FAQ Issue 42: การส่งเสริมการลงทุนในต่างประเทศ: ประสบการณ์จากมาเลเซียและไต้หวัน

ข่าวเศรษฐกิจ Monday June 27, 2011 15:54 —ธนาคารแห่งประเทศไทย

FOCUSED AND QUICK (FAQ) Issue 42

การส่งเสริมการลงทุนในต่างประเทศ:ประสบการณ์จากมาเลเซียและไต้หวัน

นรธัช อูนากูล ปุณฑริก จงประสพลาภ

Summary

การสนับสนุนให้ภาคเอกชนออกไปลงทุนยังต่างประเทศเป็นวิธีหนึ่งที่สามารถทำให้บรรลุเป้าหมายหลักทางเศรษฐกิจ คือ ให้มีการเติบโตอย่างแข็งแกร่งและยั่งยืน อีกทั้งสามารถช่วยลดแรงกดดันต่อค่าเงินได้ในภาวะที่มีเงินทุนไหลเข้าจำนวนมาก โดยประเทศมาเลเซียและไต้หวันประสบความสำเร็จในการสนับสนุนให้ภาคเอกชนไปลงทุนในต่างประเทศจากปัจจัยต่างๆ เช่น การผ่อนคลายมาตรการเงินทุนเคลื่อนย้าย มาตรการภาษี และแรงขับเคลื่อนของภาคเอกชนเองเพื่อแสวงหาโอกาสทางธุรกิจ ทำให้มีความร่วมมือกันระหว่างภาครัฐและภาคเอกชนโดยมุ่งสู่เป้าหมายทางเศรษฐกิจที่ชัดเจน ซึ่งประเทศไทยสามารถนำสิ่งที่ประเทศเหล่านี้ได้ทำมาประยุกต์ใช้ในการส่งเสริมการลงทุนในต่างประเทศไม่ว่าจะเป็นการลงทุนโดยตรงหรือการลงทุนในหลักทรัพย์

ในระยะ 5-6 ปีที่ผ่านมา ประเทศกำลังพัฒนาส่วนใหญ่เผชิญกับภาวะเงินทุนไหลเข้าที่สร้างแรงกดดันต่อค่าเงินและราคาสินทรัพย์ในประเทศค่อนข้างมาก หลายประเทศจึงดำเนินมาตรการเพื่อดูแลเสถียรภาพทางการเงิน โดยแนวทางหนึ่งที่หลายประเทศรวมทั้งประเทศไทยเลือกใช้ คือ การผ่อนคลายหรือเปิดเสรีเงินทุนเคลื่อนย้ายขาออกเพื่อลดแรงกดดันสุทธิจากเงินทุนไหลเข้า

ประเทศในภูมิภาคที่ค่อนข้างประสบความสำเร็จตามแนวทางข้างต้น โดยนักลงทุนในประเทศออกไปลงทุนนอกประเทศเพิ่มขึ้นค่อนข้างมาก ได้แก่ มาเลเซีย และไต้หวัน (รูปที่ 1) จึงเป็นที่มาของคำถามว่า เหตุใดทั้งสองประเทศจึงสามารถผลักดันให้ภาคเอกชนออกไปลงทุนยังต่างประเทศได้อย่างเป็นรูปธรรม ซึ่งประสบการณ์ดังกล่าวอาจนำมาประยุกต์ใช้กับกรณีของประเทศไทยต่อไปได้ ประสบการณ์ของมาเลเซีย

จุดเด่นของมาเลเซีย คือ การลงทุนโดยตรงในต่างประเทศ (Outward Direct Investment) เติบโตอย่างรวดเร็วในช่วง 4-5 ปีที่ผ่านมา เฉลี่ยในอัตราร้อยละ 47 ต่อปี จนกระทั่งในปี 2009 อยู่ที่ประมาณ 80 พันล้านดอลลาร์ สรอ. หรือร้อยละ 42 ของ GDP (รูปที่ 2) ซึ่งช่วยให้มาเลเซียเปลี่ยนสถานะจากประเทศลูกหนี้มาเป็นประเทศเจ้าหนี้ ส่วนใหญ่เป็นการออกไปลงทุนในธุรกิจภาคบริการเช่น ธนาคาร รองลงมาคือ ธุรกิจพลังงาน เช่น เหมืองแร่และถ่านหิน

