ปาฐกถา
ดร.ประสาร ไตรรัตน์วรกุล
ผู้ว่าการ ธนาคารแห่งประเทศไทย
เรื่อง “GDP ปัจจุบันสะท้อนให้เห็นถึงความแข็งแกร่งของเศรษฐกิจไทยแค่ไหน”
ในงานสัมมนาของคณะกรรมาธิการการเงิน การคลัง การธนาคารและสถาบันการเงิน วุฒิสภา
ณ ห้องกมลทิพย์บอลรูม โรงแรมสยามซิตี้
วันอังคารที่ 31 กรกฎาคม 2555 เวลา 09.15—10.05 น.
เรียน ท่านประธานคณะกรรมาธิการการเงิน การคลัง การธนาคารและสถาบันการเงิน วุฒิสภา
ท่านประธานวุฒิสภา
ผู้แทนภาครัฐและภาคเอกชน
แขกผู้มีเกียรติและสื่อมวลชนทุกท่าน
ผมรู้สึกยินดีเป็นอย่างยิ่งที่ได้รับเชิญมาเป็นผู้กล่าวปาฐกถาในงานสัมมนาวันนี้ และถือเป็นโอกาสอันดีที่จะได้นำเสนอแนวคิดที่มีต่อการเติบโตของเศรษฐกิจไทยในปัจจุบัน รวมถึงแนวทางการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมไทยให้ก้าวไกลสู่อนาคต ผมเชื่อเป็นอย่างยิ่งว่าทุกท่านในที่นี้ ล้วนต้องการเห็นเศรษฐกิจของประเทศไทยเติบโตอย่างแข็งแกร่งและทัดเทียมนานาประเทศ เพื่อให้บรรลุเป้าหมายดังกล่าว ประเทศไทยควรวางแผนการพัฒนาประเทศโดยมองอย่างรอบด้าน ทั้งทางด้านเศรษฐกิจและสังคม ควบคู่ไปกับการร่วมมือกันของทุกภาคฝ่ายทั้งภาครัฐและภาคเอกชน
เมื่อมองหนทางพัฒนาเศรษฐกิจสู่ความแข็งแกร่ง ลำดับแรกเราควรทำความเข้าใจกับคำว่า“แข็งแกร่ง” ให้ถ่องแท้ คำๆ นี้อาจเปลี่ยนแปลงได้ตามบริบทที่อยู่รอบด้าน ยกตัวอย่างเช่น เด็กที่มีสุขภาพแข็งแรง จะเป็นเด็กที่มีร่างกายเติบโต สมส่วน มีกำลังวังชา มีพัฒนาการที่ดี และมีชีวิตชีวา แต่หากลองแทนที่คำว่าเด็กด้วยคำว่าเศรษฐกิจ เศรษฐกิจที่แข็งแรงหรือแข็งแกร่งนั้น ควรมีลักษณะอย่างไร คำตอบหนึ่งที่อยู่ในความคิดหลายๆ ท่านคงหนีไม่พ้นประโยคที่ว่า เศรษฐกิจที่แข็งแกร่งควรเป็นเศรษฐกิจที่เติบโต ยิ่งเศรษฐกิจเติบโตมากเท่าใดก็ยิ่งดีต่อประเทศมากเท่านั้น แนวคิดดังกล่าวถือเป็นเพียงส่วนหนึ่งของคำตอบ เพราะในความจริงยังต้องมีองค์ประกอบสำคัญอื่นๆ เข้ามาผสมผสานสร้างสรรค์เศรษฐกิจให้แข็งแกร่งขึ้นได้อย่างสมบูรณ์
ผมขอใช้โอกาสนี้เรียนว่ายังมีอีก 3 องค์ประกอบที่จะช่วยเสริมความแข็งแกร่งให้แก่เศรษฐกิจไทยได้นอกจากการเติบโตของเศรษฐกิจ โดยองค์ประกอบแรก คือ ความสมดุลหรือความมีเสถียรภาพ ส่วนองค์ประกอบที่สอง คือ การเติบโตอย่างมีพัฒนาการเพื่อนำไปสู่การเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันในระยะยาว และองค์ประกอบที่สามหรือองค์ประกอบสุดท้าย แต่ไม่ได้หมายความว่าจะสำคัญน้อยที่สุด คือ การเติบโตต้องมอบคุณภาพชีวิตที่ดีให้แก่ประชาชน ด้วยการกระจายโอกาสในการเข้าถึงปัจจัยพื้นฐานให้กับประชาชนทุกคนอย่างทั่วถึง
