FAQ Issue 64: การลงทุนโดยตรงหลังน้ำท่วม...เรื่องเก่ามาเล่าใหม่..

ข่าวเศรษฐกิจ Monday February 13, 2012 11:57 —ธนาคารแห่งประเทศไทย

FOCUSED AND QUICK (FAQ) Issue 64 การลงทุนโดยตรงหลังน้ำท่วม

...เรื่องเก่ามาเล่าใหม่... พรพินันท์ ฉันทภักดีพงศ์

Summary

วิกฤตน้ำท่วมครั้งนี้ส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมหลักๆของไทย เช่น อุตสาหกรรมชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์และชิ้นส่วนยานยนต์ เป็นต้น ซึ่งมีบริษัทต่างชาติเป็นเจ้าของ และมีความสำคัญต่อไทยทั้งทางด้านการผลิต การส่งออก และการจ้างงาน หลายฝ่ายแสดงความกังวลถึงโอกาสการย้ายฐานการผลิต รวมทั้งการเสียโอกาสในการเกิดการลงทุนใหม่ซึ่งจะส่งผลกระทบรุนแรงต่อภาคการผลิตของประเทศในช่วงต่อไป

FAQ ฉบับนี้ ชี้ให้เห็นว่า แม้วิกฤตน้ำท่วมส่งผลให้หลายฝ่ายเป็นห่วงภาคการลงทุนของไทย แต่แท้ที่จริงแล้วปัญหาการลงทุนเป็นปัญหาเรื้อรังมานาน ฉะนั้น การแก้ไขปัญหาการลงทุนนั้น นอกจากเรื่องความชัดเจนในการบริหารจัดการน้ำเพื่อสร้างความเชื่อมั่นแล้ว ภาครัฐควรใส่ใจปัญหาเก่าด้วย

บทนำ

วิกฤตน้ำท่วมในปี 2554 ส่งผลกระทบอย่างหนักต่อโรงงานที่ตั้งอยู่ในเขตนิคมอุตสาหกรรมในจังหวัดพระนครศรีอยุธยาและปทุมธานี ซึ่งเป็นแหล่งผลิตของอุตสาหกรรมที่สำคัญ เช่น อุตสาหกรรม ยานยนต์ ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ และเครื่องใช้ไฟฟ้า ซึ่งส่วนใหญ่จะมีนักลงทุนต่างชาติเป็นเจ้าของ และอาศัยไทยเป็นฐานการผลิตเพื่อส่งออก ส่วนโรงงานอุตสาหกรรมที่ไม่ได้ตั้งอยู่ในเขตน้ำท่วมถึง ก็ได้รับผลกระทบทางอ้อมจากโรงงานผลิตชิ้นส่วนและวัตถุดิบต้นน้ำหลายแห่งที่ถูกน้ำท่วมด้วยเช่นกัน

วิกฤตน้ำท่วมจึงสร้างความกังวลถึงผลกระทบต่อการตัดสินใจลงทุนของบริษัทต่างชาติ ทั้งในด้านการย้ายฐานการผลิตและการตัดสินใจลงทุนใหม่ ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อผู้ผลิตในประเทศที่ผลิตสินค้าขั้นต้นให้กับบริษัทต่างชาติ รวมทั้งภาคการส่งออกซึ่งอุตสาหกรรมเหล่านี้มีมีสัดส่วนที่สูงถึงกว่าร้อยละ 30 ของการส่งออกทั้งหมดของไทย*(1) และการจ้างงาน ที่มีสัดส่วน*(2) สูงถึงกว่าร้อยละ 15 ของการจ้างงานในภาคอุตสาหกรรม

บทความชิ้นนี้ชี้ให้เห็นว่า แม้ประเด็นความชัดเจน ความเป็นรูปธรรม และความมีประสิทธิภาพของนโยบายการบริหารจัดการน้ำของภาครัฐฯ เพื่อการสร้างความมั่นใจว่าปัญหาจะไม่เกิดอีกในปีหน้าจะช่วยชะลอไม่ให้นักลงทุนถอนการลงทุนจากไทยภายหลังวิกฤตน้ำท่วม แต่ปัญหาไม่ได้จบลงเพียงแค่นั้น เพราะที่ผ่านมา ไทยสูญเสียความสามารถในการแข่งขันด้านการลงทุนให้แก่ประเทศคู่แข่ง ฉะนั้น การปรับปรุงขีดความสามารถในการแข่งขันของภาคอุตสาหกรรมและเสริมสร้างบรรยากาศการลงทุน เป็นสิ่งที่ต้องดำเนินการเพิ่มเติม

1. บริษัทต่างชาติจะย้ายฐานการผลิตหรือไม่

ในการประเมินเบื้องต้น เห็นว่า การย้ายฐานการผลิตออกนอกประเทศอาจเกิดขึ้นได้ไม่ง่ายนักและไม่สามารถทำได้ทันที*(3) โดยเฉพาะอุตสาหกรรมที่มีฐานการผลิตสัดส่วนสูงในไทย อาทิ ยานยนต์ และอิเล็กทรอนิกส์ เนื่องจาก

