แถลงข่าวเศรษฐกิจและการเงินเดือนกันยายน และไตรมาสที่ 3 ปี 2555

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday October 31, 2012 14:12 —ธนาคารแห่งประเทศไทย

ฉบับที่ 56/2555

ภาวะเศรษฐกิจได้รับผลกระทบจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลกต่อเนื่อง โดยการผลิตภาคอุตสาหกรรมที่เน้นผลิตเพื่อการส่งออกหดตัวต่อเนื่องเช่นเดียวกับการส่งออก ขณะที่การผลิตของอุตสาหกรรมเพื่อจำหน่ายในประเทศ การท่องเที่ยว และการใช้จ่ายภาคเอกชนยังคงขยายตัวได้ สำหรับเสถียรภาพเศรษฐกิจ การว่างงานยังทรงตัวในระดับต่ำ ขณะที่อัตราเงินเฟ้อทั่วไปเพิ่มขึ้นจากผลของฐานราคาพลังงานที่ต่ำในปีก่อนเป็นสำคัญ

รายละเอียดของภาวะเศรษฐกิจไทย มีดังนี้

การชะลอตัวของเศรษฐกิจโลกส่งผลกระทบต่อการส่งออกสินค้าอย่างต่อเนื่อง แม้การส่งออกโดยรวมจะหดตัวน้อยลงที่ร้อยละ 0.1 จากระยะเดียวกันปีก่อน แต่หากไม่รวมการส่งออกทองคำ การส่งออกหดตัวร้อยละ 7.9 จากระยะเดียวกันปีก่อน และเป็นการหดตัวในเกือบทุกหมวดสินค้า โดยการส่งออกสินค้าเกษตรหดตัวจากการส่งออกยางพาราจากฐานราคาที่สูงในปีก่อน และปริมาณการส่งออกข้าวที่ลดลงเนื่องจากราคาสูงกว่าประเทศคู่แข่ง ส่วนการส่งออกสินค้าอุตสาหกรรมหดตัวจากการส่งออกสินค้าในหมวดอิเล็กทรอนิกส์และอาหารเป็นสำคัญ อย่างไรก็ดี การส่งออกเหล็ก โลหะ และยานยนต์โดยเฉพาะรถยนต์เชิงพาณิชย์ยังขยายตัวดีส่วนการนำเข้าหดตัวร้อยละ 7.2 จากระยะเดียวกันปีก่อน จากการหดตัวของการนำเข้าทองคำและหมวดวัตถุดิบและสินค้าขั้นกลางที่ใช้ในอุตสาหกรรมเพื่อการส่งออกเป็นสำคัญ

การส่งออกที่หดตัว ส่งผลให้การผลิตภาคอุตสาหกรรมหดตัวต่อเนื่อง โดยดัชนีผลผลิตภาคอุตสาหกรรมหดตัวร้อยละ 13.7 จากระยะเดียวกันปีก่อน ตามการหดตัวของการผลิตภาคอุตสาหกรรมที่เน้นผลิตเพื่อการส่งออก โดยเฉพาะฮาร์ดดิสก์ไดรฟ์ หลอดอิเล็กทรอนิกส์และส่วนประกอบ เครื่องนุ่งห่ม และเครื่องใช้ไฟฟ้า ขณะที่การผลิตของอุตสาหกรรมที่ผลิตทั้งเพื่อจำหน่ายในประเทศและเพื่อส่งออกยังคงขยายตัวดี โดยเฉพาะการผลิตรถยนต์เพื่อเร่งส่งมอบให้ลูกค้า

สำหรับผลผลิตสินค้าเกษตรขยายตัวร้อยละ 8.9 จากระยะเดียวกันปีก่อน โดยเป็นการขยายตัวจากทั้งผลผลิตข้าว ยางพารา ปาล์มน้ำมัน และปศุสัตว์ ขณะที่ราคาสินค้าเกษตรยังคงหดตัวร้อยละ 11 จากระยะเดียวกันปีก่อน ตามราคายางพาราที่หดตัวจากอุปสงค์ต่างประเทศที่ชะลอลงและผลของฐานสูงในปีก่อนประกอบกับราคาสุกร ไก่เนื้อ และไข่ไก่หดตัวจากผลผลิตที่ออกสู่ตลาดมาก ส่งผลให้รายได้เกษตรกรหดตัวร้อยละ 3.1 จากระยะเดียวกันปีก่อน

