บทความ: มาตรการดูแลสถาบันการเงินที่มีความสาคัญต่อระบบการเงินโลก (G-SIBs)

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday October 2, 2012 10:41 —ธนาคารแห่งประเทศไทย

คุณสุวรรณี เจษฎาศักดิ์

ผู้บริหารอาวุโส ฝ่ายนโยบายความเสี่ยง

ธนาคารแห่งประเทศไทย

สวัสดีค่ะท่านผู้อ่าน ช่วงนี้ฝนฟ้ากระหน่ำลงมามาก หลายๆ ท่านคงหนาวๆ ร้อนๆ ว่า ปีนี้ประเทศไทยจะเผชิญกับภาวะน้ำท่วมเหมือนปีที่แล้วอีกหรือเปล่า การเกิดน้ำท่วมก็เป็นความเสี่ยงอย่างหนึ่งที่เกิดขึ้นจากภัยธรรมชาติ ในระบบการเงินก็เช่นกัน ก็มีความเสี่ยงด้านต่างๆ ที่ส่งผลต่อความมั่นคงและเสถียรภาพของระบบการเงิน ซึ่งผู้มีหน้าที่ในเรื่องดังกล่าวก็ได้พยายามคิดค้นหามาตรการเพื่อมาดูแลความเสี่ยงเหล่านี้ ซึ่งหนึ่งในนั้นก็คือการออกหลักเกณฑ์ที่เรียกว่า Basel 3

ในบทความฉบับก่อนๆ ก็มีผู้เขียนจากแบงก์ชาติเล่าถึงหลักเกณฑ์ที่เรียกว่า Basel 3 เป็นซีรี่ย์เลยนะคะ เริ่มตั้งแต่ “เล่าเรื่องจาก Basel 1 ถึง Basel 3: มุมมองจาก Bird Eyes’ View” ต่อด้วย “ทำไมถึงต้องมี Basel 3” และอีกหลายบทความจนถึงฉบับก่อนหน้านี้คือ “Basel 3 ดูแลความเสี่ยงต่อระบบ (Systemic risk) อย่างไร” ซึ่งได้ทิ้งท้ายไว้ว่าจะมาเล่าต่อถึงเรื่อง มาตรการเพื่อดูแล สถาบันการเงินที่มีความสำคัญต่อระบบการเงินโลก (Global Systemically Important Banks หรือขอเรียกย่อๆ ว่า G-SIBs)

ก่อนจะไปถึงเรื่อง G-SIBs เรามาย้อนกันก่อนว่า Systemic Risk คืออะไร Systemic Risk หรือความเสี่ยงต่อระบบ คือความเสี่ยงที่ไม่ได้เกิดเฉพาะบุคคลหรือเฉพาะองค์กรเท่านั้น แต่เป็นความเสี่ยงที่มีผลกระทบเป็นวงกว้างต่อระบบการเงินและระบบเศรษฐกิจของประเทศหรือของโลกกันเลยทีเดียว หากจะยกตัวอย่างก็จะเท้าความไปถึงวิกฤตสถาบันการเงินในสหรัฐอเมริกาในปี 2551 การที่สถาบันการเงินขนาดใหญ่ของสหรัฐอเมริกา เช่น Lehman Brothers ล้มละลายลง ความเสียหายที่เกิดขึ้นไม่ได้มีผลต่อตัว Lehman เท่านั้น แต่ได้ส่งผลถึงคู่ค้าทั้งหลาย ส่งผลต่อการขาดสภาพคล่องของระบบสถาบันการเงิน เกิดการสูญเสียเงินลงทุนของนักลงทุนทั่วโลก จนกระทบต่อเสถียรภาพระบบการเงินและการเติบโตของระบบเศรษฐกิจของสหรัฐอเมริกาเองและประเทศต่างๆ ทั่วโลกโดยเฉพาะในยุโรป

