FOCUSED AND QUICK (FAQ) Issue 71
การลงทุนของไทยในประเทศเพื่อนบ้าน: ก้าวสำคัญของการเข้าสู่กลุ่มเศรษฐกิจ AEC
เสาวณี จันทะพงษ์ และสุภัทร ธนบดีภัทร
กระแสการเปิดเสรีทางการค้าและการลงทุน และการเข้าร่วมเป็นประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC) ที่กำลังจะมาถึงในปี 2015 รวมถึงปัจจัยอื่นๆ เช่น ต้นทุนการบริหารความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนทั้งในภาครัฐและเอกชนเพิ่มขึ้นอุตสาหกรรมที่พึ่งพาแรงงานสูงในไทยต้องเผชิญกับการขาดแคลนแรงงาน และค่าจ้างแรงงานที่สูงขึ้น ล้วนเป็นปัจจัยให้บริษัทไทยไปลงทุนในต่างประเทศโดยเฉพาะในกลุ่มประเทศเพื่อนบ้าน CLMV*(1)
จากผลการวิจัยเชิงธุรกิจที่ได้จากข้อมูลระดับบริษัท พบว่าการแสวงหาตลาดเป็นแรงจูงใจอันดับหนึ่งของการไปลงทุนในกลุ่มประเทศเพื่อนบ้าน CLMV รองลงมาคือ ความสามารถในการแข่งขันของบริษัทไทยในตลาดต่างประเทศ และแรงจูงใจด้านแรงงาน ทั้งปริมาณแรงงานที่พอเพียงและค่าแรงงานถูก ชี้ให้เห็นว่าบริษัทที่มีศักยภาพในการแข่งขันกับต่างประเทศมีแนวโน้มตัดสินใจลงทุนในต่างประเทศมากขึ้นเพื่อให้เข้าถึงตลาดที่มีขนาดใหญ่ขึ้น และเตรียมความพร้อมเพื่อการเข้าสู่กลุ่มประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC) ในปี 2015
การศึกษามีนัยต่อยุทธศาสตร์การลงทุนของไทยในต่างประเทศที่มีเป้าหมายเพื่อสร้างเครือข่ายเชื่อมโยงเศรษฐกิจ(Connectivity) ภายในอนุภูมิภาคเพื่อการพัฒนาที่มีคุณภาพและยั่งยืนใน 3 ประเด็น คือ 1) ภาคเอกชนผู้ลงทุนในระดับบริษัทจะเป็นผู้กำหนดสาขาการลงทุนที่ดีที่สุด และภาครัฐควรเป็นพันธมิตรในการสร้างสภาพแวดล้อมทางกฎเกณฑ์ที่เกี่ยวข้องกับการลงทุนในต่างประเทศให้เหมาะสม 2) จากผลการสัมภาษณ์โดยตรง ผู้ประกอบการ SMEs ต้องการให้ภาครัฐช่วยเหลือเป็นพี่เลี้ยงนำกลุ่ม SMEs ซึ่งเป็นฐานการผลิตสำคัญของประเทศและมีศักยภาพไปลงทุนต่างประเทศเพื่อเพิ่มโอกาสและกระจายสาขาการลงทุนในต่างประเทศให้มีความหลากหลาย 3) ไทยควรเร่งลงทุนโครงสร้างพื้นฐานโดยเฉพาะระบบโลจิสติกส์ที่จะสนับสนุนการขนส่งทั้งคนและสินค้า เพื่อความเชื่อมโยงที่จะมีมากขึ้น รวมทั้งลงทุนด้านการศึกษาเพื่อพัฒนาแรงงานไทยให้มีทักษะและคุณภาพสูงให้สามารถแข่งขันได้ในภาวะที่ตลาดแรงงานจะเปิดเสรีมากขึ้นในอนาคตอันใกล้นี้
เศรษฐกิจโลกในระยะ 30 ปีที่ผ่านมาขยายตัวอย่างต่อเนื่อง โดยเป็นผลมาจากการค้าและการลงทุนระหว่างประเทศที่เพิ่มขึ้น แต่ไทยยังลงทุนในต่างประเทศไม่มากนัก ชี้ได้จากระดับความแตกต่างของ GNP กับ GDP ค่อนข้างสูง โดยในปี 2009 ผลิตภัณฑ์มวลรวมประชาชาติ (GNP) ต่ำกว่าผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (GDP)*(2) ถึง 352 พันล้านบาท กระแสโลกาภิวัฒน์รวมทั้งกระแสการเปิดเสรี ทางการค้าและการลงทุนจากการเข้าร่วมเป็นประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC) ที่กำลังจะถึงในปี 2015 จึงนับเป็นโอกาสของบริษัทไทยที่จะออกไปแสวงหาลู่ทางการค้าและการลงทุนในประเทศเพื่อนบ้าน โดยเฉพาะในกลุ่มประเทศ CLMV ซึ่งได้แก่ กัมพูชา ลาว พม่า และเวียดนาม ซึ่งเป็นประเทศที่มีพรมแดนอยู่ติดหรือใกล้เคียงกับไทย เป็นทั้งแหล่งทรัพยากรการผลิตที่สำคัญและตลาดขนาดใหญ่มีประชากรรวมกัน 162 ล้านคน (หากรวมประชากรทั้งอาเซียนอยู่ที่ประมาณ 600 ล้านคน)
