คำกล่าวเปิดงาน
ดร. ประสาร ไตรรัตน์วรกุล
ผู้ว่าการ ธนาคารแห่งประเทศไทย
“บทบาทหน้าที่ของธนาคารกลางท่ามกลางความเปลี่ยนแปลง”
“Central Banking Amidst Global Changes”
งานสัมมนาวิชาการธนาคารแห่งประเทศไทย ประจำปี 2555
ณ ห้องบางกอกคอนเวนชั่น โรงแรมเซ็นทาราแกรนด์ กรุงเทพมหานคร
วันที่ 24 กันยายน 2555
---------------------------------------------
ผมรู้สึกยินดีและเป็นเกียรติอย่างยิ่งในการต้อนรับทุกท่านสู่งานสัมมนาวิชาการประจำปี 2555 ของธนาคารแห่งประเทศไทย ที่มีต่อเนื่องมาทุกปี ปีนี้นับเป็นครั้งที่ 13 ซึ่งที่ผ่านมา เราได้พยายามเลือกสรรหัวข้อการสัมมนาที่เป็นประเด็นสำคัญและอยู่ในความสนใจของสาธารณชน และจัดให้มีการถกเถียงแลกเปลี่ยนความเห็นซึ่งกันและกัน สำหรับปีนี้ ผมถือว่าเป็นโอกาสอันดีที่การสัมมนาวิชาการนี้จะหยิบยกหัวข้อที่ถือว่าเป็นหัวใจของการธนาคารกลางมาเป็นประเด็นศึกษา เพื่อประโยชน์ในการรับฟังความเห็นจากผู้ทรงคุณวุฒิ และทุกๆ ท่านในที่นี้ ประกอบการดำเนินนโยบายในระยะต่อไป
เศรษฐกิจไทย ในช่วง 2 — 3 ปีที่ผ่านมา ได้รับผลกระทบจากวิกฤตเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นในต่างประเทศอย่างต่อเนื่อง เริ่มตั้งแต่วิกฤตซับไพรม์ในสหรัฐอเมริกา วิกฤตการเงินโลก และต่อเนื่องมาจนถึงวิกฤตหนี้สาธารณะในยุโรป ซึ่งวิกฤตเศรษฐกิจแบบนี้ แต่ก่อนเรามักคิดว่าเกิดขึ้นทุก ๆ สิบปี แต่ระยะหลังมานี้ อาจกล่าวได้ว่า เราเผชิญกับวิกฤตเศรษฐกิจแทบทุกปีและแต่ละครั้งดูเหมือนจะทวีความรุนแรงมากขึ้น แม้เศรษฐกิจโลกที่เคยสามารถขยายตัวได้ในช่วงวิกฤตการณ์น้ำมัน หรือวิกฤตการณ์การเงินเอเชีย กลับหดตัวลงในช่วงวิกฤตการเงินโลกครั้งนี้
นอกจากการเกิดที่บ่อยครั้งขึ้นแล้ว ระบบเศรษฐกิจการเงินที่เชื่อมโยงกันเป็นเครือข่ายมากขึ้นทั่วโลกก็ส่งผลให้วิกฤตเศรษฐกิจลุกลามจากภูมิภาคหนึ่งไปสู่ภูมิภาคอื่นได้รวดเร็วขึ้นเช่นกัน โดยเฉพาะการแพร่กระจายไปในประเทศที่มีความเปราะบางทางโครงสร้างเศรษฐกิจที่ล่าสุด เห็นได้จากปัญหาวิกฤตลุกลามจากสหรัฐอเมริกาไปสู่ประเทศเล็กๆ ในทวีปยุโรปในระยะเวลาอันสั้น และมีทีท่าว่าจะส่งผลต่อเนื่องไปยังประเทศหลัก จนผลักดันให้ธนาคารกลางหลายประเทศจำเป็นต้องออกมาตรการเพื่อแก้ไขปัญหา กระตุ้นเศรษฐกิจ หรือแม้กระทั่งให้ความช่วยเหลือทางด้านสภาพคล่องในแบบที่เคยคิดว่าไม่ควรทำมาก่อน
