บทความ: Foreign Affiliates Statistics (FATS)

ข่าวเศรษฐกิจ Friday August 3, 2012 10:28 —ธนาคารแห่งประเทศไทย

บทคัดย่อ

กระแสโลกาภิวัตน์ส่งผลให้การเคลื่อนย้ายเงินทุนเป็นไปอย่างเสรีมากขึ้น หนึ่งในประเภทการลงทุนที่สำคัญซึ่งเป็นที่จับตามองของนักวิเคราะห์และผู้กำหนดนโยบายคือการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ Foreign Direct Investment (FDI) ประเทศไทยเป็นประเทศหนึ่งที่มี FDI เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องในหลายทศวรรษที่ผ่านมา จากโครงสร้างพื้นฐานทางเศรษฐกิจของไทยที่ยังคงเอื้อให้มีเงินลงทุนจากต่างชาติไหลเข้าสู่ประเทศ ตลอดจนมาตรการและสิทธิประโยชน์ต่างๆ เพื่อส่งเสริมการลงทุน FDI มีบทบาทและนัยสำคัญต่อการพัฒนาเศรษฐกิจ การส่งออก การจ้างงาน ฯลฯ ดังนั้นหน่วยงานต่างๆ จึงให้ความสนใจกับข้อมูลการลงทุนโดยตรงอย่างมาก เพื่อนำข้อมูลมาใช้วิเคราะห์และติดตามผลกระทบต่อเศรษฐกิจทั้งในระดับมหภาคและจุลภาค รวมทั้งเพื่อใช้ในการวางกรอบนโยบายทางเศรษฐกิจ และนโยบายส่งเสริมการลงทุนได้อย่างเหมาะสม

ปัจจุบันได้มีการใช้ข้อมูล FDI อย่างกว้างขวางในการวิเคราะห์แนวโน้มการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ แต่ข้อมูลดังกล่าวเป็นข้อมูลในเชิงกว้าง ที่แสดงให้เห็นมูลค่าของการลงทุนเท่านั้น แต่ยังไม่สะท้อนหรือชี้วัดได้ชัดเจนว่า FDI เหล่านี้ก่อให้เกิดผลดี-ผลเสียต่อเศรษฐกิจไทยอย่างไร ดังนั้น ธปท. ในฐานะเป็นผู้เก็บรวบรวมและใช้ข้อมูลหลักทางเศรษฐกิจจึงได้ริเริ่มจัดทำข้อมูล Foreign Affiliates Statistics (FATS) ขึ้น ซึ่งข้อมูลตามกรอบดังกล่าว แสดงการเชื่อมโยงระหว่างบทบาทของบรรษัทข้ามชาติ (Multinational Enterprises : MNE) กับผลที่บริษัทเหล่านี้มีต่อเศรษฐกิจไทยในหลากหลายมิติ โดยวัดจากตัวแปรต่างๆ อาทิการผลิต การจ้างงาน มูลค่าเพิ่ม ฯลฯ ซึ่งจะช่วยให้สามารถวิเคราะห์ผลกระทบของ FDI ได้ลึกยิ่งขึ้น

1. บทนำ

การลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศนับว่าเป็นปัจจัยสำคัญที่มีบทบาทต่อการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ เพราะนอกจากจะส่งผลทางตรงให้การลงทุนของประเทศเพิ่มขึ้นแล้ว ยังมีผลทางอ้อมคือช่วยให้กิจกรรมต่อเนื่องทางเศรษฐกิจอื่นๆ เพิ่มขึ้น (Induced investment) ซึ่งช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจให้ขยายตัวต่อเนื่อง ก่อให้เกิดการจ้างงานและรายได้ รวมถึงการยกระดับการพัฒนาเทคโนโลยีต่างๆ ของประเทศ ดังนั้น ประเทศกำลังพัฒนาจึงให้ความสำคัญกับการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศมากเพิ่มขึ้น โดยแต่ละประเทศมีการออกนโยบายและมาตรการต่างๆ พร้อมทั้งเร่งพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานทางเศรฐกิจ (Basic infrastructure) ฝีมือแรงงาน และดูแลต้นทุนการผลิตเพื่อดึงดูดนักลงทุนจากต่างประเทศให้เข้ามาลงทุนมากขึ้น สำหรับประเทศไทยนั้นได้พึ่งพาการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศเป็นตัวขับเคลื่อนเศรษฐกิจเช่นกัน ดังจะเห็นได้จากการจัดตั้งสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) ในปี 2515 (เดิมคือสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุนเพื่อกิจการอุตสาหกรรม ซึ่งก่อตั้งในปี 2509) เพื่อช่วยเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันและอำนวยความสะดวกด้านการลงทุน ให้บริการสนับสนุนธุรกิจ รวมทั้งจัดทำและดำเนินแผนยุทธศาสตร์ส่งเสริมและชักจูงการลงทุนทั่วโลก

จากความสำคัญของการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (Foreign Direct Investment: FDI) หน่วยงานต่างๆ จึงให้ความสนใจต่อการจัดเก็บข้อมูล FDI เพื่อนำมาวิเคราะห์ความเชื่อมโยงของผลกระทบต่อเศรษฐกิจ ปัจจุบันข้อมูล FDI ที่ประเทศไทยจัดเก็บ ครอบคลุมเฉพาะมูลค่าเงินลงทุน ว่าในแต่ละช่วงมีปริมาณการลงทุนมากน้อยเพียงใด และมียอดคงค้างการลงทุนนับถึงปัจจุบันเท่าใดเท่านั้น ซึ่งข้อมูลลักษณะนี้แม้สะท้อนให้เห็นแนวโน้มการลงทุน แต่ยังไม่เพียงพอสำหรับการวิเคราะห์ถึงนัยของการลงทุนที่มีต่อภาคเศรษฐกิจต่างๆ ดังนั้น ในฐานะที่ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เป็นทั้งผู้จัดเก็บข้อมูลเศรษฐกิจที่สำคัญ และเป็นผู้ใช้ข้อมูลเพื่อประเมินและกำหนดนโยบายเศรษฐกิจด้วย จึงมีแนวคิดที่จะขยายขอบเขตการจัดทำสถิติเกี่ยวกับ FDI โดยเริ่มจัดทำข้อมูล Foreign Affiliates Statistics (FATS) เพื่อให้เห็นถึงความสัมพันธ์ของการดำเนินงานและผลกระทบของบริษัทที่มีต่างชาติร่วมลงทุนหรือเป็นเจ้าของ ต่อการจ้างงาน การผลิต และภาคเศรษฐกิจอื่นๆ อย่างไรก็ตาม ขอบเขตของข้อมูลที่กว้างขึ้นทำให้ฐานข้อมูลที่มีอยู่ในปัจจุบันไม่เพียงพอ จึงต้องมีการประสานความร่วมมือกับหน่วยงานต่างๆ เพื่อใช้ประโยชน์จากข้อมูลที่หน่วยงานต่างๆ จัดเก็บให้มีประสิทธิภาพมากที่สุด ข้อมูล FATS นอกจากจะเป็นประโยชน์ในการวิเคราะห์เชิงลึกเกี่ยวกับ FDI ช่วยประเมินและเป็นข้อมูลสนับสนุนการวางกรอบนโยบายส่งเสริมการลงทุนแล้วFATS ยังเป็นประโยชน์ต่อองค์กรระดับประเทศอย่างเช่น สำนักเลขาธิการอาเซียน (ASEAN secretariat) ในการติดตามการลงทุนและผลกระทบของการลงทุนของประเทศในภูมิภาค รวมทั้งการเจรจาทางการค้าและการลงทุน และการติดตามผลระหว่างประเทศสมาชิกตามกรอบ GATS (General Agreement Trade in Services)

