นางสุวัฒนา รักศิลธรรม
ผู้บริหารทีม ทีมเงินกองทุน
ฝ่ายนโยบายความเสี่ยง ธนาคารแห่งประเทศไทย
ทำไมคนแบงก์ชาติถึงชอบเล่าเรื่อง Basel 3 กัน หากท่านผู้อ่านได้ติดตามบทความในฐานเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ “ทำไมถึงต้องมี Basel 3” จนถึง “ถอดรหัสเงินกองทุนตาม Basel 3” คงจะจำกันได้ว่าวิกฤต ที่เกิดขึ้นในสหรัฐอเมริกาและยุโรป (Crisis) เป็นที่มาของการปรับปรุงหลักเกณฑ์ในการกำกับสถาบันการเงิน (สง.) ที่เราเรียกกันว่า Basel 3 และเพราะนอกจาก Basel 3 จะปรับปรุงเกณฑ์ในเรื่องเงินกองทุนและความเสี่ยงด้านสภาพคล่องเพื่อให้ สง. มีความแข็งแกร่งแล้ว ยังได้ออกเกณฑ์มาเพื่อดูแลความเสี่ยงต่อระบบ (Systemic risk) ด้วย แต่เรื่องนี้กลับมีการกล่าวถึงกันน้อย ดังนั้น ในครั้งนี้จีงขอมาเล่าเพิ่มเติมในเรื่องของ Basel 3 ที่มีผลในการดูแลความเสี่ยงต่อระบบ (Systemic risk) ให้ฟังกัน ซึ่งเป็นภาคต่อของบทความในครั้งก่อนๆ นะคะ (ท่านผู้อ่านสามารถดูบทความย้อนหลังได้จาก Website ธนาคารแห่งประเทศไทยค่ะ)
Systemic risk นั้นคืออะไร? และมีความสำคัญอย่างไร? หากทุกท่านยังจำเหตุการณ์ที่ Lehman Brothers วานิชธนกิจที่ใหญ่เป็นอันดับ 4 ของสหรัฐอเมริกาซึ่งล้มสลายลงเมื่อปี 2008 ได้ ก็จะเห็นว่าได้ส่งผลกระทบต่อคู่ค้าของ สง. แห่งนี้มากมาย ทำให้มีปัญหาขาดสภาพคล่องของระบบ สง. และเกิดการสูญเสียเงินลงทุนของผู้ลงทุนทั่วโลกกับ สง. แห่งนี้ ซึ่งส่งผลกระทบต่อตลาดเงินและตลาดทุนเป็นวงกว้าง โดยทำให้เกิดการชะลอการปล่อยสินเชื่อทั้งระบบ เนื่องจากไม่เชื่อมั่นในคุณภาพเครดิตของผู้กู้อีกต่อไป ส่งผลให้ผลิตภัณฑ์มวลรวมของประเทศ (Gross domestic product: GDP) ไม่ขยายตัวตามที่คาดไว้ ซึ่งมีผลอันเลวร้ายต่อเสถียรภาพของระบบการเงินและการเติบโตของระบบเศรษฐกิจอีกด้วย นี่ก็คือความเสี่ยงต่อระบบ (Systemic risk) นั่นเอง
สำหรับเกณฑ์ Basel 3 นั้น ได้เสนอมาตรการที่ช่วยลด Systemic risk ที่เกิดจากการที่ สง. ต่างๆ มีความเชื่อมโยงกันสูงจนทำให้ปัญหาลุกลามไปยังระบบการเงินและระบบเศรษฐกิจในวงกว้าง เสริมเพิ่มขึ้นมาจากเกณฑ์ที่ดูแลให้ สง. แต่ละแห่งมีความมั่นคงแข็งแรง เพราะบทเรียนจาก Crisis ที่ผ่านมา ทำให้รู้ว่าเกณฑ์ที่มีอยู่เดิมนั้นไม่เพียงพอ ควรคำนึงถึงความเชื่อมโยงกับวัฏจักรของเศรษฐกิจด้วย จึงได้เพิ่มและปรับปรุงเกณฑ์การดำรงเงินกองทุนของ สง. เพื่อให้สามารถต้านทานต่อภาวะวิกฤตและลดความรุนแรง ของวัฏจักรเศรษฐกิจด้วย ซึ่งเป็นที่มาของ “Capital Buffer” ประกอบด้วย 2 ส่วนหลัก คือ Capital conservation buffer และ Countercyclical buffer