หากเปรียบวิกฤตเศรษฐกิจกับภัยธรรมชาติ ก็คงเสมือนการเกิดแผ่นดินไหวที่ถี่และรุนแรงขึ้น โดยเฉพาะในบริเวณแผ่นเปลือกโลกที่ไม่เสถียร ซึ่งเราอาจเคยมองว่าเป็นเรื่องไกลตัว และคงจะไม่ส่งผลกระทบกับเราเท่าใดนัก แต่การเกิดแผ่นดินไหวในบริเวณที่เริ่มใกล้เข้ามาเรื่อย ๆ ก็ทำให้หลายคนต้องเปลี่ยนทัศนคติเรื่องแผ่นดินไหวในประเทศไทย และหันมาให้ความสำคัญเพื่อเตรียมความพร้อมกันมากขึ้น เช่นเดียวกับวิกฤตเศรษฐกิจที่ผ่านมาที่ส่งผลต่อเศรษฐกิจในภาพรวม ทั้งการดำเนินธุรกิจของภาคเอกชน และความเป็นอยู่ของประชาชนแต่ความแตกต่างจากการเกิดแผ่นดินไหว ก็คือ เราอาจสามารถป้องกันวิกฤตเศรษฐกิจได้จากการรักษาเสถียรภาพเศรษฐกิจการเงิน และสถาบันการเงินของประเทศ รวมทั้งการเสริมสร้างความแข็งแกร่งให้กับระบบการเงิน ซึ่งเป็นบทบาทสำคัญของธนาคารกลาง
ไม่ว่าเศรษฐกิจจะเผชิญกับปัญหาใด สิ่งหนึ่งที่ไม่เคยเปลี่ยนแปลง นั่นก็คือ ความคาดหวังของสาธารณชนต่อบทบาทของธนาคารกลางที่จะเป็นผู้ทำหน้าที่รักษาเสถียรภาพเศรษฐกิจ และมีส่วนร่วมในการแก้ไขปัญหาให้ประเทศพ้นปัญหาวิกฤตเศรษฐกิจในที่สุด จนบางครั้งเกิดเป็นความคาดหวังที่สูงเกินไป ดังที่เราเห็นจากเหตุการณ์ในประเทศตะวันตกขณะนี้
ในปีนี้ ธนาคารแห่งประเทศไทยดำเนินงานมาครบปีที่ 70 พอดี ซึ่งหากเปรียบเทียบกับอายุขัยของคนแล้ว ก็นับว่าผ่านร้อนผ่านหนาวมามากพอที่จะมีเกร็ดชีวิต ความรู้ ประสบการณ์ข้อเตือนใจ ฝากให้ลูกหลานและคนรุ่นต่อๆ ไปได้นำไปใช้ประโยชน์ เพื่อพัฒนาตนเองให้ดีขึ้นซึ่งผมขอถือโอกาสนี้ ในการบอกเล่าเรื่องราวบางส่วน เพื่อให้เราได้รู้จักตัวตนของธนาคารแห่งประเทศไทยดีขึ้น
เมื่อมองย้อนไปยังจุดเริ่มต้นของการจัดตั้งธนาคารแห่งประเทศไทย ในขณะนั้น มาจากความจำเป็นที่จะต้องรักษาเอกราชทางการเงินของไทยไว้ เนื่องจากประเทศผู้เข้าร่วมในสงครามมหาเอเชียบูรพาเตรียมเสนอให้ตั้งธนาคารกลางในประเทศไทยขึ้นเพื่อพิมพ์เงินสนับสนุนค่าใช้จ่ายในการทำสงคราม ซึ่งหากยอมให้ต่างชาติเข้ามาควบคุมเงินตราของไทยโดยตรงเช่นนั้นแล้ว ก็เท่ากับว่าประเทศไทยจะสูญเสียเอกราชทางการเงินไปโดยปริยาย เราจึงจำเป็นต้องจัดตั้งธนาคารกลางของเราเองขึ้นเสียก่อน ด้วยระยะเวลาอันสั้นภายใต้ภาวะสงคราม และถือเป็นจุดเริ่มต้นของประวัติศาสตร์การดำเนินงานของธนาคารแห่งประเทศไทยที่ “มีความมุ่งมั่นรักษาเอกราชทางการเงินของประเทศอย่างเต็มที่” ตามรับสั่งของพระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าวิวัฒนไชย ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย พระองค์แรก