บทความนี้จะนำเสนอแนวคิดในการจัดทำข้อมูล FATS ตามคำแนะนำของคู่มือที่เป็นมาตรฐานสากลซึ่งชี้ให้เห็นถึงความแตกต่างระหว่าง FATS กับ FDI อีกทั้งความสำคัญของการจัดทำ FATS และแนวทางในการจัดทำรวมถึงแสดงผลการจัดทำข้อมูล Inward FATS เบื้องต้นของประเทศไทยสำหรับปี 2549 - 2552 โดยจำแนกทั้งตามประเทศของผู้ลงทุนและตามประเภทของธุรกิจ นอกจากนี้ยังนำเสนอข้อจำกัดในการจัดทำข้อมูล FATS จากแหล่งข้อมูลที่มีอยู่ ซึ่งจะต้องปรับปรุงแก้ไขและพัฒนาต่อไปเพื่อความสมบูรณ์ของข้อมูลในอนาคต

2. ข้อมูล Foreign Affiliates Statistics (FATS)
2.1 ความสัมพันธ์ระหว่าง FDI และ FATS

FDI หมายถึง ธุรกรรมการลงทุนที่นักลงทุนที่มีถิ่นฐานในต่างประเทศมีต่อธุรกิจที่มีถิ่นฐานในประเทศ โดยเงินลงทุนดังกล่าวเป็นเงินลงทุนในทุนเรือนหุ้นที่มีสิทธิร่วมในการบริหารกิจการตั้งแต่ร้อยละ 10 ขึ้นไป และเงินจากการกู้ยืมระหว่างบริษัทในเครือ รวมไปถึงเงินจากกำไรสะสมที่นำกลับมาลงทุนใหม่ (reinvested earnings) ในขณะที่FATS เปรียบเสมือนบัญชีบริวารของ FDI ที่จำกัดขอบเขตเฉพาะบริษัทที่นักลงทุนต่างชาติถือหุ้นเกินร้อยละ 50 เท่านั้น ซึ่งข้อมูลทั้งสองส่วนนี้เป็นสถิติที่ใช้ประเมินกิจกรรมที่เกิดขึ้นจากการลงทุนโดยตรงซึ่งถือเป็นการลงทุนระยะยาวที่นักลงทุนหวังผลตอบแทนที่ยั่งยืน

ข้อมูล FDI แสดงให้เห็นมูลค่าของการลงทุนจำแนกตามประเทศของผู้ลงทุน/ผู้รับการลงทุนและประเภทธุรกิจ*(1) ในขณะที่ FATS เป็นตัววัดขนาดและสะท้อนให้เห็นว่า FDI ที่เข้ามานั้นก่อให้เกิดประโยชน์ต่อประเทศผู้รับการลงทุนในมิติของการผลิต การกระตุ้นการส่งออก การจ้างงาน การถ่ายทอดเทคโนโลยี ฯลฯ อย่างไรบ้าง ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดของขนาดของผลกระทบจากการเข้ามาลงทุนโดยตรงจากต่างชาติที่สะท้อนผ่านตัวแปรมูลค่าการส่งออก-นำเข้าของ FATS ซึ่งถือว่าเป็นสัดส่วนที่สูงถึงร้อยละ 41 และร้อยละ 39 ตามลำดับ เมื่อเทียบกับมูลค่าการส่งออก-นำเข้าของทั้งประเทศ ข้อมูลดังกล่าวชี้ให้เห็นถึงความสำคัญของกิจกรรมการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศที่กระทบต่อภาวะการส่งออก-นำเข้าของประเทศ นอกจากนี้ยังสามารถวิเคราะห์ในเชิงลึกถึงสาเหตุการเปลี่ยนแปลงของตัวเลขดังกล่าวว่ามาจากอุตสาหกรรมใดหรือเป็นการลงทุนจากประเทศใดเป็นสำคัญ ข้อมูล FATS จึงเป็นข้อมูลที่ผู้ใช้เริ่มให้ความสำคัญมากขึ้นสำหรับการเจรจาการค้าระหว่างประเทศและการลงทุน โดยเฉพาะหลังจากที่ GATS ซึ่งเป็นข้อตกลงระหว่างประเทศสมาชิกองค์การการค้าโลกว่าด้วยการค้าบริการที่มีผลบังคับใช้ในปี 2538 เนื่องจาก FATS เป็นข้อมูลทางสถิติที่เกี่ยวข้องกับรูปแบบการจัดตั้งธุรกิจเพื่อให้บริการ*(2) กล่าวคือเป็นการจัดตั้งบริษัทในประเทศผู้รับการลงทุนเพื่อเป็นตัวแทนในการขายสินค้าและให้บริการ FATS จึงเปรียบเสมือนบัญชีบริวารของข้อมูลการลงทุนโดยตรงเพียงแต่จำกัดขอบเขตเฉพาะบริษัทที่นักลงทุนต่างชาติถือหุ้นมากกว่าร้อยละ 50 หรือมีสิทธิในการออกเสียงรวมถึงมีอำนาจในการควบคุมกิจการเท่านั้น ข้อมูลนี้จึงเป็นประโยชน์อย่างยิ่งสำหรับการประเมินประสิทธิผลของนโยบายการส่งเสริมการลงทุน การประเมินความพร้อม ผลได้และผลเสียในการเจรจาเปิดเสรีการค้า/การลงทุน รวมทั้งการวิเคราะห์การส่งผ่านความเสยี่ งในกรณีเกิดวิกฤตการณ์ทางเศรษฐกิจจากประเทศผู้ลงทุนสู่ประเทศผู้รับทุน*(3)

ข้อมูล FATS แบ่งออกเป็น 2 ด้านคือ Inward FATS ซึ่งเป็นข้อมูลของบริษัทในเครือที่มีบริษัทแม่อยู่ในต่างประเทศและ Outward FATS ซึ่งเป็นข้อมูลของบริษัทแม่ในประเทศที่ไปลงทุนในบริษัทในเครือในต่างประเทศ