สำหรับ Capital conservation buffer นั้นมีหลักการคล้ายกับการออมเงินหยอดกระปุก เพื่อสะสมเงินไว้เอาออกมาใช้ในยามยากนั่นเอง กล่าวคือ สง. จะต้องสะสมเงินกองทุนเพิ่มเติมเตรียมเผื่อไว้ในช่วงที่มีความพร้อม หากเศรษฐกิจแย่ลงก็สามารถใช้เงินกองทุนที่มีเผื่อไว้นี้รองรับความผันผวนของเศรษฐกิจได้ซึ่งมีกระบวนการดังนี้ เดิมเกณฑ์กำหนดให้ สง. ต้องมีอัตราส่วนเงินกองทุนต่อสินทรัพย์เสี่ยงขั้นต่ำ (Capital Adequacy Ratio: CAR) เท่ากับ 8% ซึ่งแปลง่าย ๆ ว่า สำหรับทุก ๆ สินทรัพย์เสี่ยง 100 บาทที่ สง. มี เช่น ลูกหนี้เงินให้สินเชื่อ สง.จะต้องมีเงินกองทุนรองรับอย่างน้อย 8 บาทนั้น ได้เปลี่ยนแปลงเป็น สง. ต้องมี CAR สะสมเพิ่มขึ้นอีก 2.5% สง.จึงต้องมีเงินกองทุนสะสมรวมเป็น 10.5 บาทแทน เพื่อให้มีเงินกองทุนเพียงพอรองรับความเสี่ยงที่เพิ่มขึ้นในช่วงวิกฤตได้ และรองรับที่จะสามารถปล่อยสินเชื่อได้อย่างต่อเนื่องอีกด้วย
ส่วน Countercyclical buffer ก็เป็นอีกเครื่องมือหนึ่งที่ใช้เพื่อลดความรุนแรงของวัฏจักรเศรษฐกิจโดยส่งเสริมให้ สง. ดำรงเงินกองทุนเพิ่มเติม เมื่อผู้กำกับดูแลเห็นว่ามีสัญญาณที่อาจนำไปสภูวะฟองสบู่ที่อาจส่งผลให้เกิด Crisis ตามมาในที่สุด หรือถ้าจะพูดง่าย ๆ ก็คล้ายกับการเหยียบเบรกให้เศรษฐกิจชะลอความร้อนแรงลงนั่นเอง ซึ่งวิธีการก็คือ หากจำเป็น ผู้กำกับดูแลจะให้ สง. เพิ่ม CAR ขึ้นอีก 0-2.5% แล้วแต่ว่าจะกำหนดให้เพิ่มเท่าใด ตามภาวะในช่วงเวลานั้น ดังนั้น ถ้าต้องดำรงเต็มที่ สง. จะมีเงินกองทุนรวมสูงสุดเป็น 13 บาท แนวคิดเรื่อง Countercyclicality นี้ ที่ผ่านมาแบงก์ชาติก็เคยใช้เครื่องมือบางอย่างเพื่อดูแลเรื่องนี้ เช่น การกำหนดอัตราส่วนเงินให้สินเชื่อต่อมูลค่าหลักประกันของสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัย (Loan to Value ratio) เป็นต้น ซึ่งการกำหนดเกณฑ์ในตอนนั้น ไม่มีสัญญาณบ่งชี้ว่ามีฟองสบู่เกิดขึ้น แต่มีเป้าหมายเพื่อป้องกัน ความเสี่ยงจากสินเชื่อดังกล่าวที่อาจเพิ่มสูงขึ้นในอนาคต (Preventive measure) และส่งเสริมให้ สง.ปล่อยสินเชื่ออย่างระมัดระวังขึ้น รวมทั้งลดการแข่งขันกันปล่อยสินเชื่อที่สูงเกินกว่าระดับที่เหมาะสมด้วยดังนั้น แบงก์ชาติในฐานะผู้กำกับดูแล สง. จึงต้องติดตามภาวะเศรษฐกิจอย่างใกล้ชิดและเลือกใช้เครื่องมือต่าง ๆ ให้เหมาะสมกับสถานการณ์เพื่อให้ได้ผลลัพธ์ตามที่มุ่งหวังด้วย
ในวันนี้ เราได้เล่าถึงเกณฑ์ Basel 3 ในด้านที่ช่วยดูแล Systemic risk โดยโยงกับระบบเศรษฐกิจมหภาคแล้ว แต่ยังมีมิติหนึ่งของ Systemic risk ที่โยงกับกลุ่ม สง. ที่มีความสำคัญต่อระบบการเงินของโลกที่เรียกย่อๆ ว่า G-SIBs (Global Systemically Important Banks) เป็นการเฉพาะด้วย และถ้ามีโอกาสในครั้งหน้าจะมาเล่าให้ฟังว่าคืออะไรนะค่ะ
บทความนี้เป็นข้อคิดเห็นส่วนบุคคล จึงไม่จำเป็นต้องสอดคล้องกับข้อคิดเห็นของธนาคารแห่งประเทศไทย เผยแพร่ในหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับวันที่ 26 — 28 กรกฎาคม 2555 ที่มา: ธนาคารแห่งประเทศไทย