สรุปภาวะเศรษฐกิจและการเงินภาคใต้ เดือนกรกฎาคม ปี 2555

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday September 4, 2012 14:23 —ธนาคารแห่งประเทศไทย

ฉบับที่ 16/2555

เศรษฐกิจภาคใต้ในเดือนกรกฎาคม 2555 ปรับตัวดีขึ้นจากเดือนก่อนจากการบริโภคและการลงทุน ที่ขยายตัวดีขึ้น ขณะเดียวกันการท่องเที่ยวยังขยายตัวจากนักท่องเที่ยวเอเชียเป็นสำคัญ และการผลิตภาคอุตสาหกรรมขยายตัวตามความต้องการของตลาดหลัก การขยายตลาดใหม่ และวัตถุดิบที่เพิ่มขึ้น

อย่างไรก็ตามมูลค่าการส่งออกลดลงเป็นผลจากราคาเป็นสำคัญ โดยเฉพาะยางพารา เป็นผลกระทบจากภาวะเศรษฐกิจโลกทำให้มูลค่าส่งออกยางพาราลดลงตามความต้องการซื้อจากประเทศญี่ปุ่น สหรัฐอเมริกา และสหภาพยุโรปที่ลดลง ส่วนผลผลิตพืชผลเกษตรยังคงลดลงตามผลผลิตปาล์มน้ำมัน แม้ว่าผลผลิตยางพาราจะเพิ่มขึ้น ประกอบราคาพืชผลลดลงต่อเนื่องจึงส่งผลให้รายได้เกษตรกรลดลง

รายละเอียดของภาวะเศรษฐกิจและการเงินภาคใต้ มีดังนี้

การบริโภคขยายตัวจากนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐทั้งนโยบายรถคันแรก การชะลอปรับโครงสร้างพลังงาน และมาตรการขอความร่วมมือผู้ประกอบการชะลอการขึ้นราคาสินค้า ประกอบกับกำลังการผลิตรถยนต์เข้าสู่ภาวะปกติ โดยดัชนีการอุปโภคบริโภคภาคเอกชนขยายตัวร้อยละ 4.6 เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนที่ขยายตัวเพียงร้อยละ 1.6 ตามการใช้จ่ายในหมวดยานยนต์ที่เร่งตัวขึ้นมาก ทั้งรถยนต์นั่งส่วนบุคคลและรถยนต์บรรทุกส่วนบุคคล ขณะเดียวกันการจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มขยายตัวในอัตราสูงเช่นกัน จากภาษีค้าปลีกค้าส่ง ภาษีภาคอุตสาหกรรม และภาษีภาคบริการ

การท่องเที่ยวขยายตัวในฝั่งอันดามันและอ่าวไทยจากนักท่องเที่ยวเอเชีย ได้แก่ จีน และเกาหลี เป็นสำคัญ สำหรับนักท่องเที่ยวยุโรปยังขยายตัวในเกณฑ์ดี โดยเฉพาะนักท่องเที่ยวจากประเทศอังกฤษ และเยอรมัน นอกจากนี้นักท่องเที่ยวจากอเมริกา และรัสเซีย เพิ่มขึ้นเช่นกัน ส่วนหนึ่งเป็นผลจากการจัดประชุมระดับอาเซียน และการจัดแข่งขันกีฬานานาชาติ โดยนักท่องเที่ยวต่างประเทศเดินทางผ่านด่านตรวจคนเข้าเมืองในภาคใต้มีจำนวน 474,217 คน เพิ่มขึ้นจากเดือนเดียวกันปีก่อนร้อยละ 3.5 และมีอัตราการเข้าพักโรงแรมอยู่ที่ร้อยละ 60.9 ปรับตัวดีขึ้นเมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันปีก่อน ตามจำนวนนักท่องเที่ยวที่เพิ่มขึ้น อย่างไรก็ตามปัญหาความไม่สงบในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ประกอบกับเทศกาลถือศีลอด (เดือนรอมฎอน) ของชาวมุสลิมในปีนี้มีกำหนดเร็วขึ้นกว่าปีก่อน ทำให้นักท่องเที่ยวมาเลเซียยังคงหดตัว ส่งผลให้จำนวนนักท่องเที่ยวโดยรวมของภาคใต้ขยายตัวในอัตราที่ชะลอลงจากเดือนก่อน

การลงทุนขยายตัวร้อยละ 6.8 เพิ่มขึ้นจากร้อยละ 4.4 ในเดือนก่อน โดยการลงทุนในหมวดการก่อสร้างเพิ่มขึ้นจากการลงทุนด้านที่อยู่อาศัยในจังหวัดสุราษฎร์ธานี และภูเก็ต เป็นสำคัญ ขณะเดียวกันมีการลงทุนก่อสร้างห้างสรรพสินค้าในจังหวัดนครศรีธรรมราช และโรงภาพยนตร์ในจังหวัดชุมพร ส่วนการลงทุนในหมวดเครื่องจักรเพิ่มขึ้นทั้งการลงทุนซื้อรถยนต์พาณิชย์ และการนำเข้าสินค้าทุน

