คำกล่าวเปิดงานและปาฐกถาพิเศษ
เรื่อง “รู้ทิศ ปรับกระบวนทัศน์ พร้อมรับพลวัตเอเชียใหม่”
เนื่องในโอกาสครบรอบ 44 ปี ธนาคารแห่งประเทศไทย สำนักงานภาคตะวันออกเฉียงเหนือ
วันศุกร์ที่ 7 กันยายน 2555
ท่านรองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ท่านผู้แทน ธนาคารโลก ท่านผู้แทน ธนาคารเพื่อการพัฒนาเอเซีย ผู้บริหารและเพื่อนพนักงานธนาคารแห่งประเทศไทย สำนักงานภาคตะออกเฉียงเหนือ และผู้มีเกียรติทุกท่านครับ 1. ผมมีความยินดี และรู้สึกเป็นเกียรติอย่างยิ่งที่ได้กลับมาพบกับทุกท่านอีกครั้ง ในโอกาสที่สำนักงานภาคตะวันออกเฉียงเหนือของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ได้ก่อตั้งขึ้นมายาวนานถึง 44 ปี ตลอดช่วงระยะเวลาสี่ทศวรรษกว่า สำนักงานภาคแห่งนี้ได้ทำหน้าที่เชื่อมสัมพันธไมตรีระหว่าง ธปท. และภูมิภาครับฟังความเห็นของภาคธุรกิจและประชาชนในเรื่องเศรษฐกิจและการเงินในภูมิภาค ซึ่งทำให้ ธปท. ได้รับรู้ข้อมูลในเชิงลึกและเชิงกว้าง รวมทั้งสามารถวางแผนเชิงนโยบายให้สอดรับกับพลวัตของเศรษฐกิจที่เปลี่ยนแปลงไปได้อย่างทันท่วงที ไม่เพียงเท่านั้น สำนักงานภาคตะวันออกเฉียงเหนือแห่งนี้ ยังได้ทำหน้าที่เชื่อมความสัมพันธ์ระหว่างประเทศไทยกับประเทศเพื่อนบ้าน เพื่อดำเนินงานผลักดันนโยบายต่างๆ ที่สนับสนุนระบบเศรษฐกิจของภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และเผยแพร่ความรู้เกี่ยวกับเศรษฐกิจและการเงินแก่ทุกภาคส่วนด้วยดีมาโดยตลอด 2. ถือเป็นธรรมเนียมที่ผมและสำนักงานภาคอีสานจะจัดงานสัมมนาวิชาการลักษณะนี้อย่างน้อยปีละครั้งเพื่อให้การสานต่อนโยบายในส่วนกลางและส่วนภูมิภาคเป็นไปในทิศทางเดียวกัน และถือโอกาสแลกเปลี่ยนประสบการณ์และทรรศนะใหม่ๆ ที่เราต่างได้พบเจอในห้วงปีที่ผ่านมา เมื่อปีที่แล้ว ผมได้พูดถึงการรวมกลุ่มของ AEC และผลกระทบต่อระบบเศรษฐกิจของภูมิภาค ต่อมาเมื่อปลายปี 2554 ได้เกิดน้ำท่วมครั้งใหญ่ในประวัติศาสตร์ ซึ่งสร้างความเสียหายต่อระบบเศรษฐกิจไทยเป็นอย่างมาก การเกิดAEC กับเหตุการณ์น้ำท่วมครั้งนั้น ทำให้เราตระหนักถึงทิศทางการพัฒนาระบบเศรษฐกิจในระยะต่อไปซึ่งจะต้องให้ความสำคัญกับปัจจัยสำคัญสองประเด็น นั่นก็คือ ปัจจัยแรก การเชื่อมโยงของการผลิต ที่นอกจากจะแบ่งการผลิตออกเป็นกลุ่ม (cluster) แล้ว ยังต้องสามารถผลิตทดแทนกันได้ในยามที่จำเป็นส่วนปัจจัยที่สอง เป็นเรื่องของการลงทุนในระบบโครงสร้างพื้นฐาน ที่เชื่อมต่อการขนย้ายปัจจัยการผลิตหรือสินค้าจากจุดหนึ่งไปยังอีกจุดหนึ่ง และหมายรวมถึงระบบโทรคมนาคม การจ่ายพลังงานกระแสไฟฟ้า และการบริหารจัดการโลจิสติกส์ให้กระบวนการเหล่านี้เดินได้อย่างต่อเนื่อง 