แม้ว่าจำนวนบริษัทตามนิยาม FATS จะเป็นเพียงส่วนหนึ่งของจำนวนบริษัททั้งหมดที่ได้รับ FDI แต่ตัวแปรที่จัดเก็บมีความแตกต่างกัน โดยสถิติ FDI เป็นการวัดปริมาณธุรกรรมและยอดคงค้างในการลงทุนที่นักลงทุนต่างชาติมีต่อบริษัทในเครือในประเทศผู้รับการลงทุน ขณะที่ FATS เป็นการวัดขนาดกิจกรรมทางเศรษฐกิจของบริษัทในเครือเอง ประกอบด้วยตัวแปรพื้นฐานที่สำคัญ ได้แก่ ยอดขาย มูลค่าการส่งออกและนำเข้า จำนวนบริษัทมูลค่าเพิ่ม ตัวเลขการจ้างงาน สินทรัพย์ ค่าจ้างแรงงาน และภาษีจากรายได้ เป็นต้น โดยตัวแปรดังกล่าวสามารถจำแนกได้ตามประเภทธุรกิจและประเทศผู้ลงทุน/ผู้รับการลงทุน ดังนั้น จะเห็นได้ว่าข้อมูล FATS นั้น เป็นการเชื่อมโยงภาพระหว่างเครื่องชี้เศรษฐกิจภาคต่างประเทศ เข้ากับตัวแปรในเชิงภาคเศรษฐกิจจริง จึงช่วยให้การวิเคราะห์สามารถลงไปในรายละเอียดที่กว้างและลึกยิ่งขึ้น ดังนี้

ด้านการจ้างงาน : การเข้ามาลงทุนเพื่อผลิตสินค้าและบริการย่อมส่งผลต่อความต้องการแรงงานในประเทศที่เพิ่มสูงขึ้น ข้อมูล FATS จะแสดงให้เห็นถึงผลกระทบของการลงทุนที่มีต่อการจ้างงานว่า บริษัทที่ต่างชาติเป็นผู้ลงทุนรายใหญ่นั้น ก่อให้เกิดการจ้างงานมากน้อยเพียงใดในแต่ละภาคการผลิต มีการกระจายตัวหรือเน้นหนักในภาคการผลิตใดหรือไม่ ซึ่งข้อมูลเหล่านี้จะช่วยให้สามารถประเมินขนาดผลกระทบได้ชัดเจนยิ่งขึ้นกรณีที่เกิดวิกฤตเศรษฐกิจหรือมีการเปลี่ยนนโยบายของประเทศผู้ลงทุน อันอาจส่งผลต่อนโยบายการลงทุนของบริษัทแม่ในต่างประเทศที่มีต่อบริษัทในเครือในประเทศผู้รับการลงทุน เป็นต้น

ด้านการผลิต : การเข้ามาลงทุนโดยตรงจากต่างชาติก่อให้เกิดการผลิตผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ รวมถึงกระบวนการผลิตที่ทันสมัย มีการนำเทคโนโลยีเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งในการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต ข้อมูล FATS สามารถแสดงให้เห็นถึงนัยของการลงทุนจากแต่ละประเทศว่ามีผลต่อภาคการผลิตของประเทศผู้รับการลงทุนอย่างไร ทั้งในมิติของมูลค่ายอดขาย สัดส่วนของยอดขายที่ใช้ในประเทศและส่งออก และมูลค่าการนำเข้าวัตถุดิบเพื่อใช้ในการผลิตมูลค่าเพิ่มที่สร้างขึ้นในประเทศผู้รับการลงทุน งบประมาณที่บริษัทเหล่านี้ลงทุนในงานวิจัยและพัฒนา งบประมาณในการพัฒนาบุคลากร เป็นต้น

2.2 ขอบเขตของข้อมูล FATS

การจัดทำข้อมูล FATS ของธปท. ยึดตามมาตรฐานสากลทางสถิติจาก Manual on International Trade in Services 2010 (MSITS 2010) ซึ่งหลักเกณฑ์ใน MSITS 2010 มีความสอดคล้องกับคู่มือการจัดทำสถิติสากลอื่นๆ ได้แก่ คู่มือบัญชีประชาชาติ (SNA) คู่มือการจัดทำสถิติดุลการชำระเงิน (Balance of Payments Statistics Manual) OECD Benchmark Definition of FDI และ OECD handbook on globalization นอกจากนี้ยังอ้างอิงเกณฑ์ในการพิจารณาการลงทุนจากต่างประเทศ (FDI) ภายใต้คู่มือ BPM 6 และ OECD Benchmark Definition of FDI, 4th Edition (BD4) โดยได้จำแนกเป็น 2 ส่วนได้แก่

  • Inward FATS : ครอบคลุมกิจกรรมของบริษัทในเครือที่ตั้งอยู่ในประเทศและถือหุ้นโดยนักลงทุนที่มีถิ่นอาศัย
อยู่ในต่างประเทศมากกว่าร้อยละ 50
  • Outward FATS : ครอบคลุมกิจกรรมของบริษัทที่มีบริษัทแม่อยู่ในประเทศแต่ไปลงทุนในบริษัทในเครือในต่างประเทศและถือหุ้นเกินร้อยละ 50

ในเบื้องต้น ธปท. ได้จัดทำข้อมูล Inward FATS เป็นรายปี เนื่องจากแหล่งข้อมูลที่นำมาใช้มาจากหลายแหล่งซึ่งส่วนใหญ่จัดเก็บเป็นรายปี และโดยทั่วไปแล้วตัวแปร FATS จะไม่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วในช่วงระยะเวลาสั้นๆ ดังนั้น ข้อมูลเป็นรายปียังคงเพียงพอต่อการใช้งานตามคู่มือ MSITS 2010 ข้อมูลตัวแปร FATS พื้นฐานประกอบด้วย 6 ตัวแปรหลักและตัวแปรรองเพิ่มเติมเพื่อความสมบูรณ์ของข้อมูล ดังนี้

1. ตัวแปร FATS พื้นฐาน (Basic FATS variables)

  • ปริมาณยอดขาย (Value of Sales, Turnover or Output) : รายได้จากการซื้อขายสินค้าและบริการโดยเป็นรายได้จากการดำเนินงาน หักด้วยค่าใช้จ่ายอื่นๆ ยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่ม
  • ตัวเลขการจ้างงาน (Number of person employed) : จำนวนของพนักงานที่อยู่ในระบบการจ่ายเงินเดือนของบริษัท FATS ยกเว้น บุคคลที่ว่างเว้นจากการทำงานโดยไม่ได้ระบุระยะเวลาที่แน่ชัด
  • มูลค่าเพิ่ม (Value added) : มูลค่าเพิ่มที่เกิดจากกิจกรรมการผลิต คำนวณจากส่วนต่างระหว่างมูลค่าของผลผลิต (Gross output) หักด้วย ค่าใช้จ่ายขั้นกลาง (Intermediate cost) หรือกล่าวได้ว่าเป็นผลรวมของรายได้ที่เกิดจากปัจจัยการผลิต (Primary income generated in production) เช่น ค่าตอบแทนแรงงาน กำไร เป็นต้น
  • มูลค่าการส่งออกของสินค้าและบริการ (Value of exports of goods and services) : มูลค่าของสินค้าและบริการที่ส่งออกไปยังต่างประเทศ
  • มูลค่าการนำเข้าของสินค้าและบริการ (Value of imports of goods and services) : มูลค่าของสินค้าและบริการที่นำเข้าจากต่างประเทศ
  • จำนวนบริษัท (Number of enterprises) : จำนวนบริษัทที่อยู่ในขอบเขตของ FATS ซึ่งเป็นบริษัทที่จดทะเบียนและยังคงดำเนินงานอยู่