ตามที่ผมได้เกริ่นนำไปนั้น แม้การเติบโตของเศรษฐกิจจะเป็นเพียงส่วนหนึ่งของความแข็งแกร่ง แต่หากขาดการเติบโตแล้ว คงไม่สามารถบอกได้ว่าเศรษฐกิจมีความแข็งแกร่ง หากให้ลองนึกถึงเครื่องชี้ที่สะท้อนการเติบโตของเศรษฐกิจ เข้าใจว่าคำตอบหนึ่งที่ผุดขึ้นมาในความคิดแวบแรกของหลายๆ ท่านคงหนีไม่พ้นเครื่องชี้ทางเศรษฐกิจตัวสำคัญของประเทศที่เรียกกันว่า GDP หรือผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (Gross Domestic Product) ซึ่งที่ทุกท่านนึกถึง GDP ก่อน ก็เพราะว่า GDP เป็นเครื่องชี้ที่ใช้วัดกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นภายในประเทศที่ใช้กันแพร่หลายทั่วโลก โดยวัดจากผลรวมของมูลค่าสินค้าและบริการที่ผลิตได้ภายในประเทศไทยในรอบระยะเวลาหนึ่ง เช่น ในหนึ่งไตรมาสหรือหนึ่งป ซึ่งตัวเลข GDP นี้ นักเศรษฐศาสตร์มักใช้วิเคราะห์คู่กับเครื่องชี้อีกตัวหนึ่งที่มีชื่อคล้ายๆ กันคือ GNP หรือ Gross National Product ซึ่งเป็นเครื่องชี้ที่ใช้วัดผลรวมของมูลค่าสินค้าและบริการที่ผลิตได แต่นับเฉพาะที่ผลิตได้โดยคนไทยไม่ว่าจะอยู่ที่ใดในโลกก็ตาม เครื่องชหี้ ลังนี้จะช่วยบอกว่าเศรษฐกิจเติบโตได้จากการผลิตของคนที่มีสัญชาติไทยจริงๆ เป็นเท่าไร อย่างไรก็ดี ในประเทศไทยตัวเลข GDP และ GNP ไม่ได้แตกต่างกันมากนักทั้งในแง่ของระดับหรืออัตราการขยายตัว ในทางปฏิบัติจึงมักใช้ GDP ซึ่งมีความเป็นสากลมากกว่าเพียงตัวเดียว
จากข้อดีที่ GDP สามารถช่วยในการเปรียบเทียบการเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศต่างๆ ได้ ทำให? GDP มักเป็นตัวเลขที่สำคัญที่ถูกใช้ประกอบการตัดสินใจในการดำเนินธุรกิจของภาคเอกชน เนื่องจากGDP มีหลักการและวิธีการคำนวณที่มีมาตรฐานชัดเจนและถือปฏิบัติกันเป็นสากล ซึ่งจะเป็นประโยชน์ อย่างมากในสภาวการณ์ปัจจุบันที่ทุกประเทศต่างต้องเผชิญกับการแข่งขันในระดับสูง แต่ละประเทศล้วนต้องการยกระดับฐานะทางเศรษฐกิจของประเทศตนให้ดีขึ้น การเปรียบเทียบการเติบโตทางเศรษฐกิจจึงเป็นสิ่งสำคัญยิ่งที่ไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้ ตัวอย่างเช่น หากนักลงทุนต่างชาติกำลังตัดสินใจว่าจะลงทุนสร้างฐานการผลิตในประเทศใด ไทย อินโดนีเซีย หรือเวียดนาม ปัจจัยแรกที่จะเป็นจุดเด่นในสายตาของนักลงทุนเพื่อใช้ประกอบการพิจารณา นอกเหนือไปจากการดูถึงคุณภาพของแรงงาน หรือกฎระเบียบต่างๆ ในการลงทุน คงหนีไม่พ้น GDP เพราะ GDP สามารถเปรียบเทียบการเติบโตทางเศรษฐกิจและรายได้รวมหรือกำลังซื้อของประชากรในประเทศนั้นๆ ได?
