FAQ Issue 66: ศักยภาพและความท้าทายของสินค้าอาหารฮาลาลของไทยในตลาดโลก

ข่าวเศรษฐกิจ Monday March 19, 2012 10:49 —ธนาคารแห่งประเทศไทย

FOCUSED AND QUICK (FAQ) Issue 66

ศักยภาพและความท้าทายของสินค้าอาหารฮาลาลของไทยในตลาดโลก

โสมสิริ หมัดอะดั๊ม พรเกียรติ ยั่งยืน และอมรรัตน์ จำนง

Summary

ตลาดสินค้าอาหารฮาลาลมีขนาดใหญ่ มีแนวโน้มขยายตัวสูง และจากศักยภาพการผลิตสินค้าอาหารของไทยที่มีอยู่ จึงเป็นโอกาสของการส่งออกอาหารของไทยที่สอดคล้องกับนโยบายส่งเสริมครัวโลก โดยสินค้า Non-natural Halal ที่ต้องมีตรารับรองนั้น ผู้ผลิตส่วนใหญ่ของไทยยังผลิตตามคำสั่งของประเทศคู่ค้าที่เป็น Trader และ Chain เป็นหลัก ทำให้สินค้าอาหารฮาลาลของไทยไม่เป็นรู้จักของตลาดโลก ประกอบกับผู้ประกอบการยังขาดความรู้ความเข้าใจ และความสามารถในการเจาะตลาดใหม่โดยเฉพาะตลาดที่มีความแตกต่างทางด้านวัฒนธรรม เพราะมีข้อจำกัดด้านภาษา ปัญหาการติดต่อสื่อสาร และขาดความไว้วางใจ ทำให้ผลิตภัณฑ์อาหารฮาลาลของไทยยังไม่เป็นรู้จักแพร่หลายในตลาดโลก ภาครัฐควรสร้างเครือข่ายพันธมิตรและความร่วมมือระหว่างองค์กรมุสลิมที่ทำหน้าที่ส่งเสริมสินค้าฮาลาลในตลาดต่างประเทศให้มากขึ้น สร้างความเชื่อมั่นในมาตรฐานสินค้าอาหารฮาลาลของไทยให้แก่ผู้บริโภค รวมทั้งเผยแพร่ความรู้แก่ผู้ประกอบการ เพื่อสร้างตราสินค้าอาหารฮาลาลของไทยให้เป็นที่รู้จักในตลาดโลก

บทนำ

ปัจจุบันไทยกำลังเผชิญกับการแข่งขันอย่างรุนแรงในการส่งออกสินค้าอาหารในตลาดโลกจากอินโดนีเซีย มาเลเซีย เวียดนามและจีน โดยประเทศเหล่านี้มีส่วนแบ่งตลาดส่งออกเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว และมีอัตราการขยายตัวของส่วนแบ่งตลาดส่งออกมากกว่าไทย นอกจากนี้ สินค้าอาหารต้องเผชิญกับมาตรการกีดกันทางการค้าที่มิใช่ภาษี (Non Tariff Barriers) ที่ประเทศผู้นำเข้าจะเข้มงวดเรื่องมาตรฐานและคุณภาพอาหาร ขณะที่ไทยยังคงมีศักยภาพในการ ส่งออกอาหารในระดับสูง บทความนี้ จึงพยายามตอบคำถามสำคัญว่า ในภาวการณ์ที่การส่งออกอาหารของไทยกำลังเผชิญกับความท้าทายเช่นนี้ สินค้าอาหารฮาลาลซึ่งมีแนวโน้มเติบโตอย่างมากในระยะหลังจะสร้างโอกาสและรักษาความสามารถในการแข่งขันของไทยในการส่งออกสินค้าอาหารในตลาดโลกได้หรือไม่อย่างไร

1. ปัญหาและอุปสรรคของการส่งออกอาหารของไทยในปัจจุบัน

ปัจจุบันไทยกำลังเผชิญกับปัญหาและอุปสรรคที่อาจทำให้การส่งออกอาหารของไทยไม่สามารถเติบโตตามศักยภาพ และยุทธศาสตร์ "ครัวของโลก (Kitchen of the World)" ที่รัฐบาลวางไว้ได้ เนื่องจากการแข่งขันที่รุนแรงและมาตรการกีดกันทางการค้าที่มิใช่ภาษี (Non Tariff Barriers) กล่าวคือ

