FAQ Issue 67: วิกฤติหนี้สาธารณะในละตินอเมริกา: บทเรียนที่ไม่ควรละเลย

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday April 17, 2012 16:04 —ธนาคารแห่งประเทศไทย

FOCUSED AND QUICK (FAQ) Issue 67

วิกฤติหนี้สาธารณะในละตินอเมริกา: บทเรียนที่ไม่ควรละเลย

ณัฐิกานต์ วรสง่าศิลป์

Summary

วิกฤติหนี้ละตินอเมริกามักถูกหยิบยกขึ้นมาเป็นกรณีศึกษาเปรียบเทียบ ทั้งกับวิกฤติการเงินในเอเชียปี 1997 และวิกฤติหนี้สาธารณะในกลุ่มสหภาพยุโรป โดยวิกฤตินี้มีสาเหตุหลักมาจากการขาดวินัยทางการคลังมากผ่านการใช้จ่ายภาครัฐที่เกินตัว ประกอบกับภาครัฐและภาคเอกชนก่อหนี้ต่างประเทศเพิ่มขึ้นหลังการเปิดเสรีทางการเงิน การจัดการอัตราแลกเปลี่ยนที่ไม่มีประสิทธิภาพ และการชดเชยการขาดดุลภาครัฐโดยการพิมพ์ธนบัตรดังนั้น ประสบการณ์ที่ได้จากวิกฤตินี้ให้บทเรียนที่สำคัญและเป็นประโยชน์ต่อการดำเนินนโยบายการเงินการคลังว่าการก่อหนี้สาธารณะควรให้สอดคล้องกับฐานะทางเศรษฐกิจและอยู่ในระดับที่สามารถใช้คืนได้ควบคู่กับการระมัดระวังการก่อหนี้ต่างประเทศของภาครัฐ ขณะเดียวกันการใช้จ่ายด้านสวัสดิการสังคมมีความจำเป็นแต่ควรใช้จ่ายในระดับที่เหมาะสมและมีประสิทธิภาพ การเปิดเสรีทางการเงินจำเป็นต้องให้อัตราแลกเปลี่ยนสามารถปรับตัวอย่างเหมาะสม และการชดเชยการขาดดุลภาครัฐโดยการพิมพ์ธนบัตรสามารถสร้างผลเสียหายต่อเศรษฐกิจอย่างประเมินค่าไม่ได้ ทำให้หลายประเทศมีกฎหมายห้ามไม่ให้ธนาคารกลางดำเนินการเช่นนี้

บทนำ

ปัญหาหนี้สาธารณะในละตินอเมริกามักถูกหยิบยกขึ้นมาเป็นกรณีศึกษาเปรียบเทียบทั้งกับวิกฤติการเงินในเอเชียปี 1997 และวิกฤติหนี้สาธารณะในยุโรปในปัจจุบัน

การศึกษานี้จึงมีวัตถุประสงค์เพื่อนำเสนอที่มาของวิกฤติหนี้สาธารณะในละตินอเมริกาในช่วงทศวรรษ 1980 ชี้ให้เห็นบทเรียนที่เป็นประโยชน์และข้อเสนอแนะเชิงนโยบายเศรษฐกิจของประเทศกำลังพัฒนาอื่นๆ

1. วิกฤติหนี้สาธารณะในละตินอเมริกาเกิดขึ้นได้อย่างไร?