ที่ผ่านมา การดำเนินงานของธนาคารแห่งประเทศไทยในฐานะธนาคารกลางของประเทศต้องเผชิญความท้าทายจากปัจจัยที่อยู่นอกเหนือการควบคุมของธนาคารมาอย่างต่อเนื่อง ทำให้เราไม่เคยนิ่งนอนใจ พยายามปรับปรุงตนเองและพัฒนาการดำเนินการด้านต่างๆ เพื่อเตรียมความพร้อมในการทำหน้าที่ธนาคารกลางอยู่ตลอดมา ทำให้ได้เห็นพัฒนาการการดำเนินนโยบายด้านต่าง ๆ ในแต่ละช่วงเวลา ที่อาจมีความแตกต่างกันไปในกรอบนโยบายเครื่องมือที่ใช้ และวิธีการปฏิบัติ ที่มีการปรับเปลี่ยนเพื่อให้เหมาะสมกับโครงสร้างเศรษฐกิจในช่วงนั้นๆ ซึ่งผมขอยกตัวอย่างในแต่ละช่วงเวลาพอสังเขป
ภายหลังสงครามโลกครั้งที่สองยุติลง ทุกประเทศประสบปัญหาการขาดดุลการค้า จนมีความกังวลกันว่า บางประเทศอาจใช้วิธีลดค่าเงินของตัวเองเพื่อผลักภาระไปยังประเทศอื่นที่เป็นคู่แข่งทางการค้า (beggar thy neighbour) ทำให้ต้องสร้างกติกาในการดูแลการกำหนดค่าเงินของประเทศต่าง ๆ ไว้กับทองคำ ภายใต้ระบบอัตราแลกเปลี่ยนแบบตายตัว(par value) ไทยเองก็ได้ใช้กรอบในการดำเนินนโยบายการเงินที่ผูกค่าเงินบาทไว้กับทองคำเช่นกัน
ต่อมา ประเทศอุตสาหกรรมหลักได้ทยอยยกเลิกระบบการผูกค่าเงินไว้กับทองคำเพราะไม่สามารถปฏิบัติตามเงื่อนไขให้อัตราแลกเปลี่ยนผูกกับค่าของทองคำในสมัยนั้นได้ จากเศรษฐกิจโลกที่เริ่มได้รับผลจากกระแสโลกาภิวัฒน์ และเริ่มเข้าสู่ยุคของการพัฒนานวัตกรรมแต่เศรษฐกิจของประเทศกำลังพัฒนา รวมทั้งไทย ยังมีขนาดเล็ก ตลาดการเงินและระบบสถาบันการเงินยังไม่เข้มแข็งพอ และยังไม่ได้เชื่อมโยงกับระบบการเงินของโลกมากนัก ดังเห็นได้จากเงินทุนเคลื่อนย้ายระหว่างประเทศที่ยังมีปริมาณน้อยมากเมื่อเทียบกับปัจจุบัน จึงยังคงผูกค่าเงินบาทไว้กับตะกร้าเงินของกลุ่มเงินสกุลต่าง ๆ ของประเทศที่มีความสำคัญต่อการค้าและเศรษฐกิจไทย หรือที่เราคุ้นภายใต้ชื่อ Basket of Currencies แทน ซึ่งอีกนัยหนึ่ง เท่ากับเป็นการผูกนโยบายการเงินของประเทศไว้กับความน่าเชื่อถือของประเทศคู่ค้าหลัก ซึ่งเป็นแนวทางที่ประเทศกำลังพัฒนาหลายประเทศในโลกใช้อยู่เป็นเวลานาน ระบบการเงินที่อิงการผูกค่าเงินไว้กับประเทศคู่ค้านี้ เป็นปัจจัยหนึ่งที่สนับสนุนให้เศรษฐกิจไทยเติบโตได้ต่อเนื่องยาวนานในอัตราเฉลี่ยสูงกว่าร้อยละ 7 เกือบสี่ทศวรรษ (2504 — 2539)
