แถลงข่าวเศรษฐกิจและการเงินภาคเหนือกุมภาพันธ์ 2555

ข่าวเศรษฐกิจ Monday April 2, 2012 11:19 —ธนาคารแห่งประเทศไทย

ฉบับที่ 4/2555

ภาวะเศรษฐกิจการเงินภาคเหนือ กุมภาพันธ์ 2555 ขยายตัวดีต่อเนื่องในเกือบทุกภาคเศรษฐกิจ โดยการท่องเที่ยวยังขยายตัวดีต่อเนื่อง การผลิตทั้งภาคอุตสาหกรรมและเกษตรกรรมขยายตัวดี ส่งผลให้การส่งออกเร่งตัวและมีมูลค่าสูงสุดเป็นประวัติการณ์ การบริโภคขยายตัวได้ไม่เต็มที่จากปัญหาการขาดแคลนรถยนต์ยังไม่กลับสู่ภาวะปกติมีเพียงการลงทุนยังหดตัว ด้านเสถียรภาพ อัตราเงินเฟ้อ ชะลอลงต่อเนื่องตามราคาอาหารสด แต่ราคาพลังงานยังเร่งสูงขึ้น การว่างงานอยู่ในระดับต่ำ ด้านเงินให้สินเชื่อและเงินฝากขยายตัวดี

รายละเอียดของภาวะเศรษฐกิจภาคเหนือ มีดังนี้

ภาคการผลิต ขยายตัวดี โดยดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม ขยายตัวร้อยละ 8.7 ตามการขยายตัวของการผลิตอุตสาหกรรมอาหาร น้ำตาล เครื่องดื่ม และเซรามิกเครื่องใช้บนโต๊ะอาหาร สำหรับอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์แม้ยังหดตัวแต่ปรับดีขึ้นต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 3 ตามความต้องการของตลาดและการผลิตเพื่อทดแทนบริษัทในเครือ การท่องเที่ยวยังขยายตัวต่อเนื่อง จากการจัดกิจกรรมกระตุ้นการท่องเที่ยว เช่น งานไม้ดอกไม้ประดับ งานมหกรรมพืชสวนโลกเฉลิมพระเกียรติฯ ราชพฤกษ์ 2554 ประกอบกับภาวะอากาศเย็นดึงดูดนักท่องเที่ยว อย่างไรก็ตาม ปัญหาหมอกควันที่เริ่มเกิดขึ้นในช่วงปลายเดือนจะส่งผลกระทบบ้างในช่วงเดือนต่อไป รายได้ของเกษตรกรขยายตัวร้อยละ 9.3 จากด้านปริมาณผลผลิตขยายตัวร้อยละ 8.9 ตามการเพิ่มขึ้นของผลผลิตอ้อยโรงงาน ข้าวนาปรัง มันสำปะหลัง หอมแดง และกระเทียมเนื่องจากราคาปีก่อนอยู่ในเกณฑ์ดีจูงใจเกษตรกรขยายพื้นที่ปลูก ประกอบกับสภาพอากาศและปริมาณน้ำเอื้ออำนวยทำให้ผลผลิตต่อไร่เพิ่มขึ้น ขณะที่ราคาพืชผลสูงขึ้นเล็กน้อยร้อยละ 0.4 โดยราคาอ้อยโรงงานเพิ่มขึ้นตามราคาอ้อยขั้นต้นและเงินช่วยเหลือชาวไร่อ้อย ประกอบกับราคาข้าวเปลือกเจ้านาปรังขยายตัวต่อเนื่องจากมาตรการรับจำนำ แต่ราคามันสำปะหลัง หอมแดง และกระเทียม ลดลง