นอกจากนี้ GDP ไม่ได้มีประโยชน์ต่อเพียงภาคเอกชนเท่านั้น GDP ยังเป็นประโยชน์ต่อการดำเนินนโยบายของภาครัฐเช่นกัน เนื่องจากองค์ประกอบของ GDP สามารถบอกลักษณะโครงสร้างทางเศรษฐกิจของประเทศได้ ยกตัวอย่างในกรณีของประเทศไทย ประมาณครึ่งหนึ่งของ GDP เป็นการใช้จ่ายของภาคครัวเรือนในขณะที่สัดส่วนของการลงทุนภาครัฐมีแนวโน้มลดลงจากในอดีต ดังนั้น GDP จึงเป็นเครื่องชี้ตัวหนึ่งที่ภาครัฐสามารถใช้ประกอบการวางนโยบายเพื่อพัฒนาโครงสร้างเศรษฐกิจของประเทศได้
การวิเคราะห์ภาพเหล่านี้จึงเป็นส่วนหนึ่งที่ช่วยให้ทั้งภาครัฐและเอกชนสามารถวิเคราะห์เศรษฐกิจได้ถูกต้อง ชัดเจน และสนับสนุนการตัดสินใจในการดำเนินนโยบาย รวมทั้งการดำเนินธุรกิจของเอกชนให้เกิดขึ้นได้อย่างรอบคอบและเหมาะสมยิ่งขึ้น
หลังจากทราบว่า GDP บอกอะไรเราแล้ว ผมขอนำทุกท่านมาสู่เรื่องการวัดความแข็งแกร่งของเศรษฐกิจไทย ซึ่งหากมองย้อนอดีตจะเห็นว่าเศรษฐกิจไทยส่วนใหญ่ขยายตัวได้ในเกณฑ์ที่ดี แตจ่ เชื่อได้อย่างไรว่าการเติบโตของเศรษฐกิจไทยจะเป็นการเติบโตที่แข็งแกร่งอย่างแท้จริง เพราะแม้แต่เด็กที่มีร่างกายเติบโต ก็ไม่อาจอนุมานได้ว่าจะมีร่างกายที่สมส่วน มีกำลัง มีพัฒนาการที่ดี และมีชีวิตชีวาเสมอไป เพราะร่างกายที่เติบโตสูงใหญ่ไม่อาจเพียงพอที่จะบอกว่าเด็กๆ มีสุขภาพที่แข็งแรงจากภายในอย่างแท้จริง ในมุมของเศรษฐกิจก็เช่นกัน GDP ที่ขยายตัวไม่ใช่เครื่องยืนยันว่าเศรษฐกิจจะแข็งแกร่งได้ ดังนั้น เราจึงควรหมั่นดูแลองค์ประกอบภายในของเศรษฐกิจที่ไม่ได้สะท้อนจากตัวเลข GDP โดยเฉพาะองค์ประกอบสำคัญทั้ง 3 ด้าน ตามที่กล่าวไปแล้วข้างต้น เพื่อส่งเสริมให้เศรษฐกิจแข็งแกร่งจากภายในสู่ภายนอกได้อย่างสมบูรณ์
องค์ประกอบเสริมความแข็งแกร่งของเศรษฐกิจ องค์ประกอบแรก คือ ความสมดุลของการเติบโตทางเศรษฐกิจ ซึ่งคำว่า สมดุล ในที่นหี้ มายถึงเศรษฐกิจที่เติบโตจะต้องไม่มาพร้อมกับแรงจูงใจให้มีการเก็งกำไร ไม่สร้างให้ธุรกิจหรือครัวเรือนก่อหนจี้ นเกินตัว หรือสถาบันการเงินปล่อยสินเชื่ออย่างหละหลวมนอกจากนี้ ยังหมายถึงทุกภาคส่วนของเศรษฐกิจจะต้องมีการเติบโตอย่างเข้มแข็งไปพร้อมๆ กัน ที่ต้องกล่าวเช่นนี้ก็เพราะว่าหากเกิดเหตุการณ์ที่ทำให้ภาคเศรษฐกิจหนึ่งถดถอย เราก็จะมีอีกภาคเศรษฐกิจหนึ่งที่สามารถประคับประคองให้เศรษฐกิจเดินหน้าต่อไปได้
