FAQ Issue 47: วีธีประเมินการคาดการณ์ของตลาดจากพันธบัตร (ตอนที่ 2)

ข่าวเศรษฐกิจ Monday August 1, 2011 15:22 —ธนาคารแห่งประเทศไทย

FOCUSED AND QUICK (FAQ) Issue 47

วิธีประเมินการคาดการณ์ของตลาดจากราคาพันธบัตร (ตอนที่ 2)

ทศพล อภัยทาน

Summary
บทความนี้นำเสนอวิธีการใช้ข้อมูลจากตลาดพันธบัตรชดเชยเงินเฟ้อ (Inflation-linked bonds) เพื่อประมาณการคาดการณ์ของตลาดต่อตัวแปรอัตราดอกเบี้ยที่แท้จริง (Real interest rate) และอัตราเงินเฟ้อคาดการณ์ (Inflation expectation) ซึ่งเป็นตัวแปรที่มีความสำคัญต่อการดำเนินนโยบายการเงินภายใต้กรอบ Inflation targeting

นอกจากนี้ บทความชี้ให้เห็นว่าการใช้แบบจำลองเข้ามาเสริมการวิเคราะห์การเปลี่ยนแปลงของตัวแปรข้างต้นมีประโยชน์ต่อการประเมินผลการดำเนินนโยบายการเงิน เพราะทำให้แยกผลของตัวแปร Inflation expectation ที่เป็นตัวชี้วัดประสิทธิภาพของการดำเนินนโยบายได้ดี ออกจากผลของตัวแปรค่าชดเชยความเสี่ยงเงินเฟ้อ (Inflation risk premium) ซึ่งเป็นตัวแปรที่สะท้อนมุมมองของตลาดที่มีต่อความไม่แน่นอนทางเศรษฐกิจในอนาคต โดยทั้งสองตัวแปรเป็นสิ่งที่ผู้ดำเนินนโยบายอยากทราบเพื่อประกอบการตัดสินใจนโยบาย

บทความในตอนที่แล้ว (FAQ Issue 33) ได้อธิบายถึงวิธีประเมินการคาดการณ์อัตราดอกเบี้ยและอัตราเงินเฟ้อของนักลงทุนในตลาดจากข้อมูลราคาพันธบัตร โดยใช้ประโยชน์จากการวิเคราะห์เส้นโครงสร้างอัตราดอกเบี้ยระยะสั้นในอนาคต (Implied forward curve) อย่างไรก็ดี วิธีการนั้นเป็นเพียงทางเลือกหนึ่งในการประเมินการคาดการณ์ของตลาด บทความในตอนที่ 2 นี้จึงต้องการนำเสนอทางเลือกอื่นที่สามารถนำมาใช้ได้เช่นกัน ซึ่งทางเลือกที่น่าสนใจเป็นพิเศษสำหรับประเทศไทย คือ การใช้ข้อมูลจากราคาพันธบัตรชดเชยเงินเฟ้อ (Inflation-linked bond: ILB) อันเป็นนวัตกรรมทางการเงินที่เพิ่งกำเนิดขึ้นในตลาดการเงินไทยเมื่อเร็วๆ นี้

เพื่อให้ท่านผู้อ่านเข้าใจถึงลักษณะของ Inflation-linked bond ได้ง่ายขึ้น ขอทำความเข้าใจเกี่ยวกับ concept ของอัตราดอกเบี้ยที่แท้จริง (Real interest rate) และการคาดการณ์อัตราเงินเฟ้อ (Inflation expectation) เป็นลำดับแรก

อัตราดอกเบี้ยที่แท้จริงและอัตราเงินเฟ้อคาดการณ์

โดยทั่วไป เรามักกล่าวถึงผลตอบแทนจากการลงทุนในรูปผลตอบแทนที่เป็นตัวเงิน (Nominal) เช่น เมื่อวันที่ 31 ธันวาคม 2553 นำเงินไปฝากที่ธนาคาร 100 บาท เวลาผ่านไป 1 ปี ไปถอนเงินออกมา ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2554 ได้เงินคืนจากธนาคาร 105 บาท ถือว่าธนาคารจ่ายดอกเบี้ยให้ 5 บาท หรือเท่ากับร้อยละ 5

