FAQ Issue 12: ทำไม SME ไม่ป้องกันความเสี่ยงจากค่าเงิน

ข่าวเศรษฐกิจ Monday December 6, 2010 10:59 —ธนาคารแห่งประเทศไทย

FOCUSED AND QUICK (FAQ) Issue 12

ทำไม SME ไม่ป้องกันความเสี่ยงจากค่าเงิน

คธาฤทธิ์ สิทธิกูล

Summary
SMEs เป็นธุรกิจที่มักมีกำไรและทุนไม่มาก จึงมีความทนทานต่ำต่อ shock ต่างๆ ทำให้ SMEs ควรตระหนักและใช้บริการทางการเงินเพื่อช่วยลดผลกระทบจากความเสี่ยงเหล่านี้ แต่ปรากฏว่า SMEs ทำธุรกรรมป้องกันความเสี่ยงจากค่าเงินน้อยมากแม้ในช่วงที่ค่าเงินผันผวนเช่นปัจจุบัน ทั้งนี้เป็นเพราะเจ้าของกิจการบางส่วนยังไม่เห็นความจำเป็น เนื่องจากคิดว่าทางการจะคอยช่วยเหลือดูแลค่าเงินมิให้ผันผวน นอกจากนี้ยังมีเรื่องต้นทุนการป้องกันความเสี่ยงของ SMEs ที่สูงกว่าธุรกิจขนาดใหญ่ ดังนั้น ถ้าจะส่งเสริมให้ SMEs สนใจและป้องกันความเสี่ยงจากค่าเงินก็จำเป็นต้องหาหนทางช่วยลดต้นทุนการทำธุรกรรม ควบคู่ไปกับการสื่อสารและเผยแพร่ความรู้ความเข้าใจให้แก่ SMEs เพื่อให้ตระหนักถึงความจำเป็นของการป้องกันความเสี่ยงจากค่าเงินมากขึ้น

สภาพแวดล้อมทางการเงินของโลกในปัจจุบันมีความไม่แน่นอนสูง ทำให้ความเสี่ยงต่อภาคธุรกิจมีมากขึ้น โดยเฉพาะความเสี่ยงจากค่าเงินที่เคลื่อนไหวผันผวน อย่างไรก็ดี บริษัทขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) ในประเทศไทยยังไม่ค่อยทำการป้องกันความเสี่ยงจากค่าเงินกันมากนัก โดยในปี 2551 มีเพียงร้อยละ 20 ของจำนวน SMEs ทั้งหมดที่ป้องกันความเสี่ยงจากค่าเงิน ซึ่งเป็นสัดส่วนที่น้อยมากเมื่อเทียบกับต่างประเทศ เช่น ออสเตรเลียที่ SMEs มีสัดส่วนดังกล่าวสูงถึงร้อยละ 90*(1) นอกจากนั้น SMEs ในประเทศไทยมักใช้เครื่องมือบริหารความเสี่ยงเพื่อวัตถุประสงค์ของการเก็งกำไรมากกว่าการปิดความเสี่ยง ผู้ส่งออกรายย่อยที่ทำสัญญาขายล่วงหน้า (Forward) มีจำนวนเพิ่มมากขึ้นอย่างชัดเจนช่วงค่าเงินบาทแข็งค่าและลดจำนวนลงเมื่อค่าเงินบาทอ่อนค่า สะท้อนพฤติกรรมการเก็งกำไรตามทิศทางค่าเงิน ซึ่งแตกต่างจากบริษัทขนาดใหญ่อย่างสิ้นเชิง โดยบริษัทขนาดใหญ่จะป้องกันความ เสี่ยงจากค่าเงินอย่างสม่ำเสมอและเป็นระบบโดยไม่คำนึงถึงทิศทางค่าเงิน

ดังนั้น คำถามที่สำคัญ คือ SMEs มีความจำเป็นต้องป้องกันความเสี่ยงจากค่าเงินน้อยกว่าบริษัทขนาดใหญ่หรือ หากตอบว่าไม่ใช่ เหตุใด SMEs จึงไม่ทำการป้องกันความเสี่ยงให้มากกว่าที่เป็นอยู่และทางการควรแก้ไขปัญหานี้อย่างไร

