อุตสาหกรรมทูน่า: หลายปัจจัยรุมเร้า

ข่าวเศรษฐกิจ Monday May 28, 2012 10:44 —ธนาคารแห่งประเทศไทย

อุตสาหกรรมแปรรูปทูน่าเป็นสินค้าที่มีความสำคัญในเชิงพาณิชย์มากสำหรับประเทศไทย ครองส่วนแบ่งตลาดโลกประมาณร้อยละ 40 และนำรายได้เข้าประเทศเป็นมูลค่าหลายหมื่นล้านบาท ตลาดหลักสำคัญคือ สหรัฐอเมริกา สหภาพยุโรป ตะวันออกกลาง โดยผลิตภัณฑ์ส่วนใหญ่ในรูปทูน่ากระป๋อง อย่างไรก็ดีสถานการณ์เริ่มไม่สดใส โดยในปี 2554 มีปริมาณส่งออก 576,241 เมตริกตัน ลดลงร้อยละ 2.1 เนื่องจากมีแรงกดดันที่เพิ่มขึ้นจากหลายปัจจัย โดยเฉพาะต้นทุนการผลิตที่สุงขึ้น

ต้นทุนการผลิตและการแข่งขัน...ปัญหาที่ต้องเผชิญ

1.ราคาทูน่าและผันผวน จากการที่โครงสร้างต้นทุนการผลิตเป็นวัตถุดิบปลาทูน่าร้อยละ75 ของต้นทุนการผลิต ซึ่งวัตถุดิบปลาทูน่าประมาณร้อยละ 78 เป็นการนำเข้าจากต่างประเทศ ซึ่งปริมาณการจับได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศทั่วโลกที่มีอุณหภูมิสูงขึ้น และตามข้อตกลงขององค์กรระหว่างประเทศเพื่ออนุรักษ์และจัดการทรัพยากรปลาทูน่า ได้มีมาตรการระงับการจับปลาทูน่าบางสายพันธุ์ในบางช่วงเวลา และกำหนดปริมาณที่จะจับในแต่ละปี ซึ่งในช่วง 10 ปีที่ผ่านมาปริมาณการจับปลาทูน่าค่อนข้างคงที่ ขณะที่ความต้องการบริโภคมากขึ้น ทำให้ราคาสูงขึ้น โดยราคาปลาทูน่าสคิปแจ็คแช่แข็งในประเทศไทย (ขนาด 4 ปอนด์ต่อตัวขึ้นไป) เฉลี่ยปี 2554 อยู่ที่เมตริกตันละ 1,772 ดอลลาร์สรอ.ปรับตัวสูงขึ้นจากปีก่อนร้อยละ 38.5 และในเดือนเมษายน 2555 สุงถึงเมตริกตันละ 2,150 ดอลลาร์สรอ. เป็นราคาที่สูงเป็นประวัติการณ์ เพิ่มขึ้นจากเดือนเดียวกันปีก่อนร้อยละ 31.3 ทั้งๆ ที่ปกติในปีที่ผ่านมาราคาปลาทูน่าจะปรับตัวลดลงในไตรมาสแรก และในไตรมาสที่ 2-3 จะเป็นช่วงที่ราคาปลาทูน่าปรับตัวสูงขึ้น เนื่องจากเป็นช่วงสิ้นสุดฤดูกาลจับปลาทูน่า จึงทำให้ผู้ประกอบการรายใหญ่คาดการณ์ว่าราคาปลาทูน่า เฉลี่ยในปีนี้จะอยู่ที่เมตริกตันละ 2,200 ดอลลาร์สรอ. และผันผวนมาก

2.ขาดแคลนแรงงานและต้นทุนค่าแรงเพิ่ม ในอดีตไทยถือว่าได้เปรียบในศักยภาพด้านแรงงาน แต่ปัจจุบันปัญหาการขาดแคลนแรงงาน ทำให้ต้องพึ่งแรงงานต่างด้าวโดยเฉพาะแรงงานพม่า แต่ก็มักเกิดปัญหาการเข้าออกงานสูง เนื่องจากในปี 2554 ที่ผ่านมา แรงงานพม่าสามารถทำวีซ่าได้ ทำให้แรงงานดังกล่าวมีการเคลื่อนย้ายหากโรงงานใหม่ให้ค่าแรงสูงกว่า นอกจากนี้นโยบายปรับขึ้นอัตราค่าจ้างขั้นต่ำ 300 บาทต่อวัน ที่มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน 2555 จะทำให้ต้นทุนอุตสาหกรรมรวมสูงขึ้นเฉลี่ยร้อยละ 5-20 (จากข้อมูลของสถาบันอาหารกระทรวงอุตสาหกรรม)

3. ตลาดส่งออกชะลอตัว จากปัญหาเศรษฐกิจ การแข่งขันที่รุนแรงขึ้นระหว่างประเทศผู้ผลิตเพื่อส่งออก และมาตรการกีดกันทางการค้า เช่น