แต่ในขณะเดียวกัน เรามักพบว่าราคาสินค้าและบริการมีการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา โดยส่วนใหญ่เป็นไปในทางที่ราคาแพงขึ้นหรือที่เราเรียกว่าเงินเฟ้อนั่นเอง เช่น หากในวันที่ 31 ธันวาคม 2553 เราสามารถซื้อสินค้าราคาชิ้นละ 1 บาท ได้ 100 ชิ้น ต่อมาในวันที่ 31 ธันวาคม 2554 ราคาสินค้าตัวเดิมเพิ่มเป็นชิ้นละ 1.03 บาท หรือมีเงินเฟ้อเกิดขึ้นร้อยละ 3 เราจะพบว่าเงิน 105 บาทในวันที่ 31 ธันวาคม 2554 ซื้อสินค้าได้แค่ประมาณ 102 ชิ้นเท่านั้น ดังนั้น แม้อัตราดอกเบี้ยที่ธนาคารให้จะเท่ากับร้อยละ 5 แต่กลับซื้อสินค้าจริงๆ เพิ่มขึ้นเพียงร้อยละ 2 เราเรียกผลตอบแทนส่วนนี้ว่าเป็นอัตราผลตอบแทนที่แท้จริง หรือในกรณีนี้คือ อัตราดอกเบี้ยที่แท้จริง (Real interest rate) ซึ่งมีค่าเท่ากับอัตราดอกเบี้ยที่เป็นตัวเงินหักด้วยอัตราเงินเฟ้อโดยประมาณ

สำหรับนักลงทุน แม้ว่าผลตอบแทนที่เป็นตัวเงินจะมีความสำคัญ แต่ก็คำนึงถึงอำนาจซื้อที่แท้จริงของเงินที่จะได้รับในอนาคตไปพร้อมกันด้วย จึงแสวงหาช่องทางการลงทุนโดยหวังว่าในวันที่ได้รับผลตอบแทนจะไม่โดนเงินเฟ้อลดทอนอำนาจซื้อจนหมด แต่เนื่องจาก ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2553 ที่มีการตัดสินใจลงทุน นักลงทุนยังไม่ทราบว่าอัตราเงินเฟ้อในอีก 1 ปีข้างหน้าจะเป็นเท่าใด จึงทำได้เพียงคาดการณ์เกี่ยวกับเงินเฟ้อไปข้างหน้า เราจึงเรียกองค์ประกอบในการตัดสินใจนี้ว่า อัตราเงินเฟ้อคาดการณ์ (Inflation expectation)

ทั้งอัตราดอกเบี้ยที่แท้จริงและอัตราเงินเฟ้อคาดการณ์เป็นตัวแปรทางเศรษฐศาสตร์ที่มีความสำคัญต่อการตัดสินใจเชิงนโยบายอย่างมาก เพราะอัตราดอกเบี้ยที่แท้จริงสะท้อนถึงต้นทุนของกิจกรรมเศรษฐกิจในวงกว้าง ขณะที่อัตราเงินเฟ้อคาดการณ์เป็นตัวสะท้อนความเชื่อมั่นของประชาชนในความสามารถของนโยบายการเงินที่จะรักษาเสถียรภาพราคา โดยเฉพาะภายใต้กรอบดูแลเงินเฟ้อ (Inflation targeting) ทว่าตัวแปรทั้งสองกลับไม่สามารถวัดได้อย่างตรงไปตรงมา*(1) จนกระทั่งพันธบัตรชดเชยเงินเฟ้อถือกำเนิดขึ้น ทำความรู้จักกับพันธบัตรชดเชยเงินเฟ้อ

