FAQ Issue 50: บริษัทจัดอันดับความน่าเชื่อถือ: ปัญหาและแนวทางแก้ไข

ข่าวเศรษฐกิจ Monday August 22, 2011 15:50 —ธนาคารแห่งประเทศไทย

FOCUSED AND QUICK (FAQ) Issue 50

บริษัทจัดอันดับความน่าเชื่อถือ: ปัญหาและแนวทางแก้ไข

พรนภา ลีลาพรชัย

Summary

บริษัทจัดอันดับความน่าเชื่อถือหรือ Credit rating agency ถูกมองว่าเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้เกิดวิกฤตเศรษฐกิจการเงินโลกในปี 2551 จากการจัดอันดับความน่าเชื่อถือที่สูงเกินความเป็นจริงให้กับตราสารหนี้ที่เชื่อมโยงกับสินเชื่อด้อยคุณภาพ (Subprime) จนมีผลทำให้นักลงทุนถือตราสารประเภทดังกล่าวมากเกินไป

สาเหตุของการจัดอันดับฯ ที่สูงเกินความเป็นจริง ได้แก่ (1) ระบบการจ่ายค่าตอบแทนให้กับบริษัท จัดอันดับฯ และการแข่งขันกันเพื่อรักษาส่วนแบ่งตลาด ซึ่งส่งผลให้การจัดอันดับโน้มเอียงไปทางเอื้อประโยชน์ให้กับผู้ออกตราสาร (Issuers) ซึ่งเป็นผู้ว่าจ้างการจัดอันดับฯ (2) รายได้จากการจัดอันดับที่ได้รับเฉพาะใน การจัดอันดับครั้งแรกมีผลลดทอนแรงจูงใจให้บริษัทจัดอันดับฯ ติดตามและทบทวนการจัดอันดับฯ อย่างสม่ำเสมอ (3) บริษัทจัดอันดับฯ แข่งขันกันในด้านต้นทุนมากกว่าด้านคุณภาพ และ (4) บริษัทจัดอันดับฯ ใช้แบบจำลองที่ไม่เหมาะสมและใช้ข้อมูลที่ไม่เพียงพอต่อการประเมินตราสารที่เป็นนวัตกรรมใหม่ อีกทั้งการกำกับดูแลบริษัทจัดอันดับฯ จากภาคทางการไม่ได้มีความรัดกุมพอ

ปัญหาเหล่านี้นำไปสู่ความพยายามทั้งในสหรัฐฯ และยุโรปที่จะปฏิรูปการดำเนินงานและการกำกับดูแลบริษัทจัดอันดับฯ โดยแนวทางหลักคือ การผลักดันให้บริษัทจัดอันดับฯ มีความเป็นอิสระจากผู้ออกตราสารมากขึ้น มีความรับผิดชอบ และมีกระบวนการทำงานที่โปร่งใสกว่าเดิม เพื่อลดความเสี่ยงของระบบการเงินในอนาคต

ช่วงก่อนเกิดวิกฤตแฮมเบอร์เกอร์ บริษัท จัดอันดับความน่าเชื่อถือหรือ Credit rating agency มีส่วนทำให้การลงทุนในตราสารหนี้ที่เชื่อมโยงกับสินเชื่อด้อยคุณภาพ (Subprime) เติบโตอย่างรวดเร็วภายในเวลาเพียงไม่กี่ปี ต่อมาภายหลังเมื่อมูลค่าของสินทรัพย์ที่เกี่ยวข้อง (Underlying asset) กับตราสาร หนี้เหล่านี้ตกต่ำอย่างรุนแรง นักลงทุนได้รับความเสียหายเป็นอันมาก จนกลายเป็นวิกฤตความเชื่อมั่นที่สร้างความเสียหายต่อทั้งระบบ บริษัทจัดอันดับฯ จึงถูกเพ่งเล็งว่ามีส่วนสำคัญที่ทำให้วิกฤตเศรษฐกิจการเงินมีความรุนแรงหนักหน่วง

