FAQ Issue 21: เส้นทางสู่ International Currency ของหยวน

ข่าวเศรษฐกิจ Monday February 7, 2011 14:48 —ธนาคารแห่งประเทศไทย

FOCUSED AND QUICK (FAQ) Issue 21

เส้นทางสู่ International Currency ของหยวน

สุรจิต ลักษณะสุต

บทสรุป

บทบาทของเงินหยวนในระบบเศรษฐกิจโลกจะมีมาก ขึ้นอย่างแน่นอน แต่การไปถึงระดับ International Currency คงต้องใช้อีกยาวไกลมากกว่า 10 ปี และจะเกิดขึ้นได้ต่อเมื่อมีการเปลี่ยนแปลงเชิงนโยบายของจีน

คุณสมบัติโดยทั่วไปของเงิน(Currency) ภายในระบบเศรษฐกิจหนึ่ง คือ (1)เป็นที่ยอมรับให้ทำ หน้าที่สื่อกลางในการแลกเปลี่ยน (Medium of Exchange) (2) เป็นหน่วยวัดมูลค่า (Unit of Account) และ (3) เป็นสิ่งช่วยรักษามูลค่า (Store of value)

ในระบบการเงินโลกมีเงินบางสกุลที่มีความพิเศษ คือ ไม่ใช่ได้รับการยอมรับเฉพาะในระบบเศรษฐกิจของประเทศตน แต่มีบทบาท กว้างขวางทั้ง 3 ด้านในระดับนานาชาติ หรือที่เรียกว่าเป็น International Currency (IC) โดยถูกใช้เป็นตัวกลางในการซื้อขายสินค้าและบริการระหว่างประเทศ และใช้ในการออกเครื่องมือทางการเงินในตลาดการเงินโลกตัวอย่างของ IC ที่รู้จักกันดีในปัจจุบัน คือ เงินดอลลาร์ สรอ. และเงินยูโร

เงื่อนไขที่สำคัญของ IC คืออะไร

เงื่อนไขของการเป็น IC มีที่สำคัญ 4 ข้อได้แก่ (1) Full convertibility กล่าวคือ เป็นเงินที่ใช้กันอย่างกว้างขวางและมีการแลกเปลี่ยนได้อย่างเสรีในการทำธุรกรรมทั้งการค้าและการลงทุน ทั้งนี้ ไม่มีเงินสกุลใดที่เป็น IC โดยไม่ผ่านเงื่อนไขนี้ เพราะจะทำ หน้าที่สื่อกลางการแลกเปลี่ยนได้อย่างจำกัด (2) ตลาดการเงินในเงินสกุลดังกล่าวมีขนาดใหญ่และมีการพัฒนาในระดับสูง ซึ่งทำให้มีเครื่องมือทางการเงินที่หลากหลาย ตลาดมีความลึกและมีสภาพคล่องเพียงพอที่จะเอื้อให้เกิดความสะดวกในการค้าขาย การลงทุน และการถือเป็นสินทรัพย์ (3) ประเทศเจ้าของเงินสกุลนั้นมีขนาดเศรษฐกิจใหญ่และมีปริมาณการค้าระหว่างประเทศสูง ซึ่งทำ ให้มีอำ นาจต่อรองและเงินสกุลนั้นเป็นที่ต้องการใช้ ส่วนหนึ่งเพราะคนในประเทศจะได้ไม่ต้องรับความเสี่ยงด้านอัตราแลกเปลี่ยนมาก(4) ประเทศเจ้าของเงินสกุลดังกล่าวมีนโยบายทางเศรษฐกิจเป็นที่ยอมรับ ทั้งนี้ การดูแลอัตราเงินเฟ้อให้อยู่ในระดับต่ำและอัตราแลกเปลี่ยนให้มีเสถียรภาพช่วยเสริมสร้างความเชื่อมั่นทางเศรษฐกิจและมีผลดีต่อความเชื่อมั่นในเงินสกุลนั้น ว่าการถือเงินสกุลดังกล่าวจะมีความมั่นคงมูลค่าไม่หดหายไป อนึ่ง เงินสกุลที่เป็น IC แล้วมักจะสูญเสียสถานะยากแม้จะมีบทบาทในเศรษฐกิจโลกน้อยลง เช่น ในกรณีของเงินปอนด์สเตอร์ลิง ดังนั้น การที่เงินสกุลอื่นจะเป็น IC ในขณะที่มีเงินหลายสกุลเป็น IC อยู่แล้วก็เป็นเรื่องที่ไม่ง่าย