พันธบัตรชดเชยเงินเฟ้อ คือ พันธบัตรที่จ่ายผลตอบแทนแปรผันไปตามดัชนีราคาที่ใช้อ้างอิง เช่น ดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไป (CPI) เป็นต้น ในการจ่ายผลตอบแทนนั้น ผู้ลงทุนจะได้รับคูปองคงที่ส่วนหนึ่งเรียกว่า Real coupon บวกกับส่วนเพิ่มที่ปรับตามอัตราเงินเฟ้อที่เกิดขึ้นในระหว่างการลงทุน ทั้งในส่วนของของคูปองและเงินต้นที่จะไถ่ถอนคืน*(2) ดังนั้น นักลงทุนจะได้รับผลตอบแทนที่แท้จริงจำนวนหนึ่ง โดยไม่มีความเสี่ยงที่อำนาจซื้อจะถูกลดทอนด้วยเงินเฟ้อ

พันธบัตรชดเชยเงินเฟ้อเริ่มเป็นที่รู้จักในช่วงทศวรรษที่ 1950 และ 1960 เนื่องจากประเทศในแถบอเมริกาใต้ เช่น อาร์เจนตินา บราซิล และเม็กซิโก ประสบกับภาวะเงินเฟ้อรุนแรง (Hyperinflation) จึงมีการออกพันธบัตรชดเชยเงินเฟ้อเพื่อสร้างความน่าเชื่อให้กับการระดมทุนของภาครัฐ ภาพที่ 2 แสดงให้เห็นว่า ตลาดพันธบัตรชดเชยเงินเฟ้อมีการเติบโตอย่างรวดเร็วในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา โดยในปัจจุบันมียอดคงค้างของพันธบัตรชดเชยเงินเฟ้อทั่วโลกมากกว่า 1 ล้านล้านเหรียญสหรัฐฯ โดยประเทศที่ออกพันธบัตรประเภทนี้อันดับต้นๆ ได้แก่ สหรัฐอเมริกา (TIPS) อังกฤษ (ILG) และฝรั่งเศส (OATi)

สำหรับประเทศไทย การออกพันธบัตรรัฐบาลประเภทชดเชยเงินเฟ้อเป็นส่วนหนึ่งของแผนพัฒนาตลาดทุนไทย พ.ศ. 2552 โดยถือเป็นพันธกิจด้านการพัฒนาคุณภาพและความหลาก หลายของสินค้าและบริการ พันธบัตรชดเชยเงินเฟ้อของไทยจัดจำหน่ายเป็นครั้งแรกในวันที่ 11 กรกฎาคมที่ผ่านมา เป็นพันธบัตรอายุ 10 ปี และกำหนดให้อิงกับดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไป (Headline CPI index) ที่จัดทำโดยกระทรวงพาณิชย์ ทั้งนี้ ไทยถือเป็นประเทศแรกในกลุ่มตลาดเกิดใหม่ในเอเชียที่มีการออกพันธบัตรชดเชยเงินเฟ้อ

ส่วนต่อไปจะอธิบายว่า การมีพันธบัตรชดเชยเงินเฟ้อในตลาด จะช่วยให้ประเมินการคาดการณ์เงินเฟ้อของนักลงทุนง่ายขึ้นอย่างไร การประเมินการคาดการณ์เงินเฟ้อผ่าน Breakeven Inflation

เราเรียกส่วนต่างระหว่างผลตอบแทนที่เป็นตัวเงิน (Nominal yield) และผลตอบแทนที่แท้จริง (Real yield) ว่า Break-even inflation หรือ อัตราเงินเฟ้อที่ทำให้การลงทุนในพันธบัตรทั่วไปกับพันธบัตรชดเชยเงินเฟ้อมีผลตอบแทนไม่แตกต่างกัน เช่น ถ้าพันธบัตรทั่วไปจ่ายผลตอบแทนในระยะ 10 ปีเท่ากับร้อยละ 4 ต่อปี ในขณะที่ผลตอบแทนที่แท้จริงระยะ 10 ปีจากพันธบัตรชดเชยเงินเฟ้อเท่ากับร้อยละ 1 ต่อปี Break-even inflation ที่จะทำให้ผลตอบแทนของการลงทุนทั้งสองแบบเท่ากัน3 คือ อัตราเงินเฟ้อในช่วงการลงทุนเฉลี่ยจะต้องอยู่ที่ประมาณร้อยละ 3 ต่อปี นักวิเคราะห์จึงตีความได้ว่าการคาดการณ์เงินเฟ้อ (Inflation expectation) ของนักลงทุนโดยเฉลี่ยน่าจะอยู่ใกล้เคียงกับระดับ Break-even inflation เพราะมิฉะนั้นพันธบัตรตัวใดตัวหนึ่งจะไม่มีผู้ยอมถือ หรือตลาดจะไม่ clear นั่นเอง

