ผลการดำเนินงานของระบบธนาคารพาณิชย์ในไตรมาส 2 ปี 2555

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday August 9, 2012 16:19 —ธนาคารแห่งประเทศไทย

ฉบับที่ 41/2555

นางสาวนวพร มหารักขกะ ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายกลยุทธ์สถาบันการเงิน สายนโยบายสถาบันการเงิน เปิดเผยว่า ระบบธนาคารพาณิชย์ในไตรมาส 2 ปี 2555 มีเสถียรภาพ สินเชื่อขยายตัวตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจในไตรมาส 2 ส่งผลให้สภาพคล่องตึงตัวขึ้น โดยธนาคารพาณิชย์เร่งระดมเงินฝากเพื่อรองรับสินเชื่อและทดแทนตั๋วแลกเงิน (B/E) การขยายตัวของสินเชื่อควบคู่กับคุณภาพสินเชื่อที่ดีขึ้นโดยสินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ลดลง ส่งผลให้รายได้จากดอกเบี้ยและกำไรของธนาคารพาณิชย์เพิ่มขึ้นซึ่งประกอบกับการออกตราสารระดมทุนเพิ่ม ทำให้ระบบธนาคารพาณิชย์มีเงินกองทุนเพิ่มขึ้นเพื่อรองรับธุรกรรมทางเศรษฐกิจและรองรับความไม่แน่นอนของเศรษฐกิจโลก นอกจากนี้ ธนาคารพาณิชย์มีการกันสำรองเพิ่มขึ้น เพื่อรองรับความไม่แน่นอนจากปัญหาเศรษฐกิจโลกอีกด้วย ซึ่งสอดคล้องกับแนวทางการกำกับของ ธปท. ดังรายละเอียดต่อไปนี้

สินเชื่อของระบบธนาคารพาณิชย์ขยายตัวร้อยละ 14.2 จากระยะเดียวกันปีก่อน เพิ่มขึ้นจากที่ขยายตัวร้อยละ 13.9 ณ สิ้นไตรมาส 1 ทั้งนี้ สินเชื่อธุรกิจ (ร้อยละ 70.7 ของสินเชื่อรวม) ขยายตัวร้อยละ 13.1 จากระยะเดียวกันปีก่อน และเมื่อพิจารณาการขยายตัวของสินเชื่อไตรมาสต่อไตรมาสเพื่อตัดการเทียบกับปีฐาน ซึ่งจะชี้ให้เห็นถึงพัฒนาการการปรับเปลี่ยน (turning point) ในระยะสั้นจากปัจจัยสำคัญที่มากระทบในช่วงนี้ ได้แก่ การฟื้นตัวจากภาวะอุทกภัยและปัจจัยลบจากเศรษฐกิจโลกแล้ว พบว่า สินเชื่อธุรกิจขยายตัวเร่งขึ้นจากร้อยละ 2.2 ในไตรมาส 1 เป็นร้อยละ 3.3 ในไตรมาส 2 แสดงถึงเศรษฐกิจที่ฟื้นตัวจากน้ำท่วมในปลายปีก่อน โดยสินเชื่อขยายตัวเร่งขึ้นเกือบทุกภาคธุรกิจ ยกเว้นภาคบริการ สำหรับสินเชื่อแก่ผู้ประกอบการรายกลางและรายย่อย (SME) (ร้อยละ 50.6 ของสินเชื่อธุรกิจ) ขยายตัวร้อยละ 11.8 จากระยะเดียวกันปีก่อนส่วนสินเชื่ออุปโภคบริโภค (ร้อยละ 29.3 ของสินเชื่อรวม) ขยายตัวร้อยละ 16.9 จากระยะเดียวกันปีก่อน และเมื่อพิจารณาการขยายตัวไตรมาสต่อไตรมาสพบว่า เป็นการขยายตัวของสินเชื่อรถยนต์จากการฟื้นตัวของผู้ผลิตรถยนต์ และผลของนโยบายคืนภาษีรถยนต์คันแรก และสินเชื่อที่อยู่อาศัยที่เพิ่มสูงขึ้นต่อเนื่องในไตรมาส 2

