บทความ: เช็คผลค่าจ้าง 300 บาทระลอกแรก ก่อนระลอกใหม่ในปีหน้า

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday October 17, 2012 11:02 —ธนาคารแห่งประเทศไทย

นางสาวอัญชลี ศิริคะเณรัตน์

สายนโยบายการเงิน

ธนาคารแห่งประเทศไทย

เมื่อต้นเดือนกันยายนที่ผ่านมา คณะกรรมการค่าจ้างได้ยืนยันการขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำเป็น 300 บาทในอีก 70 จังหวัดทั่วประเทศให้มีผลตั้งแต่ 1 มกราคม 2556 โดยให้เหตุผลว่าการขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำอย่างก้าวกระโดดในระลอกแรกเมื่อ 1 เมษายน 2555 ไม่ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทยโดยรวม อัตราการว่างงานยังอยู่ในระดับต่ำและการปิดกิจการก็ไม่แตกต่างจากที่ผ่านมา แต่ผลกระทบดังกล่าวยังคงเป็นที่ถกเถียงกันอย่างกว้างขวาง ซึ่งบางข้อคิดเห็นก็ยังไม่มีข้อมูลยืนยันที่แน่ชัด จนเมื่อเร็วนี้ๆ สำนักงานสถิติแห่งชาติได้เผยแพร่ข้อมูลการสำรวจแรงงานล่าสุด จึงน่าสนใจที่จะนำมาดูผลกระทบของการขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำต่อตลาดแรงงานกัน

ข้อมูลการสำรวจแรงงานแสดงให้เห็นชัดเจนว่า ค่าจ้างได้ปรับเพิ่มขึ้นตามค่าจ้างขั้นต่ำ จากเดิมที่แรงงานส่วนใหญ่ได้รับค่าจ้างประมาณ 150-250 บาทต่อวัน กลายเป็นมีแรงงานที่ได้รับค่าจ้าง 250-300 บาทต่อวันมากขึ้น และค่าจ้างเฉลี่ยในไตรมาสที่ 2 นี้ขยายตัวจากปีก่อน 17.5% สูงกว่าค่าเฉลี่ยในช่วง 10 ปีที่ผ่านมาที่ 4.4% สะท้อนว่าแรงงานโดยรวมมีรายได้เพิ่มขึ้น และเมื่อเทียบกับอัตราเงินเฟ้อที่ขยายตัวเพียง 2.9% (เงินเฟ้อหมวดอาหารเพิ่มขึ้น 5.7%) แล้ว ก็อาจกล่าวได้ว่า แรงงานส่วนใหญ่จะมีเงินเหลือในกระเป๋าเพื่อจับจ่ายใช้สอยและจะช่วยกระตุ้นการบริโภคภายในประเทศได้ แม้ว่าจะมีแรงงานที่ยังคงได้รับค่าจ้างน้อยกว่าค่าจ้างขั้นต่ำอยู่อีกประมาณ 3.6 ล้านคนก็ตาม

เมื่อดูให้ละเอียดขึ้นจะพบว่า ไม่เพียงแต่แรงงานที่มีรายได้น้อยเท่านั้นที่ได้รับค่าจ้างเพิ่มขึ้น แต่แรงงานที่มีค่าจ้างสูงกว่าค่าจ้างขั้นต่ำก็ได้ปรับขึ้นค่าจ้างด้วยเช่นกัน หรือที่เรียกกันว่า เป็นการปรับขึ้นค่าจ้างทั้งโครงสร้าง ทั้งนี้ บางส่วนอาจได้รับอานิสงส์จากนโยบายเงินเดือนปริญญาตรี15,000 บาท ที่แม้แรกเริ่มจะเป็นนโยบายสำหรับลูกจ้างภาครัฐ แต่ก็ส่งผลมายังลูกจ้างภาคเอกชนด้วย โดยจะเห็นว่าแรงงานที่มีรายได้ 650-700 บาทต่อวันมีจำนวนมากขึ้น

ถ้าจะถามว่าการขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำครั้งนี้ ช่วยให้แรงงานไทยมีการกระจายรายได้ดีขึ้นด้วยหรือไม่ หากใช้โครงสร้างค่าจ้างของลูกจ้างเอกชนหลังการปรับค่าจ้างขั้นต่ำ มาคำนวณค่า Gini Coefficient ที่นิยมใช้วัดการกระจายรายได้ก็จะได้ค่าที่ไม่แตกต่างจากในอดีตมากนักคืออยู่ที่ประมาณ 55.6 สะท้อนว่าการกระจายรายได้ยังไม่ได้ปรับดีขึ้นมาก จากข้อมูลนี้ทำให้เห็นว่า การปรับค่าจ้างขั้นต่ำครั้งนี้ แรงงานได้รับผลดีโดยมีรายได้เพิ่มขึ้นในทุกกลุ่มรายได้ แต่อาจยังไม่ช่วยในเรื่องของการกระจายรายได้

