สุนทรพจน์: ทิศทางนโยบายของธนาคารแห่งประเทศไทยในปี 2556

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday October 3, 2012 14:47 —ธนาคารแห่งประเทศไทย

คำกล่าวเปิดงาน และปาฐกถาพิเศษ

ดร.ประสาร ไตรรัตน์วรกุล

ผู้ว่าการ ธนาคารแห่งประเทศไทย

“ทิศทางนโยบายของธนาคารแห่งประเทศไทยในปี 2556”

ปาฐกถาพิเศษในงานสัมมนาวิชาการประจำปี 2555 ธนาคารแห่งประเทศไทย สำนักงานภาคใต้

“แนวโน้มเศรษฐกิจไทยปี 2556 รุ่งหรือร่วง”

ณ ศูนย์ประชุมนานาชาติฉลองสิริราชสมบัติครบ ๖๐ ปี มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตหาดใหญ่

วันพุธที่ 3 ตุลาคม พ.ศ. 2555 เวลา 09.00-09.40 น.

_________________________________________________________________________

ท่านผู้มีเกียรติทุกท่าน

ขณะที่เรากำลังร่วมงานอยู่ ณ ที่นี้ เศรษฐกิจไทยและเศรษฐกิจโลกกำลังอยู่ในช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อที่สำคัญอีกครั้งหนึ่ง การประเมินทิศทางเศรษฐกิจในระยะต่อไปอย่างรอบคอบ เป็นสิ่งจำเป็นที่จะช่วยให้ทั้งภาครัฐและเอกชนสามารถวางแนวทางรับมือกับคลื่นลมเศรษฐกิจได้อย่างเหมาะสม เวทีสัมมนาวิชาการประจำปี 2555 ของธนาคารแห่งประเทศไทย สำนักงานภาคใต้ ในวันนี้ เป็นโอกาสดีที่ผมจะขอเชิญทุกท่านมาร่วมกันจับชีพจรเศรษฐกิจ โดยผมจะขอเสนอภาพรวมเศรษฐกิจปีนี้และปีหน้าในมุมมองของแบงก์ชาติ และแนวทางการดำเนินนโยบายของแบงก์ชาติในปีหน้า เพื่อประโยชน์ในการวางแผนนโยบายและธุรกิจของทุกท่าน

ส่วนที่ 1 : ภาวะและแนวโน้มเศรษฐกิจ

ทุกท่านคงจำ ได้ดีว่า เมื่อเดือนตุลาคมปีที่แล้ว มหาอุทกภัยที่รุนแรงที่สุดในรอบเจ็ดสิบปีทำให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจแทบหยุดชะงักไปทั้งหมด ทั้งการผลิต การขนส่ง การจับจ่ายใช้สอย รวมถึงกระทบห่วงโซ่การผลิตไปทั่วโลก แต่ด้วยความร่วมมือของหลายฝ่าย เศรษฐกิจไทยได้ฟื้นตัวจากอุทกภัยอย่างรวดเร็วและต่อเนื่อง ถ้าเปรียบกับอาการฟื้นไข้ต้องบอกว่ามีสัญญาณฟื้นตัวชัดเจนดี ทั้งด้านอุตสาหกรรมที่หลายโรงงานกลับมาผลิตได้เต็มกำลังแล้วตั้งแต่ช่วงกลางปี เช่น กลุ่มที่ผลิตยานยนต์ ส่วนภาคธุรกิจและประชาชนก็ไม่ได้สูญเสียความเชื่อมั่น และยังมีความต้องการจับจ่ายใช้สอยและลงทุนฟื้นฟูหลังอุทกภัย ไม่เว้นแม้แต่การท่องเที่ยวที่ยังมีนักท่องเที่ยวเดินทางเข้ามาต่อเนื่อง การฟื้นตัวจากส่วนต่างๆ ที่กล่าวมาโดยเฉพาะ ‘กำลังภายใน’ ของเศรษฐกิจในประเทศนั้น ช่วยเป็นแรงขับเคลื่อนให้เศรษฐกิจไทยในครึ่งแรกของปีขยายตัวได้ร้อยละ 2.2 ซึ่งมากกว่าที่แบงก์ชาติประเมินไว้ ถึงแม้ว่าการส่งออกจะมีสัญญาณไม่ดีนักเพราะเริ่มมีอาการเจ็บป่วยแทรกซ้อนจากปัญหาเศรษฐกิจโลก

