FAQ Issue 74: เงินเฟ้อไทยมาจากไหนกันแน่

ข่าวเศรษฐกิจ Monday August 27, 2012 14:14 —ธนาคารแห่งประเทศไทย

FOCUSED AND QUICK (FAQ) Issue 74

เงินเฟ้อไทยมาจากไหนกันแน่

โชติมา สิทธิชัยวิเศษ วรารัตน์ เขมังกรณ์ และอธิพงษ์ สายแก้ว

ประเด็นเกี่ยวกับเงินเฟ้อที่มีการอภิปรายกันมากในปัจจุบัน คือ ประเทศไทยซึ่งเป็นเศรษฐกิจขนาดเล็กและเปิด ไม่ควรใช้นโยบายการเงินในการดูแลเงินเฟ้อ เนื่องจากเงินเฟ้อไทยมาจากปัจจัยด้านอุปทานและมาจากต่างประเทศ เช่น ราคาน้ำมันแพง ซึ่งอยู่นอกเหนือความสามารถของนโยบายการเงินที่จะควบคุมได้

หากเงินเฟ้อเป็นเรื่องของอุปทานและมาจากต่างประเทศเท่านั้น คำกล่าวข้างต้นก็คงจะถูกต้อง และประเทศที่เป็นเศรษฐกิจเล็กและเปิด เช่น สิงคโปร์ และฮ่องกง คงไม่เคยต้องกังวลกับการควบคุมปัญหา เงินเฟ้อ แต่นั่นไม่ใช่สิ่งที่เกิดขึ้น เพราะธนาคารกลางของประเทศเหล่านี้ยังกังวลกับการจัดการกับปัญหา เงินเฟ้ออยู่

ข้อเท็จจริงคือ แม้เงินเฟ้อที่มาจากด้านอุปทานจะเห็นได้ชัดและมีผลแรง แต่ผลดังกล่าวมักอยู่เพียงชั่วคราว ปัจจัยส่วนใหญ่ที่กำหนดเงินเฟ้อไทยกลับเป็นปัจจัยที่นโยบายการเงินสามารถดูแลจัดการได้ ได้แก่ เงินเฟ้อคาดการณ์ และอุปสงค์ส่วนเกินในประเทศ ซึ่งปัจจัยทั้งสองรวมกันมีส่วนในการกำหนดเงินเฟ้อไทยในช่วงที่ผ่านมาถึงประมาณร้อยละ 70 ขณะที่ปัจจัยด้านอุปทานมีผลประมาณร้อยละ 20 - 40

เมื่อพฤติกรรมการคาดการณ์ของประชาชนและอุปสงค์ในประเทศมีส่วนสำคัญต่อเงินเฟ้อไทย จึงเป็นหน้าที่ของนโยบายการเงินที่จะจัดการกับเงินเฟ้อส่วนนี้ ผ่านการแสดงจุดยืนที่จะรักษาวินัยทางการเงิน และการดำเนินนโยบายที่โปร่งใสตรงไปตรงมา กล่าวคือ มีเป้าหมายเงินเฟ้อให้ประชาชนอ้างอิงและปรับอัตราดอกเบี้ยนโยบายอย่างมีเหตุมีผลชี้แจงได้ นอกจากจะมีส่วนช่วยจัดระเบียบการคาดการณ์เงินเฟ้อในระยะยาวของประชาชนให้อยู่ในระดับที่เหมาะสมแล้ว ยังจะช่วยชี้นำการวางแผนใช้จ่ายและลงทุนของประชาชนและธุรกิจ ซึ่งทั้งหมดนี้เป็นภารกิจที่จำเป็นและสำคัญยิ่งของธนาคารกลางเพื่อสนับสนุนการเติบโตที่ยั่งยืนของเศรษฐกิจ เพราะลำพังการควบคุมราคาผ่านนโยบายอุดหนุนต่างๆ อาจช่วยบรรเทาปัญหาค่าครองชีพได้เพียงบางจุดและเป็นการซื้อเวลาให้ประชาชนปรับตัวได้เท่านั้น ไม่สามารถจัดการกับการคาดการณ์เงินเฟ้อในระยะยาวและอุปสงค์ส่วนเกินได้เลย