นอกจากนั้น เมื่อเร็วๆ นี้บริษัทจัดอันดับฯ Standard & Poor's ได้ปรับลดอันดับความน่าเชื่อถือของพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ ซึ่งนำไปสู่ความปั่นป่วนในตลาดการเงินทั่วโลก เหตุการณ์ดังกล่าวสะท้อนให้เห็นอีกครั้งว่าบริษัทจัดอันดับฯ ยังมีบทบาทที่สำคัญในระบบการเงินโลกอยู่

บทความนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อให้ท่านผู้อ่านเข้าใจถึงบทบาทของบริษัทจัดอันดับฯ โดยเฉพาะบทบาทที่นำไปสู่วิกฤตการณ์การเงินโลกในปี 2551 รวมถึงทราบแนวคิดการปิดช่องโหว่ในการกำกับดูแลบริษัทจัดอันดับฯ ที่กำลังดำเนินการอยู่ในต่างประเทศเพื่อลดความเสี่ยงที่จะเกิดปัญหาซ้ำรอยขึ้นอีกในอนาคต

บริษัทจัดอันดับฯ กับวิกฤตแฮมเบอร์เกอร์

การจัดอันดับความน่าเชื่อถือเป็นกลไกสำคัญที่ทำให้ตลาดตราสาร Structured finance เติบโตอย่างมากในช่วงก่อนเกิดวิกฤต เนื่องจากตราสารเหล่านี้ส่วนใหญ่ให้ผลตอบแทนที่ค่อนข้างจูงใจ และในขณะเดียวกันก็ได้รับการจัดอันดับความน่าเชื่อถือที่ค่อนข้างสูง ซึ่งภายหลังพบว่าความเสี่ยงที่แท้จริงของตราสารเหล่านี้มีมากกว่าที่ได้รับการจัดอันดับ ความน่าเชื่อถือมาก หมายความว่า นักลงทุนที่เชื่อถือบริษัทจัดอันดับฯ จะประเมินผลตอบแทนที่ปรับ ความเสี่ยงแล้ว (Risk-adjusted return) ของตราสารดังกล่าวดีเกินไป ซึ่งนำไปสู่การลงทุนที่มากเกินควร

บริษัทจัดอันดับฯ ประเมินอันดับ ความน่าเชื่อถือของตราสารที่ซับซ้อนเหล่านี้สูงเกินความเป็นจริงจากสาเหตุหลายประการประกอบกัน ประการแรกบริษัทจัดอันดับต้องแข่งขันกันเพื่อรักษาส่วนแบ่งตลาด จึงโน้มเอียงไปทางเอื้อประโยชน์ให้กับผู้ออกตราสาร (Issuers) ซึ่งเป็น ผู้ว่าจ้างบริษัทจัดอันดับฯ*(1) ขณะเดียวกันผู้ออก ตราสารและวาณิชธนกิจต่างก็ต้องการให้ตราสารของตนได้รับการจัดอันดับที่ดีเพื่อให้สามารถออกขายในตลาดได้ง่าย ผู้ออกตราสารจึงมีแรงจูงใจที่จะเฟ้นหาและเลือกจ้างบริษัทที่จัดอันดับที่ดีที่สุดให้กับตราสารของตน (Rating shopping)

การจัดอันดับความน่าเชื่อถือที่สูงเกิน ความเป็นจริงทำให้ต้องมีการปรับลดอันดับ ความน่าเชื่อถือลงอย่างมากในภายหลัง และก่อให้เกิดความตื่นตระหนกของนักลงทุนในตลาดตามมา

