และ (4) บทบาทของแบงก์ชาติด้านการคุ้มครองผู้ใช้บริการทางการเงิน ที่จะช่วยส่งเสริมความสำเร็จของ SMEs รวมทั้งความมั่นคงทางการเงินส่วนบุคคลของท่านและประชาชนทั่วไปครับ

เรื่องที่ 1 : ภาวะเศรษฐกิจและแนวโน้ม

ท่านผู้มีเกียรติครับ

ปี 2554 ถือเป็นปีที่มีความท้าทายเป็นอย่างมาก โดยเศรษฐกิจไทยต้องพบกับปัจจัยที่ส่งผลในทางลบหลายประการทั้งจากภายในและภายนอก ไม่ว่าจะเป็นปัญหาการขาดแคลนวัตถุดิบ (Supply chain disruption) จากภัยพิบัติสึนามิในประเทศญี่ปุ่น ปัญหาอุทกภัยในประเทศเราเอง และเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัว ทำให้เศรษฐกิจไทยปีที่แล้วแทบไม่ขยายตัวเลยคือเพียงร้อยละ 0.1 ส่วนอัตราเงินเฟ้อแม้จะเร่งตัวขึ้น แต่ก็ยังอยู่ในช่วงเป้าหมาย โดยอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานทั้งปีอยู่ร้อยละ 2.4 นอกจากนี้ ปัจจัยต่าง ๆ ทั้งภายในและภายนอกส่งผลให้เงินทุนเคลื่อนย้ายมีความผันผวนตลอดทั้งปี ส่งผลให้อัตราแลกเปลี่ยนเคลื่อนไหว 2 ทิศทาง ซึ่ง ณ สิ้นปี อยู่ที่ 31.55 บาทต่อดอลลาร์ สรอ. อ่อนลงจาก ณ สิ้นปีก่อน ร้อยละ 4.44

สำหรับแนวโน้มเศรษฐกิจในปี 2555 ภาคธุรกิจยังคงมีความท้าทายจากปัจจัยภายในประเทศ เช่น การที่ผู้ประกอบการต้องรับภาระต้นทุนที่สูงขึ้นจากการปรับเพิ่มค่าจ้างขั้นต่ำ การฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยที่ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์อุทกภัย และความผันผวนจากปัจจัยภายนอกประเทศ ที่ส่งผ่านมายังเศรษฐกิจของเอเชียและไทยเป็นระยะ ๆ เศรษฐกิจกลุ่มยุโรปซึ่งมีแนวโน้มถดถอยจากความยืดเยื้อของปัญหาวิกฤตหนี้สาธารณะ และเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่ส่งสัญญาณปรับตัวดีขึ้นต่อเนื่องแต่ก็มีแนวโน้มที่จะยังขยายตัวต่ำกว่าศักยภาพไปอีกระยะหนึ่ง น่าจะส่งผลให้เศรษฐกิจโลกในปี 2555 ยังคงชะลอตัวต่อไป ดังนั้น แรงขับเคลื่อนของเศรษฐกิจไทยจึงน่าจะเป็นอุปสงค์ภายในประเทศ โดยจะมาจากการฟื้นฟูความเสียหาย การบริโภคภาคเอกชน ความเชื่อมั่นของผู้ประกอบการที่เริ่มปรับตัวดีขึ้น และการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐ ซึ่งในภาพรวมเศรษฐกิจไทยปีนี้มีแนวโน้มขยายตัวจากปีก่อน

อย่างไรก็ดี การขยายตัวจะขึ้นอยู่กับระยะเวลาที่ใช้ในการฟื้นตัวของภาคการผลิต มาตรการในการบริหารจัดการน้ำของภาครัฐ และภาวะเศรษฐกิจโลก