ด้านการแข่งขัน กลุ่มประเทศเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และจีน ปัจจุบันมีส่วนแบ่งการส่งออกอาหารประมาณ 1 ใน 8 ของโลก โดยในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา ส่วนแบ่งการตลาดของทุกประเทศในภูมิภาคขยายตัว โดยประเทศคู่แข่งในภูมิภาคที่มีส่วนแบ่งการตลาดที่ขยายตัวมาก คือ อินโดนีเซีย และมาเลเซีย มีส่วนแบ่งการตลาดการส่งออกเพิ่มขึ้นจากร้อยละ 1.5 และ 1.6 ในช่วงปี 2544-2548 เป็นร้อยละ 2.4 และ 2.1 ในปี 2549-2553 ตามลำดับ เนื่องจากทั้งสองประเทศเป็นประเทศอิสลาม จึงมีความได้เปรียบสามารถส่งสินค้าอาหารได้โดยไม่มีข้อจำกัดด้านระเบียบและกฎเกณฑ์ด้านอาหารของกลุ่มผู้บริโภคที่เป็นประชากรมุสลิม จึงขยายส่วนแบ่งตลาดได้มากกว่าประเทศอื่น ส่วนจีน และเวียดนาม มีส่วนแบ่งตลาดการส่งออกเพิ่มขึ้นเช่นกัน กล่าวคือ จากร้อยละ 3.9 และ 1.1 ในช่วงปี 2544-2548 เป็นร้อยละ 4.2 และ 1.3 ในช่วงปี 2549-2553 ขณะที่ในช่วงเวลาเดียวกัน ไทยมีส่วนแบ่งตลาดอาหารเพิ่มขึ้นเพียงร้อยละ 0.1 เท่านั้น ทั้งที่อาหารถือว่าเป็นสินค้ายุทธศาสตร์อย่างหนึ่งของประเทศ

ด้านมาตรการกีดกันทางการค้าที่มิใช่ภาษี (Non-tariff Barriers) หลายประเทศนำมาใช้มากขึ้นทั้งในด้านมาตรฐานสุขอนามัยที่เข้มงวดมากขึ้น (Non-tariff Barriers) หลายประเทศนำมาใช้มากขึ้นทั้งในด้านมาตรฐานสุขอนามัยที่เข้มงวดมากขึ้น เพื่อปกป้องอุตสาหกรรมภายในประเทศ ดูแลความปลอดภัยของผู้บริโภค และมาตรการที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และในด้านการจำกัดปริมาณการนำเข้า ผ่านการกำหนดโควต้า นอกจากนี้ หลายประเทศยังใช้มาตรการตอบโต้การทุ่มตลาดเพื่อปกป้องผู้ประกอบการภายในประเทศของตนเองด้วย (รายละเอียดการใช้มาตรการนี้ในตลาดสำคัญจะกล่าวถึงในหัวข้อ 2) ปัจจัยเหล่านี้ จึงเป็นความท้าทายที่ไทยกำลังเผชิญอยู่ในปัจจุบัน ซึ่งไทยจำเป็นต้องก้าวข้ามปัจจัยเหล่านี้ เพื่อให้สามารถเติบโตได้เต็มศักยภาพ

2. สถานะของการส่งออกอาหารฮาลาลของไทย

การส่งออก "อาหารฮาลาล"*(1) เป็นสินค้าความหวังในการเปิดตลาดโดยเฉพาะในกลุ่มประเทศตะวันออกกลาง ซึ่งเป็นประเทศที่มีศักยภาพด้านการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจท่ามกลางวิกฤติเศรษฐกิจที่ประเทศมหาอำนาจเศรษฐกิจเดิมเผชิญอยู่

ในช่วงปี 2544-2553 ร้อยละ 76 ของสินค้าอาหารที่ไทยส่งออกไปตลาดโลก จัดเป็นสินค้าอาหารฮาลาลตามธรรมชาติ (Natural Halal)*(2) ที่อนุมัติโดยตัวอาหารเอง ส่วนที่เหลือเป็นสินค้าอาหารที่มีส่วนประกอบของสัตว์และผลิตภัณฑ์จากสัตว์ (Non Natural Halal)

