บทความ: ข้อเท็จจริงเกี่ยวกับสภาพคล่องและอัตราดอกเบี้ย (ตอนที่ 2 — จบ)

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday June 27, 2012 10:50 —ธนาคารแห่งประเทศไทย

นางสาวเพ็ญลักษณ์ โล่ธุวาชัย

ผู้บริหารทีม ทีมตลาดเงินและตลาดพันธบัตร

สายตลาดการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย

ในครั้งที่แล้ว ได้อธิบายถึงสภาพคล่องในนิยามแคบ หรือที่เรียกว่าฐานเงิน ซึ่งเป็นสภาพคล่องที่แบงก์ชาติบริหารจัดการให้อยู่ในระดับที่สมดุลเพื่อให้อัตราดอกเบี้ยระยะสั้นในตลาดเงินเคลื่อนไหวสอดคล้องกับอัตราดอกเบี้ยนโยบาย ในครั้งนี้ จะได้อธิบายถึงสภาพคล่องในนิยามกว้าง หรือปริมาณเงินสดหมุนเวียนและเงินฝากของประชาชนที่สถาบันการเงิน ซึ่งก็คือสภาพคล่องในระบบธนาคารพาณิชย์

บางคนอาจวัดสภาพคล่องในระบบธนาคารพาณิชย์ได้ง่าย ๆ โดยเปรียบเทียบปริมาณเงินฝากและตั๋วแลกเงินที่ธนาคารพาณิชย์ระดมเข้ามากับปริมาณสินเชื่อที่ปล่อยออกไป ถ้าปริมาณเงินที่รับเข้ามากับที่ปล่อยออกไปพอ ๆ กัน ก็ถือว่าสภาพคล่องพอดี ๆ หรืออาจตึงบ้างเล็กน้อย แต่ถ้าความต้องการสินเชื่อมีจำนวนมากและเพิ่มขึ้นเร็วกว่าเงินฝากและตั๋วแลกเงิน ธนาคารพาณิชย์ก็จะเริ่มรู้สึกว่าสภาพคล่องตึงขึ้นจนต้องระดมเงินฝากมากขึ้นโดยปรับเพิ่มอัตราดอกเบี้ยเงินฝากให้สูงกว่าธนาคารอื่น เพื่อดึงดูดให้มีคนเข้ามาฝากเงินเพิ่มขึ้น

การวัดสภาพคล่องอีกวิธีหนึ่งคือวัดสภาพคล่องส่วนเกินในระบบธนาคารพาณิชย์ โดยดูว่าธนาคารพาณิชย์ถือสินทรัพย์ที่มีสภาพคล่องสูงในปริมาณที่มากกว่าที่กฎหมายกำหนดหรือไม่ ในปัจจุบัน โดยอำนาจตามกฎหมาย แบงก์ชาติกำหนดว่าธนาคารพาณิชย์จะต้องดำรงสินทรัพย์ที่มีสภาพคล่องสูงไว้ไม่ต่ำกว่าร้อยละ 6 ของเงินรับฝากหรือเงินกู้ยืมจากประชาชน ส่วนที่เหลืออีกร้อยละ 94 สามารถนำไปปล่อยกู้เพื่อหารายได้สินทรัพย์ที่มีสภาพคล่องสูง ก็ได้แก่ เงินสด เงินฝากที่แบงก์ชาติ เงินลงทุนในตราสารหนี้บางประเภทการกำหนดหลักเกณฑ์ดังกล่าว ก็เพื่อสร้างความมั่นใจว่าธนาคารพาณิชย์จะสามารถจัดหาเงินสดได้อย่างรวดเร็วในยามจำเป็น อาจโดยการขายตราสารหนี้ที่ถืออยู่ สินเชื่อที่ขยายตัวสูงถึงประมาณร้อยละ 15 ต่อปีในปัจจุบันส่งผลให้สินทรัพย์สภาพคล่องของธนาคารพาณิชย์ส่วนที่เกินกว่ากฎหมายกำหนดลดลง โดยในเดือนมีนาคม 2554 ธนาคารพาณิชย์มีสินทรัพย์สภาพคล่องสูงถึง 5.7 เท่าของที่กฎหมายกำหนด และลดลงเหลือ 5.2 เท่าในเดือนมีนาคม 2555 แต่ก็ยังถือว่าสูงอยู่ดี

นอกเหนือจากสินเชื่อที่ขยายตัวสูงขึ้น การระดมเงินผ่านการออกตั๋วแลกเงินของธนาคารพาณิชย์ก็จะทำได้ลดลง จากการที่ตั๋วแลกเงินที่ออกไปแล้วจะทยอยครบกำหนดและจะไม่สามารถออกใหม่ได้ในปริมาณเดิมเพราะมีต้นทุนเพิ่มขึ้น ส่วนหนึ่งเนื่องจากต้องนำส่งเงินเพิ่มเข้าบัญชีสะสมเพื่อการชำระคืนต้นเงินกู้ชดใช้ความเสียหายของกองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน ทำให้ธนาคารพาณิชย์ยิ่งแข่งขันกันระดมเงินฝาก และเป็นเหตุให้อัตราดอกเบี้ยเงินฝากในช่วงนปี้ รับสูงขึ้น ขณะที่อัตราดอกเบี้ยระยะสั้นๆ ที่ธนาคารพาณิชย์ฝากหรือกู้ระหว่างกันเพื่อบริหารเงินระยะสั้นของธนาคารเองยังคงอยู่ใกล้เคียงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ร้อยละ 3 ต่อปีโดยจะเปลี่ยนแปลงตามสภาพคล่องในนิยามแคบที่แบงก์ชาติมีหน้าดูแลให้อยู่ในสมดุล