  • สหรัฐอเมริกา เป็นตลาดส่งออกอันดับหนึ่งของไทย มีสัดส่วนการส่งออกร้อยละ 22.5 ของมูลค่าการส่งออกทูน่ากระป๋องและปรุงแต่งของไทย ขณะที่คู่แข่งของไทยคือ ฟิลิปปินส์ เวียดนาม เอกวาดอร์ แม้ว่ามูลค่าการนำเข้าจากประเทศเหล่านี้ยังไม่สูงมากนัก แต่อัตราการขยายตัวเพิ่มขึ้นต่อเนื่องโดยในปีที่ผ่านมาฟิลิปปินส์ขยายตัวร้อยละ 15.4 เวียดนามร้อยละ 23.4 เอกวาดอร์ร้อยละ 10.3 นอกจากนี้ประเทศ ANDEANZ (กลุ่มความร่วมมือทางเศรษฐกิจในลาตินอเมริกาประกอบด้วยด้วยโบลิเวีย เอกวาดอร์ โคลัมเบีย เปรู และเวเนซูเอลา) ได้รับสิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากรในสินค้าปลาทูน่าบรรจุถุงภายใต้มาตรการ Drug Regime โดยเสียภาษีนำเข้าในอัตราร้อยละ 0 และไม่จำกัดปริมาณการนำเข้า
  • กลุ่มประเทศตะวันออกกลาง ซึ่งเป็นคู่ค้ารายใหญ่อันดับ 2 ของไทย ในปีที่ผ่านมามีสัดส่วนการส่งออกร้อยละ 20.8 ของมูลค่าการส่งออกทูน่ากระป๋องและปรุงแต่งของไทย แต่ปริมาณส่งออกลดลงเนื่องจากเหตุการณ์ความไม่สงบทางการเมืองในภูมิภาค
  • สหภาพยุโรป เป็นตลาดนำเข้าปลาทูน่ากระป๋องและปรุงแต่งรายใหญ่ของโลก ได้ให้สิทธิพิเศษกับประเทศกลุ่ม ACP (African Caribbean and pacific countries) โดยได้รับการยกเว้นภาษีนำเข้าภายใต้ความตกลงโคโตนู (cotonou Agreement) เนื่องจากประเทศนี้ส่วนใหญ่เป็นประเทศในอาณานิคมของสหภาพยุโรปมาก่อน ขณะที่ไทยต้องเสียภาษีนำเข้าในอัตราร้อยละ 24 จึงเสียเปรียบประเทศคู่แข่งค่อนข้างมาก
การปรับตัวเพื่อเพิ่มศักยภาพการแข่งขัน

จากปัญหาต้นทุนการผลิตที่สูงขึ้นจากราคาวัตถุดิบและแรงงาน ส่งผลกระทบต่อการแข่งขัน ซึ่งอาจเป็นอุปสรรคต่อการเติบโตของอุตสาหกรรมทูน่ากระป๋องของไทย ดังนั้นผู้ประกอบการจึงได้มีการปรับตัวทางด้านวัตถุดิบและผลิตภัณฑ์ เช่น ใช้วัตถุดิบปลาซาร์ดีน และปลาแมกเคอเรลเพิ่มขึ้น สร้างมูลค่าเพิ่มให้กับผลิตภัณฑ์ โดยเพิ่มผักหรือส่วนผสมชนิดอื่นเข้าไปในผลิตภัณฑ์ทูน่า และสร้างความพึงพอใจสูงสุดให้กับผู้บริโภค รวมทั้งปรับสัดส่วนการส่งออกมาตลาดเอเชียและตลาดใหม่เพิ่มมากขึ้น นอกจากนี้อาจจะมีการร่วมลงทุนกับประเทศที่ได้รับสิทธิพิเศษทางการค้าในการส่งออก

อย่างไรก็ตามเพื่อสร้างความมั่นคงให้กับอุตสาหกรรมทูน่ากระป๋อง ภาครัฐได้มีแผนพัฒนากองเรือจับปลาทูน่า (2554-2557) เพื่อลดสัดส่วนการนำเข้าทูน่าจากต่างประเทศ ทั้งนี้กรมประมงมีแผนจะเพิ่มเรืออวนล้อม 60 ลำ ใน 4 ปี เพื่อเพิ่มศักยภาพในการจับปลาให้ได้ปริมาณมากขึ้น โดยเสนอให้รัฐบาลช่วยในรูปแบบเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำและแสวงหาแหล่งประมงให้กับเอกชน โดยเฉพาะข้อมูลแหล่งปลาทูน่าในทะเลอิสระ รวมทั้งการส่งเสริมการลงทุนการเพาะเลี้ยงปลาทูน่า ซึ่งหลายประเทศได้มีการเพาะเลี้ยงแล้ว เช่น ญี่ปุ่น ออสเตรเลีย ประเทศแถบเมดิเดอเรเนียนและไต้หวัน นอกจากนี้สนับสนุนให้มีการใช้ประโยชน์จาก AEC ทั้งด้านแหล่งวัตถุดิบและการทำตลาดในช่องทางการจัดจำหน่ายใหม่ๆ เพิ่มขึ้น รวมทั้งการหาช่องทางสร้างข้อตกลงพิเศษระหว่างรัฐบาล

บทความนี้เป็นข้อคิดเห็นส่วนบุคคล จึงไม่จำเป็นต้องสอดคล้องกับความเห็นของธนาคารแห่งประเทศไทย

         ที่มา: ธนาคารแห่งประเทศไทย

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