สัญญาณเตือนภัย...ราคากุ้งตกต่ำปี 2555

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday May 8, 2012 14:28 —ธนาคารแห่งประเทศไทย

ถนอมจิตร สิริภคพร

พฤษภาคม 2555

ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา (2553-2554) ราคากุ้งของไทยทรงตัวอยู่ในระดับสูง สืบเนื่องจากผลผลิตกุ้งของโลกลดลง โดยเฉพาะในแหล่งเพาะเลี้ยงสำคัญหลายประเทศ อาทิ เวียดนาม จีน อินโดนีเซีย รวมทั้งไทย ที่ต่างได้รับผลกระทบจากโรคระบาด และอุทกภัย ตลอดจนสภาพภูมิอากาศโลกที่เปลี่ยนแปลงอย่างฉับพลันและแปรปรวน ผลักดันให้ราคากุ้งพุ่งสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง

อย่างไรก็ตาม หลังจากเพิ่งจะผ่านช่วงปีทองของราคากุ้งในปี 2554 มาได้ไม่นานนัก ราคากุ้งเริ่มอ่อนตัวลงอย่างรวดเร็วตั้งแต่กลางเดือนมีนาคม 2555 เป็นต้นมา สะท้อนจากการซื้อขายกุ้งที่ตลาดทะเลไทย ขนาด 70 ตัวต่อกิโลกรัม ราคาดิ่งลงอย่างต่อเนื่องจากเฉลี่ยกิโลกรัมละ 135 บาทในช่วงต้นเดือนมีนาคม 2555 มาอยู่กิโลกรัมละ 105 บาทในช่วงปลายเดือนเมษายน 2555 ซึ่งเป็นราคาใกล้เคียงกับต้นทุนการผลิตที่สานักงานเศรษฐกิจการเกษตรรายงานที่ 99.01 บาทต่อกิโลกรัม

สาเหตุที่ราคากุ้งดิ่งลงมากทั้ง ๆ ที่ยังไม่ใช่ช่วงที่ผลผลิตออกสู่ตลาดมากตามฤดูกาล (เดือนพฤษภาคม-มิถุนายนของปี) เป็นผลจากปัจจัยพื้นฐาน ดังนี้

1) ความต้องการกุ้งไทยในตลาดต่างประเทศลดลง เนื่องจากผลผลิตกุ้งไทยพึ่งพาตลาดต่างประเทศ เป็นหลัก โดยมีสัดส่วนการส่งออกถึงร้อยละ 90 การส่งออกที่ลดลงจึงส่งผลกระทบต่อราคากุ้งภายในประเทศค่อนข้างมาก จากข้อมูลการส่งออกของกรมศุลกากรไตรมาสแรกปี 2555 พบว่า ไทยมีปริมาณการส่งออกกุ้งแช่เย็นแช่แข็งและแปรรูป (ไม่รวมกุ้งกระป๋อง) ลดลงจากช่วงเดียวกันปีก่อนร้อยละ 16.4 โดยเฉพาะการส่งออกไปยังตลาดสหรัฐอเมริกาที่มีปริมาณลดลงถึงร้อยละ 30.4 เช่นเดียวกับตลาดหลักอื่น อาทิ สหภาพยุโรปและญี่ปุ่น ก็มีการส่งออกลดลงไปในทิศทางเดียวกัน เนื่องจากได้รับผลกระทบจากวิกฤตเศรษฐกิจ ประกอบกับผู้นำเข้าบางส่วนปรับเปลี่ยนไปซื้อกุ้งขนาดเล็กและราคาถูกลงจากแหล่งอื่น รวมทั้งมีการเจรจาต่อรองราคามากขึ้น

ราคาเฉลี่ยกุ้งขาวที่ตลาดทะเลไทย
เฉลี่ย (บาท/กก.) 40 ตัว/กก. 50 ตัว/กก. 60 ตัว/กก. 70 ตัว/กก. 80 ตัว/กก. 90 ตัว/กก. 100 ตัว/กก.
ม.ค. 55               171       161       149       140       126       120        118
ก.พ. 55               169       159       148       137       131       129        125
มี.ค. 55 :
- วันที่ 1-16            169       159       144       135       129       120        115
(ก่อนราคาตก)
- วันที่ 17-30           157       142       130       124       113       103         98
(ราคาเริ่มตก)
ณ 27 เม.ย.55          140       125       110       105       100        90         85
% เปลี่ยนแปลง         -17.2     -21.4     -23.6     -22.2     -22.4     -25.0      -26.1
(27 เม.ย./1-16 มี.ค.55)
ที่มา : www.samutsakonshrimp.com

2) ผลผลิตที่เพิ่มสูงขึ้น จากการขยายพื้นที่ การเลี้ยงในหลายประเทศ ทำให้เกิดการแข่งขันแย่งส่วนแบ่งตลาดจากไทยมากขึ้น โดยผลผลิตที่เพิ่มขึ้นจากประเทศในกลุ่มละตินอเมริกา ได้แก่ เอกวาดอร์และเม็กซิโก ได้เข้ามามีส่วนแบ่งในตลาดสหรัฐอเมริกามากขึ้น ประกอบกับบางประเทศในกลุ่มเอเชียโดยเฉพาะอินเดียได้ปรับเปลี่ยนมาเลี้ยงกุ้งขาวเพิ่มขึ้นและเสนอขายในราคาถูก รวมทั้งอินโดนีเซียที่ฟื้นตัวจากโรคระบาดทำให้มีผลผลิตเพิ่ม และยิ่งไปกว่านั้นประเทศในกลุ่มเอเชียบางประเทศยังมีห้องเย็นเพื่อเก็บผลิตภัณฑ์แช่แข็งไม่เพียงพอ เมื่อถึงช่วงฤดูกาลผลผลิตกุ้งออกสู่ตลาดจะต้องรีบขายหรือส่งออก จึงเป็นจุดอ่อนให้ ถูกกดราคารับซื้อจากผู้นำเข้า

