สรุปภาวะเศรษฐกิจและการเงินภาคใต้ เดือนสิงหาคม ปี 2555

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday October 2, 2012 14:39 —ธนาคารแห่งประเทศไทย

ฉบับที่ 17/2555

เศรษฐกิจภาคใต้ในเดือนสิงหาคม 2555 ขยายตัวในอัตราที่ชะลอลงเล็กน้อย เนื่องจากเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัวส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจภาคใต้มากขึ้นโดยเฉพาะการส่งออก ทำให้การผลิตในภาคอุตสาหกรรมและราคาสินค้าเกษตรหดตัวต่อเนื่อง ส่งผลให้การอุปโภคบริโภคและการลงทุนภาคเอกชนชะลอตัวตามไปด้วย อย่างไรก็ตาม การท่องเที่ยวที่ขยายตัวหลังจากชะลอตัวจากเหตุระเบิดในอำเภอหาดใหญ่ และการเร่งเบิกจ่ายงบประมาณของภาครัฐ เป็นตัวขับเคลื่อนเศรษฐกิจที่สำคัญ

รายละเอียดของภาวะเศรษฐกิจภาคใต้ มีดังนี้

การชะลอตัวของเศรษฐกิจโลกส่งผลต่อการส่งออกของภาคใต้มากขึ้น จะเห็นได้จากมูลค่าการส่งออก ลดลงร้อยละ 35.6 ต่อเนื่องจากเดือนก่อน ตามการลดลงของมูลค่าการส่งออกสินค้าเกือบทุกชนิด โดยเฉพาะยางพารา ซึ่งลดลงถึงร้อยละ 51.3 เนื่องจากความต้องการซื้อจากประเทศคู่ค้าหลักลดลง ส่วนสินค้าอื่นที่มีมูลค่าลดลง ได้แก่ ไม้ยางพาราแปรรูป ถุงมือยาง สัตว์น้ำแช่แข็ง และดีบุก ขณะที่มูลค่าการส่งออกอาหารบรรจุกระป๋องเพิ่มขึ้น สำหรับการนำเข้ามีมูลค่าลดลงร้อยละ 29.7 ตามการลดลงของเครื่องจักรและอุปกรณ์ น้ำมันเชื้อเพลิง และอุปกรณ์ก่อสร้าง ส่วนมูลค่าการนำเข้าสัตว์น้ำเพิ่มขึ้น

การส่งออกที่ลดลงทำให้การผลิตภาคอุตสาหกรรมหดตัว โดยดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมลดลงร้อยละ 2.3 เป็นผลจากการผลิตยางแปรรูปและไม้แปรรูปลดลงตามคำสั่งซื้อของประเทศคู่ค้าหลักที่ลดลงเกือบทุกประเทศโดยเฉพาะจีน ประกอบกับอุตสาหกรรมอาหารทะเลแปรรูปและแช่เย็นแช่แข็ง รวมทั้งถุงมือยาง การผลิตชะลอลงจากการส่งออกไปตลาดหลักเดิมลดลง อย่างไรก็ตาม อุตสาหกรรมอาหารทะเลกระป๋องมีการผลิตเพิ่มขึ้นมากตามความต้องการของตลาดตะวันออกกลางและแอฟริกาใต้เป็นสำคัญ ส่วนอุตสาหกรรมน้ำมันปาล์มเพิ่มขึ้นตามผลผลิตที่ออกสู่ตลาดเพิ่มขึ้น

นอกจากนี้การชะลอตัวของเศรษฐกิจโลกยังส่งผลกระทบให้ราคาสินค้าเกษตรลดลงร้อยละ 32.5 ตามราคายางที่ลดลงต่อเนื่องร้อยละ 36.5 จากความต้องการใช้ที่ชะลอลง และราคาปาล์มที่ลดลงร้อยละ 2.9 ทำให้รายได้ของเกษตรกรลดลงร้อยละ 27.9 แม้ว่าผลผลิตพืชผลเกษตรเพิ่มขึ้นจากเดือนเดียวกันปีก่อนร้อยละ 6.8 ตามผลผลิตยางและผลผลิตปาล์มน้ำมันเพิ่มขึ้นก็ตาม ส่วนผลผลิตกุ้งเลี้ยงลดลงร้อยละ 17.6 จากปัญหาขาดแคลน ลูกกุ้งและการชะลอเลี้ยงในช่วงก่อนหน้า เนื่องจากราคาตกต่ำ

