แถลงข่าวเศรษฐกิจและการเงินเดือนกุมภาพันธ์ 2555

ข่าวเศรษฐกิจ Friday March 30, 2012 11:15 —ธนาคารแห่งประเทศไทย

ฉบับที่ 19/2555

ภาวะเศรษฐกิจในเดือนกุมภาพันธ์ 2555 ปรับตัวดีขึ้นต่อเนื่อง โดยการบริโภคและการลงทุนภาคเอกชนกลับมาสูงกว่าระดับก่อนเกิดอุทกภัย สอดคล้องกับการนำเข้าสินค้าอุปโภคบริโภคและสินค้าทุนที่เร่งตัวขึ้น และการผลิตที่ปรับดีขึ้นเป็นลำดับ ขณะเดียวกัน การส่งออกเริ่มเห็นสัญญาณฟื้นตัว แม้การขยายตัวยังอยู่ในระดับต่ำ ด้านเสถียรภาพเศรษฐกิจอยู่ในเกณฑ์ดี การจ้างงานเพิ่มขึ้น และอัตราเงินเฟ้อทรงตัวจากเดือนก่อน

รายละเอียดของภาวะเศรษฐกิจไทย มีดังนี้

ผลกระทบของอุทกภัยที่คลี่คลายลงเป็นลำดับ ส่งผลให้การบริโภคและการลงทุนภาคเอกชนฟื้นตัวกลับมาสูงกว่าระดับก่อนเกิดอุทกภัย โดยดัชนีการอุปโภคบริโภคภาคเอกชนขยายตัวร้อยละ 6.6 จากระยะเดียวกันปีก่อนตามความต้องการใช้จ่ายที่ยังมีต่อเนื่อง สะท้อนจากการขยายตัวของเครื่องชี้ในทุกหมวดทั้งการจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม ณ ราคาคงที่ที่เพิ่มขึ้นทั้งฐานการบริโภคในประเทศและฐานการนำเข้ายอดจำหน่ายยานยนต์ที่เร่งขึ้นสอดคล้องกับการกลับมาเร่งผลิตของกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์เพื่อตอบสนองยอดค้างจองที่มีอยู่มาก เช่นเดียวกับปริมาณการใช้น้ำมันและก๊าซที่ขยายตัวในทุกกลุ่ม สำหรับดัชนีการลงทุนภาคเอกชนขยายตัวร้อยละ 8.8 จากระยะเดียวกันปีก่อน ส่วนหนึ่งเนื่องจากภาคธุรกิจกลับมาลงทุนอีกครั้งหลังจากความมั่นใจในภาวะเศรษฐกิจที่ปรับดีขึ้นหลังปัญหาอุทกภัยคลี่คลายลง และอีกส่วนหนึ่งมาจากการเร่งลงทุนเพื่อชดเชยและซ่อมแซมส่วนที่เสียหายจากอุทกภัย

การผลิตภาคอุตสาหกรรมปรับตัวดีขึ้นเป็นลำดับ โดยหดตัวร้อยละ 3.4 จากระยะเดียวกันปีก่อนเทียบกับเดือนก่อนที่หดตัวร้อยละ 15 ตามการผลิตที่ปรับตัวดีขึ้นในทุกหมวดสินค้า โดยเฉพาะการผลิตยานยนต์ ฮาร์ดดิสก์ไดรฟ์ เครื่องใช้ไฟฟ้า และหลอดอิเล็กทรอนิกส์และส่วนประกอบ เนื่องจากโรงงานที่ได้รับผลกระทบจากอุทกภัยสามารถกลับมาผลิตได้เพิ่มขึ้น หลังปัญหาการขาดแคลนชิ้นส่วนในการผลิตคลี่คลายลงมาก ส่งผลให้อัตราการใช้กำลังการผลิตเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ร้อยละ 62.3 จากเดือนก่อนซึ่งอยู่ที่ร้อยละ 58.5 สำหรับผลผลิตสินค้าเกษตรขยายตัวร้อยละ 0.5 จากระยะเดียวกันปีก่อน ตามผลผลิตสินค้าเกษตรหลายชนิดที่ยังขยายตัวดีต่อเนื่อง ได้แก่ ยางพารา ปาล์มน้ำมัน อ้อย มันสำปะหลัง และหมวดปศุสัตว์ แม้ผลผลิตข้าวยังคงลดลงจากผลกระทบของอุทกภัย ขณะที่ราคาสินค้าเกษตรหดตัวร้อยละ 16.1 จากระยะเดียวกันปีก่อนตามราคายางพาราที่หดตัวมากเป็นสำคัญ เนื่องจากราคาในปีก่อนสูงเป็นประวัติการณ์ ส่งผลให้รายได้เกษตรกรหดตัวร้อยละ 15.7 จากระยะเดียวกันปีก่อน

