FAQ Issue 24: การลดค่าเงินครั้งล่าสุดของประเทศเวียดนาม

ข่าวเศรษฐกิจ Monday February 21, 2011 16:05 —ธนาคารแห่งประเทศไทย

FOCUSED AND QUICK (FAQ) Issue 24

การลดค่าเงินครั้งล่าสุดของประเทศเวียดนาม

นุวัต หนูขวัญ

Summary

การประกาศลดค่าเงินดองอีกครั้งของธนาคารกลางเวียดนามไม่ได้อยู่เหนือความคาดหมายของตลาด และสาเหตุของการลดค่าเงินก็ไม่ได้แตกต่างจากครั้งที่ผ่านๆ มา กล่าวคือ เป็นผลจากปัญหาเสถียรภาพด้านต่างประเทศ ทั้งการขาดดุลการชำระเงินอย่างต่อเนื่อง ระดับทุนสำรองฯ ที่หดหายไปเรื่อยๆ และการลดลงของความเชื่อมั่นในการถือครองเงินดอง ในขณะเดียวกัน เวียดนามยังต้องเผชิญกับเงินเฟ้อที่เร่งตัวขึ้น เห็นทีทางการเวียดนามคงต้องหันมามองปัญหาเชิงโครงสร้าง รวมถึงเสถียรภาพทางเศรษฐกิจ ให้มากขึ้นกว่าที่จะแก้ปัญหาแบบระยะสั้นเช่นนี้เรื่อยไป

ในวันที่ 11 กุมภาพันธ์ 2554 ธนาคารกลางเวียดนามประกาศลดค่าเงินดองมาอยู่ที่ 20,693 จาก 18,932 ดองต่อดอลลาร์ สรอ. ซึ่งใช้มาตั้งแต่เดือนสิงหาคม 2553 คิดเป็นการอ่อนค่าลงร้อยละ 8.5 รวมทั้งได้ปรับกรอบการซื้อขายเงินดองของธนาคารพาณิชย์ให้แคบลงจาก +-3% เป็น +-1%

การลดค่าเงินดองรอบนี้เป็น การลดค่าเงินครั้งที่ 6 นับตั้งแต่เดือนมิถุนายน 2551 ซึ่งก็ไม่ได้อยู่เหนือการคาดการณ์ของตลาดแต่อย่างใด โดยเฉพาะเมื่อพิจารณาจากอัตราแลกเปลี่ยนล่วงหน้าและในตลาดมืด ซึ่งอ่อนค่ากว่าค่าเงินที่ทางการกำหนดอยู่มากในช่วงก่อนหน้า อย่างไรก็ดี สิ่งที่แตกต่างจากครั้งก่อนๆ คือ ครั้งนี้ธนาคารกลางเวียดนามประกาศด้วยว่าจะกำหนดค่ากลาง (Reference rate) ของกรอบการซื้อขายใหม่ทุกวัน ซึ่งจะคำนวณจากอัตราแลกเปลี่ยนเฉลี่ยในตลาด Interbank ของวันทำการก่อนหน้า จากเดิมที่ตรึงค่ากลางไว้คงที่ที่ 18,932 ดองต่อดอลลาร์ สรอ. การปรับให้ Reference rate เปลี่ยนแปลงได้ทุกวันบ่งชี้ถึงความต้องการเพิ่มความยืดหยุ่นให้แก่ค่าเงินดอง โดยค่าเงินสามารถเคลื่อนไหวไปในลักษณะของ Crawling band เพื่อให้สะท้อนภาวะตลาดและปัจจัยพื้นฐานได้มากขึ้นกว่าเดิม คล้ายๆ กับกรณีของประเทศจีน

ธนาคารกลางเวียดนามชี้แจงเหตุผลของการลดค่าเงินว่า เพื่อให้ค่าเงินดองมีความสอดคล้องกับภาวะอุปสงค์และอุปทานในตลาดเงินตราต่างประเทศและเพิ่มสภาพคล่องของตลาด ซึ่งจะนำไปสู่การแก้ไขปัญหาการขาดดุลการค้าและช่วยให้สามารถดำเนินนโยบายการเงินได้อย่างยืดหยุ่นและเต็มที่มากขึ้น