การที่ต้องพูดถึงเรื่องความสมดุลก็เพราะว่าประเทศไทยได้เรียนรู้ประสบการณ์จากอดีตทั้งของตนเองและของต่างประเทศ ประสบการณ์แรก เชื่อว่าทุกท่านยังคงจำกันได้ เศรษฐกิจไทยในช่วงก่อนปี 2540 เติบโตได้ในระดับสูง แต่แล้วกลับติดลบและเข้าสู่ภาวะวิกฤตในปีถัดมา ส่วนหนึ่งเป็นเพราะว่าเศรษฐกิจเติบโตแบบขาดเสถียรภาพในบางสาขา โดยเฉพาะจากการเก็งกำไรในตลาดอสังหาริมทรัพย์ และความหละหลวมในการให้สินเชื่อของสถาบันการเงิน ซึ่งในขณะนั้นภาคอสังหาริมทรัพย์ถือเป็นภาคเศรษฐกิจที่มีจุดเด่นที่น่าดึงดูดต่อการลงทนุ เป็นอย่างมาก เพราะเป็นทรัพย์สินที่มีราคาสูงขึ้นต่อเนื่อง อสังหาริมทรัพย์จึงเป็นสินทรัพย์ประเภทเก็งกำไรที่คนนิยมไปขอกู้เงินเพื่อให้ได้ครอบครอง อสังหาริมทรัพย์จึงกลายเป็นภาคเศรษฐกิจที่สามารถนำพาวิกฤตเศรษฐกิจมาพร้อมๆ กับวิกฤตการเงินได้
เมื่อเวลาผ่านไป 1 ทศวรรษ ในช่วงปี 2551 วิกฤตเศรษฐกิจได้หวนกลับมาอีกครั้ง เหมือนเอาโครงเรื่องเก่ามาเล่าใหม่ แต่ครั้งนี้ดูจะละเอียดและลึกซึ้งกว่าเรื่องเดิม เนื่องจากเป็นประสบการณ์ของประเทศยักษ์ใหญ่ในโลกฝั่งตะวันตก ได้แก่ สหรัฐอเมริกา และประเทศในกลุ่มยูโร ที่เกิดจากการขาดเสถียรภาพทางเศรษฐกิจและการเงินในหลายด้านไม่ว่าจะเป็นในตลาดอสังหาริมทรัพย์ ด้านวินัยการคลัง รวมถึงสภาวะการปล่อยสินเชื่อและฐานะทางการเงินของธนาคารพาณิชย์ และวิกฤตดังกล่าวก็ได้ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทยโดยรวมค่อนข้างมากเช่นกัน โดยเฉพาะต่อภาคอุตสาหกรรมที่ผลิตเพื่อส่งออก แต่หากมองใหล้ เอียดจะพบว่า ภายใต้วิกฤตนั้น ยังมีภาคเกษตรที่สามารถเข้ามาช่วยบรรเทาผลกระทบดังกล่าวได้ในระดับหนึ่ง โดยเราเห็นคนที่ต้องออกจากงานภาคอุตสาหกรรมบางส่วน กลับไปถิ่นฐานบ้านเกิดและประกอบอาชีพเกษตรกรแทน นี่จึงเป็นตัวอย่างของกรณีที่ว่าทุกภาคส่วนของเศรษฐกิจต้องมีการเติบโตอย่างเข้มแข็งไปพร้อมๆ กันประสบการณ์ที่เล่าให้ฟังข้างต้นเป็นผลจากการดำเนินนโยบายที่คำนึงถึงแต่ตัวเลข GDP ในระดับสูงๆ ละเลยเสถียรภาพและความสมดุลของการเติบโต ซึ่งไม่ต่างจากเด็กที่กินอาหารขยะ ร่างกายเติบโต แต่หากปล่อยทิ้งไว้เป็นเวลานาน เมื่อโตเป็นผู้ใหญ่ ท้ายที่สุดอาจต้องผ่าตัดลดกระเพาะ ดังเช่นประเทศในกลุ่มยูโรที่ต้องรัดเข็มขัดทางการคลังในปัจจุบัน
จากอดีตสู่ปัจจุบัน จะเห็นว่าประเทศไทยและหลายประเทศในภูมิภาคของเราต่างเรียนรู้จากวิกฤตและพลิกมันกลับเป็นประสบการณ์ ด้วยการปรับตัวโดยลดการพึ่งพิงตลาดต่างประเทศมาสู่ตลาดในประเทศมากขึ้น จนสามารถช่วยกันพยุงเศรษฐกิจให้ผ่านมาได้ในระดับหนึ่ง และเช่นกันสำหรับสถานการณ์ในวันนี้ วันที่เศรษฐกิจของประเทศในกลุ่มยูโรยังมีปัญหาเชิงโครงสร้างที่ต้องใช้เวลาในการแก้ไข และยังไม่มีผู้ใดทราบว่าปัญหาจะจบลงเมื่อไรและอย่างไร สำหรับประเทศไทยคงต้องยึดกุศโลบายเดิม คือ พยายามสร้างความสมดุลและภูมิต้านทานให้แก่เศรษฐกิจ เพื่อช่วยบรรเทาผลกระทบจากภัยคุกคามจากทั้งภายในและภายนอก ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญยิ่งต่อการเติบโตที่แข็งแกร่งและยั่งยืน