เงินฝากขยายตัวเร่งขึ้น ขณะที่ B/E หดตัว เนื่องจากผลของมาตรการเงินนำส่งชำระหนี้กองทุน เพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน (FIDF) ในอัตราร้อยละ 0.46 และหลักเกณฑ์การออกตั๋วเงินเพื่อระดมทุนที่เข้มงวดขึ้น เงินฝากรวม B/E จึงขยายตัวร้อยละ 10.1 จากระยะเดียวกันปีก่อน อย่างไรก็ดี การเพิ่มขึ้นของเงินฝากและ B/E ที่น้อยกว่าสินเชื่อ ส่งผลให้สภาพคล่องของระบบธนาคารพาณิชย์ตึงตัวขึ้น โดยสัดส่วนสินเชื่อต่อเงินฝากรวม B/E เพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 92.4 จากร้อยละ 90.2 ในไตรมาสก่อนสินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได ? (NPL) มียอดคงค้าง 262.8 พันล้านบาท ลดลงสุทธิ 7.2 พันล้านบาทจากไตรมาสก่อน ตามการลดลงของ NPL ในสินเชื่อธุรกิจเป็นสำคัญ ส่งผลให้สัดส่วน Gross NPL ต่อ

สินเชื่อรวมลดลงจากร้อยละ 2.6 เหลือร้อยละ 2.5 ทั้งนี้ สินเชื่อธุรกิจมีสัดส่วน Gross NPL ต่อสินเชื่อรวมลดลงต่อเนื่องเหลือร้อยละ 2.7 โดยลดลงในเกือบทุกภาคธุรกิจ ขณะที่สินเชื่ออุปโภคบริโภคมียอดคงค้างN PLเพิ่มขึ้นจากสินเชื่อรถยนต์และสินเชื่อส่วนบุคคล แต่สัดส่วน NPL ของสินเชื่ออุปโภคบริโภคยังทรงตัวที่ร้อยละ2.1 จากสินเชื่อที่ขยายตัวสูง อนึ่ง สัดส่วนสินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้หลังหักสำรอง (Net NPL) ต่อสินเชื่อรวมลดลงเช่นกัน เหลือร้อยละ 1.2 สำหรับสินเชื่อจัดชั้นกล่าวถึงเป็นพิเศษ (Delinquent loan) มีสัดส่วนต่อสินเชื่อรวมลดลงเหลือร้อยละ 1.9 โดยลดลงทั้งในสินเชื่อธุรกิจและสินเชื่ออุปโภคบริโภค

ในไตรมาส 2 ปี 2555 ระบบธนาคารพาณิชย์มีกำไรสุทธิ 49.1 พันล้านบาท เพิ่มขึ้นจากไตรมาสก่อนร้อยละ 20.7 ส่วนหนึ่งเป็นผลจากการลดอัตราภาษีเงินได้นิติบุคคล ทำให้อัตราผลตอบแทนต่อสินทรัพย์เฉลี่ย (Return on Asset : ROA) เพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 1.43 นอกจากนี้ อัตราส่วนรายได้ดอกเบี้ยสุทธิต่อสินทรัพย์เฉลี่ย (Net Interest Margin : NIM) เพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 2.56 จากรายได้ดอกเบี้ยสุทธิที่เพิ่มขึ้นตามปริมาณสินเชื่อทขี่ ยายตัวสูง และคุณภาพสินเชื่อที่ดีขึ้นตาม NPL ที่ลดลง

ระบบธนาคารพาณิชย์มีเงินกองทุนเพิ่มขึ้นจากกำไรที่มีอย่างต่อเนื่องและการออกหุ้นกู้ด้อยสิทธิระยะยาวที่นับเป็นเงินกองทุนชั้นที่ 2 อย่างไรก็ดี สินทรัพย์เสี่ยงที่เพิ่มขึ้นตามสินเชื่อที่ขยายตัวส่งผลให้อัตราส่วนเงินกองทุนต่อสินทรัพย์เสี่ยง (BIS Ratio) ลดลงเล็กน้อยเหลือร้อยละ 15.0 และอัตราส่วนเงินกองทุนชั้นที่ 1 ต่อสินทรัพย์เสี่ยง (Tier-1 Ratio) ลดลงเหลือร้อยละ 11.2 ยังเพียงพอที่จะรองรับการขยายตัวของสินเชื่อในระยะต่อไป

ที่มา: ธนาคารแห่งประเทศไทย


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