โดยตลาดส่งออกอาหารฮาลาลของไทยที่สำคัญในช่วงปี 2549-2553 ได้แก่ กลุ่มประเทศอิสลาม (Organization of Islamic Cooperation: OIC) ) สหรัฐฯ ยุโรป (27) ญี่ปุ่น และจีน ไทยการส่งออกอาหารฮาลาลเพิ่มขึ้นในทุกตลาด และตลาดส่งออกอาหารฮาลาลเพิ่มขึ้นในทุกตลาด และตลาดที่เติบโตมากที่สุดเทียบกับช่วง 2544-2548 คือ กลุ่ม OIC และจีน ขณะที่ตลาดสหรัฐฯ ญี่ปุ่นและกลุ่ม OIC และจีน ขณะที่ตลาดสหรัฐฯ ญี่ปุ่นและยุโรป (27) ซึ่งเป็นตลาดหลักของไทย มีการขยายตัวในอัตราที่ต่ำกว่า เนื่องจากประสบปัญหาวิกฤติด้านเศรษฐกิจ และไทยเผชิญกับการแข่งขันมากขึ้น โดยเฉพาะคู่แข่งจากประเทศในกลุ่มเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และจีน

เป็นที่น่าสังเกตว่า จีนเป็นคู่แข่งสำคัญในตลาดหลักสินค้าอาหารฮาลาลของไทย โดยในปี 2553 จีนมีส่วนแบ่งตลาดสูง และสามารถเจาะตลาดสินค้าอาหารฮาลาลและเป็นผู้นำในเกือบทุกตลาด ยกเว้นตลาดอินเดีย อย่างไรก็ตาม แม้ไทยจะเสียเปรียบจีน แต่เมื่อเทียบกับคู่แข่งอย่างมาเลเซีย อินโดนีเซีย และเวียดนาม ไทยยังมีส่วนแบ่งตลาดอยู่ในระดับที่สูงกว่า โดยในตลาดสหรัฐฯ ไทยมีส่วนแบ่งตลาดร้อยละ 9 ญี่ปุ่นร้อยละ 8 ยุโรปร้อยละ 7.5 และกลุ่มประเทศอิสลามร้อยละ 6.1 ส่วนตลาดจีนและอินเดีย ซึ่งเป็นตลาดผู้บริโภคสินค้าอาหารขนาดใหญ่ เป็นตลาดที่ไทยมีส่วนแบ่งตลาดต่ำกว่าคู่แข่ง เช่น อินโดนีเซีย มาเลเซีย

สาเหตุสำคัญที่ทำให้ไทยไม่สามารถเติบโตในสินค้าฮาลาลเทียบกับประเทศคู่แข่งได้ คือ 1) การยอมรับสินค้าอาหารฮาลาลในตลาดโลกเพราะสินค้านี้มีบทบัญญัติทางศาสนาเป็นตัวกำหนด ทำให้ไทยจำเป็นต้องส่งสินค้าอาหารที่ไม่ใช่ฮาลาล ตามธรรมชาติในรูปวัตถุดิบ หรือรับจ้างการผลิตเพื่อให้มาเลเซีย และอินโดนีเซีย ส่งออกหรือแปรรูปต่อไปยังประเทศที่สาม ซึ่งสินค้ากลุ่มนี้ได้แก่ เนื้อสัตว์ สัตว์น้ำแปรรูป รวมทั้งสินค้าประเภทเครื่องปรุงรส และ 2) ประเทศคู่แข่งเข้ามาแย่งส่วนแบ่งตลาดเพิ่มขึ้น รวมถึงตลาดคู่ค้ามีแนวโน้มจะใช้เครื่องปรุงรส และ 2) ประเทศคู่แข่งเข้ามาแย่งส่วนแบ่งตลาดเพิ่มขึ้น รวมถึงตลาดคู่ค้ามีแนวโน้มจะใช้มาตรการกีดกันทางการค้าที่มิใช่ภาษีเพิ่มขึ้น(ตาราง 1) ซึ่งเป็นผลจากเปิดเสรีทางการค้า ทำให้มีการลด/เลิกภาษีนำเข้า (Tariff) ประเทศต่างๆ จึงหันมาใช้มาตรการกีดกันทางการค้าที่มิใช่ภาษี เป็นเครื่องมือปกป้องผู้ผลิตภายในประเทศแทนภาษีนำเข้า อาทิ ด้านมาตรฐานและคุณภาพอาหาร และ การกำหนดปริมาณนำเข้า เป็นต้น ทำให้ไทยมีความยากลำบากมากขึ้นในการส่งออกสินค้าอาหารในตลาดโลก

