FAQ Issue 15: ลุยน้ำท่วม 2553

ข่าวเศรษฐกิจ Monday December 27, 2010 15:09 —ธนาคารแห่งประเทศไทย

FOCUSED AND QUICK (FAQ) Issue 15

ลุยน้ำท่วม 2553

ปัญจพัฒน์ ประสิทธิ์เดชสกุล

Summary

ข่าวบนหน้าหนังสือพิมพ์รายงานมูลค่าความสูญเสียทางเศรษฐกิจจากสถานการณ์น้ำท่วมในช่วงเดือนตุลาคม - พฤศจิกายนอย่างค่อนข้างน่าเป็นห่วง ถึงระดับที่อาจคุกคามการเติบโตที่ต่อเนื่องของเศรษฐกิจไทย แท้จริงแล้วความเสียหายรุนแรงเช่นนั้นจริงหรือ คำตอบคือ ความเสียหายมีในระดับหนึ่ง ซึ่งเกิดขึ้นทันทีและในระยะข้างหน้า แต่ในเวลาเดียวกัน สถานการณ์น้ำท่วมจะสร้างแรงกระตุ้นให้แก่กิจกรรมทางเศรษฐกิจบางประเภท เมื่อประเมินผลลบและผลบวกรวมกันแล้ว ผลกระทบสุทธิต่อเศรษฐกิจจึงไม่น่ากลัวดังกระแสข่าว ทว่าตัวเลขที่แน่ชัดจะขึ้นอยู่กับพฤติกรรมของรัฐบาลและประชาชน

ย้อนกลับไป 1-2 เดือนก่อน ทุกวันจะได้ยินข่าวสถานการณ์น้ำท่วม ความเดือดร้อนของประชาชน และการช่วยเหลือผู้ประสบภัยจากทั้งภาครัฐและพี่น้องประชาชน ต่อมาเริ่มได้ยินหน่วยงานต่างๆ ประเมินผลกระทบของสถานการณ์น้ำท่วมต่อการขยายตัวของ GDP ในปีนี้ โดยประมาณการส่วนใหญ่ให้อัตราการขยายตัวของ GDP ถูกบั่นทอนลงไปประมาณ 0.3% ซึ่งเมื่อประกอบกับข้อเท็จจริงว่าสถานการณ์น้ำท่วมหนักเริ่มขึ้นในเดือนตุลาคม และผลกระทบแทบทั้งหมดตกอยู่ในไตรมาสสุดท้ายของปี ดังนั้น จึงเท่ากับว่าอัตราการขยายตัวของ GDP ในไตรมาสที่ 4 จะต่ำกว่าปกติถึง 1.2% จึงเกิดข้อสงสัยว่าความเสียหายรุนแรงเพียงนั้นจริงหรือ

นอกจากนี้ หากพิจารณากันให้ละเอียด ผลกระทบของสถานการณ์น้ำท่วมต่อเศรษฐกิจไทยไม่ควรคิดเฉพาะที่เกิดขึ้นในระยะสั้น แต่ต้องคำนึงถึงผลต่อกิจกรรมในระยะต่อๆ ไปด้วย ซึ่งผลกระทบนั้นอาจมีทั้งด้านลบและด้านบวก

FAQ ฉบับนี้จึงอยากชวนท่านผู้อ่านมาทำ ความคุ้นเคยกับระบบบัญชีประชาชาติ เพราะความเข้าใจระบบบัญชีประชาชาติที่ดีขึ้นจะช่วยให้เห็นภาพผลกระทบของสถานการณ์น้ำท่วมต่อเศรษฐกิจไทยได้ชัดเจน ซึ่งรวมถึงการแยกแยะผลกระทบในปีนี้กับผลกระทบในปีถัดๆ ไป

