นางสาวธัญลักษณ์ วิบูลย์ศรีสัจจะ
สายนโยบายการเงิน
ธนาคารแห่งประเทศไทย
ในช่วงนี้ เรามักได้ยินคนพูดถึงการเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC) ในปี 2558 ว่าเป็นโอกาสอันดีที่ไทยจะสามารถเก็บเกี่ยวผลประโยชน์จากการรวมกลุ่มทางเศรษฐกิจ แต่แนวคิดนี้ใช่ว่าจะเป็นสูตรตายตัวเสมอไป เพราะถ้าลองมาคิดอย่างถี่ถ้วน จะพบว่าการเข้าสู่ AEC จะเป็นแรงผลักดันให้ทุกประเทศพยายามดึงดูดการลงทุนไปยังประเทศของตนมากขึ้นหากไทยไม่พยายามเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของตัวเอง แทนที่ไทยจะเป็นตัวเลือกที่น่าสนใจในสายตาของนักลงทุนเราอาจกลายเป็นส่วนหนึ่งในการผลักให้นักลงทุนหันไปสนใจแหล่งลงทุนในประเทศเพื่อนบ้านได้โดยปริยาย
ดังนั้น หากจะให้ไทยยืนอยู่บนเวทีโลกได้อย่างยั่งยืน การพัฒนาประเทศเพื่อเพิ่มขีดความสามารถด้านการแข่งขันจึงเป็นสิ่งสำคัญ เพราะประเทศที่มีขีดความสามารถในการแข่งขันสูงย่อมเป็นที่ดึงดูดสำหรับนักลงทุน ซึ่งจะช่วยยกระดับความสามารถในการผลิตให้สูงขึ้นและก่อให้เกิดการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างยั่งยืน
มาถึงตรงนี้ หลายคนอาจสงสัยว่าแล้วปัจจุบันประเทศไทยยืนอยู่ตรงไหนในสายตาของนักลงทุน หลักฐานชี้วัดที่เพิ่งมีการประกาศออกมาเมื่อต้นเดือนกันยายน 2555 คือการจัดอันดับความสามารถในการแข่งขันของโลกประจำปี 2555-2556 โดย World Economic Forum (WEF) ซึ่งทำการสำรวจทั้งหมด 144 ประเทศ จากการประเมินปัจจัยพื้นฐาน 12 ด้าน เช่นโครงสร้างพื้นฐาน ภาวะเศรษฐกิจมหภาค ประสิทธิภาพของตลาดสินค้าและแรงงาน ความพร้อมด้านเทคโนโลยีและการเสริมสร้างนวัตกรรม พบว่าความสามารถในการแข่งขันของไทยปรับขึ้น 1 อันดับ มาอยู่อันดับที่ 38 ในปีนี้หลังจากถูกปรับลดอันดับมาหลายปีติดต่อกัน จากที่เคยอยู่อันดับที่ 28 ในปี 2549 โดยปีนี้ไทยได้คะแนนเฉลี่ย 4.52 จาก 7 เป็นที่น่าสังเกตว่า ปัจจัยความมั่นคงของเศรษฐกิจมหภาคได้ปรับอันดับดีขึ้นในทุกด้าน โดยเฉพาะในแง่ของการควบคุมอัตราเงินเฟ้อและสัดส่วนหนี้ของภาครัฐต่อ GDP ขณะเดียวกัน ปัจจัยอื่นๆ ที่มีการเปลี่ยนแปลงในทางที่ดี ได้แก่ ประสิทธิภาพของตลาดสินค้าซึ่งพัฒนาจากการที่ธุรกิจสามารถลดขั้นตอนที่ยุ่งยากในการเริ่มประกอบธุรกิจได้ดีขึ้นและภาครัฐผ่อนปรนกฎเกณฑ์เพื่อเอื้อสำหรับการเข้ามาของเงินลงทุนโดยตรงหรือที่เรียกว่า FDI มากขึ้น ขณะที่ปัจจัยด้านการพัฒนาตลาดการเงินได้พัฒนาจากความสามารถในการเข้าถึงช่องทางของบริการทางการเงินที่มีมากขึ้น ส่วนปัจจัยด้านขนาดของตลาดในประเทศยังสามารถคงอันดับไว้ค่อนข้างดีในอันดับที่ 22
ทีนี้ก็คงมาถึงคำถามที่ว่า เราควรจะพอใจกับอันดับที่ 38 ของโลกหรือคิดเป็นที่ 16 ของทวีปเอเชียที่ได้มาในปีนี้ซึ่งขึ้นมาจากปีก่อน 1 อันดับหรือไม่? ก็พบว่ายังมีปัจจัยอีกหลายด้านที่เรายังสามารถพัฒนาให้ดีขึ้นได้และเป็นความท้าทายต่อการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของไทย ซึ่งจากการประเมินของ WEF พบว่า 1) ความไม่มั่นคงของรัฐบาลและการรัฐประหาร 2) การคอร์รัปชั่น 3) ความไม่มีเสถียรภาพด้านนโยบาย และ 