สำหรับองค์ประกอบที่สอง คือ การมีพัฒนาการในการเติบโต หรือในอีกแง่หนึ่งหมายถึงเศรษฐกิจต้องมีการพัฒนาไปสู่การเพิ่มความสามารถในการแข่งขัน ซึ่งเป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่ไม่ได้สะท้อนอยู่ในอัตราการขยายตัวของ GDP เนื่องจาก GDP ที่เพิ่มขึ้น อาจมีที่มาจากการที่ประเทศมีการใช้จ่ายที่เน้นแต่การบริโภค ไม่ลงทุน ไม่พัฒนาโครงสร้างการผลิตและประสิทธิภาพการผลิตให้เหมาะสมทำให้ในที่สุดประเทศจะย่ำอยู่กับที่ และถูกประเทศอื่นแซงหน้าได้ เพราะสูญเสียความสามารถด้านการแข่งขันในระยะยาว
ดังนั้น หากจะให้ไทยยืนอยู่บนเวทีโลกได้อย่างยั่งยืน การพัฒนาประสิทธิภาพการผลิตจึงเป็นสิ่งสำคัญยิ่งเพราะจะนำไปสู่หนทางในการลดต้นทุนการผลิต พัฒนาคุณภาพและความหลากหลายของสินค้า รวมถึงเป็นการสร้างแรงจูงใจให้ผู้ผลิตทั้งคนไทยและต่างชาติสนใจมาลงทุนในไทยมากยิ่งขึ้น ซึ่งควรที่จะมีการพัฒนาควบคู่ไปกับการสนับสนุนให้ GDP ขยายตัว ทั้งนี้หนทางที่จะพัฒนาไปสู่จุดนั้นได้ ผมคิดว่าทั้งภาครัฐและเอกชนจะต้องเป็นผู้ที่มีบทบาทค่อนข้างมาก ไม่ว่าจะเป็นการเร่งพัฒนาสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐาน และการพัฒนาคุณภาพของระบบการศึกษาที่จะช่วยยกระดับคุณภาพของประชากรในประเทศ เพิ่มการวิจัยและพัฒนาให้เกิดเทคโนโลยีใหม่ๆ เพื่อใช้ในการผลิตมากขึ้นและสม่ำเสมอ ควบคู่ไปกับการพัฒนาทักษะของแรงงานให้มีความรู้และความชำนาญในงานได้อย่างจริงจัง
มาถึงจุดนี้ ทุกท่านอาจตั้งคำถามในใจว่าแล้วปัจจุบันประเทศไทยมีพัฒนาการทางเศรษฐกิจและประสิทธิภาพการผลิตอยู่ในระดับใดเมื่อเปรียบเทียบกับประเทศเพื่อนบ้าน เครื่องชี้พื้นฐานหนึ่งที่สามารถใช้พิจารณาได้ คือ GDP per capita หรือระดับรายได้ต่อคนที่บ่งบอกถึงความสามารถในการผลิตสินค้าและบริการที่ประชากรหนึ่งคนในประเทศผลิตได้ ซึ่งเครื่องชี้นี้อาจขัดแย้งกับระดับของมูลค่า GDP ที่มักจะถูกหยิบยกมาใช้เป็นตัวชี้วัดพัฒนาการของประเทศด้วยความเข้าใจที่คลาดเคลื่อน ตัวอย่างเช่น จากการจัดอันดับของ IMF ในปี 2011 ขนาดของเศรษฐกิจไทยที่วัดจากระดับมูลค่า GDP จะใหญ่เป็นอันดับที่ 31 ของโลกจาก 183 ประเทศแต่หากดูระดับพัฒนาการทางเศรษฐกิจซึ่งวัดได้จาก GDP per capita ตัวนี้แล้วอันดับของไทยจะตกไปอยู่ที่ 90 ของโลก