เรื่องที่ 2 : การเตรียมพร้อมรับโอกาสและความท้าทายของภาคธุรกิจ

ท่านผู้มีเกียรติครับ

นอกจากความท้าทายจากความผันผวนทางเศรษฐกิจแล้ว การรวมกลุ่มประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนหรือ AEC ที่จะเกิดขึ้นอย่างเต็มรูปแบบภายในปี 2558 จะเป็นความท้าทายที่สำคัญของ SMEs ในระยะต่อไป ซึ่งเป้าหมายในการรวมกลุ่มในครั้งนี้เพื่อเชื่อมอาเซียนเป็นตลาดเดียวกัน ทำให้การค้าขายสินค้าทาได้อย่างเสรี โดยขณะนี้ประเทศสมาชิกหลักได้ลดภาษีนำเข้าเกือบทุกรายการจนเหลือ 0% ส่วนประเทศกลุ่ม CLMV (กัมพูชา ลาว พม่า และเวียดนาม) น่าจะดำเนินการได้ภายในปี 2558 และยังมีความร่วมมือกันในการเปิดเสรีด้านอื่น ๆ พร้อมกัน ได้แก่ การค้าบริการซึ่งรวมถึงภาคการเงิน การลงทุน การเคลื่อนย้ายเงินทุนและแรงงานฝีมือ รวมทั้งความร่วมมือในการเชื่อมโยงโครงสร้างพื้นฐานทางการเงิน เช่น ระบบการชาระเงิน

AEC เป็นโอกาสดีที่จะเริ่มหรือขยายตลาดสินค้าส่งออกรวมทั้งขยายฐานการผลิตในประเทศสมาชิก และผู้นำเข้าก็จะมีต้นทุนต่ำลง แต่อย่าลืมว่านี่ก็เป็นโอกาสของผู้ประกอบการอื่นใน AEC ที่จะเข้ามาในบ้านเราเช่นกัน เพื่อให้พร้อมสู้กับพ่อค้าแม่ค้าหน้าใหม่ ผู้ผลิตเจ้าถิ่นก็ควรพร้อมปรับตัวอยู่เสมอเพื่อรับมือกับความท้าทายจากสถานการณ์เศรษฐกิจโลกที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว และการแข่งขันที่สูงขึ้นในอนาคต โดยสิ่งที่ผู้ประกอบการ SMEs อาจทาได้มีอยู่หลายประการ ผมขอยกตัวอย่างเพื่อเสนอเป็นแนวคิดดังนี้ครับ

ประการแรก คือ การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตของแรงงานและเร่งพัฒนาคุณภาพสินค้า โดยเน้นการฝึกอบรมและพัฒนาฝีมือแรงงานซึ่งจะก่อให้เกิดนวัตกรรมใหม่ ๆ เพื่อสร้างความแตกต่างและสร้างคุณค่าให้กับผลิตภัณฑ์ รวมถึงลงทุนในเครื่องจักรและอุปกรณ์เพื่อให้การผลิตมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น การดำเนินการดังกล่าวจะทำให้ผู้ประกอบการ SMEs สามารถลดต้นทุนและแข่งขันได้ในระยะยาว ซึ่งหากเมื่อเกิด AEC ขึ้นในปี 2558 จะส่งผลให้การไหลเวียนของสินค้า บริการ และแรงงานคล่องตัวมากขึ้น ประเทศไทยจึงควรเร่งยกระดับความสามารถในการแข่งขัน โดยเน้นการแข่งขันเชิงคุณภาพ เพื่อเพิ่มมูลค่าสินค้าและบริการ ทำให้เศรษฐกิจเติบโตได้อย่างก้าวกระโดด และสามารถก้าวข้ามกับดักของประเทศที่มีรายได้ปานกลาง หรือ middle income trap

ประการที่สอง เมื่อมองตลาดยุโรปและสหรัฐฯ SMEs ที่มีลูกค้าส่วนใหญ่ในประเทศเหล่านี้ควรเตรียมรับมือโดยกระจายตลาดส่งออกหรือหากลุ่มลูกค้าใหม่เพิ่ม เช่น ภายในภูมิภาคเอเชีย หรือเพิ่มสัดส่วนตลาดในประเทศมากขึ้น เพื่อชดเชยกับสินค้าที่ท่านอาจขายได้ลดลงในตลาดเดิม รวมทั้งควรระวังการที่ลูกค้าอาจไม่สามารถจ่ายค่าสินค้าและบริการได้หากเศรษฐกิจแย่ลง และควรหาทางป้องกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนด้วยเครื่องมือที่เหมาะสมอย่างสม่าเสมอด้วย