4) ความไม่มีประสิทธิภาพในระบบราชการเป็นสาเหตุ 4 อันดับแรกที่เป็นปัญหาต่อการดำเนินธุรกิจ และยังส่งผลด้านลบต่อปัจจัยพื้นฐานด้านสถาบันที่ปรับลดอันดับ อย่างชัดเจนด้วย โดยปรับลดลงถึง 10 อันดับจากปีก่อนมาอยู่อันดับที่ 67 ซึ่งต่ำกว่าเกือบทุกประเทศในภูมิภาคอาเซียนยกเว้นเวียดนามและฟิลิปปินส์ ส่วนปัจจัยโครงสร้างพื้นฐานมีอันดับที่แย่ลงในปีนี้จากเรื่องของคุณภาพโครงสร้างพื้นฐานต่างๆเป็นหลัก โดยมีอันดับต่ำกว่าประเทศเพื่อนบ้านอย่างมาเลเซีย และไม่ต้องพูดถึงสิงคโปร์ที่ครองอันดับที่ 2 ในด้านนี้ ส่วนหนึ่งเป็นผลจากการที่ไทยได้เผชิญความไม่แน่นอนทางการเมืองในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ทำให้การวางแผนการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานขาดความต่อเนื่อง นอกจากนี้ ไทยยังไม่สามารถเพิ่มขีดความสามารถในปัจจัยด้านสุขภาพและการศึกษาขั้นพื้นฐาน (อันดับที่ 78) ความพร้อมด้านเทคโนโลยี (อันดับที่ 84) และการเสริมสร้างนวัตกรรม (อันดับที่ 68) ได้มากนัก ขณะที่สิงคโปร์ และมาเลเซียสามารถทำทั้งสามด้านนี้ได้ค่อนข้างดี และเป็นที่น่าสังเกตว่าสำหรับปัจจัยด้านการเสริมสร้างนวัตกรรม ประเทศไทยได้อันดับต่ำกว่าเกือบทุกประเทศในภูมิภาคอาเซียนยกเว้นเวียดนามเพียงประเทศเดียว
ดังนั้น จะเห็นได้ว่าแม้ว่าความสามารถในการแข่งขันของไทยจะไม่ถึงกับด้อย แต่ก็มีหลายจุดที่สามารถปรับปรุงให้ดีขึ้นได้ และแนวทางการปรับปรุงก็ไม่ได้เป็นเรื่องใหม่ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการขจัดปัญหาการคอร์รัปชั่นโดยการสนับสนุนให้มีการตรวจสอบที่เข้มงวดพร้อมกับเพิ่มบทลงโทษผู้ที่ทำความผิดให้รุนแรงขึ้น หรือประเด็นที่ว่าภาครัฐควรสร้างเสถียรภาพทางการเมืองเพื่อสร้างบรรยากาศที่เอื้อต่อการลงทุนของภาคเอกชน ซึ่งสามารถทำได้โดยการสร้างความเท่าเทียมกันในสังคมทั้งด้านโอกาส รายได้ และการมีส่วนร่วมของประชาชนในทุกระดับ เพื่อลดความแตกแยกในสังคม เช่นเดียวกับการที่ไทยควรเร่งพัฒนาสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐานและพัฒนาการขนส่งมวลชนให้มีโครงข่ายที่กว้างขึ้น เช่น การขนส่งระบบรางเพื่อลดต้นทุนการขนส่ง รวมทั้งต้องมีการพัฒนาระบบสาธารณสุขและคุณภาพของระบบการศึกษา โดยด้านการศึกษาต้องเปลี่ยนจากการเน้นท่องจำมาเน้นสร้างความเข้าใจและกระตุ้นการใช้ความคิดสร้างสรรค์เพื่อช่วยยกระดับคุณภาพของทรัพยากรมนุษย์ในประเทศ ก่อให้เกิดการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีใหม่ๆ มากขึ้น เรื่องเหล่านี้เป็นเรื่องที่ถูกพูดถึงกันมานาน แต่ประเด็นที่อยากจะเน้นย้ำคือ เราจะต้องดำเนินการเรื่องเหล่านี้อย่างเร่งด่วนและจริงจังเสียที ก่อนที่เราจะถูกประเทศอื่นๆ แซงไปไกลกว่านี้ ซึ่งหากเราสามารถปิดจุดอ่อนและเพิ่มจุดแข็งเพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศได้ทันกาล เราก็จะสามารถยืนอยู่บนเวทีโลกด้วยความพร้อมที่จะรับโอกาสดีๆ ที่กำลังจะเข้ามา
บทความนี้เป็นข้อคิดเห็นส่วนบุคคลจึงไม่จำเป็นต้องสอดคล้องกับความเห็นของธนาคารแห่งประเทศไทย ที่มา: ธนาคารแห่งประเทศไทย