ทั้งนี้ ไม่ว่าจะใช้กรอบนโยบายการเงินใด หน้าที่ของธนาคารกลางที่เป็นที่ยอมรับของสากล คือ การรักษาเสถียรภาพราคา เพราะการวางแผนธุรกิจ การตั้งราคาสินค้า และการวางแผนการออม จะเกิดขึ้นไม่ได้เลยหากประชาชนไม่สามารถคาดคะเนได้ว่า รายได้ที่ประมาณการไว้วันนี้ จะมิถูกเงินเฟ้อ หรือค่าเงินที่ด้อยถอยลง ริดรอนไปในอนาคต และหากมองว่าหัวใจสำคัญของการดำเนินนโยบายการเงินคือ การหาจุดสมดุลระหว่างการรักษาเสถียรภาพทางเศรษฐกิจ และการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจทั้งในระยะสั้นและระยะยาว เราก็จำเป็นต้องปรับกรอบนโยบายการเงินให้สอดคล้องกับโครงสร้างทางเศรษฐกิจการเงิน และความเข้มแข็งของสถาบัน
ภายหลัง วิกฤตเศรษฐกิจเอเชียปี 2540 (1997) ธนาคารแห่งประเทศไทยก็ได้ปรับปรุงกรอบนโยบายการเงินจากการใช้นโยบายที่อิงการผูกค่าเงิน มาถึงการดูแลเสถียรภาพทางเศรษฐกิจและการเงินโดยใช้อัตราดอกเบี้ยเป็นเครื่องมือหลัก หรือกรอบนโยบายที่เรียกว่าflexible inflation targeting ซึ่งไทยเป็นประเทศแรกในเอเชียที่เริ่มนำมาใช้ กรอบนโยบายนี้มีลักษณะเด่นจากการมีโครงสร้างการดำเนินงานที่โปร่งใส ทำให้เป็นที่ยอมรับในประสิทธิผลของการช่วยส่งผ่านนโยบาย รวมทั้งช่วยสร้างความน่าเชื่อถือให้แก่ธนาคารแห่งประเทศไทยอีกครั้งหลังวิกฤตการณ์การเงินเอเชีย ที่สำคัญ การเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นเหล่านี้มาจากปัญหาความสัมพันธ์ระหว่างตัวแปรทางการเงิน เช่น ปริมาณเงินและสินเชื่อ กับตัวแปรทางเศรษฐกิจที่ไม่มีเสถียรภาพ และคาดการณ์ได้ยากยิ่งขึ้น เนื่องจากระบบเศรษฐกิจการเงินไทยได้เปลี่ยนไปมาก นวัตกรรมทางการเงินเกิดขึ้นมากมาย และตลาดทุนมีความสำคัญมากขึ้นธนาคารแห่งประเทศไทยจึงได้ปรับมาใช้อัตราดอกเบี้ย ซึ่งเป็นตัวแปรด้านราคา เป็นเครื่องมือที่จะช่วยส่งสัญญาณทิศทางนโยบายที่เหมาะสมกับเศรษฐกิจในแต่ละช่วงไปยังระบบเศรษฐกิจได้อย่างครอบคลุมยิ่งขึ้น การสัมมนาวิชาการในวันนี้ ก็จะมีการหยิบยกประเด็นความเหมาะสมของการใช้อัตราดอกเบี้ยในการดำเนินนโยบายในปัจจุบันมานำเสนอด้วย
นอกจากนี้ อัตราแลกเปลี่ยนที่สามารถเคลื่อนไหวยืดหยุ่นได้ ภายใต้โครงสร้างเศรษฐกิจที่มีความซับซ้อน และเปิดกว้างมากขึ้นในปัจจุบัน มีบทบาทหน้าที่สำคัญที่ช่วยรองรับผลกระทบจากภายนอกประเทศ โดยเฉพาะเงินทุนเคลื่อนย้ายที่มีขนาดใหญ่ขึ้นและความผันผวนที่มีความรุนแรงขึ้นเทียบกับในอดีต เนื่องจากความผันผวนที่เกิดขึ้นนี้ จะถูกส่งต่อให้อัตราแลกเปลี่ยนต้องปรับตัว เช่น เงินทุนที่ไหลเข้าจะส่งผลให้เงินบาทแข็งค่าขึ้น ภายใต้กรอบการดำเนินนโยบายที่มีความยืดหยุ่นในปัจจุบัน ธนาคารแห่งประเทศไทยอาจเข้าดูแลอัตราแลกเปลี่ยน ในกรณีที่เห็นว่าเกิดการเคลื่อนไหวที่บิดเบือนไปจากปัจจัยพื้นฐานทางเศรษฐกิจ