แนวคิดระบบบัญชีประชาชาติ

หากจะคำนวณความเสียหายที่เกิดขึ้นต่อตัวชี้วัดผลผลิตของประเทศหรือ GDP ตัวชี้วัดผลผลิตของประเทศหรือ GDP (Gross Domestic Product) จำเป็นต้องทำความเข้าใจก่อนว่า GDP เป็นการนับมูลค่ารายได้ หรือมูลค่าการผลิต หรือมูลค่าการใช้จ่ายของระบบเศรษฐกิจ ที่เกิดขึ้นภายในช่วงเวลาหนึ่ง ซึ่งแตกต่างจากการวัดความมั่งคั่งของประเทศจากมูลค่าสินทรัพย์ที่คนในระบบเศรษฐกิจมี ณ เวลาหนึ่ง ผู้อ่านบางท่านอาจจะสรุปง่ายๆ ได้ว่า GDP เป็นการนับ flow ขณะที่ความมั่งคั่งเป็นการนับ stock นั่นเอง

อย่างไรก็ดี GDP และความมั่งคั่งมีความสัมพันธ์กัน ยกตัวอย่างเช่น ประเทศที่มีความมั่งคั่งจะมีเครื่องจักรที่ทันสมัยเป็นจำนวนมาก ซึ่งเครื่องจักรเหล่านี้สามารถสร้างผลผลิตและรายได้ให้กับโรงงานอุตสาหกรรมและคนในประเทศได้มากขึ้นไปด้วย ทว่าผลผลิตหรือรายได้นั้นไม่จำเป็นต้องเกิดขึ้นครั้งเดียว แต่อาจเกิดขึ้นในหลายช่วงเวลาตลอดอายุการใช้งานของเครื่องจักร

เพื่อให้เห็นภาพชัดเจนยิ่งขึ้น สมมติสถานการณ์น้ำท่วมทำให้เครื่องจักรที่หากขายทอดตลาดในวันนี้จะได้ราคา 1,450 บาท ชำรุดจนใช้การไม่ได้ ซึ่งปกติเครื่องจักรนี้สามารถใช้งานไปอีก 3 ปี และในแต่ละปีจะสร้างผลผลิตหรือรายได้ให้กับเจ้าของโรงงาน 500 บาท ในกรณีนี้ผลกระทบต่อความมั่งคั่งหรือ Stock of wealth เท่ากับ -1,450 บาท ตามมูลค่าของเครื่องจักรที่เสียหาย ขณะที่ผลกระทบต่อ GDP (at current prices) จะนับจากผลผลิตหรือรายได้ (Stream of income) ที่สูญหายในแต่ละช่วงเวลา คือ -500 ในปีนี้ อีก -500 ในปีหน้า และ -500 ในปีถัดไป

ดังนั้น ในทำนองเดียวกัน การวัดผลกระทบของสถานการณ์น้ำท่วมที่เกิดขึ้นเมื่อเร็วๆ นี้ต้องแยกแยะระหว่างผลกระทบต่อ Stream of income (หรือ GDP) กับผลกระทบต่อความมั่งคั่งที่วัดจากมูลค่าสินทรัพย์ที่คนในประเทศมี

การประเมินผลกระทบจากสถานการณ์น้ำท่วม

ฝนตกชุกยาวนานนับตั้งแต่เดือนสิงหาคม 2553 ก่อให้เกิดสถานการณ์น้ำท่วมครั้งรุนแรงครอบคลุมพื้นที่ 31 จังหวัดในภูมิภาคต่างๆ ทั่วประเทศในช่วงเดือนตุลาคมและพฤศจิกายน นำความเดือดร้อนเป็นอันมากมาสู่ประชาชน ทั้งจากการหยุดชะงักงันของกิจกรรมประจำวัน ความเสียหายต่อทรัพย์สิน อาทิ ที่อยู่อาศัย และสถานประกอบการ รวมไปถึงการสูญหายของผลผลิต โดยเฉพาะผลผลิตทางการเกษตร