1) บริษัทต่างชาติลงทุนไปค่อนข้างมากแล้ว จึงมีต้นทุนคงที่ (Fixed cost) ค่อนข้างสูง การย้ายฐานการผลิตจึงมีต้นทุนสูงตามมา ซึ่งอาจทำให้สูญเสียความสามารถในการแข่งขัน*(4)

2) ไทยมีเครือข่ายการผลิต (supplier network) ที่แข็งแกร่งและมีความพร้อม ทำให้ย้ายฐานการผลิตไปเกิดขึ้นได้ยาก เนื่องจากต้องอาศัยระยะเวลาในการพัฒนาใหม่และใช้เงินลงทุนสูง โดยเฉพาะในกรณีของอุตสาหกรรมยานยนต์ ที่ไทยมีข้อได้เปรียบจากการกระจุกตัวรวมกันเป็นกลุ่มเครือข่ายธุรกิจ (cluster) ของอุตสาหกรรมเกี่ยวเนื่อง โดยกลุ่มบริษัทรถยนต์รายใหญ่ของโลกมาตั้งโรงงานประกอบในไทยต้องใช้เวลาในการสร้างเครือข่ายกับบริษัทผลิตชิ้นส่วนหลัก*(5) ที่อยู่ในค่ายของ ผู้ประกอบรถยนต์แต่ละราย (Tier 1) และต้องพึ่งพาชิ้นส่วนรองและชิ้นส่วนย่อยจากผู้ประกอบการไทยอีกต่อหนึ่ง (Tier 2,3) ซึ่งไทยยังมีความเป็นศูนย์กลางด้านวัตถุดิบที่หาได้ง่ายและมีเพียงพอกับความต้องการ ด้วยคุณภาพและระดับราคาที่ยังแข่งขันได้*(6) โดยมีสัดส่วนการผลิตที่ใช้ชิ้นส่วนในประเทศสูงถึงร้อยละ 80-90 ในกรณีรถกระบะ และร้อยละ 50 ในกรณีรถยนต์นั่ง*(7)

ความได้เปรียบในด้านเครือข่ายการผลิตของอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์มีน้อยกว่าอุตสาหกรรมยานยนต์ เนื่องจาก อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์มีลักษณะเป็นเครือข่ายการผลิตระหว่างประเทศของผู้ประกอบการรายใหญ่ จึงมีการพึ่งพาอุตสาหกรรมภายในประเทศที่น้อยกว่า*(8) ยกตัวอย่างเช่น อุตสาหกรรมฮาร์ดดิสก์ไดรฟ์ นำเข้าชิ้นส่วนสำคัญจากต่างประเทศ ถึงร้อยละ 60 ของมูลค่าการจำหน่าย*(9) และพึ่งพาบริษัทในกลุ่มชิ้นส่วนหลักและชิ้นส่วนรองซึ่งส่วนใหญ่เป็นชาวต่างชาติและโดยมากนำเข้าวัตถุดิบและอุปกรณ์จากต่างประเทศ ส่วนผู้ประกอบการไทยมีบทบาทในอุตสาหกรรมอุปกรณ์ชิ้นส่วน (เช่น แผ่นเหล็ก พลาสติก และอะลูมิเนียม) รวมทั้งเครื่องจักรและสารเคมี เป็นต้น

3) แรงงานไทยมีความชำนาญและมีฝีมือประณีต ซึ่งอาศัยการฝึกฝนมาเป็นระยะเวลาพอสมควร และเป็นสิ่งที่ต้องการ โดยเฉพาะในอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์

อย่างไรก็ดี หากปัญหาน้ำท่วมยังมีแนวโน้มที่จะเกิดขึ้นอีกครั้งจะส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นรุนแรงและผู้ประกอบการต่างชาติอาจพิจารณาย้ายฐานการผลิต*(10) เนื่องจากไม่สามารถแบกรับความเสียหายทั้งทางด้านทรัพย์สินและค่าเสียโอกาสจากอุทกภัยซ้ำสอง แม้ว่าการย้ายฐานการผลิตจะมีต้นทุนที่สูงสักเพียงไร ซึ่งหากเป็นเช่นนั้นจริงจะส่งผลกระทบต่อความเป็นฐานการผลิตฮาร์ดดิสก์ไดรฟ์ที่ใหญ่ที่สุดในโลกที่มีส่วนแบ่งการผลิตถึงร้อยละ 41 ของโลก และการมีส่วนแบ่งทางการผลิตในอุตสาหกรรมรถยนต์เป็นอันดับต้นๆของโลก*(11) และจะส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมที่เกี่ยวเนื่องในประเทศ เช่น ในกรณีของอุตสาหกรรมยานยนต์ ผู้ประกอบการต่างชาติใน Tier 1 อาจพิจารณาย้ายฐานการผลิตตามบริษัทผู้ประกอบรถยนต์ ซึ่งจะส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่อผู้ประกอบการไทยที่ผลิตวัตถุดิบป้อนผู้ประกอบการต่างชาติ

2. แนวโน้มการลงทุนใหม่หลังภาวะน้ำท่วม

แนวโน้มการลงทุนใหม่ในระยะต่อไปขึ้นอยู่กับปัจจัยหลักๆ 2 ประการ ได้แก่ ความชัดเจนของนโยบายภาครัฐในการป้องกันปัญหาอุทกภัย และการกระจายความเสี่ยงของผู้ประกอบการ

