ฉบับที่ 9/2555
ภาวะเศรษฐกิจการเงินภาคเหนือ เดือนกรกฎาคม 2555 ขยายตัว ด้วยแรงขับเคลื่อนสำคัญจากการบริโภค การลงทุนภาคเอกชน การใช้จ่ายภาครัฐ และการส่งออกโดยเฉพาะการค้าชายแดน ในขณะที่การส่งออกไปยุโรปหดตัวเป็นเดือนแรกของปีนี้ การท่องเที่ยวปรับตัวดีขึ้นจากปีก่อน การผลิตสินค้าเกษตรชะลอลงตามฤดูกาล ส่วนการผลิตสินค้าอุตสาหกรรมเพื่อส่งออกบางชนิดหดตัว ด้านเสถียรภาพในประเทศ อัตราเงินเฟ้อชะลอลงต่อเนื่อง การจ้างงานขยายตัว สินเชื่อและเงินฝากยังเพิ่มขึ้น
การอุปโภคบริโภคภาคเอกชนยังขยายตัวดีต่อเนื่อง จากนโยบายสนับสนุนของรัฐบาล การจัดกิจกรรมส่งเสริมการจำหน่ายและการนำสินค้ารุ่นใหม่ออกสู่ตลาดจูงใจ ส่งผลให้ยอดจำหน่ายสินค้าหมวดยานยนต์สูงเป็นประวัติการณ์ รวมทั้งยอดจำหน่ายสินค้าอุปโภคและบริโภคหลายชนิดขยายตัวดี เช่น อาหารและเครื่องดื่ม เสื้อผ้าและเครื่องแต่งกาย ดัชนีการลงทุนภาคเอกชนเพิ่มขึ้นร้อยละ 14.7 ตามภาคอสังหาริมทรัพย์โดยเฉพาะในจังหวัดเชียงใหม่ และเชียงราย ประกอบกับการดำเนินโครงการป้องกันปัญหาอุทกภัย รวมทั้งมีการนำเข้าเครื่องจักรและอุปกรณ์เพิ่มเพื่อเปิดสายการผลิตใหม่ ด้านความสนใจลงทุนในภาคเหนือยังมีต่อเนื่อง ในเดือนนี้มีการอนุมัติวงเงินส่งเสริมการลงทุน 4,760.2 ล้านบาท ส่วนใหญ่เป็นโครงการขยายการลงทุนผลิตชิ้นส่วนโลหะที่นิคมอุตสาหกรรมลำพูน การเบิกจ่ายงบประมาณผ่านคลังจังหวัดมีจำนวน 16,815.1 ล้านบาท ขยายตัวร้อยละ 18.2 โดยรายจ่ายงบลงทุนขยายตัวจากการก่อสร้างของสถาบันการศึกษาและสังคมสงเคราะห์ ขณะที่รายจ่ายประจำเพิ่มขึ้นตามการเบิกจ่ายงบบุคลากรและเงินอุดหนุนขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นและสถาบันการศึกษา
การส่งออกมีมูลค่า 346.5 ล้านดอลลาร์ สรอ. เพิ่มขึ้นร้อยละ 16.4 ตามการส่งออกผ่านด่านชายแดน โดยส่วนใหญ่เป็นน้ำมันเชื้อเพลิงและสินค้าอุปโภคบริโภค ส่วนการส่งออกผ่านด่านศุลกากรลำพูนและเชียงใหม่ชะลอตัวลงทั้งสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรม โดยส่วนหนึ่งเริ่มได้รับผลกระทบจากปัญหาวิกฤตเศรษฐกิจยุโรป การนำเข้ามีมูลค่า 138.0 ล้านดอลลาร์ สรอ. ขยายตัวร้อยละ 6.1 ตามความต้องการวัตถุดิบและสินค้าขั้นกลางเพื่อนำมาผลิตต่อ เช่น ส่วนประกอบของหม้อแปลงและเครื่องพิมพ์ เลนส์ที่ยังไม่ประกอบ ทางด้านการนำเข้าผ่านด่านชายแดนขยายตัวดีตามการนำเข้าจากพม่าและลาว