ตาราง 1: มาตรการกีดกันทางการค้าที่ไม่ใช่ภาษี ในตลาดสำคัญ
   ตลาด               มาตรการกีดกันทางการค้า
สหรัฐฯ             การเก็บภาษีตอบโต้การทุ่มตลาด มาตรการสุขอนามัย และมาตรฐานสิ่งแวดล้อม
สหภาพ ยุโรป        มาตรการจำกัดการนำเข้า ในรูปการกำหนดโควตา เช่น ข้าว มันสำปะหลัง มาตรการตอบโต้การทุ่มตลาด

มาตรการสุขอนามัยพืชและสุขอนามัยสัตว์

ญี่ปุ่น               ด้านความปลอดภัยอาหาร (Food Safety) มาตรการ  สุขอนามัยและสุขอนามัยพืช (SPS)
กลุ่ม OIC           กฎระเบียบควบคุมการนำเข้าสินค้า และการชำระเงินตราต่างประเทศที่เข้มงวด
อินเดีย             การกำหนดใบอนุญาตนำเข้า (Import Licensing) สำหรับสินค้าบางประเภท เช่น พืชน้ำมันและเมล็ดธัญพืช

การประเมินราคาศุลกากร มาตรฐานและการทดสอบมาตรฐาน มาตรการกำกับการนำเข้าพืช

ออสเตรเลีย         กำหนดโควตาการนำเข้า ด้านความปลอดภัยด้านอาหาร
ที่มา: จากการรวบรวมของผู้เขียน

ตัวอย่างเช่น สินค้ากุ้งแช่แข็งของไทยโดนมาตรการตอบโต้การทุ่มตลาดสินค้ากุ้งแช่แข็งในตลาดสหรัฐฯ ทำให้กุ้งของไทยมีราคาสูงขึ้น จนส่งผลให้เกิดการลดลงของปริมาณการส่งออก

3. ศักยภาพและความท้าทายของการส่งออกสินค้าอาหารฮาลาลของไทย

ปัจจุบันตลาดสินค้าอาหารฮาลาลได้รับความสนใจจากกลุ่มประเทศผู้ผลิตอาหารส่งออกมากเพราะเป็นตลาดขนาดใหญ่ โดยประชากรมุสลิมทั่วโลกมีประมาณ 1,640 ล้านคน คิดเป็นร้อยละ 26 ของประชากรโลก (ตาราง 2) และมีแนวโน้มที่จะเพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 30 ในอีก 15 ปีข้างหน้า*(4) ประชากรส่วนใหญ่จะอยู่ในกลุ่มประเทศอิสลาม (OIC) ซึ่งกระจายอยู่ทุกภูมิภาค ทั้งใน เอเชีย ยุโรป แอฟริกา และอเมริกาใต้

ในช่วงที่ผ่านมาประชากรมุสลิมมีกำลังซื้อสูงขึ้นมาก โดยเฉพาะประชากรมุสลิมในยุโรป สหรัฐอเมริกา และกลุ่มประเทศสมาชิกคณะมนตรีความร่วมมือรัฐอ่าวอาหรับ (The Gulf Cooperation Council: GCC) ทำให้มีความต้องการบริโภคอาหารฮาลาลสูงถึงประมาณ 660 พันล้านดอลลาร์ สรอ. ต่อปี และมีอัตราการเติบโตเฉลี่ยร้อยละ 4 ต่อปี*(5)

ตาราง 2: ประชากรมุสลิมโลก(หน่วย: ล้านคน)

     ตลาดต่างๆ                        ประชากร   ประชากร
                                     รวม         มุสลิม
 1. ตลาด OIC                      1,544.4      1,276.1
    1.1 ตลาด GCC                     41.2         40.5
    1.2 ตลาดนอกกลุ่ม GCC            1,503.2      1,235.6
 2. ตลาดประเทศที่ไม่ใช่ประเทศอิสลาม    5,236.2        361.3
รวม                               6,780.6      1,637.4
ที่มา: CIA World Factbook, 2009