SMEs มีความจำเป็นต้องป้องกันความเสี่ยงจากค่าเงินยิ่งกว่าบริษัทขนาดใหญ่

SMEs ส่วนใหญ่อยู่ใน 3 อุตสาหกรรม ได้แก่ อาหาร สิ่งทอ และเฟอร์นิเจอร์

ธราดล เปี่ยมพงศ์สานต์, 2553

SMEs มีลักษณะเฉพาะตัวที่น่าสนใจ คือ เป็นธุรกิจที่มักอยู่ในอุตสาหกรรมที่มีเทคโนโลยีการผลิตไม่ซับซ้อน เน้นการใช้แรงงานเป็นสำคัญ ทำให้ต้องเผชิญกับการแข่งขันสูง เพราะผู้ประกอบการรายอื่นทั้งในประเทศและต่างประเทศสามารถประกอบธุรกิจในลักษณะคล้ายคลึงกันได้โดยง่าย ดังนั้น SMEs จึงเป็นธุรกิจที่มีกำไรค่อนข้างต่ำ*(2) และมีกำไรสะสมไม่มาก เมื่อประกอบกับทุนที่ค่อนข้างจำกัด SMEs จึงมีความสามารถในการรองรับแรงกระแทกต่างๆ ซึ่งรวมถึงการเปลี่ยนแปลงของค่าเงิน อยู่ในระดับที่ต่ำมากเมื่อเทียบกับบริษัทขนาดใหญ่

นอกจากนี้ ในกลุ่ม SMEs ที่มีการส่งออก ส่วนใหญ่มีรายรับกับรายจ่ายต่างสกุลเงินกัน (currency mismatch) กล่าวคือรายรับเป็นเงินตราต่างประเทศ แต่รายจ่ายในการผลิตมักเป็นเงินบาท เพราะส่วนใหญ่ใช้วัตถุดิบในประเทศ จึงไม่สามารถใช้ประโยชน์จากการหักกลบลบหนี้เงินตราต่างประเทศได้มากนัก หรือไม่มี natural hedging

จากฐานะทางการเงินที่เปราะบางและลักษณะของธุรกิจที่ไม่มี natural hedging ทำให้ SMEs ควรบริหารความเสี่ยงจากค่าเงินในเชิงรุกมากกว่าตั้งรับ โดยน่าจะใส่ใจกับการป้องกันความเสี่ยงจากค่าเงินเสียยิ่งกว่าบริษัทขนาดใหญ่ที่มีทุนหนาและฐานะทางการเงินมั่นคงกว่า

ทำไม SMEs ไม่ป้องกันความเสี่ยงจากค่าเงินเท่าที่ควร

สาเหตุที่ SMEs ไม่ค่อยป้องกันความเสี่ยงจากค่าเงินมีด้วยกันหลายประการ ส่วนหนึ่งเป็นปัญหาที่ความรู้ความเข้าใจของผู้ประกอบการเอง แต่อุปสรรคที่สำคัญอีกประการ คือ ต้นทุนการทำธุรกรรมป้องกันความเสี่ยงที่สูงเป็นพิเศษ