ละตินอเมริกาเป็นภูมิภาคหนึ่งที่มีทรัพยากรด้านสินค้าโภคภัณฑ์ที่สำคัญ อาทิ น้ำมัน เหล็กทองแดง ที่สร้างความมั่งคั่งสามารถเป็นฐานให้เกิดการพัฒนาทางเศรษฐกิจ แต่กลับต้องเผชิญกับวิกฤติหนี้สาธารณะโดยเฉพาะหนี้ต่างประเทศครั้งรุนแรงที่เร่งตัวขึ้นตั้งแต่ปี 1980 โดยหนี้ต่างประเทศภาครัฐต่อ GDP เฉลี่ยของภูมิภาคสูงสุดถึงประมาณร้อยละ 80 ในปี 1987 และต้องเผชิญกับเศรษฐกิจตกต่ำอย่างหนักในเวลาต่อมาจนถูกมองว่า เป็น “The Lost Decade” ของภูมิภาคนี้

งานการศึกษาในอดีตพบว่า สาเหตุสำคัญของปัญหาหนี้สาธารณะในละตินอเมริกาเกิดจาก

(1) การใช้จ่ายด้านสวัสดิการสังคมของภาครัฐในระดับสูง ในช่วง 3 ทศวรรษ ระหว่างปี1970-2000 หลายประเทศในละตินอเมริกา เช่น อาร์เจนติน่า (ARG) บราซิล (BRA) ชิลี (CHI) และอุรุกวัย (URU) มีสัดส่วนการใช้จ่ายด้านสวัสดิการสังคมของภาครัฐต่อ GDP สูงกว่าค่าเฉลี่ยทั่วโลกซึ่งอยู่ที่ร้อยละ 8.8 โดยเฉพาะอุรุกวัยที่มีสัดส่วนสูงถึงเกือบร้อยละ 20 ส่วนหนึ่งมาจากการดำเนินนโยบายเพื่อปกป้องฐานอำนาจและผลประโยชน์ของนักการเมือง*(1)

(2) ภาครัฐและภาคเอกชนก่อหนี้ต่างประเทศเพิ่มขึ้นหลังการเปิดเสรีทางการเงินกล่าวคือ ประเทศต่างๆ ในละตินอเมริกาเริ่มทยอยเปิดเสรีทางการเงินในช่วงต้นทศวรรษ 1970 ทำให้อุปทานเงินจำนวนมากไหลเข้ามาในภูมิภาคตามการขยายตัวของระบบธนาคารระหว่างประเทศมากขึ้น*(2) และมีการแข่งขันกันรุนแรงระหว่างธนาคารในการปล่อยสินเชื่อจนกระทั่งอัตราดอกเบี้ยที่แท้จริงต่ำหรือติดลบ นอกจากนี้ รัฐวิสาหกิจในกลุ่มละตินอเมริกาที่ส่วนใหญ่ดูแลกิจการสาธารณูปโภคและเป็นผู้ส่งออกน้ำมัน และสินแร่*(3) จึงหันมากู้เงินจากต่างประเทศ มากขึ้นเพราะมีอัตราดอกเบี้ย (LIBOR) ที่ได้รับต่ำกว่าการกู้ยืมในประเทศ จะเห็นว่า สัดส่วนหนี้ต่างประเทศภาครัฐต่อ GDP ของทุกประเทศในภูมิภาคระหว่างปี 1974-1982 เริ่มเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับช่วงปี 1965-1973 จึงเป็นสัญญาณแรกของวิกฤติหนี้สาธารณะในละตินอเมริกา

(3) การจัดการอัตราแลกเปลี่ยนที่ไม่มีประสิทธิภาพ หลังจากเปิดเสรีทางการเงินแล้วประเทศในกลุ่มละตินอเมริกาส่วนใหญ่ยังใช้นโยบายอัตราแลกเปลี่ยนคงที่ ขณะที่ตลาดสินค้าและตลาดแรงงานกลับไม่สามารถเคลื่อนไหวได้อย่างเสรี*(4) การปรับตัวจึงไม่ยืดหยุ่น เมื่อเงินทุนไหลเข้ามากและการนำเข้าเพิ่มขึ้นจากการนำเข้าสินค้าขั้นกลาง จึงเกิดปัญหาการขาดดุลบัญชีเดินสะพัด ส่งผลให้ค่าเงินแข็งกว่าพื้นฐานทางเศรษฐกิจ ประกอบกับอัตราเงินเฟ้อสูงขึ้นจากราคาน้ำมัน และเพื่อรักษาเสถียรภาพด้านราคา ธนาคารกลางหลายแห่งจึงนำระบบอัตราแลกเปลี่ยนที่ยืดหยุ่นขึ้น (Crawling Peg Regime) มาใช้ในช่วงปลายทศวรรษที่ 1970*(5) ทำให้ค่าเงินในภูมิภาคจึงอ่อนค่าลงจึงส่งผลให้ภาระหนี้ต่างประเทศในรูปสกุลดอลลาร์เพิ่มมากขึ้นเมื่อเทียบกับสกุลเงินภายในประเทศ