แนวโน้มดังกล่าวเป็นผลของความร่วมมือระหว่างภาครัฐและภาคเอกชน โดยภาคเอกชนแสวงหาโอกาสทางเศรษฐกิจ ขณะที่ภาครัฐปรับ เปลี่ยนกฎระเบียบเพื่อเอื้อให้ภาคเอกชนออกไปลงทุนในต่างประเทศได้สะดวกขึ้น สรุปได้ดังนี้

1) มาเลเซียมีขนาดตลาดในประเทศเล็กและมีข้อจำกัดเรื่องปัจจัยการผลิต สะท้อนได้จากและมีข้อจำกัดเรื่องปัจจัยการผลิต สะท้อนได้จากจำนวนประชากรที่น้อยกว่าประเทศอื่นๆ ในภูมิภาค (ตารางที่ 1) นักธุรกิจชาวมาเลเซียจึงจำเป็นต้องออกไปลงทุนในแหล่งผลิตต่างประเทศเพื่อขยายตลาดและใช้ประโยชน์จากทรัพยากรการผลิตในประเทศที่ไปลงทุน ทั้งนี้ Ragayah (1999) ได้สัมภาษณ์ธุรกิจขนาดใหญ่ของมาเลเซียจำนวน 7 แห่ง พบว่าการแสวงหาตลาดใหม่เพื่อรองรับการเติบโตของธุรกิจเป็นเหตุผลหลักที่ทำให้บริษัทออกไปลงทุนยังต่างประเทศ โดยเฉพาะในจีน อินเดีย และกลุ่มประเทศตะวันออกกลาง

ตารางที่ 1 จำนวนประชากรในแต่ละประเทศ

Country           Population (คน)
China              1,336,718,015
India              1,189,172,906
Indonesia            245,613,043
Philippines          101,833,938
Vietnam               90,549,390
Thailand              66,720,153
Burma                 53,999,804
Malaysia              28,728,607
Taiwan                23,071,779
Cambodia              14,701,717
Laos                   6,477,211
Singapore              4,740,737
Source: CIA The World Factbook

(2) เงินริงกิตที่โน้มแข็งค่าขึ้นอย่างต่อเนื่อง เป็นอีกปัจจัยที่สนับสนุนให้ภาคเอกชนของมาเลเซียเพิ่มการลงทุนโดยตรงในต่างประเทศ โดยงานศึกษาหลายชิ้น เช่น Kyrkilis and Pantelidis (2003) และ Kueh, Puah and Mansor (2009) บ่งชี้ว่าประเทศที่มีค่าเงินแข็งค่ามีแนวโน้มที่ความต้องการไปลงทุนยังต่างประเทศของบริษัทเอกชนจะเพิ่มขึ้น เนื่องจากมีต้นทุนของเงินทุนที่ถูกลง

2)ทางการมีเป้าหมายชัดเจนว่าต้องการให้ประเทศหลุดพ้นจาก Middle income trap และก้าวสู่การเป็นประเทศที่พัฒนาแล้วภายในปี 2020 ซึ่งการออกไปลงทุนโดยตรงยังต่างประเทศจะมีส่วนช่วยให้มาเลเซียบรรลุเป้าหมายดังกล่าว ดังนั้น ทางการจึงดำเนินการหลายด้านอย่างเป็นระบบสอดคล้องกัน ได้แก่