จากการวิเคราะห์ข้อมูลการจัดอันดับฯ ในช่วงปี 2526 - 2551 ในงานศึกษาของ Benmelech and Dlugosz (2009) พบว่า ตราสาร Structured finance ส่วนใหญ่ที่ถูกปรับลดอันดับความน่าเชื่อถือ (downgrade) เคยได้รับการจัดอันดับในระดับสูงสุดหรือ AAA รองลงมาเป็นกลุ่ม Baa2 และกลุ่ม A2 (ตารางที่ 1) โดยตราสารที่ถูก downgrade ส่วนใหญ่เป็นตราสารที่ออกขายในช่วงปี 2550 - 2551 (ตารางที่ 2) ซึ่งเป็นช่วงที่ตลาด Structured finance ขยายตัวสูงและการแข่งขันในกลุ่มบริษัทจัดอันดับฯ สูงตามไปด้วย

ตารางที่ 1 ตราสารที่ถูก downgrade 8 ขั้นขึ้นไป แบ่งตามอันดับความน่าเชื่อถือเริ่มต้น
Initial Rating จำนวน สัดส่วน
   AAA           3,707    19%
   Aa1             992     5%
   Aa2           1,809     9%
   Aa3           1,221     6%
   A1            1,058     5%
   A2            2,036    10%
   A3            1,421     7%
   Baa1          1,403     7%
   Baa2          2,421    12%
   Baa3          1,735     9%
   Ba1             805     4%
   Ba2             738     4%
   Ba3              75     0%
  รวม           19,421   100%
ที่มา: Benmelech and Dlugosz, 2009, pp. 36

ตารางที่ 2   ตราสารที่ถูก downgrade 8 ขั้นขึ้นไป แบ่งตามปีที่ออกจำหน่าย
      ปี        จำนวน   สัดส่วน
 2526-2539      171     1%
   2540          58     0%
   2541         113     1%
   2542         153     1%
   2543         140     1%
   2544         170     1%
   2545         318     2%
   2546         304     2%
   2547         405     2%
   2548         842     4%
   2549       3,127    16%
   2550       5,404    28%
   2551       8,216    42%
 รวม         19,421   100%
ที่มา: Benmelech and Dlugosz, 2009, pp. 36

ประการที่สอง บริษัทจัดอันดับฯ มีรายได้

จากการจัดอันดับในครั้งแรกเท่านั้น จึงขาดแรงจูงใจให้ติดตามและทบทวนการจัดอันดับฯ อย่างสม่ำเสมอ อย่างไรก็ดี ไม่นานก่อนเกิดวิกฤต จำนวนการ Downgrade ตราสาร Structured Finance เพิ่มสูงขึ้นอย่างมากในปี 2550 และรุนแรงขึ้นอีกในปี 2551 หลังจากปัญหาหนี้เสียในสถาบันการเงินเพิ่มขึ้น โดยขนาดการ Downgrade เฉลี่ย*(2) เท่ากับ -4.7 ขั้น และ -5.6 ขั้น ตามลำดับ ในขณะที่การ Upgrade มีจำนวนน้อยครั้งกว่าและมีขนาดการปรับที่เล็กกว่า

ประการที่สาม บริษัทจัดอันดับฯ มีความได้เปรียบด้านข้อมูลต่อนักลงทุนในตลาด เนื่องจากข้อมูลบางส่วนที่ใช้ในการจัดอันดับความน่าเชื่อถือเป็นข้อมูลที่ไม่ได้เผยแพร่สู่สาธารณชน ประกอบกับธุรกิจมีลักษณะค่อนข้างผูกขาดโดยรายใหญ่เพียงไม่กี่ราย ส่งผลให้นักลงทุนจำเป็นต้องพึ่งพาข้อมูลการจัดอันดับฯ เพื่อช่วยประเมินความเสี่ยงของหลักทรัพย์ที่ซื้อขายอยู่ในตลาด ข้อได้เปรียบด้านข้อมูลนี้เองจูงใจให้บริษัทจัดอันดับฯ แข่งขันกันในด้านต้นทุนมากกว่าด้านคุณภาพ ซึ่งอาจส่งผลลบต่อความพยายามใน การรวบรวมข้อมูลและการประเมินความน่าเชื่อถือด้านเครดิตที่แท้จริงของผู้ออกตราสาร

