FAQ Issue 30: พลังงานทดแทน: เพื่อเสริมสร้างความมั่นคงทางพลังงานของประเทศไทย

ข่าวเศรษฐกิจ Monday April 4, 2011 15:01 —ธนาคารแห่งประเทศไทย

FOCUSED AND QUICK (FAQ) Issue 30

พลังงานทดแทน เพื่อเสริมสร้างความมั่นคงทางพลังงานของประเทศไทย

เสาวณี จันทะพงษ์ คมสันติ์ ศรีคงเพ็ชร

Summary
ประเทศไทยได้ปรับปรุงประสิทธิภาพการใช้พลังงานในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา แต่ยังมีจุดอ่อนด้านการใช้พลังงานอยู่อีกหลายประการ ได้แก่ การปรับปรุงประสิทธิภาพฯ ที่ช้ากว่าประเทศอื่น อัตราการพึ่งพาการนำเข้าด้านพลังงานยังสูง การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของผู้บริโภคต่อการเปลี่ยนแปลงของราคาในตลาดโลกค่อนข้างน้อย ส่วนหนึ่งเพราะทางการยังคงอุดหนุนราคาพลังงานหลายชนิด ทั้งดีเซล ก๊าซ LPG และ NGV และแหล่งพลังงานค่อนข้างกระจุกตัว โดยใช้น้ำมันเชื้อเพลิงเป็นส่วนใหญ่ ขณะที่บทบาทของพลังงานทดแทน โดยเฉพาะพลังงานทดแทนที่สามารถหมุนเวียนมาใช้ได้อีก (Renewable energy) และเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมยังมีจำกัด

อย่างไรก็ดี ประเทศไทยมีศักยภาพที่จะผลิตพลังงานทดแทนเพิ่มขึ้นเนื่องจากเป็นประเทศเกษตรกรรม พืชพลังงานที่มีศักยภาพ ได้แก่ มันสำปะหลัง และอ้อย เพื่อนำไปเป็นส่วนผสมของแก๊สโซฮอล์ และปาล์มน้ำมัน เพื่อการผลิตไบโอดีเซล เพราะเป็นพืชที่ผลิตได้ในปริมาณที่มากพอ หาได้ง่าย ต้นทุนไม่สูงทั้งต่อหน่วยของวัตถุดิบและต่อพื้นที่ปลูก อีกทั้งการนำไปใช้ผลิตพลังงานจะไม่กระทบต่อการผลิตอาหารอย่างมีนัยสำคัญ

หากภาครัฐต้องการสนับสนุนการผลิตและใช้พลังงานทดแทนให้มากขึ้น ควรพิจารณายกเลิกเงินอุดหนุนก๊าซ LPG และ NGV ให้ความสำคัญกับการเพิ่มผลผลิตของวัตถุดิบพืชพลังงานต่อไร่ จัดแบ่งโซนพื้นที่การปลูกพืชพลังงานเพื่อให้สามารถใช้พืชที่มีการตัดแต่งพันธุกรรม (GMO) เพื่อวัตถุประสงค์ด้านพลังงานได้ และควรมีการออกพระราชบัญญัติเอทานอลเป็นการเฉพาะ แทนการใช้กฎหมายบังคับจำนวนหลายฉบับดังเช่นในปัจจุบัน

การใช้พลังงานของโลก

พลังงานเป็นปัจจัยสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจและส่งเสริมสวัสดิภาพและความผาสุกของประชาชน โดยทั่วไปปริมาณการใช้พลังงานมีความสัมพันธ์กับฐานะทางเศรษฐกิจของแต่ละประเทศ และเนื่องจากกลุ่มประเทศที่ไม่ใช่สมาชิก OECD มีอัตราการเจริญเติบโตที่รวดเร็ว องค์การพลังงานระหว่างประเทศ (IEA, 2010 จึงคาดการณ์ว่าในอีก 25 ปี คือในปี 2035 โครงสร้างการใช้พลังงานของโลกจะเปลี่ยนแปลงไป จากโครงสร้างเดิมในปี 2007 ซึ่งการใช้พลังงานของโลกอยู่ที่ 495 พันล้านล้าน BTU ครึ่งหนึ่งถูกใช้ในกลุ่มประเทศสมาชิก OECD และอีกครึ่งหนึ่งใช้ในกลุ่มประเทศที่ไม่ใช่สมาชิก OECD ในปี 2035 การใช้พลังงานของโลกคาดว่าจะอยู่ที่ 739 พันล้านล้าน BTU เพิ่มขึ้นประมาณร้อยละ 50 จากปี 2007 โดยส่วนใหญ่ประมาณร้อยละ 62 ถูกใช้ในกลุ่มประเทศที่ไม่ใช่