3. การสัมมนาในวันนี้ ทางธนาคารแห่งประเทศไทยได้รับเกียรติจากผู้ทรงคุณวุฒิ 3 ท่าน ซึ่งล้วนมีความเข้าใจในกลไกเศรษฐกิจ ความเชื่อมโยงกันระหว่างประเทศต่างๆ ในภูมิภาค ทิศทางการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานที่จะเกิดขึ้นในอนาคต และคร่ำหวอดในแวดวงอุตสาหกรรมการผลิตเป็นอย่างดี 4. ท่านผู้มีเกียรติครับ 5. หากมองย้อนอดีต ประเทศไทยประสบกับช่วงเวลาเปลี่ยนผ่านของสถานการณ์ทางเศรษฐกิจและรูปแบบของโครงสร้างเศรษฐกิจการเงินที่เปลี่ยนแปลงไป รวมทั้งประสบกับช่วงวิกฤติเศรษฐกิจหลายระลอก เริ่มจากระบบเศรษฐกิจที่มีการพึ่งพาการค้ากับต่างประเทศต่ำ มาถึงยุคที่เราเริ่มเปิดประเทศเพื่อทำการค้าการลงทุนกับชาวต่างชาติ จนทำให้เศรษฐกิจไทยมีความรุดหน้าอย่างรวดเร็ว กระทั่งปัจจุบันซึ่งเศรษฐกิจโลกกำลังพึ่งพาประเทศกำลังพัฒนาเป็นตัวขับเคลื่อนเศรษฐกิจ สิ่งเหล่านี้ล้วนเป็นวัฏจักรซึ่งเกิดขึ้นอยู่เสมอ แต่ละยุคสมัยล้วนมีลักษณะต่างกัน เมื่อผมมีโอกาสพบปะกับนักธุรกิจและประชาชนทั่วไป คำถามหนึ่งที่ผมมักจะประสบเสมอคือ ทิศทางเศรษฐกิจต่อไปจะเป็นอย่างไรธุรกิจหรือประชาชนควรจะปรับตัวอย่างไรบ้าง เพื่อรองรับความเปลยี่ นแปลงเหล่านั้น และทางการมีนโยบายรับมือหรือการนโยบายเสริมความแข็งแกร่งภาคเอกชนอย่างไร 6. ในวันนี้ เนื้อหาที่ผมอยากจะหยิบยกขึ้นมาเล่าให้ท่านผู้เกียรติได้เก็บเป็นชนวนไปคิดต่อยอดประกอบด้วยสามส่วน ได้แก่ ส่วนที่หนึ่ง การรู้ทิศ ซึ่งเป็นประสบการณ์และข้อสังเกตส่วนตัวของผมต่อภาวะแวดล้อมเชิงโครงสร้างของเศรษฐกิจที่กำลังเปลี่ยนแปลงไป ส่วนที่สอง การปรับให้ทัน กล่าวคือเมื่อเข้าใจทิศทางแล้ว ท่านย่อมสามารถปรับกระบวนทัศน์ให้รองรับสิ่งที่กำลังจะเปลี่ยนแปลงไปได้ และส่วนที่สาม การเสริมรับด้วยภาคการเงิน จะเป็นส่วนที่สร้างความเข้าใจให้กับทุกท่านว่า ธนาคารแห่งประเทศไทยมีแนวนโยบายอย่างไร โดยเฉพาะเฉพาะอย่างยิ่งการบริการทางการเงินและการเตรียมความพร้อมด้านโครงสร้างเศรษฐกิจ 7. อันดับแรกเรื่อง การรู้ทิศ ผมอยากจะเริ่มด้วยคำถามที่อาจอยู่ในใจหลายๆ ท่านคือ เมื่อเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC) ในปี 2558 แล้ว ภูมิภาคนี้จะเป็นอย่างไร ผมต้องเรียนว่า จริงๆ แล้วกระบวนการเปิดเสรีเพื่อรองรับ AEC นั้น เป็นกระบวนการที่เริ่มทำอย่างต่อเนื่องมาเป็นระยะเวลานานแล้ว ยกตัวอย่างเช่น การเปิดเสรีด้านสินค้าในกลุ่ม ASEAN 5 อันประกอบไปด้วย ไทย สิงคโปร์มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ และอินโดนีเซีย ซึ่งสินค้าส่วนใหญ่ได้ปรับลดภาษีศุลกากรเหลือร้อยละศูนย์ตั้งแต่ปี2553 