บทความนี้มีวัตถุประสงค์ 2 ข้อ คือ 1) เพื่อศึกษาแนวโน้มการลงทุนโดยตรงของไทยในต่างประเทศ(Thai Direct Investment: TDI) จากอดีตจนถึงปัจจุบัน โดยเฉพาะการเติบโตอย่างรวดเร็วในกลุ่มประเทศ CLMV รวมถึงนำเสนอแนวโน้ม FDI ของโลกเพื่อความเข้าใจในกระแสการไหลของการลงทุนระหว่างประเทศ ที่ใช้ข้อมูลระดับมหภาค (Macro level) และ 2) นำเสนอผลวิจัยเชิงธุรกิจของบริษัทไทยที่ไปลงทุนในกลุ่มประเทศ CLMV ซึ่งเป็นข้อมูลเชิงลึกระดับบริษัทเพื่อให้เราเข้าใจการตัดสินใจไปลงทุนของบริษัทไทย เพื่อประโยชน์ในการสร้างยุทธศาสตร์เชิงนโยบายในการส่งเสริมให้นักธุรกิจไทยไปลงทุนในต่างประเทศให้มากขึ้น บทความนี้ประกอบด้วย 4 ส่วนหลัก ดังนี้
นิยามที่มีการอ้างอิงในระดับสากล หมายถึง การลงทุนในระยะยาวระหว่างบริษัทผู้ลงทุน (Direct investor)และบริษัทในเครือ (Direct investment enterprise) ในประเทศที่รับการลงทุน ที่มีนัยสำคัญต่อการบริหารจัดการ (a significance degree of influence on the management) (OECD, 2008)*(3) ในบางกรณีรวมถึงกิจกรรมที่มีการถ่ายทอดเทคโนโลยี ความชำนาญ และการขยายตลาดด้วย
ส่วนการซื้อขายหลักทรัพย์จากต่างประเทศในตลาดหลักทรัพย์ที่ไม่มีการเข้าไปมีส่วนร่วมในการบริหารจัดการบริษัท ถือเป็น portfolio investment ซึ่งคือการลงทุนในหลักทรัพย์ (securities) เช่น พันธบัตร (bonds) หุ้นกู้ (Debt securities) หรือหุ้นทุน (equity securities)
การลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศจำแนกได้เป็น 5 ประเภทหลัก คือ 1) การลงทุนใหม่ (Greenfield investment) ที่นำ เข้าจากต่างประเทศ และเป็นเงินลงทุนที่เป็นที่ต้องการที่สุด 2) ผลกำ ไรนำ กลับมาลงทุนต่อ (Re-invested earnings) เป็นการนำกำไรจากผลประกอบการมาลงทุนเพิ่มในประเทศผู้รับการลงทุน (host country) ซึ่งเป็นการเพิ่มการสะสมทุนและแสดงเจตนารมณ์ของการลงทุนระยะยาวในประเทศนั้นๆ 3) การกู้ยืมเงินจากบริษัทในเครือ (Intra-company loans) เป็นการกู้ยืมเงินจากบริษัทแม่ในประเทศผู้ลงทุนให้แก่ บริษัทในเครือในประเทศผู้รับการลงทุน 4) Mergers and acquisitions เป็นการควบรวมกิจการของบริษัทต่างประเทศ ซึ่งเป็นการลงทุนที่ไม่เป็นที่ต้องการมากนัก เว้นเสียแต่เป็นส่วนสำคัญของการให้ต่างชาติสามารถซื้อรัฐวิสาหกิจที่ขาดทุนได้ หรือการควบรวมกิจการของบริษัทเอกชนในประเทศผู้รับการลงทุนกับบริษัทเอกชนต่างประเทศ และ 5) Non-equity forms of FDI หมายถึง การได้รับสัมปทาน การอนุญาตให้ใช้ทรัพย์สินทางปัญญา (Licensing) และการอนุญาตให้กิจการท้องถิ่นดำเนินธุรกิจภายใต้ข้อกำหนด (Franchising) (UN, 2003)
ในช่วงระยะเวลากว่า 40 ปีที่ผ่านมา การลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศที่ไหลเข้าสู่ประเทศพัฒนาแล้วสูงกว่าที่ไหลเข้าสู่ประเทศกำลังพัฒนามากคิดเป็นสัดส่วนเฉลี่ยร้อยละ 77 ในช่วงปี 1970-1989 และลดลงบ้าง เป็นร้อยละ 66 ในช่วงปี 1990-2010 เทียบกับ FDI ที่ไหลเข้าสู่ประเทศกำลังพัฒนาร้อยละ 25 และร้อยละ 32 ในช่วงระยะเวลาเดียวกัน (UNCTAD, 2011) (รูป 2) โดยในระยะหลังตั้งแต่ 1980 เริ่มมีการไหลเข้าของ FDI