ประการที่สาม นอกจากกลยุทธ์ทางการค้าแล้ว การบริหารจัดการธุรกิจที่มีประสิทธิภาพและโปร่งใสก็มีความสำคัญ โดยมีข้อที่พึงใส่ใจเพื่อให้ธุรกิจประสบความสำเร็จและรับมือกับความไม่แน่นอนต่าง ๆ ได้ อาทิ การหาเงินทุนเพื่อมาลงทุนในกิจการ สิ่งสาคัญ 2 ประการ คือ สภาพคล่องและอัตราดอกเบี้ย กิจการยังอยู่ได้แม้จะขาดทุน แต่การขาดสภาพคล่องเปรียบเหมือนการเสียเลือดที่ไหลเวียนในร่างกาย ซึ่งอาจทำให้กิจการสะดุด ขาดความน่าเชื่อถือ จึงควรมองหาแหล่งเงินทุนหลาย ๆ แหล่ง เช่น สร้างกำไรสะสมเพื่อพึ่งพาตนเอง หรือหากต้องกู้ยืมเงิน ก็ควรศึกษานโยบายของผู้ให้กู้แต่ละแห่ง เพื่อหาอัตราดอกเบี้ยและเงื่อนไขที่เป็นประโยชน์มากที่สุด ซึ่งภาวะดอกเบี้ยและการแข่งขันด้านสินเชื่อ SMEs ของธนาคารพาณิชย์ในตอนนี้ก็เอื้อให้ท่านหาเงื่อนไขที่ต้องการหรือต่อรองได้ง่ายขึ้น รวมทั้งการไม่ลงทุนเกินตัวก็จะมีส่วนช่วยป้องกันการขาดสภาพคล่องและการจ่ายดอกเบี้ยมากเกินจาเป็นได้ นอกจากนี้ เพื่อเพิ่มโอกาสในการได้รับอนุมัติเงินกู้ ท่านก็จำเป็นจะต้องแต่งตัวให้พร้อม การมีระบบบัญชีที่มีมาตรฐานและการจัดการด้านภาษีที่ถูกต้อง ก็เป็นหนึ่งในปัจจัยที่ช่วยในด้านธรรมาภิบาลและสะท้อนภาวะการเงินที่แท้จริงของท่าน ความรู้ในเรื่องเหล่านี้ ท่านสามารถหาได้จากการศึกษาเอง การเข้าร่วมอบรม หรือขอความช่วยเหลือจากผู้อื่น ซึ่งผมจะกล่าวถึงต่อไป

ประการที่สี่เกี่ยวกับการเตรียมความพร้อมเพื่อรองรับเหตุการณ์ที่ไม่คาดคิด ประสบการณ์จากอุทกภัยที่ผ่านมา ทำให้เรานึกถึงปัจจัยที่ควบคุมได้ยากอย่างอื่น เช่น ภัยธรรมชาติประเภทต่างๆ และอุบัติเหตุ แต่ก็เป็นสิ่งที่สามารถจัดการให้ได้รับผลกระทบน้อยที่สุด ไม่ให้เข้าทานอง “เสียน้อยเสียยากเสียมากเสียง่าย” ในฝั่งของเราได้ เริ่มตั้งแต่การหมั่นตรวจตราระบบป้องกันภัยให้อยู่ในสภาพพร้อมใช้ มีแผนฉุกเฉิน และเลือกทำประกันภัยที่เหมาะสม การเตรียมพร้อมเช่นนี้นอกจากจะช่วยลดค่าใช้จ่ายหากเกิดเรื่องร้ายแล้ว ยังช่วยให้ท่านสามารถบริหารกิจการด้วยความสบายใจในยามปกติด้วย