  • สนับสนุนให้บริษัทเอกชนและบริษัทที่เกี่ยวข้องกับรัฐ (government-linked companies: GLCs) ไปลงทุนยังต่างประเทศตั้งแต่ปี 2001 ภายใต้รัฐบาลของ ดร. มหาธีร์ โมฮัมหมัด เพื่อก้าวเข้าสู่โครงข่ายการผลิตระดับสากลและสร้างบรรษัทข้ามชาติในระยะยาว อนึ่ง เพื่อให้การส่งเสริมเป็นไปอย่างต่อเนื่องและไม่ขึ้นอยู่กับรัฐบาลใด ทางการได้กำหนดกลยุทธ์นี้ในแผนพัฒนาเศรษฐกิจฉบับที่ 9 และ The Third Industrial Master Plan (IMP3)
  • ผ่อนคลายระเบียบข้อบังคับด้านการเคลื่อนย้ายเงินทุนขาออก โดยเฉพาะในปี 2005 ปัจจุบันหากนักลงทุนไม่มีภาระหนี้สกุลเงินริงกิตสามารถไปลงทุนทั้งโดยตรงและในหลักทรัพย์ในต่างประเทศได้ไม่จำกัดจำนวน แต่หากมีหนี้สกุลเงินริงกิตจะยังถูกจำกัดวงเงินอยู่*(1) การผ่อนคลายมาตรการดังกล่าวส่งผลให้นักลงทุนที่มีเงินทุนส่วนตัวหรือมีความสามารถในการก่อหนี้ต่างประเทศออกไปลงทุนนอกประเทศเพิ่มขึ้น
  • กำหนดแผนพัฒนาสถาบันการเงิน (The Financial Sector Master Plan) ให้สนับสนุนการลงทุนโดยตรงในต่างประเทศ โดยเน้นสนับสนุนให้สถาบันการเงินขยายสาขาไปแข่งขันและให้ บริการในต่างประเทศมากขึ้น เพื่ออำนวยความสะดวกด้านเงินทุนและสินเชื่อให้กับภาคธุรกิจของมาเลเซียที่ไปประกอบการในต่างประเทศ ดังจะเห็นได้จากธนาคารซีไอเอ็มบีที่มาซื้อกิจการไทยธนาคาร และเมย์แบงก์ที่ซื้อกิมเอ็งในสิงคโปร์
  • สร้างแรงจูงใจด้านภาษี ได้แก่ ยกเว้นภาษีรายได้จากการลงทุนเมื่อมีการส่งเงินกลับมายังประเทศ และอนุญาตให้นำค่าใช้จ่ายก่อนการดำเนินธุรกิจ เช่น ค่าใช้จ่ายในการศึกษาประเทศที่จะไปลงทุน มาเป็นค่าลดหย่อนทางภาษีได้
  • จัดตั้งกองทุนพัฒนาธุรกิจร่วมกันระหว่างมาเลเซียและสิงคโปร์ (Malaysia-Singapore Third Country Business Development Fund) มูลค่า 4.6 เพื่อทำการศึกษาความเป็นไปได้ของโครงการลงทุนในประเทศที่สามสำหรับนักธุรกิจทั้งมาเลเซียและสิงคโปร์
ประสบการณ์ของไต้หวัน

ไต้หวันเป็นประเทศที่มีสินทรัพย์ต่างประเทศสูงกว่าหนี้สินต่างประเทศมาเป็นเวลานาน ซึ่งมาจากทั้งเงินลงทุนโดยตรง เงินลงทุนในหลักทรัพย์ และเงินลงทุนอื่นๆ โดยมูลค่าเงินลงทุนรวมเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องชัดเจนตั้งแต่ปี 2006 และ ณ ปี 2009 อยู่ที่ 643 พันล้านดอลลาร์ สรอ. หรือร้อยละ 170 ของ GDP