ปัญหาด้านเสถียรภาพของเศรษฐกิจเวียดนามเป็นแรงกดดันต่อค่าเงินมาโดยตลอด

ในช่วงที่ผ่านมา เวียดนามประสบปัญหา เสถียรภาพหลายด้าน โดยเฉพาะการขาดดุล การค้าอย่างต่อเนื่องที่น่าจะเป็นผลเชิงโครงสร้างของระบบเศรษฐกิจที่มีการนำเข้าสินค้าทุน เครื่องจักร และวัตถุดิบ เช่น เหล็ก ผ้า (Fabrics) รวมถึงอิเล็กทรอนิกส์ และปิโตรเลียมในสัดส่วนที่สูง (คิดเป็นร้อยละ 42.8 ของมูลค่าการนำเข้าทั้งหมดในปี 2553) ในขณะที่สินค้าส่งออกยังเป็นสินค้าที่มีความซับซ้อนไม่มากนักและมีมูลค่าเพิ่มต่ำ เช่น สิ่งทอ รองเท้า น้ำมันดิบ และสินค้าประมง (คิดเป็นร้อยละ 36.5 ของมูลค่าการส่งออกทั้งหมดในปี 2553) ส่งผลให้เวียดนามขาดดุลการค้าถึง 12,246 และ 12,374 ล้านดอลลาร์ สรอ. ในปี 2552 และ 2553 ตามลำดับ

นอกจากนี้ การลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (FDI)*(1) และการส่งเงินกลับจาก ต่างประเทศ (Remittances) ซึ่งเคยช่วยรองรับการขาดดุลการค้า ได้ปรับลดลงอย่างรวดเร็วในช่วงวิกฤตเศรษฐกิจโลกครั้งล่าสุด ทำให้เวียดนามต้องเผชิญกับปัญหาการขาดดุล การชำระเงินที่รุนแรง

ในขณะเดียวกัน ความเชื่อมั่นในค่าเงินดองเสื่อมถอยลงเป็นลำดับ ส่วนหนึ่งจากอัตราเงินเฟ้อที่เร่งตัวขึ้นตั้งแต่ช่วงปลายปี 2552 จนสูงถึงร้อยละ 12.2 ในเดือนมกราคม 2554 ทั้งนี้ การคาดการณ์ว่าทางการเวียดนามอาจลดค่าเงินลงอีกในระยะต่อไป ซึ่งจะทำให้อัตราเงินเฟ้อยิ่งสูงขึ้น เป็นปัจจัยสำคัญที่ส่งผลต่อความเชื่อมั่นในการถือครองเงินดอง นักลงทุนจึงหันไปถือเงินดอลลาร์ สรอ. หรือทองคำแทน ซึ่งมีผลทำให้สภาพคล่องเงินดอลลาร์ สรอ. ตึงตัว นอกจากนั้น เสถียรภาพด้านการคลังที่ไม่ดีนักจากระดับหนี้สาธารณะที่สูง เป็นปัจจัยซ้ำเติมความเชื่อมั่นต่อเงินดองนอกเหนือจากวิกฤตดุลการชำระเงินและปัญหาเงินเฟ้อที่ได้กล่าวมาข้างต้น

ทั้งนี้ ความเชื่อมั่นที่ลดลงของเงินดองเห็นได้ชัดเจนจากการที่เงินดองเคลื่อนไหวอยู่ในช่วงขอบบนของกรอบการซื้อขายที่ทางการกำหนดมาโดยตลอด และอัตราแลกเปลี่ยนที่ซื้อขายกันในตลาดมืด (Unofficial or black market) ซึ่งซื้อง่ายขายคล่องกว่าตลาดทางการ ยิ่งอยู่ในระดับที่อ่อนค่ากว่าขอบบนของกรอบการซื้อขายเดิมค่อนข้างมาก