ประการที่สี่ บริษัทจัดอันดับฯ ใช้แบบจำลองที่ไม่เหมาะสมและใช้ข้อมูลที่ไม่เพียงพอต่อการประเมินตราสารที่เป็นนวัตกรรมใหม่*(3) แม้ว่าบริษัท จัดอันดับฯ เช่น S&P และ Moody's ได้ทบทวนแบบจำลองที่ใช้ในการจัดอันดับฯ (Rating model) มาโดยตลอดในช่วงปี 2547-2549 แต่ก็ยังไม่เพียงพอสำหรับการประเมินโอกาสการผิดนัดชำระหนี้ (Delinquency and Default) ของตราสาร Structured finance ที่มีความซับซ้อนและเป็นนวัตกรรมทางการเงินที่เพิ่งเกิดขึ้นไม่นาน นอกจากนี้ ข้อมูลที่ใช้ในแบบจำลองเป็นข้อมูลตั้งแต่ช่วงกลางทศวรรษ 1990 จนถึงก่อนวิกฤต ซึ่งระยะเวลาดังกล่าวไม่ครอบคลุมวัฏจักรตกต่ำของตลาดอสังหาริมทรัพย์ ทำให้การประเมินความเสี่ยงด้านลบของราคาอสังหาริมทรัพย์ที่เป็น underlying asset ของตราสาร Structured finance ต่ำเกินไป

การกำกับดูแลบริษัทจัดอันดับฯ

มาถึงจุดนี้ ท่านผู้อ่านคงเริ่มสงสัยแล้วว่า ที่ผ่านมาการกำกับดูแลบริษัทจัดอันดับฯ เป็นอย่างไร และเหตุใดทางการจึงปล่อยปละละเลยจนบริษัทจัดอันดับฯ มีส่วนทำให้เกิดวิกฤตเศรษฐกิจขึ้นมาได้

ก่อนเกิดวิกฤต องค์กรที่กำกับดูแลสถาบัน การเงิน (Regulator) ในหลายประเทศพึ่งพิงอันดับความน่าเชื่อถือ (Rating) ค่อนข้างมาก โดยเฉพาะเพื่อให้มีผลทางกฎหมายและเพื่อออกกฎเกณฑ์ในการกำกับดูแลสถาบันการเงิน ทั้งนี้ The Joint Forum (2009) ได้สรุปวัตถุประสงค์สำคัญของการใช้อันดับความน่าเชื่อถือไว้ 5 ประการ คือ (1) เป็นตัวกำหนดความเพียงพอของเงินกองทุนสำหรับสถาบันการเงิน*(5) เช่น ตามเกณฑ์ของ Basel II นั้น External rating ถูกนำไปใช้ในการประเมินคุณภาพของสินเชื่อหรือความน่าเชื่อถือด้านเครดิตของคู่สัญญา (2) เป็นเกณฑ์การจัดชั้นของสินทรัพย์สำหรับการลงทุน เช่น กำหนดการลงทุนที่ได้รับอนุญาต (Permissible investment) และขอบเขตการกระจุกตัวของการลงทุน (Investment concentration limit) สำหรับสินทรัพย์บางประเภท (3) เป็นข้อกำหนดสำหรับ การเสนอขายตราสารประเภท Securitization*(6) และ Covered bond*(7) บางประเภท ให้ต้องถูกจัดอันดับความน่าเชื่อถือจากบริษัทจัดอันดับฯ 1 แห่งหรือมากกว่า (4) ใช้เป็นเกณฑ์หนึ่งในการเปิดเผยข้อมูลสำหรับภาคธนาคารพาณิชย์และบริษัทหลักทรัพย์ เช่น ผู้ถูกจัดอันดับต้องเปิดเผยอันดับความน่าเชื่อถือของตน รวมถึงต้องแจ้งต่อสาธารณชนเมื่ออันดับฯ มี การเปลี่ยนแปลง และ (5) เป็น Prospectus eligibility ประเภทหนึ่ง กล่าวคือ ในการนำเสนอลักษณะของหลักทรัพย์ในหนังสือชี้ชวนบางประเภท จะต้องมี Credit rating เทียบเท่า Investment grade เป็นต้น