บทนำ

หนึ่งในประเด็นที่สังคมไทยกำลังกล่าวถึงกันมากในขณะนี้คือ ประเด็นที่ว่าประเทศไทย ซึ่งเป็นเศรษฐกิจขนาดเล็กและเปิด ไม่ควรใช้นโยบายการเงินในการดูแลเงินเฟ้อ เนื่องจากเงินเฟ้อไทยเป็นเรื่องของปัจจัยด้านอุปทานและมาจากต่างประเทศ ซึ่งอยู่นอกเหนือความสามารถที่จะควบคุมได้

บทความนี้จึงมีวัตถุประสงค์เพื่อไขข้อข้องใจของสาธารณชนอย่างง่ายๆ ด้วยการตอบข้อสงสัย 2 ประการ คือ (1) เงินเฟ้อไทยมาจากปัจจัยด้านอุปทานและปัจจัยภายนอกประเทศเท่านั้นจริงหรือ และ (2) นโยบายการเงินไม่สามารถดูแลเงินเฟ้อในประเทศได้จริงหรือ*(1)

1. เงินเฟ้อไทยมาจากปัจจัยด้านอุปทานและปัจจัยภายนอกประเทศเท่านั้นจริงหรือ?

เป็นเรื่องปกติที่คนทั่วไปจะเข้าใจว่าเงินเฟ้อไทยมาจากปัจจัยด้านอุปทาน เพราะเงินเฟ้อที่มาจากด้านอุปทานเป็นเรื่องที่กระทบวิถีชีวิตประจำวันของคนส่วนใหญ่ และมักจะส่งผลรุนแรงและรวดเร็ว ตัวอย่างที่มักมีการหยิบยกมากล่าวอ้างกันมากที่สุดคือ น้ำมัน ซึ่งเป็นปัจจัยการผลิตหลักของภาค อุตสาหกรรมและการคมนาคม เมื่อราคาน้ำมันสูงขึ้น นอกจากจะทำให้ผู้บริโภคต้องจ่ายค่าน้ำมันเพิ่มขึ้นโดยตรงแล้ว โรงงานและธุรกิจต่างๆ ยังต้องเผชิญกับต้นทุนการผลิตที่สูงขึ้น เมื่อถึงจุดหนึ่งที่ผู้ผลิตทั้งหลายไม่สามารถแบกรับภาระดังกล่าวและจำเป็นต้องขึ้นราคาสินค้า จะทำให้เงินเฟ้อสูงขึ้นในที่สุด

ที่สำคัญ ทุกครั้งที่อัตราเงินเฟ้อไทยพุ่ง สูงกว่าร้อยละ 10 สาเหตุมักจะมาจากปัจจัย ด้านอุปทานเสมอ เช่น วิกฤติการณ์น้ำมันโลกครั้งที่ 1 และ 2 ซึ่งทำให้อัตราเงินเฟ้อไทยในปี 1973 และ 1980 เร่งขึ้นถึงร้อยละ 18 และ 16 ตามลำดับ การที่ปัจจัยด้านอุปทานจากต่างประเทศสามารถกระชากเงินเฟ้อไทยให้เคลื่อนไหวรุนแรง อาจส่งผลต่อความรู้สึกของคนค่อนข้างมาก นอกจากนี้ เหตุที่ทำให้น้ำมันแพงกลับเป็นปัจจัยที่เราควบคุมไม่ได้ เช่น ปัญหาทางการเมืองในประเทศผู้ผลิตน้ำมัน และ ความต้องการพลังงานที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องของประเทศเกิดใหม่ขนาดใหญ่ เช่น จีน และ อินเดีย เป็นต้น จึงชวนให้เชื่อว่า สำหรับเศรษฐกิจเล็กและเปิดอย่างไทย เงินเฟ้อมาจากปัจจัยด้านอุปทานและปัจจัยภายนอกประเทศ เป็นส่วนใหญ่ ซึ่งเราไม่สามารถควบคุมได้ (อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ในบทความในกรอบ)

อย่างไรก็ดี ที่มาของเงินเฟ้อมิได้จำกัดเพียงปัจจัยด้านอุปทานหรือปัจจัยภายนอกประเทศ แต่สามารถมาจากพฤติกรรมของผู้บริโภคที่ไม่อาจมองเห็นชัดเจน โดยเมื่อใดก็ตามที่ผู้บริโภคเริ่มคิดหรือปรับตัวในทิศทางเดียวกันก็ย่อมสร้างแรงกดดันต่อเงินเฟ้อได้ ซึ่งเงินเฟ้อที่มาในลักษณะนี้ไม่ได้กระชากตัวแรงเหมือนกรณีที่น้ำมันแพงแล้วเงินเฟ้อพุ่ง แต่จะมีลักษณะที่ค่อยๆ สะสมและทรงตัวอยู่ในระดับสูงเป็นเวลานาน คนจึงไม่ค่อยนึกถึง