แล้ว ดังนั้นสิ่งที่จะเกิดขึ้นในปี 2558 จึงเป็นเพียงอีกก้าวหนึ่งที่จะนำไปสู่การเป็นตลาดและฐานการผลิตร่วมของอาเซียนอย่างเป็นทางการเท่านั้น กระแสความเปลี่ยนแปลงจะมีเข้ามาอีกหลายระลอก และอาจจะเป็นผลจากกรอบความร่วมมือเศรษฐกิจอื่นๆ ที่มิได้จำกัดแค่เพียง AEC เท่านั้น ขณะนี้เรามีกรอบความร่วมมือทั้งด้านสินค้า บริการ และการลงทุน กับประเทศคู่เจรจาทั้งในภูมิภาคเอเชีย และภูมิภาคอื่นๆ ผมเห็นว่าเราจำเป็นต้อง “มองไกล” ด้วยความเข้าใจในแก่นของการรวมกลุ่ม(AEC and beyond) สิ่งที่จะเกิดขึ้นไม่ว่าช้าหรือเร็ว นั่นคือ ระบบเศรษฐกิจไทยจะเปิดกว้างการเคลื่อนย้ายปัจจัยการผลิตจะไม่ถูกจำกัดด้วยขอบเขตของประเทศอีกต่อไป และความเชื่อมโยงจะมีมากขึ้น โยงใยกันเช่นเดียวกับใยแมงมุม ความเปลี่ยนแปลงนี้จะค่อยๆ หลอมให้ประเทศไทยกลายเป็นส่วนหนึ่งของประชาคมภูมิภาคและประชาคมโลกในท้ายที่สุด การแลกเปลี่ยนเชิงธุรกิจจะนำไปสู่การแลกเปลี่ยนเชิงวัฒนธรรม ภาษา สังคม วิถีชีวิต และท้ายที่สุด แม้กระทั่งการดำเนินชีวิตประจำวันของเราก็จะเปลี่ยนไปด้วย 8. ความเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้นทำให้เราต้องหันมามองตัวเองว่า เมื่อสิบประเทศรวมตัวเป็นหนึ่งประชาคมแล้ว ประเทศไทยจะยืนอยู่ตรงไหน 9. อาเซียนถือเป็นหนึ่งในกลุ่มประเทศที่มีการเติบโตทางเศรษฐกิจที่สูงที่สุดในโลก ในปี 2553 กลุ่มประเทศอาเซียนมีผลิตภัณฑ์มวลรวม (GDP) อยู่ที่ประมาณร้อยละ 3 ของโลก และมีปริมาณการค้าคิดเป็นสัดส่วนเท่ากับร้อยละ 6.8 ของโลก*(1) ในกลุ่มอาเซียนด้วยกัน ประเทศไทยเป็นประเทศที่มีขนาดเศรษฐกิจใหญ่เป็นอันดับสองรองจากอินโดนีเซีย หากวัดด้วยจำนวนประชากร ประเทศไทยมีประชากรใกล้เคียงกับพม่าคือ 70 ล้านคน มากกว่ากัมพูชา 5 เท่า และมากกว่าลาว 10 เท่า อย่างไรก็ตามระดับการพัฒนาและตัวเลขเศรษฐกิจในปัจจุบัน มิได้มีนัยต่ออนาคต เพราะหากเราหยุดอยู่กับที่และหลงไหลได้ปลื้มกับความสำเร็จในอดีต แน่นอนว่าประเทศเพื่อนบ้านของเราที่มีการพัฒนาอย่างไม่หยุดยั้งก็จะแซงเราไปได้อย่างรวดเร็ว 10. ผลงานของประเทศไทยในอดีตที่ผ่านมา มีทั้งที่น่าชื่นชมและบางจุดที่พึงปรับปรุง กระแสของ AECเป็นแรงผลักดันให้ไทยปรับทิศทางการค้าการลงทุนมาสู่อาเซียนและเอเชียเร็วขึ้น จากเดิมที่พึ่งพา 3ตลาดหลักในประเทศพัฒนาแล้ว ซึ่งปัจจัยนี้เองที่ทำให้ประเทศไทยสามารถรับมือกับวิกฤติการเงินโลกและวิกฤติเศรษฐกิจยุโรปที่ดำเนินอยู่ในปัจจุบันได้อย่างมีประสิทธิภาพ และยังมีแนวโน้มที่จะพัฒนาเศรษฐกิจต่อไปได้ด้วยย่างก้าวที่มั่นคง อย่างไรก็ตาม