  • SMEs มีความเข้าใจที่คลาดเคลื่อนเกี่ยวกับค่าเงิน โดย SMEs คิดว่า "ธนาคารกลาง [คอย] ดูแลค่าเงินไม่ให้ผันผวน" ทั้งนี้ จากการสำรวจบริษัทขนาดเล็กจำนวน 445 แห่ง*(3) พบว่าเกือบครึ่งหนึ่ง (ร้อยละ 46.5) เชื่อว่าธนาคารกลางจะดูแลค่าเงินไม่ให้ผันผวน และจะทำอย่างนั้นแบบต่อเนื่องยาวนาน ส่งผลให้ SMEs ที่เจ้าของกิจการส่วนใหญ่มักบริหารกิจการด้วยตนเอง ไม่มีแรงจูงใจให้บริหารความเสี่ยง เพราะเห็นว่าจะไม่คุ้มกับต้นทุนการบริหารความเสี่ยงที่ต้องจ่ายออกไป จากการสำรวจเดียวกันในกลุ่มบริษัทขนาดใหญ่ แม้จะมีความเชื่อดังกล่าวด้วย (ร้อยละ 45.8) แต่บริษัทขนาดใหญ่มักจ้างมืออาชีพเข้ามาบริหารกิจการ ซึ่งมีระบบจัดการที่เข้มกว่า ผู้บริหารจึงไม่อาจใช้ความเห็นส่วนบุคคลในการบริหารค่าเงินเหมือนอย่างกรณี อาชีพเข้ามาบริหารกิจการ ซึ่งมีระบบจัดการที่เข้มกว่า ผู้บริหารจึงไม่อาจใช้ความเห็นส่วนบุคคลในการบริหารค่าเงินเหมือนอย่างกรณี อาชีพเข้ามาบริหารกิจการ ซึ่งมีระบบจัดการที่เข้มกว่า ผู้บริหารจึงไม่อาจใช้ความเห็นส่วนบุคคลในการบริหารค่าเงินเหมือนอย่างกรณี SMEs
  • SMEs ขาดความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับธุรกรรมป้องกันความเสี่ยงฯ SMEs ส่วนใหญ่เป็นธุรกิจครอบครัวที่เจ้าของกิจการหรือ เถ้าแก่ยังคงเป็นผู้ตัดสินใจเชิงนโยบายทั้งหมด ดังนั้น ตราบใดที่เจ้าของกิจการขาดความรู้ความเข้าใจ จึงเป็นเรื่องยากที่ SMEs จะใช้บริการทางการเงินเพื่อบริหารความเสี่ยง ทั้งนี้ การขาดความรู้ความเข้าใจมีหลายระดับ ตั้งแต่การขาดความรู้ว่ามีเครื่องมือบริหารความเสี่ยง จนถึงการขาดความเข้าใจในรายละเอียดขั้นตอนการใช้บริการของธนาคารพาณิชย์ เช่น มีความกังวลหากคู่ค้าของตนชำระเงินไม่ตรงตามกำหนดเวลา จะทำอย่างไรกับสัญญาขายล่วงหน้า (Forward) ที่ได้ทำไว้แล้วกับธนาคารพาณิชย์
  • SMEs เข้าถึงบริการของธนาคารพาณิชย์ได้ยาก SMEs ที่ต้องการทำธุรกรรมป้องกันความเสี่ยงจากค่าเงินกับธนาคารพาณิชย์ต้องมีวงเงินสินเชื่อก่อน กล่าวคือ ต้องผ่านกระบวนการพิจารณา credit risk เพื่อให้ธนาคารพาณิชย์มั่นใจในระดับหนึ่งว่าลูกค้าจะไม่บิดพริ้วสัญญาล่วงหน้า แต่ธรรมชาติของ SMEs มีฐานะการเงินที่เปราะบาง และการทำบัญชีของ SMEs ยังไม่ค่อยได้มาตรฐาน จึงเป็นอุปสรรคสำคัญต่อการได้รับพิจารณาวงเงินสินเชื่อจากธนาคารพาณิชย์ แม้ว่าธนาคารพาณิชย์บางแห่งอนุโลมให้ลูกค้าที่ไม่มีวงเงินสินเชื่อสามารถใช้การวางเงินค้ำประกันแทนได้ แต่ SMEs ส่วนใหญ่มีสินทรัพย์และสภาพคล่องน้อย จึงไม่มีเงินวางเพื่อค้ำประกัน ทำให้ไม่สามารถเข้าถึงบริการได้อยู่ดี
  • SMEs มักใช้ธนาคารพาณิชย์เพียงแห่งเดียว ซึ่งอาจมีข้อจำกัดของการให้บริการ เนื่องจาก ปัญหาการเข้าถึงบริการของธนาคารพาณิชย์ ดังนั้น SMEs จึงทำธุรกรรมทางการเงินกับธนาคารเพียงไม่กี่แห่งและส่วนใหญ่จะใช้บริการธนาคารเพียงแห่งเดียว เพื่อให้มีประวัติกับธนาคารนั้นและรักษาอำนาจการต่อรอง ซึ่งหากธนาคารที่ใช้อยู่มีบริการไม่ครบถ้วนหรือไม่ให้ความสำคัญกับการบริการลูกค้ารายย่อย จะทำให้ SMEs มีข้อจำกัดในการเข้าถึงบริการที่จะช่วยป้องกันความเสี่ยงจากค่าเงิน
  • SMEs เห็นว่าต้นทุนการบริหารความเสี่ยงค่อนข้างแพง SMEs มีต้นทุนการทำธุรกรรมป้องกันความเสี่ยงจากค่าเงินสูงกว่าบริษัทขนาดใหญ่ สะท้อนจาก credit risk ที่สูงกว่าและขนาดของธุรกรรมที่เล็กกว่า ทำให้ธนาคารผู้ให้บริการมี transaction cost สูงกว่าการทำธุรกรรมขนาดใหญ่ ข้อมูลจากระบบ DMS ของ ธปท. แสดงให้เห็นว่า SMEs มีต้นทุนที่สูงกว่า โดยส่วนที่ต้องจ่ายเป็น Spread (ส่วนต่างระหว่างราคาที่ลูกค้าจ่าย กับต้นทุนที่ธนาคารจัดหาเงินตราต่างประเทศ แต่ไม่รวมต้นทุนการให้บริการ) สูงกว่าบริษัทขนาดใหญ่ ซึ่ง Spread ดังกล่าวบางครั้ง SMEs เห็นว่าสูงจนกระทั่งไม่จูงใจให้บริหารความเสี่ยงจากค่าเงิน ซึ่งเป็นประเด็นปัญหาที่ได้ยินบ่อยครั้งจากการสำรวจการแก้ไขปัญหา SMEs มีบทบาทสำคัญต่อเศรษฐกิจไทย ดังนั้น ความแข็งแกร่งและความสามารถในการบริหารความเสี่ยงของ SMEs เพื่อรองรับแรงกระแทกต่างๆ จึงเป็นสิ่งที่จำเป็นสำหรับเสถียรภาพของระบบเศรษฐกิจ