2. ตัวแปร FATS อื่นๆ (Other variables)

  • สินทรัพย? (Assets) : ครอบคลุมสินทรัพย์ทางการเงิน (Financial assets) และสินทรัพย์ที่ไม่ใช่ทางการเงิน (Non-financial assets) ทั้งที่เป็น Produced และ Non-produced
  • ค่าจ้างแรงงาน (Compensation of employees) : ค่าตอบแทนที่นายจ้างให้กับลูกจ้างทั้งในรูปตัวเงินและไม่ใช่ตัวเงิน ในระหว่างรอบบัญชีที่ทำการศึกษา
  • สินทรัพย์สุทธิ (Net worth) : ส่วนต่างของมูลค่าสินทรัพย์ทั้งหมดกับมูลค่าหนี้สินทั้งหมด
  • มูลค่าสุทธิจากการดำเนินงาน (Net operating surplus): วัดจากมูลค่าเพิ่มหักด้วยค่าจ้างแรงงาน การบริโภคสินทรัพย์ถาวร และภาษีจากการผลิต หักด้วย Subsidies receivable
  • การสะสมทุนถาวร (Gross fixed capital formation): มูลค่าการลงทุนในสินทรัพย์ถาวร*(4) ในช่วงระยะเวลาที่ทำการศึกษา
  • ภาษีจากรายได้ (Taxes on income) : ภาษีที่เก็บจากรายได้ของบริษัทในเครือที่เข้ามาลงทุนเท่านั้น ไม่รวมถึงภาษีที่เกิดจากบริษัทแม่ชำระให้แก่ประเทศตนเอง
  • ค่าใช้จ่ายในการวิจัยและพัฒนา (Research and development expenditures): ค่าใช้จ่ายในการค้นคว้าองค์ความรู้ใหม่เพื่อนำไปใช้ในการริเริ่มหรือพัฒนาสินค้าและบริการใหม่ๆ รวมถึงการพัฒนาหรือคิดค้นกระบวนการผลิตในรูปแบบใหม่ให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขนึ้
  • มูลค่าการซื้อสินค้าหรือบริการ (Purchases of goods and services): ค่าใช้จ่ายสินค้าหรือบริการขั้นกลางที่เป็นต้นทุนในการผลิต ไม่รวมสินทรัพย์ถาวรซึ่งถูกบันทึกในการบริโภคทุนถาวร(Consumption of fixed capital)
นอกจากนี้ คู่มือดังกล่าวได้จำแนกมิติของข้อมูลออกเป็น 2 แบบ คือ
  • แบ่งตามประเทศที่มีการลงทุน : เป็นการจำแนกตามประเทศ ซึ่งสามารถจำแนกเป็นทั้งประเทศของผู้ลงทุนขั้นแรก (Immediate investing country) และ ประเทศของ Ultimate controlling institutional unit (UCI) โดยการจำแนกในลักษณะนี้จะแสดงให้เห็นความเชื่อมโยงทางเศรษฐกิจและธุรกรรมที่เกิดขึ้นระหว่างกัน
  • แบ่งตามประเภทธุรกิจ : ในการจัดทำข้อมูล FATS โดยจำแนกตามประเภทธุรกิจจะแบ่งประเภทธุรกิจตาม ISIC Rev. 4 Categories for Foreign Affiliates in Services (ICFA Rev.1)*(5) ซึ่ง ICFA จะครอบคลุมประเภทธุรกิจทั้งหมดใน ISIC แต่ไม่รวม 3 หมวดคือ หมวดการบริหารราชการ การป้องกันประเทศ และการประกันสังคมภาคบังคับ (sector O) หมวดกิจกรรมการจ้างงานในครัวเรือนส่วนบุคคล กิจกรรมการผลิตสินค้าและบริการที่ทำขึ้นเองเพื่อใช้ในครัวเรือน ซึ่งไม่สามารถจำแนกกิจกรรมได้อย่างชัดเจน (sector T) และหมวดกิจกรรมขององค์การระหว่างประเทศและภาคีสมาชิก (sector U) เนื่องจากไม่มีความเกี่ยวข้องกับข้อมูล FDI หรือ FATS ซึ่งการจำแนกในลักษณะนี้จะทำให้ทราบว่าการลงทุนกระจุกหรือกระจายตัวอยู่ในภาคธุรกิจใด
3. การจัดทำข้อมูลเบื้องต้นของธปท.

3.1 ผลการจัดทำข้อมูล Inward FATS เบื้องต้นปี 2549 — 2552

การจัดทำข้อมูล Inward FATS ในเบื้องต้นนี้เป็นการเก็บรวบรวมข้อมูลจากแหล่งข้อมูลที่มีการจัดเก็บอยู่แล้วได้แก่ฐานข้อมูลฐานะการลงทุนระหว่างประเทศและการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (FDI) ซึ่งเป็นผลสำรวจ(Survey) รายปี ฐานข้อมูลงบการเงินของกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ และฐานข้อมูลส่งออก-นำเข้าของกรมศุลกากร กระทรวงการคลัง*(6) โดยจัดทำเฉพาะด้าน Inward FATS ในช่วงปี 2549 — 2552 จากข้อมูลที่ได้สามารถนำมาวิเคราะห์นัยของบริษัทตามขอบเขต FATS ต่อภาพรวมของเศรษฐกิจได้ ดังนี้

จำนวนบริษัท

ในช่วงปีพ.ศ. 2549 — 2552 การลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศมีการขยายตัวอย่างต่อเนื่อง ตามการขยายตัวของเศรษฐกิจโลก และจำนวนบริษัทตามขอบเขต FATS เพิ่มขึ้นตามลำดับ อย่างไรก็ตาม อัตราการเพิ่มขึ้นของจำนวนบริษัทชะลอตัวลงจากการที่ไทยต้องเผชิญกับการแข่งขันดึงดูดนักลงทุนที่รุนแรงมากขึ้นจากประเทศเกิดใหม่ ได้แก่ จีน อินเดีย และเวียดนาม ในปี 2551 การลงทุนจากต่างประเทศขยายตัวอย่างมากจากการฟื้นตัวของอุปสงค์ภายในประเทศและสถานการณ์การเมืองในประเทศที่ได้คลี่คลายลงหลังปี 2549 ทำให้มีจำนวนบริษัท FATS เพิ่มขึ้นจาก 2,706 เป็น 2,756 บริษัท อย่างไรก็ตาม ผลจากวิกฤติเศรษฐกิจโลกในช่วงปลายปี 2551 ทำให้จำนวนบริษัทฯ ลดลงเหลือ 2,742 บริษัทในปี 2552 โดยประเทศที่มีจำนวนบริษัทสูงสุดคือ ประเทศญี่ปุ่น รองลงมาคือสหรัฐอเมริกา สหภาพยุโรป และกลุ่มประเทศอาเซียน ซึ่งในช่วงปี 2549 — 2552 มีสัดส่วนใกล้เคียงกันในแต่ละปี