เมื่อแยกแยะประเภทของความเสียหายตามแนวที่กล่าวมา สามารถแบ่งออกเป็น 3 ส่วน คือ

1. ความเสียหายต่อผลผลิตทางเศรษฐกิจในปัจจุบัน ซึ่งมีทั้งผลผลิตเกษตรกรรมที่เสียหายจากน้ำท่วม รายได้ที่ลดลงของธุรกิจโรงแรมและภัตตาคารจากความไม่สะดวกในการเดินทาง ตลอดจนการค้าส่งค้าปลีกที่ซบเซาจากภาวะซื้อขายที่ไม่คล่องตัว โดยต้องนับรวมไปถึงการผลิตในสาขาอื่นๆ ที่มีความเชื่อมโยงในกระบวนการผลิตกับสาขาที่ได้รับความเสียหายโดยตรง เช่น กิจกรรมการสีข้าว อุตสาหกรรมแปรรูปยางและการผลิตล้อยาง และการบรรจุภัณฑ์อาหาร ที่จำต้องลดปริมาณการผลิตและประสบต้นทุนการผลิตสูงขึ้นเพราะปริมาณวัตถุดิบเกษตรสูญหายไป รวมถึงสาขาการขนส่งสินค้า เป็นต้น

อย่างไรก็ดี ในการประเมินมูลค่าความเสียหายตามหลักการจัดทำ GDP มูลค่าความเสียหายข้างต้นต้องหักมูลค่าสินค้าขั้นกลางออก เพื่อประเมินความเสียหายเฉพาะส่วนที่เป็นมูลค่าเพิ่มของผลิตภัณฑ์นั้นๆ เช่น หักค่าพันธุ์ข้าวเปลือกหรือค่าปุ๋ยที่เกษตรกรซื้อมาเพื่อใช้ในการเพาะปลูก เนื่องจากเกษตรกรมิได้เป็นผู้ผลิตสินค้าประเภทนี้ เพียงแต่รับซื้อจากรายอื่นมาเท่านั้น จึงไม่นับเป็นรายได้หรือมูลค่าเพิ่มที่เกิดขึ้นจากการผลิตของเกษตรกร

ตารางที่ 1 : มูลค่า Nominal GDP ที่เสียหาย (ล้านบาท)

Nominal % ของความ

                                       GDP Loss        เสียหาย*
(1) ทางตรง 15,269 79%
  - สาขาเกษตรกรรม ปศุสัตว์                 13,175
  - สาขาประมง                              735
  - สาขาท่องเที่ยว                          1,358
(2) ทางอ้อม                               4,144           21%
รวมความเสียหาย                           19,412          100%
- สินค้าเกษตร                             14,543           75%
- โรงแรมและภัตตาคาร                       1,386            7%
- การค้าส่งค้าปลีก                             992            5%
- อุตสาหกรรมแปรรูปอาหารและยางพารา            208            1%
- อื่นๆ                                    2,283           12%
* สัดส่วนของความเสียหายต่อความเสียหายรวม 19,412 ล้านบาท

สำหรับรายได้ที่สูญหายไปทั้งทางตรงและทางอ้อมจากสถานการณ์น้ำท่วมนี้ ผู้เขียนได้ประเมินไว้เมื่อประมาณกลางเดือนพฤศจิกายน 2553 ว่าน่าจะอยู่ประมาณ 1.9 หมื่นล้านบาท (ตารางที่ 1) แบ่งออกเป็นความเสียหายทางตรง 79% และทางอ้อมไปยังการผลิตอื่นๆ อีก 21% โดยความเสียหายรวมอยู่ประมาณ 0.19% ของ GDP ในปีนี้ (ตารางที่ 2) ซึ่งต่ำกว่าการประเมินของสภาพัฒน์ฯ และการประเมินในกรณี Worst case ของสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) และศูนย์วิจัยกสิกรอยู่บ้าง

ตารางที่ 2 : ผลประเมินความเสียหายจากน้ำท่วม
หน่วยงาน (วันที่ประเมิน) ความเสียหายต่อ GDP ในปี 2553
ธปท. (17 พ.ย.)                      0.19%
สภาพัฒน์ฯ (22 พ.ย.)                    0.3%
สศค. (15 พ.ย.)              0.13% - 0.29%
ศูนย์วิจัยกสิกร (4 พ.ย.)         0.15% - 0.31%

