FAQ Issue 29: แนวโน้มราคายางในปี 2554

ข่าวเศรษฐกิจ Monday March 28, 2011 14:20 —ธนาคารแห่งประเทศไทย

FOCUSED AND QUICK (FAQ) Issue 29

แนวโน้มราคายางในปี 2554

พสุธา ระวังสุข

Summary

ราคายางปรับตัวสูงขึ้นมากในปีที่ผ่านมา แต่กลับลดลงอย่างรวดเร็วในช่วงต้นปีนี้ ซึ่งอาจเป็นข้อกังวลของเกษตรกรที่รายได้ขึ้นอยู่กับราคายาง อย่างไรก็ดี เมื่อวิเคราะห์ปัจจัยต่างๆ แล้วพบว่าการลดลงของราคายางน่าจะเป็นแค่สถานการณ์ชั่วคราว โดยราคายางคาดว่าจะปรับเพิ่มขึ้นไปอยู่ในระดับที่สูงกว่าปัจจุบัน แม้อาจไม่สูงเทียบเท่ากับ peak ที่ผ่านมาก็ตาม อย่างไรก็ดี ในภาพรวมราคายางคาดว่าจะแกว่งตัวมากกว่า 2-3 ปีที่ผ่านมา

ปี 2553 เป็นปีทองของยางพารา เพราะราคายางแผ่นดิบสูงกว่าในปี 2552 กว่าร้อยละ 70 โดยเป็นผลจากหลายปัจจัยประกอบกัน ทว่าในเดือนมีนาคม 2554 ราคายางกลับลดลงอย่างรุนแรง ซึ่งทำให้เกิดคำถามว่าราคายางในช่วงที่เหลือของปีนี้จะเป็นอย่างไร และภายใต้แนวโน้มราคายางดังกล่าว ทางการไทยและเกษตรกรไทยควรมีการเตรียม พร้อมรับมืออย่างไร

ปัจจัยที่ส่งผลต่อราคายาง

ปัจจัยที่ส่งผลต่อราคายางประกอบด้วยปัจจัยด้านอุปสงค์ อุปทาน และแรงกดดันเพิ่มเติมจากราคาน้ำมันและความต้องการลงทุนในสินค้า โภคภัณฑ์ ซึ่งในปี 2553 ปัจจัยเหล่านี้ร่วมกันสร้างแรงกดดันให้ราคายางพุ่งสูงขึ้น

(1) อุปสงค์ขยายตัวเร็วกว่าอุปทาน ทั้งนี้ International Rubber Study Group (IRSG) ให้ ข้อมูลว่าความต้องการใช้ยางพาราของโลกในปี 2553 อยู่ที่ 10,455 พันเมตริกตัน เพิ่มขึ้นร้อยละ 10.9 จากปี 2552 ตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก ซึ่งส่งผลให้อุตสาหกรรมรถยนต์เติบโต โดยเฉพาะในจีนที่ยอดจำหน่ายรถยนต์ใหม่ขยายตัวถึงร้อยละ 32.4 จากปีก่อนหน้า ความต้องการใช้ยางพาราเพื่อนำไปใช้ผลิตยางล้อจึงเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วตามไปด้วย ในขณะที่ผลผลิตยางพาราของโลกอยู่ที่ 10,137 พันเมตริกตันในปี 2553 ต่ำกว่าระดับความต้องการในปีเดียวกัน (ตารางที่ 1) และขยายตัวจากปีก่อนร้อยละ 5.4 ช้ากว่าอัตราการขยายตัวของความต้องการ ส่วนหนึ่งเป็นผลจากการที่ประเทศผู้ผลิตประสบปัญหาสภาพอากาศไม่อำนวย เช่น ในประเทศไทยที่เป็นผู้ผลิตอันดับ 1 ของโลก ผลผลิตยางจากข้อมูลเบื้องต้นของสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรอยู่ที่ประมาณ 3.05 ล้านตันในปี 2553 ลดลงจาก 3.16 ล้านตันในปี 2552 เนื่องจากภาวะภัยแล้งในช่วงต้นปีทำให้ปริมาณน้ำยางของต้นยางที่ได้รับผลกระทบจากภัยแล้งลดลง ต่อมาในไตรมาสที่ 4 เกิดฝนตกชุกและน้ำท่วมในพื้นที่ภาคใต้ซึ่งเป็นแหล่งผลผลิตหลัก สะท้อนได้จากปริมาณฝนที่ตกในภาคใต้ฝั่งตะวันออกเฉลี่ย 400 มิลลิเมตรต่อเดือนในไตรมาสที่ 4 ปี 2553 เทียบกับ 200 มิลลิเมตรต่อเดือนในปี 2552 ทำให้เกษตรกรไม่สามารถกรีดยางได้เต็มที่ ประกอบกับต้นยางบางส่วนถูกพายุพัดล้มหรือเป็นโรคใบร่วงภายหลังถูกน้ำท่วมขัง