ในเรื่องของความเสี่ยงจากค่าเงิน ทางการตระหนักว่า SMEs ป้องกันความเสี่ยงน้อยกว่าที่ควรค่อนข้างมาก ดังนั้นที่ผ่านมาทางการจึงพยายามลดอุปสรรคต่างๆ เพื่อให้ SMEs สามารถเข้าถึงและใช้บริการป้องกันความเสี่ยงจากค่าเงินภายใต้ต้นทุนที่สมเหตุสมผล สรุปได้ดังนี้ 1. สิ่งที่ดำเนินการไปแล้ว ส่วนใหญ่เป็นเรื่องของการสื่อสารเพื่อสร้างความเข้าใจและให้ความรู้แก่ SMEs

  • เพื่อปรับความเข้าใจที่คลาดเคลื่อน เกี่ยวกับความผันผวนของค่าเงิน ธปท. ได้ออกมาสื่อสารอย่างต่อเนื่องให้ผู้ประกอบการตระหนักว่าค่าเงินสามารถเคลื่อนไหวผันผวน และทางการไม่สามารถดูแลค่าเงินให้อยู่นิ่งๆ ได้อย่างที่ผู้ประกอบการอาจคาดหวัง

จากการสำรวจล่าสุดในปี 2553 โดย ธปท. พบว่าความเชื่อดังกล่าวลดลงบ้าง แต่ยังไม่สามารถสรุปได้ชัดเจนว่ามาจากความพยายามในการอธิบายของ ธปท. หรือสาเหตุใด เนื่องจากเป็นจังหวะเดียวกับที่ค่าเงินบาทมีความผันผวนมากขึ้น