ภายใต้ปัจจัยที่กดดันค่าเงินดอง ธนาคารกลางเวียดนามได้พยายามตรึงค่าเงินให้คงที่โดยการเข้าแทรกแซงในตลาดอัตราแลกเปลี่ยน ส่งผลให้ธนาคารกลางเวียดนามสูญเสียทุนสำรองระหว่างประเทศจำนวนมากโดยข้อมูลของ IMF ชี้ว่าทุนสำรองฯ ลดลงเหลือ 14.1 พันล้านดอลลาร์ สรอ. ในเดือนตุลาคม 2553 (หรือคิดเป็นเพียงแค่ประมาณ 2 เท่าของมูลค่าการนำเข้าต่อเดือน) จากเดิมที่สูงถึง 16.4 และ 23.9 พันล้านดอลลาร์ สรอ. ณ สิ้นปี 2552 และ 2551 ตามลำดับ ทั้งนี้ ตลาดคาดว่าทุนสำรองฯ น่าจะลดลงเหลือเพียงแค่ 10-13.6 พันล้านดอลลาร์ สรอ. ในช่วงสิ้นปี 2553 ทุนสำรองฯ ที่ลดลงอย่างต่อเนื่องนี้มีผลมากต่อความเชื่อมั่นในค่าเงินดองและซ้ำเติมปัญหาการขาดแคลนสภาพคล่องเงินดอลลาร์ สรอ.

ดังนั้น การลดค่าเงินดองครั้งล่าสุดจึง น่าจะมีวัตถุประสงค์เพื่อจัดการปัญหาที่เรื้อรังต่างๆ ข้างต้น โดยเฉพาะการขาดดุลการค้าและการสูญเสียความสามารถในการแข่งขันจากการที่อัตราเงินเฟ้อของเวียดนามสูงกว่าประเทศคู่ค้าคู่แข่งในช่วงที่ผ่านมา นอกจากนี้ยังช่วยให้ค่าของเงินดองที่ซื้อขายกันในตลาดทางการเข้าใกล้ตลาดมืดมากขึ้น ลดภาระในการเข้าแทรกแซงของทางการ

การประเมินผลของการลดค่าเงินดองและ แนวโน้มในระยะต่อไป

หลังจากที่ธนาคารกลางเวียดนามประกาศลดค่าเงินดอง อัตราแลกเปลี่ยนที่ซื้อขายกันในตลาดมืดได้ปรับอ่อนค่าลงจากเดิมที่ 21,350 ดองต่อดอลลาร์ สรอ. ในวันที่ 10 กุมภาพันธ์ เป็น 21,550 ดองต่อดอลลาร์ สรอ. ในวันที่ 11 กุมภาพันธ์ (คิดเป็นการอ่อนค่าลงร้อยละ 1) ส่วนในวันที่ 14 กุมภาพันธ์ หลังจากที่ธนาคารกลางเวียดนามกำหนด Reference rate ให้อ่อนค่าลงจากเดิมเล็กน้อยมาอยู่ที่ 20,713 ดองต่อดอลลาร์ สรอ. (คิดเป็นร้อยละ 0.1) อัตราแลกเปลี่ยนในตลาดมืดได้ปรับอ่อนค่าลงอีกมาอยู่ที่ 21,700 ดองต่อดอลลาร์ สรอ. ซึ่งอ่อนค่ากว่าขอบบนของกรอบการซื้อขาย +-1% ที่ทางการกำหนดไว้ถึงร้อยละ 3.6