หากพิจารณาถึงความสามารถในการแข่งขัน(competitiveness) ของไทยกลับอยู่กับที่หรือลดลงอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะอย่างยิ่งการพัฒนาของระบบสถาบันแห่งชาติ (national institutions) ยังต้องการการปฏิรูปโครงสร้างพื้นฐาน รวมถึงนวัตกรรมและเทคโนโลยี ซึ่งในอดีตประเทศไทยมีความได้เปรียบทางการแข่งขันจาก 2 ปัจจัย ได้แก่ความสามารถในการแข่งขันด้านราคา และสิ่งแวดล้อมที่เปิดรับการลงทุนจากต่างชาติ (FDI) แต่ศักยภาพในการแข่งขันเหล่านี้ล้วนจะหมดไป พร้อมกับประเทศเพื่อนบ้านที่เร่งเปิดประเทศและมีต้นทุนการผลิตที่ถูกกว่า 11. ท่านผู้มีเกียรติครับ 12. การก้าวสู่ประชาคม AEC และความสามารถในการแข่งขันมักจะได้รับการกล่าวถึงคู่กันเสมอ หลายท่านมักเข้าใจว่า “การแข่งขัน” เป็นการแก่งแย่งชิงดีชิงเด่น โดยไม่สนใจว่าคู่แข่งของเราจะเป็นอย่างไร หากคิดเช่นนั้นคงผิดไปจากหัวใจของการร่วมกลุ่มเศรษฐกิจอย่างยิ่ง เพราะเจตนารมย์ของการรวมกลุ่มคือ สร้างพลวัตและเพิ่มศักยภาพ เหมือนมัดฟางก้อนใหญ่ที่ถูกร้อยเข้าด้วยกัน ย่อมเพิ่มความแข็งแกร่งและทนทานต่อการรับน้ำหนักได้มากกว่าฟางเส้นเดียว 13. ตรงนี้ทำให้เกิดคำถามที่ว่า ประเทศไทยจะสามารถรักษาสมดุลระหว่างการแข่งขัน และการเป็นพลเมืองที่ดีของภูมิภาค เพื่อยืนหยัดในประชาคมอาเซียนอย่างยั่งยืนในอนาคตได้อย่างไร 14. ผลสำรวจที่ดำเนินการโดยสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย พบว่าวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมของไทย (SMEs) ที่มีความเข้าใจถึงสิ่งที่จะเกิดขึ้นและมีความพร้อมรับมือกับ AEC มีเพียงร้อยละ 20*(2)เท่านั้น ในขณะที่ SMEs เหล่านี้จะต้องเจอกับการแข่งขันที่สูงมากในอนาคต เพราะจำนวน SMEs ในอาเซียนมีถึงร้อยละ 96 ของวิสาหกิจทั้งหมด ดังนั้นภาคธุรกิจไม่ว่าใหญ่หรือเล็ก จึงควรวางแผนตั้งรับและรู้จักรุกตั้งแต่วันนี้ กล่าวคือ ตั้งรับโดยเข้าใจถึงบริบทภาวะแวดล้อมที่เปลี่ยนไป วางแผนสร้างกลยุทธ์ของตน และรู้จักรุกโดยการมองหาจังหวะที่เหมาะสมในการยกระดับของธุรกิจให้เข้าถึงตลาดอาเซียน ทั้งนี้ เราต้องไม่ลืมว่า การวางแผนรับและรู้จักรุกเป็นการมองอนาคตในระยะยาวและต้องเริ่มทำตั้งแต่วันนี้ เพราะในภาวะที่โลกไม่หยุดนิ่งเช่นปัจจุบัน การยืนอยู่กับที่ก็เสมือนการก้าวถอยหลังแล้ว 15. ความได้เปรียบอย่างหนึ่งของไทยที่ประเทศอื่นไม่สามารถลอกเลียนแบบได้คือ ทำเลที่ตั้งทางภูมิศาสตร์ของเราซึ่งอยู่ใจกลางของกลุ่มประเทศอาเซียน กล่าวคือ ประเทศไทยจะเป็นศูนย์กลางในการเชื่อมโยงของภูมิภาค และเป็นจุดเชื่อมโยงระหว่างกลุ่มประเทศอาเซียน-5 และกลุ่มประเทศ CLMV*(3) ซึ่งทำให้เราเป็นผู้เชื่อมการค้าการลงทุนของภูมิภาคอาเซียน และแม้แต่ในภูมิภาคอินโดจีนอีกด้วย 16. นอกจากความได้เปรียบเชิงทำเลที่ตั้งแล้ว คำถามต่อมาคือ ธุรกิจด้านใดที่ต่อไปจะรุ่งโรจน์ที่สุด ผมเองคงไม่มีคำตอบที่เฉพาะเจาะจงให้ท่าน ซึ่งแท้จริงแล้วท่านมีความเชี่ยวชาญในการทำธุรกิจและมองเห็นโอกาสเชิงธุรกิจได้ดีกว่าผมเสียด้วย แต่สิ่งที่ผมอยากจะชวนให้ท่านลองหันมาทบทวนคือ แก่นความสามารถของเราคืออะไร เพราะการใช้แก่นความสามารถอย่างเต็มรูปแบบนั้น เป็นอาวุธสำคัญในการสร้างโอกาสในสภาวะแวดล้อมที่เอื้ออำนวย และสามารถผลักดันให้ธุรกิจไทยก้าวออกไปลงทุนนอกประเทศมากขึ้น ผมขอยกตัวอย่างเล็กๆ ที่เป็นข้อสังเกตของผมมาโดยตลอด ผมพบว่าประวัติศาสตร์ทางวัฒนธรรม ความเชื่อ และวิถีสังคมที่มีความหลากหลายของประเทศไทย เป็นจุดที่สร้างความได้เปรียบมาก เพราะประเทศเพื่อนบ้านในอาเซียนต่างก็บริโภคสินค้าและบริการคล้ายคลึงกับเรา จึงทำให้ธุรกิจไทยสามารถรุกเข้าสู่ตลาดอาเซียนได้ง่าย ผมมีโอกาสเดินทางไปประเทศ CLMV บ่อยครั้ง และพบว่าสินค้าของประเทศไทยได้รับความนิยม และเป็นที่ยอมรับในคุณภาพ นอกจากสินค้าแล้ว ธุรกิจบริการของเรายังเป็นที่หนึ่ง ด้วยอัธยาศัยและธรรมชาติของความเป็นไทย จากตัวเลขสถิติการส่งออกพบว่าปัจจุบันอาเซียนกลายเป็นตลาดส่งออกหลักของไทย มีส่วนแบ่งตลาดกว่า 1 ใน 4 ของการส่งออกทั้งหมด ความสำเร็จและบทบาทของ AEC จึงเป็นแรงหนุนให้ไทยสามารถบูรณาการเข้าสู่เศรษฐกิจโลกอย่างจริงจังด้วย 17. ท่านผู้มีเกียรติครับ 18. เมื่อเราหันมองรอบตัว และวิเคราะห์การเปลี่ยนแปลงรอบข้างด้วยความเข้าใจแล้ว ประเด็นที่สองที่ผมอยากนำเสนอคือ การปรับให้ทัน กล่าวคือ ปรับให้ทันต่อสภานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไป ซึ่งการปรับนี้เริ่มจากการปรับกระบวนทัศน์หรือทัศนคติที่ตัวเราก่อน จากนั้นจึงเป็นมิติในการสร้างแผนกลยุทธ์ให้ธุรกิจของท่าน 19. แนวคิดที่ใช้อธิบายการปรับกระบวนทัศน์นี้ ผมนิยามไว้สั้นๆ ว่า “นักธุรกิจไทย หัวใจ AEC” การเปิดประเทศและการรวมกลุ่มทางเศรษฐกิจเปิดโอกาสให้นักธุรกิจบริหารจัดการได้อย่างอิสระมากขึ้น ในแง่ของการผลิต ผู้ผลิตมีตัวเลือกปัจจัยการผลิตที่หลากหลายขึ้น ไม่ว่าจะเป็นวัตถุดิบ แรงงาน แหล่งเงินทุนหรือพนักงานระดับบริหาร นอกจากนี้ยังมีตลาดขนาดใหญ่ระดับภูมิภาค และกลุ่มผู้บริโภคเป้าหมายที่กว้างขึ้นอีกด้วย ดังนั้นนักธุรกิจต้องเปลี่ยนมุมมองและยกระดับตนเองจาก ผู้บริหารระดับท้องถิ่น(local manager) ให้เป็นผู้บริหารระดับภูมิภาค (regional manager) 20. นักธุรกิจหัวใจ AEC ต้องมีความตระหนักรู้ และขวนขวายในการวางแผนบนกลยุทธ์ “รู้เขา รู้เรา”พัฒนาจุดแข็งและปิดจุดอ่อนของตน เปิดรับโอกาสและความท้าทายจาก AEC ตั้งแต่วันนี้ เพราะดังที่กล่าวมาตั้งแต่ต้นว่า การรวมกลุ่มและเปิดเสรีไม่ได้เริ่มต้นหรือมีจุดสิ้นสุดเพียงแค่ในปี 2558 เท่านั้นโอกาสไม่ได้มีแค่ที่เห็น แต่ยังมีโอกาสที่รอการค้นพบอีกมาก ทุกวันนี้คนไทยมีความตื่นตัว แต่ยังขาดการขวนขวายความรู้เพิ่มเติม โดยเฉพาะอย่างยิ่งในการจับมือกับประเทศเพื่อนบ้าน เพราะเรามักมองประเทศในแถบอาเซียนว่าเป็นแหล่งวัตถุดิบราคาถูก เป็นแหล่งทรัพยากรธรรมชาติที่หาไม่ได้ในประเทศไทย หรือเป็นแหล่งแรงงานที่ไม่มีทักษะและมีค่าจ้างแรงงานถูก ซึ่งแนวคิดเช่นนี้ถือว่าเป็นแนวคิดที่ไม่ยั่งยืน เพราะภายใต้ระบบเศรษฐกิจแบบเปิด กลไกเศรษฐกิจจะปรับเข้าหากันท้ายที่สุด และในระยะยาวราคาปัจจัยการผลิต เช่น ราคาวัตถุดิบ และค่าจ้างแรงงานย่อมจะปรับเข้าใกล้กัน รวมทั้งทรัพยากรธรรมชาติซึ่งจะถูกใช้หมดไปอย่างรวดเร็ว จึงมีความจำเป็นที่อาเซียนจะต้องเร่งพัฒนาทักษะการประดิษฐ์คิดค้น และสร้างมูลค่าเพิ่ม เพื่อรักษาความสามารถในการแข่งขัน 21. อีกหนึ่งจุดเปลี่ยนสำคัญในการปรับทัน ที่ผมเชื่อว่าหลายท่านอยากจะเห็นคือ การปรับทัศนคติและมองประเทศเพื่อนบ้านด้วยวิสัยทัศน์ใหม่ หากเรามองเพื่อนบ้านเสมือนคนบ้านเดียวกันแล้ว การทำธุรกิจจึงไม่ควรมุ่งแสวงหาผลประโยชน์จากประเทศเจ้าบ้านเท่านั้น แต่เลือกใช้แนวทางการดำเนินธุรกิจที่เอื้อประโยชน์กับทั้งสองฝ่าย อาศัยความได้เปรียบของกันและกันเพื่อการดำเนินธุรกิจอย่างยั่งยืน และเสริมสร้างคุณภาพชีวิตของประชากรในประเทศเจ้าบ้านไปพร้อมๆ กัน การขยายธุรกิจเพื่อใช้ประโยชน์จากต้นทุนที่ต่ำกว่า จึงควรดำเนินควบคู่ไปกับการปรับปรุงขั้นตอนการผลิตและพัฒนาศักยภาพการผลิตของแรงงานด้วย เพราะการแข่งขันด้านราคาไม่สามารถยังผลกำไรในระยะยาวได้เท่ากับการแข่งขันด้านศักยภาพ โดยการสร้างตราสินค้า เน้นความแตกต่างและมูลค่าเพิ่ม ซึ่งเป็นกลยุทธ์ทางธุรกิจที่ยั่งยืนอย่างแท้จริง 22. การศึกษาของธนาคารโลกพบว่าร้อยละ 75 ของแรงงานไทยอยู่ในภาคกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่มีผลิตภาพต่ำ ถึงแม้ว่าภาคอุตสาหกรรมจะเป็นภาคเดียวที่มีผลิตภาพเติบโตต่อเนื่อง*(4) แต่ครอบคลุมจำนวนแรงงานเพียงร้อยละ 10 ของแรงงานทั่วประเทศเท่านั้น จึงทำให้รายได้เฉลี่ยของทั้งระบบโตได้ช้า ซ้ำร้าย แรงงานต่างด้าวที่คาดว่าจะมีมากขึ้นหลังการเปิดเสรี ยังทำให้อุปทานแรงงานล้นตลาดค่าแรงของแรงงานจึงมีอัตราการเพิ่มไม่เท่ากับกลุ่มที่มีรายได้สูงกว่า เหล่านี้ยังคงเป็นปัญหาเรื้อรังตราบใดที่ธุรกิจไม่ลงทุนพัฒนาทักษะของบุคลากร