ภาคการผลิตขยายตัวในอัตราชะลอลง ตามปริมาณผลผลิตสินค้าเกษตรที่ขยายตัวเพียงร้อยละ 2.6 ชะลอลงจากร้อยละ 14.3 ในเดือนก่อน เนื่องจากผลผลิตพืชสำคัญหลายชนิดออกสู่ตลาดลดลงตามฤดูกาล เช่น ข้าวนาปรัง มันสำปะหลัง ขณะที่ลำไยกำลังเก็บเกี่ยวคาดว่าปีนี้มีปริมาณเพิ่มขึ้น เพราะสภาพอากาศเอื้ออำนวยและเกษตรกรเพิ่มการผลิต ปริมาณปศุสัตว์เพิ่มขึ้นเป็นผลจากการเพิ่มการผลิตในช่วงก่อนหน้า ด้านราคาสินค้าเกษตรขยายตัวดีร้อยละ 6.3 โดยราคาข้าวเปลือกเจ้านาปรังเพิ่มจากผลของโครงการรับจำนำ ราคาข้าวโพดและลำไยสูงขึ้นเล็กน้อยตามความต้องการของตลาด ส่งผลให้รายได้ของเกษตรกรขยายตัวร้อยละ 9.0 ทางด้านการท่องเที่ยวปรับดีขึ้นเล็กน้อยจากระยะเดียวกันปีก่อน ผลของการจัดกิจกรรมและงานประชุมสัมมนาประกอบกับมีเที่ยวบินเพิ่มขึ้น ด้านดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมขยายตัวเล็กน้อยร้อยละ 1.6 จากการผลิตชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ประเภทแผงวงจรในอุปกรณ์สื่อสารและชิ้นส่วนใช้ในรถยนต์ อาหารและเครื่องดื่ม อย่างไรก็ตาม ปัญหาวิกฤตเศรษฐกิจในกลุ่มประเทศยุโรปเริ่มส่งผลกระทบต่อการผลิตสินค้าบางประเภท เช่น อัญมณี เครื่องประดับ เครื่องใช้บนโต๊ะอาหารทำจากเซรามิก และเฟอร์นิเจอร์ไม้
เสถียรภาพในประเทศ อัตราเงินเฟ้อชะลอลงตามราคาสินค้าหมวดอาหารและพลังงาน อยู่ที่ร้อยละ 1.84 ด้านภาวะการจ้างงานดือนมิถุนายน 2555 ขยายตัวร้อยละ 1.6 ประกอบกับจำนวนผู้ประกันสังคม ณ เดือนกรกฎาคม 2555 ขยายตัวดี ส่งผลให้ผู้ประกอบการยังมีความต้องการแรงงานอย่างต่อเนื่อง
เงินให้สินเชื่อของสาขาธนาคารพาณิชย์ ณ สิ้นเดือนมิถุนายน 2555 มียอดคงค้าง 429,586.0 ล้านบาท ขยายตัวร้อยละ 15.8 ตามสินเชื่อประเภทอุปโภคบริโภคส่วนบุคคล ค้าปลีกค้าส่ง ตัวกลางทางการเงิน และอสังหาริมทรัพย์ ด้านเงินฝากขยายตัวร้อยละ 17.2 เป็นจำนวน 510,059.0 ล้านบาท ส่วนหนึ่งเป็นการโอนมาจากตั๋วเงินฝากครบกำหนด และการเสนอผลิตภัณฑ์เงินฝากที่ให้ผลตอบแทนจูงใจ ทำให้เงินฝากขยายตัวสูงกว่าเงินให้สินเชื่อ ส่งผลให้สัดส่วนเงินให้สินเชื่อต่อเงินฝากเท่ากับร้อยละ 84.2 ต่ำกว่าร้อยละ 85.0 เดือนก่อน
ธนาคารแห่งประเทศไทย สำนักงานภาคเหนือ
4 กันยายน 2555
ข้อมูลเพิ่มเติม : ทวีศักดิ์ ใจคำสืบ
โทร. 0-5393-1162
e-mail : Thaveesc@bot.or.th
ที่มา: ธนาคารแห่งประเทศไทย