‘กำลังภายใน’ ที่ผมพูดถึงนี้ จะเป็นปัจจัยสำคัญที่จะช่วยสนับสนุนเศรษฐกิจในช่วงที่เหลือของปี ซึ่งในระยะต่อไป แรงหนุนที่จะช่วยพยุงกำลังซื้อและการลงทุนจากในประเทศนี้ยังมีต่อเนื่อง ไม่ว่าจะเป็นการจ้างงานที่ยังอยู่ในเกณฑ์ดี สินเชื่อแก่ภาคธุรกิจและประชาชนที่ขยายตัวสนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจในช่วงที่ผ่านมา ตลอดจนรายได้เกษตรกร ที่แม้ราคาสินค้าเกษตรอาจไม่สูงหวือหวาอย่างปีก่อน แต่เกษตรกรจะยังมีรายได้ดีจากผลผลิตที่ออกสู่ตลาด ซึ่งแบงก์ชาติคาดว่าปัจจัยต่างๆ เหล่านี้จะช่วยให้เศรษฐกิจมีแรงส่งได้ต่อเนื่องในปีนี้ และคาดว่าทั้งปีเศรษฐกิจจะขยายตัวได้ใกล้เคียงกับที่คณะกรรมการนโยบายการเงินคาดไว้(ร้อยละ 5.7 ณ กันยายน 2555)

สำหรับปีหน้า แบงก์ชาติมองว่าเงินเฟ้อมีแนวโน้มอยู่ในกรอบเป้าหมายที่ร้อยละ 0.5 ถึงร้อยละ 3.0 แต่แรงส่งทางเศรษฐกิจมีแนวโน้มจะชะลอลง ทำให้ความเสี่ยงต่อการขยายตัวของเศรษฐกิจจะกลับมาเป็นประเด็นหลัก โดยเฉพาะความเสี่ยงจากเศรษฐกิจโลกซึ่งยังมีแนวโน้มไม่สดใส ไม่ว่าจะเป็นยุโรปที่เศรษฐกิจถดถอยและปัญหาวิกฤตหนี้สาธารณะอาจปะทุขึ้นอีกในปีหน้า เอเชียที่เศรษฐกิจเริ่มชะลอลงโดยเฉพาะเศรษฐกิจจีนที่อ่อนแอลงชัดเจน และสหรัฐฯ ที่การฟื้นตัวทางเศรษฐกิจยังไม่น่าพอใจ ท่ามกลางแนวโน้มเศรษฐกิจเช่นนี้ ธนาคารกลางของหลายๆ ประเทศได้พยายามพยุงเศรษฐกิจโดยออกมาตรการกระตุ้นทางการเงินต่างๆ ทั้งสหภาพยุโรปที่ออกมาตรการรับซื้อพันธบัตรไม่จำกัดปริมาณ (Outright Monetary Transaction : OMT) สหรัฐฯ ที่ทำมาตรการผ่อนคลายทางการเงินหรือ Quantitative Easing (QE) เพิ่มเติมเป็นครั้งที่ 3 รวมทั้งญี่ปุ่นที่ออกมาตรการผ่อนคลายทางการเงิน (Asset Purchase Program: APP) เช่นกันสิ่งที่น่ากังวล คือ มาตรการกระตุ้นเหล่านี้ดูเหมือนจะช่วยเยียวยาเศรษฐกิจได้ไม่มากนัก เพราะไม่ได้เป็นมาตรการที่ออกแบบมาเพื่อแก้ปัญหาที่โครงสร้าง เศรษฐกิจโลกในระยะต่อไปจึงมีแนวโน้มซบเซายืดเยื้อ และอาจกล่าวได้ว่าไม่มีใครช่วยใครได้ ความหวังสำหรับเศรษฐกิจไทยในปีหน้าจึงต้องจับตาว่า จุดแข็งด้านเสถียรภาพเศรษฐกิจของไทยที่อยู่ในเกณฑ์ดีในช่วงที่ผ่านมาและแรงขับเคลื่อนจากเศรษฐกิจในประเทศจะช่วยเป็นเกราะป้องกันหรือบรรเทาผลกระทบของเศรษฐกิจโลกได้มากน้อยเพียงใด

