FOCUSED AND QUICK (FAQ) Issue 58
การท่องเที่ยวไทยแข็งแกร่งจริงหรือ?
ณัฐิกานต์ วรสง่าศิลป์ และ ไพลิน ผลิตวานนท์
การที่ไทยมีนักท่องเที่ยวต่างชาติเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องทั้งที่ต้องเผชิญกับมรสุมต่างๆ อาจทำให้หลายคนมั่นใจว่า การท่องเที่ยวไทยมีความแข็งแกร่ง แต่แท้จริงแล้วความทนทานของภาคการท่องเที่ยวต่อมรสุมเป็นพฤติกรรมปกติที่เกิดขึ้นในหลายประเทศ และการเติบโตของภาคการท่องเที่ยวไทยเป็นผลจากการขยายตัวทางเศรษฐกิจของกลุ่มตลาดเกิดใหม่ (Emerging Markets) และการท่องเที่ยวภายในกลุ่มอาเซียนที่ได้รับอานิสงส์จากการเติบโตของธุรกิจสายการบินต้นทุนต่ำในภูมิภาค ซึ่งเกือบทั้งหมดเป็นปัจจัยภายนอกประเทศ ขณะที่ปัจจัยภายในประเทศ เช่น ระบบขนส่งทางบก ระบบพื้นฐานด้าน ICT และความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน ถูกระบุว่าด้อยกว่าคู่แข่งในภูมิภาคอย่างต่อเนื่อง และบางด้านมีคะแนนประเมินต่ำลงในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา ส่งผลให้ส่วนแบ่งตลาดของไทยในธุรกิจท่องเที่ยวลดลงเมื่อเทียบกับประเทศอื่นในภูมิภาค และเติบโตแบบไม่เต็มศักยภาพ
ช่วง 10 ปีที่ผ่านมา จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติของไทยมีอัตราการขยายตัวเฉลี่ยร้อยละ 5.4 ต่อปี ทั้งที่ไทยต้องเผชิญกับมรสุมด้านการท่องเที่ยวมากมาย ที่สำคัญได้แก่ โรคระบาดไข้หวัดมรณะ (SARS) ภัยพิบัติสึนามิ การก่อการร้ายที่เพิ่มขึ้นทั่วโลก และปัญหาการเมืองภายในประเทศ ทำให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยวค่อนข้างสบายใจ และบางหน่วยงานถึงกับมั่นใจว่าภาคการท่องเที่ยวของไทยจะมีการเติบโตอย่างยั่งยืน
บทความนี้จึงต้องการสร้างความกระจ่างว่า การท่องเที่ยวไทยแข็งแกร่งจริงหรือ? โดยจะพิจารณาจากจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เข้ามาและความสามารถในการรักษาหรือขยายส่วนแบ่งตลาดของประเทศไทย วิเคราะห์ปัจจัยที่ทำให้การท่องเที่ยวของไทยเติบโตในช่วงที่ผ่านมา และประเมินความแข็งแกร่งของภาคการท่องเที่ยวไทยจากความทนทานต่อปัจจัยที่คาดไม่ถึง (Shock) มรสุมด้านการท่องเที่ยวเป็นบทพิสูจน์ความความแข็งแกร่งของภาคการท่องเที่ยวจริงหรือ?
หากพิจารณาจากจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติที่ลดลงในปีที่เกิด Shock แต่กลับฟื้นตัวได้ดีในปีถัดไป ภาคการท่องเที่ยวของไทยดูมีความทนทานต่อมรสุมด้านการท่องเที่ยว เว้นแต่ Shock นั้นจะยืดเยื้อ แต่เมื่อเทียบกับประเทศอื่นที่เผชิญปัญหาแบบเดียวกัน กลับพบว่าประเทศอื่นก็มีการฟื้นตัวของจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติ (หลังขจัดปัจจัยด้านฤดูกาล) ที่เร็วเช่นเดียวกัน โดยปัจจัยที่ส่งผลต่อจำนวนเดือนที่ใช้ในการฟื้นตัวกลับสู่ระดับปกติ คือความรุนแรง และความยืดเยื้อของ Shock มิใช่ความแตกต่างในเรื่องของประเทศ ยกตัวอย่างเช่น ภัยพิบัติสึนามิเมื่อปลายปี 2547 ส่งผลกระทบต่ออินโดนีเซียมากที่สุด จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติของอินโดนีเซียจึงฟื้นจากเหตุการณ์นี้ช้ากว่าไทยและศรีลังกา ขณะที่ปัญหาความไม่สงบทางการเมือง/การก่อการร้ายของไทยยืดเยื้อกว่าอินโดนีเซีย นักท่องเที่ยวต่างชาติของไทยก็ฟื้นตัวช้ากว่าอินโดนีเซีย เป็นต้น ชี้ให้เห็นว่าพฤติกรรมปกติของนักท่องเที่ยวต่างชาติคือรอให้ Shock คลี่คลายก็จะกลับมาท่องเที่ยวเช่นเดิม ยกเว้นสหรัฐอเมริกาที่ใช้เวลาฟื้นตัวยาวนานกว่า 50 เดือน ส่วนหนึ่งเพราะหลังจากเหตุการณ์ 911 สหรัฐอเมริกาเข้มงวดกับการเดินทางเข้าประเทศของนักท่องเที่ยวต่างชาติมาก
ดังนั้น ความสามารถในการฟื้นตัวอย่างค่อนข้างรวดเร็วของจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติจึงไม่ควรใช้เป็นตัวชี้วัดความแข็งแกร่งของภาคการท่องเที่ยวที่สะท้อนลักษณะเฉพาะของประเทศ (Country specific characteristic) หากแต่เป็นลักษณะของอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวเอง (Industry specific characteristic)
การขยายตัวของจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติของไทยที่สูงกว่าค่าเฉลี่ยของโลกอาจเป็นข้อมูลที่ทำให้เกิดความเชื่อมั่นระดับหนึ่ง ทั้งนี้ จำนวนนักท่องเที่ยวเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง (ยกเว้นในปี 2546 และ 2548 ที่ไทยได้รับผลกระทบจากโรค SARS และภัยพิบัติสึนามิ ตามลำดับ) แม้ในยามที่ภาวะเศรษฐกิจโลกตกต่ำ แต่จำนวนนักท่องเที่ยวก็ได้รับผลกระทบเพียงเล็กน้อย
อย่างไรก็ตาม หากเทียบกับกลุ่มอาเซียน*(1) จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติของไทยกลับขยายตัวต่ำตลอดทศวรรษที่ผ่านมา ขณะที่มาเลเซียซึ่งเป็นคู่แข่งสำคัญในภูมิภาคขยายตัวอย่างก้าวกระโดดภายหลังจากการท่องเที่ยวฟื้นตัวจากปัญหาโรค SARS ในปี 2546 เป็นต้นมา ส่งผลให้ในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา ไทยมีส่วนแบ่งตลาดนักท่องเที่ยวต่างชาติในกลุ่มอาเซียนลดลงถึงร้อยละ 3 จากค่าเฉลี่ยร้อยละ 27 ในช่วงปี 2543-2544 เหลือเพียงร้อยละ 24 ในช่วงปี 2551-2552 ทั้งที่ในช่วงเวลาดังกล่าวกลุ่มอาเซียนได้ส่วนแบ่งตลาดนักท่องเที่ยวจากทั่วโลกเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 1.2 ที่ น่าตกใจคือ มาเลเซีย สามารถขยายส่วนแบ่งตลาดนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เข้ามาในอาเซียนได้สูงถึง ร้อยละ 7 ภาคการท่องเที่ยวไทยที่ผ่านมาเติบโตจากปัจจัยใด?