ไปยังกลุ่มประเทศ Transition economies*(4) ปี 2010 เป็นปีแรกที่ครึ่งหนึ่งในกลุ่ม 20 ประเทศแรกที่ได้รับ FDI สูงสุด มาจากประเทศกำลัง พัฒนาและ Transition economies และเป็นครั้งแรกที่อินโดนีเซียซึ่งอยู่ในกลุ่ม AEC ติดกลุ่ม 20 ประเทศผู้รับ FDI สูงสุดนี้ ในช่วงระหว่างปี 2008-2010 FDI มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นในกลุ่มประเทศกำลังพัฒนา ทั้งใน East and South-East Asia และ Latin America ขณะที่กลุ่มประเทศกำลังพัฒนากลุ่มอื่นๆ ลดลง
2.2.1 ภาพรวม TDI ไทยให้ความสำคัญกับ FDI อย่างมากมาโดยตลอด โดยเฉพาะเมื่อมีการจัดตั้งคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) ในปี 1959 เนื่องจากเป็นปัจจัยสำคัญในการขยายตัวทางเศรษฐกิจ การจ้างงานและการถ่ายทอดเทคโนโลยี โดยประเทศที่เป็นผู้ลงทุนสำคัญในไทย คือ กลุ่มประเทศยุโรป เอเชีย และอเมริกาเหนือ
ต่อมาในช่วงทศวรรษ 1970s ไทยเริ่มไปลงทุนในต่างประเทศ (TDI) พัฒนาการ TDI แบ่งได้เป็น 4 ช่วงเวลา (Kee Hwee Wee, 2007)*(5) คือ
1) ช่วงเริ่มต้น (Early stage) ปี 1978- 1985 เป็นการลงทุนในหลักทรัพย์ในประเทศหลัก คือ สหรัฐอเมริกา ฮ่องกง สิงคโปร์และญี่ปุ่น รวมทั้งมีการลงทุนภาคการเงินในรูปแบบการเปิดสาขาธนาคารพาณิชย์ไทยในประเทศที่เป็นคู่ค้าสำคัญของไทย เช่น ฮ่องกง และสิงคโปร์ เนื่องจากขณะนั้นยังมีการควบคุมการเคลื่อนย้ายเงินทุน
2) ช่วงเร่งตัว (Take-off stage) ปี 1986-1996 บริษัทไทยออกไปลงทุนในต่างประเทศมากขึ้นทั้งในด้านมูลค่าและกลุ่มประเทศที่ไปลงทุน และเริ่มไปลงทุนในกลุ่มประเทศเพื่อนบ้าน CLMV จากการมีต้นทุนการผลิตต่ำในประเทศกลุ่มนี้ เป็นผลของความร่วมมือทางการค้าการลงทุน AFTA และการเปิดเสรีภาคการเงินในช่วงต้น 1990s
3) ช่วงผลกระทบวิกฤตเศรษฐกิจการเงิน(Financial crisis impact stage) ปี 1997-2002 TDI ลดลงอย่างมากและมีการขายสินทรัพย์ในต่างประเทศเป็นจำนวนมากเพื่อนำเงินกลับมาช่วยปรับฐานะทางการเงินของบริษัทแม่ในไทยที่ได้รับผลกระทบจากวิกฤตเศรษฐกิจปี 1997
4) ช่วงเศรษฐกิจฟื้นตัว (Recovering stage) ตั้งแต่ปี 2003 จนถึงปัจจุบัน ในปี 2011 มูลค่า TDI อยู่ที่ 14,444 ล้านดอลลาร์ สรอ. เพิ่มขึ้นถึงกว่าเท่าครึ่ง เทียบกับค่าเฉลี่ย 5 ปี 2006-2010 ที่อยู่ที่ 5,407 ล้านดอลลาร์ สรอ. จากปัจจัยหลายประการเช่น การขยายตัวของเศรษฐกิจ ความเข้มแข็งและศักยภาพของบริษัทไทย การผ่อนคลายเกณฑ์การเคลื่อนย้ายเงินทุนอย่างเป็นลำดับ และการแข็งค่าของเงินบาท เป็นต้น จากข้อมูลปี 2005-2011 TDI ของไทยส่วนใหญ่กระจุกตัวอยู่ในกลุ่มประเทศ ASEAN ร้อยละ 35 (ซึ่งอยู่ในกลุ่มประเทศ CLMV ถึงร้อยละ 28.8) รองลงมาคือกลุ่มประเทศยุโรป ร้อยละ 8
สาขาการผลิตที่บริษัทไทยไปลงทุนมากที่สุดคือ เหมืองแร่และย่อยหิน ประมาณร้อยละ 31 (สัดส่วนเฉลี่ยปี 2005-2011) รองลงมาคือภาคอุตสาหกรรม ร้อยละ 29 การเงินและประกันภัย ร้อยละ 16 และการค้าส่งและปลีก ร้อยละ 11 ตามลำดับ
TDI ของไทยในช่วงเศรษฐกิจฟื้นตัวหลังวิกฤต เศรษฐกิจนี้ ส่วนใหญ่อยู่ในรูปแบบของ Greenfield investment (Kee 2007, Masron and Shahbudin, 2010) จากข้อมูล Outward FDI stock จัดทำโดย UNCTAD พบว่า TDI ของไทยยังอยู่ในระดับต่ำกว่าการลงทุนโดยตรงในต่างประเทศของประเทศอุตสาหกรรมใหม่ในอาเซียนอื่น คือ สิงคโปร์ มาเลเซีย อินโดนีเซีย แต่ยังสูงกว่าฟิลิปปินส์ (ตาราง 1)