แม้ว่าการใช้ข้อมูลจากการจัดอันดับจะมีเพื่อวัตถุประสงค์ที่หลากหลาย อีกทั้งนักลงทุนในตลาดต้องพึ่งพาบริษัทจัดอันดับฯ เป็นอันมากภายใต้ความเชื่อมโยงด้านการลงทุนระหว่างประเทศและ ความซับซ้อนของนวัตกรรมทางการเงินใหม่ๆ ขณะที่ นักลงทุนมีข้อจำกัดจากความไม่สมมาตรด้านข้อมูล (Asymmetric Information) โดยเฉพาะนักลงทุนรายย่อย แต่ในอดีตบริษัทจัดอันดับฯ ทั้งในสหรัฐฯ และยุโรปก็ไม่ได้ถูกกำกับดูแลอย่างเป็นทางการ มีเพียง การปฏิบัติตามหลักการที่ตกลงกันโดยสมัครใจ โดยไม่มีหน่วยงานที่ทำหน้าที่โดยตรงในการตรวจสอบว่า บริษัทจัดอันดับฯ ปฏิบัติตามหลักการดังกล่าวหรือไม่

จนกระทั่งบริษัท Enron และ WorldCom ในสหรัฐฯ เกิดล้มละลายในปี 2549 ทางการสหรัฐฯ จึงจัดตั้งระบบกำกับดูแลบริษัทจัดอันดับฯ ขึ้นเป็นครั้งแรก โดยประกาศใช้ Credit Rating Agency Reform Act เพื่อให้ Security Exchange Commission (SEC) มีอำนาจในการกำกับดูแลและตรวจสอบ การทำงานบริษัทจัดอันดับฯ ให้เป็นไปตามกฎหมาย รวมถึงดูแลให้บริษัทจัดอันดับฯ เปิดเผยข้อมูลและขั้นตอนที่ใช้ในการประเมินอันดับความน่าเชื่อถือให้มีความโปร่งใสมากขึ้น ส่วนในยุโรปมีการประกาศใช้ Code of conduct ของบริษัทจัดอันดับฯ ในปี 2547 เพื่อพัฒนาคุณภาพของการจัดทำอันดับความน่าเชื่อถือและความเป็นอิสระของบริษัทจัดอันดับฯ รวมทั้งกำหนดความรับผิดชอบของบริษัทจัดอันดับฯ ที่มีต่อ ผู้ลงทุนและสาธารณชน

อย่างไรก็ดี ความตื่นตัวในการปฏิรูปบริษัทจัดอันดับฯ เพิ่งเริ่มขึ้นอย่างจริงจังเมื่อเกิดวิกฤตแฮมเบอร์เกอร์แล้ว โดยทางการสหรัฐฯ ได้ประกาศใช้กฎหมายใหม่ชื่อ Dodd-Frank Wall Street Reform and Consumer Protection Act เมื่อเดือนกรกฎาคม 2553 เพื่อปฏิรูปการกำกับดูแลสถาบันการเงินและปกป้องผู้บริโภค ซึ่งรวมถึงการออกมาตรการใหม่และให้อำนาจแก่ SEC ในการกำกับดูแลบริษัทจัดอันดับฯ เพิ่มขึ้น เช่น SEC สามารถเพิกถอนใบอนุญาตของบริษัทจัดอันดับฯ เป็นต้น ส่วนยุโรปได้จัดตั้ง European Security Markets Authority (ESMA) ขึ้นในปี 2552 ซึ่งมีอำนาจหน้าที่คล้ายกับ SEC ของสหรัฐฯ และยังมีหน้าที่ประเมินวิธีการและกระบวนการจัดอันดับความน่าเชื่อถือของหลักทรัพย์ ซึ่งในส่วนนี้เป็นอำนาจที่ SEC เพิ่งมีเพิ่มขึ้นหลังจากที่มีการออกกฎหมายใหม่