ท่านผู้มีเกียรติครับ

ส่วนที่ 2 : การดำเนินนโยบายในช่วงที่ผ่านมา หลักการของ ธปท. และแนวนโยบายในปี 2556

การเสริมจุดแข็งด้านเสถียรภาพเศรษฐกิจเป็นหน้าที่โดยตรงของแบงก์ชาติ ภายใต้แนวโน้มเศรษฐกิจและปัจจัยเสี่ยงดังกล่าว ในปีหน้า แบงก์ชาติจะยังคงดำเนินนโยบายโดยมุ่งเน้นเตรียมความพร้อมให้เศรษฐกิจมีเสถียรภาพและมีความแข็งแกร่งพร้อมรับมือความท้าทายในด้านต่างๆ ดังต่อไปนี้

นโยบายการเงิน

ในด้านนโยบายการเงิน ผมอยากจะทำความเข้าใจว่า แบงก์ชาติไม่ได้เน้นดูแลเพียงเงินเฟ้ออย่างเดียวแต่ยึดหลักพิจารณาปัจจัยเศรษฐกิจรอบด้าน โดยคำนึงถึงความสมดุลระหว่างแรงกดดันเงินเฟ้อกับการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ รวมทั้งความสมดุลในภาคการเงิน สำหรับปีหน้าผมมองว่าแรงกดดันเงินเฟ้อมีแนวโน้มลดลง การดำเนินนโยบายจึงมีความยืดหยุ่นมากขึ้นทั้งในแง่จังหวะที่จะใช้และเครื่องมือต่างๆ เพื่อเตรียมความเข้มแข็งให้เศรษฐกิจ กล่าวคือ นโยบายการเงินสามารถผ่อนปรนได้ในจังหวะที่เหมาะสม เพื่อช่วยสนับสนุนเศรษฐกิจ หากได้รับผลกระทบจากเศรษฐกิจโลกที่อาจทวีความซับซ้อนและรุนแรงมากขึ้น

คำว่า ‘จังหวะที่เหมาะสม’ นั้น พูดได้ง่ายแต่ในทางปฏิบัติต้องอาศัยการวิเคราะห์ข้อมูลอย่างละเอียดและครอบคลุมหลายมิติ ผมขอเล่าให้ทุกท่านทราบว่า เบื้องหลังการตัดสินใจดำเนินนโยบายการเงินในแต่ละครั้ง ผมได้ส่งทีมงานระดับผู้ช่วยผู้ว่าการเดินสายในหลายจังหวัดทั่วประเทศเป็นระยะๆ เพื่อให้เราเข้าใจสภาพเศรษฐกิจจริงที่เกิดขึ้น เพิ่มเติมจากการประเมินข้อมูลต่างๆ ในด้านเศรษฐกิจมหภาค นอกจากการประเมินภาพเศรษฐกิจในกรณีฐาน (most likely case) แล้ว คณะกรรมการนโยบายการเงินและทีมเศรษฐกิจของแบงก์ชาติยังต้องมีสายตากว้างไกล สอดส่องสัญญาณทางเศรษฐกิจที่ผิดปกติ และไม่ละเลยที่จะวาดภาพเหตุการณ์ที่อาจเกิดขึ้นในกรณีต่างๆ รวมทั้งกรณีเลวร้ายที่สุด (tail events) เพื่อเตรียมความพร้อมในการดำเนินนโยบายหากเกิดกรณีเหล่านั้นขึ้นด้วย นอกจากนี้ ทีมงานด้านเศรษฐกิจของแบงก์ชาติยังต้องประชุมร่วมกันกับทีมงานด้านนโยบายสถาบันก รเงิน ด้วย เพื่อ ให้ก รดำ เนินนโยบายครอ บคลุมด้านเสถียรภาพสถาบันการเงินเช่นกัน การมองรอบด้านและคำนึงถึงสถานการณ์ต่างๆ เหล่านี้ช่วยทำให้การดำเนินนโยบายทำได้ถูกจังหวะและเกิดประสิทธิผล