แล้วการขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำมีผลเสียหรือไม่? ในมุมมองของผู้ประกอบการ ค่าจ้างแรงงานที่เพิ่มขึ้นก็คือภาระต้นทุนที่สูงขึ้น จากข้อมูลในอดีต พบว่า ต้นทุนแรงงานเฉลี่ยคิดเป็น 13.7% ของต้นทุนทั้งหมด โดยอุตสาหกรรมที่ใช้แรงงานมากก็จะได้รับผลกระทบมาก เช่น การก่อสร้าง การผลิตอาหาร และการค้า ซึ่งภาระต้นทุนที่สูงขึ้นนี้จะมีผลกระทบต่อการผลิตและต่อเนื่องไปยังการลงทุนได้ อย่างไรก็ตาม จากการสอบถามผู้ประกอบการโดย ธปท. พบว่า ผู้ประกอบการได้มีการปรับตัวกันไปบ้างหลังการปรับค่าจ้างขั้นต่ำ ทั้งการซื้อเครื่องจักรมาทดแทนแรงงาน การฝึกอบรมแรงงานเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงาน การให้แรงงานทำงานหลากหลายหน้าที่ และการลดต้นทุนด้านอื่นๆ สิ่งเหล่านี้ถือว่าเป็นการเพิ่มผลิตภาพ หรือ productivity ซึ่งในระยะยาวนับว่าเป็นเรื่องดีเพราะตั้งแต่ปี 2543 เป็นต้นมา ประเทศไทยมีการเพิ่มของผลิตภาพเฉลี่ยเพียงปีละ 2.6% ต่ำกว่ามาเลเซีย เวียดนาม และกัมพูชาที่มีการเพิ่มขึ้นเฉลี่ยมากกว่า 3.5% ต่อปี ทั้งนี้ การปรับตัวโดยเฉพาะในกลุ่มอุตสาหกรรมที่ได้รับผลกระทบสูงน่าจะช่วยบรรเทาผลกระทบต่อภาคธุรกิจได้ นอกจากนี้มาตรการช่วยเหลือระยะสั้นจากภาครัฐ อาทิ การลดอัตราภาษีเงินได้นิติบุคคล การนำรายจ่ายค่าจ้างที่เพิ่มขึ้นมาลดภาษี และการให้สินเชื่อดอกเบี้ยต่ำแก่ผู้ที่ได้รับผลกระทบ ก็น่าจะเป็นอีกแรงสำคัญในการช่วยเหลือภาคธุรกิจ

อย่างไรก็ดี การปรับค่าจ้างขั้นต่ำอีกระลอกในต้นปีหน้า แม้จะเป็นการปรับในอัตราที่น้อยกว่าคือเพิ่มขึ้นเฉลี่ย 22.4% ซึ่งแน่นอนว่าจะมีแรงงานที่ได้รับประโยชน์ แต่ก็อาจมีผลเสียมากกว่าในระลอกแรกได้ เพราะผู้ประกอบการจะต้องแบกรับภาระต้นทุนที่มากขึ้น หลังจากที่เพิ่งปรับค่าจ้างขั้นต่ำเพิ่มขึ้นถึง 40% ได้เพียง 9 เดือน ผู้ประกอบการที่บอบช้ำจากการแบกรับต้นทุนไว้ในปีนี้และมีสายป่านที่ไม่ยาวพอ เมื่อถูกซ้ำแผลเก่าก็อาจแบกรับภาระต่อไปไม่ไหว ทำให้อาจจะเห็นการปรับราคาสินค้าขึ้นบ้าง หรือเห็นการย้ายฐานการผลิตของบางอุตสาหกรรมไปต่างประเทศมากขึ้น ดังเช่นผู้ผลิตสิ่งทอที่สูญเสียความสามารถในการแข่งขันและทยอยออกไปลงทุนในประเทศเพื่อนบ้านอย่างต่อเนื่อง นอกจากนี้ วิกฤตเศรษฐกิจในยุโรปยังคงเป็นความเสี่ยงต่อการส่งออกและเศรษฐกิจไทยในปีหน้าซึ่งจะทำให้ความทนทานของผู้ประกอบการลดลงได้ ดังนั้น ภาครัฐคงต้องติดตามและประเมินผลกระทบอย่างใกล้ชิด เพื่อให้การปรับค่าจ้างขั้นต่ำระลอกใหม่ไม่ส่งผลเสียต่อเศรษฐกิจและแรงงานได้รับประโยชน์อย่างเต็มที่

บทความนี้เป็นข้อคิดเห็นส่วนบุคคล จึงไม่จำเป็นต้องสอดคล้องกับความเห็นของธนาคารแห่งประเทศไทย

          ที่มา: ธนาคารแห่งประเทศไทย

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