นอกจากนี้ เมื่ออัตราดอกเบี้ยในสหรัฐฯ ซึ่งเป็นประเทศผู้ให้กู้สำคัญของภูมิภาคนี้ เร่งตัวสูงขึ้นตั้งแต่เดือนสิงหาคม 1979 และเคลื่อนไหวอยู่ในระดับสูงจนถึงปี 1982 เป็นจากการจำกัด ปริมาณเงินของธนาคารกลางสหรัฐฯ (Federal Reserve) เพื่อแก้ปัญหาเงินเฟ้อสูง ส่งผลให้สภาพคล่องในละตินอเมริกาลดลงอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้พร้อมกับอัตราดอกเบี้ยปรับตัวเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว*(6) ตลาดการเงินภายในภูมิภาคตึงตัวขึ้นเป็นลำดับ ในที่สุดได้นำไปสู่ปัญหาล้มละลายของผู้กู้ และเงินทุนจานวนมากไหลออกอย่างต่อเนื่อง และธนาคารพาณิชย์จานวนมากต้องปิดตัวลง จึงส่งผลกระทบระบบเศรษฐกิจและการเงินอย่างรุนแรง

ในที่สุด รัฐบาลเม็กซิโกเริ่มมีปัญหาการจ่ายคืนหนี้สินต่างประเทศและต้องขอความช่วยเหลือทางการเงินจากกองทุนการเงินระหว่างประเทศ(IMF) ในปี 1982 และปัญหาในหลายประเทศของภูมิภาคนี้ปะทุขึ้นมาเป็นลำดับ และภูมิภาคนี้จึงเข้าสู่ภาวะเศรษฐกิจถดถอยรุนแรง

(4) การดำเนินนโยบายเพื่อชดเชยการขาดดุลภาครัฐโดยการพิมพ์ธนบัตร กล่าวคือ จากปัญหาเศรษฐกิจถดถอย รายได้ภาครัฐไม่พอกับรายจ่าย รัฐบาลจึงดำเนินมาตรการเพื่อแก้ปัญหาการขาดดุลหลายประการ อาทิ การออกพันธบัตรแต่พันธบัตรของรัฐบาลไม่ได้รับความเชื่อถือ จึงไม่สามารถระดมเงินได้เพียงพอกับการชดเชยขาดดุล*(7) ส่งผลให้หลายประเทศ อาทิ อาร์เจนตินา บราซิล และเปรู เปลี่ยนมาแก้ปัญหาโดยให้ธนาคารกลางพิมพ์ธนบัตรเพื่อชดเชยการขาดดุลจึงเป็นผลให้ปริมาณเงินในระบบเพิ่มขึ้นและเกิดปัญหาเงินเฟ้อตามมา จึงสร้างความกังวลต่อผู้ให้กู้จนไม่กล้าปล่อยสินเชื่อ และเงินทุนไหลออกจากภูมิภาคนี้อย่างรวดเร็ว ส่งผลให้รัฐบาลยิ่งต้องให้ธนาคารกลางพิมพ์ธนบัตรเพิ่มขึ้นเพื่อแก้ปัญหา จนเกิดเป็นวงจรอุบาทว์ (Vicious Cycle) ที่นำมา สู่ปัญหาเงินเฟ้อขั้นรุนแรง(Hyperinflation)*(8) ในอาร์เจนตินา (ARG) บราซิล (BRA) และเปรู (PER) โดยที่อัตราเงินเฟ้อเฉลี่ยต่อปีในช่วงเวลาดังกล่าวสูงถึงประมาณ 1,000% หรืออีกนัยหนึ่ง ราคาสินค้าเพิ่มขึ้นประมาณ 10 เท่าต่อปี