เงินลงทุนโดยตรงในต่างประเทศ เริ่มไหลออกค่อนข้างมากตั้งแต่ปี 1987 เป็นต้นมา จากการยกเลิกระเบียบควบคุมเกี่ยวกับเงินตราต่างประเทศและการอนุญาตให้บริษัทไต้หวันออกไปลงทุนยังต่างประเทศได้อย่างเสรีในปีดังกล่าวเนื่องจากทางการมองว่าเศรษฐกิจต้องมีการเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้างเพราะมีแรงงานจำกัด ค่าจ้างกำลังปรับสูงขึ้น วัตถุดิบเริ่มขาดแคลนในภาวะที่เศรษฐกิจเติบโตอย่างรวดเร็ว และเงินดอลลาร์ไต้หวันแข็งค่า ซึ่งเป็นสภาพแวดล้อมที่คล้ายคลึงกับของมาเลเซีย เพียงแต่ต่างช่วงเวลากัน

กลยุทธ์ของไต้หวัน คือ มุ่งไปสู่อุตสาหกรรมที่ใช้เทคโนโลยีขั้นสูง และย้ายฐานการผลิตส่วนที่ใช้แรงงานเป็นหลักไปยังประเทศที่มีต้นทุนการผลิตต่ำกว่าและมีวัตถุดิบมากกว่า โดยเฉพาะจีนที่มีวัตถุดิบมาก แรงงานถูก ตลาดขนาดใหญ่ ประกอบกับมีความใกล้ชิดกันด้านเชื้อชาติ วัฒนธรรม และภาษา ทั้งนี้ การลงทุนโดยตรงจากไต้หวันเฟื่องฟูมากในแถบจังหวัดฝูเจี้ยนและจังหวัดอื่นๆ ที่เป็นถิ่นเดิมของนักลงทุนชาวไต้หวัน สำหรับอุตสาหกรรมที่ย้ายฐานการผลิตไปจีน ได้แก่ สิ่งทอ รองเท้า สินค้าอุปโภคบริโภค เป็นต้น ปัจจุบันการลงทุนในจีนคิดเป็นสัดส่วนประมาณร้อยละ 64 ของเงินลงทุนโดยตรงในต่างประเทศของไต้หวัน รองมาคือประเทศอื่นในเอเชีย โดยมีสัดส่วนประมาณร้อยละ 25

ส่วนเงินลงทุนในหลักทรัพย์ต่างประเทศเพิ่มขึ้นค่อนข้างมาก หลังจากที่ไต้หวันได้ปรับปรุงกฎระเบียบเกี่ยวกับการควบคุมการเสนอขายหลักทรัพย์ต่างประเทศใหม่ในปี 2005 โดยอนุญาตให้กองทุนรวมจากต่างประเทศเข้ามาเสนอขายหน่วยลงทุนให้กับนักลงทุนชาวไต้หวันได้สะดวกขึ้น พร้อมกับยกเว้นภาษีสำหรับการลงทุนผ่านกองทุนรวม ซึ่งจูงใจให้มีการลงทุนในหลักทรัพย์ต่างประเทศมากขึ้นโดยเฉพาะในภาวะที่อัตราดอกเบี้ยในประเทศอยู่ในระดับต่ำเมื่อเทียบกับประเทศอื่นๆ ช่วงปี 2001 ถึง ปี 2008 นโยบายสนับสนุนการลงทุนในต่างประเทศและนัยต่อประเทศไทย

ประสบการณ์ของทั้งมาเลเซียและไต้หวันชี้ให้เห็นว่า การผลักดันการลงทุนในต่างประเทศเพื่อปรับโครงสร้างเศรษฐกิจต้องอาศัยทั้งความต้องการจากภาคเอกชนและแรงเกื้อหนุนเชิงนโยบายจากทางการประกอบกัน ซึ่งปัจจุบันฐานะการลงทุนในต่างประเทศของไทยยังติดลบ แม้จะปรับดีขึ้นกว่าในอดีต โดยสินทรัพย์ต่างประเทศส่วนใหญ่อยู่ในรูปของเงินสำรองทางการของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.)