ประเทศไทยถือเป็นหนึ่งของฐานการผลิตและตลาดที่สำคัญในกลุ่มอาเซียน ทำให้หลายประเทศโดยเฉพาะญี่ปุ่นให้ความสนใจเข้ามาลงทุนเป็นอันดับต้นๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในอุตสาหกรรมรถยนต์และชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์โดยมีสัดส่วนการลงทุนสูงถึงร้อยละ 49 ของจำนวนบริษัท FATS ที่เป็นของญี่ปุ่น ส่วนการลงทุนจากสหภาพยุโรปในไทยขยายตัวอย่างต่อเนื่อง ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากการจัดทำข้อตกลงทางการค้าอาเซียน-สหภาพยุโรป (ASEAN-EU FTA) สำหรับในกลุ่มประเทศอาเซียนด้วยกัน สิงคโปร์เป็นประเทศที่มีบทบาทสำคัญที่เข้ามาลงทุนในไทย โดยมีจำนวนบริษัทมากเป็นอันดับสามรองจากญี่ปุ่น และสหรัฐอเมริกา เป็นที่น่าสังเกตว่าการลงทุนโดยตรงจากสิงคโปร์เป็นการลงทุนจากบริษัทข้ามชาติที่เข้าไปจดทะเบียนในสิงคโปร์ (คล้ายกับกรณีของการลงทุนโดยตรงจากเนเธอร์แลนด์) แต่เนื่องจากข้อจำกัดของข้อมูลจึงทำให้วิเคราะห์ได้เพียง Immediate investing country เท่านั้น ยังไม่สามารถจำแนกรายละเอียดลงไปถึงประเทศที่เป็น Ultimate Controlling Institution Unit ได้ สำหรับการลงทุนโดยตรงจากจีนนั้น พบว่าจำนวนบริษัท FATS ของจีนเร่งตัวขึ้น ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากมาตรการของทางการจีนที่กระตุ้นการบริโภคและการลงทุนภายในประเทศ จึงส่งผลให้การลงทุนของจีนขยายตัวอย่างต่อเนื่องและออกสู่ต่างประเทศ นอกจากนี้ จีนยังใช้กลยุทธ์ “Going Global Policy” เป็นเครื่องมือในการขยายการลงทุนในต่างประเทศของภาคธุรกิจเพื่อช่วยขยายตลาดและแหล่งวัตถุดิบใหม่

อุตสาหกรรมที่ต่างชาติสนใจเข้ามาลงลงทุนมากที่สุดคือ หมวดการผลิต (ร้อยละ 55) ที่สำคัญได้แก่ การผลิตผลิตภัณฑ์จำพวกอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ ยานยนต์และเครื่องจักร ซึ่งเป็นไปตามนโยบายของภาครัฐที่ต้องการให้ไทยเป็นฐานการผลิตและส่งออกที่สำคัญของภูมิภาค ซึ่งที่ผ่านมาไทยยังได้เปรียบในด้านแรงงาน และยังเป็นตลาดที่สำคัญตามการขยายตัวของอุปสงค์ในประเทศ ประเทศหลักที่เข้ามาลงทุนในหมวดนี้ได้แก่ ญี่ปุ่น (ร้อยละ 49) สหรัฐอเมริกา (ร้อยละ 9) และสิงคโปร์ (ร้อยละ 7) รองลงมาคือ หมวดการขายส่งและการขายปลีก การซ่อมยานยนต์และจักรยานยนต์ (ร้อยละ 19) โดยจำนวนกว่าสองในสามเป็นบริษัทที่ทำธุรกิจขายส่ง ซึ่งขยายตัวอย่างต่อเนื่องโดยเฉพาะในกลุ่มสินค้าที่จำเป็นต่อการครองชีพ ประเทศหลักที่เข้ามาลงทุนในหมวดนี้ ได้แก่ สหรัฐอเมริกา (ร้อยละ 29) ญี่ปุ่น (ร้อยละ 21) และสิงคโปร์ (ร้อยละ 21)

มูลค่าการส่งออก

บริษัท FATS ส่วนใหญ่ผลิตเพื่อการส่งออก ยอดส่งออกจากบริษัทเหล่านี้มีสัดส่วนต่อมูลค่าการส่งออกสูงและค่อนข้างคงที่ในระยะ 4 ปีที่ทำการศึกษา โดยมีสัดส่วนเฉลี่ยร้อยละ 41 ของมูลค่าการส่งออกรวมทั้งประเทศ บริษัท FATS ที่มีการผลิตเพื่อส่งออกมากที่สุดเป็นบริษัทญี่ปุ่น (ร้อยละ 47) สหภาพยุโรป (ร้อยละ 16) และสหรัฐอเมริกา (ร้อยละ 9) ตามลำดับ

จากมูลค่าการผลิตเพื่อการส่งออกทั้งหมดที่มาจากบริษัท FATS พบว่าประมาณร้อยละ 88 มาจากบริษัทFATS ในหมวดการผลิต โดยเฉพาะการผลิตคอมพิวเตอร์และอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ และการผลิตยานยนต์ โดยมูลค่าการส่งออกในหมวดการผลิตมากที่สุดเป็นของนักลงทุนจากประเทศญี่ปุ่น (ร้อยละ 45) หมู่เกาะเคย์แมน (ร้อยละ 14) และเนเธอร์แลนด์ (ร้อยละ 11) เป็นที่น่าสังเกตว่าในกรณีของหมู่เกาะเคย์แมน แม้จำนวนบริษัทฯ จะมีสัดส่วนเฉลี่ยเพียงร้อยละ 0.5 แต่มูลค่าการส่งออกสูงเป็นอันดับสองรองจากญี่ปุ่นหรือเฉลี่ยประมาณ 0.3 ล้านล้านบาทต่อปี

หมวดการขายส่งและการขายปลีก การซ่อมยานยนต์และจักรยานยนต์ มีมูลค่าการส่งออกเฉลี่ยร้อยละ 8 ของมูลค่าการส่งออกทั้งหมดของบริษัท FATS ซึ่งมากเป็นอันดับสองรองจากหมวดการผลิต การส่งออกของบริษัท FATS มีการขยายตัวต่อเนื่อง แต่ในช่วงปี 2552 ภาคการส่งออกที่มาจากบริษัท FATS หดตัวร้อยละ 14.47 จากเศรษฐกิจของประเทศคู่ค้าประกอบกับการแข็งค่าของค่าเงินบาท และราคาน้ำมันในตลาดโลกที่มีการปรับตัวสูงขึ้นและมีความผันผวนค่อนข้างมากโดยหมวดการขายส่งและการขายปลีก การซ่อมยานยนต์และจักรยานยนต์มีการหดตัวมากที่สุด (ร้อยละ 25)

