ฉบับที่ 40/2555
นายไพบูลย์ กิตติศรีกังวาน ผู้ช่วยผู้ว่าการสายนโยบายการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) แถลงว่าคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ได้เผยแพร่ รายงานแนวโน้มเงินเฟ้อ ฉบับเดือนกรกฎาคม 2555 โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเสริมสร้างความเข้าใจของสาธารณชนเกี่ยวกับแนวทางการดำเนินนโยบายการเงินของ ธปท.สาระสำคัญสรุปได้ดังนี้
เศรษฐกิจไทยสามารถฟื้นตัวจากอุทกภัยได้ดีในช่วงครึ่งปีแรก แต่คาดว่าแรงส่งของเศรษฐกิจไทยจะเริ่มชะลอลงจากที่คาดไว้เดิมในช่วงครึ่งปีหลังจากผลของเศรษฐกิจโลกที่อ่อนแอลงและอุปสงค์ภาคเอกชนที่จะชะลอลงบ้างหลังจากที่เร่งฟื้นตัวในช่วงก่อนหน้า
ปัญหาในภาคการผลิตสืบเนื่องจากอุทกภัยคลี่คลายลงเป็นลำดับ โดยในภาพรวมเริ่มกลับเป็นปกติในช่วงปลายไตรมาสที่ 2 อุตสาหกรรมสำคัญที่เสียหายจากอุทกภัยฟื้นตัวได้ดีต่อเนื่อง โดยเฉพาะยานยนต์และเครื่องใช้ไฟฟ้าที่กลับมาผลิตได้เต็มที่แล้ว แต่ยังไม่พอตอบสนองความต้องการสินค้าที่อั้นมามากตั้งแต่ช่วงอุทกภัยสำหรับอุตสาหกรรมฮาร์ดดิสก์ไดรฟ์แม้กลับมาผลิตได้เป็นปกติแล้วแต่ได้รับผลกระทบจากอุปสงค์โลกที่ชะลอตัวขณะที่อุตสาหกรรมแผงวงจรรวมคาดว่าจะกลับมาผลิตตามปกติได้ในไตรมาสที่ 4 เนื่องจากผู้ผลิตบางรายอยู่ระหว่างรอนำเข้าและติดตั้งเครื่องจักรทดแทนส่วนที่เสียหาย ทั้งนี้ คาดว่าภาคการผลิตยังมีแนวโน้มขยายตัวได้แต่ต้องเผชิญปัจจัยเสี่ยงจากปัญหาการขาดแคลนแรงงานและเศรษฐกิจโลกที่อาจชะลอตัวยืดเยื้อในระยะต่อไป
ขณะเดียวกัน อุปสงค์ภาคเอกชนฟื้นตัวกลับสู่ระดับก่อนอุทกภัยแล้ว การลงทุนภาคเอกชนในครึ่งปีแรกขยายตัวได้ดีจากความต้องการลงทุนเพื่อฟื้นฟูความเสียหายจากอุทกภัย แต่มีแนวโน้มชะลอลงเมื่อการฟื้นฟูส่วนใหญ่สิ้นสุดในไตรมาสที่ 3 อย่างไรก็ตาม ผู้ประกอบการยังมีความเชื่อมั่นอยู่ในเกณฑ์ดีและมีแนวโน้มที่จะเดินหน้าลงทุนตามแผนระยะยาว ซึ่งจะเป็นปัจจัยสนับสนุนการลงทุนในระยะข้างหน้า สำหรับการบริโภคภาคเอกชนยังมีแรงส่งจากความต้องการสินค้าที่อั้นสะสมมาจากช่วงก่อนหน้าโดยเฉพาะในกลุ่มยานยนต์โดยคาดว่าจะเริ่มชะลอลงในช่วงครึ่งปีหลังเช่นเดียวกับการลงทุน แต่ยังขยายตัวได้จากแนวโน้มรายได้ทั้งในและนอกภาคเกษตรที่อยู่ในเกณฑ์ดี แรงกระตุ้นจากภาครัฐที่มีต่อเนื่อง และภาวะการเงินที่เอื้ออำนวย
สำหรับภาคต่างประเทศ การส่งออกสินค้าและบริการยังฟื้นตัวได้ไม่เต็มที่เนื่องจากภาวะอุปสงค์โลกที่อ่อนแอ โดยการส่งออกสินค้ามีแนวโน้มชะลอลงเพิ่มเติมจากที่ประเมินไว้ ทั้งในส่วนของสินค้าอุตสาหกรรมที่ชะลอตัวตามภาวะอุปสงค์โลกและสินค้าเกษตรที่ได้รับผลกระทบจากปริมาณการส่งออกข้าวที่ลดลง ขณะที่การส่งออกบริการยังมีแนวโน้มที่ดีจากภาคการท่องเที่ยวที่ขยายตัวได้ต่อเนื่อง ส่วนการนำเข้าสินค้าและบริการคาดว่าจะเริ่มชะลอลงในช่วงครึ่งหลังของปี หลังจากที่การลงทุนเพื่อฟื้นฟูเริ่มแผ่วลง และการส่งออกสินค้ามีแนวโน้มชะลอลงกว่าประมาณการเดิม
