แถลงข่าวเศรษฐกิจและการเงินเดือนพฤษภาคม 2555

ข่าวเศรษฐกิจ Friday June 29, 2012 15:10 —ธนาคารแห่งประเทศไทย

ฉบับที่ 34/2555

ภาวะเศรษฐกิจในเดือนพฤษภาคม 2555 ปรับตัวดีขึ้น โดยการผลิตภาคอุตสาหกรรมที่ปรับดีขึ้น ช่วยสนับสนุนให้อุปสงค์ขยายตัวได้ต่อเนื่องทั้งการบริโภคและการลงทุนภาคเอกชน ส่วนภาคการท่องเที่ยวยังคงขยายตัวในเกณฑ์ดี สำหรับการส่งออกในภาพรวมขยายตัวได้ดี แม้จะได้รับผลกระทบจากปัญหาวิกฤตหนี้ในกลุ่มประเทศยูโร ด้านเสถียรภาพเศรษฐกิจโดยรวมอยู่ในเกณฑ์ดี โดยอัตราการว่างงานยังอยู่ในระดับต่ำ ขณะที่อัตราเงินเฟ้อทั่วไปเร่งขึ้นเล็กน้อย

รายละเอียดของภาวะเศรษฐกิจไทย มีดังนี้

การผลิตภาคอุตสาหกรรมขยายตัวต่อเนื่อง โดยดัชนีผลผลิตภาคอุตสาหกรรมขยายตัวร้อยละ 5.5 จากระยะเดียวกันปีก่อน ตามการผลิตรถยนต์ที่เร่งผลิตเพื่อตอบสนองคาสั่งซื้อที่ยังคงอยู่ในระดับสูง ประกอบกับ มีผลจากฐานต่ำในปีก่อนจากเหตุการณ์ภัยพิบัติในญี่ปุ่น ขณะที่การผลิตเบียร์และเครื่องใช้ไฟฟ้าขยายตัวจาก คำสั่งซื้อที่ยังคงมีอยู่ ส่งผลให้อัตราการใช้กำลังการผลิตเพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 75.9 จากร้อยละ 62.9 ในเดือนก่อน สำหรับผลผลิตสินค้าเกษตรขยายตัวร้อยละ 7.3 จากระยะเดียวกันปีก่อน โดยเป็นการขยายตัวจากทั้งผลผลิตข้าว ยางพารา ปาล์มน้ำมัน ปศุสัตว์ และผลไม้ ขณะที่ราคาสินค้าเกษตรกรรมหดตัวร้อยละ 10.8 จากระยะเดียวกันปีก่อน ตามราคายางพาราที่ยังคงหดตัวเป็นสำคัญ เป็นผลจากทั้งความกังวลเกี่ยวกับเศรษฐกิจโลก จากปัญหาวิกฤตหนี้ในกลุ่มประเทศยูโร และราคาน้ำมันที่ปรับลดลง รวมทั้งฐานราคาในปีก่อนอยู่ในระดับสูง ส่งผลให้รายได้เกษตรกรหดตัวร้อยละ 4.3 จากระยะเดียวกันปีก่อน

การผลิตภาคอุตสาหกรรมที่ปรับตัวดีขึ้นช่วยสนับสนุนการขยายตัวของอุปสงค์ในประเทศ โดยดัชนีการอุปโภคบริโภคภาคเอกชนขยายตัวร้อยละ 6.6 จากระยะเดียวกันปีก่อน ตามการขยายตัวของเครื่องชี้ ในทุกหมวด โดยปริมาณการจำหน่ายยานยนต์เร่งตัวขึ้นมากส่วนหนึ่งเป็นผลจากฐานต่ำในปีก่อน ประกอบกับผู้ผลิตทุกรายเร่งส่งมอบรถยนต์หลังจากกลับมาผลิตได้เต็มที่ ขณะที่การจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม ณ ราคาคงที่ ขยายตัวในเกณฑ์ดีโดยเฉพาะจากฐานการนำเข้า สอดคล้องกับปริมาณการนำเข้าสินค้าอุปโภคบริโภค ที่ขยายตัวต่อเนื่องทั้งสินค้าคงทนและไม่คงทน ส่วนการลงทุนภาคเอกชนขยายตัวต่อเนื่อง สะท้อนจากดัชนี การลงทุนภาคเอกชนที่ขยายตัวร้อยละ 14 จากระยะเดียวกันปีก่อน โดยการลงทุนในหมวดเครื่องจักรและอุปกรณ์ขยายตัวตามปริมาณการจำหน่ายรถยนต์เชิงพาณิชย์และปริมาณการนำเข้าสินค้าทุน โดยเฉพาะเพื่อใช้ในอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ ยานยนต์ และการผลิตเครื่องจักรกล ส่วนการลงทุนในหมวดก่อสร้างขยายตัวจากการลงทุนด้านที่อยู่อาศัยนอกเขตกรุงเทพฯ ส่วนหนึ่งเป็นผลจากผู้ประกอบการอสังหาริมทรัพย์หันไปขยายตลาดในต่างจังหวัดมากขึ้น