เราสามารถแบ่งเงินเฟ้อจากพฤติกรรมของผู้บริโภคเป็น 2 ส่วนคือ (1) เงินเฟ้อที่เกิดจากความนึกคิดหรือการคาดการณ์ของคน (หรือที่เรียกว่า "เงินเฟ้อคาดการณ์") เช่น ถ้าคนคิดว่าราคาสินค้าในอนาคตจะปรับสูงขึ้นต่อเนื่อง ผู้บริโภคก็จะรีบใช้จ่ายเพื่อกักตุนสินค้า ผู้ผลิตก็จะชิงขึ้นราคา แรงงานก็จะกดดันให้ขึ้นค่าจ้าง ทำให้เงินเฟ้อที่เคยเป็นเพียงการคาดการณ์กลายเป็นเงินเฟ้อที่เกิดขึ้นจริงในที่สุด และ (2) เงินเฟ้อที่เกิดจากความต้องการซื้อที่มากกว่าความสามารถในการผลิตของระบบเศรษฐกิจ (หรือที่เรียกว่า "อุปสงค์ส่วนเกิน") เช่น ในช่วงก่อนเกิดวิกฤตการณ์น้ำมันโลกครั้งที่ 2 ในปี 1976-79 และในช่วงก่อนเกิดวิกฤตต้มยำกุ้งในปี 1988-96 (แรเงาในรูปที่ 1) ซึ่งเป็นช่วงที่ปราศจากแรงกดดันด้านอุปทาน แต่เศรษฐกิจไทยกำลังขยายตัวอย่างรวดเร็ว*(2) ผู้คนมีเงินในกระเป๋ามากขึ้นและต้องการจับจ่ายใช้สอย ขณะที่สินค้าผลิตไม่ทันกับความต้องการ ในภาวะเช่นนี้ ไม่ว่าพ่อค้าแม่ค้าจะขึ้นราคาสินค้าเพียงใดก็ยังขายได้ ราคาสินค้าจึงเพิ่มสูงขึ้นเรื่อยๆ และทำให้เงินเฟ้อเพิ่มขึ้นในที่สุด

2. แท้จริงแล้วปัจจัยใดมีอิทธิพลต่อเงินเฟ้อไทยมากที่สุด?

จากข้างต้นทำให้สรุปได้ว่า ปัจจัยด้านอุปทานและปัจจัยภายนอกประเทศไม่ใช่สิ่งเดียวที่มีผลต่อเงินเฟ้อไทย แต่ยังมีปัจจัยอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับพฤติกรรมของผู้คนที่มีส่วนในการขับเคลื่อนเงินเฟ้อไทยด้วย

ถึงตอนนี้ ผู้อ่านคงเริ่มสงสัยว่า แล้วปัจจัยอะไรที่มีความสำคัญต่อเงินเฟ้อไทยมากที่สุด

จากการศึกษาปัจจัยที่กำหนดเงินเฟ้อไทยของ โชติมา วรารัตน์ และอธิพงษ์ (2555) โดยใช้วิธีทางเศรษฐมิติทดสอบสมการ New Keynesian Phillips Curve augmented with supply shock และใช้ข้อมูลรายไตรมาสในช่วงปี 2003 - 2011 พบว่า เงินเฟ้อของไทยที่เกิดจากการคาดการณ์เงินเฟ้อของผู้คน และความต้องการซื้อที่มากเกินไปคิดเป็นสัดส่วนรวมกันถึงประมาณร้อยละ 70 ขณะที่เงินเฟ้อที่มาจากด้านอุปทานคิดเป็นสัดส่วนประมาณร้อยละ 20 - 40 (ตารางที่ 1) ทั้งนี้ แม้ ปัจจัยด้านอุปทานจะทำให้เกิดภาวะเงินเฟ้อสูงเป็นบางช่วง แต่ผลก็หมดไปอย่างรวดเร็วภายใน 1-2 ไตรมาส และแทบจะไม่เคยหล่อเลี้ยงให้เงินเฟ้อค้างอยู่ได้นาน ดังนั้น เมื่อพิจารณาในภาพใหญ่ ผลของปัจจัยด้านอุปทานจึงมีเพียงพอประมาณเท่านั้น ไม่ได้มากที่สุดอย่างที่เราอาจรู้สึก