ภาคการท่องเที่ยว นักท่องเที่ยวต่างประเทศมีจำนวน 1.6 ล้านคน เพิ่มขึ้นร้อยละ 8.5 จากระยะเดียวกันปีก่อน ตามการเพิ่มขึ้นของนักท่องเที่ยวจากจีน เวียดนาม และลาวเป็นสำคัญ ขณะที่นักท่องเที่ยวมาเลเซียลดลงจากสถานการณ์ความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ประกอบกับการประกอบพิธีฮัจญ์ในปีนี้ตรงกับเดือนกันยายนซึ่งเร็วกว่าปีที่ผ่านมา

การใช้จ่ายภาคเอกชนขยายตัวอย่างต่อเนื่อง โดยดัชนีการอุปโภคบริโภคภาคเอกชนขยายตัวร้อยละ 4.7 จากระยะเดียวกันปีก่อน ตามการใช้จ่ายทั้งในสินค้าคงทนและไม่คงทน สะท้อนจากภาษีมูลค่าเพิ่ม ณ ราคาคงที่ โดยเฉพาะจากฐานการบริโภคภายในประเทศที่ขยายตัวอยู่ในเกณฑ์ดี และปริมาณยอดขายยานยนต์ที่อยู่ในระดับสูง ส่วนปริมาณการนำเข้าสินค้าอุปโภคบริโภคขยายตัวชะลอลงหลังจากที่เร่งไปในช่วงก่อนหน้า สำหรับการลงทุนภาคเอกชนขยายตัวในอัตราที่ชะลอลงกลับเข้าสู่ภาวะปกติ โดยดัชนีการลงทุนภาคเอกชนขยายตัวร้อยละ 12 จากระยะเดียวกันปีก่อน ชะลอลงตามการลงทุนในหมวดเครื่องจักรและอุปกรณ์เป็นสำคัญ

ภาครัฐ รายได้นำส่งเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนตามการนำส่งภาษีมูลค่าเพิ่ม สอดคล้องกับการบริโภคในประเทศที่ขยายตัว ขณะที่รายจ่ายรัฐบาลเพิ่มขึ้นจากรายจ่ายลงทุนเพื่องานด้านชลประทานและการคมนาคมเป็นสำคัญ อย่างไรก็ดี ในเดือนนี้มีการนำส่งรายได้ในจำนวนที่สูงกว่ารายจ่าย ส่งผลให้ดุลเงินสดเกินดุล 71.9 พันล้านบาท

เสถียรภาพเศรษฐกิจ อัตราการว่างงานยังอยู่ในระดับต่ำต่อเนื่อง ขณะที่อัตราเงินเฟ้อทั่วไปเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนมาอยู่ที่ร้อยละ 3.38 จากฐานราคาพลังงานที่ต่ำในปีก่อน เนื่องจากรัฐได้ยกเว้นการจัดเก็บเงินเข้ากองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงเป็นสำคัญ ส่วนอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานเร่งขึ้นเล็กน้อยจากเดือนก่อนมาอยู่ที่ร้อยละ 1.89 จากการปรับเพิ่มอัตราจัดเก็บภาษีสรรพสามิตสำหรับสุราและยาสูบของภาครัฐ ด้านดุลการชำระเงินเกินดุลตามการเกินดุลการค้าจากการนำเข้าที่ลดลง ประกอบกับมีการไหลเข้าสุทธิของเงินทุนเคลื่อนย้ายตามการไหลเข้าของเงินลงทุนในตราสารหนี้ของนักลงทุนต่างชาติ และการกู้เงินระยะยาวของธนาคารพาณิชย์ไทย

ภาวะเศรษฐกิจในไตรมาสที่ 3 ปี 2555 ขยายตัวจากไตรมาสก่อนในอัตราที่ชะลอลง เนื่องจากการส่งออกและการผลิตภาคอุตสาหกรรมที่เน้นผลิตเพื่อการส่งออกได้รับผลกระทบจากปัญหาวิกฤตเศรษฐกิจโลกมากขึ้น ประกอบกับการใช้จ่ายเพื่อซ่อมแซมและทดแทนความเสียหายจากอุทกภัยลดลง โดยการลงทุนภาคเอกชนชะลอลงกลับสู่ภาวะปกติในปลายไตรมาส ขณะที่ภาคการท่องเที่ยวยังคงขยายตัวดี สำหรับเสถียรภาพเศรษฐกิจ อัตราการว่างงานอยู่ในระดับต่ำ ขณะที่อัตราเงินเฟ้อทั่วไปปรับสูงขึ้นจากไตรมาสก่อน

ธนาคารแห่งประเทศไทย

ข้อมูลเพิ่มเติม: ทีมเศรษฐกิจมหภาค

โทร. 0 2283 5647, 0 2283 5648

e-mail: MPGMacroEconomics@bot.or.th

ที่มา: ธนาคารแห่งประเทศไทย


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