1) ความชัดเจนของนโยบายภาครัฐ

ที่ผ่านมาภัยธรรมชาติเกิดขึ้นได้ทั่วโลก ไม่เว้นแม้แต่ในภูมิภาคเอเชียเอง เช่น ญี่ปุ่น ฟิลิปปินส์ มาเลเซีย และอินโดนีเซีย จึงอาจกล่าวได้ว่าโอกาสการเกิดอุทกภัยไม่ใช่ปัจจัยที่ส่งผลกระทบต่อการลงทุนด้วยตัวเอง แต่ศักยภาพในการแก้ไขปัญหาและการจำกัดขอบเขตผลกระทบจากอุทกภัยต่างหากที่เป็นปัจจัยสำคัญ ฉะนั้น ความชัดเจน เป็นรูปธรรม และความน่าเชื่อถือของมาตรการป้องกันน้ำท่วมและการสร้างเสริมบรรยากาศการลงทุนเพื่อเพิ่มขีดความสามารถด้านการผลิต เป็นสิ่งที่นักลงทุนต่างชาติคาดหวังและให้ความสำคัญมากกว่า*(12) เนื่องจากต้องคำนึงถึงผลตอบแทนที่คาดว่าจะได้รับ รวมทั้งความเสี่ยงจากการลงทุนทั้งทางด้านความเสียหายต่อทรัพย์สินและค่าเสียโอกาส และพิจารณาถึงต้นทุนที่จะเกิดขึ้น

นอกจากนี้ หากยังไม่สามารถสร้างความมั่นใจว่าจะสามารถป้องกันปัญหาน้ำท่วมในครั้งถัดไปได้ บริษัทผู้รับประกันภัยให้แก่กลุ่มอุตสาหกรรม*(13) อาจพิจารณาไม่นับรวมภัยธรรมชาติเข้าไปอยู่ในขอบเขตความคุ้มครอง และอัตราเบี้ยประกันภัยอาจจะปรับเพิ่มขึ้นมากจากการนำความเสี่ยงย้อนหลังเข้ามาคิดเป็นความเสี่ยงที่น่าจะเป็น และอาจลดมูลค่าความคุ้มครองเมื่อคิดเป็นสัดส่วนของทุนประกัน นอกจากนี้ต้นทุนค่าธรรมเนียมการใช้พื้นที่นิคมอุตสาหกรรมน่าจะเพิ่มสูงขึ้น*(14) ผู้ประกอบการบางรายอาจเหลือเงินเพื่อลงทุนใหม่น้อยลง เนื่องจากการลงทุนทดแทนส่วนที่เสียหายจากน้ำท่วม และสำหรับการลงทุนฟื้นฟูในอนาคตจะขึ้นอยู่กับค่าสินไหมชดเชยจากการประกันภัย เป็นสำคัญ

2) การกระจายความเสี่ยงจากการลงทุน

ผู้ประกอบการต่างชาติกระจายความเสี่ยงจากการลงทุนอยู่แล้วก่อนเกิดปัญหาอุทกภัย โดยเพิ่มการลงทุนในประเทศที่มีแนวโน้มการเติบโตของตลาด มีภาวะแวดล้อมที่เอื้อต่อการลงทุน และมีข้อได้เปรียบด้านความคุ้มทุนและศักยภาพในการผลิตทั้งนี้ จากปัญหาขาดแคลนแรงงานฝีมือและแรงงานทั่วไป บวกกับค่าแรงที่โน้มปรับเพิ่มสูงขึ้นในประเทศไทย ทำให้ไทยเริ่มสูญเสียความได้เปรียบทางการแข่งขัน โดยนักลงทุนต่างชาติสนใจขยายการลงทุนในประเทศอื่นๆ เช่น พม่า อินเดีย และอินโดนีเซียที่มีตลาดขนาดใหญ่รองรับ มีทรัพยากรธรรมชาติที่ค่อนข้างมาก และมีอุปทานแรงงานจำนวนมากในขณะที่อัตราค่าจ้างยังอยู่ในระดับต่ำ

วิกฤตน้ำท่วมครั้งนี้ นอกจากจะบั่นทอนความมั่นใจในการลงทุนใหม่ในประเทศไทย ยังกระตุ้นให้นักลงทุนต่างชาติทั่วโลกคำนึงถึงแนวทางการลงทุนใหม่เพื่อกระจายความเสี่ยงทางด้านห่วงโซ่การผลิตมากขึ้น เริ่มตั้งแต่เหตุการณ์แผ่นดินไหวในญี่ปุ่นในช่วงต้นปี 2554 ซึ่งทำให้ผู้ประกอบการชาวญี่ปุ่นส่วนใหญ่วางแผนการผลิตเพื่อกระจายความเสี่ยงทั้งด้าน Supplier และฐานการผลิตมากขึ้น โดยปรับเพิ่มการลงทุนในประเทศไทยในช่วงก่อนหน้านี้*(15) ซึ่งอาจกล่าวได้ว่าการลงทุนไทยน่าจะมีแนวโน้มฟื้นตัวดีขึ้นมากหากไม่มีปัญหาอุทกภัย แต่เป็นที่น่าเสียดายว่าเหตุการณ์อุทกภัยในครั้งนี้กลับทำให้ต้องคำนึงถึงการกระจายความเสี่ยงไปยังประเทศอื่นแทน