เมื่อมาพิจารณาว่าปัจจัยใดส่งเสริมให้จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติของไทยขยายตัวได้ค่อนข้างต่อเนื่องในช่วงที่ผ่านมา พบว่าปัจจัยที่สำคัญเป็นปัจจัยจากภายนอกประเทศ ได้แก่
(1) การขยายตัวทางเศรษฐกิจของกลุ่มตลาดเกิดใหม่ (Emerging Markets)และกลุ่มอาเซียนโดยการท่องเที่ยวเป็นสินค้าฟุ่มเฟือยที่ปริมาณการบริโภคขึ้นอยู่กับรายได้ของประชากรเป็นหลัก ทำให้นักท่องเที่ยวจากประเทศที่มีเศรษฐกิจดีขยายตัวสูงขึ้น เช่น ประเทศกลุ่มตะวันออกกลางที่ได้ประโยชน์จากราคาสินค้าโภคภัณฑ์ กลุ่มตลาดเกิดใหม่อย่างอินเดียและรัสเซียที่เริ่มสะสมความมั่งคั่ง และกลุ่มอาเซียนที่ส่วนหนึ่งได้รับอานิสงส์จากการขยายตัวของเศรษฐกิจจีน ทั้งนี้ หากเทียบสัดส่วนนักท่องเที่ยวกลุ่มนี้กับนักท่องเที่ยวต่างชาติทั้งหมดที่เข้ามาไทยในช่วงปี 2543-2545 และปี 2550-2552 พบว่า นักท่องเที่ยวจากอาเซียนมีสัดส่วนเพิ่มขึ้นสูงสุดรองลงมาคือ รัสเซีย อินเดียและตะวันออกกลาง ตามลำดับ
(2) ต้นทุนการเดินทางภายในอาเซียนที่ลดลงช่วยให้การท่องเที่ยวภายในกลุ่มขยายตัวเพิ่มขึ้น โดยสายการบินต้นทุนต่ำมีจำนวนเพิ่มขึ้นจาก 7 บริษัทในปี 2540 เป็น 17 บริษัทในปี 2552 ส่วนหนึ่งเป็นผลจากการที่รัฐบาลของหลายประเทศเปิดให้เอกชนเข้ามาแข่งขันในอุตสาหกรรมการบินหลังจากที่ประสบปัญหาการขาดทุนอย่างหนักจากวิกฤติเศรษฐกิจเอเชีย (ปี 2540) ซึ่งการให้บริการของสายการบินต้นทุนต่ำช่วยเพิ่มฐานลูกค้าและอำนวยความสะดวกให้นักท่องเที่ยวเดินทางภายในอาเซียนมากขึ้น โดยมีนักท่องเที่ยวกลุ่มนี้มาประเทศไทยเพิ่มขึ้นจากร้อยละ 22.6 ของจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติในปี 2540 เป็นร้อยละ 28.0 ในปี 2552
(3) การรวมกลุ่มทางเศรษฐกิจของไทยกับประเทศต่างๆ ทำให้ประเทศสมาชิกเดินทางมาทำธุรกรรมด้านการค้าและการลงทุนมากขึ้นนอกจากนี้ ในด้านการท่องเที่ยวยังมีกรอบความร่วมมือเฉพาะ เช่น ความตกลงด้านการท่องเที่ยวอาเซียน (ASEAN Tourism Agreement) ในปี 2545 ซึ่งขยายการยกเว้นวีซ่าให้กับคนสัญชาติอาเซียนที่เดินทางภายในภูมิภาค ช่วยลดอุปสรรคและข้อจำกัดในการท่องเที่ยวระหว่างกันลง
สำหรับปัจจัยที่ไทยอาจเคยให้ความสำคัญว่าเป็นแรงดึงดูดนักท่องเที่ยว เช่น เอกลักษณ์ "สยามเมืองยิ้ม" (Affinity for tourism) ราคาที่แข่งขันได้ (Price competitiveness) และทรัพยากรธรรมชาติและวัฒนธรรมที่หลากหลาย (Natural and cultural resources) จากการจัดอันดับความสามารถทางการแข่งขันด้านท่องเที่ยวใน The Travel and Tourism Competitiveness Report ของ World Economic Forum ปี 2554 พบว่า มีเพียงปัจจัยทรัพยากรธรรมชาติและวัฒนธรรมที่ขณะนี้ไทยได้คะแนนสูงกว่ามาเลเซียและสิงคโปร์ ขณะที่มีจุดอ่อนหรือปัจจัยที่ไทยมีคะแนนต่ำกว่าคู่แข่งมากในหลายด้านเช่น ระบบขนส่งทางบก ระบบพื้นฐานด้านเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (Information and Communication Technology : ICT) และความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน
นอกจากนี้ หากเปรียบเทียบด้านต่างๆ ในช่วงปี 2550-2552 ตั้งแต่ World Economic Forum เริ่มทำการสำรวจ พบว่า หลายด้านของไทยมีคะแนนถดถอยลง สะท้อนให้เห็นว่า ไทยไม่มีการพัฒนาปัจจัยพื้นฐานที่จำเป็นต่อการเติบโตของการท่องเที่ยวในระยะยาวเท่าที่ควร
หากย้อนกลับมาพิจารณามาเลเซียที่มีจุดดึงดูดการท่องเที่ยวด้านทรัพยากรธรรมชาติด้อยกว่าไทย แต่กลับมีอัตราการเติบโตของตลาดสูง เห็นได้ว่าเป็นเพราะกฎระเบียบที่เกี่ยวข้องกับการเดินทางและระบบพื้นฐานด้าน ICT ที่มีคะแนนสูงกว่าไทยอย่างเด่นชัด ประกอบกับการใช้ประโยชน์จากความได้เปรียบด้านราคา (Price) และทรัพยากรมนุษย์ (Human Resources) โดยปรับกลยุทธ์ด้านการท่องเที่ยวให้เป็นศูนย์การประชุมสัมมนาและแหล่งช้อปปิ้ง ส่งผลให้นักท่องเที่ยวต่างชาติของมาเลเซียที่มีวัตถุประสงค์เพื่อมาพักผ่อนลดลง แต่เดินทางเข้ามาเพื่อประชุมสัมมนาและ ช้อปปิ้งเพิ่มขึ้นอย่างชัดเจน โดยวัตถุประสงค์สองรายการนี้มีสัดส่วนเพิ่มขึ้นจากร้อยละ 2.5 ในปี 2548 เป็นร้อยละ 9.1 ในปี 2552
ข้อมูลหลายด้านชี้ว่าภาคการท่องเที่ยวของไทยไม่ได้มีความทนทานต่อมรสุมเป็นพิเศษกว่าประเทศอื่น และที่ผ่านมา ภาคการท่องเที่ยวขยายตัวเพราะปัจจัยภายนอกเป็นหลัก อาทิ การเติบโตของเศรษฐกิจประเทศในเอเชีย ขณะที่ปัจจัยภายในประเทศกลับเป็นข้อจำกัดที่ทำให้ไทยเติบโตไม่ได้เต็มศักยภาพทั้งที่มีทรัพยากรธรรมชาติที่สมบูรณ์และน่าจะดึงดูดนักท่องเที่ยวได้ดี ส่งผลให้ไทยเสียส่วนแบ่งตลาดนักท่องเที่ยวให้กับประเทศอื่นๆ ในภูมิภาคมาเป็นลำดับ
เมื่อเป็นเช่นนั้น ภาครัฐและเอกชนจำเป็นต้องตระหนักถึงสถานะที่แท้จริงของภาคการท่องเที่ยวไทยในเวทีโลกและภูมิภาค และไม่อาจนิ่งเฉยต่อการแก้ไขจุดอ่อนโดยเฉพาะการคมนาคมทางบกซึ่งเป็นสิ่งอำนวยความสะดวกขั้นพื้นฐานสำหรับนักท่องเที่ยวแต่กลับถูกทิ้งห่างจากคู่แข่งมากที่สุดแล้วยังมีคะแนนถดถอยลง และสิ่งสำคัญประการสุดท้าย คือ เราต้องย้อนถามตัวเองว่า "ไทยควรวางกลยุทธ์ด้านการท่องเที่ยวอย่างไร" ให้สามารถเติบโตเต็มศักยภาพคล้ายกับที่มาเลเซียทำสำเร็จมาแล้ว
*(1) ประเทศในอาเซียนที่ใช้เปรียบเทียบ ได้แก่ ไทย สิงคโปร์ มาเลเซีย อินโดนีเซีย เวียดนาม ฟิลิปปินส์ ลาว และพม่า
*(2) Yose Rizal Damuri and Titik Anas (2008), Strategic Directions for ASEAN Airlines in a Globalizing World
World Economic Forum, 2007. "The Travel& Tourism Competitiveness Report 2007"
World Economic Forum, 2011. "The Travel& Tourism Competitiveness Report2011"
World Tourism Organization,2010 ."UNWTO Tourism Highlights 2010 Edition"
Yose Rizal Damuri and Titik Anas ,2008. "Strategic Directions for ASEAN Airlines in a Globalizing World"
กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ,2554. "แผนการพัฒนาการท่องเที่ยวแห่งชาติ 2555-2549"
บทความนี้สำเร็จลุล่วงไปได้ด้วยดีเพราะคำแนะนำจากคุณรุ่ง มัลลิกะมาส คุณปฤษันต์ จันทน์หอม คุณเสาวณี จันทะพงษ์ และความช่วยเหลือจากคุณ ศุภโชค ถาวรไกรวงศ์ คุณนันทพร พงศ์พัฒนานนท์ คุณธรรมนูญ สดศรีชัย คุณไพบูลย์ พงษ์ไพเชฐ คุณปราณี สุทธศรี และคุณปัณฑา เกตุเรืองโรจน์ ผู้เขียนขอขอบพระคุณเป็นอย่างสูงมา ณ ที่นี้
ที่มา: ธนาคารแห่งประเทศไทย