Greenfield projects Outward FDI stock
(No.) (in Million USD) 2002 2003 2004 1990 2000 2005 Indonesia 4 9 9 86 6,940 13,735 Malaysia 39 83 74 2,671 22,874 44,480 Philippines 2 31 14 155 1,597 2,039 Singapore 57 90 103 7,808 56,766 11,0932 Thailand 4 37 18 418 2,203 3,947 Vietnam 6 23 7 - - - หมายเหตุ: UNCTAD (2006) Table A.I.1 pp.265 (for Greenfield FDI projects) and Table B.2, pp.315 (Stock of Outward FDI) ที่มา: Masron and Shahbudin, 2010
ในระหว่างปี 2005-2011 บริษัทถอนหรือลดสัดส่วนการลงทุนของไทยในต่างประเทศ เฉลี่ยปีละประมาณ 2,926 ล้านดอลลาร์ สรอ. และมีมูลค่าน้อยกว่าเงินลงทุนที่ไทยนำไปลงทุนในต่างประเทศที่อยู่ที่ 7,053 ล้านดอลลาร์ สรอ. ในช่วงระยะเวลาเดียวกัน ซึ่งยังส่งผลให้เงินลงทุนของไทยในต่างประเทศสุทธิเป็นบวก
2.2.2 แนวโน้ม TDI ในกลุ่มประเทศเพื่อนบ้าน CLMV
ไทยมีข้อได้เปรียบเชิงภูมิศาสตร์เศรษฐกิจ*(7) ซึ่งมีสถานที่ตั้งเป็นศูนย์กลางของภูมิภาคและมีชายแดนติดกับทุกประเทศในกลุ่ม CLMV ยกเว้นเวียดนามจึงมีศักยภาพที่จะพัฒนาเขตเศรษฐกิจชายแดนและเมืองชายแดนเพื่อสร้างผลประโยชน์ร่วมกับประเทศเพื่อนบ้านในหลายมิติทั้งการค้า การลงทุน การตลาดและการคมนาคมขนส่ง โดยเฉพาะสร้างเป็นฐานการผลิต และระบบห่วงโซ่อุปทานในอนุภูมิภาคนี้
TDI ของไทยในกลุ่มประเทศ CLMV เพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระโดดในระยะหลัง โดยในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา (2007-2011) มีมูลค่าเฉลี่ยปีละ 790 ล้านดอลลาร์ สรอ. เพิ่มขึ้นถึง 4 เท่า จากช่วง 5 ปีก่อนหน้า (2002-2006) ที่อยู่ที่ 147 ล้านดอลลาร์ สรอ.
ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา (2002-2011) เกือบครึ่งหนึ่งของ TDI ในกลุ่ม CLMV ไหลไปเข้าสู่ประเทศพม่า ซึ่งเป็นประเทศที่มีประชากรถึง 50 ล้านคน แต่ยังไม่สามารถผลิตสินค้าต่างๆ ที่จำเป็นได้อย่างเพียงพอและเป็นประเทศที่มีสภาพแวดล้อมทางสังคมและวัฒนธรรม ศาสนาและวิถีชีวิตคล้ายคลึงกับไทย จึงเป็นโอกาสทางการตลาดให้กับสินค้าไทย โดยปัจจุบันชาวพม่านิยมบริโภคสินค้าไทยและเชื่อมั่นว่าเป็นสินค้าที่มีคุณภาพ
TDI ในประเทศเวียดนาม ลาว และกัมพูชาส่วนใหญ่อยู่ในภาคอุตสาหกรรม การค้าส่งและปลีกและเหมืองแร่และย่อยหิน และเป็นที่น่าสังเกตว่า TDI ในเวียดนามและลาวมีความหลากหลายของสาขามาก ส่วน TDI ในประเทศพม่า*(8) มีการกระจุกตัวมากในการค้าส่งและปลีก ถึงร้อยละ 60 รองลงมาคือเหมืองแร่และย่อยหิน อุตสาหกรรม และการเงินและธุรกิจประกันภัย
3. ผลวิจัยเชิงธุรกิจของบริษัทไทยที่ไปลงทุนในกลุ่มประเทศ CLMV
3.1 แรงจูงใจให้บริษัทไทยไปลงทุนในกลุ่มประเทศ CLMV ธปท. จัดทำการสำรวจเชิงธุรกิจในปี 2011 โดยสอบถามบริษัทที่ไปลงทุนในกลุ่มประเทศ CLMV จำนวน 400 ราย ทั้งบริษัทขนาดใหญ่ กลางและเล็ก (ตาราง 2)
firms firms firms
Cambodia 5 18 9 32 Laos 7 7 15 29 Myanmar 3 4 1 8 Vietnam 8 17 0 25 Total 23 46 25 94 ที่มา: ผลการสำรวจ TDI ปี 2554, ธปท.