การใช้กรอบเป้าหมายเงินเฟ้อในปัจจุบันนี้ ช่วยเพิ่มความยืดหยุ่นในการดำเนินนโยบายทั้งด้านเป้าหมายนโยบาย และเครื่องมือนโยบาย โดยในด้านเป้าหมายนโยบาย กรอบนโยบายดังกล่าวสามารถให้น้ำหนักกับเป้าหมายเศรษฐกิจอื่นพร้อมกันไปได้ เพื่อดูแลสมดุลของเศรษฐกิจในระยะปานกลาง โดยไม่ได้มุ่งรักษาเป้าหมายเงินเฟ้อในระยะสั้นเพียงอย่างเดียวและในด้านเครื่องมือนโยบายก็สามารถใช้อัตราดอกเบี้ยเป็นเครื่องมือหลัก ร่วมกับเครื่องมืออื่นไม่ว่าจะเป็น อัตราแลกเปลี่ยน หรือมาตรการเพิ่มเติมเพื่อช่วยป้องกันความไม่สมดุล ที่เรียกกันว่ามาตรการ macro prudential ในการสนับสนุนการเติบโตและลดความผันผวนของเศรษฐกิจในระยะสั้นไปพร้อมกัน ตลอดสิบกว่าปีที่ผ่านมานี้ ประเทศไทยมีอัตราเงินเฟ้อที่ถือว่าต่ำและอยู่ในกรอบเป้าหมาย เศรษฐกิจไทยเติบโตในเกณฑ์ที่น่าพอใจ และสามารถรับมือกับผลกระทบจากมรสุมทางเศรษฐกิจที่เข้ามาเป็นระลอกอย่างต่อเนื่อง ทั้งความผันผวนของราคาสินค้าโภคภัณฑ์ วิกฤตการณ์ทางการเมือง วิกฤตการเงินโลกที่ยืดเยื้อ หรือแม้กระทั่งอุทกภัยครั้งล่าสุด ได้ค่อนข้างดี
ความผันผวนในระบบการเงินโลกที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ยังสะท้อนให้เห็นความสำคัญในหน้าที่รักษาเสถียรภาพของระบบสถาบันการเงิน เพื่อสนับสนุนสมดุลทางเศรษฐกิจธนาคารแห่งประเทศไทยในฐานะผู้กำกับดูแลสถาบันการเงิน ได้ปรับตัว และตระหนักว่าต้องทำงานในเชิงรุกอย่างต่อเนื่อง ไม่ว่าจะเป็นการปรับปรุงวิธีการกำกับตรวจสอบสถาบันการเงินให้อิงกับมาตรฐานสากลมากขึ้น เริ่มตั้งแต่หลังวิกฤตการณ์การเงินเอเชียเป็นต้นมา และติดตามพัฒนาการในมาตรฐานการกำกับดูแลมาอย่างต่อเนื่อง เพื่อนำมาปรับใช้ให้เหมาะสมกับโครงสร้างระบบการเงิน และสถาบันการเงินในประเทศ หรือการจัดทำแผนพัฒนาระบบสถาบันการเงิน (Financial Sector Master Plan) ซึ่งได้มีส่วนช่วยเตรียมความพร้อมให้กับธนาคารพาณิชย์สำหรับการแข่งขันในตลาดโลกที่ทวีความเข้มข้นขึ้น และพร้อมเข้าร่วมเป็นส่วนหนึ่งของประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนในสามปีข้างหน้า