ตารางที่ 1 ที่มาของเงินเฟ้อไทย
    ปัจจัย          ช่วงของ Contribution*
เงินเฟ้อคาดการณ์           58-67%
ปัจจัยด้านอุปสงค์             6-10%
(ช่องว่างการผลิต)#
ปัจจัยด้านอุปทาน            23-41%
(ค่าจ้างขั้นต่ำ ราคาน้ำมัน
และราคาสินค้าเกษตร)
อัตราแลกเปลี่ยน              0-5%
  • คำนวณโดยการนำค่าสัมประสิทธิ์ที่ได้จากสมการทั้งหมด 4 รูปแบบคูณกับค่าเฉลี่ยของตัวแปรนั้นๆ

#ช่องว่างการผลิต (output gap) คือส่วนต่างระหว่างการผลิต จริง (actual GDP) กับศักยภาพในการผลิต (potential GDP) ที่มา: โชติมา วรารัตน์ และอธิพงษ์ (2555), นโยบายการเงินและ การดูแลเงินเฟ้อ

ประเด็นที่ไม่ควรมองข้ามจากผลการศึกษานี้คือ เงินเฟ้อที่มาจากการคาดการณ์ของผู้คนและปัจจัยด้านอุปสงค์นี้ แม้จะไม่สร้างผลรุนแรงทันทีเหมือนเงินเฟ้อที่มาจากด้านอุปทาน แต่กลับน่ากลัวกว่า เพราะส่งผลต่อความคิดและพฤติกรรมของคน จนวกกลับมาสร้างแรงกดดันต่อเงินเฟ้อและ หล่อเลี้ยงให้ค้างอยู่ในระดับสูงอย่างต่อเนื่อง คราวนี้หากมีปัจจัยด้านอุปทานมากระทบ ผลต่อเงินเฟ้อก็จะไม่หมดไปอย่างรวดเร็วเหมือนเคย ถึงตอนนั้นประชาชนจะเดือดร้อน ธุรกิจจะไม่ลงทุน และกระทบถึงความสามารถแข่งขันกับต่างประเทศด้วย

3. นโยบายการเงินไม่สามารถดูแลเงินเฟ้อไทยได้จริงหรือ?

จริงอยู่ที่ว่านโยบายการเงินไม่สามารถจัดการกับปัจจัยด้านอุปทานและปัจจัยจากต่างประเทศได้ เพราะการปรับอัตราดอกเบี้ย ในประเทศคงไม่อาจแก้ไขปัญหาด้านอุปทานหรือส่งผลต่อต้นทุนการผลิตและการบริโภคในต่างประเทศได้ ขณะที่มาตรการควบคุมราคาสินค้าของภาครัฐ เช่น การตรึงราคาน้ำมันและสินค้าต่างๆ สามารถบรรเทาผลกระทบจากปัญหาด้านอุปทานได้ แต่ก็มีผลเฉพาะเพียงระยะสั้น เพราะการบิดเบือนราคาตลาดเป็นเวลานาน นอกจากจะทำลายแรงจูงใจในการทำมาค้าขายแล้วยังสนับสนุนให้ประชาชนไม่พยายามปรับตัว และหากเป็นสินค้าที่สามารถส่งไปขายต่างประเทศได้ ผู้ประกอบการก็จะเปลี่ยนไปส่งออกแทน จนสินค้าในประเทศขาดแคลน ทำให้เงินเฟ้อพุ่งขึ้นแรงกว่าที่ควรจะเป็นในที่สุด

เมื่อเราทราบแล้วว่า แท้ที่จริงเงินเฟ้อไทยมาจากการคาดการณ์ของผู้คน และความต้องการส่วนเกินในประเทศเป็นส่วนใหญ่ คำถามสำคัญที่ตามมาคือ แล้วนโยบายการเงินจะสามารถควบคุมดูแลปัจจัยที่ส่งผลต่อเงินเฟ้อทั้งสองนี้ได้หรือไม่ อย่างไร