การส่งออกกุ้งแช่เย็นแช่แข็งแปรรูปไทย (ไม่รวมกุ้งกระป๋อง)

หน่วย : ตัน / ล้านบาท ประเทศส่งออก ไตรมาส 1/54 ไตรมาส 1/55 % yoy % สัดส่วน

 แคนาดา     ปริมาณ    4,926         3,886    -21.1     5.9
            มูลค่า     1,339         1,207     -9.8     6.5
สหภาพยุโรป   ปริมาณ   11,932        10,293    -13.7    15.8
            มูลค่า     2,949         2,980      1.1    15.9
ญี่ปุ่น         ปริมาณ   18,052        15,362    -14.9    23.5
            มูลค่า     5,114         4,958     -3.1    26.5
เกาหลี       ปริมาณ    2,071         2,092      1.0     3.2
            มูลค่า       461           533     15.6     2.9
สหรัฐอเมริกา  ปริมาณ   33,340        23,200    -30.4    35.5
            มูลค่า     8,990         6,755    -24.9    36.1
อื่น ๆ        ปริมาณ    7,825        10,506     34.3    16.1
            มูลค่า     1,618         2,256     39.4    12.1
รวม         ปริมาณ   78,147        65,340    -16.4   100.0
            มูลค่า    20,470        18,689     -8.7   100.0
ที่มา: กรมศุลกากร ประมวลผลโดย ธปท.สานักงานภาคใต้

จากปัญหาราคากุ้งตกต่ำทำให้กลุ่มเกษตรกร ผู้เลี้ยงกุ้งจังหวัดสงขลาออกมาประท้วงเรียกร้องให้ภาครัฐช่วยแก้ไขปัญหา จนกระทั่งเมื่อวันที่ 23 เมษายนที่ผ่านมา คณะกรรมการนโยบายและมาตรการช่วยเหลือเกษตรกร ได้อนุมัติวงเงิน 93.85 ล้านบาท เพื่อชดเชยดอกเบี้ยเงินกู้อัตราร้อยละ 3 ให้กับผู้ประกอบการห้องเย็นเพื่อเสริมสภาพคล่องในการรับซื้อกุ้งขาวแวนนาไมจากเกษตรกรจานวน 30,000 ตัน อย่างไรก็ตาม ภายหลังออกมาตรการดังกล่าว กลุ่มเกษตรกรได้ออกมาเรียกร้องให้ปรับราคารับซื้อกุ้งสูงขึ้นโดยกุ้งขนาด 60 ตัวต่อกิโลกรัม จากที่กำหนดไว้เดิม 135 บาทเป็น 145 บาทต่อกิโลกรัม เพื่อให้สอดคล้องกับต้นทุนการเลี้ยงปี 2555 ที่สูงขึ้นเป็น 122.85 บาทต่อกิโลกรัม ส่วนขนาด 50 ตัวต่อกิโลกรัม ให้เป็นราคา 160 บาท และ 70 ตัวต่อกิโลกรัม ราคา 140 บาท ส่วนขนาดอื่นๆ ให้ปรับตามสัดส่วน

อย่างไรก็ตาม ในระยะยาวทุกภาคส่วนในอุตสาหกรรมกุ้งของไทยจำเป็นต้องเพิ่มศักยภาพในการแข่งขันและการบริหารจัดการมากขึ้น เพื่อให้สอดรับกับสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไป ภายใต้การแข่งขันที่มีความท้าทายมากขึ้น โดยเกษตรกรควรมีการวางแผนการเลี้ยงและเน้นคุณภาพมากกว่าปริมาณ ขณะที่ผู้มีความพร้อมอาจหันไปสนใจเลี้ยงกุ้งกุลาดำเป็นอีกทางเลือกหนึ่งนอกเหนือจากการผลิตกุ้งขาวที่นับวันจะมีคู่แข่งเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ ส่วนภาคการผลิตเพื่อส่งออกควรมุ่งเน้นวางแผนการผลิตตามทิศทางความต้องการของตลาดเป็นหลัก โดยเพิ่มการคิดค้นผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ สร้างความหลากหลายและมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้ารวมถึงการออกแบบบรรจุภัณฑ์ที่ดูดีน่าซื้อมีคุณภาพในการเก็บรักษาอาหาร เพื่อหลีกเลี่ยงการแข่งขันกับประเทศคู่แข่งที่ส่วนใหญ่ส่งออกในรูปวัตถุดิบแปรรูปอย่างง่ายและมีต้นทุนแรงงานถูกกว่า รวมถึงการมองหาตลาดใหม่ๆ แถบเอเชีย อาทิ จีน ตลอดจนการเพิ่มสัดส่วนตลาดภายในประเทศที่เริ่มมีแนวโน้มตอบรับดีขึ้น ทั้งนี้ เพื่อลดการพึ่งพาการส่งออก ซึ่งจะช่วยลดความเสี่ยงจากความผันผวนด้านราคาได้ในระดับหนึ่ง

บทความนี้เป็นข้อคิดเห็นส่วนบุคคล จึงไม่จำเป็นต้องสอดคล้องกับความคิดเห็นของธนาคารแห่งประเทศไทย

          ที่มา: ธนาคารแห่งประเทศไทย

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