จากจำนวนบริษัทไทยที่ไปลงทุนในต่างประเทศทั้งหมดประมาณ 800 ราย*(10) ตอบกลับจำนวน 94 ราย คิดเป็นอัตราการตอบกลับร้อยละ 23.5 เกือบครึ่งหนึ่งของบริษัทที่ไปลงทุนใน CLMVลงทุนในรูปแบบของบริษัทในเครือ (Subsidiaries)
ในภาพรวม ปัจจัยการแสวงหาตลาด (Marketseekingmotive) (ร้อยละ 43) เป็นแรงจูงใจสำคัญของTDI ในทุกประเทศ CLMV สอดคล้องกับการศึกษาของ Kee Hwee Wee (2007) รองลงมาคือความสามารถในการแข่งขันของบริษัทไทยในตลาดท้องถิ่น (ร้อยละ 19) แรงจูงใจด้านแรงงานทั้งปริมาณแรงงานที่พอเพียงและค่าแรงงาน และแรงจูงใจด้านสิทธิพิเศษทางภาษี (ร้อยละ 14) ตามลำดับ เป็นที่น่าสังเกตว่าแรงจูงใจของการลงทุนในลาวและเวียดนามมีความหลากหลายมากกว่าประเทศอื่นๆ อาจ เนื่องมาจากลาวเป็นประเทศที่มีความใกล้เคียงทางภาษากับไทยมากที่สุดทำให้การติดต่อค้าขายเป็นไปได้ง่าย ขณะที่ตลาดเวียดนามมีขนาดใหญ่และอัตราเติบโตอย่างรวดเร็วและคนเวียดนามมีความรู้สึกที่ดีต่อสินค้าไทย 3.2 แนวโน้มการลงทุนและภาวะการแข่งขันในCLMV มากกว่าร้อยละ 70 ของบริษัทที่ไปลงทุนในพม่า ลาว กัมพูชา จะเพิ่มการลงทุนอย่างต่อเนื่องใน 5 ปีข้างหน้า (2012-2016) และอยู่ที่ร้อยละ 60 ของบริษัทที่ไปลงทุนในประเทศเวียดนาม
สำหรับภาวะการแข่งขันในปัจจุบันในกลุ่มประเทศ CLMV ยังอยู่ในระดับต่ำถึงปานกลาง โดยภาวะการแข่งขันของการทำธุรกิจในประเทศพม่าสูงกว่าประเทศอื่นๆ (รูป 11) เป็นผลจากพม่าเป็นประเทศที่มีแหล่งทรัพยากรธรรมชาติที่มีความอุดมสมบูรณ์ ทั้งป่าไม้ ประมง แร่ธาตุ น้ำมัน ก๊าซธรรมชาติ ถ่านหิน รวมทั้งเป็นแหล่งแรงงานราคาถูกที่เป็นแรงดึงดูดสำคัญให้ประเทศมหาอำนาจหลายประเทศสนใจลงทุนในพม่า 3.3 แหล่งที่มาของเงินทุน ประมาณร้อยละ 60 ของบริษัทที่ไปลงทุนใน CLMV พึ่งพาเงินกู้จากธนาคารพาณิชย์ในไทย และในกรณีที่บริษัทไปหาแหล่งเงินทุนในประเทศที่ไปลงทุน ประมาณร้อยละ 60 พึ่งพาเงินกู้จากธนาคารพาณิชย์ในประเทศนั้น สะท้อนถึงความสำคัญของระบบธนาคารพาณิชย์ในการเป็นแหล่งเงินทุนสำคัญของบริษัทที่ไปลงทุนในต่างประเทศ ทั้งนี้ ส่วนน้อยสามารถระดมทุนในตลาดทุนทั้งในไทยและในประเทศที่ไปลงทุน 3.4 ปัจจัยเสี่ยง และอุปสรรคของการลงทุนในประเทศ CLMV ความเสี่ยงของการดำเนินธุรกิจในกลุ่มประเทศ CLMV 3 อันดับแรกคือ ความเสี่ยงด้านอัตราแลกเปลี่ยน ด้านการเมืองของประเทศที่ไปลงทุนและ ด้านกฎเกณฑ์การเคลื่อนย้ายเงินทุนของประเทศที่ไปลงทุน ตามลำดับ ส่วนอุปสรรคสำคัญที่บริษัทผู้ตอบแบบสอบถามให้ความเห็น เช่น การขาดความรู้ความเข้าใจเรื่องภาษี สิทธิประโยชน์ของการไปลงทุนในประเทศ CLMV และกฎหมายที่เกี่ยวข้อง การขาดแคลนแรงงานที่ตรงตามความต้องการ การประสานงานกับภาครัฐของต่างประเทศและคุณภาพของโครงสร้างพื้นฐาน เป็นต้น
กระแสการเปิดเสรีทางการค้าและการลงทุนและการเข้าร่วมเป็นประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน(AEC) ที่กำลังจะมาถึงในปี 2015 รวมถึงปัจจัยอื่นๆ เช่น ต้นทุนการบริหารความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนทั้งในภาครัฐและเอกชนเพิ่มขึ้น อุตสาหกรรมที่พึ่งพาแรงงานเข้มข้นในไทยต้องเผชิญกับการขาดแคลนแรงงาน และค่าจ้างแรงงานที่สูงขึ้น ล้วนเป็นปัจจัยให้บริษัทไทยไปลงทุนในต่างประเทศโดยเฉพาะในกลุ่มประเทศเพื่อนบ้าน CLMV
จากผลการวิจัยเชิงธุรกิจที่ได้จากข้อมูลระดับบริษัท พบว่าการแสวงหาตลาดเป็นแรงจูงใจอันดับหนึ่งของการไปลงทุนในกลุ่มประเทศเพื่อนบ้านCLMV รองลงมาคือ ความสามารถในการแข่งขันของบริษัทไทยในตลาดต่างประเทศ และแรงจูงใจด้านแรงงาน ทั้งปริมาณแรงงานที่พอเพียงและค่าแรงงานถูก ชี้ให้เห็นว่าบริษัทที่มีศักยภาพในการแข่งขันกับต่างประเทศมีแนวโน้มตัดสินใจลงทุนในต่างประเทศมากขึ้นเพื่อให้เข้าถึงตลาดที่มีขนาดใหญ่ขึ้น และเตรียมความพร้อมเพื่อการเข้าสู่กลุ่มประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC) ในปี 2015