นโยบายสถาบันการเงิน

สำหรับนโยบายสถาบันการเงินนั้น เป็นไปตามแนวทางของแบงก์ชาติที่มุ่งเน้นเสริมสร้างความเข้มแข็งของระบบสถาบันการเงิน โดยมุ่งรักษาความมั่นคงของระบบสถาบันการเงินและเพิ่มประสิทธิภาพให้ระบบสถาบันการเงิน จะทำให้ระบบสถาบันการเงินซึ่งเป็นจุดแข็งของระบบเศรษฐกิจการเงินไทย สามารถช่วยเป็นเกราะรองรับความผันผวนจากเศรษฐกิจโลกในปีหน้าได้ ดังที่ได้ผ่านบทพิสูจน์มาแล้วเมื่อวิกฤตการเงินโลกที่ผ่านมาในปี 2552

หากประเมินความแข็งแกร่งในปัจจุบัน เรียกได้ว่าระบบสถาบันการเงินยังมีความมั่นคงสูงเมื่อเทียบกับประเทศอื่นในภูมิภาค สะท้อนจากเครื่องชี้ต่างๆ ในช่วงกลางปีนี้ โดยคุณภาพสินเชื่อยังอยู่ในเกณฑ์ดีระบบมีหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (Gross NPL) ต่อสินเชื่อรวมลดลงเหลือร้อยละ 2.5 มีการดำรงเงินกองทุน (BIS ratio) อยู่ที่ร้อยละ 15.0 ซึ่งสูงกว่าเกณฑ์ของ Basel II ที่ร้อยละ 8.5 และมีสภาพคล่องเพียงพอ อย่างไรก็ตามตัวเลขที่ดูดีไม่ได้ทำให้แบงก์ชาตินิ่งนอนใจ แต่ยังคงมุ่งมั่นทำงานเชิงรุกเพื่อรักษาเสถียรภาพของระบบสถาบันการเงิน โดยล่าสุด แบงก์ชาติกำลังติดตามการขยายตัวของสินเชื่อบางประเภทที่อยู่ในระดับค่อนข้างสูงเพื่อป้องกันความไม่สมดุลในระบบเศรษฐกิจการเงินที่อาจเกิดขึ้น ซึ่งแบงก์ชาติตระหนักดีว่าในการดูแลเสถียรภาพเศรษฐกิจการเงิน เครื่องมือแต่ละชนิดต่างมีข้อจำกัด ดังนั้น นอกจากนโยบายการเงินที่มีอัตราดอกเบี้ยนโยบายเป็นเครื่องมือแล้ว แบงก์ชาติยังเตรียมเครื่องมือดูแลเสถียรภาพเศรษฐกิจการเงินในภาพรวมเพื่อป้องกันความไม่สมดุลทางการเงิน (Macro-prudential Measures) ด้วย ซึ่งเป็นเครื่องมือที่ช่วยดูแลเสริมความแข็งแกร่งเศรษฐกิจได้เฉพาะจุด โดยที่ผ่านมาได้มีการใช้นโยบายในลักษณะดังกล่าวแล้วบ้าง เช่น การออกเพดาน Loan to Value Ratio สำหรับสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัย เพื่อป้องกันฟองสบู่ในภาคอสังหาริมทรัพย์

