การสัมมนาวิชาการประจำปี 2555 ของธนาคารแห่งประเทศไทย

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday August 15, 2012 13:53 —ธนาคารแห่งประเทศไทย

ฉบับที่ 42/2555

นายไพบูลย์ กิตติศรีกังวาน ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายนโยบายการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) แถลงข่าวการจัดสัมมนาวิชาการประจาปี 2555 ของ ธปท. เรื่อง “บทบาทหน้าที่ของธนาคารกลางท่ามกลางความเปลี่ยนแปลง (Central Banking Amidst Global Changes)” ในวันที่ 24-25 กันยายน 2555 ณ ห้องบางกอกคอนเวนชั่น โรงแรมเซ็นทาราแกรนด์ กรุงเทพมหานคร

แรงจูงใจที่จัดสัมมนาหัวข้อนี้ มี 3 ประการ

ประการแรก ปีนี้เป็นปีพิเศษ ครบรอบ 70 ปีของการก่อตั้ง ธปท. ซึ่งถือเป็นโอกาสอันดีที่จะย้อนกลับมาดูตัวเอง เพื่อทบทวนบทบาทหน้าที่และนโยบายของธนาคารอย่างรอบด้าน

ประการที่สอง สภาพแวดล้อมของโลกเปลี่ยนไป ปัญหาวิกฤตเศรษฐกิจการเงินโลกที่เกิดขึ้น ได้ผลักดันให้ธนาคารกลางหลายประเทศทำมาตรการที่ไม่เคยทำมาก่อน จนเกิดคำถามว่าขอบเขตหน้าที่ ที่เหมาะสมของธนาคารกลางอยู่ที่ใด ธนาคารกลางเสี่ยงต่อการสูญเสียอิสระในการดำเนินงานหรือไม่ พันธกิจและวิธีการดั้งเดิมของธนาคารกลางยังใช้ได้กับภาวะแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงไปหรือไม่ และผลกระทบในระยะยาวต่อระบบเศรษฐกิจและการเงินจะเป็นอย่างไร

ประการที่สาม ในประเทศไทยเองก็มีคำถามหลายข้อ อาทิ ภายใต้สภาวะแวดล้อมของโลก ที่เปลี่ยนไป กรอบนโยบายการเงินที่ใช้เงินเฟ้อเป็นเป้าหมายยังเหมาะสมกับประเทศไทยซึ่งเป็นเศรษฐกิจ แบบเปิดขนาดเล็กหรือไม่ การขาดทุนของ ธปท. ในช่วงที่ผ่านมาจะมีผลต่อการดำเนินนโยบายหลักของธนาคารในระยะต่อไปหรือไม่อย่างไร รวมถึงมีการเรียกร้องให้ ธปท. ทำมาตรการที่อาจคาบเกี่ยวเส้นแบ่งนโยบายการเงินและนโยบายการคลังมากขึ้น เป็นต้น ฉะนั้น ธปท. จึงเห็นควรเปิดเวทีสาธารณะเพื่อไขข้อข้องใจเหล่านี้ พร้อมรับฟังความเห็นจากนักวิชาการและสาธารณชนที่อิงกับหลักวิชาและข้อเท็จจริง ที่อาจนำไปสู่ การปรับปรุงเปลี่ยนแปลงที่ดีขึ้น

รูปแบบการสัมมนาแบ่งออกเป็นสองส่วน ส่วนแรก เป็นการนำเสนองานวิจัยของพนักงาน ธปท. รวม 5 บทความ โดยมีผู้ทรงคุณวุฒิจากภายนอกเป็นผู้วิจารณ์แต่ละบทความ ทั้งนี้ โจทย์สำคัญเกี่ยวกับบทบาทหน้าที่ของธนาคารกลาง ที่นักวิจัยจะพยายามให้คำตอบสำหรับ ธปท. ท่ามกลางการเปลี่ยนแปลงของโลก อาทิ

1. หลักการพื้นฐานของการทำหน้าที่ธนาคารกลางที่ดี และบทบาทที่ได้เปลี่ยนแปลงไปตามสภาวะแวดล้อมในปัจจุบัน รวมถึงที่จะเกิดขึ้นในอนาคต

2. วิกฤตการเงินโลกชี้ให้เห็นว่าการดำเนินนโยบายการเงินที่มุ่งดูแลเสถียรภาพด้านราคาไม่สามารถป้องกันวิกฤตเศรษฐกิจโลกที่รุนแรงที่สุดในรอบหลายสิบปีได้ ภายใต้บทเรียนนี้ การรักษาเสถียรภาพราคา ยังควรเป็นเป้าหมายหลักของนโยบายการเงินต่อไปหรือไม่ เพราะอะไร

3. เครื่องมือดำเนินนโยบายการเงินที่เหมาะสมของไทยควรเป็นอะไร อัตราดอกเบี้ย อัตราแลกเปลี่ยนหรืออย่างอื่น และจากการศึกษาประสบการณ์ของประเทศต่างๆ ปัจจัยอะไรเป็นตัวกำหนดทางเลือกที่เหมาะสม

4. บทบาทที่เหมาะสมของ ธปท. ในการรักษาเสถียรภาพระบบการเงิน การป้องกันและแก้ไขวิกฤตการเงิน ตลอดจนการพัฒนาระบบสถาบันการเงินเพื่อสนับสนุนภาคเศรษฐกิจจริง

5. ผลกำไรขาดทุนของธนาคารกลางประเทศต่างๆ ในระยะหลัง เกิดจากอะไร อันตรายและต้องแก้ไขหรือไม่ อย่างไร และมีผลกระทบต่อการทำหน้าที่หลักของธนาคารกลางหรือไม่ กรณีของ ธปท. แตกต่างจากประเทศอื่นหรือไม่

สำหรับการสัมมนาใน ส่วนที่สอง จะเป็นการเสวนาระดมความคิดเห็นจากอดีตรัฐมนตรี 3 ท่าน ซึ่งมีประสบการณ์ทั้งในแวดวงการเมือง การเงิน และการธนาคาร โดยเฉพาะที่เกี่ยวข้องกับ ธปท. มาอย่างยาวนานเพื่อให้มุมมองและวิสัยทัศน์เกี่ยวกับบทบาทหน้าที่ที่เหมาะสมของ ธปท. ในอนาคต ท่ามกลางความเปลี่ยนแปลงของโลกที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว

ม.ร.ว. ปรีดิยาธร เทวกุล          อดีตรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง

อดีตผู้ว่าการ ธนาคารแห่งประเทศไทย

ดร. ณรงค์ชัย อัครเศรณี            กรรมการนโยบายการเงิน

อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์

คุณธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล          อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง

อดีตเลขาธิการ สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์

อดีตรองผู้ว่าการ ธนาคารแห่งประเทศไทย

โดยมี ดร. อัจนา ไวความดี         ประธานกรรมการ บริษัทบริหารสินทรัพย์ กรุงเทพพาณิชย์ จำกัด

อดีตรองผู้ว่าการ ธนาคารแห่งประเทศไทยเป็นผู้ดำเนินการเสวนา

ธปท. จะจำหน่ายบัตรเข้าร่วมการสัมมนาตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป ในราคาบัตรใบละ 3,000 บาท ผู้สนใจสามารถสำรองที่นั่ง/ซื้อบัตร และสอบถามเพิ่มเติมได้ที่ สายนโยบายการเงิน ธปท. โทร. 0 2283 6980-1 0 2356 7389 โทรสาร 0 2282 5082 หรือ E-mail: WebTeam@bot.or.th

ที่มา: ธนาคารแห่งประเทศไทย


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