ในขณะเดียวกัน ข้อมูลอัตราแลกเปลี่ยนล่วงหน้า NDF ณ วันที่ 14 กุมภาพันธ์ ชี้ไปในทิศทางเดียวกันว่า ค่าเงินดองจะอ่อนลงไปอยู่ที่ 21,700 ดองต่อดอลลาร์ สรอ. ในอีก 3 เดือนข้างหน้า การตอบสนองของตลาดข้างต้นแสดงให้เห็นว่า ค่าเงินดองในระดับปัจจุบันยังไม่สะท้อนภาวะตลาดและปัจจัยพื้นฐานทางเศรษฐกิจอย่างแท้จริง อย่างไรก็ดี การที่ธนาคารกลางเวียดนามมีความต้องการเพิ่มความยืดหยุ่นให้แก่ค่าเงินดองผ่าน Crawling band สามารถช่วยให้ค่าเงินปรับเข้าสู่ดุลยภาพที่ควรจะเป็นในที่สุด แต่ก็ขึ้นอยู่กับว่าจะช้าหรือเร็วแค่ไหน

อย่างไรก็ดี ผู้เขียนประเมินว่า ผลสัมฤทธิ์ของการลดค่าเงินจะมีค่อนข้างจำกัด เพราะแม้เวียดนามได้ปรับลดค่าเงินดองลงต่อเนื่องในช่วงที่ผ่านมา โดยเฉพาะในช่วง 1-2 ปีมานี้ที่เงินสกุลของประเทศเพื่อนบ้านต่างแข็งค่าขึ้นตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ แต่ปัญหาเงินเฟ้อที่รุนแรงของเวียดนามได้ทำให้ความสามารถทางการแข่งขันด้านราคาของเวียดนาม (เมื่อพิจารณาจากค่าเงินที่แท้จริง) ไม่ดีขึ้น และลดทอนประสิทธิผลของการลดค่าเงิน เช่น ในกรณีที่เปรียบเทียบกับไทย แม้เงินดองในเดือนมกราคม 2554 จะอ่อนค่าลงไปแล้วทั้งสิ้นร้อยละ 26.6 ตั้งแต่การลดค่าเงินครั้งแรกเมื่อเดือนมิถุนายน 2551 แต่อัตราเงินเฟ้อของเวียดนามที่สูงกว่าไทยค่อนข้างมากได้ทำให้ค่าเงินดองที่แท้จริงอ่อนค่าลงเพียงร้อยละ 2.6 เท่านั้น ทั้งนี้ นักวิเคราะห์ส่วนใหญ่ยังกังวลว่า การลดค่าเงินจะยิ่งซ้ำเติมปัญหาเงินเฟ้อไปอีก และกดดันให้ธนาคารกลางเวียดนามต้องลดค่าเงินเพิ่มอีก นำมาซึ่งวงจรอุบาทว์ (Vicious cycle) ในที่สุด

นอกจากนี้ หากประเมินโครงสร้างของสินค้าออกและสินค้าเข้าส่วนใหญ่ของเวียดนาม จะเห็นว่าเป็นสินค้าที่มีความยืดหยุ่นต่อราคาไม่สูงนัก เช่น สินค้าเกษตร น้ำมัน รวมถึงสิ่งทอที่ส่วนใหญ่เป็นการสั่งซื้อจากบริษัทแม่ อีกทั้งการขยายตัวของการส่งออกจากค่าเงินที่อ่อนค่าอาจส่งผลให้มีการนำเข้าวัตถุดิบและสินค้าทุนมากยิ่งขึ้น จึงไม่ได้ช่วยแก้ปัญหาการขาดดุลการค้ามากนัก การลดค่าเงินจึงไม่ใช่ทางออกของปัญหานี้ และจำเป็นต้องมีมาตรการในเชิงโครงสร้างเข้ามาจัดการ