เป็นที่ยอมรับกันอย่างกว้างขวางว่า ธนาคารกลางมีบทบาทและหน้าที่ดำเนินนโยบายการเงินเพื่อดูแลเงินเฟ้อโดยตีกรอบการคาดการณ์เงินเฟ้อของคน รวมไปถึงดูแลความต้องการจับจ่ายใช้สอยของผู้คนให้อยู่ในระดับที่พอเหมาะ ไม่มากไม่น้อยจนเกินไป สำหรับนโยบายการเงินภายใต้กรอบเป้าหมายเงินเฟ้อ (Inflation Targeting) นั้น การมีเป้าหมายเงินเฟ้อให้ประชาชนอ้างอิงก็เปรียบได้กับการช่วยจัดระเบียบการคาดการณ์เงินเฟ้อของประชาชน หากประชาชนเชื่อมั่นในความสามารถดูแลเงินเฟ้อของธนาคารกลาง ประชาชนก็จะยึดเป้าหมายเงินเฟ้อที่ธนาคารกลางประกาศเป็นที่ตั้งและเชื่อว่าเงินเฟ้อในอนาคตจะอยู่ในระดับใกล้เคียงกับเป้าหมาย แม้จะมีปัจจัยด้านอุปทานเข้ามากระทบ การคาดการณ์เงินเฟ้อของผู้คนก็จะไม่ปรับขึ้นตามมากนัก หรือถ้าปรับขึ้นก็จะลดลงได้อย่างรวดเร็ว ทำให้เงินเฟ้อที่พุ่งขึ้นแรงหายไปเองในเวลาไม่นาน

เพื่อให้เห็นภาพ จึงขอยกตัวอย่างง่ายๆ สมมติว่ามีประเทศไทย ก. กับประเทศไทย ข. ที่มีลักษณะเหมือนกันทุกอย่าง ยกเว้น ธนาคารกลางไทย ก. มีหน้าที่ในการดำเนินนโยบายการเงินเพื่อดูแลเงินเฟ้อให้อยู่ในระดับต่ำและไม่ผันผวน แต่ธนาคารกลางไทย ข. ไม่มี และอยู่มาวันหนึ่ง ทั้งสองประเทศต้องมาเผชิญกับวิกฤตการณ์น้ำมันครั้งใหญ่ ทำให้เงินเฟ้อพุ่งสูงขึ้นมาก ถามว่าอะไรจะเกิดขึ้น

คนไทย ก. ซึ่งมีความเชื่อมั่นว่าธนาคารกลางจะดูแลไม่ให้เงินเฟ้อค้างอยู่ในระดับสูงนาน ก็จะมั่นใจว่าเงินเฟ้อที่ปรับขึ้นไปนั้นจะลดลงมาในเร็ววัน ผู้คนก็จะไม่กักตุนสินค้า ผู้ผลิตก็ไม่ชิงขึ้นราคา แรงงานไม่ตื่นตระหนกจนรีบออกมากดดันขอขึ้นค่าแรง ผลคือ เมื่อวิกฤตการณ์น้ำมันคลี่คลายลง เงินเฟ้อจะปรับลดลงตามไปได้โดยเร็ว

ขณะที่คนไทย ข. ที่ไม่เชื่อมั่นว่าธนาคารกลางจะรักษาวินัยทางการเงินของประเทศและต่อสู้กับเงินเฟ้อ ก็จะคิดว่าเงินเฟ้อจะสูงขึ้นเรื่อยๆในอนาคต ผู้บริโภคก็จะรีบใช้จ่าย ผู้ผลิตชิงขึ้นราคา แรงงานออกมากดดันขอขึ้นค่าจ้าง และยิ่งกดดัน เงินเฟ้อ ผลคือ เงินเฟ้อที่เคยเป็นเพียงการคาดการณ์จะกลายเป็นเงินเฟ้อที่เกิดขึ้นจริงในที่สุด แม้ว่าวิกฤตการณ์น้ำมันผ่านพ้นไปแล้วก็ตาม แต่เงินเฟ้อก็ยังค้างอยู่ในระดับสูงอย่างนั้น (รูปที่ 2) นอกจากนี้ ต้นทุนการกู้ยืมระยะยาวก็จะสูงขึ้นโดยไม่จำเป็น เพราะผู้ให้กู้เงินย่อมต้องการความมั่นใจว่า เงินที่จะได้รับคืนมาในอนาคตจะยังจับจ่ายใช้สอยซื้อของได้ไม่น้อยกว่าถ้าใช้เงินตั้งแต่วันนี้ จึงต้องคิดดอกเบี้ยระยะยาวให้สูงกว่าเงินเฟ้อที่คาดว่าจะเกิดขึ้นในระยะต่อไป ถึงตอนนั้น ประชาชนจะเดือดร้อน ธุรกิจจะหยุดการลงทุน เพราะต้องกู้เงินมาแพง ประเทศก็จะไม่สามารถแข่งขันกับใครได้