อนึ่ง ที่กล่าวว่า Inflation expectation น่าจะอยู่ "ใกล้เคียง" ร้อยละ 3 ในตัวอย่างข้างต้น แทนที่จะกล่าวว่า "เท่ากับ" ร้อยละ 3 เพราะในความเป็นจริงนักลงทุนทราบดีว่า การคาดการณ์เงินเฟ้อมีความคลาดเคลื่อนได้ ซึ่งจะทำให้ผลตอบแทนการลงทุนไม่ตรงตามที่คาดหวัง ดังนั้น โดยทั่วไปนักลงทุนจึงต้องการผลตอบแทนส่วนเพิ่มเพื่อมาชดเชยความไม่แน่นอนในส่วนนี้ ความสัมพันธ์ระหว่างองค์ประกอบที่กล่าวมาทั้งหมดสรุปได้โดยใช้สมการของฟิชเชอร์ (Fisher's equation) ดังนี้

Nominal Yield = Real Yield

+ Inflation Expectation

+ Inflation Risk Premium

ในขณะเดียวกัน จากนิยามของ Breakeven inflation เราเขียนสมการได้เป็น

Break-even Inflation

= Nominal Yield - Real Yield = Inflation Expectation + Inflation Risk Premium

สมการจึงแสดงให้เห็นว่า Break-even Inflation มาจาก 2 องค์ประกอบ คือ เงินเฟ้อคาดการณ์ (Inflation expectation) และส่วนชดเชยความเสี่ยงจากการคาดการณ์เงินเฟ้อ (Inflation risk premium)

ด้วยเหตุที่ Break-even inflation ประกอบด้วยสองส่วนนี้เอง การวิเคราะห์จึงต้องแยกแยะระหว่างผลที่เกิดขึ้นจากการคาดการณ์เงินเฟ้อกับผลที่เกิดจากส่วนชดเชยความเสี่ยงเงินเฟ้อ โดยทั่วไป ผู้วิเคราะห์มักมีข้อสมมติว่าค่าชดเชยความเสี่ยงเงินเฟ้อเป็นค่าคงที่ ดังนั้น การเปลี่ยนแปลงของ Break-even inflation (ซึ่งต่อไป*(4) จะคำนวณหาได้โดยง่ายจากส่วนต่างระหว่างผลตอบแทนของพันธบัตรทั่วไปกับผลตอบแทนที่แท้จริงของพันธบัตรเงินเฟ้อ) จึงเท่ากับการเปลี่ยนแปลงในอัตราเงินเฟ้อคาดการณ์ของนักลงทุนในตลาดนั่นเอง