สมาชิก OECD โดยเฉพาะประเทศจีนและอินเดีย ที่เหลือร้อยละ 38 ใช้ในประเทศกลุ่มประเทศพัฒนาแล้วสมาชิก OECD (รูป 1)

การขยายตัวอย่างต่อเนื่องของความต้องการใช้พลังงานของโลก ประกอบกับข้อมูลการสำรวจวิจัยทางพลังงานระบุว่า น้ำมันปิโตรเลียมที่เราใช้กันทุกวันนี้คาดว่าจะหมดลงในอีก 40 ปีข้างหน้า ทำให้แต่ละประเทศต้องเตรียมตัวที่จะรับมือกับการเปลี่ยนแปลงและเร่งเสริมสร้างความมั่นคงทางพลังงาน เพราะจะมีผลกระทบต่อระบบเศรษฐกิจและคุณภาพชีวิตของประชาชนโดยส่วนรวม

การใช้พลังงานของไทย

ประเทศไทยเป็นประเทศหนึ่งที่ให้ความสำคัญกับความมั่นคงทางพลังงาน ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ประเทศไทยได้กำหนดนโยบายพลังงานเช่นเดียวกับในหลายๆ ประเทศ คือ ให้ราคาน้ำมันสำเร็จรูปในประเทศเปลี่ยนแปลงตามการเปลี่ยนแปลงของราคาน้ำมันในตลาดโลก พร้อมกับส่งเสริมเทคโนโลยีด้านการอนุรักษ์พลังงานและการใช้พลังงานทดแทนในรูปแบบใหม่ๆ แทนพลังงานจากน้ำมันปิโตรเลียม เพื่อลดการพึ่งพาการใช้น้ำมันซึ่งส่วนใหญ่ยังต้องนำเข้าจากต่างประเทศ ทำให้สูญเสียเงินตราต่างประเทศในปีหนึ่งๆ เป็นจำนวนมหาศาล และเมื่อใดราคาน้ำมันในตลาดโลกปรับตัวสูงขึ้นและผันผวนก็อาจส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่อเศรษฐกิจของประเทศ

หากเปรียบเทียบกับช่วงหลายปีที่ผ่านมา แนวโน้มที่ดีขึ้นของประเทศไทยในด้านการใช้พลังงานคือ ประเทศไทยมีการปรับปรุงประสิทธิภาพการใช้พลังงานเพิ่มขึ้น สะท้อนจาก Energy Elasticity (EE)*(1) ที่ต่ำลง โดยในช่วงหลังวิกฤตเศรษฐกิจ ปี 1998-2008 ค่า Energy Elasticity (EE) อยู่ที่ 0.86 ซึ่งหมายความว่าจะมีความต้องการใช้พลังงานเพิ่มขึ้น 0.86 หน่วยเพื่อผลิต GDP เพิ่มขึ้น 1.0 หน่วย เทียบกับระดับ 1.06 ในช่วงก่อนวิกฤตเศรษฐกิจปี 1986-1996 ประสิทธิภาพการใช้พลังงานที่ดีขึ้นเป็นผลจากการส่งเสริมการใช้เครื่องใช้ไฟฟ้าที่ติดฉลากประสิทธิภาพการใช้พลังงานเบอร์ 5 การปรับปรุงเครื่องจักรในโรงงานอุตสาหกรรม และมาตรการประหยัดพลังงานของทั้งทางการและภาคเอกชน

แม้กระนั้นก็ตาม ประเทศไทยยังมีจุดอ่อนด้านพลังงานอยู่อีกหลายประการ ที่สำคัญประการหนึ่งคือ การปรับปรุงประสิทธิภาพการใช้พลังงานของไทยช้ากว่าประเทศอื่น และปัจจุบันประสิทธิภาพการใช้น้ำมันของประเทศไทยอยู่ต่ำกว่าประเทศอื่นๆ อย่างชัดเจน ในขณะเดียวกัน