ความแตกต่างนี้อาจจะมาจากการประเมินความเป็นไปได้ที่ปริมาณผลผลิตจะเสียหายจริงจากข้อมูลจำนวนพื้นที่ที่ถูกน้ำท่วมตามรายงานของกระทรวงเกษตรฯ โดยผู้เขียนมิได้เชื่อว่าผลผลิตในพื้นที่ประสบภัยจะเสียหายโดยสิ้นเชิงดังเช่นใน Worst case ของ สศค. และศูนย์วิจัยกสิกร แต่ใช้การประเมินความเป็นไปได้ที่ผลผลิตของพืชแต่ละชนิดจะเสียหาย โดยพิจารณาระดับความอ่อนไหวของพืชนั้นๆ ต่อภาวะน้ำท่วมจากการสอบถามเจ้าหน้าที่ของภาครัฐในพื้นที่ประสบภัย ยกตัวอย่างเช่น ผลผลิตข้าวประเมินว่ามีโอกาสเสียหายประมาณ 30% ของข้าวทั้งหมดที่ปลูกในพื้นที่ประสบภัยน้ำท่วม เนื่องจากนาข้าวส่วนใหญ่อยู่ในที่ลุ่มซึ่งเป็นพื้นที่ประสบภัยน้ำท่วมขังในปีนี้ ขณะที่พืชไร่ ได้แก่ ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ และมันสำปะหลัง มักปลูกในที่ดอน จึงไม่ได้ประสบปัญหาน้ำท่วมขังเหมือนข้าว อย่างไรก็ดี บางส่วนได้รับความเสียหายจากน้ำไหลหลากเร็ว ทำให้โดยรวมความเสียหายของพืชไร่คาดว่าจะอยู่เพียง 5% ของพืชไร่ในพื้นที่ประสบภัยน้ำท่วมเท่านั้น

อนึ่ง การประเมินความเสียหายของผู้เขียนวัดจากความเสียหายทางตรงในภาคเกษตรกรรมและการท่องเที่ยวเป็นหลัก เนื่องจากมีมูลค่ามาก แต่ยังไม่ได้รวมถึงรายได้ของธุรกิจในภาคการค้าและการขนส่งที่สูญหายไปอันเนื่องจากการดำเนินกิจการไม่คล่องตัวในช่วงที่มีน้ำท่วมหนัก เนื่องจากมีข้อจำกัดของข้อมูล

2. ความเสียหายต่อความมั่งคั่งของ ประเทศ เป็นความเสียหายที่เกิดต่อสินทรัพย์ อาคาร สถานที่ ถนนหนทาง ตลอดจนพืชประเภทยืนต้นที่สามารถเก็บเกี่ยวผลผลิตในระยะยาว ซึ่งในแง่บัญชีประชาชาติจะเป็นการลดมูลค่า Capital stock ลงและนำไปสู่ความเสียหายในส่วนถัดไป

3. ความเสียหายต่อผลผลิตในอนาคตที่พึงได้จากทุนหรือแรงงานที่เสียหายไป อาทิ ต้นยางพาราที่ล้มตายไปทำให้เกษตรกรสูญเสียผลผลิตอันพึงได้รับในภายภาคหน้า

ทั้งนี้ การประเมินความเสียหายในส่วนที่ 2 และ 3 จำเป็นต้องมีการสำรวจ (survey) เพื่อรวบรวมข้อมูลมูลค่าทรัพย์สินที่ชำรุดหรือเสียหายก่อนนำมาใช้ประเมินผลผลิตที่คาดว่าสูญหายในอนาคตโดยอาศัยข้อสมมติบางประการเกี่ยวกับ production function ดังนั้น ในช่วงที่ยังไม่มีข้อมูลจากการสำรวจ การประเมินความเสียหายจึงเป็นการวัดในส่วนที่ 1 เพียงอย่างเดียว