ตารางที่ 1 อุปสงค์และอุปทานยางโลก

หน่วย : พันเมตริกตัน

  ปี         2551    2552   2553E    2554E    2555E
อุปทาน     10,042   9,622  10,137   10,669   11,281
อุปสงค์     10,200   9,425  10,455   10,861   11,271
Balance     -158     237    -318     -192       10
สต็อก       1,490   1,915   1,597    1,405    1,415
ที่มา : IRSG; EIU E: Estimate

อุปสงค์ที่ขยายตัวเร็วกว่าอุปทานนำไปสู่การลดลงของสต็อกยางโลก โดยเฉพาะในญี่ปุ่น และจีนที่สต็อกยางลดลงมาอยู่ในระดับต่ำกว่าค่าเฉลี่ย 5 ปีอย่างมากและต่อเนื่อง ต่อมาในช่วงก่อนเข้าสู่เทศกาลปีใหม่และตรุษจีนจึงมีการเร่งซื้อยางเก็บเข้าสต็อก ซึ่งผลักดันให้ราคายางยิ่งเพิ่มสูงขึ้นเร็วในช่วงดังกล่าว

(2) ราคาน้ำมันที่สูงขึ้นทำให้ราคาของยางสังเคราะห์ซึ่งเป็นสินค้าทดแทน (substitute) ของยางธรรมชาติแพงขึ้น เนื่องจากน้ำมันเป็นวัตถุดิบในการผลิตยางสังเคราะห์ ทำให้ผู้ผลิตปรับมาใช้ยางธรรมชาติมากขึ้น ส่งผลให้ราคายางธรรมชาติสูงขึ้นไปด้วย ทั้งนี้ราคาน้ำมันที่เพิ่มสูงขึ้นกว่า 100 ดอลลาร์ สรอ./บาร์เรล เป็นผลจากการขยายตัวของเศรษฐกิจโลก ประกอบกับสถานการณ์ความไม่สงบในตะวันออกกลางและลิเบียซึ่งเป็นประเทศผู้ผลิตน้ำมัน

(3) การลงทุนในสินค้าโภคภัณฑ์ (Commodity) และการป้องกันความเสี่ยงจากการเปลี่ยนแปลงของราคามีมากขึ้น จากการคาดการณ์ว่าผลผลิตจะลดลงเพราะปัญหาภัยธรรมชาติที่เกิดบ่อยขึ้น ขณะที่ความต้องการใช้ยางยังมีอย่างต่อเนื่อง ซึ่งจะทำให้ผลของ negative supply shock ทวีความรุนแรงขึ้น ผู้ประกอบการยางจึงหันไปทำธุรกรรมในตลาดล่วงหน้าเพื่อป้องกันความเสี่ยงมากขึ้น ขณะเดียวกันนักลงทุนก็สนใจเข้าไปเก็งกำไรในช่วงที่ราคายางเป็นขาขึ้น ดูได้จากปริมาณการซื้อขายในตลาดซื้อขายสินค้าล่วงหน้าโตเกียว (TOCOM) ที่เพิ่มขึ้นในช่วงไตรมาสที่ 4 ของปี 2553 จากปกติเดือนละ 100,000 กว่าสัญญา เป็น 300,000 กว่าสัญญา

ราคายางในปี 2554

ในช่วง 2 เดือนแรกของปี 2554 ราคายางยังอยู่ในระดับสูงและมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นโดยราคาซื้อขายยางแผ่นดิบที่ตลาดกลางยางพาราหาดใหญ่เฉลี่ยอยู่ที่กิโลกรัมละ 154.60 บาทในเดือนมกราคม ก่อนขยับสูงขึ้นเป็น 174.44 บาทต่อกิโลกรัมในเดือนกุมภาพันธ์ และทำสถิติสูงที่สุดที่ 183.64 บาทต่อกิโลกรัมเมื่อวันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2554 แต่ต่อมาราคายางได้ปรับลดลงอย่างรวดเร็ว จนต่ำกว่า 100 บาทต่อกิโลกรัมเป็นครั้งแรกในรอบ 12 เดือน และยิ่งปรับต่ำลงเมื่อเกิดเหตุการณ์แผ่นดินไหวครั้งรุนแรงในญี่ปุ่นเมื่อวันศุกร์ที่ 11 มีนาคม 2554