การศึกษามีนัยต่อยุทธศาสตร์การลงทุนของไทยในต่างประเทศที่มีเป้าหมายเพื่อสร้างเครือข่ายเชื่อมโยงเศรษฐกิจ (Connectivity) ภายในอนุภูมิภาคเพื่อการพัฒนาที่มีคุณภาพและยั่งยืนใน 3 ประเด็น คือ
1) ภาคเอกชนผู้ลงทุนในระดับบริษัทจะเป็นผู้กำหนดสาขาการลงทุนที่ดีที่สุด และภาครัฐควรเป็นพันธมิตรในการสร้างสภาพแวดล้อมทางกฎเกณฑ์ที่เกี่ยวข้องกับการลงทุนในต่างประเทศให้เหมาะสม
2) จากผลการสัมภาษณ์โดยตรงผู้ประกอบการ SMEs ต้องการให้ภาครัฐช่วยเหลือเป็นพี่เลี้ยงนำกลุ่ม SMEs ซึ่งเป็นฐานการผลิตสำคัญของประเทศและมีศักยภาพไปลงทุนต่างประเทศ เพื่อเพิ่มโอกาสและกระจายสาขาการลงทุนในต่างประเทศให้มีความหลากหลาย
3) ไทยควรเร่งลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานโดยเฉพาะระบบโลจิสติกส์ที่จะสนับสนุนการขนส่งคนและสินค้า เพื่อความเชื่อมโยงที่จะมีมากขึ้น รวมทั้งลงทุนด้านการศึกษาเพื่อพัฒนาแรงงานไทยให้มีทักษะและคุณภาพสูงให้สามารถแข่งขันได้ในภาวะที่ตลาดแรงงานจะเปิดเสรีมากขึ้นในอนาคตอันใกล้นี้
*(1) กลุ่มประเทศ CLMV หมายถึง Cambodia, Laos, Myanmar และ Vietnam
*(2) ผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (Gross Domestic Product หรือ GDP) คือ มูลค่าตลาดของสินค้าและ บริการขั้นสุดท้ายที่ถูกผลิตภายในประเทศในช่วงเวลาหนึ่งๆ นับรวมรายได้ในประเทศไทยทั้งหมดหรือรายได้ที่เกิดขึ้นในประเทศไทยทั้งหมด โดยไม่คำนึงว่าผู้ผลิตจะเป็นคนไทยหรือไม่ และไม่นับรวมส่วนของรายได้ของคนไทยที่ทำงานอยู่ในประเทศอื่นในช่วงเวลานั้น ขณะที่ ผลิตภัณฑ์มวลรวมประชาชาติ (Gross National product หรือ GNP) คือ มูลค่าสินค้าและบริการขั้นสุดท้ายที่ผลิตขึ้นโดยใช้ทรัพยากรที่คนของประเทศไทยเป็นเจ้าของ มีทั้งที่ผลิตในและนอกประเทศในช่วงระยะเวลาหนึ่ง
*(3) OECD Benchmark Definition of Foreign Direct Investment: Fourth Edition, Organisation for Economic Co-operation and Development (OECD, 2008) และ Dunning (1972) ได้ให้ความหมายของการลงทุนทางตรงจากต่างประเทศว่า การลงทุนในต่างประเทศขององค์กรธุรกิจ ที่เน้นการจัดการและควบคุมสินทรัพย์ทุน เทคโนโลยี การตลาดของธุรกิจนั้นๆ (สถาบันวิจัยและให้คำปรึกษาแห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, 2010)
*(4) Transition Economies คือ กลุ่มเศรษฐกิจที่เปลี่ยนผ่านจากระบบ สังคมนิยมคอมมิวนิสต์เป็นทุนนิยม ได้แก่ ดินแดนทางด้านตะวันออกเฉียงใต้ของทวีปยุโรป (South-East Europe) จำนวน 11 ประเทศคือ แอลเบเนีย บอสเนียและเฮอร์เซโกวีนา บัลแกเรีย โครเอเชีย กรีซ มาซิโดเนีย เซอร์เบีย มอนเตเนโกร คอซอวอ สโลเวเนีย และตุรกี (เฉพาะฝั่งยุโรป)และ กลุ่มประเทศเครือรัฐเอกราช (the Commonwealth of Independent States) เป็นองค์กรระหว่างประเทศก่อตั้ง เมื่อวันที่ 21 ธันวาคม 1991 ประเทศสมาชิก ประกอบด้วยประเทศที่ประกาศเอกราชจากสหภาพโซเวียต รวม 10 ประเทศ ได้แก่ อาร์เมเนีย อาเซอร์ไบจาน เบลารุส คาซัคสถาน คีร์กีซสถาน มอลโดวา รัสเซีย ทาจิกิสถาน ยูเครน และ อุซเบกิสถาน
*(5) ใช้แนวทางการแบ่งช่วงเวลา TDI ตามการศึกษาของ Kee Hwee Wee, Outward foreign direct investment by enterprises from Thailand, Transnational Corporations, Vol. 16, No. 1 (April 2007)
*(6) ข้อมูล Outflows of Thai Direct Investment Abroad โดยข้อมูล ปี 1996-2004 เป็นข้อมูลเฉพาะการลงทุนใน Equity securities ของภ ค Nonbank ส่ว นข้อมูลตั้งแต่ปี 2005 เป็นต้นมาประกอบด้วย equity securities, loans และ re-invested investment ของทั้งภาคธนาคารและภาค Nonbank
