เทียนทิพ สุพานิช
ไพลิน ผลิตวานนท์
สายนโยบายการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย
ถึงปัจจุบันสถาบันจัดอันดับความน่าเชื่อถือต่างๆ อาทิ Fitch Ratings ได้จัดอันดับความน่าเชื่อถือของไทยไว้ที่ BBB ขณะที่ Standard and Poor’s และ Moody’s เองก็คงอันดับความน่าเชื่อถือของไทยไว้ที่ BBB+ และ Baa1 ตามลำดับเช่นกัน หากมองย้อนกลับไปเกือบ 10 ปีที่แล้ว แม้ไทยจะเผชิญกับวิกฤตต่าง ๆ มากมาย ทั้งจากความวุ่นวายทางการเมืองในประเทศ และจากวิกฤตเศรษฐกิจการเงินโลก อันดับความน่าเชื่อถือของไทยจากบริษัทจัดอันดับต่าง ๆ ก็ไม่ได้เปลี่ยนแปลง(ยกเว้น Fitch Ratings ที่ปรับลดอันดับของไทยจาก BBB+ เป็น BBB ในปี 2552 หลังจากเหตุการณ์ทางการเมือง) ดังนั้นดูเผิน ๆ อันดับความน่าเชื่อถือของไทยไม่ได้เลวร้ายลงและดูเหมือนว่าไทยก็ยังปรับตัวได้ดีในสายตาของชาวโลก
อย่างไรก็ตาม หากพิจารณาให้ละเอียดลงไปแล้ว จะพบว่าอันดับความน่าเชื่อถือของไทยในปัจจุบันอยู่เพียงอันดับสุดท้ายของกลุ่มประเทศที่สามารถลงทุนได้ (Investment Grade) ซึ่งในอดีตไทยเคยได้รับการจัดอันดับที่ดีกว่านี้และอยู่ในระดับ A ก่อนวิกฤตต้มยำกุ้งปี 2540 และแม้ว่าไทยจะได้รับการปรับเพิ่มอันดับขึ้นบ้างหลังวิกฤตต้มยำกุ้ง ทว่านับจากปี 2546 เป็นต้นมา ไทยก็ไม่เคยได้รับการปรับเพิ่มอันดับความน่าเชื่อถืออีกเลย หากมองไปยังประเทศเพื่อนบ้านใกล้ ๆ กับไทยซึ่งผ่านวิกฤตมาเหมือนกันอย่างมาเลเซียกลับพบว่า อันดับเครดิตของมาเลเซียซึ่งเคยอยู่ในระดับต่ำกว่า InvestmentGrade เช่นเดียวกับไทยในช่วงวิกฤตดังกล่าว สามารถไต่อันดับเข้าสู่กลุ่ม A ได้แล้ว
ผ่านมาสิบห้าปี ทำไมอันดับความน่าเชื่อถือของไทยไม่กลับสู่ที่เดิมเสียที ซึ่งการจะดูเรื่องนี้คงต้องทำความเข้าใจก่อนว่าบริษัทจัดอันดับใช้ปัจจัยใดบ้างในการจัดอันดับเครดิตของประเทศ
สิ่งที่บริษัทจัดอันดับนำมาใช้พิจารณาอันดับเครดิตของประเทศล้วนเป็นปัจจัยที่มีผลต่อความสามารถในการชำระหนี้ของรัฐบาลประเทศนั้นๆ โดยจะพิจารณาจาก 4 ปัจจัย ได้แก่ เสถียรภาพทางการคลัง เสถียรภาพด้านต่างประเทศภาพรวมทางเศรษฐกิจมหภาค และ ประเด็นเชิงโครงสร้างต่างๆ เช่น เสถียรภาพทางการเมือง การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ความแข็งแกร่งของระบบการเงิน เป็นต้น ทั้งนี้ ปัจจัยแรกมีผลโดยตรงต่อความสามารถในการชำระหนี้ของรัฐบาล ส่วนปัจจัยที่สองมีความสำคัญต่อความสามารถในการชำระหนี้ของภาครัฐที่เป็นสกุลเงินต่างประเทศ ขณะที่สองปัจจัยสุดท้ายเป็นตัวสะท้อนศักยภาพการเติบโตทางเศรษฐกิจซึ่งส่งผลต่อการจัดเก็บรายได้ของรัฐว่าจะเพิ่มขึ้นได้เพียงใดในอนาคต
ที่ผ่านมา บริษัทจัดอันดับชั้นนำเห็นพ้องกันว่าจุดอ่อนสำคัญของไทยคือปัญหาเชิงโครงสร้างซึ่งสะท้อนจากเครื่องชี้ต่างๆ เช่น ระดับรายได้ต่อหัว และอันดับการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ที่ยังอยู่ในระดับต่ำ รวมถึงการเมืองที่ยังขาด เสถียรภาพ
รายงานล่าสุดของ Fitch Ratings ชี้ให้เห็นว่าเครื่องชี้ด้านโครงสร้างต่าง ๆ ของไทยยังอยู่ต่ำกว่าเพื่อนร่วมกลุ่ม BBB มาก (กลุ่ม BBB อาทิประเทศ บาห์เรน บราซิล และรัสเซีย) ระดับรายได้ต่อหัวของไทยอยู่ที่ 5,038 ดอลลาร์ สรอ. ต่ำกว่าค่าเฉลี่ยกลุ่ม BBB เดียวกันที่มีรายได้ต่อหัว 8,763 ดอลลาร์ สรอ. และต่ำกว่ามาเลเซียที่มีรายได้ต่อหัวสูงถึง 9,828 ดอลลาร์ สรอ. ที่น่ากังวลไปกว่านั้น ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมาอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจของไทยยังอยู่แค่ 2.6% (หากไม่รวมช่วงน้ำท่วมใหญ่อยู่ที่ 3.3%) ซึ่งไม่สูงพอที่จะไล่ทันประเทศอื่น โดยเฉพาะอย่างยิ่งมาเลเซียซึ่งนอกจากรายได้ต่อหัวจะสูงกว่าไทย มากอยู่แล้ว อัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจเฉลี่ย 5 ปีก็สูงกว่าไทยมากที่ 4.4%