การอุปโภคบริโภคขยายตัวในอัตราที่ชะลอลง เนื่องจากรายได้เกษตรกรที่ลดลงจากราคาปาล์มและยางที่ลดลงต่อเนื่อง ตลอดจนปัญหาราคาน้ำมันที่สูงขึ้นส่งผลต่อต้นทุนการผลิตและขนส่งสินค้า โดยดัชนีการอุปโภคบริโภคภาคเอกชนขยายตัวเพียงร้อยละ 1.0 เช่นเดียวกับการลงทุนที่ขยายตัวในอัตราชะลอลงตามพื้นที่อนุญาตก่อสร้างและการจดทะเบียนรถยนต์บรรทุกที่ชะลอลง รวมทั้งยอดจำหน่ายปูนซีเมนต์ที่ลดลง

ขณะที่การท่องเที่ยวขยายตัว ส่วนหนึ่งเป็นผลจากการฟื้นตัวของการท่องเที่ยวภาคใต้ชายแดน ประกอบกับฐานเปรียบเทียบที่ต่ำเนื่องจากช่วงเดียวกันปีก่อนตรงกับช่วงถือศีลอด (เดือนรอมฎอน) ของชาวมุสลิม ทำให้นักท่องเที่ยวที่นับถือศาสนาอิสลามไม่เดินทางท่องเที่ยว ขณะเดียวกันได้มีการเพิ่มเที่ยวบินจากต่างประเทศมายังแหล่งท่องเที่ยวสำคัญ ทำให้นักท่องเที่ยวต่างประเทศเดินทางผ่านด่านตรวจคนเข้าเมืองในภาคใต้มีจำนวน 549,143 คน เพิ่มขึ้นจากเดือนเดียวกันปีก่อนร้อยละ 15.1 โดยเฉพาะนักท่องเที่ยวจีน มาเลเซีย เกาหลี และเยอรมัน ส่วนอัตราการเข้าพักโรงแรมอยู่ที่ร้อยละ 62.5 สูงขึ้นเมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันปีก่อนโดยปรับตัวดีขึ้นในโรงแรมฝั่งอันดามันและอ่าวไทย

รวมทั้งการเบิกจ่ายเงินงบประมาณของส่วนราชการเร่งตัวขึ้นจากเดือนก่อน โดยเพิ่มขึ้นร้อยละ 15.0 จากรายจ่ายประจำที่เพิ่มขึ้น โดยเฉพาะการเบิกจ่ายเงินอุดหนุนทั่วไปขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ขณะที่รายได้จากการจัดเก็บภาษีลดลงร้อยละ 23.2 จากการจัดเก็บภาษีเงินได้นิติบุคคลที่ลดลงเป็นสำคัญ

ส่วนเงินให้สินเชื่อขยายตัวร้อยละ 18.5 โดยเฉพาะสินเชื่อส่วนบุคคล จากนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐ อาทิ นโยบายบ้านหลังแรกและรถยนต์คันแรก สำหรับเงินฝากขยายตัวร้อยละ 11.2 เนื่องจากธนาคารพาณิชย์เร่งระดมเงินฝากเพื่อรักษาฐานลูกค้าและรองรับการขยายตัวของเงินให้สินเชื่อ

ด้านอัตราเงินเฟ้อยู่ที่ร้อยละ 3.29 เร่งตัวขึ้นจากร้อยละ 2.99 ในเดือนก่อน ตามราคาสินค้าในหมวดที่ไม่ใช่อาหารและเครื่องดื่มที่เพิ่มขึ้นตามแรงกดดันของราคาน้ำมันที่ปรับเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องตลอดเดือน ขณะที่ราคาสินค้าในหมวดอาหารและเครื่องดื่มชะลอลงตามราคาเนื้อสัตว์ ทั้งเนื้อหมู เป็ด-ไก่สด และไข่ เนื่องจากประสบปัญหาผลผลิตล้นตลาด

ธนาคารแห่งประเทศไทย สำนักงานภาคใต้

ข้อมูลเพิ่มเติม : ส่วนเศรษฐกิจภาค

โทรศัพท์ 0-7427-2000 ต่อ 4716

e-mail : Puangpeu@bot.or.th

ที่มา: ธนาคารแห่งประเทศไทย


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