การประเมินการคาดการณ์เงินเฟ้อด้วยแบบจำลอง

อย่างไรก็ดี เพื่อให้บทความนี้มีความครบถ้วนในเชิงวิชาการ ขอชี้แจงว่า แม้ในทางปฏิบัติผู้วิเคราะห์นิยมใช้ข้อสมมติที่ช่วยให้การหาการคาดการณ์เงินเฟ้อสะดวกขึ้นดังที่กล่าวมาแล้ว แต่ในทางวิชาการมีงานศึกษาหลายชิ้นที่สรุปตรงกันว่า ค่าชดเชยความเสี่ยงอัตราเงินเฟ้อไม่ได้เป็นค่าคงที่ แต่แปรผันได้ตามแต่ละช่วงเวลา (Time-variant) ดังนั้น การแยกค่าชดเชยความเสี่ยงเงินเฟ้อออกจาก Break-even inflation จึงต้องอาศัยข้อมูลและการคำนวณเพิ่มเติมจากแบบจำลอง (Ang et al., 2007) ทั้งนี้ งานศึกษาจำนวนหนึ่งมีแนวคิดว่า ปัจจัยที่มีผลต่อการเปลี่ยนแปลงในค่าชดเชยความเสี่ยงเงินเฟ้อได้แก่ (1) ราคาของความเสี่ยง(Price of risk) ซึ่งแปรผันตามภาวะเศรษฐกิจและมุมมองของนักลงทุน และ (2)ปริมาณของความเสี่ยง (Amount of risk) ซึ่งในที่นี้คือความไม่แน่นอนของระดับราคา โดยราคาของความเสี่ยงจะเท่ากันสำหรับพันธบัตรที่มีอายุคงเหลือต่างกัน แต่ปริมาณของความเสี่ยงโดยส่วนมากจะมีค่าเพิ่มขึ้นตามอายุคงเหลือของพันธบัตร ดังนั้น ค่าชดเชยความเสี่ยงของพันธบัตรที่มีอายุคงเหลือมากจะสูงกว่าค่าชดเชยความเสี่ยงของพันธบัตรที่มีอายุคงเหลือน้อย และค่าชดเชยความเสี่ยงในช่วงที่ตลาดมีความไม่แน่นอนสูงจะมากกว่าค่าชดเชยความเสี่ยงในช่วงที่ตลาดมีความมั่นใจในอนาคต ด้วยเหตุนี้ แม้การคาดการณ์เงินเฟ้อจะคงที่ แต่หากนักลงทุนต้องการชดเชยความเสี่ยงในอัตราเงินเฟ้อมากขึ้น ค่า Break-even inflation ก็สูงขึ้นได้เช่นกัน

ตัวอย่างของการใช้แบบจำลองและการกำหนดข้อสมมติเพิ่มเติมเพื่อช่วยแยกองค์ประกอบของ Break-even inflation ปรากฏอยู่ในงานศึกษาของ Apaitan and Rungcharoenkitkul (2011) ซึ่งนำแบบจำลองประเภท Multi-factor affine arbitrage-free model และตัวแปรทางเศรษฐกิจมหภาคมาคำนวณหาองค์ประกอบ 3 ส่วนของผลตอบแทนพันธบัตร ได้แก่ อัตราดอกเบี้ยที่แท้จริง การคาดการณ์เงินเฟ้อ และค่าชดเชยความเสี่ยงเงินเฟ้อ*(5)

ภาพที่ 3 แสดงให้เห็นองค์ประกอบของผลตอบแทนที่ระยะเวลาต่างๆ จากการคำนวณโดยแบบจำลอง ณ เดือนกรกฎาคม 2551 ซึ่งทำให้พอเห็นภาพคร่าวๆ ว่า องค์ประกอบส่วนใหญ่คืออัตราดอกเบี้ยที่แท้จริงกับอัตราเงินเฟ้อคาดการณ์ โดยมีค่าชดเชยความเสี่ยงเงินเฟ้ออยู่เล็กน้อย

เมื่อพิจารณาการเปลี่ยนแปลงขององค์ประกอบหลัก 2 ตัวในลักษณะ time-series (ภาพที่ 4) พบว่าทั้งคู่มีการเคลื่อนไหวขึ้นลงตลอดเวลา ขึ้นอยู่กับภาวะเศรษฐกิจและการตัดสินใจของนักลงทุน และหากเปรียบเทียบข้อมูลอัตราเงินเฟ้อที่เกิดขึ้นจริงกับอัตราเงินเฟ้อคาดการณ์ในระยะยาว (10 ปี) จะเห็นได้ว่า การคาดการณ์เงินเฟ้อในระยะยาวมีความผันผวนน้อยกว่ามาก ผลจากแบบจำลองให้ค่าเฉลี่ยของอัตราเงินเฟ้อคาดการณ์ระยะ 10 ปี ระหว่างปี 2543 - 2554 อยู่ที่ประมาณร้อยละ 2.67

การศึกษาในลักษณะข้างต้นสามารถนำมาใช้ประโยชน์ในการวิเคราะห์ผลของการดำเนินนโยบายการเงินได้ ผู้เขียนขอยกเหตุการณ์ในอดีต 2 ช่วงมาเป็นกรณีศึกษา ดังนี้