สัดส่วนมูลค่าการใช้พลังงานต่อผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ ณ ราคาตลาด (nominal GDP) อยู่ในระดับสูง โดยในปี 2009 อยู่ที่ร้อยละ 17.4 เพิ่มขึ้นจากร้อยละ 7.0 ในปี 1986 และประเทศไทยมีการพึ่งพาการนำเข้า (Import dependency) ด้านพลังงานอยู่ในระดับสูง โดยในช่วงปี 1998-2009 หลังวิกฤตเศรษฐกิจเอเชีย มูลค่าการนำเข้าพลังงานต่อ nominal GDP อยู่ที่ร้อยละ 8.2 สูงขึ้นกว่า 2 เท่าตัวจากเฉลี่ยร้อยละ 3.3 ของ nominal GDP ในช่วงปี 1987-1997 ก่อนเกิดวิกฤตเศรษฐกิจ ทั้งจากการอ่อนค่าของเงินบาทและการหดตัวของ GDP ในช่วงวิกฤตเศรษฐกิจ และจากการเพิ่มขึ้นของราคาน้ำมันในตลาดโลกในระยะต่อมา

นอกจากนี้ เป็นที่น่าสังเกตว่าในช่วงระหว่างปี 1987-2009 ปริมาณความต้องการนำเข้าน้ำมันปิโตรเลียมของไทยเพิ่มขึ้นเฉลี่ยร้อยละ 7.3 ต่อปี แม้ว่าราคานำเข้าน้ำมันดิบจะเพิ่มขึ้นเฉลี่ยร้อยละ 9.1 ต่อปี ในช่วงเวลาเดียวกัน สะท้อนให้เห็นว่าประเทศไทยต้องพึ่งพาการนำเข้าน้ำมันดิบจากต่างประเทศสูง ไม่ว่าระดับราคาจะเปลี่ยนแปลงไประดับใดก็ตาม และการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของผู้บริโภคในประเทศต่อการเปลี่ยนแปลงของราคาน้ำมันโลกยังมีค่อนข้างน้อย อาทิ ในช่วงปี 2003-2004 ราคาน้ำมันโลกปรับตัวสูงขึ้นเร็วต่อเนื่อง แต่ปริมาณการนำเข้าปิโตรเลียมของไทยยังขยายตัวมาก ส่วนหนึ่งเนื่องจากนโยบายของทางการที่ช่วยอุดหนุนราคาน้ำมันในประเทศ จากจุดอ่อนนี้ หากในอนาคตราคาน้ำมันสูงขึ้นและผันผวนย่อมส่งผลให้ประเทศไทยในภาพรวมต้องได้รับผลกระทบ และหากเกิดการขาดแคลนน้ำมันก็ยิ่งกระทบต่อความมั่นคงของประเทศทั้งเศรษฐกิจและสังคมอย่างมาก

อนึ่ง หากพิจารณาตามสาขาเศรษฐกิจพบว่า ภาคอุตสาหกรรมและภาคขนส่งใช้พลังงานมากที่สุด รองลงมาคือ บ้านที่อยู่อาศัย ธุรกิจการค้า และเกษตรกรรม ตามโดยในภาคขนส่ง เป็นการขนส่งทางบกถึงร้อยละ 79.4 และในส่วนนี้เกือบร้อยละ 80 เป็นการใช้รถยนต์ ขณะที่มีการจดทะเบียนรถยนต์ใหม่เพิ่มขึ้นทุกปี ทำให้ปริมาณการใช้น้ำมันเพิ่มขึ้นตามไปด้วย สอดคล้องกับแนวโน้มการใช้พลังงานในภาคขนส่งของโลกที่คาดว่าจะเพิ่มขึ้นร้อยละ1.3 ต่อปี โดยมีปัจจัยสนับสนุนที่สำคัญคือ การเพิ่มขึ้นของการเดินทางส่วนบุคคล (Personal travel) จากการเติบโตของเมืองและรายได้ที่สูงขึ้น สะท้อนจากการเพิ่มขึ้นของจำนวนพาหนะต่อรายได้ (Motornization) (EIA, 2010) นอกจากนี้ เมื่อรายได้เพิ่มขึ้นมักมีค่าใช้จ่ายการเดินทางทางอากาศเพิ่มขึ้นด้วย