ฉะนั้น ในระยะข้างหน้ามีความเป็นไปได้ที่นักลงทุนต่างชาติ โดยเฉพาะญี่ปุ่นจะคงกำลังการผลิตในไทยไว้ แต่ขยายกำลังการผลิตเพิ่มเติมในต่างประเทศเพื่อกระจายความเสี่ยง ทั้งนี้ วิกฤตที่เกิดขึ้นถึงสองครั้งในปีเดียวกันในประเทศญี่ปุ่นและไทย สร้างผลกระทบอย่างรุนแรงต่ออุตสาหกรรมยานยนต์และอิเล็กทรอนิกส์ทั่วโลก*(16) ซึ่งสะท้อนถึงความเปราะบางของห่วงโซ่การผลิตโลก (Fragmented global supply chains)*(17) และการพึ่งพาการรวมตัวกันเป็นกลุ่มเครือข่ายธุรกิจของผู้ประกอบการชิ้นส่วนการผลิต วัตถุดิบและองค์ความรู้ด้านเทคโนโลยีที่จำกัดอยู่ในพื้นที่ใดพื้นที่หนึ่ง ฉะนั้น ในอนาคตข้างหน้า จึงมีความเป็นไปได้ที่นักลงทุนต้องหาทางแก้ปัญหาความเสี่ยงทางด้านห่วงโซ่การผลิตด้วยการใช้แหล่งชิ้นส่วนประกอบจากหลายแหล่ง (multiple sourcing) ในระดับภูมิภาคแทนระดับประเทศ เพื่อจุดประสงค์ในการลดความเสี่ยงและความคุ้มทุนในระยะยาว แทนการมองภาพเพียงการลดต้นทุนในระยะสั้น ปรากฎการณ์ดังกล่าวน่าจะบั่นทอนความได้เปรียบของไทยในด้านการมี supplier network ที่เข้มแข็ง

3. ปัญหาเรื้อรังของการลงทุนโดยตรงจากต่างชาติ

แม้ในหลายทศวรรษที่ผ่านมา การลงทุนโดยตรงจากต่างชาติมายังประเทศไทยเติบโตอย่างรวดเร็ว จนสามารถดึงดูดเงินลงทุนได้เป็นอันดับที่ 2 ของอาเซียนรองจากสิงคโปร์ ในปี 2544 เนื่องจาก ตลาดที่มีขนาดใหญ่เป็นอันดับที่ 2 ของอาเซียน ประกอบกับบรรยากาศการลงทุนที่เอื้อต่อการที่บริษัทข้ามชาติจะเข้ามาดำเนินธุรกิจ เช่น ความมีเสถียรภาพของเศรษฐกิจมหภาค ระบบสาธารณูปโภคพื้นฐานที่ดี ระบบคมนาคมขนส่งอยู่ในเกณฑ์ที่ดีและมีที่ตั้งเป็นจุดศูนย์กลางเชื่อมต่อไปยังอาเซียน และภาครัฐมีนโยบายที่ค่อนข้างเปิดเสรีให้นักลงทุนต่างชาติ เป็นต้น แต่ ยอดเงินลงทุนมายังประเทศไทยกลับเริ่มปรับลดลงตั้งแต่ปี 2550 เป็นต้นมา ส่วนหนึ่งเนื่องจาก ความไม่แน่นอนทางการเมือง นอกจากนี้ วิกฤตการเงินโลกยังทำให้ยอดการลงทุนโดยตรงจากต่างชาติมายังประเทศไทยปรับลดลงในปี 2551-2552 และยังไม่มีแนวโน้มฟื้นตัวจากระดับก่อนเกิดวิกฤตการเงินโลก แม้ว่าการลงทุนในประเทศเพื่อนบ้านหลายประเทศจะฟื้นตัวจากวิกฤตการเงินโลกแล้วก็ตาม เช่น ประเทศมาเลเซีย อินโดนีเซีย*(18) และเวียดนาม

ปัญหาสำคัญอันดับ 1 ที่นักลงทุนต่างชาติกังวลและเป็นอุปสรรคต่อการตัดสินใจลงทุนในประเทศไทย คือ ปัญหาด้านสถาบัน โดยเฉพาะปัญหาเสถียรภาพของรัฐบาล ปัญหาคอรัปชั่น ความไม่แน่นอนของนโยบายภาครัฐฯ และความไม่มีประสิทธิภาพของระบบราชการ ทั้งนี้ การวิเคราะห์แนวโน้มการลงทุนของเกือบทุกสถาบันหลักให้ความสำคัญมากที่สุดแก่ประเด็นดังกล่าว จากทั้งรายงานล่าสุดของ World Economic Forum และธนาคารโลก รวมทั้งผลการสำรวจของธนาคารเพื่อความร่วมมือระหว่างประเทศแห่งญี่ปุ่น และของกรมส่งเสริมการลงทุน โดยหากปัญหาดังกล่าวยังไม่ได้รับการแก้ไข จะกระทบต่อความมั่นใจต่อการลงทุนอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ทั้งนี้ นักลงทุนยังมีความระมัดระวังและยังไม่แน่ใจในการขยายการลงทุนในประเทศไทยในส่วนของแผนการลงทุนในระยะยาว (ภายใน 3 ปี) เนื่องจากยังไม่มีความมั่นใจด้านเสถียรภาพทางการเมือง ในขณะที่แนวโน้มการลงทุนระยะสั้น (ภายใน 1 ปี) พบว่า หลายแห่งยังคงแผนการลงทุนเดิมโดยไม่มีการประกาศการเปลี่ยนแปลงการลงทุน (Thailand BOI, 2554)