อย่างไรก็ตาม การที่อัตราดอกเบี้ยปรับสูงขึ้นอาจเป็นผลจากปัจจัยอื่นนอกจากสภาพคล่อง เช่น ในกรณีของการกู้เงินโดยการออกตราสาร หากตราสารนั้นไม่มีความยืดหยุ่น ไม่สามารถนำไปขายต่อหรือนำไปใช้ทำธุรกรรมต่อเนื่องในตลาดได้ สถาบันการเงินที่ปล่อยกู้หรือนักลงทุนก็จะต้องการอัตราผลตอบแทนที่สูงกว่าปกติ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในปัจจุบันซึ่งสภาพคล่องในระบบสถาบันการเงินลดลงและสถาบันการเงินต้องแข่งขันกันเพิ่มขึ้น

ตัวอย่างเช่น ในการที่แบงก์ชาติออกพันธบัตรธนาคารแห่งประเทศไทยประเภทอัตราดอกเบี้ยลอยตัวอ้างอิงกับอัตราดอกเบี้ย BIBOR ซึ่งมีสภาพคล่องในการซื้อขายยังไม่สูงนัก ผู้ลงทุนอาจกังวลว่าจะไม่สามารถขายพันธบัตรที่ถืออยู่ดังกล่าวในตลาดรองได้ในราคา จำนวน และเวลาที่ต้องการ ดังนั้น ผู้ลงทุนจึงต้องการอัตราผลตอบแทนที่สูงกว่าการลงทุนในพันธบัตรอัตราดอกเบี้ยคงที่เพื่อชดเชยสภาพคล่องที่ต่ำกว่า ซึ่งการที่แบงก์ชาติออกพันธบัตรประเภทอัตราดอกเบี้ยลอยตัวอ้างอิงกับอัตราดอกเบี้ย BIBOR ทั้งที่มีต้นทุนสูง ก็เพื่อพัฒนาตลาดโดยการเพิ่มความหลากหลายของผลิตภัณฑ์และตอบสนองความต้องการของนักลงทุนส่วนหนึ่งที่สนใจลงทุนในตราสารประเภทนี้

ในกรณีตราสารระยะยาวที่มีเงื่อนไขว่าผู้ออกสามารถไถ่ถอนได้ก่อนครบกำหนดก็เช่นเดียวกัน ผู้ลงทุนจะต้องการอัตราผลตอบแทนที่สูงขึ้นเพื่อชดเชยความเสี่ยงจากการที่ไม่สามารถคาดการณ์รายรับที่แน่นอนได้ อีกทั้งมีความเสี่ยงด้าน reinvestment risk หากผู้ออกตราสารขอไถ่ถอนก่อนครบกำหนดเพื่อre-finance ในช่วงที่อัตราดอกเบี้ยลดต่ำลง อัตราดอกเบี้ยโดยเฉพาะระยะยาวยังขึ้นกับมุมมองของผู้เล่นในตลาดการเงินที่มีต่อแนวโน้มเศรษฐกิจและเงินเฟ้อ ในช่วงต้นปีที่ผ่านมา มีการคาดการณ์ว่าภาวะเศรษฐกิจข้างหน้าจะดีขึ้น สินเชื่อจะขยายตัว การมีสภาพคล่องในระยะยาวสำรองไว้จะมีความจำเป็นมากขึ้น ผลตอบแทนหรืออัตราดอกเบี้ยระยะยาวในช่วงนั้นจึงปรับขึ้นตามกลไกตลาด โดยไม่เกี่ยวข้องกับสภาพคล่องแต่อย่างใดอย่างไรก็ตาม ในปัจจุบัน ภาพเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัวอย่างชัดเจนขึ้น ประกอบกับราคาน้ำมันที่ลดลงทำให้การคาดการณ์เงินเฟ้อและแนวโน้มอัตราดอกเบี้ยระยะยาวอาจปรับลงได้

จากที่กล่าวมาใน 2 ตอน สามารถสรุปได้ว่าการพูดถึงสภาพคล่องอาจมีความแตกต่างกันตามมุมมองกล่าวคือ สภาพคล่องที่แบงก์ชาติดูแลหรือฐานเงิน และสภาพคล่องในระบบธนาคารหรือปริมาณเงินของสถาบันการเงิน ฐานเงินจะมีผลกระทบกับอัตราดอกเบี้ยระยะสั้นระหว่างสถาบันการเงินในตลาดเงิน การเปลี่ยนแปลงและการคาดการณ์เกี่ยวกับอัตราดอกเบี้ยระยะสั้นดังกล่าว ประกอบกับปัจจัยอื่นๆ ซึ่งรวมถึงสภาพคล่องในระบบธนาคารจะส่งผลต่ออัตราดอกเบี้ยในระยะที่ยาวขึ้นและกระทบในวงกว้างไปถึงผู้ที่อยู่นอกตลาดเงิน เช่น ผู้ฝากเงิน บริษัทที่ต้องการกู้ยืมเงินหรือระดมทุน รวมถึงนักลงทุน ด้วย

บทความนี้เป็นข้อคิดเห็นส่วนบุคคลจึงไม่จำเป็นต้องสอดคล้องกับความเห็นของธนาคารแห่งประเทศไทย
เผยแพร่ในหนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ ฉบับวันที่ 26 มิถุนายน 2555

          ที่มา: ธนาคารแห่งประเทศไทย

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