แรงงานก็จะไม่มีศักยภาพและไม่มีแหล่งรายได้ประจำ ทำให้ไม่ได้รับสวัสดิการอื่นๆ ที่จะช่วยยกมาตรฐานการครองชีพให้สูงขึ้นได้ 23. ท่านผู้มีเกียรติครับ 24. ในประเด็นที่สามซึ่งเป็นประเด็นสุดท้าย และเป็นประเด็นที่ผู้ประกอบการให้ความสนใจไม่น้อยคือธนาคารแห่งประเทศไทยมีนโยบายพัฒนาบริการทางการเงินอย่างไร เพื่อเสริมรับการเปลี่ยนแปลงนี้ 25. เมื่อมองไปข้างหน้า นักลงทุนย่อมเห็นโอกาสการลงทุนในภาคเศรษฐกิจจริงมากมาย จึงเป็นธรรมดาที่จะมีเม็ดงินลงทุนไหลเข้ามาในภูมิภาคมากขึ้น โอกาสจากการเปิดเสรีนั้น ไม่ได้จำกัดอยู่เพียงภาคเศรษฐกิจจริงเท่านั้น หากแต่ภาคการเงินก็ต้องเผชิญกับการปรับตัวครั้งใหญ่นี้ด้วยเช่นกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งระบบการเงินของไทย ซึ่งในขณะนี้กำลังทะยอยเปิดให้มีการแข่งขันภายใต้แผนแม่บทพัฒนาระบบสถาบันการเงินฉบับที่ 2 ภายใต้แผนแม่บทดังกล่าวแบงค์ชาติหวังที่จะเห็นระบบการเงินที่มีการเติบโตอย่างมั่นคงและมีเสถียรภาพ ดังนั้นเราจึงอาจไม่ได้เห็นการเปลี่ยนแปลงของภาคการเงินอย่างฉับพลันในปี 2558 แต่จะเห็นเป็นรูปธรรมได้มากขึ้นในปี 2563 ซึ่งจะมีการเปิดเสรีภาคการเงินอย่างเป็นทางการ 26. อย่างไรก็ตาม ในขณะนี้ประเทศสมาชิกอาเซียนได้จัดตั้งคณะทำงานขึ้นมา 3 คณะ โดยมีแบงค์ชาติร่วมเป็นสมาชิกในคณะทำงานนั้นด้วย คณะแรกเป็นคณะที่รับผิดชอบการเปิดเสรีของเงินทุน มีเป้าหมายให้สมาชิกอาเซียนสามารถเคลื่อนย้ายเงินทุนจากประเทศหนึ่งไปยังอีกประเทศหนึ่งได้โดยสะดวกขึ้นไม่ว่าจะเป็นเงินลงทุนโดยตรง หรือการเข้าถึงตลาดหุ้น ตลาดตราสารหนี้ ตลอดจนการจ่ายเงินปันผลดอกเบี้ย และกำไรส่งกลับ เป็นต้น คณะทำงานที่สอง เป็นคณะทำงานที่ดูแลการเชื่อมโยงระบบการชำระเงินระหว่างประเทศสมาชิกอาเซียน ซึ่งมีจุดมุ่งหมายที่จะสร้างระบบการชำระเงินที่มีมาตรฐานเดียวกัน ลดต้นทุนการจ่ายเงินข้ามประเทศ แต่ยังคงไว้ความสะดวก รวดเร็ว และปลอดภัยส่วนคณะทำงานที่สาม ดูแลการเปิดเสรีของธนาคารพาณิชย์ ซึ่งคณะทำงานชุดนี้จะกำหนดคุณสมบัติ ขั้นต่ำของธนาคารพาณิชย์ (Qualified ASEAN Bank: QAB) และเป็นเกณฑ์มาตรฐานที่ยอมรับในทุกประเทศอาเซียน เพื่อให้ธนาคารพาณิชย์จากอีกประเทศหนึ่งเข้าไปเปิดดำเนินการในประเทศของตนได ? 