ภาพที่เห็นแตกต่างกับประเทศคู่แข่งโดยสิ้นเชิง มาเลเซียได้เปรียบไทยในด้านความโปร่งใสและความต่อเนื่องของนโยบายภาครัฐ และแผนกลยุทธ์การพัฒนาอุตสาหกรรมที่ชัดเจน เช่น การลงทุนเพื่อสนับสนุนอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ ทั้งในด้านการพัฒนาบุคลากร การวิจัยและพัฒนา โครงสร้างพื้นฐานในการรองรับเทคโนโลยีระดับสูง โดยมีการสร้าง Multimedia Super Corridor โดยมาเลเซียที่มีแผนการยกระดับประเทศเพื่อก้าวข้ามระดับรายได้ปานกลาง ในปี 2563 ในขณะที่อินโดนีเซียมีเสถียรภาพทางด้านการเมืองมากขึ้นในระยะหลัง

อุปสรรครองลงมา คือ ปัญหาด้านปัจจัยพื้นฐานต่อการลงทุน ได้แก่ ปัญหาขาดแคลน แรงงานฝีมือ บุคลากรระดับบริหารและบุคลากรด้านเทคนิค และปัญหาค่าจ้างแรงงานสูงขึ้น โดยนักลงทุนต่างชาติเริ่มมีความกังวลต่อค่าแรงงานที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นในขณะที่ศักยภาพของแรงงานไม่ได้พัฒนาตาม (Thailand BOI, 2554) ทำให้ไทยเสียเปรียบด้านต้นทุนการผลิตที่มีแนวโน้มสูงขึ้น ส่วนประเทศคู่แข่งทางการลงทุนของไทย เช่น จีน เวียดนาม และอินเดีย กลับมีบรรยากาศการลงทุนดีและบุคลากรมีการพัฒนามากขึ้น โดยเวียดนามและจีนได้เปรียบไทยด้านต้นทุนค่าจ้างแรงงานฝีมือถูกกว่า ในขณะที่อินเดียและอินโดนีเซียได้เปรียบด้านอุปทานแรงงานมีมากกว่าและค่าแรงของแรงงานทั่วไปที่ต่ำกว่าไทย จีนและอินโดนีเซียได้เปรียบด้านทรัพยากรธรรมชาติที่มากกว่า โดยเฉพาะจีนยังมีวัตถุดิบที่หาได้ง่ายและมีต้นทุนต่ำกว่าประเทศอื่น

นอกจากนี้ ประเทศไทยยังขาดการปรับปรุงด้านระบบสาธารณูปโภคพื้นฐานแม้ว่าที่ผ่านมาจะได้เปรียบประเทศคู่แข่ง (ยกเว้นมาเลเซีย) แต่ข้อได้เปรียบดังกล่าวมีแนวโน้มปรับลดลง ในขณะที่ประเทศส่วนใหญ่มีแนวโน้มปรับตัวดีขึ้น

*(1) มูลค่าเฉลี่ยของปี 2554 ในสกุลดอลลาร์สรอ. แบ่งเป็น คอมพิวเตอร์และชิ้นส่วน (ร้อยละ 10.04 ของการส่งออก) ยานพาหนะและชิ้นส่วน (ร้อยละ 7.94) แผงวงจรรวมและชิ้นส่วน (ร้อยละ 3.46) และเครื่องใช้ไฟฟ้า (ร้อยละ 6.53) ที่มา: ธปท.

*(2) ยานยนต์ (ร้อยละ 5.98), ผลิตภัณฑ์คอมพิวเตอร์และอิเล็กทรอนิกส์ (ร้อยละ 7.66) และการผลิตอุปกรณ์ไฟฟ้า(ร้อยละ 2.12) ที่มา: การสำรวจภาวะการมีงานทำของประชากร ไตรมาสที่ 3 ปี 2554, สำนักงานสถิติแห่งชาติ

*(3) ส่วนการย้ายฐานการผลิตไปยังพื้นที่อื่นในประเทศไทย พบว่า พื้นที่ว่างในนิคมอุตสาหกรรมที่ปลอดภัยจากน้ำท่วมมีไม่มาก และการย้ายที่ตั้งไปยังนิคมอุตสาหกรรมในภาคอื่นของประเทศอาจทำได้ยาก เนื่องจากติดข้อจำกัดเรื่องโครงสร้างพื้นฐานบางประการ เช่นอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ซึ่งต้องใช้น้ำในปริมาณมาก และต้องอาศัยเส้นทางคมนาคมขนส่งที่ดี

*(4) ข้อมูลจากโครงการแลกเปลี่ยนข้อมูลระหว่างธปท.กับภาคธุรกิจ (BLP) ระหว่าง เดือนตุลาคม - ธันวาคม 2554