สาเหตุสำคัญที่ส่งผลให้ราคายางลดลงอย่างรุนแรงได้แก่ 1) ความต้องการซื้อยางจากจีนที่ลดลงหลังได้เร่งนำเข้าเพื่อสะสมสต็อกในช่วงก่อนหน้านี้ 2) การเทขายทำกำไรในตลาดล่วงหน้าของนักลงทุน หลังจากที่ราคาในช่วงที่ผ่านมาเพิ่มขึ้นสูงมากแล้ว 3)ความกังวลเกี่ยวกับ outlook ของเศรษฐกิจโลกและความต้องการยางทั้งจากเหตุการณ์ความไม่สงบในตะวันออกกลางและลิเบียที่อาจส่งผลถึงราคาน้ำมัน ตลอดจนอุตสาหกรรมรถยนต์และการใช้ยางในที่สุด และจากเหตุการณ์แผ่นดินไหวในญี่ปุ่นซึ่งอาจมีผลต่อเศรษฐกิจโลก อุตสาหกรรมรถยนต์ และความต้องการยางเช่นกัน โดยเฉพาะเมื่อญี่ปุ่นเป็นประเทศที่บริโภคยางเป็นอันดับ 4 ของโลก และเป็นผู้ผลิตรถยนต์รายใหญ่ ทั้งนี้ เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นส่งผลให้โรงงานผลิตรถยนต์ปิดชั่วคราวและชะลอการรับซื้อยาง 4) ผลผลิตยางไม่ได้ลดลงตามที่คาดการณ์ไว้ก่อนหน้านี้ สาเหตุเพราะฤดูการผลัดใบทางภาคใต้ของประเทศไทยล่าช้ากว่าทุกปี และราคายางที่อยู่ในระดับสูงในช่วงก่อนหน้านี้ทำให้เกษตรกรไม่หยุดกรีดในช่วงยางผลัดใบ

อย่างไรก็ดี ราคายางที่ปรับลดลงมาต่ำกว่า 100 บาทต่อกิโลกรัมน่าจะเป็นเพียงเหตุการณ์ชั่วคราว และแนวโน้มราคายางในช่วงที่เหลือของปี 2554 คาดว่าจะกลับไปอยู่ในระดับค่อนข้างสูง เพราะแม้เหตุการณ์ความไม่สงบในตะวันออกกลางและลิเบีย รวมถึงภัยธรรมชาติในญี่ปุ่น ทำให้มีความไม่แน่นอนใน outlook ของเศรษฐกิจโลกเพิ่มขึ้น แต่คงเป็นปัจจัยระยะสั้น โดยเฉพาะเหตุการณ์ในญี่ปุ่น เพราะล่าสุดโรงงานผลิตรถยนต์ได้ทยอยเปิดทำการผลิตแล้ว อีกทั้งราคาน้ำมันในระดับปัจจุบันยังไม่น่าที่จะมีผลกระทบสำคัญต่อแนวโน้มการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก*(1) นอกจากนี้ ราคาน้ำมันที่สูงขึ้นทำให้มีการหันมาใช้ยางธรรมชาติมากขึ้น ซึ่งหมายความว่าความต้องการใช้ยางธรรมชาติของโลกจะยังเติบโตอย่างต่อเนื่อง โดย IRSG คาดว่าความต้องการใช้ของโลกในปี 2554 จะอยู่ประมาณ 10,861 พันเมตริกตัน หรือเพิ่มขึ้นจากปีก่อนร้อยละ 4.0 ขณะที่ผลผลิตยางธรรมชาติของโลกยังมีน้อยกว่าความต้องการใช้ แม้ว่าได้มีการขยายพื้นที่เปิดกรีดใหม่ในประเทศผู้ผลิตหลัก ทั้งไทย อินโดนีเซีย และมาเลเซีย ประกอบกับราคายางที่เพิ่มสูงขึ้นเป็นแรงจูงใจให้เกษตรกรเร่งกรีดยางเพิ่มขึ้นก็ตาม โดยในปี 2554 คาดว่าจะมีผลผลิตทั้งสิ้น 10,669 พันเมตริกตัน เพิ่มขึ้นจากปีก่อนร้อยละ 5.2