27. ถึงตรงนี้ท่านอาจมีความกังวลว่า หากต้องขยายธุรกิจของท่านไปยังต่างประเทศ จะไม่มีธนาคารสัญชาติไทยตามไปดูแลอย่างทั่วถึง ทั้งนี้ การขยายตลาดของสถาบันการเงินไปยังต่างประเทศเพื่อรองรับธุรกรรมของกลุ่มลูกค้าไม่จำเป็นต้องรอจนกว่าจะมีการเปิดเสรีแล้วเท่านั้นครับ แต่อาศัยรูปแบบการดำเนินธุรกิจใหม่ที่มีประสิทธิภาพและมีต้นทุนต่ำกว่า เช่น การสร้างโครงข่ายพันธมิตรธนาคารในภูมิภาค แทนการรุกเปิดสาขาที่ต้องใช้ทรัพยากรสูง หรือการพัฒนาระบบการเงินทางอิเล็กทรอนิกส์โดยเฉพาะอย่างยิ่งระบบชำระเงิน ซึ่งนอกจากจะเป็นการลดต้นทุนของทั้งผู้ให้และผู้ใช้บริการแล้ว ยังเป็นการกระจายบริการทางเงินให้ทั่วถึงมากขึ้นอีกด้วย การขยายโอกาสในการเข้าถึงบริการทางการเงินนี้เป็นสิ่งที่อาเซียนมุ่งดำเนินการ โดยเฉพาะการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านระบบการชำระเงินต่างๆ เพื่อให้เป็นไปตามมาตรฐานกลางที่จะใช้ในกลุ่มอาเซียน เพื่อเตรียมพร้อมสำหรับการเชื่อมโยงกันในอนาคตต่อไป 28. นอกจากนี้ แบงค์ชาติยังตระหนักถึงความสำคัญในการใช้เงินสกุลท้องถิ่นในการเป็นสื่อกลางการชำระค่าสินค้าบริการกับประเทศเพื่อนบ้าน และได้ทำการเจรจาในระดับทวิภาคีกับธนาคารกลางประเทศอื่นมาโดยตลอด เพื่อสร้างกลไกของการใช้เงินสกุลท้องถิ่นซื้อขายสินค้าระหว่างกัน ยกตัวอย่างเช่น การร่วมลงนามในสัญญา Bilateral Swap Agreement กับธนาคารกลางของจีน เพื่อผลักดันให้สามารถใช้เงินบาท และเงินหยวนชำระราคาได้ และปัจจุบันเงินบาทได้กลายเป็นเงินสกุลหนึ่งที่มีอัตราซื้อขายแลกเปลี่ยนในตลาดการเงินของจีนตอนใต้แล้ว และแบงค์ชาติยังได้เริ่มเจรจากับธนาคารกลางเมียนมาร์เพื่อให้มีการแลกเปลี่ยนเงินบาทกับเงินจ๊าตของเมียนมาร์อย่างเป็นทางการอีกด้วย 29. ท่านผู้มีเกียรติครับ 30. ก่อนที่จบการปาฐกถาของผมในวันนี้ ผมขอเน้นประเด็นที่ได้กล่าวมาข้างต้นอีกครั้งว่า การรวมกลุ่มทางเศรษฐกิจ และการเข้าเป็นประชาคมภูมิภาคเป็นพัฒนาการที่จะคงอยู่และวิวัฒน์ไปอย่างต่อเนื่องการปรับตัวเป็นเรื่องของการเตรียมพร้อม และการก้าวเดินเติบโตไปในตลาดภูมิภาคอย่างมั่นคง การที่จะสร้างธุรกิจให้อยู่รอด และรุดหน้าไปอย่างรวดเร็ว หัวใจอยู่ที่การทำธุรกิจที่พร้อมเสนอแนะผลิตภัณฑ์ใหม่ที่เป็นนวัตกรรม เน้นประสิทธิภาพการผลิตมากกว่าการใช้แรงงานจำนวนมากอีกประเด็นหนึ่งที่สำคัญไม่แพ้กันคือ การสนับสนุนการวิจัยและค้นคว้าเพื่อพัฒนาผลิตภาพของประเทศ และปลูกฝังการเป็นเศรษฐกิจสร้างสรรค์ (creative economy) เพื่อให้ประเทศสามารถเพิ่มมูลค่าการผลิตได้ และผมเชื่อเหลือเกินว่าเหล่านี้ล้วนเป็นแนวทางที่จะพัฒนาประเทศชาติ และภูมิภาคของเราได้อย่างยั่งยืน 31. ขอบคุณครับ *(1) ปริมาณการค้าของอาเซียนเท่ากับ 2 ล้านล้านดอลลาร์ สรอ. ในปี 2553 (ข้อมูลจาก NESDB) *(2) จากสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย* *(3) ประเทศ CLMV ได้แก่ ประเทศกัมพูชา ลาว พม่า และเวียดนาม *(4) การศึกษาจาก TDRI ที่มา: ธนาคารแห่งประเทศไทย