2. บทเรียนจากวิกฤติหนี้สาธารณะในละตินอเมริกา

วิกฤติหนี้สาธารณะในละตินอเมริกาได้สร้างบทเรียนสาคัญต่อการดำเนินนโยบายเศรษฐกิจแก่ประเทศกาลังพัฒนาอื่นๆ ดังนี้

(1) การก่อหนี้สาธารณะในระดับสูงเป็นการสร้างภาระหนี้ในอนาคตและมีต้นทุนการกู้ยืมที่สูงขึ้น การที่รัฐบาลละตินอเมริกามีหนี้สาธารณะในระดับสูงย่อมสร้างภาระผูกพันในการจ่ายเงินต้นและดอกเบี้ยผ่านงบประมาณประจาปีมากเช่นกัน จนเป็นเหตุให้เกิดการขาดดุลงบประมาณมากขึ้นตามไปด้วย ซึ่งปัญหาการขาดดุลงบประมาณสะสมในระดับสูงจะส่งผลให้ความน่าเชื่อถือทางการเงินของประเทศลดลงนาไปสู่ต้นทุนการกู้ยืมเงินที่สูงขึ้น และจะส่งผลกระทบต่อภาระงบประมาณให้สูงขึ้นในที่สุดจนเกิดวงจรหนี้ไม่สิ้นสุด (Debt Spiral) ได้นอกจากนี้ การที่หนี้สาธารณะส่วนใหญ่เป็นหนี้ ต่างประเทศก็จะมีความเสี่ยงของอัตราแลกเปลี่ยนที่จะทาให้มูลหนี้ในรูปสกุลเงินภายในประเทศสูงขึ้นซึ่งจะเป็นการซ้าเติมวงจร Debt Spiral ให้รุนแรงขึ้น ตัวอย่างเช่น อาร์เจนตินา บราซิล ที่หนี้ต่างประเทศเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ทศวรรษที่1980 จนถึงทศวรรษที่ 2000 เป็นต้น นอกจากนี้ปัญหาหนี้ต่างประเทศสามารถส่งผลต่อการรักษาเสถียรภาพด้านต่างประเทศของธนาคารกลางในอีกทางหนึ่งด้วย

หนี้สาธารณะที่มาจากนโยบายรัฐสวัสดิการในกลุ่มประเทศละตินอเมริกาส่งผลให้รัฐมีรายจ่ายผูกพันสูงมาก เช่น อาร์เจนตินา รัฐบาลปรับค่าจ้างเพิ่มขึ้นร้อยละ 30 แต่กลับห้ามผู้ประกอบการขึ้นราคาสินค้าทำให้ภาคการผลิตอ่อนแอ และไม่จูงใจในการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต*(9) ทำให้รายได้ภาษีที่พึงได้จากกำไรของผู้ประกอบการลดลงไปด้วย นอกจากนี้ ภาระรายจ่ายอย่างไม่มีประสิทธิภาพเช่นนี้ กลับลดทอนงบประมาณเพื่อการลงทุนในระยะยาวของรัฐบาลทั้ง ในด้านการลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน (Physical infrastructure) และการศึกษา (Social infrastructure) ที่มีส่งเสริมความสามารถในการแข่งขันและการพัฒนาศักยภาพเศรษฐกิจในระยะยาว

