ผลการดำเนินงานของระบบธนาคารพาณิชย์ในไตรมาส 1 ปี 2555

ข่าวเศรษฐกิจ Friday May 18, 2012 13:39 —ธนาคารแห่งประเทศไทย

ฉบับที่ 27/2555

นางสาวนวพร มหารักขกะ ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายกลยุทธ์สถาบันการเงิน สายนโยบายสถาบันการเงินเปิดเผยว่า ระบบธนาคารพาณิชย์ในไตรมาส 1 ปี 2555 มีเสถียรภาพ สินเชื่อขยายตัวต่อเนื่องตามภาวะเศรษฐกิจที่ฟื้นตัวเร็วกว่าที่คาดจากอุทกภัยในปลายปีก่อน โดยสินเชื่อที่เพิ่มขึ้นมากกว่าเงินฝากและตั๋วแลกเงิน (Bill of Exchange : B/E) ส่งผลให้สภาพคล่องตึงตัวขึ้นบ้าง สินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้เพิ่มขึ้นเล็กน้อย มีกำไรสุทธิเพิ่มขึ้น ประกอบกับการออกตราสารระดมทุน ทำให้มีเงินกองทุนเพิ่มขึ้น ดังรายละเอียดต่อไปนี้

ภาวะเศรษฐกิจไทยที่ปรับตัวดีขึ้นหลังอุทกภัย ส่งผลให้สินเชื่อของระบบธนาคารพาณิชย์ที่ชะลอตัวลงในช่วง 2 เดือนแรกของปี เริ่มกระเตื้องขึ้นในเดือนมีนาคม โดยสินเชื่อขยายตัวร้อยละ 13.9 จากระยะเดียวกันปีก่อน เทียบกับที่ขยายตัวร้อยละ 14.9 ณ สิ้นปี 2554 ทั้งนี้ สินเชื่อธุรกิจ (ร้อยละ 71.0 ของสินเชื่อรวม)ขยายตัวร้อยละ 13.2 ชะลอลงจากร้อยละ 14.8 จากการชะลอตัวของสินเชื่อธุรกิจขนาดใหญ่ เป็นสำคัญ อนึ่ง สินเชื่อ SME (ร้อยละ 51.7 ของสินเชื่อธุรกิจ) ขยายตัวร้อยละ 14.8 เพิ่มขึ้นจากที่ขยายตัวร้อยละ 14.4 ณ สิ้นปี 2554 โดยสินเชื่อธุรกิจขยายตัวชะลอลงในภาคอุตสาหกรรมการผลิต การพาณิชย์ และสาธารณูปโภคขณะที่สินเชื่ออสังหาริมทรัพย์ยังคงเร่งตัวต่อเนื่อง ส่วนสินเชื่ออุปโภคบริโภค (ร้อยละ 29.0 ของสินเชื่อรวม) ขยายตัวร้อยละ 15.7 เพิ่มขึ้นจากร้อยละ 15.4 ณ สิ้นปี 2554 โดยเพิ่มขึ้นในสินเชื่อบัตรเครดิตและสินเชื่อส่วนบุคคลอื่น เป็นสำคัญ ขณะที่สินเชื่อรถยนต์ชะลอตัวลงแต่ก็ยังอยู่ในระดับค่อนข้างสูง เนื่องจากประชาชนยังมีความต้องการใช้จ่ายซ่อมแซมหรือซื้อทรัพย์สินทดแทนที่เสียหายจากอุทกภัย

เงินฝากขยายตัวเร่งขึ้น ขณะที่ B/E ชะลอตัวลง เนื่องจากข้อได้เปรียบด้านต้นทุนของ B/E ลดลงจากมาตรการเงินนำส่งเพื่อชดใช้หนี้กองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน (Financial Institution Development Fund : FIDF) ทำให้ผู้ถือ B/E บางส่วนหันกลับไปฝากเงินแทน ขณะที่บางส่วนหันไปฝากเงินที่สถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐ หรือลงทุนในหลักทรัพย์ประเภทอื่น เช่น หุ้นกู้ เป็นต้น เงินฝากรวม B/E จึงขยายตัวในอัตราชะลอลง โดย ณ สิ้นไตรมาส 1 ปี 2555 ขยายตัวร้อยละ 9.9 จากระยะเดียวกันปีก่อนเทียบกับที่ขยายตัวร้อยละ 13.0 ณ สิ้นปี 2554 การเพิ่มขึ้นของเงินฝากและ B/E ที่น้อยกว่าสินเชื่อ ส่งผลให้สภาพคล่องของระบบธนาคารพาณิชย์ตึงตัวขึ้นบ้าง โดยสัดส่วนสินเชื่อต่อเงินฝากรวม B/E เพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 90.2 จากร้อยละ 89.9 ณ สิ้นปี 2554

สินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (Non-Performing Loan : NPL) มียอดคงค้าง 270.0 พันล้านบาทเพิ่มขึ้นสุทธิ 4.6 พันล้านบาทจากสิ้นปี 2554 โดยเพิ่มขึ้นในสินเชื่อที่อยู่อาศัย สินเชื่อรถยนต์ และสินเชื่อเพื่อการพาณิชย์ เป็นสำคัญ อย่างไรก็ดี สินเชื่อที่เพิ่มขึ้นทำให้สัดส่วน Gross NPL ต่อสินเชื่อรวมลดลงจากร้อยละ 2.7 เหลือร้อยละ 2.6 โดยสินเชื่อธุรกิจมีสัดส่วน Gross NPL ลดลงเหลือร้อยละ 2.8 ซึ่งเป็นการลดลงในเกือบทุกภาคธุรกิจ ยกเว้นภาคการพาณิชย์ ขณะที่สินเชอื่ อุปโภคบริโภคมีสัดส่วน Gross NPL เพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 2.1 โดยเพิ่มขึ้นในสินเชื่อทุกประเภท อนึ่ง สัดส่วนสินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้หลังหักสำรอง (Net NPL) ต่อสินเชื่อรวมทรงตัวที่ร้อยละ 1.3 สำหรับสินเชื่อจัดชั้นกล่าวถึงเป็นพิเศษ (Delinquent loan) มีสัดส่วนต่อสินเชื่อรวมลดลงเหลือร้อยละ 2.0 โดยลดลงมากในสินเชื่ออุปโภคบริโภค

ในไตรมาส 1 ปี 2555 ระบบธนาคารพาณิชย์มีกำไรสุทธิ 40.1 พันล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 29 จากไตรมาสก่อน จากค่าใช้จ่ายหนี้สงสัยจะสูญที่ลดลง เมื่อเทียบกับที่กันสำรองไว้สูงมากเพื่อรองรับผลเสียหายจากอุทกภัยในไตรมาสก่อน ส่งผลให้อัตราผลตอบแทนต่อสินทรัพย์เฉลี่ย (Return on Asset : ROA) เพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 1.2 อย่างไรก็ดี อัตราส่วนรายได้ดอกเบี้ยสุทธิต่อสินทรัพย์เฉลี่ย (Net Interest Margin : NIM) ลดลงเหลือร้อยละ 2.5 จากการให้ความช่วยเหลือลูกหนี้ที่ได้รับผลกระทบจากอุทกภัยที่ผ่อนปรนเงื่อนไขการชำระดอกเบี้ย และเงินนำส่งเพื่อชำระหนี้ FIDF ที่เพิ่มขึ้นที่ธนาคารพาณิชย์ได้ประมาณการและบันทึกเป็นค่าใช้จ่ายไว้แล้ว

ระบบธนาคารพาณิชย์มีเงินกองทุนเพิ่มขึ้นจากกำไรและการออกหุ้นกู้ด้อยสิทธิระยะยาวที่นับเป็นเงินกองทุนชั้นที่ 2 อย่างไรก็ดี สินทรัพย์เสี่ยงที่เพิ่มขึ้นตามสินเชื่อที่ขยายตัว ส่งผลให้อัตราส่วนเงินกองทุนต่อสินทรัพย์เสี่ยง (BIS Ratio) เพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 15.2 ขณะที่อัตราส่วนเงินกองทุนชั้นที่ 1 ต่อสินทรัพย์เสี่ยง (Tier-1 ratio) ลดลงเหลือร้อยละ 11.5 นับว่ายังอยู่ในระดับสูงและเพียงพอที่จะสนับสนุนการขยายตัวของเศรษฐกิจในระยะต่อไป

ที่มา: ธนาคารแห่งประเทศไทย


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