ความเสี่ยงหลักของเศรษฐกิจไทยยังคงมาจากเศรษฐกิจโลกที่อ่อนแอและมีความเสี่ยงเพิ่มขึ้นแม้ความคืบหน้าในการแก้ไขปัญหาหนี้สาธารณะในยุโรปจะช่วยให้ความเชื่อมั่นในตลาดการเงินโลกปรับดีขึ้นบ้างในช่วงสั้นๆ แต่ความกังวลต่อภาคเศรษฐกิจจริงเพิ่มสูงขึ้นชัดเจน โดยในช่วงที่ผ่านมาเศรษฐกิจทั้งในกลุ่มประเทศอุตสาหกรรมหลักและประเทศตลาดเกิดใหม่มีสัญญาณการชะลอตัวเพิ่มเติม และธนาคารกลางหลายแห่งเริ่มผ่อนคลายนโยบายการเงินมากขึ้นเพื่อดูแลความเสี่ยงต่อเศรษฐกิจ ในครั้งนี้ คณะกรรมการฯ ได้ปรับลดข้อสมมติอัตราการขยายตัวเศรษฐกิจประเทศคู่ค้าลงเพิ่มเติมจากครั้งก่อน โดยประเมินว่าเศรษฐกิจกลุ่มประเทศยูโรจะอยู่ในภาวะถดถอยในปี 2555 ก่อนจะเริ่มกลับมาฟื้นตัวในช่วงต้นปีหน้า ขณะที่แรงส่งของเศรษฐกิจสหรัฐฯ และเอเชียแผ่วลงจากเดิมตลอดช่วงประมาณการ
แรงกดดันเงินเฟ้อมีแนวโน้มลดลงจากที่ประเมินไว้ครั้งก่อน แม้การขยายตัวของเศรษฐกิจฟื้นตัวกลับเข้าสู่ระดับใกล้เคียงศักยภาพตั้งแต่ไตรมาสที่ 2 แต่แรงกดดันเงินเฟ้อจากด้านอุปสงค์มีแนวโน้มแผ่วลงตามแรงส่งของเศรษฐกิจไทยที่คาดว่าจะชะลอลงในช่วงครึ่งหลังของปี
แรงกดดันด้านต้นทุนก็แผ่วลงเช่นกันตามราคาน้ำมันและสินค้าโภคภัณฑ์ในตลาดโลกที่ปรับลดลงในระยะสั้น โดยแรงกดดันจากราคาน้ำมันคาดว่าจะมีจำกัดในระยะต่อไป เนื่องจากราคาน้ำมันในตลาดโลกยังได้รับผลจากความกังวลต่อแนวโน้มเศรษฐกิจโลก กอปรกับความขัดแย้งระหว่างอิหร่านกับชาติตะวันตกอาจไม่กระทบอุปทานน้ำมันดิบโลกมากอย่างที่ประเมินไว้เดิม ขณะที่ราคาน้ำมันขายปลีกในประเทศในปีนี้คาดว่าจะทรงตัวจากผลของการดูแลราคาน้ำมันเชื้อเพลิงของภาครัฐ ส่วนราคาสินค้าโภคภัณฑ์มีแนวโน้มฟื้นตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไปสอดคล้องกับทิศทางของราคาน้ำมัน ขณะที่ราคาอาหารสดมีแนวโน้มชะลอลงในระยะสั้นจากปริมาณผลผลิตที่ออกสู่ตลาดมากกว่าที่คาด
คณะกรรมการฯ ปรับลดประมาณการอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจในปี 2555 ลงจากครั้งก่อน เนื่องจากประเมินว่าผลลบจากการชะลอตัวในช่วงครึ่งปีหลังจะมีมากกว่าผลบวกจากการเร่งฟื้นตัวในช่วงครึ่งปีแรก สำหรับปี 2556 คณะกรรมการฯ ปรับลดประมาณการลงค่อนข้างมาก โดยเป็นผลจากแรงส่งที่ชะลอตัวต่อเนื่องมาจากช่วงครึ่งหลังของปี 2555 กอปรกับมีผลของฐานจากการเร่งฟื้นตัวหลังอุทกภัยในช่วงครึ่งแรกของปีก่อนหน้าในภาพรวม คณะกรรมการฯ ประเมินว่า ความเสี่ยงด้านลบและความไม่แน่นอนจากเศรษฐกิจโลกเพิ่มสูงขึ้นจากครั้งก่อน แผนภาพรูปพัด (Fan Chart) ของประมาณการอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจจึงเบ้ลงมากกว่าครั้งก่อนและกว้างขึ้นตลอดช่วงประมาณการ