มิถุนายน - สิงหาคม 2551

ในช่วงกลางปี 2551 เศรษฐกิจไทยกำลังประสบภาวะเงินเฟ้อสูงและ Break-even inflation ปรับตัวเพิ่มขึ้นในเดือนมิถุนายน ซึ่งจะเห็นได้ว่ามาจากทั้งการคาดการณ์เงินเฟ้อในอนาคตและส่วนชดเชยความเสี่ยงเงินเฟ้อ คณะกรรมการนโยบายเงินตัดสินใจปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายต่อเนื่องสองครั้ง ครั้งละ 0.25% จากภาพที่ 5 จะเห็นได้ว่า ภายหลังการดำเนินนโยบายดังกล่าว ค่า Breakeven inflation ลดต่ำลงในเดือนสิงหาคม และเมื่อพิจารณาในรายละเอียดพบว่าเป็นการลดลงของทั้งการคาดการณ์เงินเฟ้อและค่าชดเชยความเสี่ยง สะท้อนถึงผลลัพธ์ที่ดีของการดำเนินโนบายในครั้งนี้เพราะสามารถยึดเหนี่ยว (Anchor) การคาดการณ์เงินเฟ้อให้อยู่ในระดับต่ำลงได้ อีกทั้งตลาดยังมองว่าความไม่แน่นอนในอนาคตลดลงด้วย สะท้อนถึงความเชื่อมั่นที่มีต่อการดำเนินนโยบายการเงิน ในส่วนของอัตราดอกเบี้ยที่แท้จริงลดลงเล็กน้อยสะท้อนมุมมองที่ว่าเศรษฐกิจอาจมีการชะลอตัวลงบ้าง

พฤศจิกายน 2551 - เมษายน 2552

หลังจากช่วงเวลาในกรณีศึกษาที่ 1 เพียงไม่นาน ในช่วงปลายปี 2551 โลกก็เผชิญกับวิกฤต เพื่อรับมือกับความเสี่ยงที่อาจจะเกิดภาวะถดถอย คณะกรรมการนโยบายการเงินได้ลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายอย่างรวดเร็วจากระดับ 3.75% เป็น 1.25% ภายในระยะเวลาประมาณ 6 เดือน จากภาพที่ 6 จะเห็นได้ว่า การคาดการณ์เงินเฟ้อปรับเพิ่มขึ้นบ้างในช่วงต้นปี 2552 แต่ก็ปรับลดลงจนอยู่ในระดับปกติในที่สุด ซึ่งชี้ให้เห็นว่าการลดอัตราดอกเบี้ยประสบความสำเร็จในแง่ของการยึดเหนี่ยวการคาดการณ์เงินเฟ้อ และในส่วนของอัตราดอกเบี้ยที่แท้จริงก็ลดต่ำลง ซึ่งสอดคล้องกับทิศทางของนโยบายการเงินที่ต้องการพยุงเศรษฐกิจด้วยการทำให้ดอกเบี้ยที่แท้จริงอยู่ในระดับต่ำ

อย่างไรก็ตาม ส่วนชดเชยความเสี่ยงเงินเฟ้อกลับค้างอยู่ในระดับค่อนข้างสูง สิ่งนี้อาจทำให้ผู้ดำเนินนโยบายต้องเหลียวกลับมาทบทวนว่ามีปัญหาเกิดขึ้นในการดำเนินนโยบายหรือไม่ เช่น ปัญหาในการสื่อสาร ปัญหาความน่าเชื่อถือของนโยบาย เป็นต้น หรือเป็นเพราะปัจจัยอื่นๆ ในระบบเศรษฐกิจที่ทำให้ตลาดไม่มีความเชื่อมั่นในอนาคตจนทำให้นักลงทุนต้องการการชดเชยความเสี่ยงที่เพิ่มขึ้นกันแน่