(2) การเปิดเสรีนำเข้าเงินทุนที่ไม่สอดคล้องกับระดับการพัฒนาโครงสร้างทางเศรษฐกิจและการเงิน และ การบริหารจัดการอัตราแลกเปลี่ยนอาจสร้างผลกระทบทางลบมากกว่าทางบวกต่อเสถียรภาพระบบการเงินกล่าวคือ การเปิดเสรีทางการเงินมีผลบวกต่อเศรษฐกิจ คือ ทำให้มีเงินทุนไหลเข้าประเทศจานวนมาก ภาครัฐและเอกชนสามารถระดมเงินทุนอัตราดอกเบี้ยต่าจากต่างประเทศมากขึ้น แต่ผลลบเป็นสิ่งที่ยากจะควบคุมเช่นกัน เพราะพื้นฐานเศรษฐกิจละตินอเมริกาที่ขึ้นกับภาคเกษตรและอุตสาหกรรมที่ผลิตเพื่อทดแทนการนำเข้า สินค้านำเข้าส่วนใหญ่จึงเป็นการสินค้าขั้นกลางที่เป็นเครื่องจักรและอุปกรณ์จึงก่อให้เกิดปัญหาการขาดดุลบัญชีเดินสะพัดตามมาอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ในที่สุด ปัญหานี้ส่งผลต่อเนื่องไปสู่ปัญหาด้านอัตราแลกเปลี่ยนและหนี้ต่างประเทศในรูปสกุลเงินในประเทศเร่งตัวสูงขึ้น

ในด้านการดูแลเสถียรภาพระบบการเงินเงินทุนจากต่างประเทศที่ไหลเข้ามาอย่างมากทาให้ตลาดการเงินขยายตัวอย่างรวดเร็วส่งผลให้การดูแลเสถียรภาพระบบการเงินยากและซับซ้อนขึ้นเพราะต้อง Trade off ระหว่างการพัฒนาและขยายตัวอย่างรวดเร็วของตลาดเงินกับความเสี่ยงที่ตามมา

(3) การขาดดุลงบประมาณในระดับสูงมีนัยต่อการดำเนินนโยบายการเงินของธนาคารกลาง*(10) โดยเฉพาะกรณีธนาคารกลางในกลุ่มประเทศละตินอเมริกาพิมพ์เงินเพื่อชดเชยการขาดดุลงบประมาณก่อให้เกิดปัญหา Hyperinflation*(11)

3. สรุปและข้อเสนอแนะเชิงนโยบาย

วิกฤติหนี้ละตินอเมริกามักถูกหยิบยกขึ้นมาเป็นกรณีศึกษาเปรียบเทียบ ทั้งกับวิกฤติการเงินในเอเชียปี 1997 และวิกฤติหนี้สาธารณะในกลุ่มสหภาพยุโรป โดยวิกฤตินี้มีสาเหตุหลักมาจากการขาดวินัยทางการคลังมาก ผ่านการใช้จ่ายภาครัฐที่เกินตัว ประกอบกับภาครัฐและภาคเอกชนก่อหนี้ต่างประเทศเพิ่มขึ้นหลังการเปิดเสรีทางการเงินการจัดการอัตราแลกเปลี่ยนที่ไม่มีประสิทธิภาพและการชดเชยการขาดดุลภาครัฐโดยการพิมพ์ธนบัตร

ดังนั้น ประสบการณ์ที่ได้จากวิกฤตินี้ให้บทเรียนที่สำคัญต่อผู้ดำเนินนโยบายเศรษฐกิจที่ไม่ควรละเลยและนัยเชิงนโยบายที่เกี่ยวข้อง คือ การก่อหนี้สาธารณะควรให้สอดคล้องกับฐานะทางเศรษฐกิจและอยู่ในระดับที่สามารถใช้คืนได้ ควบคู่กับการระมัดระวังการก่อหนี้ต่างประเทศของภาครัฐ เพื่อไม่เป็นภาระต่องบประมาณในอนาคตรวมทั้งรักษาวินัยทางการคลัง (Fiscal Discipline)*(12) อย่างเข้มงวดต่อเนื่อง นอกจากนี้ การศึกษานี้ยังชี้ให้เห็นว่าวิธีการระดมเงินเพื่อชดเชยการขาดดุลงบประมาณของรัฐมีนัยต่อตลาดเงินและการดำเนินนโยบายการเงิน