การบริโภคและการลงทุนภาคเอกชน รวมทั้งการผลิตภาคอุตสาหกรรมที่ดีขึ้น ส่งผลให้การนำเข้าขยายตัวร้อยละ 8.2 จากระยะเดียวกันปีก่อน โดยเฉพาะการนำเข้าสินค้าอุปโภคบริโภคและสินค้าทุนนอกจากนี้ การฟื้นตัวอย่างต่อเนื่องของภาคการผลิตยังส่งผลให้การส่งออกกลับมาขยายตัวได้ร้อยละ 1.2 จากระยะเดียวกันปีก่อน โดยการส่งออกสินค้ากลุ่มที่ได้รับผลกระทบจากอุทกภัยทยอยฟื้นตัว การส่งออกสินค้าเกษตรแปรรูปยังคงขยายตัวในเกณฑ์ดี และการส่งออกผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียมขยายตัวจากราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกที่สูงขึ้น ขณะที่การส่งออกสินค้าเกษตรหดตัวจากผลของฐานราคายางที่อยู่ในระดับสูงในปีก่อน

ภาคการท่องเที่ยวฟื้นตัวเป็นปกติแล้วตั้งแต่เดือนก่อน แต่ในเดือนนี้ชะลอลงจากปัจจัยชั่วคราว โดยนักท่องเที่ยวต่างประเทศมีจำนวน 1.8 ล้านคน ขยายตัวเพียงร้อยละ 2.4 จากระยะเดียวกันปีก่อน ส่วนหนึ่งเป็นผลจากฐานสูงในเดือนเดียวกันปีก่อนที่มีเทศกาลตรุษจีน และอีกส่วนหนึ่งเป็นผลจากการชะลอการเดินทางของนักท่องเที่ยวชาวเอเชียตะวันออก โดยเฉพาะจีน ฮ่องกง และไต้หวัน จากความกังวลด้านความปลอดภัยจากเหตุระเบิดในกรุงเทพมหานคร ทั้งนี้ หากรวมจำนวนนักท่องเที่ยวต่างประเทศในเดือนมกราคมและกุมภาพันธ์ 2555 เพื่อขจัดผลของเทศกาลตรุษจีนที่ในปีนี้และปีที่แล้วไม่ได้อยู่ในเดือนเดียวกัน พบว่า จำนวนนักท่องเที่ยวต่างประเทศยังขยายตัวร้อยละ 5.2 จากระยะเดียวกันปีก่อน

สำหรับภาครัฐสามารถกระตุ้นเศรษฐกิจได้เพิ่มขึ้นมากในเดือนนี้จากการเร่งเบิกจ่ายของหน่วยราชการหลัง พ.ร.บ. งบประมาณรายจ่ายประจำปี 2555 ประกาศใช้เมื่อวันที่ 9 กุมภาพันธ์ 2555 ส่งผลให้รายจ่ายรัฐบาลเพิ่มขึ้นทั้งรายจ่ายดำเนินงานและรายจ่ายเพื่อการลงทุน โดยเฉพาะรายจ่ายเงินโอนให้องค์กรปกครองส่วนท่องถิ่นและกองทุนนอกงบประมาณ ขณะที่การจัดเก็บรายได้ อยู่ในเกณฑ์ดีตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจยกเว้นภาษีสรรพสามิตน้ำมันที่ยังจัดเก็บได้ลดลงจากการต่ออายุมาตรการลดภาษีสรรพสามิตน้ำมันดีเซล รายจ่ายที่เร่งขึ้นมากกว่ารายได้ ส่งผลให้รัฐบาลขาดดุลเงินสด 119.4 พันล้านบาท

เสถียรภาพเศรษฐกิจโดยรวมอยู่ในเกณฑ์ดี การจ้างงานขยายตัวสอดคล้องกับการฟื้นตัวของภาคการผลิต อัตราเงินเฟ้อทั่วไปอยู่ที่ร้อยละ 3.35 ทรงตัวใกล้เคียงกับเดือนก่อน โดยราคาอาหารสดชะลอลงต่อเนื่องจากปัญหาอุปทานล้นตลาด ขณะที่ราคาพลังงานสูงขึ้นตามราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกและการกลับมาทยอยจัดเก็บเงินเข้ากองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง ส่วนอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานทรงตัวจากเดือนก่อน สำหรับเสถียรภาพต่างประเทศอยู่ในเกณฑ์ดี โดยดุลการชำระเงินเกินดุลจากดุลการค้าที่เกินดุลและเงินทุนไหลเข้าสุทธิ

ข้อมูลเพิ่มเติม: ทีมเศรษฐกิจมหภาค

โทร. 0 2283 5647, 0 2283 5648

e-mail: MPGMacroEconomics@bot.or.th

ที่มา: ธนาคารแห่งประเทศไทย


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