นอกจากนี้ แบงก์ชาติในฐานะผู้กำกับดูแลสถาบันการเงิน ยังมุ่งมั่นในการปรับปรุงวิธีการกำกับตรวจสอบสถาบันการเงินมาตลอดตั้งแต่หลังวิกฤตการณ์การเงินเอเชียเป็นต้นมา โดยได้ติดตามพัฒนาการของการกำกับดูแลของมาตรฐานสากล และนำมาปรับใช้ให้เหมาะสมกับโครงสร้างเศรษฐกิจการเงินของไทย โดยล่าสุด ตั้งแต่ต้นปีหน้าแบงก์ชาติจะปรับเปลี่ยนรายละเอียดในการคำนวณเงินกองทุนของสถาบันการเงินหรือ BIS Ratio ให้สอดคล้องกับเกณฑ์ Basel III ซึ่งในปัจจุบันสถาบันการเงินไทยมีการดำรงเงินกองทุนสูงกว่าเกณฑ์ใหม่นี้

การเสริมสร้างความแข็งแกร่งของระบบสถาบันการเงินในปีหน้า แบงก์ชาติมุ่งเพิ่มประสิทธิภาพของระบบสถาบันการเงิน โดยจะดำเนินตามแผนพัฒนาระบบสถาบันการเงินฉบับที่ 2 ซึ่งจะเปิดให้มีการแข่งขันมากขึ้น จากผู้ให้บริการรายใหม่ทั้งในประเทศและต่างประเทศ ภายใต้เงื่อนไขว่าผู้เล่นรายใหม่ต้องประกอบธุรกิจตามเกณฑ์การกำกับดูแลสากล เป็นการเข้ามาช่วยปิดช่องว่างในการให้บริการทางการเงิน และสอดรับกับทิศทางการขยายตัวของการค้าและการลงทุนระหว่างประเทศโดยเฉพาะในภูมิภาค การแข่งขันที่จะมากขึ้นนี้ผมหวังว่าจะช่วยให้ผู้บริโภคได้รับประโยชน์จากการใช้บริการทางการเงินได้อย่างเต็มที่ยิ่งขึ้น

สำหรับธุรกิจสถาบันการเงินบางประเภท เช่น สินเชื่อเช่าซื้อ (Hire-Purchase) สินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์ (Leasing) แม้ไม่อยู่ในการกำกับดูแลของแบงก์ชาติ แต่การยึดแนวทางให้ความรู้ความเข้าใจเรื่องการเงินคงจะช่วยสร้างภูมิคุ้มกันให้ประชาชนได้บ้าง ทั้งการเสริมสร้างองค์ความรู้เกี่ยวกับระบบการเงินของไทย เรื่องสิทธิและหน้าที่ในทางการเงิน รวมทั้งเรื่องการบริหารรายรับรายจ่ายของครัวเรือน ตลอดจนการส่งเสริมการออม โดยแบงก์ชาติได้ตั้งศูนย์คุ้มครองผู้ใช้บริการทางการเงิน สายด่วน 1213 เพื่อส่งเสริมให้ผู้ใช้บริการทางการเงินมีความรู้และได้รับบริการตามสิทธิที่เป็นธรรม ซึ่งจะช่วยเสริมสร้างความแข็งแกร่งของระบบเศรษฐกิจการเงินไทยให้มีศักยภาพเพิ่มขึ้นได้อีกทางหนึ่ง