ตลาดกลุ่มประเทศอิสลามจึงเป็นตลาดที่มีศักยภาพสำหรับการส่งออกสินค้าอาหารฮาลาลเนื่องจากเป็นตลาดขนาดใหญ่ที่มีประชากรมุสลิมจำนวนมากและมีกำลังซื้อสูง โดยเฉพาะจากประเทศที่มีรายได้จากการส่งออกน้ำมัน โดยในช่วง 10 ปีที่ผ่านมากลุ่มประเทศอิสลามมีอัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจเฉลี่ยประมาณร้อยละ 5 ซึ่งขยายตัวดีกว่ากลุ่มประเทศมหาอำนาจทางเศรษฐกิจเดิม (G3) ตลอดทศวรรษที่ผ่านมา ทั้งนี้ ประเทศอิสลามที่มีกำลังซื้อสูง ประกอบด้วยประเทศกาตาร์ สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์คูเวต บรูไน บาร์เรน โอมาน และซาอุดีอาระเบียซึ่งมีรายได้เฉลี่ยต่อคน 17,800-79,000 ดอลลาร์ต่อปี*(6)

หากพิจารณาการนำเข้าของกลุ่มประเทศอิสลามแยกตามประเภทสินค้า พบว่า ในช่วง 2 -3 ปีที่ผ่านมา การเติบโตของสินค้าอาหารที่ไม่ใช่ฮาลาล ตามธรรมชาติขยายตัวสูงกว่าสินค้าอาหารฮาลาล ตามธรรมชาติ ตามการขยายตัวของสินค้าเนื้อสัตว์ และเครื่องปรุงรส โดยสินค้าเนื้อสัตว์ เกือบกึ่งหนึ่งนำเข้าจากบราซิล ส่วนเครื่องปรุงรส ส่วนใหญ่นำเข้าจากสหรัฐฯ ขณะที่สินค้าแปรรูปจากสัตว์น้ำและเนื้อสัตว์ ความต้องการนำเข้าลดลง

ประเทศไทยได้มีกรอบยุทธศาสตร์เพื่อส่งเสริมและพัฒนาศักยภาพธุรกิจสินค้าและบริการฮาลาล เนื่องจากมีความได้เปรียบในความอุดมสมบูรณ์ของวัตถุดิบ ความชำนาญในการผลิต และเทคโนโลยีที่ทันสมัย ภารกิจดังกล่าวมีความท้าท้ายในการบรรลุเป้าหมาย ดังนี้

1) การสร้าง Brand ของสินค้าไทย เนื่องจากไทยเป็นเพียงผู้ผลิตตามคำสั่งของ Trader, Supermarket Chain และ Restaurant Chain ตราสินค้าและตรารับรองฮาลาลที่ปรากฏบนผลิตภัณฑ์ส่วนใหญ่จึงไม่ใช่ของไทย ส่งผลให้ตรารับรองฮาลาลของไทยไม่เป็นที่รู้จักและยอมรับของตลาดโดยรวม

2) การสร้างมาตรฐานสินค้าฮาลาลของไทยในตลาดโลก เพื่อเปิดโอกาสให้ไทยสามารถส่งออกในตลาดโลก เพื่อเปิดโอกาสให้ไทยสามารถส่งออกสินค้าที่มิใช่อาหารฮาลาลตามธรรมชาติไปยังประเทศอิสลามได้โดยตรงมากขึ้น ซึ่งจะทำให้เราได้มูลค่าเพิ่มและได้ส่วนแบ่งตลาดเพิ่มขึ้น

3) การสร้างความเข้าใจในการเจาะตลาดสินค้าฮาลาลแก่ผู้ประกอบการ ซึ่งส่วนใหญ่ยังขาดความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับสินค้าอาหารฮาลาล และการผลิตตามหลักศาสนาอิสลาม เนื่องจากคนส่วนใหญ่เข้าใจว่าอาหารฮาลาลเป็นอาหารที่มุสลิมต้องเป็นผู้ผลิตเท่านั้น รวมทั้งยังไม่ค่อยให้ความสนใจการเจาะตลาดใหม่ โดยเฉพาะตลาดที่มีความแตกต่างทางด้านวัฒนธรรม เนื่องจากมีความยุ่งยาก ทั้งข้อจำกัดด้านภาษา ปัญหาการติดต่อสื่อสาร ขาดความไว้วางใจ และต้องการของผู้บริโภคซึ่งมีความต้องการที่หลากหลาย