จากการศึกษาในไทยและต่างประเทศ*(13) พบว่า รัฐบาลมักมีแรงจูงใจที่จะดำเนินนโยบายแบบตามวัฏจักรเศรษฐกิจ (Pro-cyclical Policy) แต่ระยะหลังเป็นที่ยอมรับกันว่า การดาเนินนโยบายการคลังแบบต่อต้านวัฏจักรเศรษฐกิจ (Countercyclical policy) ที่รัฐบาลดำเนินนโยบายการคลังแบบหดตัวในช่วงที่เศรษฐกิจขยายตัวดี และดำเนินนโยบายการคลังแบบขยายตัวในช่วงที่เศรษฐกิจตกต่ำจะทำให้ฐานะทางการคลังสามารถรองรับความผันผวนจากวัฏจักรเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นในระยะสั้นและมีความยั่งยืนทางการคลังในระยะยาว

ในด้านการใช้จ่ายด้านสวัสดิการสังคมมีความจำเป็นแต่ควรใช้จ่ายในระดับที่เหมาะสมและมีประสิทธิภาพ กล่าวคือ ควรคำนึงถึงความคุ้มค่าทางเศรษฐกิจและความสามารถในสร้างแรงจูงใจที่เหมาะสมในระบบเศรษฐกิจ โดยควรจัดสรรไปในโครงการที่ก่อให้เกิดการพัฒนาศักยภาพการผลิตของประเทศในระย ยาว เช่น การลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานทางเศรษฐกิจ การวิจัยและพัฒนารวมทั้งการฝึกอบรมฝีมือแรงงงานให้สูงขึ้น เป็นต้น

สำหรับการเปิดเสรีนำเข้าเงินทุน ควรต้องสอดคล้องกับระดับการพัฒนาโครงสร้างทางเศรษฐกิจและการเงิน และ การบริหารจัดการอัตราแลกเปลี่ยนที่สามารถปรับตัวอย่างเหมาะสมเพื่อช่วยบรรเทาผลกระทบที่คาดไม่ถึงจากต่างประเทศ ขณะเดียวกัน ตลาดภายในประเทศสามารถได้รับสัญญาณการปรับตัวของตลาดที่ชัดเจนกว่าการกำหนดให้อัตราแลกเปลี่ยนอยู่ที่ระดับใดระดับหนึ่ง

*(1) ไสว บุญมา, ประชานิยม : หายนะจากอาร์เจนตินาถึงไทย?, 2003.

*(2) โดยมีสาขาธนาคารจากต่างประเทศเข้ามาเปิดทำการในภูมิภาคนี้เพิ่มขึ้นเฉลี่ย 65 แห่งต่อปีระหว่างปี 1976-1980 (Robert Devlin and Ricardo Ffrench-Davis, 1995)

*(3) Raymond Vernon, State-Owned Enterprises in Latin-American Exports, 1981.

*(4) Anoop Singh, Macroeconomic Volatility: The Policy Lessons from Latin America, 2006.

*(5) Roberto Frankel and Martin Rapetti, A Concise History of Exchange Rate Regimes in Latin America, 2010.