แนวโน้มที่กล่าวมาสอดคล้องกับราคาซื้อขายยางแผ่นรมควันชั้น 3 ที่มีสัญญาส่งมอบในเดือนตุลาคม 2554 ในตลาดสินค้าเกษตรล่วงหน้าไทย (AFET) ณ วันที่ 25 มีนาคม 2554 ที่กิโลกรัมละ 161.00 บาท ราคาล่วงหน้าที่ตลาดซื้อขายสินค้าล่วงหน้าโตเกียว (TOCOM) ส่งมอบเดือนสิงหาคม 2554 ที่กิโลกรัมละ 162.96 บาท และราคาล่วงหน้าในตลาดแลกเปลี่ยนสินค้าโภคภัณฑ์สิงคโปร์ (SICOM) ส่งมอบเดือนธันวาคม 2554 ที่กิโลกรัมละ 164.51 บาท ซึ่งสูงกว่าราคาในปัจจุบันทั้งสิ้น

โอกาสและความเสี่ยงของชาวสวนยางไทย

ราคายางที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วตั้งแต่ปี 2553 จนถึงต้นปี 2554 ทำให้รายได้ของเกษตรกรชาวสวนยาง (Farm Income) เพิ่มขึ้นมาก โดยชาวสวนยางได้รับรายได้อย่างเต็มเม็ดเต็มหน่วย เพราะในปัจจุบันตลาดยางมีลักษณะเป็นตลาดของผู้ขาย จากผลผลิตที่ไม่เพียงพอกับความต้องการใช้

ดังที่กล่าวมาแล้ว แต่ประเด็นที่ผู้เกี่ยวข้องควรตระหนัก คือ แม้ในภาพรวมราคายางน่าจะยังอยู่ในระดับสูงต่อไป แต่ราคายางมักมีความผันผวนมากกว่าราคาของพืชเศรษฐกิจอื่น (ตารางที่ 2) และในระยะหลัง ราคายางมีแนวโน้มที่จะผันผวนมากขึ้น

ตารางที่ 2 : ความผันผวนราคาสินค้าเกษตร

หน่วย : ร้อยละ

สินค้า               เฉลี่ย 2550 - 2553
ยางแผ่นรมควันชั้น  3          27.41
ข้าวขาว 5%                 16.87
มันสำปะหลังเส้น               8.70
ที่มา : ตลาดซื้อขายสินค้าเกษตรล่วงหน้าแห่งประเทศไทย

เมื่อเป็นเช่นนี้ เกษตรกรควรระมัดระวังในการก่อหนี้ โดยเฉพาะหนี้จากการซื้อสินค้าคงทน อาทิ รถยนต์ ทั้งนี้ ยอดจดทะเบียนรถยนต์ขยายตัวสูงต่อเนื่องตั้งแต่ต้นปี 2553 เป็นต้นมา นอกจากนี้ หากเกษตรกรและผู้ประกอบการ ไม่ต้องการรับความผันผวนของราคาที่อยู่ในระดับสูง ควรใช้ประโยชน์จากข้อมูลและการทำธุรกรรมในตลาดซื้อขายสินค้าล่วงหน้า เพื่อป้องกันความเสี่ยงอย่างเหมาะสม

*(1) ณ วันที่ 28 มีนาคม 2554 ราคาน้ำมันดูไบและ WTI อยู่ที่ 108.74 และ 104.00 ดอลลาร์ สรอ./บาร์เรล ตามลำดับ ซึ่งยังต่ำกว่าระดับที่สำนักวิจัยต่างๆ ประเมินว่าจะส่งผลกระทบสำคัญต่อเศรษฐกิจโลกและเอเชีย อาทิ Bank of America ประเมินว่าราคาน้ำมันน่าจะต้องพุ่งขึ้นไปถึงระดับ 120-130 ดอลลาร์ สรอ./บาร์เรล จึงจะมีผลสำคัญต่อการขยายตัวของ EMEs ขณะที่ Deutsche Bank เห็นว่าระดับที่ 115-120 ดอลลาร์ สรอ./บาร์เรล อาจเริ่มมีนัยสำคัญต่อเศรษฐกิจของประเทศในเอเชีย

Contact author:

Pasutha Rawangsuk

Senior Economist

Southern Region Office

pasuthar@bot.or.th

บทความนี้สำเร็จลุล่วงได้ด้วยความช่วยเหลือและคำแนะนำจากคุณรุ่ง มัลลิกะมาส คุณนพดล บูรณะธนัง และคุณอุษณี ปรีชม ผู้เขียนขอขอบพระคุณเป็นอย่างสูงมา ณ ที่นี้

ที่มา: ธนาคารแห่งประเทศไทย


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