มองไปข้างหน้า ทิศทางการปฏิรูปบริษัท จัดอันดับฯ ที่ประมวลได้จากข้อเสนอต่างๆ ทั้งจากหน่วยงานของทางการและภาคสถาบันการเงิน โดยเฉพาะข้อเสนอของ SEC สหรัฐฯ เพื่อแก้ไขข้อบกพร่องในอดีต มีที่สำคัญ 4 ประการ ได้แก่

(1) ทางการควรลดการพึ่งพาอันดับ ความน่าเชื่อถือในการออกมาตรการกำกับดูแลสถาบันการเงิน และควรสร้างระบบการกำกับดูแลโดยบ่งชี้สถาบันหรือตลาดที่จะได้รับผลกระทบจากการปรับอันดับความน่าเชื่อถือทั้งทางตรงและทางอ้อม ทั้งนี้ งานศึกษามักสรุปว่า บริษัทจัดอันดับฯ มีส่วนทำให้เกิด pro-cyclicality มากขึ้น กล่าวคือ ช่วยเร่งการลงทุนในตราสารช่วงเศรษฐกิจดี แต่ในทางตรงกันข้าม พฤติกรรมการปรับลดอันดับความน่าเชื่อถือลงอย่างรวดเร็วหรือ Mass downgrade ในช่วงที่เริ่มมีสัญญาณของวิกฤต สามารถซ้ำเติมเศรษฐกิจขาลงผ่านความตื่นตระหนกของนักลงทุนจนเกิดการเทขาย ตราสารและส่งผลเป็นลูกโซ่ต่อสถาบันการเงินอื่นๆ กลายเป็นปัญหาขาดสภาพคล่องและเป็นความเสี่ยงต่อทั้งระบบหรือ Systemic risk ได้

(2) ควรมีการปรับปรุงโครงสร้างผลตอบแทนและการบริหารงานภายในของบริษัทจัดอันดับฯเพื่อแก้ปัญหาขัดแย้งของผลประโยชน์ (Conflict of interest) อาทิ บริษัทจัดอันดับฯ ควรรับผลตอบแทนจากนักลงทุนแทนที่จะรับจากผู้ออก ตราสารเช่นที่ผ่านมา อย่างไรก็ดี ในทางปฏิบัติก็ยังอาจมีปัญหาด้าน Incentive เช่น นักลงทุนรายใหญ่อาจมีอิทธิพลต่อการทำงานของบริษัทจัดอันดับฯ จนสามารถทำให้งดเว้นหรือชะลอการปรับลดอันดับ ความน่าเชื่อถือของหลักทรัพย์ที่นักลงทุนรายใหญ่ถืออยู่ นอกจากนี้ บริษัทจัดอันดับฯ ต้องมีโครงสร้าง การบริหารงานที่แยกระหว่างแผนกขายและการตลาดออกจากแผนกที่ประเมินการจัดอันดับ ตัวอย่างเช่น Credit analyst ไม่สามารถเข้าร่วมประชุมเพื่อตกลงเกี่ยวกับรายได้ค่าธรรมเนียมการจัดอันดับฯ กับ ผู้ออกตราสารได้ รวมถึงควรมีการจัดทำ Review เมื่อลูกจ้างในบริษัทจัดอันดับฯ ย้ายไปทำงานให้กับองค์กรหรือสถาบันการเงินที่เคยเป็นลูกค้าของบริษัท จัดอันดับฯ ในช่วงเวลา 12 เดือนก่อนหน้า