สรุป

อัตราดอกเบี้ยที่แท้จริงและการคาดการณ์อัตราเงินเฟ้อเป็นตัวแปรทางเศรษฐกิจที่มีความสำคัญต่อการดำเนินนโยบายการเงินภายใต้กรอบ Inflation targeting การถือกำเนิดขึ้นของพันธบัตรชดเชยเงินเฟ้อในประเทศไทยช่วยให้เราประเมินตัวเลขอัตราดอกเบี้ยที่แท้จริงและการคาดการณ์เงินเฟ้อของนักลงทุนในตลาดได้ง่ายขึ้น และนับเป็นก้าวสำคัญ ทั้งของการพัฒนาตลาดทุนไทยและการพัฒนาการนำใช้ข้อมูลทางการเงินในการดำเนินนโยบาย อนึ่ง การใช้ข้อมูลจากพันธบัตรชดเชยเงินเฟ้อสามารถมีประโยชน์มากยิ่งขึ้นไปอีกหากมีการใช้แบบจำลองทางเศรษฐกิจมาเสริมในการวิเคราะห์ข้อมูล

References

Ang, A., G. Bekaert and M. Wei (2007), "The term structure of real interest rate and expected inflation", NBER, Working Paper Series No 12930.

Apaitan, T. and P. Rungcharoenkitkul (2011) "Estimating Real Yields Ex Ante via No-arbitrage Restrictions: The Case of Thailand", Bank of Thailand, mimeo.

Barclays Capital (2010), "Global inflation-linked products: a user's guide". Deacon, M., A. Derry and D. Mirfendereski (2004), Inflation-indexed securities: bonds, swaps and other derivatives , New York: Wiley Finance, second edition.

แหล่งข้อมูลเกี่ยวกับพันธบัตรชดเชยเงินเฟ้อของไทย สำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ (สบน.) http://www.pdmo.mof.go.th

Thai Bond Market Association (ThaiBMA) http://www.thaibma.or.th

ขอขอบคุณ: คุณรุ่ง มัลลิกะมาส คุณปิติ ดิษยทัต คุณสุรัช แทนบุญ และส่วนพยากรณ์เศรษฐกิจและวิเคราะห์เสถียรภาพ ฝนง. สำหรับคำแนะนำที่เป็นประโยชน์

*(1) นักเศรษฐศาสตร์พยายามคิดหาวิธีวัดการคาดการณ์เงินเฟ้อ ที่นิยมใช้คือการสำรวจความคิดเห็น (Survey) แต่ก็มี

*(2) การจ่ายผลตอบแทนในรูปแบบนี้เรียกว่า Capital ข้อจำกัด (รายละเอียดเพิ่มเติมใน FAQ Issue 33) Indexed Bond (CIB) พันธบัตรชดเชยเงินเฟ้อสามารถจ่ายผลตอบแทนในรูปแบบอื่นๆ ได้อีก โปรดดู Deacon et al. (2006)

*(3) อาจแตกต่างกันเล็กน้อยขึ้นอยู่กับรายละเอียดของการคำนวณกระแสเงินของพันธบัตรแต่ละประเภท

*(4) ขณะนี้ยังเร็วเกินไปที่จะใช้ข้อมูล Break-even inflation จากพันธบัตรชดเชยเงินเฟ้อที่เพิ่งมีการจัดจำ หน่ายเนื่องจากปริมาณพันธบัตรและการซื้อขายยังค่อนข้างจำกัดเราคงต้องรอจนกว่าพันธบัตรชดเชยเงินเฟ้อจะมีการซื้อขายกันมากขึ้นในตลาดรอง รวมถึงมีการออกพันธบัตรชดเชยเงินเฟ้อรุ่นอื่นๆ อายุอื่นๆ เพื่อให้ข้อมูล Break-even inflation มีความสมบูรณ์และสะท้อนมุมมองของผู้เล่นในตลาดได้อย่างเพียงพอ

*(5) ในช่วงที่ทำการศึกษายังไม่มีข้อมูลจากพันธบัตรชดเชยเงินเฟ้อ ดังนั้น จึงต้องอาศัยข้อมูลผลตอบแทนของพันธบัตรทั่วไปประกอบกับข้อสมมติบางประการในการคำนวณหา Break-even inflation ไปก่อน ในอนาคตที่ข้อมูลจาก พันธบัตรชดเชยเงินเฟ้อมีมากขึ้น การหา Break-even inflation จะทำได้แม่นยำมากขึ้น และผลการศึกษาในส่วนที่ตามมาจะมีความน่าเชื่อถือยิ่งขึ้นตามไปด้วย

ที่มา: ธนาคารแห่งประเทศไทย


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