ที่ผ่านมา ผมมองว่า การดำเนินงานของธนาคารแห่งประเทศไทย ไม่เพียงแต่จะต้องยึดมั่นในหลักการดำเนินงานเพื่อประโยชน์ของระบบเศรษฐกิจการเงินมาโดยตลอด แต่ยังต้องอาศัยความมีอิสระในการดำเนินนโยบาย ซึ่งหมายถึงความสามารถของธนาคารกลางในการดำเนินงานตามพันธะกิจของตนอย่างอิสระภายใต้กรอบเป้าหมายร่วมกับภาครัฐ ความมีอิสระนี้เป็นเรื่องที่สำคัญ เพราะหากธนาคารกลางจะต้องคำนึงถึงความพอใจของคนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง โอกาสที่จะคิดนโยบายใหญ่ ๆ คิดอย่างมีกลยุทธ์ และหวังผลสัมฤทธิ์ในระยะยาวก็จะน้อยลง จึงเป็นที่มาของหลักการทำงานของธนาคารกลางที่ต้องเป็นอิสระ ที่ทุกๆ ประเทศให้การยอมรับ ซึ่งสัมมนาวิชาการปีนี้ ได้ให้ความสำคัญกับประเด็นนี้เช่นกัน โดยจะนำเสนอประวัติความเป็นมา และหลักการสำคัญที่ยึดมั่นกันมาตลอดหลายร้อยปีของการธนาคารกลางเพื่อให้เห็นพัฒนาการได้อย่างชัดเจน
ทั้งนี้ ประเด็นสำคัญที่ควรตระหนักในการดำเนินงานของธนาคารกลาง คือ ความสำเร็จขององค์กรไม่สามารถประเมินได้จากผลกำไรหรือราคาหุ้น ที่กิจการของเอกชนมักใช้เป็นเครื่องสะท้อนผลประกอบการ หรือการชี้วัดความน่าเชื่อถือจากผู้ถือหุ้น หรือสาธารณชน เนื่องจากวัตถุประสงค์ที่มุ่งรักษาเสถียรภาพโดยรวม มิใช่การดำเนินงานเพื่อแสวงหาผลกำไร และแม้ว่า ในปัจจุบัน นักวิเคราะห์เริ่มมีการให้คะแนนผลการดำเนินงานของธนาคารกลางต่างๆ ว่าสอดคล้องกับเป้าหมายที่ตั้งไว้เพียงใด ซึ่งธนาคารแห่งประเทศไทยเองก็ไม่ได้รับการยกเว้น ดังนั้น เราจึงยึดมั่นในการสร้างคุณค่าของการดำเนินงานและความน่าเชื่อถือ ผ่านการดำเนินนโยบายด้วยความโปร่งใส มุ่งพัฒนาการสื่อสารถึงเป้าหมายของการดำเนินนโยบายอย่างชัดเจน ซึ่งผลข้างเคียงจากการดำเนินพันธะกิจหลักของธนาคารกลางก็คือ ต้นทุนในการดูแลเสถียรภาพที่ส่งผลต่องบดุลของธนาคารกลาง ที่จะได้รับการหยิบยกมานำเสนอเช่นกันในการสัมมนาครั้งนี้
ตลอดช่วง 70 ปีที่ผ่านมาที่ธนาคารแห่งประเทศไทยได้เป็นส่วนสำคัญในการดำเนินนโยบายเพื่อเศรษฐกิจไทย ได้รับทั้งการชื่นชม และบางครั้งก็ได้รับการวิพากษ์วิจารณ์จนเกิดวิกฤตศรัทธาขึ้น แต่ไม่ว่าจะเป็นการตอบรับในด้านใด ธนาคารแห่งประเทศไทยมุ่งมั่นที่จะปรับปรุง ปรับเปลี่ยน และปฏิรูปการดำเนินงานให้เหมาะสมในการตอบสนองภาวะแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลง รวมทั้งเรียนรู้จากอดีต เพื่อใช้เป็นบทเรียนในการแก้ไขปรับปรุงและเดินหน้าปฏิรูปการทำงานต่อไป
