แถลงข่าวเศรษฐกิจและการเงินภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เดือนกรกฎาคม 2555

ข่าวเศรษฐกิจ Friday August 31, 2012 16:57 —ธนาคารแห่งประเทศไทย

ฉบับที่ 18/2555

ภาวะเศรษฐกิจภาคตะวันออกเฉียงเหนือเดือนกรกฎาคม 2555 ยังขยายตัวต่อเนื่องจากเดือนก่อนตามการอุปโภคบริโภคภาคเอกชนสะท้อนจากภาษีมูลค่าเพิ่มและสินค้าในหมวดยานยนต์ที่ยังขยายตัวต่อเนื่องสอดคล้องกับภาคการค้าในหมวดห้างสรรพสินค้าและยานยนต์ที่ยังขยายตัวดีตามการปรับตัวดีขึ้นของรายได้เกษตรกรจากผลผลิตยางที่สูงขึ้นเป็นสำคัญ รวมทั้งสินเชื่อธนาคารพาณิชย์ที่ขยายตัวทั้งสินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์และสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัย ประกอบกับมีการใช้จ่ายของภาครัฐบาลเพิ่มขึ้นทั้งรายจ่ายประจำและรายจ่ายลงทุนโดยเฉพาะงบเพื่อการก่อสร้าง ส่งผลให้การลงทุนภาคเอกชนขยายตัวเพิ่มขึ้นสะท้อนจากพื้นที่ก่อสร้างนอกเขตเทศบาล ทั้งเป็นที่อยู่อาศัยและโครงสร้างพื้นฐานต่าง ๆ นอกจากนี้ อุตสาหกรรมผลิตชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ยังขยายตัวแม้จะชะลอลงบ้างจากเดือนก่อนตามทิศทางวิกฤตเศรษฐกิจต่างประเทศที่ยังไม่คลี่คลาย สำหรับด้านเสถียรภาพเศรษฐกิจ อัตราเงินเฟ้อทั่วไปอยู่ที่ร้อยละ 1.77 ชะลอลงจากเดือนก่อน

รายละเอียดของภาวะเศรษฐกิจและการเงินภาคตะวันออกเฉียงเหนือ มีดังนี้

การอุปโภคบริโภคภาคเอกชน เดือนนี้ขยายตัวจากระยะเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 4.2 และขยายตัวจากเดือนก่อน สะท้อนจากการจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม และยอดจดทะเบียนยานยนต์ที่เพิ่มขึ้นทั้งรถยนต์นั่งส่วนบุคคลและรถยนต์เพื่อการพาณิชย์ เนื่องจากผู้ผลิตยังคงเร่งส่งมอบรถยนต์ตามความต้องการที่สะสมมาช่วงก่อนหน้าสนับสนุนให้เกิดการใช้น้ำมันเชื้อเพลิงทุกชนิดเพิ่มขึ้น สอดคล้องกับภาคการค้า โดยดัชนีการค้าเพิ่มขึ้นจากระยะเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 15.8 แม้จะขยายตัวน้อยกว่าเดือนก่อนตามการค้าในหมวดวัสดุก่อสร้าง แต่การค้าสินค้าอุปโภคของห้างสรรพสินค้าและการค้ายานยนต์ยังขยายตัวดี สำหรับการใช้จ่ายของภาครัฐ เพิ่มขึ้นจากระยะเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 16.7 ทั้งรายจ่ายงบประจำและรายจ่ายงบลงทุน จากการเร่งเบิกจ่ายเนื่องจากใกล้สิ้นปีงบประมาณ โดยงบลงทุนเพิ่มขึ้นร้อยละ 25.1 และรายจ่ายงบประจำเพิ่มขึ้นร้อยละ 14.3 จากการเบิกจ่ายงบค่าที่ดินและสิ่งก่อสร้าง และงบเงินอุดหนุนเฉพาะกิจ ส่วนใหญ่เป็นของกรมส่งเสริมการปกครองส่วนท้องถิ่นและสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน ในส่วนการลงทุนภาคเอกชนเพิ่มขึ้น โดยดัชนีการลงทุนภาคเอกชนเพิ่มขึ้นร้อยละ 9.1 ตามการลงทุนในหมวดเครื่องจักรและอุปกรณ์ สะท้อนจากยอดจดทะเบียนรถยนต์เพื่อการพาณิชย์ที่เพิ่มขึ้น อย่างไรก็ตาม พื้นที่รับอนุญาตก่อสร้างในเขตเทศบาลแม้ว่าหดตัวร้อยละ 6.3 แต่นอกเขตเทศบาลยังขยายตัวดีจากการก่อสร้างที่อยู่อาศัย เห็นได้จากยอดจำหน่ายวัสดุก่อสร้างที่เพิ่มขึ้น สำหรับความสนใจลงทุนของนักลงทุนในระยะต่อไป สะท้อนจากมูลค่าการได้รับอนุมัติส่งเสริมการลงทุนจาก BOI เพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 372.3โดยเป็นการลงทุนในอุตสาหกรรมเกษตรและอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ โครงการลงทุนขนาดใหญ่ในเดือนนี้ ได้แก่ โครงการผลิตเครื่องรับโทรทัศน์ในจังหวัดนครราชสีมา เงินลงทุน 4,099.4 ล้านบาท