เมื่อเงินสกุลหนึ่งได้รับการยอมรับหรือผ่านเงื่อนไขที่กล่าวมาข้างต้นแล้ว จะมีผลทำให้ประเทศต่างๆ หันมาใช้เงินสกุลนั้นในการค้าขาย ยิ่งเสริมให้ตลาดในเงินสกุลนั้นเติบโตและมีเครื่องมือทางการเงินเพิ่มขึ้น ประเทศต่างๆ สามารถถือสินทรัพย์ในสกุลเงินนั้นได้โดยสะดวกและจากความน่าเชื่อถือ ทางการในบางประเทศอาจใช้เป็นสมอยึด (Anchor) ค่าเงิน โดยให้น้ำหนักสำคัญกับเงินสกุลนั้นในตะกร้าเงินที่ใช้ดูแลค่าเงินของตน รวมทั้งถือเป็นเงินสำรองระหว่างประเทศ

สถานะการเป็น IC ของเงินสกุลต่างๆ

หากดูจากสัดส่วนของการถือครองเงินสกุลต่างๆ ในเงินสำรองระหว่างประเทศ ซึ่งสะท้อนการยอมรับในสถานะการเป็น ICพบว่า เงินดอลลาร์ สรอ. และเงินยูโรเป็นสกุลที่มีสัดส่วนการถือครองสูงสุดรวมกันเกือบร้อยละ90 โดยเป็นที่น่าสังเกตว่า ภายหลังจากที่เงินยูโรถูกสถาปนาขึ้นในปี 1999 บทบาทของเงินยูโรมีมากขึ้นเป็นลำดับ ในขณะที่เงินเยน ปอนด์สเตอร์ลิง*(1) และสวิสฟรังมีบทบาทไม่มากในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา

ขนาดของเศรษฐกิจและปริมาณการค้าที่มาก ควบคู่กับการพัฒนาของตลาดการเงิน เป็นปัจจัยที่ทำให้เงินดอลลาร์ สรอ. และเงินยูโรมีบทบาทสูงในขณะที่อีก 3 สกุลมีข้อจำกัดอยู่บ้างในบางเงื่อนไขจึงได้รับการยอมรับในสถานะ IC ในระดับที่ต่ำกว่า โดยญี่ปุ่นมีการพัฒนาด้านเศรษฐกิจและการค้าแต่การพัฒนาด้านการเงินยังอยู่ในระดับต่ำเมื่อเทียบกับเงินสกุลอื่น สำหรับสวิตเซอร์แลนด์แม้มีการพัฒนาด้านการเงินเป็นที่ยอมรับและมีธนาคารพาณิชย์ขนาดใหญ่ เช่น UBS (Union Bank of Switzerland) และ Credit Suisse เป็นต้น แต่ด้วยประเทศมีขนาดเล็กและปริมาณการค้าไม่มากเมื่อดูในภาพรวมของโลก ทำให้บทบาทของเงินสวิสฟรังมีข้อจำกัดเช่นกัน

จากข้อมูลข้างต้นทำให้สามารถแบ่งกลุ่มประเทศตามเงื่อนไขของการเป็น IC ได้เป็น3 กลุ่ม คือ (1) กลุ่มที่มีการพัฒนาหรือมีบทบาทสูงทั้งด้านการค้าและการเงินควบคู่กัน คือสหรัฐฯ และ กลุ่มประเทศยูโร (2) กลุ่มที่มีบทบาทด้านการค้ามากกว่าการเงิน คือ ญี่ปุ่นและ (3) กลุ่มที่มีบทบาททางการเงินมากกว่าการค้า คือ อังกฤษ และ สวิตเซอร์แลนด์