4. สรุปและข้อเสนอแนะเชิงนโยบาย

อุตสาหกรรมอาหารของไทยในตลาดโลกต้องเผชิญกับปัจจัยเสี่ยงหลากหลาย ทั้งการแข่งขันที่มีแนวโน้มรุนแรงมากขึ้น โดยเฉพาะจากคู่แข่งในภูมิภาคเดียวกันและจีน การเผชิญกับมาตรการกีดกันทางการค้าที่มิใช่ภาษี รวมถึงความต้องการซื้อที่ชะลอลงมาก จากภาวะวิกฤติเศรษฐกิจในตลาดคู่ค้าสำคัญ

ในฐานะที่ไทยเป็นประเทศผู้ผลิตและส่งออกอาหารรายใหญ่ของโลกมีความจำเป็นต้องยกระดับสถานภาพการแข่งขันของอุตสาหกรรมอาหารของประเทศ โดยการแสวงหาตลาดใหม่ที่มีแนวโน้มดี ตลาดสินค้าอาหารฮาลาล เป็นตลาดที่เป็นที่จับตามองของผู้ส่งออกทั่วโลก เนื่องจากแนวโน้มการขยายตัวของประชากร และการบริโภคที่มีการเติบโตอย่างต่อเนื่องและขยายตัวสูงกว่าการบริโภคของโลก แต่การส่งสินค้าไปแข่งขันในตลาดนี้ต้องได้รับการยอมรับจากผู้ซื้อ โดยเฉพาะสินค้าอาหารที่มิใช่ฮาลาลตามธรรมชาติ ว่าเป็นสินค้าที่สะอาด ปลอดภัย และขบวนการผลิตถูกต้องตามศาสนาอิสลาม สามารถบริโภคได้อย่างสนิทใจ

เพื่อให้บรรลุเป้าหมายของภาครัฐทั้งนโยบายส่งเสริมให้ไทยเป็นครัวของโลก ผ่านยุทธศาสตร์การพัฒนาศักยภาพธุรกิจสินค้าและบริการฮาลาล ภาครัฐและเอกชนความร่วมมือกัน ดังนี้

1) เร่งประชาสัมพันธ์ในตลาดโลกว่าไทยมีมาตรฐานรับรองที่น่าเชื่อถือทั้งกระบวนการตรวจสอบทางวิทยาศาสตร์ที่ก้าวหน้า จนได้รับการยอมรับจากมาเลเซียและอินโดนีเซีย

2) ส่งเสริมให้ความรู้เกี่ยวกับอาหารฮาลาลและมาตรฐานฮาลาลแก่ผู้ประกอบการเพื่อความเข้าใจอย่างชัดเจน โดยให้มีหน่วยงานที่รับผิดชอบโดยตรงเพียงหน่วยงานเดียว

3) สร้างเครือข่ายพันธมิตรและความร่วมมือระหว่างองค์กรมุสลิมที่ทำหน้าที่ดูแลฮาลาลเพิ่มขึ้น เพื่อให้การรับรองว่าสินค้าที่ผ่านการรับรองจากไทยแล้ว เท่ากับผ่านการรับรองขององค์กรศาสนาในประเทศเหล่านั้น

4) พัฒนาผลิตภัณฑ์ให้มีความหลากหลายในลักษณะเป็นอาหารนานาชาติ โดยควรศึกษาวิจัยว่าผลิตภัณฑ์ใดมีมีความพร้อมด้านศักยภาพและวัตถุดิบ

5) ภาครัฐและองค์กรศาสนาใช้เวทีการประชุมการพัฒนาเขตเศรษฐกิจสามฝ่ายอินโดนีเซีย มาเลเซีย ไทย (IMT-GT)ให้มากขึ้น เพื่อสร้างความร่วมมือสาขาผลิตภัณฑ์และบริการฮาลาลจะส่งผลให้การทำตลาดในประเทศอิสลามง่ายยิ่งขึ้น

*(1) อาหารฮาลาล หมายถึง อาหารหรือผลิตภัณฑ์อาหารซึ่งอนุมัติตามบัญญัติศาสนาอิสลามให้คนมุสลิมบริโภคหรือใช้ประโยชน์ได้ โดยมีสินค้าสำคัญได้แก่ ข้าว น้ำตาล สัตว์น้ำ ผักและผลไม้สด