การศึกษาหลายชิ้นในต่างประเทศพบว่า นโยบายการเงินส่งผลต่อการคาดการณ์เงินเฟ้อของผู้คน รวมทั้งยังเป็นปัจจัยสำคัญที่มีส่วนกำหนดว่า เงินเฟ้อที่ปรับสูงขึ้นนั้นจะมีความต่อเนื่องและฝังตัวค้างอยู่ในระดับสูงเป็นเวลานานหรือไม่ โดยงานศึกษาของธนาคารกลางสำคัญๆ เช่น ธนาคารกลางอังกฤษ*(3) และธนาคารกลางแคนาดา*(4) พบว่า นโยบายการเงินมีส่วนช่วยตีกรอบให้เงินเฟ้อคาดการณ์ของผู้คนอยู่ในระดับต่ำ ขณะที่งานศึกษาถึงนโยบายการเงินของธนาคารกลางสหรัฐฯ*(5) พบว่า การให้ความสำคัญกับวินัยทางการเงินมีส่วนกำหนดว่าเงินเฟ้อที่เกิดขึ้นจะหล่อเลี้ยงตัวเองให้ค้างอยู่ในระดับสูงต่อเนื่องยาวนานเพียงใด โดยในช่วงที่วินัยทางการเงินหย่อน พบว่าเงินเฟ้อสามารถหล่อเลี้ยงตัวเองและค้างอยู่ในระดับสูงนานขึ้น

ในกรณีของไทยพบหลักฐานสนับสนุนผลการศึกษาของต่างประเทศในระดับหนึ่งเช่นกันโดยการศึกษาของโชติมา วรารัตน์ และอธิพงษ์ (2555) ซึ่งศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างการดำเนินนโยบายการเงินและการคาดการณ์เงินเฟ้อของประชาชน ทั้งในเชิงคุณภาพและเชิงปริมาณ พบว่า แนวนโยบายการเงินที่เหมาะสม ไม่ตึงหรือไม่หย่อนจนเกินไป มีส่วนช่วยยึดเหนี่ยวเงินเฟ้อคาดการณ์และช่วยลดการเกิดภาวะที่เงินเฟ้อจะหล่อเลี้ยงตัวเองให้ค้างอยู่ในระดับสูง โดยเฉพาะในช่วงหลังจากที่ ธปท. เริ่มดำเนินนโยบายการเงินภายใต้กรอบเป้าหมายเงินเฟ้อ ซึ่งสอดคล้องกับผลการศึกษาของ Khemangkorn, Mallikamas and Sutthasri (2008)

จากหลักฐานการศึกษาที่กล่าวมาข้างต้น ทำให้ผู้เขียนค่อนข้างมั่นใจว่า นโยบายการเงินสามารถดูแลเงินเฟ้อไทยได้

4. สรุป

เป็นที่ยอมรับกันในสากลว่าหน่วยงานที่ทำหน้าที่หลักในการดูแลเงินเฟ้อ คือธนาคารกลาง หรือสำหรับไทย คือ ธปท. ซึ่งเลือกใช้การดำเนินนโยบายการเงินที่ใช้กรอบเป้าหมายเงินเฟ้อ เพราะการมีเป้าหมายที่จะรักษาเงินเฟ้อให้ประชาชนไว้อ้างอิง คือการประกาศความมุ่งมั่นที่จะรักษาวินัยทางการเงินและต่อสู้กับเงินเฟ้อ ส่วนการพิจารณาอัตราดอกเบี้ยนโยบายให้อยู่ในระดับที่เหมาะสม ก็เปรียบเสมือนการส่งสัญญาณความมุ่งมั่นนั้นอย่างต่อเนื่อง และช่วยชี้นำการวางแผนใช้จ่ายและลงทุนในระบบเศรษฐกิจ ทั้งนี้ เมื่อคนเชื่อมั่นในธนาคารกลาง ในระยะยาวการคาดการณ์ก็จะไม่ปรับเปลี่ยน เงินเฟ้อส่วนที่น่ากลัวก็จะไม่ตามมา