*(5) ประกอบด้วยบริษัท OEM ของญี่ปุ่น (ได้แก่ Aisin, NSK, Toyota, Gosei, Takata-TOA, Tokai Rika, Yorozu) และสหรัฐฯ (ได้แก่ Delphi, Visteon และอื่นๆ) มีความเชี่ยวชาญในการผลิตและความสามารถในการออกแบบชิ้นส่วนรถยนต์เพื่อให้ได้มาตรฐานตามความต้องการของบริษัทผู้ผลิตรถยนต์ และโดยมากมีจุดแข็งด้านวิจัยและพัฒนา ด้านบุคลากร และด้านการบริหารจัดการ ซึ่งสะท้อนถึงความมีขีดความสามารถในการแข่งขัน

*(6) ที่มา: www.thaifta.com/thaifta/Portals/0/File/au.../4.บทที่%201.doc

*(7) ที่มา: สถาบันยานยนต์

*(8) อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ของไทยพึ่งพาการลงทุนจากต่างชาติเป็นหลักและมีสัดส่วนบริษัทต่างชาติโดยเฉพาะญี่ปุ่นถึงร้อยละ 80 ของทุนจดทะเบียนในอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ ในขณะที่ผู้ประกอบการท้องถิ่นที่เกี่ยวเนื่องในอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ยังมีอยู่เพียงไม่กี่ราย (เช่น Digi Cron ผลิตเซมิคอนดักเตอร์และชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์) ซึ่งโดยมากต้องการเงินลงทุนมหาศาลแต่ได้รับผลตอบแทนต่อหน่วยต่ำ

*(9) กัลปพฤกษ์และคณะ (2552)

*(10) ข้อมูลจากโครงการแลกเปลี่ยนข้อมูลระหว่างธปท.กับภาคธุรกิจ (BLP) ระหว่าง เดือนตุลาคม - ธันวาคม 2554

*(11) สัดส่วนการผลิตในอุตสาหกรรมยานยนต์ของไทย ประกอบด้วยรถยนต์เชิงพาณิชย์: (อันดับ 5 ของโลก คิดเป็น 5.6% ของการผลิตรถยนต์เชิงพาณิชย์ของโลก), รถยนต์นั่ง: (อันดับ 20 ของโลก คิดเป็น 0.9% ของการผลิตรถยนต์นั่งของโลก), รถยนต์ทุกประเภท: (อันดับ 12 ของโลก คิดเป็น 2.1% ของการผลิตรถยนต์ของโลก)

*(12) สอดคล้องกับคำสัมภาษณ์ของนายจอห์น เอฟ คอยน์ ซีอีโอของบริษัทเวสเทิร์นดิจิตอลในหนังสือพิมพ์ประชาชาติธุรกิจ ฉบับวันที่ 19-22 มกราคม 2555

*(13) กองทุนประกันภัยวงเงิน 5 หมื่นล้านบาทยังไม่สามารถสร้างความมั่นใจแก่บริษัทประกันภัยกลุ่มอุตสาหกรรมและบริษัทผู้รับประกันภัยต่อ (Reinsurer) ได้นัก เนื่องจากปัจจัยสำคัญที่จะสร้างความเชื่อมั่น คือ แผนการบริหารจัดการน้ำที่เป็นรูปธรรม ทั้งนี้ มีแนวโน้มว่าบริษัทผู้รับประกันภัยต่อรายใหญ่ 2 ราย คือ Munich Re ของเยอรมนี และ CCR ของฝรั่งเศส จะจำกัดขอบข่ายการรับประกันมากขึ้น

*(14) เช่น ค่าใช้จ่ายทำเขื่อนป้องกันน้ำท่วม แม้ทางนิคมอุตสาหกรรมจะได้รับการสนับสนุนจากทางการในรูปของหนี้ดอกเบี้ยต่ำ (soft loan) แต่ก็ต้องรับภาระการชดใช้คืนเงินต้น ซึ่งอาจส่งผ่านต้นทุนดังกล่าวไปยังผู้ประกอบการชาวต่างชาติในรูปแบบของค่าธรรมเนียมที่แพงขึ้น

*(15) ญี่ปุ่นมียอดขอรับการส่งเสริมการลงทุนสูงที่สุด โดยในช่วงเดือนม.ค.พ.ย. 2554 มีโครงการลงทุนเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 54 ส่วนมูลค่าการลงทุนเพิ่มถึงร้อยละ 90 เมื่อเปรียบเทียบกับระยะเดียวกันปีก่อน(เพิ่มเป็น 496 โครงการ มูลค่ารวม 1.68 แสนล้านบาท) ที่มา: Thailand BOI 2554

*(16) ยกตัวอย่างเช่น เหตุการณ์แผ่นดินไหวในญี่ปุ่นทำให้อุตสาหกรรมยานยนต์ทั่วโลกรวมทั้งไทยเป็นอัมพาตเนื่องจากการขาดแคลนชิ้นส่วนสำคัญ โดยการผลิตรถยนต์ของสหรัฐฯปรับลดลงถึงร้อยละ 12 เหตุการณ์อุทกภัยในไทยทำให้ยอดการผลิตรถยนต์ฮอนด้าทั่วโลกปรับลดลงถึงครึ่งหนึ่ง ส่วนอุตสาหกรรมฮาร์ดดิสก์ไดรฟ์ทำให้ระดับราคาปรับเพิ่มสูงขึ้นร้อยละ 20-50 ทั่วโลก