จุดอ่อนที่สำคัญอีกประการคือ ประเทศไทยยังมีการกระจุกตัวของการพึ่งพาพลังงานบางประเภทกล่าวคือ ในระหว่างปี 2006-2010 การใช้พลังงานขั้นสุดท้ายของไทยมีปริมาณเฉลี่ย 66,375 พันตันเทียบเท่าน้ำมันดิบ ร้อยละ 81.7 เป็นการใช้พลังงานในเชิงพาณิชย์*(2)(ในส่วนนี้เกือบ ร้อยละ 50 เป็นการใช้น้ำมันสำเร็จรูป) และที่เหลือร้อยละ 18.3 เป็นการใช้พลังงานหมุนเวียน แต่เนื่องจากพลังงานแต่ละประเภทมีความเสี่ยงที่แตกต่างกัน ประเทศไทยจึงไม่ควรพึ่งพาพลังงานประเภทใดประเภทหนึ่ง แต่ควรกระจายความเสี่ยงด้านพลังงานโดยการแสวงหาแหล่งพลังงานอื่นๆ ที่ไทยมีศักยภาพต่อไป

การเติบโตของการใช้พลังงานทดแทน

พลังงานทดแทน คือ พลังงานที่ใช้แทนน้ำมันเชื้อเพลิง ซึ่งเป็นพลังงานหลักที่ใช้กันอยู่ทั่วไปในปัจจุบัน พลังงานทดแทนแบ่งออกเป็น 2 ประเภท คือ (1) พลังงานทดแทนจากแหล่งที่ใช้แล้วหมดไปเช่น ถ่านหิน แก๊สธรรมชาติ หินน้ำมัน และ (2) พลังงานทดแทนที่สามารถหมุนเวียนมาใช้ได้อีก

ในประเภทแรก ประเทศไทยพึ่งพาพลังงานจากก๊าซธรรมชาติพอสมควร พลังงานชนิดนี้ไทยสามารถผลิตได้ในปริมาณที่มากกว่าการใช้ โดย ณ สิ้นปี 2007 ไทยมีปริมาณสำรองก๊าซธรรมชาติที่พิสูจน์แล้ว (Proven gas reserve) 317 พันล้านลูกบาศก์เมตร แต่คาดว่าจะใช้ได้ต่อไปได้อีกประมาณ 25 ปีเท่านั้น ซึ่งถือว่ามีความเสี่ยงสูงด้านอุปทานของแหล่งพลังงาน ทำให้ประเทศไทยต้องแสวงหาก๊าซธรรมชาติเพื่อนำมาเป็นปริมาณสำรองก๊าซธรรมชาติเพิ่มเติมจากแหล่งอื่นๆ เช่น อิหร่าน กาตาร์ ออสเตรเลีย อินโดนีเซีย และรัสเซีย จากเดิมที่นำเข้าจากพม่าเพียงประเทศเดียว

พลังงานที่สำคัญอีกประเภทหนึ่ง คือพลังงานไฟฟ้า ซึ่งแม้ว่าจะเป็นพลังงานที่มีความมั่นคงมากกว่าพลังงานอื่นๆ เพราะประเทศไทยสามารถผลิตพลังงานไฟฟ้าได้จากหลายแหล่ง เช่น พลังงานน้ำ ลม แสงอาทิตย์ และชีวภาพ เป็นต้น แต่หากปริมาณความต้องการไฟฟ้ามีมากขึ้น ประเทศไทยคงต้องพิจารณาสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ ซึ่งมีข้อดีสำคัญคือเป็นแหล่งผลิตไฟฟ้าขนาดใหญ่สามารถให้กำลังผลิตสูงกว่า 1,200 เมกะวัตต์ ไม่ก่อให้เกิดมลพิษ และเสริมสร้างความมั่นคงของระบบผลิตไฟฟ้าเนื่องจากใช้เชื้อเพลิงน้อย แต่ยังไม่มีข้อยุติถึงความเหมาะสมและเป็นไปได้ ทั้งในแง่ของความสามารถควบคุมระบบโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ ความปลอดภัย ผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม การพึ่งพาต่างประเทศในการแต่งแร่ยูเรเนียมและการยอมรับจากประชาชน (Public acceptance)