และประการสุดท้าย การเดินทางสู่ความสาเร็จเพียงลำพังก็อาจทำให้ท่านใช้เวลานาน การมีพันธมิตรหรือผู้ให้ความช่วยเหลือ จะช่วยนำท่านไปสู่ทางลัด และผ่อนแรงได้ การเป็นสมาชิกองค์กรต่างๆ เช่น หอการค้า สภาอุตสาหกรรม สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม การรวมกลุ่มกันเองของผู้ประกอบการ และการขอความช่วยเหลือจากหน่วยงานที่มีความเชี่ยวชาญจะช่วยเพิ่มพลังในการต่อรอง การเข้าถึงแหล่งข้อมูล และช่วยให้ท่านมีเพื่อนช่วยแก้ไขปัญหาในยามยากผมเชื่อมั่นว่าความกระตือรือร้น ช่างสังเกต ลงมือทา ใช้เครื่องมือที่เหมาะกับความเสี่ยงที่รับได้ มีพันธมิตรที่ดี จะช่วยให้ท่าน “โต้คลื่น” ในการทำธุรกิจได้อย่างราบรื่นครับ

เรื่องที่ 3 : บทบาทของแบงก์ชาติที่เอื้อต่อการปรับตัวและการดาเนินธุรกิจของ SMEs โดยตรง

ท่านผู้มีเกียรติครับ

การดำเนินนโยบายของแบงก์ชาตินอกจากจะมุ่งหวังที่จะรักษาเสถียรภาพเศรษฐกิจแล้ว ยังมีเป้าหมายเพื่อเอื้อต่อการดำเนินธุรกิจของผู้ประกอบการซึ่งรวมถึง SMEs ด้วย ที่ผ่านมาแบงก์ชาติได้ผ่อนคลายกฎระเบียบการแลกเปลี่ยนเงิน เช่น อนุญาตให้ผู้นำเข้าและผู้ส่งออกสามารถทำสัญญาป้องกันความเสี่ยงค่าสินค้าและบริการจากประมาณการค่าสินค้าและบริการภายใน 1 ปีได้ จากเดิมที่ต้องมีหลักฐานการซื้อขายประกอบการทำสัญญา รวมทั้งการพิจารณารายละเอียดของการจัดให้มี currency futures กับ TFEX เพื่อเพิ่มทางเลือกในการเข้าถึงบริการทางการเงินมากขึ้นในการบริหารความเสี่ยงให้แก่ธุรกิจโดยเฉพาะธุรกิจขนาดย่อมที่เข้าถึงบริการได้น้อยกว่าธุรกิจขนาดอื่น

สำหรับกรณีอุทกภัยในปีที่แล้ว แบงก์ชาติได้ประสานงานกับสถาบันการเงินเพื่อให้การให้บริการด้านการเงินดำเนินไปได้อย่างเป็นปกติมากที่สุด และได้ออกมาตรการเพื่อให้ความช่วยเหลือผู้ที่ได้รับความเดือดร้อน โดยล่าสุดได้ออกประกาศการให้ความช่วยเหลือทางการเงินอัตราดอกเบี้ยต่ำ หรือ soft loans แก่ผู้ประสบอุทกภัยปี 2554 ซึ่งผู้ที่เข้าข่ายจะขอสินเชื่อนี้ได้คือผู้ประกอบการ SMEs และบุคคลธรรมดาที่ได้รับความเสียหายจากอุทกภัยที่เกิดขึ้นในปี 2554 และอยู่ในเขตพื้นที่ที่มีการประกาศเป็นพื้นที่ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉินตามระเบียบกระทรวงการคลังเกี่ยวกับเงินทดรองราชการเพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉินที่สถาบันการเงินได้ตรวจสอบแล้วและรับรองว่าเป็นผู้ที่ได้รับความเสียหายจริงโดยจะได้วงเงินรายละไม่เกิน 30 ล้านบาทและ 1 ล้านบาทตามลาดับ ซึ่งท่านที่สนใจสามารถติดต่อกับธนาคารพาณิชย์ และสถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐได้โดยตรง หรือดูรายละเอียดได้ที่ website ของแบงก์ชาติครับ