การจัดสัมมนาวิชาการเช่นนี้เป็นประจำทุกปี ผมถือว่าเป็นหนึ่งในการปฏิรูปแนวทางการดำเนินงานของธนาคารแห่งประเทศไทย เพื่อเปิดกว้างให้สาธารณชนมีส่วนร่วมในการแสดงความคิดเห็น เพื่อรับฟังมุมมองและข้อเสนอแนะจากภายนอก และรับทราบถึงความคาดหวังของสาธารณชนต่อการดำเนินงานของธนาคารแห่งประเทศไทย ซึ่งอีกหนึ่งในความคาดหวังที่เราอาจจะมีส่วนร่วม คือ หน้าที่ในการพัฒนาระบบการเงิน เพื่อตอบสนองต่อการเปลี่ยนแปลง และความต้องการของเศรษฐกิจในระยะต่อไป โดยถือเป็นอีกประเด็นที่เราให้ความสำคัญ และได้ผลิตบทวิจัย มานำเสนอ และรับฟังข้อคิดเห็นจากผู้เข้าร่วมสัมมนา
การดำเนินงานของธนาคารแห่งประเทศไทยกำลังเผชิญกับความท้าทายอย่างยิ่งอีกครั้งโดยหากมองจากใกล้ตัวออกไป เรากำลังเห็นทั้งการปรับตัวเพื่อเตรียมพร้อมในภาคการเงินและภาคการผลิต ภายใต้การรวมตัวของประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน อีกทั้งโลกในปัจจุบันที่รวมกันเป็นหนึ่งมากขึ้น ส่งผลให้รูปแบบของวิกฤตเศรษฐกิจการเงินเปลี่ยนไปจากเดิม รวมทั้งสามารถส่งผ่านผลกระทบต่าง ๆ มายังเศรษฐกิจในประเทศได้รวดเร็วขึ้น ซึ่งทั้งหมด ถือเป็นความท้าทายสำหรับธนาคารกลางที่จะต้องผสมผสานเครื่องมือทางการเงินรูปแบบต่างๆ ทั้งเก่าและใหม่ เพื่อดูแล ป้องกัน และลดทอนความเสี่ยงต่างๆ ให้เหมาะสมกับปัจจุบัน โดยส่วนผสมของมาตรการต่าง ๆ จะแตกต่างกันไปแล้วแต่กรณี โดยสำหรับไทยก็จะมีบทวิจัยที่ได้รวบรวมแนวคิดดังกล่าวมานำเสนอเช่นกัน
ดังนั้น เพื่อเป็นการเตรียมความพร้อมก่อนเข้าสู่ปีที่ 71 ผมหวังเป็นอย่างยิ่งว่า สัมมนาวิชาการในปีนี้ จะเป็นโอกาสดีที่ธนาคารแห่งประเทศไทยจะทบทวนบทบาทหน้าที่ เครื่องมือในการดำเนินงาน รวมทั้งการพัฒนาระบบการเงินที่ตอบสนองความต้องการในอนาคตร่วมไปกับสาธารณชน ว่า เรามีจุดแข็งอะไร สิ่งใดที่เราทำได้ดีแล้ว สิ่งใดที่ต้องมีการเปลี่ยนแปลง และควรเปลี่ยนอย่างไร ในทิศทางใด จึงนำมาสู่หัวข้อการสัมมนาประจำปีนี้เรื่อง “บทบาทหน้าที่ของธนาคารกลางท่ามกลางความเปลี่ยนแปลง”
ผมขอถือโอกาสนี้ ขอบคุณท่านผู้มีเกียรติทุกท่านที่ได้ให้เกียรติมาร่วมงานสัมมนาในครั้งนี้ และขอเชิญทุกท่านร่วมแลกเปลี่ยนความคิด มุมมอง ตลอดการสัมมนา ซึ่งธนาคารแห่งประเทศไทยพร้อมที่จะน้อมรับฟังคำแนะนำ และข้อคิดเห็นต่างๆ ที่จะเป็นประโยชน์ต่อการปรับปรุงการทำหน้าที่ธนาคารกลางของธนาคารแห่งประเทศไทยให้ดียิ่งขึ้น เพื่อบรรลุปณิธานของพวกเราที่จะมุ่งมั่นทำงานต่อไป “เพื่อความเป็นอยู่ที่ดีอย่างยั่งยืนของไทย”
ผมขอเปิดการสัมมนาวิชาการประจำปี 2555 ของธนาคารแห่งประเทศไทย ในหัวข้อเรื่อง “บทบาทหน้าที่ของธนาคารกลางท่ามกลางการเปลี่ยนแปลง” ณ บัดนี้
ขอบคุณครับ
ที่มา: ธนาคารแห่งประเทศไทย