นอกจาก GDP per capita แล้วเรายังสามารถติดตามการจัดอันดับความสามารถในการแข่งขันของประเทศได้จากการสำรวจของสถาบันการจัดอันดับการแข่งขันที่ชื่อว่า IMD World Competitiveness และ The Global Competitiveness Report เพื่อบ่งชี้ความสามารถในการแข่งขันของประเทศ โดยผลการสำรวจล่าสุดที่เพิ่งประกาศไปเมื่อสิ้นเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา พบว่าจากทั้งหมด 59 ประเทศที่ทางสถาบันฯ ได้สำรวจอันดับความสามารถในการแข่งขันของไทยลดลงมาอยู่อันดับที่ 30 จากอันดับที่ 27 ในปีก่อน และมีอันดับแย่ลงในทุกด้านโดยหากดูเฉพาะด้านโครงสร้างพื้นฐานจะยิ่งเห็นชัดว่าเราแย่ลงต่อเนื่องติดต่อกันนับตั้งแต่ปี 2552 ทั้งๆ ที่อัตราการขยายตัวของ GDP ในช่วงปี 2553 ก็สามารถขยายตัวได้สูงถึง 7.8%
ดังนั้น การดูเพียงตัวเลข GDP เพียงอย่างเดียว อาจทำให้เข้าใจผิดคิดว่าประเทศมีเศรษฐกิจที่แข็งแกร่งมีการพัฒนาที่ดี มีการผลิตที่มีประสิทธิภาพ และมีความสามารถในการแข่งขัน ทั้งที่ในความเป็นจริงอัตราการขยายตัวของ GDP อาจจะยังไม่สามารถสะท้อนถึงพัฒนาการทางเศรษฐกิจของประเทศได้อย่างสมบูรณ์การพิจารณาว่าประเทศมีเศรษฐกิจที่แข็งแกร่งเพียงใด จึงต้องพิจารณาข้อมูลอื่นที่สะท้อนความสามารถในการแข่งขันของประเทศประกอบด้วย เพราะนั่นจะเป็นตัวที่กำหนดจุดยืนของประเทศว่าในระยะยาวแล้วไทยจะอยู่อันดับที่เท่าไรของโลก
นอกจากนี้ ในปี 2015 หรืออีกเพียง 2 ปีเศษข้างหน้า เราจะก้าวเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC) ไทยยิ่งต้องระมัดระวังเป็นอย่างมากที่จะไม่ให้ตกขบวนรถไฟ พร้อมทั้งต้องเพิ่มจุดแข็งให้แก่ประเทศควบคู่กันไปโดยเราอาจต้องเริ่มติดเครื่องพัฒนาศักยภาพของประเทศตั้งแต่วันนี้ โดยจะต้องไม่มองเพียงแต่ว่าเราแข่งกับตัวเองเท่านั้น แต่ควรมองประเทศอื่นอย่างรอบด้าน เพราะในระยะต่อไป การแข่งขันระหว่างประเทศจะมีความเข้มข้นมากขึ้น
สำหรับองค์ประกอบที่สามที่ผมได้กล่าวไปแล้วในช่วงแรกๆ คือ การเติบโตต้องมอบคุณภาพชีวิตที่ดีให้แก่ประชาชน ช่วยให้ประชาชนมีค่าใช้จ่ายในการครองชีพที่ไม่สูงจนเกินไป รวมถึงการกระจายโอกาสในการเข้าถึงปัจจัยพื้นฐานให้กับประชาชนทุกคนอย่างทั่วถึง ซึ่งอัตราการขยายตัวของ GDP ไม่สามารถสะท้อนข้อมูลเชิงคุณภาพเหล่านั้นได้ เพราะหากเศรษฐกิจเติบโต แต่ปล่อยให้เกิดความเหลื่อมล้ำทั้งทางเศรษฐกิจและสังคม ปล่อยให้ผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจส่วนใหญ่ตกอยู่กับคนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งเป็นเวลานาน ในที่สุดจะนำไปสู่ปัญหาทางสังคมและความไม่สงบทางการเมือง จนอาจส่งผลให้การเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศสะดุดลง
ดังนั้น เศรษฐกิจจะเติบโตแข็งแกร่งได้อย่างแท้จริง ความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจและสังคมควรที่จะลดลง ประชาชนต้องได้รับประโยชน์จากการเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างถ้วนหน้า พร้อมกับโอกาสในการเข้าถึงปัจจัยพื้นฐานทางสังคมอย่างเท่าเทียม ทั้งโอกาสการเข้าถึงการศึกษา การรักษาพยาบาล ความคุ้มครองทางกฎหมายและแหล่งเงินทุน โดยในส่วนของ ธปท. ได้เริ่มไปบ้างแล้วโดยมีการส่งเสริมสนับสนุนให้ประชาชนทุกระดับโดยเฉพาะผู้มีรายได้น้อยให้เข้าถึงแหล่งเงินทุนได้มากขึ้น รวมทั้งยังมีการสอดส่องดูแลไม่ให้ประชาชนตกเป็นเหยื่อของมิจฉาชีพทางการเงิน ด้วยการจัดตั้งศูนย์คุ้มครองผู้ใช้บริการทางการเงิน สายด่วน1213 เพื่อช่วยเหลือและคุ้มครองผู้บริโภค ส่งเสริมให้ผู้บริโภคมีความรู้ทางการเงินและได้รับความเป็นธรรมตามสิทธิที่พึงได้ นอกจากนี้ ธปท. ยังมีส่วนช่วยลดความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจและสังคมทางอ้อมจากการดูแลค่าครองชีพไม่ให้สูงจนเกินไป โดยการพยายามรักษาระดับราคาสินค้าไม่ใหผั้นผวนมากนัก หรือที่เราเรียกกันว่าการดูแลเงินเฟ้อ ที่กล่าวเช่นนี้เพราะเงินเฟ้อเป็นศัตรูร้ายกาจที่กัดกร่อนอำนาจซื้อของประชาชน เงินเฟ้อที่สูงจะเปรียบเสมือนการเก็บภาษีจากคนจนมากกว่าคนรวยเมื่อเทียบกับระดับรายได้ของแต่ละกลุ่ม ดังนั้น หากราคาสินค้าอยู่ในระดับที่เหมาะสมก็จะช่วยลดความเหลื่อมล้ำในด้านค่าครองชีพของประชาชนได้อีกทางหนึ่ง
อย่างไรก็ดี เมื่อพูดถึงความเหลื่อมล้ำทางสังคมและเศรษฐกิจ ประเด็นที่นิยมกล่าวกันในวงวิชาการคงหนีไม่พ้นเรื่องความเหลื่อมล้ำทางรายได้ และหนทางการแก้ไขที่มักจะถูกหยิบยกขึ้นมาคือการกระจายรายได้ที่เท่าเทียม แต่ผมขอใช้โอกาสนี้สร้างความเข้าใจว่า การกระจายรายได้ที่เท่าเทียมกันกับโอกาสในการเข้าถึงปัจจัยพื้นฐานทางสังคมอย่างทั่วถึงและเท่าเทียมนั้นแตกต่างกันอย่างไร โดย “โอกาสในการเข้าถึงปัจจัยพื้นฐานทางสังคมอย่างทั่วถึงและเท่าเทียมกัน”จะมีผลต่อการพัฒนาเศรษฐกิจที่ยั่งยืนกว่า “การกระจายรายได้ที่เท่าเทียมกัน” เนื่องจากการเข้าถึงปัจจัยพื้นฐานทางสังคมจะช่วยเพิ่มศักยภาพของทุนมนุษย์ และลดปัญหาทางสังคม ทำให้ประชาชนมีความกินดีอยู่ดี สามารถเก็บเกี่ยวผลประโยชน์จากการเติบโตของเศรษฐกิจได้อย่างทั่วถึงในแต่ละก้าวของการเติบโตของประเทศ โดยไม่ได้ก่อให้เกิดแรงจูงใจที่จะลดทอนประสิทธิภาพลง ซึ่งจะแตกต่างจากแนวคิดของ “การกระจายรายได้ที่เท่าเทียมกัน” ที่อาจสร้างแรงจูงใจให้เกิดการลดทอนประสิทธิภาพลง เพราะหากทุกคนทราบว่าไม่ว่าจะทำงานหรือไม่ทำงาน จะได้รับรายได้ที่เท่ากัน สุดท้ายจะไม่เหลือใครที่อยากทำงานหรือหากต้องทำก็จะทำแบบไม่มีประสิทธิภาพนั่น เอง