  • เพื่อเพิ่มความรู้ความเข้าใจของ SMEs เกี่ยวกับเครื่องมือการบริหารความเสี่ยงฯธปท. ได้จัดทำคู่มือการบริหารความเสี่ยงฯ เผยแพร่ใน website และประสานงานกับธนาคารพาณิชย์จัดการอบรมหลายครั้งให้กับลูกค้ากลุ่ม SMEs เพื่อแนะนำเครื่องมือต่างๆ ที่ลูกค้าสามารถใช้ปิดความเสี่ยงจากค่าเงิน

อย่างไรก็ดี ยังไม่มีข้อมูลที่สามารถนำมายืนยันความสำเร็จของสิ่งที่ได้ดำเนินการไปแล้ว เพราะในภาพรวมพฤติกรรมการป้องกันความเสี่ยงของ SMEs ไม่ได้สม่ำเสมอขึ้นอย่างมีนัยสำคัญจากหลายปีก่อน พิจารณาจากอัตราส่วนการป้องกันความเสี่ยง (hedging ratio) ที่ยังคงผันผวนตามทิศทางค่าเงินเช่นเดิม ล่าสุด hedging ratio ของ ผู้ส่งออกปรับสูงขึ้นเป็นร้อยละ 43.8 ตามทิศทางค่าเงินบาทที่แข็งค่า เทียบกับค่าเฉลี่ยปี 2552 ที่ ร้อยละ 28.1 2. สิ่งที่กำลังดำเนินการ ส่วนใหญ่เน้นการลดอุปสรรคการเข้าถึงบริการป้องกันความเสี่ยงฯ ของ SMEs ทั้งในส่วนของบริการจากธนาคารพาณิชย์และบริการผ่านช่องทางอื่น

  • เพื่อลดอุปสรรคการเข้าถึงบริการป้องกันความเสี่ยงฯ ของธนาคารพาณิชย์เงื่อนไขการให้บริการสัญญา Forward กับ SMEs เพื่อช่วยให้ SMEs มีจุดเริ่มต้นของประวัติการใช้บริการสถาบันการเงินและเพื่อเพิ่มทางเลือก โดยผู้ประกอบการ SMEs สามารถเปรียบเทียบต้นทุนและคุณภาพการบริการกับธนาคารพาณิชย์ และที่สำคัญ คือ ให้ผู้ประกอบการ SMEs มีความคุ้นเคยกับบริการต่างๆ ซึ่งจะช่วยเพิ่มความสามารถในการใช้บริการธนาคารพาณิชย์ต่อไป

นอกจากนั้น หาก SMEs ต้องการใช้บริการธนาคารพาณิชย์แต่ไม่มีวงเงินสินเชื่อหรือหลักทรัพย์สำหรับประกันในการทำสัญญา Forward บรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) จะพยายามเข้ามาช่วยเหลือค้ำประกันวงเงินดังกล่าวให้กับ SMEs ภายใต้โครงการ Portfolio Guarantee Scheme (PGS) โดย SMEs จะจ่ายค่าธรรมเนียมค้ำประกันประมาณร้อยละ 0.75 - 1 ล่าสุดโครงการนี้อยู่ในขั้นตอนการพิจารณาว่าสามารถดำเนินการได้หรือไม่ภายใต้ขอบเขตกฎหมายของ บสย. (กระทรวงการคลังตีความแบบแคบว่า ธุรกรรมป้องกันความเสี่ยงไม่ถือเป็นธุรกรรมสินเชื่อ ดังนั้น จึงอาจอยู่นอกขอบเขตการทำธุรกิจของ บสย.) ซึ่งหากดำเนินการได้ โครงการนี้น่าจะช่วยเพิ่มการเข้าถึงและช่วยลดต้นทุนในการใช้บริการของธนาคารพาณิชย์ได้บ้าง เนื่องจากการค้ำประกันช่วยลด credit risk ลงไป ดังเช่น PGS สินเชื่อ SMEs ทั้ง 2 โครงการที่ผ่านมาที่สามารถช่วยให้ SMEs จำนวนมากสามารถเข้าถึงสินเชื่อได้แม้เศรษฐกิจปีก่อนชะลอตัวก็ตาม