ในขณะเดียวกัน แนวโน้มราคาน้ำมันที่สูงขึ้นและผันผวนทำให้ธุรกิจและประชาชนมีความตื่นตัวและเริ่มหาทางออกโดยหันไปพึ่งพาพลังงานทดแทนที่สามารถหมุนเวียนมาใช้ได้อีก (Renewable energy) เช่น พลังงานแสงอาทิตย์ ลม ชีวมวล น้ำ พลังงานกลุ่มนี้เป็นพลังงานที่ได้รับความสนใจในการศึกษาค้นคว้ามากเป็นพิเศษและเหมาะสมที่จะนำมาใช้ เนื่องจากสามารถช่วยแก้ไขปัญหาการขาดแคลนแหล่งพลังงานในอนาคต และช่วยลดปัญหาด้านมลพิษที่เกิดจากการใช้พลังงานในปัจจุบัน

เราจึงเห็นแนวโน้มการเพิ่มขึ้นของการใช้พลังงานทดแทนที่สามารถหมุนเวียนมาใช้ได้อีก ที่ประกอบด้วย ฟืน ถ่าน แกลบ กากอ้อย วัสดุเหลือใช้ทางการเกษตร ขยะ และก๊าซชีวภาพทดแทนการใช้พลังงานเชื้อเพลิงฟอสซิล จากข้อมูลย้อนหลัง 5 ปี (ปี 2006-2010) การใช้พลังงานหมุนเวียนของไทยมีปริมาณเฉลี่ยอยู่ที่ 12,151 พันตันเทียบเท่าน้ำมันดิบ เติบโตเฉลี่ยร้อยละ 4.4 ต่อปี ขณะที่การผลิตพลังงานหมุนเวียนและพลังงานอื่นๆ*(3) มีปริมาณเฉลี่ยอยู่ที่ 19,837 พันตันเทียบเท่าน้ำมันดิบ เติบโตเฉลี่ยร้อยละ 5.6 ต่อปี จะเห็นได้ว่าปริมาณการผลิตพลังงานประเภทนี้มีมากกว่าปริมาณการใช้ซึ่งแสดงถึงศักยภาพของประเทศไทยในการผลิตพลังงานทดแทนที่สามารถหมุนเวียนได้

ทั้งนี้ ประเทศไทยมีความได้เปรียบที่เป็นประเทศเกษตรกรรมและตั้งอยู่ในเขตภูมิศาสตร์ที่มีความพร้อมในการเพาะปลูกพืชพลังงานหลายชนิดที่มีศักยภาพนำมาพัฒนาเป็นพลังงานทดแทนน้ำมันจากฟอสซิลได้ โดยพืชที่มีความเป็นไปได้ที่จะนำมาผลิตพลังงานทดแทนแบ่งเป็น 4 กลุ่ม คือ (1) พืชที่ให้น้ำมัน ได้แก่ ปาล์มน้ำมัน สบู่ดำ ถั่วลิสง งา ทานตะวัน ละหุ่ง ถั่วเหลือง มะพร้าว (2) พืชที่ให้แป้ง ได้แก่ ข้าวเจ้า ข้าวโพด มันสำปะหลัง (3) พืชที่ให้น้ำตาล ได้แก่ อ้อย กากน้ำตาล หรือโมลาส และ (4) พืชที่ให้เส้นใย เช่น ฟางข้าว ชานอ้อย ซัง ข้าวโพด รำข้าว เศษไม้ ขี้เลื่อย วัชพืช รวมทั้งของเสียจากโรงงานอุตสาหกรรม อย่างไรก็ดี พืชที่มีความเหมาะสมจะเป็นวัตถุดิบในการผลิตพลังงานทดแทนมีเพียงบางชนิดเท่านั้น ขึ้นกับปัจจัยดังนี้

  • วัตถุดิบต้องมีปริมาณมากเพียงพอต่อการผลิต หาได้ง่าย ราคาถูก และไม่กระทบต่อการผลิตอาหาร
  • วัตถุดิบที่จะนำมาผลิตพลังงานทดแทนต้องให้ผลผลิตในสัดส่วนสูง ทั้งต่อหน่วยของวัตถุดิบและพื้นที่ปลูก
  • วัตถุดิบต้องไม่เป็นพิษต่อคน สัตว์ และสิ่งแวดล้อม