นโยบายเงินทุนเคลื่อนย้าย

ภายใต้สภาพเศรษฐกิจโลกที่อ่อนแอและมีมาตรการกระตุ้นทางการเงินจากหลายประเทศ ทำให้เกิดสภาพคล่องจำนวนมากในโลก เศรษฐกิจไทยจะต้องเผชิญกับแนวโน้มเงินทุนเคลื่อนย้ายที่จะมีทั้งความผันผวนและปริมาณมากขึ้น แบงก์ชาติตระหนักถึงผลกระทบทางเศรษฐกิจที่จะเกิดขึ้น จึงได้เตรียมพร้อมออกแผนแม่บทเงินทุนเคลื่อนย้าย เพื่อให้เงินทุนสามารถไหลเข้าออกได้สมดุลมากขึ้น ผมขอยกตัวอย่างแนวทางการผ่อนคลายที่สำคัญให้ทุกท่านได้ทราบ อาทิ การยกเลิกการจำกัดวงเงินลงทุนในหลักทรัพย์ต่างประเทศ การเปิดให้คนไทยที่มีภาระผูกพันต้องชำระเงินตราต่างประเทศสามารถฝากเงินในบัญชีเงินฝากเงินตราต่างประเทศ(Foreign Currency Deposit: FCD) ที่เปิดกับธนาคารพาณิชย์ไทยได้เสรี โดยขณะนี้แผนแม่บทเงินทุนเคลื่อนย้ายได้ผ่านการอนุมัติของแบงก์ชาติแล้ว และอยู่ระหว่างการประสานงานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น กระทรวงการคลัง เพื่อนำไปสู่การแก้ไขกฎระเบียบและประกาศใช้แผนแม่บทเงินทุนเคลื่อนย้าย

ในอนาคต การประกาศใช้แผนแม่บทเงินทุนเคลื่อนย้ายดังกล่าว นอกจากจะช่วยรองรับความผันผวนในตลาดเงินแล้ว ยังจะช่วยเร่งให้ตลาดการเงินและตลาดเงินตราต่างประเทศได้พัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน และเกิดผลิตภัณฑ์ทางการเงินใหม่ๆ ซึ่งจะเพิ่มประสิทธิภาพของตลาดและเสริมความแข็งแกร่งทางการเงินในระยะยาว นอกจากนี้ การที่เงินทุนไหลเข้าออกได้อย่างสมดุลมากขึ้น จะช่วยลดแรงกดดันต่อค่าเงินบาท และลดบทบาทการดูแลอัตราแลกเปลี่ยนของแบงก์ชาติในอนาคต โดยเป็นที่น่าสนใจว่าในปีที่แล้วเป็นปีแรกที่ฐานะการลงทุนของไทยเปลี่ยนมาเป็นผู้ออกไปลงทุนสุทธิ หลังจากที่เราเป็นฝ่ายรับการลงทุนจากต่างชาติมาตลอดและข้อมูลล่าสุด 8 เดือนที่ผ่านมาของปีนี้ ก็ยังมีการออกไปลงทุนต่อเนื่อง

ท่านผู้มีเกียรติครับ

การสื่อสารในการดำเนินนโยบายและการยื่นมือ

ผมขอเรียนว่า ในการดำเนินนโยบายต่างๆ ของแบงก์ชาติ เราให้ความสำคัญกับการสื่อสารแนวนโยบายต่อสาธารณชนอยู่เสมอ ดังเช่นที่ผมได้บอกเล่าแนวทางในการดำเนินนโยบายแก่ทุกท่านในวันนี้เพื่อสร้างความมั่นใจและก่อให้เกิดมุมมองทางเศรษฐกิจร่วมกัน ซึ่งจะช่วยให้ภาคธุรกิจและประชาชนทุกท่านสามารถวางแผนและดำเนินการได้อย่างมั่นคง