การอุปโภคบริโภคภายในประเทศ ปรับดีขึ้นจากเดือนก่อน แม้สินค้าในหมวดยานยนต์ยังขาดแคลน โดยดัชนีการอุปโภคบริโภคภาคเอกชน และดัชนีการค้า (ข้อมูลเบื้องต้น) ขยายตัวต่อเนื่องโดยเฉพาะสินค้าอุปโภคบริโภคทั่วไปเนื่องจากผู้บริโภคมีความเชื่อมั่นเพิ่มขึ้นหลังจากภาครัฐมีมาตรการช่วยเหลือและฟื้นฟูจากเหตุอุทกภัย แต่สินค้าหมวดยานยนต์ยังหดตัวต่อเนื่อง ทางด้านการเบิกจ่ายงบประมาณผ่านคลังจังหวัดของภาคเหนือเข้าสู่ภาวะปกติภายหลังพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2555 ประกาศใช้ โดยมีการเบิกจ่าย 19,565.6 ล้านบาท ขยายตัวร้อยละ 70.8 ตามการขยายตัวของหมวดรายจ่ายประจำ ส่วนการเบิกจ่ายหมวดงบลงทุนลดลงเนื่องจากโครงการต่างๆ อยู่ระหว่างดำเนินการ อย่างไรก็ตามดัชนีการลงทุนภาคเอกชนยังหดตัว ส่วนหนึ่งเป็นผลจากฐานสูงในปีก่อน รวมทั้งการลงทุนในรถยนต์เพื่อการพาณิชย์ยังหดตัวเพราะขาดแคลนสินค้า อย่างไรก็ตาม มีสัญญาณที่ดีจากการขออนุญาตก่อสร้างและรายได้ค่าธรรมเนียมการจดทะเบียนที่ดินเพิ่มขึ้น

การส่งออกผ่านด่านศุลกากรในภาคเหนือ ขยายตัวร้อยละ 44.2 เร่งตัวต่อเนื่องจากเดือนก่อน เป็นมูลค่า 360.6 ล้านดอลลาร์ สรอ. ตามการส่งออกผ่านด่านชายแดนทั้งพม่า ลาว และจีนตอนใต้ โดยเฉพาะสินค้าประเภทเลนส์กล้องถ่ายรูป และชิ้นส่วนอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ การนำเข้าขยายตัวร้อยละ 19.2 มีมูลค่า 129.7 ล้านดอลลาร์ สรอ.เร่งตัวขึ้นตามการนำเข้าวัตถุดิบและสินค้าขั้นกลาง สินค้าทุน และสินค้าอื่นๆ คาดว่าจะส่งผลให้มีการผลิตและส่งออกเพิ่มขึ้นในช่วงต่อไป

เสถียรภาพในประเทศ อัตราเงินเฟ้อทั่วไป ชะลอลงจากเดือนก่อนหน้า อยู่ที่ร้อยละ 3.94 ตามราคาอาหารสด อย่างไรก็ตาม ราคาพลังงานเร่งสูงขึ้นต่อเนื่อง ส่วนอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานลดลงจากเดือนก่อนเหลือร้อยละ 3.31 สำหรับอัตราการว่างงานเดือนมกราคม 2555 ลดลงเหลือร้อยละ 0.6 ซึ่งอยู่ในระดับต่ำ ประกอบกับจำนวนผู้ประกันตนในระบบประกัน สังคมยังขยายตัวต่อเนื่อง ทั้งนี้ ยังมีผู้ขอรับสิทธิประโยชน์ทดแทนกรณีว่างงานเพิ่มขึ้น ซึ่งคาดว่าเป็นภาวะชั่วคราว เนื่องจากสถานประกอบการยังต้องการแรงงานเพิ่ม

เงินฝาก ณ สิ้นเดือนมกราคม 2555 มีจำนวน 449,626 ล้านบาท ขยายตัวร้อยละ 6.6 จากการระดมเงินฝากของธนาคารพาณิชย์ ประกอบกับการเพิ่มขึ้นของเงินฝากภาคเอกชนและสถานศึกษา ด้านเงินให้สินเชื่อของสาขาธนาคารพาณิชย์ มีจำนวน 404,768 ล้านบาท ขยายตัวร้อยละ 15.8 ตามการเพิ่มขึ้นของสินเชื่ออุปโภคบริโภคส่วนบุคคล และสินเชื่อของภาคธุรกิจ เช่น ค้าปลีก ค้าส่ง รับเหมาก่อสร้าง และสหกรณ์ออมทรัพย์ สำหรับสัดส่วนเงินให้สินเชื่อต่อเงินฝากอยู่ที่ร้อยละ 90.0 ลดลงเมื่อเทียบกับร้อยละ 91.7 เดือนก่อน

ธนาคารแห่งประเทศไทย สำนักงานภาคเหนือ

ข้อมูลเพิ่มเติม : ทวีศักดิ์ ใจคำสืบ

โทร. 0-5393-1162

e-mail : Thaveesc@bot.or.th

ที่มา: ธนาคารแห่งประเทศไทย


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