ทั้งนี้ เมื่อวิเคราะห์ถึงความเป็นไปได้และความเหมาะสมของพืชพลังงานในประเทศไทย พบว่า พืชที่เหมาะสมมากที่สุดที่จะเป็นวัตถุดิบแทนน้ำมัน คือ มันสำปะหลัง และอ้อย เพื่อผลิตเอทานอล นำไปใช้ผสมกับน้ำมันเบนซินเป็น "แก๊สโซฮอล์ (Gasohol)" ขณะที่พืชน้ำมัน ได้แก่ ปาล์มน้ำมัน มีศักยภาพมากที่สุดในการนำมาผลิต "ไบโอดีเซล (Biodiesel)" ใช้แทนน้ำมันดีเซล รองมาคือสบู่ดำ โดยพลังงานจากพืชดังกล่าวจะช่วยลดการนำเข้าน้ำมันดิบจากต่างประเทศและยังช่วยให้เกษตรกรที่ปลูกพืชพลังงานเหล่านี้มีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น

การใช้และการพัฒนาพลังงานทดแทนในไทยน่าจะมีทิศทางเติบโตอย่างต่อเนื่องในระยะต่อไป สะท้อนจากการได้รับอนุมัติส่งเสริมการลงทุนจาก BOI ในช่วง 5 ปีย้อนหลัง (ปี 2006-2010) มูลค่าเฉลี่ยปีละ 152,000 ล้านบาท หรือคิดเป็นสัดส่วนเฉลี่ยร้อยละ 31.9 ของเงินลงทุนทั้งหมด*(4) ในอุตสาหกรรมนี้

อุปสรรคในการเติบโตของพลังงานทดแทน

ภาครัฐพยายามจัดทำแผนการส่งเสริมพลังงานทดแทนที่เหมาะสมกับประเทศเพื่อกระจายชนิดเชื้อเพลิงและลดการพึ่งพาการนำเข้า ทั้งการส่งเสริมการใช้ก๊าซธรรมชาติ (NGV) แก๊สโซฮอล์ และไบโอดีเซลทดแทนน้ำมันเชื้อเพลิงในภาคขนส่งตามความเหมาะสมและศักยภาพด้านการพัฒนาพลังงานทดแทนของประเทศ รวมทั้งสนับสนุนการรับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน เช่น จากวัสดุเหลือใช้จากการเกษตร ของเสียจากอุตสาหกรรม ก๊าซชีวภาพ เป็นต้น ในสัดส่วนและราคาที่เหมาะสม รวมถึงการจัดตั้งองค์กรมหาชนเพื่อส่งเสริมการใช้พลังงานหมุนเวียนในชุมชนให้เกิดขึ้นอย่างจริงจังและยั่งยืน (มติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 21 พฤศจิกายน 2549) แต่การส่งเสริมการใช้และการผลิตพลังงานทดแทนยังไม่เติบโตเท่าที่ควร โดยมีปัญหาอุปสรรคของการพัฒนาพลังงานทดแทนดังนี้

1. ขาดแผนงานที่ชัดเจนและนโยบายเชิงรุกของภาครัฐในการส่งเสริมการใช้พลังงานทดแทน ทั้งในระยะสั้นและระยะยาว โดยการส่งเสริมการใช้ เอทานอล ที่สามารถสร้างความเชื่อมั่นให้กับผู้เกี่ยวข้อง ทั้งเกษตรกร ผู้ผลิตเอทานอล บริษัทน้ำมัน ผู้ผลิตรถยนต์ สถานีจำหน่ายน้ำมัน และผู้บริโภคประชาชนทั่วไป เช่น ปัจจุบันมีการใช้จริงเพียง 1.2 ล้านลิตรต่อวัน จากเป้าหมายที่กำหนดให้มีการใช้เอทานอล 3.0 ล้านลิตรต่อวันภายในปี 2554