ที่กล่าวมาข้างต้นคือการประเมินความเสียหายของสถานการณ์น้ำท่วมต่อ GDP แต่ประเด็นหนึ่งที่ลืมไม่ได้ คือ เศรษฐกิจไม่ได้รับแต่ความเสียหายเพียงด้านเดียว แต่มีผลด้านบวกด้วย อาทิ การซ่อมแซมอาคารและวัสดุอุปกรณ์ และการซื้อทรัพย์สินทดแทนในช่วงที่สถานการณ์น้ำท่วมคลี่คลายไปแล้ว แม้แต่ในภาคเกษตรกรรมก็มีเกษตรกรนอกพื้นที่ประสบภัยที่ได้รับประโยชน์จากราคาสินค้าเกษตรและรายได้ที่เพิ่มสูงขึ้น นอกจากนี้ ผลผลิตข้าวต่อไร่ในหลายพื้นที่กลับเพิ่มขึ้นจากปริมาณน้ำที่กักเก็บได้มากขึ้นด้วย ซึ่งผลบวกเหล่านี้ต้องนำมาหักกลบกับความเสียหายเพื่อคำนวณผลกระทบสุทธิต่อ GDP แม้ในขณะนี้ยังไม่มีการประเมินตัวเลขด้านบวกที่ชัดเจน ส่วนหนึ่งเพราะความไม่แน่นอนของเวลาที่จะเกิดกิจกรรมด้านบวกต่างๆ แต่สิ่งหนึ่งที่สรุปได้ คือ ผลกระทบสุทธิต่อ GDP ในปี 2553 น่าจะต่ำกว่า 0.19% เมื่อรวมผลด้านบวกเข้าไปแล้ว

ผลเชิงบวกที่อาจยกเป็นตัวอย่างที่ชัดเจน คือ กรณีภัยธรรมชาติในอดีต หากติดตามระดับการลงทุนภาคเอกชน (รูปที่ 2) จะพบว่ากิจกรรมการลงทุนเพื่อฟื้นฟูและทดแทนมีมากขึ้นภายหลังเกิดภัยธรรมชาติ และการลงทุนดังกล่าวมีส่วนสำคัญที่ช่วยให้เศรษฐกิจฟื้นตัวได้เร็วขึ้น ซึ่งปรากฏการณ์นี้เห็นได้ชัดเจนหลังเหตุการณ์สึนามิเมื่อปี 2547 เนื่องจากมีอาคารทรัพย์สินเสียหายเป็นจำนวนมาก สำหรับสถานการณ์น้ำท่วมในปี 2538 ที่มีความรุนแรงกว่าในปีนี้ เพราะครั้งนั้นลามมาถึงย่านธุรกิจสำคัญทั่วทั้งกรุงเทพฯ และเขตปริมณฑล อีกทั้งสถานการณ์คลี่คลายช้า โดยเฉพาะตอนเหนือของกรุงเทพฯ มีน้ำท่วมขังสูงนานร่วม 2 เดือน จึงมีผลทำให้เศรษฐกิจฟื้นตัวได้ช้ากว่าเหตุการณ์ภัยธรรมชาติครั้งอื่น

จะเห็นได้ว่ากิจกรรมการลงทุนภาคเอกชนเพื่อการฟื้นฟูซ่อมแซมเกิดขึ้นเร็วช้าต่างกันในแต่ละกรณี โดยบางครั้งการซ่อมแซมบางส่วนสามารถเกิดขึ้นภายในเวลาเพียง 2 เดือน แต่บางครั้งก็ใช้เวลานานกว่านั้น ซึ่งหากสถานการณ์ในปี 2553 ซึ่งได้คลี่คลายลงไปแล้วภายในเวลาไม่นานนัก สามารถเป็นไปคล้ายกับกรณีรวดเร็ว กิจกรรมการลงทุนภาคเอกชนเพื่อฟื้นฟูซ่อมแซมก็น่าจะเริ่มขึ้นได้ภายในปีนี้

นอกจากนั้น ปัจจัยอีกประการที่จะช่วยบรรเทาผลกระทบของสถานการณ์น้ำท่วมต่อ GDP คือ มาตรการช่วยเหลือผู้ประสบภัยของภาครัฐ โดยในวันที่ 2 พฤศจิกายน 2553 รัฐบาลได้อนุมัติวงเงินฉุกเฉินช่วยเหลือผู้ประสบภัยในด้านต่างๆ (ยังไม่รวมการช่วยเหลือชาวสวนยางไร่ละ 17,007 บาท) รวมเป็นวงเงินประมาณ 2.27 หมื่นล้านบาท โดยส่วนใหญ่เป็นวงเงินโอนให้กับเกษตรกรจำนวน 1.49 หมื่นล้านบาทสำหรับชดเชย 55% ของต้นทุนการผลิต ซึ่งเงินจำนวนนี้มีมูลค่าสูงกว่าความช่วยเหลือของภาครัฐในอดีต (ตารางที่ 3)