  • เพื่อเพิ่มทางเลือกของการเข้าถึงบริการป้องกันความเสี่ยงฯ ทางการได้ศึกษาแนวทางการเพิ่มช่องทางการเข้าถึงบริการป้องกันความเสี่ยงฯ ที่นอกเหนือจากบริการของธนาคารพาณิชย์ เช่น การซื้อขายเงินตราต่างประเทศ (Futures) ผ่านตลาดอนุพันธ์ (TFEX) โดยผู้ส่งออกและผู้นำเข้าสามารถเปิดบัญชีกับนายหน้าแล้ววางเงินประกันเริ่มต้น จากนั้นก็สามารถทำการซื้อ/ขายล่วงหน้าได้ อย่างไรก็ดี ขณะนี้ยังอยู่ในขั้นเริ่มต้นของการศึกษาและทำความเข้าใจในรายละเอียดกับ TFEX นอกจากนี้ แม้ว่าการมีตลาด FX Futures จะช่วยลดปัญหาเรื่องการพึ่งพาธนาคารพาณิชย์ แต่ SMEs อาจมีข้อจำกัดเรื่องสภาพคล่องที่ต้องนำมาวางเป็นเงินประกันเริ่มต้น อีกทั้งวันส่งมอบและขนาดสัญญาที่ต้องป็นมาตรฐานเดียว อาจไม่ตรงตามธุรกรรมการค้าจริงของผู้ส่งออกและผู้นำเข้า ดังนั้นอาจไม่สนองความต้องการของ SMEs ได้อย่างเต็มที่

จากที่กล่าวมาทำให้พอทราบถึงสาเหตุที่ SME ไม่ป้องกันความเสี่ยงจากค่าเงินเท่าที่ควร และความคืบหน้าในส่วนต่างๆ ที่ทางการได้ดำเนินการเพื่อแก้ไขปัญหาไปบ้างแล้ว อย่างไรก็ดี ปัจจุบัน SMEs ส่วนใหญ่ยังคงป้องกันความเสี่ยงในลักษณะเชิงรับหรือไม่เป็นระบบอยู่เช่นเดิม ซึ่งอาจยังคงมีปัญหาบางอย่างค้างอยู่ในทางปฏิบัติ ดังนั้น เพื่อให้การแก้ปัญหาได้ตรงจุดมากขึ้น ควรมีการศึกษาเชิงลึกเพิ่มเติมในบางประเด็น อาทิ ศึกษาต้นทุนของบริการป้องกันความเสี่ยงฯ ของธนาคารพาณิชย์ ซึ่งจะช่วยให้เข้าใจปัญหาอย่างถ่องแท้และสามารถลดอุปสรรคต่างๆ ในทางปฏิบัติอย่างเป็นระบบ เพื่อให้ SMEs ที่ตระหนักถึงความจำเป็นในการป้องกันความเสี่ยงสามารถบริหารความเสี่ยงจากค่าเงินเชิงรุกได้อย่างคล่องตัว

Contact author:

Mr. Khatharit Sitthikul

Senior researcher

Economic Research Department

Monetary Policy Group

khataris@bot.or.th

*(1) Susan Thorp, 2007, "Hedging Success for SME"

*(2) จากการสำรวจล่าสุดของ ธปท. SMEs มีกำไรต่ำกว่าบริษัทใหญ่ในธุรกิจเดียวกัน โดยในปี 2553 อยู่ประมาณ 2-10%

*(3) จากการสำรวจความเห็นของผู้บริหารบริษัทโดย ธปท. เมื่อปี 2551

ที่มา: ธนาคารแห่งประเทศไทย


แท็ก SME  

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