การนำนโยบายต่างๆ มาใช้ในทางปฏิบัติให้สัมฤทธิ์ผล การประสานงานระหว่างหน่วยงานทั้งภาครัฐและภาคเอกชนเป็นสิ่งสำคัญ ภายใต้ความเสี่ยงในปีหน้า การประสานกำลังของนโยบายภาครัฐและเอกชนในด้านต่างๆ จะมีบทบาทสำคัญที่จะช่วยให้เศรษฐกิจไทยไม่ “ร่วง” ซึ่ง แบงก์ชาติพร้อมจะยื่นมือประสานงานและสื่อสารกับทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องเพื่อดำเนินการร่วมกันให้บรรลุเป้าหมายที่ตั้งไว้ คือ การรักษาเสถียรภาพเศรษฐกิจให้มีความสมดุล สร้างความแข็งแกร่งให้เศรษฐกิจเพื่อให้ประชาชนมีความกินอยู่ที่ดีอย่างทั่วถึงและยั่งยืน อันเป็นปณิธานที่ แบงก์ชาติมุ่งมั่นสานต่อมาตลอดระยะเวลา 70 ปี

บทบาทของรัฐบาลและภาคเอกชน

การดำ เนินนโยบายของแบงก์ชาติไม่ใช่ส่วนเดียวที่จะช่วยให้เศรษฐกิจไทยในปีหน้าไม่ “ร่วง” การดำเนินนโยบายของรัฐบาลและภาคเอกชนเองก็มีบทบาทสำคัญเช่นกัน ในปีหน้า นอกจากแรงส่งจาก ‘กำลังภายใน’ ของภาคเอกชน แรงกระตุ้นจากรัฐบาลก็เป็นอีกความหวังในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจในประเทศ อย่างไรก็ตาม การใช้จ่ายและการลงทุนภาครัฐควรต้องมุ่งเน้นการใช้จ่ายที่มีประสิทธิภาพและเกิดประสิทธิผล ซึ่งไม่เพียงจะช่วยประคับประคองเศรษฐกิจในปีหน้า แต่จะช่วยยกระดับศักยภาพของเศรษฐกิจในระยะยาวให้ก้าวข้ามการเป็นประเทศกำลังพัฒนาไปสู่กลุ่มประเทศพัฒนาด้วย ในขณะที่ภาคเอกชนซึ่งจะต้องเผชิญการแข่งขันที่มากขึ้นภายใต้แนวโน้มเศรษฐกิจในปีหน้า ควรถือโอกาสปรับปรุงพัฒนาคุณภาพผลิตภัณฑ์และสร้างมูลค่าเพิ่ม รวมทั้งแสวงหาพันธมิตรทางธุรกิจ ซึ่งจะช่วยให้ธุรกิจเตรียมพร้อมรับมือการแข่งขันที่จะมีมากขึ้นเมื่อไทยเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC) ในปี 2558 บทบาทของภาครัฐและเอกชนจะมากน้อยเพียงใดในปีหน้า ต้องวางแนวทางอย่างไรจึงจะเพียงพอช่วยให้เศรษฐกิจไทยไม่ “ร่วง” ทุกท่านคงจะได้รับสาระและมุมมองต่างๆ จากผู้ทรงคุณวุฒิทั้ง 3 ท่านที่จะร่วมเสวนาในวันนี้

ท่านผู้มีเกียรติครับ

เพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์ของงานสัมมนาในวันนี้ ผมขอเชิญทุกท่านใช้เวทีสัมมนาในวันนี้แลกเปลี่ยนความเห็นและประสบการณ์ต่างๆ ซึ่งจะก่อให้เกิดมุมมองที่หลากหลายอันจะเป็นประโยชน์ต่อข้อเสนอแนะเชิงนโยบายและการดำเนินธุรกิจ

ผมขอถือโอกาสนี้ เปิดการสัมมนาวิชาการประจำปี 2555 ของธนาคารแห่งประเทศไทย สำนักงานภาคใต้ ในหัวข้อ “แนวโน้มเศรษฐกิจไทยปี 2556 รุ่งหรือร่วง” ณ บัดนี้

ขอบคุณครับ

ที่มา: ธนาคารแห่งประเทศไทย


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