ในกรณีของไทย ความจำเป็นทางเศรษฐกิจที่ผลักดันให้คนไทยต้องการออกไปลงทุนนอกประเทศน่าจะมีมากขึ้นเป็นลำดับ ทั้งจากการขาดแคลนแรงงานที่ทวีความรุนแรงขึ้น ค่าจ้างและต้นทุนวัตถุดิบที่สูงกว่าหลายประเทศ และขนาดตลาดภายในประเทศที่มีจำกัด รวมถึงประโยชน์ที่จะได้จากการกระจายความเสี่ยงจากปัจจุบันที่สินทรัพย์ของภาคเอกชนไทยกระจุกตัวอยู่ในประเทศเกือบทั้งหมด

แม้ทางการพยายามจะให้ผลักดันให้ภาคเอกชนออกไปลงทุนในต่างประเทศมากขึ้น แต่ก็ยังอยู่ในลักษณะของการผลักดันแบบค่อยเป็นค่อยไป โดยปัจจุบันอนุญาตให้นิติบุคคลไทยไปลงทุนโดยตรงในต่างประเทศได้ไม่จำกัดจำนวน อย่างไรก็ตาม ยังขาดนโยบายอื่นๆ มาสนับสนุนไปพร้อมๆ กัน เช่น ภาษีที่ยังมีความซับซ้อนและมีความยุ่งยากในการขอคืน การขาดระบบฐานข้อมูลเกี่ยวกับประเทศที่จะไปลงทุนทั้งด้านตลาดและกฎระเบียบต่างๆ รวมถึงแหล่งเงินทุน ซึ่งจะเอื้อต่อการตัดสินใจไปลงทุนต่างประเทศโดยเฉพาะสำหรับผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อม

นอกจากนี้ บางประเทศที่นักธุรกิจสนใจไปลงทุนยังไม่มีระบบธนาคารพาณิชย์ที่มั่นคงและเชื่อถือได้ รวมทั้งการลงทุนในบางประเทศ เช่น จีน ต้องมีความสัมพันธ์ที่ดีกับเจ้าหน้าที่ของรัฐด้วย ดังนั้น ภาครัฐควรมีการวางแผนระยะยาวและต่อเนื่อง มีเอกภาพในการดำเนินยุทธศาสตร์ ไม่ต่างคนต่างทำ และมีมาตรการส่งเสริมอย่างเป็นรูปธรรม เช่น มาตรการทางด้านภาษีที่จูงใจ ได้แก่ การยกเว้นภาษีสำหรับรายได้ที่นำกลับเข้าประเทศในช่วงแรก หรือการนำค่าใช้จ่ายก่อนการดำเนินธุรกิจมาเป็นค่าลดหย่อนทางภาษีได้ ดังเช่นกรณีของมาเลเซีย ทั้งนี้ อีกวิธีหนึ่งในการส่งเสริมการลงทุนในต่างประเทศ คือ การร่วมมือกันระหว่างภาครัฐและภาคเอกชนในการออกไปสำรวจตลาดต่าง ประเทศ ซึ่งในคณะอาจประกอบด้วยภาคเอกชนที่เป็นทั้งนักลงทุนและภาคธนาคาร ส่วนด้านแหล่งเงินทุน ภาครัฐอาจเข้ามาช่วยเหลือผ่านสถาบันการเงินเฉพาะกิจ เป็นต้น สำหรับการลงทุนในหลักทรัพย์ต่างประเทศ ทางการไทยอนุญาตให้นักลงทุนสถาบัน*(2) ออกไปลงทุนได้ แม้ว่าจะยังมีวงเงินจำกัดอยู่แต่วงเงินก็ถูกขยายเป็นลำดับ อย่างไรก็ตาม ที่ผ่านมาการออกไปลงทุนในหลักทรัพย์ต่างประเทศของนักลงทุนไทยยังมีไม่มาก และร้อยละ 80 ของเงินลงทุนในหลักทรัพย์ต่างประเทศทั้งหมดเป็นการลงทุนในตราสารหนี้ โดยเฉพาะพันธบัตรรัฐบาลเกาหลีใต้ ทำให้มีความเสี่ยงเรื่อง Concentration risk ค่อนข้างสูง และสะท้อนให้เห็นว่า ความรู้ด้านการเงิน (Financial literacy) ของภาคเอกชนไทยยังค่อนข้างจำกัด อนึ่ง กฎเกณฑ์ปัจจุบันที่ห้ามนักลงทุนที่เป็นบุคคลธรรมดาออกไปลงทุนในหลักทรัพย์ได้ด้วยตนเองอาจถือเป็นอุปสรรคสำหรับนักลงทุนที่มีความพร้อมและมีศักยภาพ โดยเฉพาะนักลงทุนที่มีความต้องการลงทุนเพื่อหวังผลตอบแทนระยะยาวจากการซื้อหุ้นของบริษัทต่างประเทศที่มีศักยภาพแต่ถูก underprice ในเวลานี้