*(6) อัตราดอกเบี้ยในละตินอเมริกาเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว โดยในปี 1982 อัตราดอกเบี้ยในตลาดสูงถึงร้อยละ 16 (Devlin and Ffrench-Davis, 1995) ขณะที่ในช่วงวิกฤต ไม่ปรากฏข้อมูลอัตราดอกเบี้ยที่แท้จริง จึงอาจสันนิษฐานได้ว่าตลาดการเงินในขณะนั้นไม่สามารถทำงานได้อย่างสมบูรณ์ (Bertola and Ocampo, 2012)

*(7) ในภาวะเช่นนี้ รัฐบาลอาร์เจนตินายังไม่ลดค่าใช้จ่าย แต่กลับเพิ่มค่าจ้างแรงงานให้ข้าราชการและกรรมกร และช่วยเหลือคนยากจนที่ได้รับผลกระทบจากเศรษฐกิจตกต่ำ(ไสว บุญมา, 2003)

*(8) Hyperinflation คือ ภาวะเงินเฟ้อที่ไม่สามารถควบคุมได้เกิดจากการที่ปริมาณเงินหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจมีมากเกินไปเมื่อเทียบกับปริมาณสินค้าและบริการ

*(9) ไสว บุญมา, ประชานิยม : หายนะจากอาร์เจนตินาถึงไทย?, 2003.

*(10) ในกรณีทั่วไป หากรัฐบาลชดเชยการขาดดุลงบประมาณจากการกู้ยืมจากตลาดเงินภายในประเทศมาก จะส่งผลให้ต้นทุนการกู้ยืมเงินของภาคเอกชนสูงขึ้น และเงินทุนสำหรับการลงทุนภาคเอกชนไม่เพียงพอ (Crowding out effect) ซึ่งอาจทำให้เศรษฐกิจไม่สามารถเติบโตได้ตามศักยภาพและอาจเป็นอุปสรรคต่อการเติบโตของเศรษฐกิจได้ในระยะยาว นอกจากนี้ หากธนาคารพาณิชย์ถือพันธบัตรรัฐบาลที่ระดมเงินจากตลาดเงินในประเทศมากขึ้นจะส่งผลให้กระบวนการส่งผ่านนโยบายการเงิน (Transmission mechanism of monetary policy) มีประสิทธิภาพ น้อยลงจากภาวะที่ธนาคารพาณิชย์สามารถขยายสินเชื่อได้ในช่วงที่ธนาคารกลางใช้นโยบายการเงินแบบหดตัว(Chrystal, 1999)

*(11) Hyperinflations are always caused by public budget deficits which are largely financed by money creation (Bernholz, 2003)

*(12) หมายถึง การไม่ใช้จ่ายเกินตัวของภาครัฐ การจัดสรรและใช้จ่ายงบประมาณอย่างเหมาะสมและมีประสิทธิภาพ การหารายได้ให้เพียงพอกับรายจ่าย การรักษาเงินคงคลังให้อยู่ในระดับที่เหมาะสม และการบริหารหนี้สาธารณะให้อยู่ในระดับที่สามารถใช้คืนได้และไม่เป็นภาระต่องบประมาณในอนาคต (สมชัย สัจจพงษ์และคณะ, 2008)

*(13) สมชัย สัจจพงษ์ และคณะ, การศึกษาวินัยทางการคลังของประเทศไทย (อดีตสู่ปัจจุบัน) และแนวทางในการ เสริมสร้างวินัยทางการคลังตามหลักสากล, 2008 และ Mario Gutierrez and Julio E. Revilla, Building Countercyclical Fiscal Policies in Latin America: The International Experience, 2010

นอกจากนี้ การชดเชยการขาดดุลภาครัฐโดยการพิมพ์ธนบัตรสามารถสร้างผลเสียหายต่อเศรษฐกิจ จากปัญหา Hyperinflation ทั้งนี้ จากประสบการณ์ในอดีตของการพิมพ์ธนบัตรจนเกิดปัญหานี้ จนทำให้หลายประเทศในโลกมีกฎหมายห้ามไม่ให้ธนาคารกลางดำเนินการเช่นนี้

Contact authors :

