ฉบับที่ 29/2555
ภาวะเศรษฐกิจในเดือนเมษายน 2555 ปรับตัวดีขึ้น ตามการฟื้นตัวของการผลิตภาคอุตสาหกรรม ซึ่งส่งผลให้การส่งออกสินค้าอุตสาหกรรมขยายตัวสูงขึ้น และสนับสนุนการบริโภคและการลงทุนภาคเอกชน ส่วนภาคการท่องเที่ยวยังคงขยายตัวดี แม้จะเผชิญกับเหตุการณ์ความไม่สงบและภัยธรรมชาติ สำหรับเสถียรภาพเศรษฐกิจ อัตราเงินเฟอชะลอลงตามราคาอาหารและพลังงาน ขณะที่อัตราการว่างงานยังอยู่ในระดับต่ำ
รายละเอียดของภาวะเศรษฐกิจไทย มีดังนี้ การผลิตภาคอุตสาหกรรมฟื้นตัวต่อเนื่อง โดยดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมขยายตัวร้อยละ 0.5 จากระยะเดียวกันปีก่อน ขยายตัวเป็นเดือนแรกหลังจากที่หดตัวติดต่อกัน 5 เดือนนับตั้งแต่เกิดอุทกภัย โดยส่วนหนึ่งเป็นผลจากฐานต่ำในปีก่อนจากเหตุการณ์ภัยพิบัติในญี่ปุ่น และอีกส่วนหนึ่งเป็นการผลิตเพิ่มขึ้นเพื่อตอบสนองความต้องการในประเทศที่ยังอยู่ในเกณฑ์ดี โดยเฉพาะในอุตสาหกรรมยานยนต์ ปิโตรเลียม เบียร์ และเครื่องใช้ไฟฟ้า สำหรับผลผลิตสินค้าเกษตรหดตัวร้อยละ 0.3 จากระยะเดียวกันปีก่อน ตามผลผลิตข้าวที่หดตัวเมื่อเทียบกับปีก่อนที่ปริมาณข้าวอยู่ในระดับสูงจากการเลื่อนการเพาะปลูกและเก็บเกี่ยวข้าวได้เร็วกว่าฤดูปกติ อย่างไรก็ดี ผลผลิตสินค้าเกษตรหมวดอื่นที่สำคัญยังขยายตัว โดยเฉพาะยางพารา มันสำปะหลัง ไก่เนื้อ และ ไข่ไก่ ด้านราคาสินค้าเกษตรหดตัวร้อยละ 13.2 จากระยะเดียวกันปีก่อน จากการหดตัวของราคายางพารา ตามการชะลอการสั่งซื้อของจีนและฐานราคาที่สูงในปีก่อนเป็นสำคัญ ส่งผลให้รายได้เกษตรกรหดตัวร้อยละ 13.5 จากระยะเดียวกันปีก่อน
การส่งออกสินค้าอุตสาหกรรมปรับดีขึ้นตามการฟื้นตัวของการผลิตภาคอุตสาหกรรม โดยเฉพาะ การส่งออกยานยนต์และชิ้นส่วน และคอมพิวเตอร์และชิ้นส่วน อย่างไรก็ดี การส่งออกโดยรวมยังหดตัวร้อยละ 3.5 จากระยะเดียวกันปีก่อนตามการส่งออกสินค้าเกษตรที่หดตัว โดยเฉพาะปริมาณการส่งออกข้าวเนื่องจากราคาสูงกว่าประเทศคู่แข่ง และราคายางพาราที่ลดลงมากเมื่อเทียบกับปีก่อน สำหรับภาคการท่องเที่ยวขยายตัวดี โดยนักท่องเที่ยวต่างประเทศมีจำนวน 1.7 ล้านคน เพิ่มขึ้นร้อยละ 8.2 จากระยะเดียวกันปีก่อน โดยเฉพาะนักท่องเที่ยวจากจีน สวีเดน และรัสเซีย สะท้อนความเชื่อมั่นของนักท่องเที่ยวต่างประเทศที่มีต่อความปลอดภัยในการท่องเที่ยวในไทย แม้ว่าในเดือนนี้จะเกิดเหตุแผ่นดินไหวและการประกาศเตือนภัยสึนามิในภาคใต้