สำหรับภาคเกษตร ดัชนีมูลค่าผลผลิตพืชสำคัญ หดตัวจากระยะเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 2.3 ปรับตัวดีขึ้นจากเดือนก่อน เป็นผลจากดัชนีผลผลิตพืชสำคัญเพิ่มขึ้นจากระยะเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 2.3 โดยเป็นการเพิ่มขึ้นของผลผลิตยางพาราเป็นสำคัญ สำหรับดัชนีราคาพืชสำคัญหดตัวจากระยะเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 4.5 ทรงตัวจากเดือนก่อน เป็นผลจากราคาข้าวลดลงตามการชะลอการรับซื้อข้าวเปลือกของโรงสีและผู้ส่งออก ประกอบกับความต้องการจากต่างประเทศลดลงเนื่องจากรอดูสถานการณ์แผนการระบายข้าวในสต็อกของทางการ อีกทั้งไทยยังสูญเสียความสามารถในการแข่งขันด้านราคาให้กับประเทศเวียดนามและอินเดียที่ราคาถูกกว่า ขณะที่ราคายางพาราหดตัวตามการส่งออกจากปัญหาวิกฤตเศรษฐกิจต่างประเทศที่ยังไม่คลี่คลาย ส่วนการผลิตภาคอุตสาหกรรม ขยายตัว โดยดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมขยายตัวจากระยะเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 15.9 ตามการผลิตในอุตสาหกรรมเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ ที่ขยายตัวตามความต้องการของตลาดภายในประเทศที่เพิ่มขึ้น และอุตสาหกรรมผลิตชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ยังขยายตัว แต่ชะลอลงตามการส่งออก ขณะที่การผลิตในอุตสาหกรรมน้ำตาลโดยเฉพาะน้ำตาลทรายขาวหดตัวเนื่องจากมีการเร่งผลิตในช่วงก่อนหน้า

ภาคการเงิน ธนาคารพาณิชย์ ณ สิ้นเดือนมิถุนายน มีเงินฝากคงค้าง 543.0 พันล้านบาท เพิ่มขึ้นจากระยะเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 15.3 และเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนร้อยละ 1.9 โดยส่วนใหญ่เป็นการเพิ่มขึ้นของเงินฝากประจำ เป็นผลจากการเร่งระดมเงินฝากของธนาคารพาณิชย์เพื่อรองรับสินเชื่อที่ยังคงขยายตัว สำหรับสินเชื่อคงค้าง 583.1 พันล้านบาท เพิ่มขึ้นจากระยะเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 19.8 และเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนร้อยละ 2.1 ส่วนใหญ่เป็นการเพิ่มขึ้นของสินเชื่อเพื่อการอุปโภคบริโภคส่วนบุคคล เพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 27.7 จากสินเชื่อรถยนต์ และสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัยที่ยังคงเร่งตัวขึ้น รองลงมาได้แก่ สินเชื่อธุรกิจการเงิน สินเชื่อเพื่อการพาณิชย์และสินเชื่ออสังหาริมทรัพย์ โดยอัตราส่วนสินเชื่อต่อเงินฝากในเดือนนี้เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนเล็กน้อยจากร้อยละ 107.2 เป็นร้อยละ 107.4 สถาบันการเงินเฉพาะกิจ ณ สิ้นเดือนมิถุนายน มีเงินฝากคงค้าง 300.3 พันล้านบาทเพิ่มขึ้นจากระยะเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 15.6 ตามการแข่งขันด้านเงินฝากของสถาบันการเงิน สำหรับสินเชื่อคงค้าง 820.3 พันล้านบาท เพิ่มขึ้นจากระยะเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 24.6

เสถียรภาพเศรษฐกิจ อัตราเงินเฟ้อทั่วไปอยู่ที่ร้อยละ 1.77 ชะลอตัวจากเดือนก่อนที่ร้อยละ 1.82 ตามราคาน้ำมันเชื้อเพลิงทุกประเภทที่ลดลงเป็นสำคัญ ขณะที่อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานอยู่ที่ร้อยละ 1.70 สำหรับอัตราการว่างงานเดือนมิถุนายน 2555 อยู่ที่ร้อยละ 0.5 ชะลอตัวจากเดือนก่อนซึ่งเป็นร้อยละ 0.9

ธนาคารแห่งประเทศไทย

สำนักงานภาคตะวันออกเฉียงเหนือ

ข้อมูลเพิ่มเติม : ส่วนเศรษฐกิจภาค

โทร: 0 4333 3000 ต่อ 3410

E-mail: Rotelakp@bot.or.th

ที่มา: ธนาคารแห่งประเทศไทย


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