อีกปัจจัยที่ส่งผลกระทบสำคัญต่อระดับการลงทุนในหลักทรัพย์ต่างประเทศ คือ ต้นทุน ประสิทธิภาพ และคุณภาพของการให้บริการของธุรกิจหลักทรัพย์ ส่วนหนึ่งจากการจำกัดจำนวนใบอนุญาตของธุรกิจหลักทรัพย์ ซึ่งทำให้การแข่งขันของธุรกิจนี้มีไม่มากเมื่อเทียบกับประเทศอื่น เช่น ไต้หวัน มาเลเซีย เกาหลีใต้ และสิงค์โปร์ ที่เปิดเสรีใบอนุญาตธุรกิจหลักทรัพย์แล้ว และจากการยังไม่เปิดเสรีค่าธรรมเนียมการซื้อขายหลักทรัพย์ อย่างไรก็ตาม ตามแผนพัฒนาตลาดทุนไทยได้กำหนดให้มีการเปิดเสรีใบอนุญาตหลักทรัพย์โดยไม่จำกัดจำนวนและเปิดเสรีค่าธรรมเนียมตั้งแต่ปีหน้าเป็นต้นไป ซึ่งจะช่วยเพิ่มการแข่งขันในธุรกิจและอาจช่วยลดต้นทุนและเพิ่มประสิทธิภาพของการลงทุนในหลักทรัพย์ต่อไปได้

ขณะเดียวกันอาจเป็นช่วงเวลาที่เหมาะสมที่ ทางการจะพิจารณายกเลิกหรือขยายวงเงินสำหรับบุคคลธรรมดาและนิติบุคคลที่ยังต้องลงทุนผ่าน Broker รวมทั้งปรับกฎเกณฑ์ให้มีความยืดหยุ่นขึ้น*(3) และอาจพิจารณาเริ่มผ่อนคลายให้นักลงทุน กลุ่มดังกล่าวสามารถออกไปลงทุนในหลักทรัพย์ต่างประเทศได้โดยตรง โดยในขั้นแรกอาจมีการกำหนดวงเงินให้ตามความเหมาะสม และอีกแนวทางหนึ่งที่อาจนำมาใช้กับประเทศไทยได้ คือ แนวทางของประเทศไต้หวันที่อนุญาตให้กองทุนรวมต่างชาติสามารถขายหน่วยลงทุนให้กับนักลงทุนรายย่อยในประเทศได้ โดยอาจให้ทำผ่าน Broker ในประเทศซึ่งยังอยู่ภายใต้การกำกับดูแลของ กลต. อันจะเป็นการเปิดเสรีเงินทุนมากขึ้นแต่ทำด้วยความระมัดระวัง