เส้นทางสู่ IC ของหยวน

การเป็น IC จะมีผลดีกับจีนเพราะ (1) ความเสี่ยงด้านอัตราแลกเปลี่ยนของธุรกิจจีนจะลดลงเนื่องจากสามารถทำ ธุรกรรมระหว่างประเทศในสกุลเงินหยวนได้ (2) ธุรกิจของสถาบันการเงินในจีนจะเพิ่มขึ้นจากความต้องการสินทรัพย์สกุลหยวนที่มากขึ้น (3) รัฐบาลจีนได้Seigniorage กล่าวคือ การที่ต่างชาติยอมรับในเงินหยวนจะทำให้จีนสามารถพิมพ์หยวนเพื่อซื้อสินค้าและลงทุนต่างประเทศได้ และ (4) เป็นหน้าเป็นตา (prestige) ของชาวจีน

ในช่วงที่ผ่านมา ทางการจีนจึงส่งสัญญาณการผลักดันให้หยวนมีบทบาทในเวทีโลกมากขึ้น และแสดงแนวนโยบายในการเตรียมตัวสู่การเป็น IC ในเบื้องต้นอย่างชัดเจนจากการส่งเสริมการออกพันธบัตรสกุลหยวนในฮ่องกงตั้งแต่ปี 2007 การส่งเสริมการค้าชายแดนโดยใช้เงินหยวนตั้งแต่ปี 2009 และการทำสัญญาbilateral currency swap กับ 8 ประเทศวงเงิน 803.5 พันล้านหยวน

แต่หยวนจะเป็น IC ได้จริงหรือและเมื่อไร? เมื่อพิจารณาเงื่อนไขต่างๆ พบว่าเศรษฐกิจจีนจะมีขนาดเศรษฐกิจใหญ่เท่ากับสหรัฐฯ ในอีก 10-20 ปีจากนี้ นอกจากนี้ ในช่วงที่ผ่านมาสัดส่วนการค้าขายของจีนกับประเทศต่างๆ โดยเฉพาะในเอเชียมีมากขึ้นแสดงให้เห็นว่าเงื่อนไขขนาดของประเทศและปริมาณการค้าสนับสนุนบทบาทการเป็น IC ของหยวนในอนาคต ทว่าในขณะเดียวกันจีนยังมีข้อจำกัดมากในเงื่อนไขที่เหลือของการเป็น IC ดังนี้

1. ในปัจจุบันจีนยังจำ กัดเงินทุนเคลื่อนย้ายทั้งขาเข้าและขาออกอยู่มาก การผ่อนคลายผ่านมาตรการ QFII (Qualified Foreign Institutional Investor) ที่อนุญาตให้นักลงทุนต่างชาติที่ผ่านเกณฑ์ไปลงทุนในตลาดการเงินจีนได้ และมาตรการ QDII (Qualified Domestic Institutional Investor) ที่สนับสนุนให้นักลงทุนจีนไปลงทุนในต่างประเทศ ยังไม่เพียงพอที่จะให้เงินหยวนมี Full convertibility

2. ตลาดการเงินของจีนยังมีขนาดเล็กและมีสภาพคล่องไม่เพียงพอจากกฎระเบียบต่างๆ และประเภทของผู้เล่นที่ไม่หลากหลายนอกจากนี้ แม้การออกพันธบัตรเงินสกุลหยวนในตลาดการเงินโลกในช่วงปี 2005 และ 2009 จะมีอัตราเร่งที่สูง แต่ปริมาณโดยรวมและสภาพคล่องก็ยังน้อยมาก

3. อัตราแลกเปลี่ยนของจีน มีเสถียรภาพ แต่เป็นเพราะทางการดูแลเงินทุนเคลื่อนย้ายอย่างเข้มงวด การมุ่งสู่ Full Convertibility เพื่อเป็น IC มีความจำเป็นต้องเปิดเสรีเงินทุนเคลื่อนย้าย ซึ่งภายใต้ Impossible Trinity จีนต้องเลือกอย่างใดอย่างหนึ่งระหว่างนโยบายการเงินที่ไม่เป็นอิสระกับการปล่อยให้ค่าเงินหยวนเคลื่อนไหวได้มากขึ้น แต่การปรับปรุงและพัฒนากรอบนโยบายดังกล่าวไม่ใช่เรื่องง่ายและต้องใช้เวลาเพื่อไม่ให้กระทบต่อภาคเศรษฐกิจจริงของจีนมากเกินกว่าที่จะยอมรับได้