มาตรการดูแลความเสี่ยงเชิงระบบนั้น Basel 3 ได้เสนอให้มีการกำกับดูแลสถาบันการเงินที่มีความสำคัญต่อระบบ (G-SIBs) อย่างเข้มงวดขึ้น โดยมีเป้าประสงค์หลักคือ เพื่อลดโอกาสการล้มละลายของสถาบันการเงินขนาดใหญ่เหล่านี้ โดยการกำหนดให้สถาบันการเงินเหล่านี้จึงต้องมีเงินกองทุนสูงกว่าสถาบันการเงินทั่ว ๆ ไป ในอัตรา 1-3.5% เนื่องจากเห็นว่า การมีเงินกองทุนที่สูงจะทำให้สถาบันการเงินเหล่านี้มีความมั่นคงและมีทุนในการรองรับความสูญเสียที่อาจเกิดในอนาคตได้ และเพื่อลดผลกระทบจากการล้มละลายของสถาบันการเงินเหล่านี้ โดยการจัดทำแนวทางที่เรียกว่า Resolution Frameworks ซึ่งก็คล้ายๆ กับแผนการจัดการเพื่อรองรับกรณีสถาบันการเงินเหล่านี้ประสบปัญหาเพื่อให้มีแนวทางการดำเนินการที่ชัดเจน รวมถึงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานทางการเงินต่างๆ เพื่อป้องกันปัญหาที่จะเกิดขึ้นจากการสถาบันการเงินเหล่านี้อาจมีขนาดใหญ่

โดยในขณะนี้องค์กรกำกับดูแลในต่างประเทศก็ได้มีหลักเกณฑ์เพื่อระบุให้ได้ว่าสถาบันการเงินแห่งใดของโลกที่จะเป็น G-SIBs ซึ่งหลักเกณฑ์ดังกล่าวก็จะพิจารณาจากปัจจัยเชิงปริมาณและเชิงคุณภาพ โดยปัจจัยเชิงปริมาณจะมี 5 ด้าน คือ (1) ขนาดว่าใหญ่ขนาดไหนก็จะดูจากปริมาณสินทรัพย์และธุรกรรมนอกงบดุลต่างๆ (2) ปริมาณการทำธุรกรรมที่มีความซับซ้อนว่ามากหรือไม่ เช่น การทำอนุพันธ์ทางการเงิน (3) มีการทำธุรกรรมข้ามพรมแดนคือไปทำธุรกรรมในประเทศต่างๆ อย่างไร (4) มีธุรกรรมที่เชื่อมโยงระหว่างสถาบันการเงินมากหรือไม่ และสุดท้าย (5) คือเป็นผู้ให้บริการทางการเงินซึ่งสำคัญต่อเสถียรภาพของระบบการเงินโดยรวมหรือไม่ เช่น เป็นผู้ให้บริการด้านระบบการชำระเงินของประเทศ เป็นต้น สำหรับปัจจัยเชิงคุณภาพจะเป็นการใช้ดุลยพินิจของผู้กำกับดูแลของประเทศต่างๆ โดยใช้ข้อมูลอื่นที่ไม่ได้อยู่ในปัจจัย 5 ด้านข้างต้น

ซึ่งจากการพิจารณาข้างต้น Basel Committee on Banking Supervision (BCBS) ซึ่งก็คือ คณะกรรมการชุดหนึ่งที่ถูกจัดตั้งขึ้นเพื่อกำหนดมาตรฐานการกำกับดูแลสถาบันการเงินที่เป็นสากล ก็ได้ ประกาศรายชื่อสถาบันการเงินของโลกที่ถูกระบุว่าเป็น G-SIBs ซึ่งจะต้องถูกกำกับดูแลในแนวทางที่เข้มงวด ขึ้นตามที่กล่าวไปข้างต้น โดยปัจจุบันมี G-SIBs ทั้งหมด 29 แห่งทั่วโลก ประกอบด้วยสถาบันการเงินใน สหรัฐอเมริกาจำนวน 8 แห่ง เช่น Bank of America และ Citigroup ในยุโรปจำนวน 17 แห่ง เช่น HSBC และ Deutsche Bank และในอาเซียนอีก 4 แห่งซึ่ง 3 แห่งเป็นของประเทศญี่ปุ่นและอีก 1 แห่งจากประเทศ จีนคือ Mitsubishi, Mizuho, Sumitomo Mitsui และ Bank of China โดยหากผู้อ่านสนใจดูรายชื่อทั้งหมด สามารถดูได้จาก Website ของ Financial Stability Board (FSB) http://www.financialstabilityboard.org/publications/r_111104bb.pdf

ในครั้งหน้าหากมีโอกาสเราก็จะมาคุยกันต่อถึงส่วนอื่นที่เกี่ยวข้อง เช่น การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานทางการเงินต่างๆ ที่จะมาดูแลความเสี่ยงเชิงระบบนี้ว่าคืออะไร สวัสดีค่ะ

บทความนี้เป็นข้อคิดเห็นส่วนบุคคล จึงไม่จำเป็นต้องสอดคล้องกับความเห็นของธนาคารแห่งประเทศไทย

          ที่มา: ธนาคารแห่งประเทศไทย

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