อนึ่ง การปรับตัวของดุลการค้าไม่ใช่เงื่อนไขเดียวที่จะช่วยคลี่คลายปัญหาทั้งหมด ที่สำคัญคือการทำให้ความเชื่อมั่นของเงินดองกลับมาอีกครั้ง ซึ่งจะขึ้นอยู่กับภาวะเงินทุนไหลเข้าและการสร้างเสถียรภาพเศรษฐกิจให้กลับมาอีกครั้งทั้งในด้านต่างประเทศ เงินเฟ้อ และการคลังเพื่อกอบกู้ความเชื่อมั่นของประชาชนและนักลงทุนจากต่างประเทศ โดยเฉพาะในช่วงที่เศรษฐกิจโลกกำลังฟื้นตัวจากวิกฤต และเงินลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศและเงินลงทุนในหลักทรัพย์ มีแนวโน้มจะกลับมาหาผลตอบแทนจาก Emerging markets ในการนี้ วินัยทางการเงินและการคลังจะมีส่วนสำคัญในการแก้ปัญหาดังกล่าวโดยในส่วนของนโยบายการเงิน แม้อัตราดอกเบี้ยนโยบาย (Base rate) จะอยู่สูงถึงร้อยละ 9 แต่นักวิเคราะห์ส่วนใหญ่เห็นว่ายังอยู่ในระดับต่ำเกินกว่าที่จะจัดการกับปัญหาเงินเฟ้อ*(2) ในขณะที่นโยบายการคลังก็ มุ่งเน้นไปในการกระตุ้นเศรษฐกิจให้ได้ตามเป้าหมายที่ตั้งไว้มากเกินไป

ทั้งนี้ แม้ค่าเงินดองจะอ่อนลง แต่หาก ปัญหาดุลการชำระเงินไม่กระเตื้องขึ้นและอัตราเงินเฟ้อยังเร่งตัว ค่าเงินดองจะถูกกดดันต่อไป ส่งผลให้อัตราแลกเปลี่ยนที่ซื้อขายกันในตลาดมืดอ่อนค่าห่างจากกรอบการซื้อขายที่ทางการกำหนดไว้ยิ่งขึ้น ซึ่งจะเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้ธนาคารกลางต้องพิจารณาลดค่าเงินเพิ่มเติมในระยะข้างหน้า และเวียดนามจะเสี่ยงต่อการติดอยู่ในวงจรอุบาทว์จริงๆ

*(1) FDI ในปี 2552 และ 2553 ต่ำกว่าปี 2551 ถึงร้อยละ 70

*(2) ธนาคารกลางเวียดนามปรับเพิ่มอัตราดอกเบี้ยนโยบายไปแล้ว 2 ครั้งๆ ละร้อยละ 1 ในช่วงเดือนธันวาคม 2552 และพฤศจิกายน 2553

นัยต่อการแข่งขันกับประเทศไทย

ประเทศไทยอาจมีความกังวลว่าการลดค่าเงินดองจะกระทบต่อความสามารถในการแข่งขันของสินค้าไทย อย่างไรก็ดี ความสำคัญของเวียดนามในฐานะคู่ค้าคู่แข่งของไทยยังอยู่ในระดับต่ำเทียบกับคู่ค้าคู่แข่งอื่นๆ โดยน้ำหนักทางการค้าของเวียดนามที่คำนวณจากข้อมูลปี 2007 มีไม่ถึงร้อยละ 2 จากกลุ่มประเทศคู่ค้าคู่แข่งสำคัญทั้งหมด 23 ประเทศ นอกจากนี้ อัตราเงินเฟ้อที่อยู่ในระดับสูงของเวียดนามลดทอนความได้เปรียบจากการลดค่าเงินดองลงไปมาก ดังนั้น ในภาพรวมผลกระทบต่อความสามารถทางการแข่งขันด้านราคาเมื่อพิจารณาผ่าน Real effective exchange rate (REER) จึงมีไม่มากนัก นอกจากนี้ สินค้าไทยกับเวียดนามยังมีความแตกต่างในเรื่องของตลาดส่งออกและคุณภาพสินค้าในระดับหนึ่งอีกด้วย อย่างไรก็ดี อาจมีสินค้าบางประเภท เช่นข้าว ที่เดิมเวียดนามขายในราคาที่ถูกกว่าไทยอยู่แล้ว ดังนั้น การลดค่าเงินดองก็อาจช่วยเพิ่มความได้เปรียบด้านราคาแก่ผู้ส่งออกเวียดนามขึ้นอีก

Contact author:

Mr. Nuwat Nookhwun

Economist Monetary Policy

Department nuwatn@bot.or.th

ที่มา: ธนาคารแห่งประเทศไทย


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