บริการทางการเงินอีกอย่างหนึ่งที่เกี่ยวข้องกับ SMEs อยู่ไม่น้อย คือ บริการด้านระบบการชำระเงิน ในเรื่องการใช้เงินสดและเช็ค ซึ่งอาจจะดูว่าฟรีหรือมีค่าธรรมเนียมต่า แต่จริงๆ มีต้นทุนแฝงสูง เช่น ความเสี่ยงเรื่องเงินสดหาย เสียเวลาไปสาขาธนาคารเพื่อฝากถอนเงิน นอกจากนี้ ในปีที่แล้วแบงก์ชาติได้ทำการสำรวจผู้ประกอบการเกี่ยวกับความรู้ความเข้าใจของผู้ประกอบการในการใช้บริการชำระเงินทางอิเล็กทรอนิกส์ ผลการสำรวจพบว่า ผู้ตอบแบบสอบถามส่วนใหญ่ยังไม่ทราบว่ามีบริการอะไรและจะช่วยให้ธุรกิจสะดวกขึ้นได้อย่างไรบ้าง และไม่คุ้นเคยและไม่มั่นใจในบริการ ซึ่งผมขอเรียนว่าการให้บริการทางอิเล็กทรอนิกส์ของสถาบันการเงินมีการรักษาความปลอดภัยที่มีมาตรฐาน และแบงก์ชาติก็กากับดูแลอยู่อย่างใกล้ชิด อย่างไรก็ตาม แบงก์ชาติจะทำการประชาสัมพันธ์เกี่ยวกับประโยชน์ ข้อควรรู้ในการใช้บริการ และดำเนินการอื่น ๆ เพื่อเพิ่มความสะดวกและความมั่นใจในการใช้บริการของท่านอย่างต่อเนื่อง

เรื่องที่ 4: บทบาทของแบงก์ชาติด้านการคุ้มครองผู้ใช้บริการทางการเงิน

ท่านผู้มีเกียรติครับ

มาตรการอีกด้านหนึ่งที่แบงก์ชาติเห็นว่ามีความสาคัญไม่น้อยไปกว่าสิ่งที่ผมได้กล่าวไป และจะเป็นส่วนช่วยในการส่งเสริมความมั่นคงของเศรษฐกิจไทยในวันนี้และวันหน้า คือ การคุ้มครองใช้บริการทางการเงิน ทั้งในฐานะที่ท่านเป็นผู้ประกอบการ และเมื่อท่านสวมหมวกอีกใบหนึ่งในฐานะประชาชนทั่วไปซึ่งต้องจัดการการเงินส่วนบุคคล หรือใช้บริการทางการเงินต่างๆ

การดำเนินการในเรื่องนี้ไม่ได้เป็นเรื่องใหม่เลย ที่ผ่านมาหน่วยงานต่าง ๆ ได้มีการดำเนินการและร่วมมือกันในด้านการคุ้มครองผู้ใช้บริการทางการเงินอย่างต่อเนื่อง ผมขอยกตัวอย่างหน่วยงาน 2 แห่งซึ่งได้จัดทำและเผยแพร่ความรู้ทางการเงินผ่านสื่อต่าง ๆ เช่น website วิทยุ โทรทัศน์ สิ่งพิมพ์ แก่นักลงทุนและผู้สนใจทั่วไป เพื่อประโยชน์ในการตัดสินใจลงทุนและการจัดการการเงินส่วนบุคคล คือ (1) ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ซึ่งมีบทบาทสำคัญในด้านการส่งเสริมความรู้ทางการเงินมาอย่างต่อเนื่องโดยมีหน่วยงานย่อยเพื่อทำหน้าที่ในด้านนี้โดยเฉพาะ เช่น ศูนย์ส่งเสริมการพัฒนาความรู้ ตลาดทุน หรือ TSI บริษัท แฟมมิลี่ โนฮาว จำกัด ซึ่งเป็นผู้ดำเนินการสถานี Money Channel และ (2) สำนักงาน ก.ล.ต. ซึ่งนอกจากการให้ความรู้ที่เกี่ยวข้อง ผมได้ทราบมาว่าจากการสุ่มตรวจการขายหน่วยลงทุนของธนาคารพาณิชย์ สานักงาน ก.ล.ต. อยู่ในระหว่างพิจารณาปรับปรุงหลักเกณฑ์เกี่ยวกับการขายหน่วยลงทุน เช่น ความเพียงพอของจำนวนเจ้าหน้าที่ที่ติดต่อกับลูกค้า และความรู้ของผู้ขายเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์ที่ตนรับผิดชอบ ทั้งนี้ สำนักงาน ก.ล.ต. ได้ประสานไปยังสมาคมธนาคารไทยและบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนเกี่ยวกับเรื่องนี้แล้ว ซึ่งเป็นตัวอย่างหนึ่งของการดำเนินการให้มีการร่วมกันดูแลผลประโยชน์ของประชาชนโดยหน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชน

ในส่วนของแบงก์ชาติเองก็เป็นอีกหนึ่งหน่วยงานที่ได้ให้ความสำคัญเกี่ยวกับการคุ้มครองผู้บริโภคเช่นกัน โดยเน้นการคุ้มครองผู้ใช้บริการทางการเงินซึ่งเป็นเรื่องที่แบงก์ชาติมีจุดแข็ง เพื่อให้สามารถสอดประสานกับหน่วยงานพันธมิตรอื่น ๆ ที่ทำหน้าที่คุ้มครองผู้บริโภคได้อย่างมีประสิทธิภาพและเป็นไปในทิศทางเดียวกัน โดยที่ผ่านมาแบงก์ชาติได้ดำเนินการผ่าน 3 ช่องทาง ได้แก่ (1) การกากับดูแลสถาบันการเงิน (2) การรับข้อร้องเรียนที่เกิดจากการใช้บริการสถาบันการเงินและหน่วยงานที่อยู่ภายใต้การกำกับดูแลของแบงก์ชาติ และ (3) การให้ความรู้ทางการเงินแก่ประชาชน ผมขอยกตัวอย่างกิจกรรมซึ่งท่านอาจได้เคยเข้าร่วมหรือได้ยินแล้วก็คือ การจัดสัมมนาสาหรับ SMEs เรื่องการบริหารความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน การจัดทำสื่อ animation ความรู้ด้านระบบการชาระเงินบน website ของแบงก์ชาติ รวมทั้งการให้ความรู้ทางการเงินแก่พนักงานตามสถานประกอบการ

และจากการติดตามดูความเป็นไปของสภาพแวดล้อมทางเศรษฐกิจการเงินมาโดยตลอด ทำให้เห็นได้ว่าในปัจจุบันบริการทางการเงินมีความหลากหลายและซับซ้อนขึ้น ประกอบกับมีการแข่งขันที่รุนแรงในการนาเสนอ แต่ยังมีคนจานวนไม่น้อยที่ยังมีความรู้ความเข้าใจด้านการเงินไม่เพียงพอ ทำให้เกิดเข้าใจผิด ตัดสินใจพลาด จนนำไปสู่ความเสียหายต่าง ๆ ดังนั้น ความสามารถในการจัดการเงินทองของตนเอง การมีข้อมูลที่ถูกต้อง ครบถ้วน ชัดเจน ทันเวลา และเกี่ยวข้องกับการตัดสินใจ เพื่อที่จะเลือกใช้บริการทางการเงินที่เหมาะสมและตรงกับความต้องการ รวมถึงการรู้เท่าทันกลโกงต่าง ๆ จึงเป็นเรื่องที่สำคัญและจำเป็น แบงก์ชาติจึงได้จัดตั้ง ศูนย์คุ้มครองผู้ใช้บริการทางการเงิน หรือ ศคง. ขึ้นเพื่อให้ปรับกระบวนการทำงานให้เป็นระบบและเพิ่มประสิทธิภาพให้มากยิ่งขึ้น ซึ่ง ศคง. จะทาหน้าที่คุ้มครองท่านทั้งทางตรงและทางอ้อม คือ