การบริโภคภาคเอกชนขยายตัวชะลอลงเข้าสู่แนวโน้มปกติ หลังจากที่ครัวเรือนได้เร่งใช้จ่ายไปในช่วงก่อนหน้า สะท้อนจากดัชนีการอุปโภคบริโภคภาคเอกชนที่ขยายตัวจากระยะเดียวกันปีก่อนร้อยละ 3.3 ชะลอลงจากเดือนก่อน โดยการจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม ณ ราคาคงที่ ขยายตัวชะลอลงจากฐานการนำเข้า ส่วนปริมาณการใช้เชื้อเพลิงชะลอลงจากราคาน้ำมันขายปลีกในประเทศที่สูงขึ้น การลงทุนภาคเอกชนขยายตัวดีต่อเนื่อง สะท้อนจากดัชนีการลงทุนภาคเอกชนที่ขยายตัวร้อยละ 12.5 ตามการลงทุนซื้อรถยนต์เชิงพาณิชย์ และการนำเข้าสินค้าทุนเพื่อใช้ในอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ เครื่องใช้ไฟฟ้า ยานยนต์ เหล็ก และอุตสาหกรรม
การผลิตเครื่องจักรและอุปกรณ์ ส่วนการลงทุนในหมวดก่อสร้างขยายตัวจากการลงทุนของภาคพาณิชยกรรมและภาคบริการ โดยเฉพาะในพื้นที่กรุงเทพฯ และภาคใต้
เศรษฐกิจที่ฟื้นตัวต่อเนื่อง ส่งผลให้การนำเข้าขยายตัวร้อยละ 9 จากระยะเดียวกันปีก่อน จากการนำเข้ายานยนต์และชิ้นส่วนรวมทั้งสินค้าทุนที่เพิ่มขึ้น สอดคล้องกับอุปสงค์ในประเทศและการผลิต อย่างไรก็ตาม การนำเข้าสินค้าอุปโภคบริโภคขยายตัวชะลอลงหลังจากที่ภาคการผลิตในประเทศสามารถกลับมาผลิตสินค้าเพื่อตอบสนองความต้องการของภาคครัวเรือนได้มากขึ้น
ภาครัฐยังคงมีบทบาทกระตุ้นเศรษฐกิจ โดยรายจ่ายรัฐบาลยังขยายตัว แม้จะชะลอลงจากเดือนก่อน ที่มีการเร่งเบิกจ่ายหลัง พ.ร.บ. งบประมาณรายจ่ายประจำปี 2555 มีผลบังคับใช้ ส่วนการจัดเก็บรายได้อยู่ในเกณฑ์ดีจากภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาและอากรขาเข้าจากการนำเข้าสินค้าประเภทรถยนต์และชิ้นส่วน ขณะที่ภาษีสรรพสามิตยังคงหดตัว เนื่องจากการขยายระยะเวลาลดการเก็บภาษีสรรพสามิตน้ำมันดีเซลเป็นสำคัญ รายจ่ายที่เร่งขึ้นมากกว่ารายได้ ส่งผลให้รัฐบาลขาดดุลเงินสด 43.9 พันล้านบาท
ด้านเสถียรภาพเศรษฐกิจ หนี้ต่างประเทศเพิ่มขึ้น ส่วนใหญ่เป็นการกู้ระยะสั้นของธนาคารพาณิชย์ เพื่อปรับฐานะเงินตราต่างประเทศจากการที่นักลงทุนไทยที่ไปลงทุนในหลักทรัพย์ต่างประเทศทำธุรกรรมปองกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนเพิ่มขึ้น
สำหรับอัตราการว่างงานยังอยู่ในระดับต่ำ อัตราเงินเฟ้อทั่วไปชะลอลงจากเดือนก่อนมาอยู่ที่ ร้อยละ 2.47 ตามราคาอาหารสดที่ชะลอลงจากผลของฐานที่สูงในปีก่อนและอุปทานที่เพิ่มขึ้น ขณะที่ราคาพลังงานชะลอลงเล็กน้อยตามราคาน้ำมันในตลาดโลก ส่วนอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานชะลอลงจากเดือนก่อนมาอยู่ที่ร้อยละ 2.13 ตามราคาในกลุ่มอาหารและเครื่องดื่มที่ชะลอลง
ข้อมูลเพิ่มเติม: ทีมเศรษฐกิจมหภาค
โทร. 0 2283 5647, 0 2283 5648 e-mail: MPGM acroEconomics@bot.or.th
ที่มา: ธนาคารแห่งประเทศไทย