ตารางที่ 3: วงเงินช่วยเหลือของภาครัฐ
หน่วย: ล้านบาท     2538      2547      2549      2553

กทม. Tsunami ภาคเหนือ

Nominal        9,234      5,973       29     22,736
Real          13,600      6,681       30     21,108
ที่มา มติคณะรัฐมนตรี

แม้ว่าเงินชดเชยรายได้และทรัพย์สินของผู้ประสบภัยจัดเป็นรายจ่ายประเภทเงินโอนจากภาครัฐสู่ครัวเรือน จึงไม่ใช่รายจ่ายที่จะก่อให้เกิดกิจกรรมทางเศรษฐกิจและมีผลบวกต่อ GDP โดยตรง แต่วงเงินที่ค่อนข้างสูงดังกล่าวน่าจะมีส่วนสำคัญในการรักษาอำนาจซื้อของภาคครัวเรือน อันจะมีผลช่วยให้การจับจ่ายใช้สอยต่างๆ ของครัวเรือนที่ประสบภัยดำเนินต่อไปได้ โดยเงินจำนวนนี้จะช่วยสนับสนุน

การเติบโตหรือพยุงเศรษฐกิจเท่าใดนั้น ขึ้นอยู่กับ (1) จำนวนเงินที่มีการโอนสู่ภาคครัวเรือนอย่างแท้จริง และ (2) พฤติกรรมการใช้จ่ายของผู้ที่ได้รับเงินโอน หากมีการบริโภคหรือการลงทุนต่อเนื่องเพื่อชดเชยผลผลิตหรือทรัพย์สินที่เสียหายไป ก็จะช่วยให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจในไตรมาสที่ 4 ไม่หยุดชะงัก

สรุป

สถานการณ์น้ำท่วมคาดว่าจะทำให้ GDP ของปี 2553 ในส่วนของผลผลิตการเกษตร การท่องเที่ยว ตลอดจนอุตสาหกรรมและการบริการที่เกี่ยวข้อง ลดลงไปโดยรวม 0.19% แต่เมื่อหักกลบกับผลบวกที่เกิดขึ้นตามมา อาทิ จากกิจกรรมการซ่อมแซมและฟื้นฟูต่างๆ ผลกระทบสุทธิต่อ GDP น่าจะน้อยกว่า 0.19% ดังนั้น สถานการณ์น้ำท่วมที่เกิดขึ้นในปีนี้จึงไม่น่าจะถึงกับมีผลคุกคามการเติบโตที่ต่อเนื่องของเศรษฐกิจไทยดังเช่นที่บางฝ่ายอาจมีความกังวล

References

United Nations, 2008. The System of National Accounts 2008 , Vol.1

NESDB. National Income of Thailand Statistical Framework. Available at:

NESDB, 2009. "เช็คช่วยชาติ เพิ่ม GDP หรือไม่" รู้จักบัญชีไทย ฉบับที่ 5

บทความนี้สำเร็จลุล่วงได้ด้วยความช่วยเหลือและคำแนะนำจากคุณรุ่ง มัลลิกะมาส คุณนันทวัฒน์ สังข์หล่อ คุณสุวัชชัย ใจข้อ คุณอรัญญา ศรีวิโรจน์ และคุณสุรัช แทนบุญ ผู้เขียนขอขอบพระคุณเป็นอย่างสูงมา ณ ที่นี้

Contact author(s):

Mr. Punjaphut Prasitdechsakul

Economist Domestic Economy Department

Monetary Policy Group

punjaphp@bot.or.th

ที่มา: ธนาคารแห่งประเทศไทย


แท็ก น้ำท่วม   ลุย  

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