ดังนั้น การเป็น IC ของหยวนต้องใช้เวลาอีกนาน เนื่องจากเงื่อนไขที่จีนสามารถผ่านได้ในระยะอันใกล้มีเพียง 1 ใน 4 ข้อ คือ ขนาดของเศรษฐกิจ นอกจากนั้น นโยบายและมาตรการของทางการจีนส่วนใหญ่สนับสนุนการเพิ่มบทบาทการเป็นสื่อกลางการแลกเปลี่ยน (Medium of Exchange) ของหยวน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกลุ่มประเทศเอเชียที่จีนมีสัดส่วนการค้าสูงและประเทศที่มีข้อตกลงการค้าขายสกุลหยวนกับจีน ซึ่งหมายความว่าหากหยวนจะเป็น IC จีนยังต้องเพิ่มบทบาทเงินหยวนและปรับปรุงกรอบนโยบายของตนในด้านอื่นๆ อีกมาก

อย่างไรก็ตาม ด้วยโครงสร้างของระบบการเงินโลกที่พึ่งพิงเงินดอลลาร์ สรอ. และเศรษฐกิจสหรัฐฯ เป็นอย่างมากในขณะนี้ ส่งผลให้เกิดปัญหา Global Imbalance และปัญหาอื่นๆ กอปรกับในปัจจุบันมีการกล่าวถึงระบบการเงินที่น่าจะทำให้เศรษฐกิจโลกมีเสถียรภาพมากขึ้น เช่น การกลับไปใช้ระบบมาตรฐานทองคำ ระบบที่อ้างอิงเงิน SDR (Special Drawing Rights) ระบบที่อ้างอิงหลายสกุล(Multi-reserve currency) และระบบ bancor ที่อ้างอิงมูลค่าของสินค้าโภคภัณฑ์หลายๆ ชนิดดังนั้น ขนาดของเศรษฐกิจจีนที่ใหญ่ขึ้นและการพัฒนาทางการเงินทั้งในประเทศและต่างประเทศที่เพิ่มขึ้นเป็นลำ ดับ จะส่งเสริมให้หยวนเพิ่มบทบาทได้ง่ายขึ้นบ้าง

โดยสรุป การที่หยวนจะมีบทบาทเป็นIC อย่างเต็มรูปแบบยังอีกยาวไกล อย่างไรก็ตาม บทบาทของเงินหยวนคาดว่าจะมีมากขึ้นในระบบการเงินโลก โดยเฉพาะอย่างยิ่งในภูมิภาคที่มีปริมาณการค้ากับจีนสูง และในระยะต่อไปที่ประเทศต่างๆ เรียกหาระบบการเงินโลกที่มีความสมดุลมากขึ้น แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น หยวนจะสามารถเป็น IC ได้จริงในระยะยาวหรือไม่ยังขึ้นอยู่กับการปรับเปลี่ยนนโยบายของจีน โดยจำ เป็นต้องมีการเปิดเสรีการเคลื่อนย้ายเงินทุน มีการพัฒนาตลาดเงินรวมถึงมีกรอบนโยบายการเงินและอัตราแลกเปลี่ยนที่สร้างความเชื่อมั่นด้วย

References

Chen, Peng and Shu, 2009. “The Potential of the Renminbi as an International Currency.”

Deutsche Bank research, July 2010. “Yuan as a Reserve Currency.”

Frankel, 1995. “Report of the Dollar’s Demise are Greatly Exaggerated.”

Standard Chartered, January 2011. “Reserveification: The CNY’s journey to reservecurrency status.”

*(1) ปอนด์สเตอร์ลิงเคยเป็น IC หลักก่อนปี 1944 แต่บทบาทลดลงเพราะอังกฤษประสบปัญหาเศรษฐกิจพร้อมกับที่เศรษฐกิจสหรัฐฯ เฟื่องฟู

Contact author:

สุรจิต ลักษณะสุต

หัวหน้านักวิจัย

ฝ่ายวิจัยเศรษฐกิจ

surachil@bot.or.th

ขอขอบคุณ: คุณรุ่ง มัลลิกะมาส คุณสุพัฒน์พงษ์ นาวารัตน์ และส่วนเศรษฐกิจระหว่างประเทศ ฝศร. สำหรับคำแนะนำที่เป็นประโยชน์และข้อมูล

ที่มา: ธนาคารแห่งประเทศไทย


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