ณัฐิกานต์ วรสง่าศิลป์

นักวิจัยอาวุโส ฝ่ายวิจัยเศรษฐกิจ สายนโยบายการเงิน NutthikV@bot.or.th

บทความนี้สาเร็จลุล่วงไปได้ด้วยดีเพราะความ ช่วยเหลือและคำแนะนำจากคุณปฤษันต์ จันทน์หอม คุณนพดล บูรณะธนัง คุณศุภโชค ถาวรไกรวงศ์ คุณสุรัช แทนบุญ คุณทศพล อภัยทาน คุณพรเพ็ญ สดศรีชัย คุณพรรณพิลาส เรืองวิสุทธิ์ คุณคุณทิพย์ ตรงธรรมกิจ คุณธีรวิทย์ พบสุขหิรัญ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง คุณเสาวณี จันทะพงษ์ ที่กรุณาช่วยเติมเต็มเนื้อหาให้สมบูรณ์ขึ้น ผู้เขียนขอขอบพระคุณเป็นอย่างสูงมา ณ ที่นี้

References (in Thai)

สมชัย สัจจพงษ์ และคณะ, การศึกษาวินัยทางการคลัง ของประเทศไทย (อดีตสู่ปัจจุบัน) และแนวทางใน การเสริมสร้างวินัยทางการคลังตามหลักสากล, สำนักงานนโยบายการคลัง สำนักงานเศรษฐกิจ การคลัง, กันยายน 2551.

ไสว บุญมา, ประชานิยม: หายนะจากอาร์เจนตินา ถึง ไทย?, เนชั่นบุ๊คส์ อินเตอร์เนชั่นแนล, 2546.

References (in English)

Anoop Singh, Macroeconomic Volatility: The Policy Lessons from Latin America, IMF Working Paper, WP/06/166, 2006.

Evelyne Huber, Thomas Mustillo and John D. Stephens, Politics and Social Spending in Latin America, Vol.70, Issue 02, March 2008.

Kenneth Coates and Edwin Rivera, Fiscal Dominance and Foreign Debt: Five Decades of Latin America Experience, CEMLA Paper, 2004.

K. Alec Chrystal, Government Debt Structure and Monetary Conditions, Bank of England Quarterly Bulletin: November 1999.

Luis Bertola and Jose Antonio Ocampo, Latin America’s Debt Crisis and “Lost Decade”, Chapter 5 of The Economic Development of Latin America since Independence, New York: Oxford University press, 2012.

Mario Gutierreaz and Julio E.Revilla, Building Countercyclical Fiscal Policies in Latin America, Policy Research Working Paper 5211, February 2010.

Miguel Braun, Fiscal Policy Reform in Latin America, a joint IDB-Copenhagen Consensus Centre Project, July 2007.

Paul Hilbers, Interaction of Monetary and Fiscal Policies: Why Central Bankers Worry about Government Budgets, IMF Seminar on Current Developments in Monetary and Financial Law, Washington, D.C., May 24-June 4, 2004.

Peter Bernholz, Monetary Regimes and Inflation: History, Economic and Political Relationships, Edward Elgar, 2003.

Raymond Vernon, State-Owned Enterprises in Latin-American Exports, in Export Diversification and the New Protectionism: The Experience of Latin America, ed.by Werner Baer and Malcolm Gillis, (Bureau of Economic and Business Research, University of Illinois at Urbana-Champaign), 1981.

Roberto Frankel and Martin Rapetti, A Concise History of Exchange Rate Regimes in Latin America, University of Massachusetts Amherst, Working Paper 2010-01, April 2010.

Robert Devlin and Ricardo Ffrench-Davis, The Great Latin America Debt Crisis: A Decade of Asymmetric Adjustment, Revista de Economia Politica, vol.15, julho-setembro, 1995.

Stephen Cecchetti, Fiscal Policy and Its Implications for Monetary and Financial Stability, BIS Annual Conference 24-25 June 2011.

World Bank, Global Development Finance 2003: Striving for Stability in Development Finance, Washington DC, April 2003.

ที่มา: ธนาคารแห่งประเทศไทย


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