ด้านการผลิตภาคอุตสาหกรรมปรับตัวดีขึ้นโดยขยายตัวร้อยละ 0.1 จากที่หดตัวร้อยละ 5.9 ในเดือนก่อน ตามการผลิตยางแปรรูปเพิ่มขึ้นร้อยละ 0.9 จากความต้องการซื้อของประเทศจีนที่เพิ่มขึ้น และถุงมือยางเพิ่มขึ้นร้อยละ 15.8 ตามความต้องการซื้อจากประเทศสหรัฐอเมริกา นอกจากนี้การผลิตไม้ยางแปรรูป และอาหารทะเลแช่เย็นแช่แข็งและแปรรูปเพิ่มขึ้นร้อยละ 9.6 และ 9.4 จากการขยายตลาดเพิ่มขึ้นในตลาดตะวันออกกลางและอาเซียน ขณะที่การผลิตอาหารทะเลกระป๋องลดลงร้อยละ 7.9 ผลจากการชะลอซื้อของตลาดตะวันออกกลางและสหภาพยุโรปตามภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัว ส่วนน้ำมันปาล์มลดลงร้อยละ 21.8 จากวัตถุดิบผลผลิตปาล์มที่ออกสู่ตลาดลดลง

การผลิตพืชผลเกษตรลดลงจากเดือนเดียวกันปีก่อนร้อยละ 2.3 ตามผลผลิตปาล์มน้ำมันที่ลดลงร้อยละ 19.5 จากสภาพอากาศที่แปรปรวน และต้นปาล์มพักฟื้นจากการให้ผลผลิตมากในปีก่อน ขณะที่ผลผลิตยางเพิ่มขึ้นร้อยละ 6.9 จากภาวะฝนทิ้งช่วงในภาคใต้ สำหรับราคาสินค้าเกษตรลดลงร้อยละ 26.4 ตามราคายางพาราที่ลดลงร้อยละ 31.2 จากเศรษฐกิจโลกที่เข้าสู่ภาวะถดถอย ทำให้รายได้ของเกษตรกรจากการจำหน่ายพืชผลลดลงร้อยละ 28.1 ส่วนผลผลิตกุ้งจากการเพาะเลี้ยงเพิ่มขึ้นร้อยละ 18.0 ชะลอลงจากเดือนก่อน

นอกจากนี้การส่งออก มีมูลค่าลดลงร้อยละ 30.1 ต่อเนื่องจากเดือนก่อน ตามการลดลงของมูลค่าการส่งออกยางพารา ซึ่งลดลงถึงร้อยละ 39.6 เนื่องจากความต้องการซื้อจากประเทศญี่ปุ่น สหรัฐอเมริกา และ สหภาพยุโรปที่ลดลง ส่วนสินค้าอื่นที่มีมูลค่าลดลง ได้แก่ อาหารบรรจุกระป๋อง ดีบุก และไม้ยางพาราแปรรูป ในขณะที่มูลค่าการส่งออกถุงมือยางและสัตว์น้ำแช่แข็งเพิ่มขึ้น สำหรับการนำเข้ามีมูลค่าลดลงร้อยละ 9.6 ตามการลดลงของมูลค่านำเข้าสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ ส่วนมูลค่าการนำเข้าเครื่องจักรและอุปกรณ์ น้ำมันเชื้อเพลิง อุปกรณ์ก่อสร้าง และสัตว์น้ำ ขยายตัวสูงขึ้น

ส่วนเงินให้สินเชื่อขยายตัวร้อยละ 18.7 จากความต้องการเงินให้สินเชื่อเร่งตัวต่อเนื่อง โดยเฉพาะสินเชื่อเพื่อการบริโภคส่วนบุคคล เป็นผลจากนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐ อาทิ นโยบายบ้านหลังแรกและรถยนต์คันแรก การปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำและเงินเดือนข้าราชการ สำหรับเงินฝากขยายตัวร้อยละ 10.9 ผลจากการชะลอตัวของตั๋วแลกเงิน เนื่องจากกฎเกณฑ์ของคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์(ก.ล.ต.) ที่กำหนดเงินลงทุนขั้นต่ำในตั๋วแลกเงินของสถาบันการเงินไว้ที่ 10 ล้านบาท ซึ่งมีผลบังคับใช้ในเดือนกรกฎาคม 2555 รวมทั้งการเก็บค่าธรรมเนียมในการออกตั๋วแลกเงินในอัตราร้อยละ 0.46 ส่งผลให้ธนาคารพาณิชย์ต่างเร่งระดมเงินฝาก โดยเสนอผลิตภัณฑ์ที่ให้ผลตอบแทนจูงใจเพื่อรองรับการขยายตัวของเงินให้สินเชื่อที่มีแนวโน้มเร่งตัวสูง

ด้านอัตราเงินเฟ้ออยู่ที่ร้อยละ 2.99 ชะลอตัวจากร้อยละ 3.22 ในเดือนก่อน ตามแรงกดดันของราคาสินค้าในหมวดที่ไม่ใช่อาหารและเครื่องดื่มที่ชะลอตัวลงมาก จากการชะลอตัวของหมวดเคหสถาน เป็นสำคัญ ขณะเดียวกันราคาสินค้าในหมวดอาหารและเครื่องดื่มชะลอลงตามราคาอาหารสำเร็จรูป เนื่องจากต้นทุนวัตถุดิบลดลง นอกจากนี้ภาครัฐขยายเวลาตรึงราคาก๊าซหุงต้มภาคครัวเรือนไปจนถึงสิ้นปี ส่งผลให้ผู้ประกอบการไม่ปรับราคาอาหารสำเร็จรูปในเดือนนี้

ธนาคารแห่งประเทศไทย สำนักงานภาคใต้

4 กันยายน 2555

ข้อมูลเพิ่มเติม : ส่วนเศรษฐกิจภาค

โทรศัพท์ 0-7427-2000 ต่อ 4716

e-mail : Puangpeu@bot.or.th

ที่มา: ธนาคารแห่งประเทศไทย


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