*(17) ซึ่งแบ่งขั้นตอนการผลิตออกเป็นขั้นตอนย่อยๆ (Slice value chain) และกระจายการผลิตช้นส่วนย่อยๆไปยังประเทศต่างๆแล้วค่อยส่งมาประกอบรวมกัน ณ แหล่งประกอบหนึ่งๆ เพื่อผลประโยชน์ด้านต้นทุนการแข่งขัน (Kohpaiboon, 2551) ซึ่งเป็นระบบที่รองรับความผันผวนของอุปสงค์ในขณะที่สามารถจำกัดต้นทุนให้น้อยที่สุด เช่น การเก็บสินค้าคงคลังน้อยและใช้ระบบ Just in time

*(18) โดยเฉพาะอินโดนีเซียที่ได้รับการจัดอันดับเป็นประเทศที่น่าลงทุนที่สุดในอาเซียน (UNCTAD , 2554) โดยติดอันดับที่ 20 เป็นครั้งแรกในปี 2553

สำหรับปัจจัยพื้นฐานทางเศรษฐกิจ พบว่า เสถียรภาพทางเศรษฐกิจมหภาคของไทยอยู่ในเกณฑ์ดี แต่ขนาดของตลาดไทยยังเป็นรองประเทศคู่แข่ง เช่น จีน อินเดีย และอินโดนีเซีย ซึ่งมีอุปสงค์ในประเทศจำนวนมากรองรับ และมีศักยภาพในการขยายตัวสูง

จะเห็นได้ว่าประเทศไทยยังมีอุปสรรคด้านการพัฒนาขีดความสามารถในการแข่งขันเพื่อดึงดูดเงินลงทุนจากต่างชาติ เมื่อถูกซ้ำเติมด้วยปัญหาน้ำท่วมจึงทำให้บรรยากาศการลงทุนแย่ลง ในปัจจุบันผู้ประกอบการต่างจับตาดูความชัดเจนของนโยบายภาครัฐฯ และยังไม่มีสัญญาณการลงทุนใหม่ในอุตสาหกรรมหลักเหล่านี้ เมื่อผนวกกับอุปสรรคต่อการลงทุนในประเทศไทยข้างต้น อาจทำให้มีความเสี่ยงที่นักลงทุนต่างชาติจะย้ายการลงทุนเพื่อผลิตรถยนต์และอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์รุ่นใหม่ไปยังประเทศอื่นได้ หากไทยไม่เพิ่มศักยภาพการผลิต เพื่อให้คุ้มทุนของนักลงทุน 4. บทสรุป

วิกฤตน้ำท่วมส่งผลกระทบต่อการลงทุนของไทย หลายฝ่ายกังวลถึงโอกาสการย้ายฐานการผลิตของนักลงทุนต่างชาติซึ่งอาจทำไม่ได้ง่ายนัก เนื่องจาก ข้อได้เปรียบด้านการสร้างเครือข่ายการผลิตที่แข็งแกร่งและมีความพร้อมบวกกับบริษัทต่างชาติลงทุนไปมากแล้ว อย่างไรก็ดี ปัญหาความชัดเจนเรื่องแผนงานและแนวทางปฏิบัติในการบริหารจัดการน้ำและกระแสการกระจายความเสี่ยงทางด้านห่วงโซ่การผลิตอาจส่งผลให้มีเงินไหลเข้ามาลงทุนในไทยน้อยลงในระยะต่อไป เมื่อผนวกกับปัญหาเรื้อรังที่เป็นอุปสรรคต่อการลงทุน อาจทำให้ภาคการลงทุนไทยมีความเสี่ยง

ดังนั้น ภาครัฐควรจัดการปัญหาระยะสั้นโดยเรียกความเชื่อมั่นของนักลงทุนหลังวิกฤตน้ำท่วมและปรับปรุงบรรยากาศการลงทุน ในขณะเดียวกันก็หันมาจริงจังกับปัญหาระยะยาวก่อนที่จะสายเกินไป ซึ่งได้แก่ การที่ภาคอุตสาหกรรมไทยไม่ได้มีพัฒนาการที่ยั่งยืน โดยยังต้องอาศัยการนำเข้าชิ้นส่วนที่ใช้เทคโนโลยีสูงและยังต้องพึ่งพาการลงทุนจากต่างชาติ ในขณะที่ผู้ประกอบการในประเทศเองกลับมีบทบาทลดลงเรื่อยๆ และผลิตชิ้นส่วนที่ใช้เทคโนโลยีต่ำกว่า ซึ่งเป็นความสุ่มเสี่ยงในสภาวะที่ประเทศประสบปัญหาด้านต่างๆที่กระทบต่อความมั่นใจในการลงทุน