(3) ควรเพิ่มความรับผิดชอบทางกฎหมายและความโปร่งใสของบริษัทจัดอันดับฯ โดยกำหนดให้บริษัทจัดอันดับฯ ต้องจัดส่งรายงานต่อทางการเป็นประจำ รวมถึงต้องเปิดเผยวิธีการและข้อสมมติต่างๆ ที่ใช้ในการจัดอันดับ นอกจากนี้ ข้อมูลที่ใช้ในการคำนวณการจัดอันดับควรเป็นมาตรฐานเดียวกัน เพื่อให้นักลงทุนสามารถเปรียบเทียบอันดับความน่าเชื่อถือระหว่างบริษัทจัดอันดับฯ ที่ต่างกันได้

นอกจากนี้ ยังมีแนวคิดที่จะให้บริษัทจัดอันดับฯ ใช้ตัวอักษรที่แตกต่างกันในการจัดอันดับความน่าเชื่อถือตราสารที่ซับซ้อนและตราสารที่ไม่ซับซ้อน รวมถึงสร้างความรู้ความเข้าใจให้แก่นักลงทุน ทั้งด้านข้อมูลและวิธีการจัดอันดับของบริษัทจัดอันดับฯ แต่ละแห่ง

(4) ควรส่งเสริมให้มีการแข่งขันในธุรกิจการจัดอันดับฯ เพิ่มขึ้น เพื่อพัฒนาคุณภาพของการจัดอันดับ ในกรณีของยุโรป EU Commission มีแผนจัดตั้งบริษัทจัดอันดับฯ แห่งใหม่ของยุโรป เนื่องจากธุรกิจจัดอันดับฯ ในปัจจุบันมีลักษณะค่อนข้างผูกขาด

สรุป

แม้ว่าบริษัทจัดอันดับความน่าเชื่อมีส่วนทำให้เกิดวิกฤตการเงินโลกครั้งล่าสุด แต่คงปฏิเสธไม่ได้ว่าบริษัทจัดอันดับฯ จะยังคงมีบทบาทในตลาดทุนอย่างหลีกเลี่ยงได้ยากตราบใดที่ไม่มีกลไกอื่น มาทดแทน

อย่างไรก็ดี องค์กรที่มีหน้าที่กำกับ ดูแลบริษัทจัดอันดับฯ ได้เล็งเห็นถึงความสำคัญและความจำเป็นในการแก้ไขข้อบกพร่องต่างๆ เกี่ยวกับบริษัทจัดอันดับฯ ที่สำคัญคือ การทำงานของบริษัทจัดอันดับฯ ต้องมีความเป็นอิสระ มีความรับผิดชอบและมีความโปร่งใสมากขึ้น ซึ่งการทำงานของบริษัทจัดอันดับฯ ที่ถูกต้องตามหลักการและมีประสิทธิภาพจะมีส่วนช่วยรักษาเสถียรภาพของระบบการเงินในระยะยาว

ขณะนี้ข้อเสนอหลายด้านเพื่อการปฏิรูปบริษัทจัดอันดับฯ ยังอยู่ระหว่างการพิจารณาจากทางการและการขอความเห็นจากสาธารณชน ดังนั้น ถือได้ว่าการปรับปรุงเปลี่ยนแปลงระบบการจัดอันดับความน่าเชื่อถือครั้งใหญ่ยังเพิ่งเริ่มต้น คงต้องติดตามกันต่อไปว่าจะเกิดขึ้นเร็วหรือช้าแค่ไหน และมีประสิทธิภาพเพียงใด

*(1) ระบบผลตอบแทนของบริษัทจัดอันดับฯ ลักษณะนี้เรียกว่า Issuers-pay model กล่าวคือ ผู้ออกตราสารเป็นผู้ว่าจ้างบริษัทจัดอันดับความน่าเชื่อถือให้จัดอันดับของตราสารที่จะออกขายให้กับนักลงทุนในตลาด โดยเริ่มใช้ระบบนี้ตั้งแต่ปี 1973 เป็นต้นมา

*(2) งานศึกษาของ Benmelech and Dlugosz (2009) กำหนดให้การ Downgrade 1 ขั้น เช่น จาก A2 เป็น A3 มีค่าเท่ากับ -1 ขณะที่การ Upgrade 1 ขั้น เช่น จาก A3 เป็น A2 มีค่าเท่ากับ 1 เป็นต้น

*(3) The Wall Street and The Financial Crisis: Anatomy of a Financial Collapse, Staff Report, April 3, 2011.