*(7) จากยุทธศาสตร์การสร้างความเชื่อมโยงกับประเทศในภูมิภาคเพื่อความมั่นคงทางเศรษฐกิจและสังคม, แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 11, 2012-2016, ราชกิจจานุเบกษา, 14 ธันวาคม 2011
*(8) อย่างไรก็ตาม ยังมีการลงทุนโดยตรงของไทยผ่านช่องทางอื่นจากที่ผู้ประกอบการไทยไปตั้งบริษัทลูกในประเทศที่เป็น Tax heaven เช่น หมู่เกาะเคย์แมน แล้วนำเงินไปลงทุนต่อในประเทศ CLMV
*(9) จำแนกขนาดธุรกิจตามจำนวนการจ้างงาน ถ้าบริษัทจ้างงานเกิน 200 คนถือเป็นบริษัทขนาดใหญ่ ถ้าจ้างงานระหว่าง 51-200 คนถือเป็นบริษัทขนาดกลาง และถ้าจ้างงานไม่เกิน 50 คนถือเป็นบริษัทขนาดเล็ก
*10) นายราเชนทร์ พจนสุนทร อธิบดีกรมส่งเสริมการส่งออก เปิดเผยว่า ขณะนี้มีสินค้าและบริการที่เป็นแบรนด์ของคนไทย ออกไปทำธุรกิจในต่างประเทศแล้ว 832 บริษัท ลงทุนในรูปแบบต่างๆ ทั้งด้านการผลิต หาวัตถุดิบ เปิดโรงงาน เปิดสำนักงาน หาตัวแทนขาย และขายแฟรนไชส์ ส่วนใหญ่เป็นการลงทุนในแถบเอเชีย ประเทศเพื่อนบ้าน ตะวันออกกลาง และยุโรปบางประเทศ (Classified Thai, Thailand’s Largest Business Center) http://www.classifiedthai.com/content.php?article=1268
กรอบแนวคิดที่อธิบายแรงจูงใจในอดีตที่ได้รับการอ้างอิงแพร่หลาย คือ OLI (Ownership, Location, and Internalization) paradigm ของ Dunning (1977) * 1/ และงานศึกษาด้านนี้ได้ถูกพัฒนาอย่างต่อเนื่องตามการเปลี่ยนแปลงของเศรษฐกิจโลก โครงสร้างเศรษฐกิจและอุตสาหกรรมของแต่ละประเทศ นโยบายของบริษัทข้ามชาติแต่ละแห่ง รวมถึงกระแสการพัฒนาการรวมตัวทางเศรษฐกิจและโลกาภิวัฒน์ งานศึกษาปัจจุบันแบ่งแรงจูงใจของการลงทุนในต่างประเทศ ได้เป็น 4 ด้านหลัก * 2/ (UN, 2003) คือ
1) เงื่อนไขปัจจัยการผลิต (Factor conditions) หมายถึงทรัพยากรมนุษย์ ทรัพยากรทางกายภาพและธรรมชาติ สภาพภูมิอากาศ ที่ตั้งทางภูมิศาสตร์ จำนวนแรงงานไร้ทักษะ และเงินทุนรวมถึงปัจจัยการผลิตที่ก้าวหน้า (Advanced factors) เช่น โครงสร้างพื้นฐานที่ทันสมัย (Modern infrastructure) จำนวนสถาบันการศึกษาขั้นสูง และแรงงานที่มีทักษะขั้นสูง (highly skilled labour) แม้ว่าแรงจูงใจแบบดั้งเดิมของ FDI คือความต้องการลดต้นทุนและแสวงหาแหล่งแรงงานราคาถูก อย่างไรก็ตาม แนวโน้มความต้องการแรงงานที่มีทักษะและมีคุณภาพก็มีส่วนสำคัญของการตัดสินใจลงทุนในหลายอุตสาหกรรม
2) เงื่อนไขปัจจัยความต้องการสินค้าและบริการ(Demand conditions) ตลาดของประเทศผู้ลงทุนที่มีมิติด้านนวัตกรรม และมีความสามารถในการแข่งขันสูงจะสร้างพลังให้บริษัทในประเทศผู้ลงทุนมีความสามารถในการเข้าถึงตลาดต่างประเทศได้มากกว่าคู่แข่งขัน ในขณะเดียวกัน ประเทศที่มีตลาดภายในประเทศขนาดใหญ่ก็จะเป็นปัจจัยดึงดูด FDI เข้ามาในประเทศ
3) ปัจจัยอุตสาหกรรมเชื่อมโยง (Related and supporting industries) ประเทศที่มีอุตสาหกรรมเชื่อมโยงอยู่มากจะดึงดูดให้บริษัทต่างประเทศที่ต้องพึ่งพาอุตสาหกรรมนั้นๆ มาลงทุนในประเทศนั้นมากขึ้น โดยเฉพาะอุตสาหกรรมบริการ (Service industries) และอุตสาหกรรมห่วงโซ่อุปทาน (Supplier industries)
4) ปัจจัยกลยุทธ์ของบริษัท โครงสร้างอุตสาหกรรม และคู่แข่งขัน (Firm strategy, structure and rivalry)ความสามารถในการแข่งขันในระดับประเทศซึ่งเป็นผลจากวัฒนธรรม การดำเนินธุรกิจที่มีลักษณะเฉพาะตัว (unique corporate culture) รวมถึงคู่แข่งทางธุรกิจในประเทศเป็นแรงกดดันให้บริษัทต้องพัฒนานวัตกรรมใหม่และหาโอกาสทางธุรกิจในต่างประเทศ
นอกจากนี้ นักลงทุนต่างชาติจะสนใจลงทุนในประเทศที่มีนโยบายเป็นมิตรกับการลงทุนจากต่างประเทศ มีบรรยากาศทางการเมืองที่มั่นคง มีกฎเกณฑ์และกฎหมายที่เอื้อต่อการลงทุนและบังคับใช้อย่างเท่าเทียมกัน และมีการเปิดเสรีทางการค้า รวมถึงการมีปัจจัยทางวัฒนธรรม (Cultural factors) ที่คล้ายคลึงกัน ทั้งด้านบรรทัดฐานทางสังคม (Social norms) ค่านิยม และภาษา