ปัจจัยเร่งด่วนที่รอรับการพัฒนาในสภาวะแวดล้อมที่มีการแข่งขันสูง ได้แก่ การพัฒนาระบบการศึกษา คุณภาพและทักษะของแรงงาน องค์ความรู้ด้านวิทยาสตร์และเทคโนโลยี เพื่อให้ผู้ประกอบการไทยมีศักยภาพและขีดความสามารถในการแข่งขัน เพื่อยกระดับผลิตภาพการผลิต (Productivity) ให้มีศักยภาพ และสร้างความมั่นคงแก่อุตสาหกรรมไทย

เนื่องจาก หน้าที่ของประเทศที่รับทุนไม่ได้จบเพียงการสร้างบรรยากาศการลงทุนและพัฒนาปัจจัยหลักข้างต้นเพื่อดึงดูดเม็ดเงินจากต่างชาติ แท้ที่จริงแล้วยังสามารถวางยุทธศาสตร์การลงทุนเพื่อให้รูปแบบการลงทุนจากต่างชาติมีส่วนช่วยเอื้อให้เศรษฐกิจและอุตสาหกรรมของประเทศพัฒนาอย่างเต็มศักยภาพ เช่น ในกรณีของเกาหลีใต้และไต้หวัน ที่ประสบความสำเร็จในการสร้างเทคโนโลยีเป็นของตนเองโดยเริ่มจากการอาศัยการซึมซับเทคโนโลยีจากต่างชาติ รวมทั้งกรณีของสิงคโปร์ที่สามารถดึงดูดรูปแบบการลงทุนที่ใช้เทคโนโลยีสูงและผลิตสินค้าต้นน้ำที่สร้างมูลค่าเพิ่มมหาศาลให้กับประเทศ หรือแม้แต่กรณีของประเทศเพื่อนบ้าน เช่น จีนและมาเลเซีย ซึ่งให้ความสำคัญกับการปฏิวัติระบบอุตสาหกรรมในประเทศ เพื่อใช้นวัตกรรมเป็นตัวขับเคลื่อนเศรษฐกิจในระยะถัดไปดังเช่นประเทศที่พัฒนาแล้ว

References

Bank of America-Merrill Lynch (2011), "PCs, HDDs & Supply Chain: Impact of Thailand floods", 24 October

Goldman Sachs (2011), "Thai floods: Scenario

analysis: Impact on HDD/PC volumes and global technology sector, October 27"

Japan Bank for International Cooperation (2011), "Survey Report on Overseas Business Operations by Japanese Manufacturing Companies", results of the JBIC FY2011 Survey, December

Kimura Fukunari The Mechanics of Production Networks in Southeast Asia: The Fragmentation Theory Approach

Kohpaiboon, Archanun (2008), "Production Fragmentation in Thai Manufacturing: Trends and Patterns", Report submitted to Thailand Research Fund, Bangkok.

Schwab, K. (2010), "The Global Competitiveness Report, 2010-2011", Geneva, Switzerland: World Economic Forum

Sosukpaibul, Sarinthorn (2007), "The Relationship among Foreign Direct Investment Flows", Government Policy and Investment Strategy: The case of Thailand, Waseda University Working Paper

Thailand Board of Investment (2011), "Study and Analysis of Foreign Investor Confidence in Thailand 2011", Board of Investment (BOI)

Thailand Board of Investment (2011), Press release number 159/2011 (O.78), December 20, 2011

UNCTAD (2011), "World Investment Report", Non equity modes of international production and development, United Nations

World Bank (2008), "Thailand Investment Climate Assessment Update", June

กัลปพฤกษ์ ผิวทองงาม และประเสริฐ วิจิตรนพรัตน์, 2552 "รายงานฉบับสมบูรณ์โครงการผลกระทบของฮาร์ดดิสก์ไดรฟ์คลัสเตอร์ที่มีต่อระบบเศรษฐกิจไทย" สนับสนุนโดยศูนย์วิจัยร่วมเฉพาะทางด้านส่วนประกอบฮาร์ดดิสก์ไดรฟ์

สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ, สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ, "ยุทธศาสตร์การพัฒนาขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศไทยในระยะยาว", มกราคม 2554

Contact author:

พรพินันท์ ฉันทภักดีพงศ์

นักวิจัยอาวุโส ฝ่ายวิจัยเศรษฐกิจ สายนโยบายการเงิน pornpinc@bot.or.th

บทความนี้สำเร็จลุล่วงไปได้ด้วยดีเพราะความช่วยเหลือและคำแนะนำจาก คุณปฤษันต์ จันทน์หอมและทุกท่าน ในฝ่ายวิจัยเศรษฐกิจ คุณวรางคณา อิ่มอุดมและทุกท่าน ในทีมวิเคราะห์สนเทศธุรกิจ คุณวรรณวิมล สว่างเงินยวง คุณเฟื่องกนก ปานหงษ์ คุณพฤศญา จิตะพันธ์กุลและ ทุกท่านในทีมวิเคราะห์สาขาเศรษฐกิจ คุณปราณี สุทธศรี คุณรุจา อดิศรกาญจน์ คุณอัญชลี ศิริคะเณรัตน์ คุณธิติ เกตุพิทยา และคุณปัณฑา เกตุเรืองโรจน์ ผู้เขียนขอขอบพระคุณเป็นอย่างสูงมา ณ ที่นี้

ที่มา: ธนาคารแห่งประเทศไทย


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