ผลที่เกิดขึ้นนี้ คงไม่น่าประหลาดใจสำหรับใครหลายคน เพราะประเทศเราเผชิญกับความไม่แน่นอนทางการเมืองมาโดยตลอด ทำให้การวางแผนเพื่อลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานซึ่งมีความสำคัญต่อการเจริญเติบโตอย่างยั่งยืนขาดความ ต่อเนื่อง แม้รัฐบาลจะมีการวางแผนการลงทุนเพื่อพัฒนาประเทศมากมาย แต่ท้ายสุดกลับไม่สามารถทำได้เต็มที่ตามที่ตั้งใจไว้ จะเห็นว่าสถิติอัตราการเบิกจ่ายงบลงทุนโดยเฉลี่ยของรัฐบาลช่วงปี 2550-2554 คิดเป็นเพียง 57% และสัดส่วนการลงทุนต่อ GDP ของไทยมีแนวโน้มลดลงจาก 34.2% ระหว่างปี 2534-2543 เหลือเพียง 25.5% ระหว่างปี 2544-2553 นอกจากนี้ การขาดการพัฒนาด้านทรัพยากรมนุษย์อย่างจริงจังยังทำให้ไทยสูญเสียความสามารถในการแข่งขัน ซึ่งล่าสุด World Economic Forum จัดลำดับการพัฒนาด้านมนุษย์ของไทยอยู่ที่ลำดับ 62 ต่ำกว่าสิงคโปร์ (อันดับ 4) และมาเลเซีย (อันดับ 38)
ดังนั้น จะเห็นว่าสิ่งที่ไทยควรทำเพื่อให้ได้รับการปรับเครดิตที่ดีขึ้น คือ การปิดจุดอ่อนเชิงโครงสร้างโดยการเร่งลงทุนภาครัฐเพื่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานและการพัฒนาระบบการศึกษาให้มีคุณภาพและตอบโจทย์ความต้องการแรงงานของภาคธุรกิจ รวมถึงการเร่งพัฒนาจุดแข็งในเรื่องเสถียรภาพด้านต่างประเทศ และเสริมสร้างความแข็งแกร่งให้กับระบบการเงิน ซึ่งปัจจุบันแม้ว่า Fitch จะจัดอันดับให้ระบบธนาคารไทยมีสถานะที่แข็งแกร่งเทียบเท่าประเทศมาเลเซียและญี่ปุ่น แต่หากพิจารณาในภาพรวมกลับพบว่าระดับการพัฒนาทางการเงินของไทยอยู่เพียงอันดับที่ 50 ตามการจัดอันดับของ World Economic Forum ซึ่งต่ำกว่ามาเลเซียซึ่งอยู่ลำดับที่ 3 มาก ทั้งนี้ การพัฒนาระบบการเงินให้มีความลึก ความกว้างและความหลากหลายของผลิตภัณฑ์จะเอื้อต่อการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ รวมถึงเพิ่มความสามารถในการระดมทุนของบริษัทเอกชนในการทำธุรกิจและช่วยทำให้รายได้ของภาครัฐเพิ่มขึ้น
มองไปในอนาคต ความเสี่ยงหรือจุดอ่อนใหม่ของไทยที่มีการพูดถึงว่าอาจมีผลต่อการจัดอันดับ คือ การดำเนินนโยบายประชานิยมโดยใช้เงินนอกงบประมาณโดยเฉพาะการดำเนินการผ่านสถาบันการเงินเฉพาะกิจซึ่งไม่ได้รับการตรวจสอบที่เข้มงวดเมื่อเทียบกับธนาคารพาณิชย์ทำให้ความโปร่งใสทางการคลังอาจลดลง รวมถึงความเป็นไปได้ที่รัฐบาลอาจเข้ามามีบทบาทในการทำงานของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ซึ่งจะส่งผลต่อความน่าเชื่อถือของธปท.และความสามารถในการดำเนินนโยบายทางการเงินให้มีประสิทธิผล
นับจากนี้ไปการประสานนโยบายระหว่างทุกหน่วยงานของภาครัฐในการทำให้ไทยได้รับการปรับเพิ่มอันดับความน่าเชื่อถือจะเป็นกลยุทธ์ที่มีความสำคัญระดับชาติ เพราะการที่ไทยได้รับอันดับเครดิตที่ดีขึ้นไม่เพียงจะช่วยให้ภาครัฐและเอกชนระดมทุนได้ง่ายขึ้นด้วยต้นทุนที่ต่ำลง หากยังส่งผลดีระยะยาวต่อการเพิ่มระดับการลงทุนและการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจของไทยอย่างยั่งยืนในอนาคต
บทความนี้เป็นข้อคิดเห็นส่วนบุคคลจึงไม่จำเป็นต้องสอดคล้องกับความเห็นของธนาคารแห่งประเทศไทย ที่มา: ธนาคารแห่งประเทศไทย