ดังนั้น แม้เงินเฟ้อจะเกิดจากหลายสาเหตุ โดยที่บางสาเหตุ เช่น ปัจจัยด้านอุปทาน เป็นสิ่งที่ธนาคารกลางควบคุมไม่ได้ แต่เงินเฟ้อที่เกิดจากการคาดการณ์ของผู้คน และความต้องการซื้อที่มากเกินควรนั้น เป็นสิ่งที่ธนาคารกลางสามารถดูแลได้และมีความสำคัญอย่างมากเพราะเป็นส่วนที่จะกำหนดว่าเงินเฟ้อของประเทศจะเป็นปัญหายืดเยื้อยาวนานจนกัดกร่อนความกินดีอยู่ดีของประชาชน ตลอดจนศักยภาพในการเติบโตของระบบเศรษฐกิจหรือไม่

บทความในกรอบ: เงินเฟ้อไทยกับเงินเฟ้อโลก

การที่เงินเฟ้อของประเทศต่างๆ เคลื่อนไหวไปด้วยกันนั้นเป็นปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นทั่วโลก ไม่ได้เกิดกับประเทศที่มีเศรษฐกิจขนาดเล็กและเปิดอย่างประเทศไทยเท่านั้น

จากรูปที่ 1 หากพิจารณาเงินเฟ้อของประเทศที่มีลักษณะคล้ายไทยแต่มีระดับการเปิดประเทศ (วัดจากสัดส่วนการนำเข้าและส่งออกต่อ GDP) น้อยกว่า เช่น ฟิลิปปินส์ จะพบว่าเคลื่อนไหวไปกับเงินเฟ้อโลกเช่นกัน (สะท้อนจากค่า correlation ที่ใกล้เคียงกับไทย) ขณะที่ เงินเฟ้อของประเทศที่มีระดับการเปิดประเทศมากกว่า เช่น ฮ่องกง เคลื่อนไหวไปกับเงินเฟ้อโลกในระดับที่น้อยกว่ากรณีไทย (สะท้อนจากค่า correlation ที่ต่ำกว่าไทย)

ดังนั้น การที่เงินเฟ้อของประเทศต่างๆ เคลื่อนไหวไปในทิศทางเดียวกันกับเงินเฟ้อโลก ไม่ได้ขึ้นอยู่กับว่าประเทศนั้นจะมีลักษณะเศรษฐกิจแบบปิดหรือแบบเปิด ซึ่ง ปรากฏการณ์นี้สามารถอธิบายได้ด้วยสาเหตุหลัก 2 ประการ คือ

(1) การใช้ทรัพยากรการผลิตที่สำคัญร่วมกันได้แก่ น้ำมัน สินค้าเกษตร และแร่ธาตุต่างๆ ดังนั้น เมื่อเกิด shock ในราคาสินค้าโภคภัณฑ์เหล่านี้ก็จะส่งผลกระทบต่อเงินเฟ้อของหลายประเทศพร้อมกัน อย่างไรก็ดี ผลกระทบต่อแต่ละประเทศมีขนาดแตกต่างกันอยู่บ้าง ขึ้นอยู่กับความสำคัญของสินค้าโภคภัณฑ์ในกระบวนการผลิต บทบาทของอัตราแลกเปลี่ยน และมาตรการควบคุมดูแลราคาโดยทางการ เป็นต้น

(2)การเปิดเสรีทางการค้าทำให้การซื้อขายและทดแทนสินค้าระหว่างกันมีมากขึ้น เงินเฟ้อของประเทศหนึ่งจึงไม่ได้ถูกกำหนดด้วยความต้องการบริโภคในประเทศเพียงอย่างเดียว แต่ถูกกำหนดด้วยความต้องการบริโภคในต่างประเทศรวมถึง demand shock ที่เกิดขึ้นในประเทศอื่นๆ ด้วย