(1) ทางตรง คือ การตอบคาถาม รับข้อร้องเรียน และประสานงานไปยังสถาบันการเงินหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง รวมถึงบริการของแบงก์ชาติเอง เช่น ธนบัตร พันธบัตร ผ่านหมายเลข 1213 รวมทั้งช่องทางอื่น ๆ เช่น จดหมาย โทรสาร และ e-mail (fcc@bot.or.th) หรือจะมาติดต่อกับเจ้าหน้าที่โดยตรงที่สำนักงานใหญ่ และสำนักงานภาคที่เชียงใหม่ ขอนแก่น และหาดใหญ่ ก็ได้เช่นกัน

(2) ทางอ้อม คือ การให้ความรู้ทางการเงิน เพื่อให้ท่านสามารถดูแลคุ้มครองตัวเองได้ด้วย การส่งเสริมความรู้เป็นการติดอาวุธทางปัญญา ให้ภูมิคุ้มกันทางการเงินให้แก่ท่าน โดยการเผยแพร่ความรู้และข้อมูลผ่านสื่อรูปแบบต่าง ๆ เช่น internet การบรรยาย แผ่นพับ สื่อมวลชน เพื่อให้เข้าถึงประชาชนได้มากที่สุด ซึ่งรวมทั้งการจัดงานใน 3 วันนี้ด้วยครับ

ในโอกาสที่เราได้มาพบกันในวันนี้ แบงก์ชาติก็อยากจะขอความอนุเคราะห์จากท่านในการ “บอกต่อ” ความรู้ที่ได้จากงานนี้ หรือจากสื่อต่าง ๆ ที่จะมีต่อไป ไปยังบุคคลอื่นเท่าที่จะมากได้ เพราะความรู้ความเข้าใจเรื่องการเงินเป็นเรื่องของทุกคนไม่ว่าจะอยู่ในวัยใด มีอาชีพ ฐานะ ความรู้ และสถานะทางสังคมอย่างไร ผมเชื่อว่าการที่ประชาชนมีความรู้ อยู่ดีกินดี ไม่ถูกหลอกลวง จะทำให้สามารถดาเนินชีวิตได้อย่างเต็มศักยภาพมากขึ้น และการที่ผู้ประกอบการมีความรู้ในการบริหารจัดการเงินของธุรกิจ มีความเข้มแข็ง จะช่วยยกระดับความสามารถในการแข่งขันของธุรกิจไทย ซึ่งทั้ง 2 ส่วนจะสนับสนุนให้ระบบเศรษฐกิจมีความแข็งแกร่งและมีพัฒนาการที่ยั่งยืนต่อไป

ท่านผู้มีเกียรติครับ

สำหรับการจัดงานในครั้งนี้ แบงก์ชาติได้รับความร่วมมือจากหน่วยงานต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง ซึ่งยินดีและเต็มใจเป็นผู้สนับสนุนท่านบนเส้นทางการทาธุรกิจและการดำเนินชีวิต อาทิ สมาคมธนาคารไทย สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย สสว. หอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย บริษัทข้อมูลเครดิตแห่งชาติ บรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม รวมทั้งสถาบันการเงินทั้งจากภาครัฐและเอกชนมาร่วมงานในวันนี้ด้วย ซึ่งผมขอขอบคุณหน่วยงานทั้งหมดที่ได้ให้ความอนุเคราะห์มาร่วมกันจัดกิจกรรมครั้งนี้ครับ

สุดท้ายนี้ หากท่านมีความเห็นที่ต้องการแบ่งปันก็ขอให้ท่านบอกมาได้ครับ ซึ่งจะเป็นการช่วยตัวท่าน ช่วยเพื่อนร่วมธุรกิจ และช่วยชาติของเรา แบงก์ชาติยินดีรับฟังและจะหาทางที่ดีที่สุดในการ “เดินไปด้วยกัน” ผ่านวันที่ดีและร้าย เพื่อก้าวไปสู่เป้าหมายคือการพัฒนาประเทศอย่างยั่งยืนต่อไปได้เวลาอันควรแล้ว ผมขอเปิดงาน Financial Wisdom Fair ปัญญาสู่ความมั่นคงทางการเงิน ณ บัดนี้

ขอบคุณครับ

ที่มา: ธนาคารแห่งประเทศไทย


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