มูลค่าการนำเข้า

ในด้านการนำเข้าบริษัท FATS มีการนำเข้าวัตถุดิบในการผลิตสินค้าและบริการในปริมาณมากซึ่งมูลค่าการนำเข้าของบริษัท FATS คิดเป็นสัดส่วนเฉลี่ยร้อยละ 39 ของมูลค่าการนำเข้าทั้งประเทศ โดยการนำเข้ามีความสัมพันธ์กับมูลค่าการส่งออก โดยประเทศที่เข้ามาลงทุนและมีการนำเข้ามากที่สุดคือญี่ปุ่น (ร้อยละ 33) รองลงมาคือ กลุ่มสหภาพยุโรป (ร้อยละ 17) สหรัฐอเมริกา (ร้อยละ 16) และหมู่เกาะเคย์แมน (ร้อยละ 11) เป็นที่น่าสังเกตว่าแม้หมู่เกาะเคย์แมนจะมีจำนวนบริษัทเฉลี่ยเพียง 15 บริษัทหรือคิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 0.5 เท่านั้น แต่กลับมีมูลค่าการนำเข้าเฉลี่ยสูงถึงร้อยละ 11 เป็นอันดับสามรองจากประเทศญี่ปุ่นและสหรัฐอเมริกา

ประเทศที่เข้ามาลงทุนและมีอัตราการขยายตัวของการนำเข้าที่สูงคือ จีน เนื่องจากจีนได้รับผลกระทบจากวิกฤติเศรษฐกิจโลกน้อยเมื่อเทียบกับอีกหลายๆ ประเทศในภูมิภาคเดียวกัน และจีนยังคงมีศักยภาพในการขยายการลงทุน ซึ่งเห็นได้จากอัตราการเพิ่มขึ้นของมูลค่าการส่งออกและนำเข้าที่มากที่สุดเทียบกับการลงทุนในบริษัท FATS จากประเทศอื่นๆ ส่วนประเทศที่เข้ามาลงทุนที่มีมูลค่าการนำเข้าหดตัวมากที่สุดคือฮ่องก

หากพิจารณาแยกบริษัท FATS ตามประเภทธุรกิจจะพบว่าอุตสาหกรรมหลักที่นำเข้าวัตถุดิบได้แก่ หมวด การผลิต สาขาที่สำคัญคือ อุปกรณ์คอมพิวเตอร์และอิเล็คทรอนิกส์ และชิ้นส่วนยานยนต์ และหมวดการขายส่งและการขายปลีก การซ่อมยานยนต์และจักรยานยนต์ สำหรับหมวดการผลิตยังเป็นอุตสาหกรรมหลักที่มีมูลค่าการนำเข้าสูงสุดถึงร้อยละ 81 หรือคิดเป็นมูลค่ากว่า 1.6 ล้านล้านบาทต่อปี ซึ่งประเทศที่เข้ามาลงทุนในหมวดการผลิตที่มีการนำเข้าสูงสุดได้แก่ ญี่ปุ่น (ร้อยละ 38) สหรัฐอเมริกา (ร้อยละ16) และหมู่เกาะเคย์แมน (ร้อยละ 13)

มูลค่ายอดขาย

ในแต่ละปีบริษัท FATS มีมูลค่ายอดขายเฉลี่ยกว่า 5.42 ล้านล้านบาทโดยรายได้หลักของบริษัท FATS ในปี2550 — 2551 เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องสอดคล้องกับตัวแปร FATS อื่นๆ โดยมีอัตราการเพิ่มของยอดขายอยู่ที่ร้อยละ 5ในปี 2550 และ ร้อยละ 12 ในปี 2551 ทั้งนี้ประเทศที่มียอดขายเฉลี่ยสูงสุดได้แก่ ญี่ปุ่น (ร้อยละ 47) สหภาพยุโรป(ร้อยละ 14) และสหรัฐอเมริกา (ร้อยละ 11) อย่างไรก็ดี ยอดขายของบริษัท FATS ลดลงอย่างเห็นได้ชัดในปี 2552 จากการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลกที่ส่งผลต่อตลาดเงินและตลาดสินค้าไม่เฉพาะแค่ในสหรัฐอเมริกาเท่านั้น แต่ยังกระจายไปยังประเทศในเอเชียและยุโรปด้วย โดยบริษัทที่เป็นการลงทุนจากสหรัฐอเมริกาซึ่งเป็นต้นกำเนิดของวิกฤติในครั้งนี้ ยอดขายหดตัวมากถึงร้อยละ 25 เทียบกับปี 2551 นอกจากนี้ บริษัทญี่ปุ่นและยุโรปรายใหญ่ มีการชะลอกำลังการผลิต ปลดคนงานและตัดงบค่าใช้จ่ายเพื่อให้ธุรกิจดำเนินต่อไปได้ท่ามกลางวิกฤติที่เกิดขึ้น

หมวดการผลิตเป็นแหล่งสร้างรายได้หลักเฉลี่ยกว่า 3.8 ล้านล้านบาทต่อปีหรือประมาณร้อยละ 70 ของยอดขายของบริษัท FATS ทั้งหมด รองลงมาคือ หมวดการขายส่งและการขายปลีก การซ่อมยานยนต์และจักรยานยนต์ คิดเป็นสัดส่วน ร้อยละ 16 ของยอดขายของบริษัท FATS ทั้งหมด ทั้งนี้ ในปี 2552 ผลกระทบจากวิกฤติเศรษฐกิจโลก ราคาวัตถุดิบและราคาน้ำมันที่สูงขึ้น กอปรกับภาวะการแข่งขันที่รุนแรงขึ้นทำให้ยอดขายรวมของบริษัท FATS หดตัวถึงร้อยละ 10.92

นอกจากประเทศญี่ปุ่นและสหรัฐอเมริกาที่มีบทบาทสำคัญต่อการเข้ามาลงทุนโดยตรงในบริษัท FATS แล้วนักลงทุนจากกลุ่มสหภาพยุโรปโดยเฉพาะเนเธอแลนด์และกลุ่มอาเซียนโดยเฉพาะสิงค์โปรยังคงเป็นกลุ่มประเทศที่มีบทบาทสำคัญในระบบเศรษฐกิจของไทย และประเทศที่ควรให้ความสนใจมากขึ้น คือ หมู่เกาะเคย์แมน เพราะถึงแม้จะมีจำนวนบริษัทคิดเป็นสัดส่วนเพียงร้อยละ 0.5 แต่มีมูลค่าการส่งออกเฉลี่ยมากเป็นอันดับสองรองจากประเทศญี่ปุ่น ในขณะที่การนำเข้าก็มีมูลค่าเฉลี่ยสูงเป็นอันดับสามรองจากประเทศญี่ปุ่นและสหรัฐอเมริกา