2. ต้นทุนการผลิตสูงเนื่องจากวัตถุดิบที่ใช้ในการผลิตพลังงานทดแทนซึ่งเป็นสินค้าเกษตรมีราคาสูงและผันผวน รวมทั้งการแทรกแซงราคาของรัฐส่งผลต่อต้นทุนการผลิตเอทานอลและไบโอดีเซลสูง โดยเฉพาะต้นทุนการผลิตเอทานอล

3. ปัญหาของระบบการขนส่ง (Logistics) ทั้งการขนส่งวัตถุดิบที่ใช้ในการผลิต การขนส่งเอทานอลและน้ำมันแก๊สโซฮอล์ไปยังสถานีผสมน้ำมันและสถานีจำหน่ายน้ำมันที่ไม่สะดวก มีค่าใช้จ่ายสูง ทำให้มีภาระต้นทุนการผลิตโดยรวมของระบบสูงเกินความจำเป็น

ปัญหาอุปสรรคหลายประการซึ่งต้องอาศัยความร่วมมือทั้งภาครัฐและเอกชนในการแก้ไขเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงานและการใช้พลังงานทดแทนให้มากขึ้นให้เป็นไปตามเป้าหมายที่วางไว้และก้าวไกลออกไปเป็นผู้นำในภูมิภาค ควรมีแนวทางแก้ไขดังนี้

1.การกำหนดแผนการสนับสนุนและส่งเสริมการใช้เอทานอลเพื่อใช้เป็นพลังงานทดแทนอย่างชัดเจน เช่น การสนับสนุนและส่งเสริมการใช้แก๊สโซฮอล์อย่างจริงจัง การยกเลิกน้ำมันเบนซินธรรมดา การยกเลิกเงินอุดหนุนก๊าซ LPG และ NGV โดยปล่อยให้ราคาเป็นไปตามกลไกของตลาด เนื่องจากการที่รัฐเข้ามาอุดหนุนราคาก๊าซ LPG และ NGV ส่งผลให้มีราคาต่ำกว่าที่ควรจะเป็น ทำให้ผู้ใช้รถยนต์บางส่วนหันมาปรับแต่งเครื่องยนต์เพื่อใช้ก๊าซ LPG และ NGV

2.การเพิ่มผลผลิตของวัตถุดิบต่อไร่และการพัฒนากระบวนการผลิตเอทานอลให้มีประสิทธิภาพโดยสามารถใช้วัตถุดิบที่หลากหลายขึ้น เพื่อไม่ให้เกิดการพึ่งพาวัตถุดิบประเภทใดประเภทหนึ่งมากเกินไป และให้สอดคล้องกับราคาและปริมาณความต้องการวัตถุดิบ

3.การจัดแบ่งโซนพื้นที่การปลูกพืชพลังงานระหว่างการใช้เป็นอาหารและใช้เป็นวัตถุดิบอย่างชัดเจน โดยพืชที่ใช้เป็นวัตถุดิบในการผลิตพลังงานทดแทนสามารถใช้พืชที่มีการตัดแต่งพันธุกรรม (GMO) ได้

4.การมีพระราชบัญญัติเอทานอลเป็นการเฉพาะ เพื่อให้การบริหารจัดการในการจัดหาและจำหน่ายเอทานอลมีประสิทธิภาพและมีความชัดเจนมากยิ่งขึ้น เนื่องจากปัจจุบันเอทานอลเกี่ยวข้องกับกฎหมายหลายฉบับ เช่น พระราชบัญญัติสุรา พ.ศ. 2493 และพระราชบัญญัติการค้าน้ำมันเชื้อเพลิง พ.ศ. 2543

*(1) ประสิทธิภาพการใช้พลังงานวัดจากอัตราการเปลี่ยนแปลง การใช้พลังงานต่ออัตราการเปลี่ยนแปลง GDP (Energy Elasticity: EE) (สำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน, กระทรวงพลังงาน)

*(2) ตามนิยามของกระทรวงพลังงานที่แบ่งการใช้พลังงานเป็น 2 ประเภท คือ (1) พลังงานในเชิงพาณิชย์ ได้แก่ น้ำมันสำเร็จรูป ไฟฟ้า ถ่านหิน/ลิกไนท์ และก๊าซธรรมชาติ (2) พลังงานหมุนเวียน