จากที่ได้กล่าวข้างต้น ประเทศไทยมีความจำเป็นทั้งทางเศรษฐกิจและปัญหาที่กำลังเผชิญจากภาวะเงินทุนไหลเข้า ทำให้ภาครัฐต้องเร่งสนับสนุนให้ภาคเอกชนไปลงทุนในต่างประเทศมากขึ้น โดยความสำเร็จขึ้นอยู่กับความร่วมมือกันระหว่างภาครัฐและภาคเอกชน ซึ่งหากทำได้สำเร็จนอกจากจะช่วยลดแรงกดดันต่อค่าเงินบาทในยามที่มีเงินทุนต่างชาติไหลเข้าจำนวนมากแล้ว ยังจะช่วยเพิ่มความแข็งแกร่งให้กับเศรษฐกิจของประเทศในระยะยาวอีกด้วย

*(1) บุคคลธรรมดาและบริษัทนิติบุคคลสามารถลงทุนได้ไม่เกิน 1 ล้านและ 50 ล้านริงกิต ตามลำดับ หากต้องการลงทุนเกินกว่ากำหนดต้องขออนุญาต จากทางการ

*(2) 2 ได้แก่ (1) กองทุนรวม (ไม่รวมกองทุนส่วนบุคคล) (2) กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ (3) บริษัทหลักทรัพย์ (4) กองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ (5) กองทุนประกันสังคม (6) บริษัทประกันชีวิตและประกันวินาศภัย (7) สถาบันการเงินที่มีกฎหมายเฉพาะจัดตั้ง และ (8) นิติบุคคลที่มีสินทรัพย์ตั้งแต่ 5 พันล้านบาทขึ้นไป ทั้งนี้ (1) — (3) อยู่ภายใต้การกำกับดูแลของ กลต. ซึ่งมีวงเงินเพื่อจัดสรรให้กับนักลงทุนจำนวน 50 พันล้านดอลลาร์ สรอ. สำหรับนักลงทุนสถาบันอื่นที่ไม่ได้อยู่ภายใต้การกำกับดูแลของ กลต. ลงทุนได้ไม่เกิน 50 ล้านดอลลาร์ สรอ. ต่อราย เว้นแต่จะมาขออนุญาตจากธปท.

*(3) ปัจจุบันบุคคลธรรมดาและนิติบุคคลที่มีสินทรัพย์ตั้งแต่ 1 พันล้านบาทขึ้นไป ลงทุนได้ไม่เกิน 5 ล้าน และ 50 ล้านดอลลาร์ สรอ. ต่อราย ตามลำดับ และมีการกำหนดวงเงินต่อครั้ง References

คณะกรรมการพัฒนาตลาดทุนไทย (2009) "แผนพัฒนาตลาดทุนไทย"

Ariff and Lopez (2007) "Outward Foreign Direct Investment: The Malaysian Experience"

Bank Negara Malaysia (2001) "The Financial Sector Masterplan"

Central Bank of the Republic of China (Taiwan) Annual Report (1999-2009)

Deacons Legal Services (2005) "Taiwan: A New Era for Overseas Funds Offering"

Hu and Jun (2004) "Locational and Industrial Choices of Taiwanese Outward FDI"

International Monetary Fund Annual Report on Exchange Arrangements and Exchange Restrictions (1999-2009)

Kueh, Puah, and Mansor (2009) "Empirical Analysis on Emerging Issues of Malaysia Outward FDI from Macroeconomic Perspective"

Kyrkilis and Pantelidis (2003) "Macroeconomic Determinants of Outward Foreign Direct Investment"

Ministry of International Trade and Industry (2006) "Third Industrial Master Plan (IMP3) 2006 - 2020"

Parliament of Malaysia (2006) "Ninth Malaysian Plan 2006-2010"

Ragayah (1999) "Malaysian Reverse Investments: Trends and Strategies"

Contact authors:

นรธัช อูนากูล

มนโยบายเงินทุนและดุลการชำระเงิน

ปุณฑริก จงประสพลาภ

นักศึกษาฝึกงาน

ฝ่ายเศรษฐกิจในประเทศ

สายนโยบายการเงิน

ที่มา: ธนาคารแห่งประเทศไทย


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