อุปสงค์ในประเทศที่ขยายตัวต่อเนื่อง ส่งผลให้การนำเข้าขยายตัวร้อยละ 16.8 จากระยะเดียวกันปีก่อน ตามการขยายตัวในทุกหมวด โดยเฉพาะหมวดสินค้าทุนที่เร่งขึ้นจากการนำเข้าเครื่องจักรของอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์และยานยนต์ นอกจากนี้ การนำเข้าในหมวดยานยนต์และชิ้นส่วนยังขยายตัวดีสอดคล้องกับ การผลิตรถยนต์ที่กลับมาผลิตได้เต็มที่

การส่งออกขยายตัวร้อยละ 6.7 จากระยะเดียวกันปีก่อน ตามการฟื้นตัวของการผลิตในกลุ่มอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ เครื่องใช้ไฟฟ้า และยานยนต์ อย่างไรก็ดี การส่งออกสินค้าเกษตรยังหดตัวต่อเนื่องตามปริมาณการส่งออกข้าวและราคายางพารา ขณะที่การส่งออกไปประเทศสเปน อิตาลี และฝรั่งเศส หดตัวต่อเนื่องสวนทางกับตลาดส่วนใหญ่ สะท้อนปัญหาวิกฤตหนี้ในกลุ่มประเทศยูโร สำหรับการท่องเที่ยวนักท่องเที่ยวต่างประเทศมีจำนวน 1.5 ล้านคน เพิ่มขึ้นร้อยละ 9.4 จากระยะเดียวกันปีก่อน ตามการเพิ่มขึ้นของนักท่องเที่ยวจากเกือบทุกภูมิภาคโดยเฉพาะนักท่องเที่ยวจากจีน รัสเซีย และอินเดีย ยกเว้นนักท่องเที่ยวอาเซียนที่ลดลงโดยเฉพาะจากมาเลเซีย ส่วนหนึ่งเป็นผลจากเหตุระเบิดในช่วงปลายเดือนมีนาคม

ภาครัฐยังคงใช้จ่ายเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจทั้งรายจ่ายประจาและรายจ่ายลงทุน โดยเฉพาะรายจ่ายประจำที่เกี่ยวกับค่าจ้างเงินเดือนตามมาตรการปรับค่าตอบแทนข้าราชการ และการเบิกจ่ายงบลงทุนเพื่อฟื้นฟูและป้องกันอุทกภัย อย่างไรก็ดี เนื่องจากในเดือนนี้มีการนำส่งรายได้ในจำนวนที่สูงกว่ารายจ่าย ส่งผลให้ดุลเงินสดเกินดุล 29.8 พันล้านบาท

ด้านเสถียรภาพเศรษฐกิจ อัตราการว่างงานยังอยู่ในระดับต่ำ อัตราเงินเฟ้อทั่วไปอยู่ที่ร้อยละ 2.53 เร่งขึ้นเล็กน้อยจากราคาอาหารสดเป็นสำคัญ สำหรับการคาดการณ์เงินเฟ้อยังทรงตัว ด้านดุลการชาระเงินขาดดุลส่วนหนึ่งจากการออกไปลงทุนในต่างประเทศของธุรกิจและนักลงทุนไทย และการขายหลักทรัพย์ของนักลงทุนต่างประเทศ

ธนาคารแห่งประเทศไทย

ข้อมูลเพิ่มเติม: ทีมเศรษฐกิจมหภาค

โทร. 0 2283 5647, 0 2283 5648

e-mail: MPGMacroEconomics@bot.or.th

ที่มา: ธนาคารแห่งประเทศไทย


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