- 1/ OLI paradigm อธิบายการลงทุนในต่างประเทศของบริษัทข้ามชาติว่า เกิดจาก ปัจจัยด้านความได้เปรียบของความเป็นเจ้าของ (Ownership advantage) ในสิทธิบัตร (Patent) และหรือเครื่องหมายการค้า
Franco, Chiara, Francesco Rentocchini and Giuseppe Marzetti (2008), Why do Firms invest Abroad? An Analysis of the Motives Underlying Foreign Direct Investments, Discussion Paper No.17, Universita Degli Studi di Trento
John Andres (2006), FDI and Exports: the Case of the High Performing East Asian Economies, Centre of Excellence for Science and Innovation Studies (CESIS), The Royal Institute of Technology, Sweden, Electronic Working Paper Series Paper No. 57, January.
Kee Hwee Wee, (2007), Outward foreign direct investment by enterprises from Thailand, UNCTAD Transnational Corporations, Vol. 16, No. 1, pp. 89-113, April.
Masron Tajul Ariffin and Amirul Shah Md Shahbudin (2010), “Push Factors” of Outward FDI: Evidence from Malaysia and Thailand, Journal of Business & Policy Research Vol. 5. No. 1., pp. 54 — 68, July.
Nguyen Thi Tue Anh, Vu Xuan Nguyet Hong, Tran Toan Thang, Nguyen Manh Hai (2006), Research Report: The Impacts of Foreign Direct Investment on the Economic Growth in Vietnam, Central Institute for Economic Management (CIEM) and Swedish International Development Cooperation Agency (SIDA)
OECD (2008), OECD Benchmark Definition of Foreign Direct Investment Fourth Edition 2008
UN (2003), Foreign Direct Investment in Central Asian and Caucasian Economies: Politics and Issues, ESCAP Studies in Trade and investment No. 50
UNCTAD (2011), World Investment Report 2011
UNCTAD Database
การสำรวจธุรกิจไทยที่ไปลงทุนในต่างประเทศ โดยธนาคารแห่งประเทศไทย สำนักงานภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ระหว่างสิงหาคม — กันยายน 2554 ชโยดม สรรพศรี (รศ. ดร.) และ กรกรัณย์ ชีวะตระกุลพงษ์ (ดร.), (2012) รายงานความก้าวหน้าโครงการบทบาท ของเงินลงทุนทางตรงระหว่างประเทศจากญี่ปุ่นที่มีต่อการพัฒนาทางเศรษฐกิจในกลุ่มประเทศอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขงและผลกระทบต่อไทย เสนอต่อ สกว.
แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 11, 2012- 2016, ราชกิจจานุเบกษา, 14 ธันวาคม 2011 สถาบันวิจัยและให้คำปรึกษาแห่งมหาวิทยาลัย ธรรมศาสตร์
(2010), รายงานการศึกษาวิจัย เรื่องมาตรการส่งเสริม การลงทุนทางตรงจากต่างประเทศ (Foreign Direct Investment), สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา
บทความนี้สำเร็จลุล่วงได้ด้วยดีเพราะคำแนะนำและความช่วยเหลือจาก คุณปฤษันต์ จันทน์หอม คุณทิตนันทิ์ มัลลิกะมาส ความช่วยเหลือด้านข้อมูลการลงทุนโดยตรงของไทยในต่างประเทศ (TDI) จากฝ่ายสถิติและข้อสนเทศ (ฝศข.) จากคุณอังสุปาลี วัชรเกียรติ คุณอโนทัย พุทธารี และคุณกษมาศรีสัตยเสถียร ด้านการประมวลผลและจัดทำกราฟฟิกจากคุณดวงทิพย์ ศิริกาญจนารักษ์ สภน. ท้ายสุดสำหรับความอนุเคราะห์อย่างดียิ่งจากบริษัทไทยที่ไปลงทุนในต่างประเทศที่ให้ความเอื้อเฟื้อตอบแบบสอบถามและให้สัมภาษณ์โดยตรงสำหรับข้อมูล insights ที่เป็นประโยชน์ต่องานวิจัยชิ้นนี้ ผู้เขียนขอขอบพระคุณเป็นอย่างสูงมา ณ ที่นี้
Saovanee Chantapong
Chief Researcher Economic Research Department Monetary Policy Group SaovaneC@bot.or.th
Supat Dhanabodeepat
Senior Economist BOT, Northeastern Regional Office Supatta@bot.or.th
ที่มา: ธนาคารแห่งประเทศไทย