*(3) พลังงานหมุนเวียนและพลังงานอื่นๆ ประกอบด้วย ฟืน แกลบ กากอ้อย วัสดุเหลือใช้ทางการเกษตร ขยะ ก๊าซชีวภาพ เชื้อเพลิงชีวภาพ แบล็คลิเคอ และก๊าซเหลือใช้จากขบวนการผลิต

*(4) ในส่วนนี้เป็นการลงทุนในภาคตะวันออกเฉียงเหนือมูลค่าเฉลี่ยปีละ 11,000 ล้านบาท เฉพาะปี 2010 มีโครงการที่ได้รับอนุมัติส่งเสริมการลงทุนจาก BOI จำนวน 28 โครงการเป็นโครงการผลิตพลังงานไฟฟ้าจากลม แสงอาทิตย์ ชีวมวลและชีวภาพ คิดเป็นเงินลงทุน 26,093.4 ล้านบาท และจำนวน 5 โครงการเป็นโครงการผลิตเอทานอล คิดเป็นเงินลงทุน 11,973 ล้านบาท ส่วนใหญ่กระจุกอยู่ในสามจังหวัดหลัก คือ นครราชสีมา ขอนแก่น และอุบลราชธานี ปัจจัยสำคัญที่ทำให้มีการตั้งโครงการในภาคตะวันออกเฉียงเหนือคือ ทำเลที่ตั้งที่ใกล้กับแหล่งวัตถุดิบ และเป็นแหล่งผลิตพืชผลทางการเกษตรที่สามารถนำมาใช้ผลิตเป็นวัตถุดิบ

บทความนี้สำเร็จลุล่วงไปได้ด้วยดีเพราะความช่วยเหลือและคำแนะนำจากคุณรุ่ง มัลลิกะมาส คุณอัมพร นิติกิจไพบูลย์ และคุณเจษฎาภรณ์ ถาอุปชิต ผู้เขียนขอขอบพระคุณเป็นอย่างสูงมา ณ ที่นี้

Contact authors:

Saovanee Chantapong

Chief economist

SaovaneC@bot.or.th

Komsan Srikongpetch

Senior economist

KomsanS@bot.or.th

Northeastern Region Office

References

กรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน, กระทรวงพลังงาน. (2005). รายงานพลังงานของประเทศไทย

กรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน, กระทรวงพลังงาน. (2009). รายงานพลังงานของประเทศไทย

สำนักนโยบายและแผนพลังงาน, กระทรวงพลังงาน. (2006). แผนปฏิบัติการด้านนโยบายและแผนพัฒนาพลังงานของประเทศ, วารสารนโยบายพลังงาน, ฉบับที่ 74 ตุลาคม-ธันวาคม

สำนักนโยบายและแผนพลังงาน, กระทรวงพลังงาน. (2009). พืชพลังงานเพื่อความมั่นคงพลังงานไทย, Energy Learning Zone, วารสารนโยบายพลังงาน, ฉบับที่ 83 มกราคม-มีนาคม

สำนักนโยบายและแผนพลังงาน, กระทรวงพลังงาน. (2010). รายงานสถิติพลังงานของประเทศไทย

สมบัติ ทีฑทรัพย์, รศ. ดร. (2010). พลังงานทางเลือกของคนเมืองในยุควิกฤตพลังงาน, วารสารนโยบายพลังงาน, ฉบับที่ 88 เมษายน-มิถุนายน

เสมอใจ ศุขสุเมฆ. (2005). การอนุรักษ์พลังงานด้านการขนส่ง (Energy in Transport), วารสารนโยบายพลังงาน, ฉบับที่ 70 ตุลาคม-ธันวาคม

สมพร จองคำ, ดร.และอารีรัตน์ คอนดวงแก้ว, (2011). โรงไฟฟ้านิวเคลียร์, บทความสมาคมนิวเคลียร์แห่งประเทศไทย (Nuclear Society of Thailand Articles)

U.S. Energy Information Administration (EIA). (2010). International Energy Outlook 2010, July

สิริวุทธิ์ เสียมภักดี. (2552). อุตสาหกรรมเอทานอล ไทย ปัญหา อุปสรรค และแนวทางการส่งเสริมพัฒนา, สมาคมแป้งมันสำปะหลังไทย

ที่มา: ธนาคารแห่งประเทศไทย


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