ขณะเดียวกัน คณะกรรมการฯ ปรับลดประมาณการอัตราเงินเฟ้อตลอดช่วงประมาณการ จากแรงกดดันด้านอุปสงค์ที่มีแนวโน้มแผ่วลงตามแรงส่งของเศรษฐกิจไทยที่จะเริ่มชะลอลงในช่วงครึ่งปีหลัง รวมทั้งแรงกดดันด้านต้นทุนที่ลดลงจากราคาน้ำมันและสินค้าโภคภัณฑ์ในตลาดโลกที่ปรับลดลงในระยะสั้น คณะกรรมการฯ ประเมินว่าความเสี่ยงด้านต่ำต่อเงินเฟ้อมีมากกว่าความเสี่ยงด้านสูง ทั้งจากแนวโน้มเศรษฐกิจไทยที่มีความเสี่ยงเพิ่มขึ้นจากเศรษฐกิจโลก และจากราคาน้ำมันโลกที่ทรงตัวเนื่องจากความตึงเครียดระหว่างอิหร่านกับชาติตะวันตกอาจไม่รุนแรงอย่างที่คาดไว้เดิม ทำให้แผนภาพรูปพัด (Fan Chart) ของประมาณการเงินเฟ้อเบ้ลงตลอดช่วงประมาณการ
ในการประชุมเมื่อวันที่ 13 มิถุนายน 2555 คณะกรรมการฯ ประเมินว่า เศรษฐกิจโลกมีความเสี่ยงเพิ่มขึ้นจากการประชุมครั้งก่อน จากความไม่แน่นอนเกี่ยวกับอนาคตของกรีซในกลุ่มประเทศยูโรและปัญหาภาคสถาบันการเงินในสเปนเป็นสำ คัญ ขณะที่เศรษฐกิจไทยฟื้นตัวจากอุทกภัยได้ดีเกินคาดในไตรมาสแรกของปีแต่ภาคการส่งออกยังมีความเสี่ยงจากปัญหาในกลุ่มประเทศยูโรที่อาจทวีความรุนแรงขึ้นได้ สำหรับแรงกดดันเงินเฟ้อลดลงจากช่วงก่อนหน้าตามราคาน้ำมันและสินค้าโภคภัณฑ์โลกที่ปรับลดลง แต่แรงกดดันในระยะต่อไปยังมีอยู่จากเศรษฐกิจในประเทศที่มีแนวโน้มขยายตัวดี ทั้งนี้ คณะกรรมการฯ ประเมินว่า เศรษฐกิจไทยมีความเสี่ยงด้านการขยายตัวมากกว่าความเสี่ยงด้านเงินเฟ้อ และเห็นควรให้ดำเนินนโยบายการเงินแบบผ่อนปรนต่อไปเพื่อสนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยและรองรับความเสี่ยงจากเศรษฐกิจโลกที่ยังมีสูง จึงมีมติเป็นเอกฉันท์ให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ร้อยละ 3.0 ต่อปี
ต่อมาในการประชุมเมื่อวันที่ 25 กรกฎาคม 2555 คณะกรรมการฯ เห็นว่า เศรษฐกิจโลกมีความเสี่ยงเพิ่มขึ้นจากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่มีความเปราะบางและการแก้ไขปัญหาเชิงโครงสร้างของกลุ่มประเทศยูโรที่มีความล่าช้า โดยในช่วงที่ผ่านมาธนาคารกลางในบางประเทศเริ่มผ่อนคลายนโยบายการเงินมากขึ้นเพื่อดูแลความเสี่ยงต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจ สำหรับเศรษฐกิจไทยยังขยายตัวได้ใกล้เคียงศักยภาพ โดยอุปสงค์ภาคเอกชนขยายตัวได้ต่อเนื่อง ขณะที่ภาคการส่งออกอาจได้รับผลลบจากเศรษฐกิจโลกมากกว่าที่ประเมินไว้ ส่วนอัตราเงินเฟ้อมีแนวโน้มต่ำกว่าที่ประเมินไว้และยังอยู่ในกรอบเป้าหมาย คณะกรรมการฯ จึงมีมติ 5 ต่อ 2 ให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ร้อยละ 3.0 ต่อปี โดย 2 เสียงให้ลดอัตราดอกเบี้ยลงร้อยละ 0.25 ต่อปี ซึ่งเสียงส่วนใหญ่เห็นว่านโยบายการเงินในปัจจุบันยังเหมาะสมต่อการขยายตัวของเศรษฐกิจและสามารถรองรับความเสี่ยงจากเศรษฐกิจโลกได้ในระดับหนึ่ง อย่างไรก็ดี คณะกรรมการฯ จะติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิดและพร้อมดำเนินนโยบายที่เหมาะสมตามความจำเป็นต่อไป
ธนาคารแห่งประเทศไทย
ข้อมูลเพิ่มเติม: บดินทร์ ศิวิลัย โทร. 0 2356 7876
E-mail: bodinc@bot.or.th
ที่มา: ธนาคารแห่งประเทศไทย