3.2 ข้อจำกัดในการจัดทำข้อมูล

จากข้อมูลที่ใช้ประกอบการศึกษาพบว่าการจัดทำข้อมูล FATS ในประเทศไทยยังมีช่องว่างให้สามารถปรับปรุงได้อีกหลายประการด้วยข้อจำกัดของแหล่งข้อมูลที่มีอยู่ในปัจจุบัน ในเบื้องต้นจึงจัดทำ Inward FATS เฉพาะตัวแปรสำคัญเท่านั้น ทั้งยังพบปัญหาความไม่ครบถ้วนสมบูรณ์ของข้อมูลหลายประการ ดังนี้

  • ข้อมูลที่นำมาใช้ในการจัดทำ FATS ปัจจุบัน เป็นผลพลอยได้จากการจัดเก็บข้อมูลเพื่อการอื่น ระบบและระดับรายละเอียดมิได้ถูกออกแบบมาเพื่อการจัดทำ FATS โดยตรง ส่วนมากยังเป็นข้อมูล proxy ที่ได้มาจากการประยุกต์ใช้การเก็บข้อมูลเพื่อวัตถุประสงค์อื่น ดังนั้นความครอบคลุม นิยามของตัวแปร ความถี่ในการจัดเก็บข้อมูล และช่วงเวลาที่เหมาะสมในการสำรวจข้อมูล อาจยังไม่สมบูรณ์สำหรับการจัดทำ FATS ในกรณีนี้จึงควรประสานกับหน่วยงานที่จัดเก็บข้อมูลดิบเพื่อหารือแนวทางในการปรับปรุงคุณภาพข้อมูล ตลอดจนกำหนดนิยาม และรหัสมาตรฐานกลางเพื่อใช้ในการเชื่อมฐานข้อมูลต่อไป รวมทั้งออกแบบสำรวจเพิ่มเติมสำหรับตัวแปรอื่นๆ ที่ยังไม่มีในฐานข้อมูลปัจจุบัน
  • ข้อมูลที่นำมาใช้บางตัวแปรได้จากการหาความเชื่อมโยงระหว่างฐานข้อมูลหลายฐานข้อมูล ทั้งนี้ไม่ได้กำหนดความเชื่อมโยงอย่างชัดเจน จะมีก็เพียงแค่ตัวแปรมาตรฐานหรือรหัสมาตรฐานที่ใช้เป็นแนวทางในการศึกษา ทำให้ในบางครั้งอาจพบว่า ข้อมูลอาจไม่ตรงกับการกำหนดความหมายและคำนิยามของตัวแปรอย่างสมบูรณ์แบบซึ่งนำไปสู่ความคาดเคลื่อนที่อาจจะเกิดขึ้นระหว่างการจัดทำข้อมูล อย่างไรก็ตามความพยายามในการปรับปรุงเพื่อหาความเหมาะสมในการเชื่อมโยง ยังควรหยิบยกมาพิจารณาอย่างต่อเนื่อง
  • การจำแนกประเทศที่ลงทุน ซึ่งตามคู่มือ MSITS แนะนำให้มีการจำแนกประเภทของประเทศที่ลงทุนโดยระบุถึง Immediate investor country หรือ Ultimate Controlling Institution Unit (UCI) โดยในการรวบรวมข้อมูล Inward FATS แนะนำว่าการจำแนกตามประเทศที่ลงทุนควรจำแนกตามประเทศของ Ultimate Controlling Institution Unit (UCI) อย่างไรก็ตามแหล่งข้อมูลที่ใช้ไม่สามารถจำแนก UCI ได้
  • แหล่งข้อมูลปัจจุบันไม่เอื้อสำหรับจัดทำ Basic FATS variable โดยแหล่งข้อมูลที่มีสามารถจำแนกตัวแปร FATS ได้เพียง 4 ตัวเท่านั้นคือ จำนวนบริษัท มูลค่าการส่งออกและนำเข้า และปริมาณยอดขาย ทั้งนี้ไม่ครอบคลุมถึงตัวแปรมูลค่าเพิ่มและการจ้างงาน
  • FATS เป็นการเก็บข้อมูลของกิจกรรมที่เกิดขึ้นในการผลิตสินค้าและบริการของบริษัทในเครือของบริษัทต่างชาติแต่แหล่งข้อมูลที่มีอยู่มีเฉพาะในส่วนของด้านสินค้าเท่านั้นไม่ครอบคลุมถึงด้านบริการซึ่งอาจทำให้การนำข้อมูลไปใช้เกิดความคลาดเคลื่อนได้
4. บทสรุป

FATS เปรียบเสมือนบัญชีบริวารของข้อมูล FDI สามารถสะท้อนผลกระทบของการลงทุนได้ในหลายมิติ เช่นผลต่อการส่งออก-นำเข้า การผลิต และการจ้างงาน เป็นต้น จึงเอื้อประโยชน์ต่อการประเมินนโยบายการส่งเสริมและการกำหนดยุทธศาสตร์การลงทุน การประเมินความพร้อมและผลกระทบต่อการเจรจาเปิดเสรีการค้าและการลงทุนตลอดจนชี้ให้เห็นภาพความเชื่อมโยงระหว่างประเทศผู้ลงทุนที่มีต่อประเทศผู้รับทุนในสาขาธุรกิจต่างๆ ซึ่งจำเป็นอย่างยิ่งในการประเมินความเสี่ยงและผลกระทบที่อาจส่งผ่านจากวิกฤติเศรษฐกิจในประเทศผู้ลงทุนสู่ประเทศผู้รับทุน(รวมถึงในทางกลับกัน กรณีที่ผลจากวิกฤตถูกส่งผ่านจากประเทศผู้รับการลงทุน ไปยังประเทศผู้ลงทุน)

ในฐานะที่ธปท. เป็นผู้ที่มีบทบาทสำคัญในการจัดเก็บและนำข้อมูลไปใช้เพื่อประกอบการวิเคราะห์ภาวะเศรษฐกิจและกำหนดนโยบายเพื่อรักษาเสถียรภาพและความมั่นคงทางเศรษฐกิจของประเทศ จึงได้ตระหนักถึงความสำคัญของการจัดทำข้อมูล FATS เพื่อตอบสนองความต้องการของผู้ใช้ในเชิงลึกมากขึ้น อีกทั้งยังสามารถนำไปวิเคราะห์ได้หลากหลายมิติ แต่ด้วยข้อจำกัดของแหล่งข้อมูล การจัดทำข้อมูล FATS ในประเทศไทยในเบื้องต้นจึงจัดทำเพียง Inward FATS เท่านั้น โดยจัดทำตามคู่มือ MSITS 2010 เพื่อให้สอดคล้องกับมาตรฐานสากล อย่างไรก็ตาม ในการจัดทำ Inward FATS ยังมีข้อจำกัดหลายประการ จึงควรมีการศึกษาเพิ่มเติมเกี่ยวกับแหล่งข้อมูลโดยเฉพาะสำหรับตัวแปรที่ยังไม่ได้จัดทำ รวมไปถึงการจัดทำ Outward FATS เพื่อให้ข้อมูล FATS มีความครบถ้วนสมบูรณ์และสามารถนำไปใช้ให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด

เอกสารอ้างอิง

Tattawasart, Ornicha (2010), “Toward FATS and Beyond: The Case of Thailand”, Thailand

Statistical Commission (2010), “Manual on Statistics of International Trade In Services 2010 (MSITS 2010)”, USA World Trade Organization (2010), “Measuring Trade in Services”

สำนักงานสถิติแห่งชาติ (2552), ”การจัดประเภทมาตรฐานอุตสาหกรรมประเทศไทย ปี 2552”, ประเทศไทย

ธนาคารแห่งประเทศไทย (2549-2552), “รายงานเศรษฐกิจและการเงิน”, ประเทศไทย

รายงานภาพรวมการลงทุนจากต่างประเทศในไทย ปี 2549 — 2552, ประเทศไทย (www.boi.go.th)

อโนทัย พุทธารี อังสุปาลี วัชราเกียรติ และอรณิชา ตัตตะวะศาสตร์ (2553), “ฐานข้อมูลภาคเศรษฐกิจจริง : ทิศทางและการพัฒนา”, บทความนำเสนอ BOT Statistics Symposium

ภาคผนวก 1 : การจัดทำข้อมูล FATS เบื้องต้นของธปท.

การจัดทำข้อมูลอ้างอิงตาม MSITS 2010 โดยในเบื้องต้นจัดทำเพียง Inward FATS เนื่องจากความครบถ้วน และสมบูรณ์ของแหล่งข้อมูลที่มีอยู่มากกว่าข้อมูล Outward FATS

1. แหล่งข้อมูล

เนื่องจาก FATS เกี่ยวเนื่องกับข้อมูล FDI การจัดทำข้อมูลจึงอ้างอิงจากฐานข้อมูลที่ใช้ในการจัดทำข้อมูลฐานะการลงทุนระหว่างประเทศและ FDI เป็นหลัก จากนั้นจึงเชื่อมโยงกับข้อมูลจากฐานอื่นเพื่อให้ได้ค่าตัวแปรที่ต้องการ ได้แก่

  • ข้อมูลรายบริษัทกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ โดยกิจการที่จดทะเบียนดำเนินธุรกิจในประเทศไทยตามกฎหมายจะต้องนำส่งงบการเงินที่เกี่ยวข้องกับการลงทุนระหว่างประเทศให้กรมพัฒนาธุรกิจการค้าและ ธปท. เป็นรายปี ซึ่งกฎหมายการจัดเก็บข้อมูลของกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ กำหนดไว?
  • ข้อมูลมูลค่าส่งออก/นำเข้าจากกรมศุลกากรฯ

อย่างไรก็ตามการจัดทำ Inward FATS ยังมีข้อจำกัดของแหล่งข้อมูลสำหรับบางตัวแปร ดังนั้น ในการจัดทำข้อมูลครั้งนี้ จึงนำเสนอเฉพาะตัวแปรพื้นฐาน 4 ตัวแปร เป็นการเบื้องต้น ได้แก่ จำนวนบริษัท มูลค่าการส่งออก-นำเข้าและยอดขาย โดยยังขาดในส่วนของมูลค่าเพิ่มและการจ้างงาน 2. เกณฑ์การคัดเลือกบริษัทสำหรับจัดทำ Inward FATS

เกณฑ์ในการคัดเลือกบริษัท นั้นจะพิจารณาจากรูปแบบการเก็บข้อมูลในแต่ละปี ใช้เกณฑ์ตาม MSITS โดย พิจารณาจากบริษัทที่นักลงทุนต่างชาติรายใดรายหนึ่งถือหุ้นมากกว่าร้อยละ 50

*(1) ข้อมูลการลงทุนโดยตรงเผยแพร่ใน www.bot.or.th ภายใต้หัวข้อ สถิติเศรษฐกิจและการเงิน เศรษฐกิจภาคต่างประเทศของไทย

*(2) GATS แบ่งลักษณะการให้บริการ (Modes of Supply) ออกเป็น 4 แบบดังนี้ การบริการข้ามพรมแดน (Mode 1: Cross-border Supply), การบริโภคในต่างประเทศ (Mode 2: Consumption Abroad) การจัดตั้งธุรกิจเพื่อให้บริการ (Mode 3: Commercial Presence) และการให้บริการโดยบุคคลธรรมดา (Mode 4: Presence of Natural Person) ทั้งนี้ เดิมข้อมูล FATS มีการเก็บข้อมูลเฉพาะด้านการบริการเท่านั้น แต่ในปัจจุบันมีการขยายขอบเขตรวมไปถึงสินค้าด้วย

*(3) อโนทัย พุทธารี อังสุปาลี วัชราเกียรติ และอรณิชา ตัตตะวะศาสตร์ (2553) “ ฐานข้อมูลภาคเศรษฐกิจจริง : ทิศทางและการพัฒนา”

*(4) สินทรัพย์ถาวรในที่นี้หมายถึง สินทรัพย์ที่ก่อให้เกิดการผลิต (Produced asset) ซึ่งมีระยะเวลาในการใช้งานซ้ำๆหรืออย่างต่อเนื่องในกระบวนการผลิต

*(5) ตัวอย่างตาราง FATS จำแนกตามประเภทธุรกิจตามคู่มือ MSITS 2010 ตามตารางที่ 1 ในภาคผนวก 2

*(6) รายละเอียดของแหล่งข้อมูลและแนวทางการคัดเลือก Inward FATS enterprise ในภาคผนวก 1

คณะผู้จัดทำ
ฝ่ายสถิติและข้อสนเทศ

ปุณฑริก ศุภอมรกุล ทีมวิเคราะห์สถิติงบดุลรวม PuntharS@bot.or.th

นจรี นิมิตกมลชัย ทีมวิเคราะห์สถิติงบดุลรวม NajareeN@bot.or.th ฝ่ายตรวจสอบความเสี่ยงและเทคโนโลยีฯ

ธัญญษร เอกอภิรักษ์ ทีมตรวจสอบความเสี่ยง1-2 TanyasoE@bot.or.th

ธนาคารแห่งประเทศไทย

273 ถนนสามเสน

แขวงพระนคร

เขตพระนคร

กรุงเทพฯ 10200

http://www.bot.or.th

ข้อคิดเห็นที่ปรากฏในบทความนี้เป็นความเห็นของผู้เขียน ซึ่งไม่จำเป็นต้องสอดคล้องกับความเห็นของธนาคารแห่งประเทศไทย

ที่มา: ธนาคารแห่งประเทศไทย


แท็ก Investment   tat  

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