  • (2) Natural Halal เป็นสินค้าอาหารที่มิได้มีองค์ประกอบของสัตว์และผลิตภัณฑ์จากสัตว์ Non Natural Halal เป็นสินค้าอาหารที่มีองค์ประกอบของสัตว์และผลิตภัณฑ์จากสัตว์

*(4) Muslim population in world www.muslimpopulation.com, The Future of the Global Muslim Population จำก pew forum )

*(5) World Halal Forum 2009 Post Event Report and the 6th World Halal Forum Presentation http://www.ats.agr.gc.ca/)

*(6) GDP per Capita ในปี 2553 ของประเทศกาตาร์เท่ากับ 79,163, 4 ดอลลาร์ สรอ. ของสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์เท่ากับ 9,549 ของคูเวตเท่ากับ37,528, ของบรูไนเท่ากับ 30,000 ของบาร์เรนเท่ากับ 20,364 ของโอเมนเท่ากับ 20,097 และ และซาอุดีอาระเบียเท่ากับ 16,782 ดอลลาร์ สรอ. ตามลำดับ

References

Research and Training Center for Islamic Center (SESRIC), Annual Economic Report on OIC Countries Statistic Economic and Social, 2010.

SME today, "เรื่องต้องรู้ ก่อนบุกตลาดสินค้าฮาลาลโลก", พฤศจิกายน 2008

ไพจิตร วิบูลย์ธนสาร (2554), ตลาดสินค้าอาหารฮาลาลในจีน, 2554.

ไพรัช วัชรพันธุ์ และคณะ, แนวทางการพัฒนาศักยภาพทาง

การตลาดของอาหารฮาลาลเพื่อการส่งออกของประเทศไทย, 2551

วินัย ดะห์ลัน, รุกตลาดอาหารฮาลาลโลก, 2551

ศิรินารถ ศรีเมือง (2547), การส่งออกอาหารฮาลาลของประเทศไทยในตลาดโลก, 2547

ศูนย์วิทยาศาสตร์ฮาลาล จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (2010), ข่าวแวดวงฮาลาล, บทบาทของวิทยาศาสตร์ฮาลาลต่อการพัฒนาอุตสาหกรรมและบริการฮาลาล http://www.halalscience.org/th/main2010/index.php accessed on 2010

ศูนย์วิทยาศาสตร์ฮาลาล จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (2010), ข่าวแวดวงฮาลาล, บทบาทของฮาลาลต่อการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ. http://www.halalscience.org/th/main2010/index.php accessed on 2010

สถาบันอาหาร (2554), วิเคราะห์ศักยภาพอุตสาหกรรมอาหารมาเลเซียและแนวทางดำเนินกลยุทธ์ของไทย, 2553 สถาบันฮาลาล มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์, สาระฮาลาล,

บทความวิชาการ ฮาลาล, ภาพรวมของอุตสาหกรรมฮาลาล ในประเทศไทย. http://www.halinst.psu.ac.th accessed on 2011

สถาบันฮาลาล มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์, สาระฮาลาล, ฮาลาล น่ารู้, ทิศทางการพัฒนาอุตสาหกรรมอาหารฮาลาล. http://www.halinst.psu.ac.th accessed on 2011

บทความนี้สำเร็จลุล่วงได้ด้วยดี เพราะคำแนะนำและความช่วยเหลือจากคุณเสาวณี จันทะพงษ์ และ คุณณัฐิกานต์ วรสง่าศิลป์ ผู้เขียนขอขอบคุณพระคุณเป็นอย่างสูงมา ณ ที่นี้

Contact author:

โสมสิริ หมัดอะดั้ม

เศรษฐกรอาวุโส ส่วนเศรษฐกิจภาค สำนักงานภาคใต้ somsirim@bot.or.th

พรเกียรติ ยั่งยืน

เศรษฐกรอาวุโส ส่วนเศรษฐกิจภาค สำนักงานภาคใต้ porngiay@bot.or.th

อมรรัตน์ จำนง

อดีตเศรษฐกรอาวุโส ส่วนเศรษฐกิจภาค สำนักงานภาคใต้

ที่มา: ธนาคารแห่งประเทศไทย


แท็ก การส่งออก  

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