*(4) ก่อตั้งขึ้นเมื่อปี 1996 โดยความร่วมมือของ 3 องค์กร คือ the Basel Committee on Banking Supervision (BCBS), the International Organization of Securities Commissions (IOSCO) และ the International Association of Insurance Supervisors (IAIS) และมีองค์กรที่กำกับดูแลภาคธนาคาร ตลาดทุน และธุรกิจประกันภัยจากกลุ่มประเทศพัฒนาแล้วในจำนวนที่เท่าๆ กันเข้าร่วมเป็นสมาชิกด้วย

*(5) สำหรับการใช้อันดับความน่าเชื่อถือในกรณีของไทยนั้น ธปท. ใช้ในการกำหนดหลักเกณฑ์การดำรงเงินกองทุนขั้นต่ำของธนาคารพาณิชย์

*(6) การออกตราสารหนี้ประเภทหนึ่งที่นำกระแสเงินสดในอนาคตของสินทรัพย์กลุ่มหนึ่งมาแปลงเป็นหลักทรัพย์ที่ให้ ผู้ลงทุนสามารถซื้อขายได้ โดยเจ้าของสินทรัพย์เดิมจะขายสินทรัพย์ให้กับนิติบุคคลเฉพาะกิจ (Special Purpose Vehicle: SPV) ซึ่งเป็นผู้บริหารการนำสินทรัพย์จาก เจ้าของเดิมมาเป็นหลักประกันการออกหุ้นกู้เพื่อระดมทุน

*(7) ตราสารหนี้ประเภทหนึ่งที่มีสินทรัพย์ค้ำประกัน โดยสินทรัพย์นั้นยังอยู่ในงบดุลของผู้ออกตราสารหรือเจ้าของสินทรัพย์เดิม แต่ผู้ถือCovered bond จะมีสิทธิเรียกร้องสินทรัพย์นั้นจากลูกหนี้และผู้ออกตราสารในกรณีผู้ออก ตราสารล้มละลาย

References
          "Credit Rating Agencies: SEC Proposes New Rules", Roubini Global Economics, May 20, 2011.           Benmelech E. and J. Dlugosz, "The Credit Rating Crisis", Working paper 15045, National Bureau of Economic Research, June 2009.

Shorter G. and M.V. Seitzinger, "Credit Rating Agencies and Their Regulation", Congressional Research Service, September 3, 2009.

Katz J., E Salinas, and C. Stephanou, "Credit Rating Agencies", Crisis response Public Policy for the Private Sector, The World Bank Group, Note number 8, October 2009.

"Stocktaking on the use of credit ratings", The Joint Forum, Bank for International Settlements, June 2009.

ผู้เขียนขอขอบคุณ คุณรุ่ง มัลลิกะมาส คุณพรวิภา ตั้งเจริญมั่นคง คุณศุกพิณรัศ วงศ์สินศิริกุล และคุณชนาภรณ์ เสรีวรวิทย์กุล สำหรับคำแนะนำที่เป็นประโยชน์อย่างยิ่งต่อการปรับปรุงบทความนี้

Contact author:

พรนภา ลีลาพรชัย

เศรษฐกรอาวุโส ฝ่ายเศรษฐกิจในประเทศ

สายนโยบายการเงิน pornnapl@bot.or.th

ที่มา: ธนาคารแห่งประเทศไทย


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