องค์ประกอบสุดท้ายจึงมีความสำคัญเป็นอย่างยิ่ง ประชาชนของเราจะต้องมีความกินอยู่ที่ดี จากการลดความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจและสังคม โดยให้ทุกคนมีโอกาสในการเข้าถึงปัจจัยพื้นฐานทางสังคมและเก็บเกี่ยวผลประโยชน์จากการเติบโตของเศรษฐกิจได้อย่างทั่วถึงและเท่าเทียม เพื่อให้สิ่งนี้เป็นแรงเสริมให้เศรษฐกิจไทยเติบโตอย่างแข็งแกร่งและยั่งยืน พร้อมยืนหยัดอยู่บนเวทีโลกได้อย่างมั่นคง
จากที่ผมได้กล่าวไปทั้งหมดนั้น คงจะพอทำให้ทุกท่านเข้าใจได้ว่า สิ่งที่ GDP ชี้วัดไม่ใช่ความแข็งแกร่ง แต่เป็นเพียงองค์ประกอบหนึ่งเท่านั้น เพราะนอกจากการเติบโตทางเศรษฐกิจแล้ว จำเป็นต้องมีองค์ประกอบที่สำคัญอีก 3 องค์ประกอบ ได้แก่ ความสมดุลของการเติบโต ความมีประสิทธิภาพในการผลิตเพื่อยกระดับความสามารถในการแข่งขัน และมีการกระจายโอกาสให้ประชาชนอย่างทั่วถึงและเท่าเทียมกัน ซึ่งรวมถึงการมีอัตราเงินเฟ้อที่ต่ำเพื่อรักษาอำนาจซื้อและมูลค่าสินทรัพย์ของประชาชนฐานราก และเมื่อรวม 3 องค์ประกอบนี้กับ GDP ที่สามารถเติบโตได้อย่างต่อเนื่องก็จะกลายเป็น 4 องค์ประกอบที่สำคัญที่จะช่วยให้เศรษฐกิจเติบโตและแข็งแกร่งได้อย่างแท้จริง โดยองค์ประกอบที่กล่าวมาข้างต้นนั้นล้วนมีความสำคัญต่อเศรษฐกิจไทยไม่ยิ่งหย่อนไปกว่ากัน ซึ่งในฐานะผู้กำหนดนโยบาย ไม่ว่าผมหรือท่านผู้มีเกียรติทุกท่าน ก็ล้วนแต่มีส่วนร่วมในการกำหนดทิศทางนโยบายของประเทศ พวกเราจึงอยู่ในฐานะที่จะร่วมกันสร้างความแข็งแกร่งให้กับเศรษฐกิจไทย โดยเฉพาะในยามที่เศรษฐกิจไทยต้องเผชิญมรสุมอย่างเช่นเวลานี้
สุดท้ายนี้ผมอยากจะขอฝากให้ทุกท่านช่วยกันกลับไปคิดถึงหนทางที่เราจะยื่นมือมาประสานกันโดยเริ่มตั้งแต่วันนี้ เพื่อร่วมกันสร้างรากฐานและแนวทางที่จะนำเศรษฐกิจไทยไปสู่การเติบโตอย่างมีเสถียรภาพและยั่งยืนนำมาซึ่งความกินดีอยู่ดีของประชาชน และช่วยให้ประเทศไทยมีเศรษฐกิจที่แข็งแกร่งจากภายในสู่ภายนอกอย่างสมบูรณ์ เพื่อให้ไทยสามารถยืนหยัดทัดเทียมนานาประเทศบนเวทีโลกได้อย่างภาคภูมิ
และท้ายที่สุด ผมขออัญเชิญพระบรมราโชวาทของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ที่พระราชทานในพิธีพระราชทานปริญญาบัตรของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยเมื่อวนั ที่ 10 กรกฎาคม 2513 ความตอนหนึ่งว่า “ความเจริญของประเทศชาติเป็นความเจริญส่วนรวม ซึ่งเกิดจากผลของการกระทำของคนทั้งชาติ ถือได้ว่าทุกคนแบ่งหน้าที่กันทำประโยชน์ให้แก่ชาติ ตามความถนัดและความสามารถ และเกื้อกูลกันและกัน ไม่มีผู้ใดจะอยู่ได้และทำงานให้แก่ประเทศชาติได้โดยลำพังตนเอง”
ขอบคุณครับ
ที่มา: ธนาคารแห่งประเทศไทย