อย่างไรก็ดี โครงสร้างการบริโภคและลักษณะเฉพาะ ของแต่ละประเทศ เช่น รสนิยมที่ต่างกัน รวมทั้งการทดแทนสินค้าที่ไม่สามารถทำได้อย่างสมบูรณ์ ทำให้ราคาสินค้าชนิดเดียวกันในแต่ละประเทศแตกต่างกันอย่างชัดเจน ทั้งสินค้าและบริการที่มีการซื้อขายระหว่างประเทศ (Traded) และสินค้าและบริการที่แทบไม่มีการซื้อขายระหว่างประเทศ (Non-traded) ดังนั้น การเคลื่อนไหวของเงินเฟ้อในแต่ละประเทศแม้จะไปในทิศทางเดียวกัน แต่ยังมีความต่างกันอยู่ในระดับหนึ่ง

ดังนั้น เราจึงไม่อาจสรุปได้ว่า การที่เงินเฟ้อไทยเคลื่อนไหวไปในทิศทางเดียวกับเงินเฟ้อโลก แปลว่าเงินเฟ้อไทยถูกกำหนดโดยปัจจัยภายนอกและอัตราแลกเปลี่ยนมากกว่าปัจจัยภายใน ซึ่งหากปัจจัยภายในประเทศไม่มีผลต่อเงินเฟ้อ เราก็คงไม่เห็นธนาคารกลางประเทศขนาดเล็กและเปิดอื่นๆ เช่น สิงคโปร์ และฮ่องกงออกมาแสดงความกังวลในการต่อสู้กับเงินเฟ้อทุกวันนี้ ดังคำกล่าวของ Managing Director ของธนาคารกลางสิงคโปร์ Mr. Ravi Menon ว่า "Bringing down inflation remains one of MAS' top priorities. But there is a limit to how far we can use exchange rate policy to contain inflation." (Opening remarks at the Monetary Authority of Singapore's Annual Report 2011/12 Press Conference, Singapore, 25 July 2012)

*(1) ผู้อ่านสามารถติดตามอ่านบทความฉบับเต็มได้ในบทความวิชาการเรื่อง "นโยบายการเงินและการดูแลเงินเฟ้อ" ของ โชติมา วรารัตน์ และอธิพงษ์ (2555) ซึ่งเผยแพร่อยู่ใน http://www.bot.or.th/Thai/EconomicConditions/Publication /Documents/paper_inflation_dynamic.pdf

*(2) อัตราการเติบโตของ GDP เฉลี่ยอยู่ที่ร้อยละ 8.5 และ 10.0 ตามลำดับ

*(3) Mishkin F. S. (2007)

*(4) Cunningham, R., B. Desroches and E. Santor (2010)

*(5) Cogley, T. and T. Sargent (2001)

References

Cogley, T. and T. Sargent (2001): "Evolving Post-World War II U.S. Inflation Dynamics", NBER Working Papers 2132872.

Cunningham, R., B. Desroches and E. Santor (2010): "Inflation Expectations and the Conduct of Monetary Policy: A Review of Recent Evidence and Experience", Bank of Canada Review, Spring 2010: 13-25.

Khemangkorn, V., Mallikamas R. P. and P. Sutthasri (2008): "Inflation Dynamics and Implications on Monetary Policy", Bank of Thailand Symposium 2008.

Mishkin F. S. (2007): "Inflation Dynamics", Speech, Annual Macro Conference, Federal Reserve Bank of San Francisco, California, March 23, 2007.

โชติมา สิทธิชัยวิเศษ วรารัตน์ เขมังกรณ์ และอธิพงษ์ สายแก้ว (2555): "นโยบายการเงินและการดูแลเงินเฟ้อ", Discussion paper, ธนาคารแห่งประเทศไทย, สิงหาคม 2555

บทความนี้สำเร็จลุล่วงไปได้ด้วยดีเพราะความช่วยเหลือและคำแนะนำจากคุณรุ่ง มัลลิกะมาส และคุณณัฐิกานต์ วรสง่าศิลป์ ผู้เขียนขอขอบพระคุณเป็นอย่างสูงมา ณ ที่นี้

Contact authors :

โชติมา สิทธิชัยวิเศษ

วรารัตน์ เขมังกรณ์

อธิพงษ์ สายแก้ว

ฝ่ายนโยบายเศรษฐกิจการเงิน

สายนโยบายการเงิน

Chotimas@bot.or.th Chotimas@bot.or.th, Vararatk@bot.or.th, Atipongs@bot.or.th

ที่มา: ธนาคารแห่งประเทศไทย


แท็ก มังกร  

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