สรุปภาวะเศรษฐกิจและการเงินภาคใต้ ไตรมาส 3 ปี 2555

ข่าวเศรษฐกิจ Friday November 2, 2012 15:38 —ธนาคารแห่งประเทศไทย

ฉบับที่ 20/2555

ภาวะเศรษฐกิจภาคใต้ไตรมาสที่ 3 ขยายตัวตามแรงขับเคลื่อนของอุปสงค์ภายในประเทศ ทั้งการอุปโภคบริโภคและการลงทุนภาคเอกชนที่ขยายตัวจากแรงสนับสนุนของมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐ สินเชื่อที่ขยายตัว และรายได้การท่องเที่ยวที่ยังอยู่ในเกณฑ์ดี แม้รายได้เกษตรกรจะลดลงตามราคาสินค้าเกษตรที่ได้รับผลกระทบจากเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัวก็ตาม

ด้านการผลิต การผลิตในภาคอุตสาหกรรมขยายตัวต่อเนื่อง โดยเฉพาะอาหารทะเลแปรรูป และถุงมือยาง ซึ่งเป็นสินค้าจำเป็น ส่วนการผลิตยางแปรรูปยังคงลดลงตามความต้องการของตลาดโลก

รายละเอียดของภาวะเศรษฐกิจภาคใต้ มีดังนี้

การลงทุนขยายตัวสูงขึ้น โดยดัชนีการลงทุนภาคเอกชนขยายตัวร้อยละ 5.1 จากที่ขยายตัวร้อยละ 4.3 ในไตรมาสก่อนหน้า เป็นผลจากการเพิ่มขึ้นของพื้นที่อนุญาตก่อสร้างทุกประเภท รวมทั้งยอดจดทะเบียนรถยนต์บรรทุกส่วนบุคคลและมูลค่านำเข้าสินค้าทุนที่เพิ่มขึ้น เช่นเดียวกับการอุปโภคบริโภคขยายตัวร้อยละ 2.6 ตามการเพิ่มขึ้นของการจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม รวมทั้งการจดทะเบียนรถยนต์นั่งส่วนบุคคล และรถยนต์บรรทุกส่วนบุคคล ที่เพิ่มขึ้นจากมาตรการภาครัฐ

ขณะเดียวกันการท่องเที่ยว จำนวนนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติขยายตัวร้อยละ 7.1 สูงกว่าร้อยละ 5.3 ในไตรมาสก่อนตามการขยายตัวของการท่องเที่ยวทางฝั่งอันดามันและฝั่งอ่าวไทย เนื่องจากนักท่องเที่ยวจีน เกาหลี รัสเซีย และเยอรมัน เดินทางเข้ามาอย่างต่อเนื่อง เป็นผลจากการเพิ่มเที่ยวบินและเปิดเส้นทางบินจากต่างประเทศมายังแหล่งท่องเที่ยวสำคัญ นอกจากนี้การท่องเที่ยวของภาคใต้ชายแดนฟื้นตัวดี ทำให้นักท่องเที่ยวต่างประเทศเดินทางผ่านด่านตรวจคนเข้าเมืองในภาคใต้ มีจำนวน 1,422,714 คน ส่งผลให้อัตราการเข้าพักโรงแรมอยู่ที่ร้อยละ 59.0 ปรับดีขึ้นจากร้อยละ 58.3 ในช่วงเดียวกันปีก่อน

สำหรับผลผลิตสินค้าเกษตรเพิ่มขึ้นร้อยละ 4.6 จากที่ลดลงร้อยละ 2.5 ในไตรมาสก่อนหน้าตามผลผลิตปาล์มน้ำมันที่ออกสู่ตลาดมากขึ้น ด้านราคาสินค้าเกษตรลดลงต่อเนื่องร้อยละ 29.9 ตามราคายางที่ลดลง เนื่องจากปัจจัยลบจากเศรษฐกิจโลก วิกฤตหนี้ของสหภาพยุโรป รวมทั้งภาวะเศรษฐกิจจีนที่ชะลอตัว ทำให้รายได้เกษตรกรลดลงร้อยละ 26.8

ด้านการผลิตภาคอุตสาหกรรมขยายตัวร้อยละ 3.0 สูงขึ้นจากร้อยละ 0.5 ในไตรมาสก่อน โดยเฉพาะอาหารทะเลแช่เย็นแช่แข็ง และอาหารทะเลกระป๋อง เนื่องจากความต้องการที่เพิ่มขึ้นจากการขยายตลาดไปยังตะวันออกกลาง เอเชีย และแอฟริกาใต้ รวมทั้งถุงมือยาง เพิ่มขึ้นตามการส่งออกไปตลาดสหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น และออสเตรเลีย ขณะที่ไม้ยางพาราแปรรูปลดลง ตามความต้องการซื้อจากประเทศจีนที่ลดลง และยางแปรรูป ลดลงจากตลาดญี่ปุ่น สหรัฐอเมริกา และยุโรป

สำหรับมูลค่าการส่งออกลดลงร้อยละ 29.0 ตามการลดลงของมูลค่าส่งออกสินค้าหลัก โดยเฉพาะ ยางพาราที่ลดลงร้อยละ 45.7 ขณะที่มูลค่าส่งออกอาหารกระป๋องและถุงมือยาง เพิ่มขึ้น สำหรับการนำเข้ามีมูลค่าลดลงร้อยละ 11.4 ตามการลดลงของน้ำมันเชื้อเพลิง สินค้าอิเล็กทรอนิกส์และน้ำยางสังเคราะห์ ขณะที่มูลค่าการนำเข้าเครื่องจักรและอุปกรณ์ สัตว์น้ำแช่แข็ง และอุปกรณ์ก่อสร้าง เพิ่มขึ้น

ส่วนเงินให้สินเชื่อขยายตัวร้อยละ 16.4 โดยเฉพาะสินเชื่อส่วนบุคคล จากนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐ อาทิ นโยบายบ้านหลังแรกและรถยนต์คันแรก สำหรับเงินฝากขยายตัวร้อยละ 12.6 เนื่องจากธนาคารพาณิชย์เร่งระดมเงินฝากเพื่อรักษาฐานลูกค้าและรองรับการขยายตัวของเงินให้สินเชื่อ

ด้านอัตราเงินเฟ้ออยู่ที่ร้อยละ 3.39 สูงขึ้นเล็กน้อยจากร้อยละ 3.37 ในไตรมาสก่อนหน้า ตามราคาสินค้าในหมวดที่ไม่ใช่อาหารและเครื่องดื่มที่เพิ่มขึ้น เนื่องจากการปรับขึ้นของราคาพลังงานและอัตราภาษีสรรพสามิตยาสูบและสุรา ขณะที่ราคาสินค้าในหมวดอาหารและเครื่องดื่มชะลอตัวต่อเนื่อง ตามการชะลอลงของราคาสินค้าเกือบทุกประเภท ยกเว้นราคาผักและผลไม้

ธนาคารแห่งประเทศไทย สำนักงานภาคใต้

ข้อมูลเพิ่มเติม : ส่วนเศรษฐกิจภาค โทรศัพท์ 0-7427-2000 ต่อ 4716

e-mail : Puangpeu@bot.or.th

ที่มา: ธนาคารแห่งประเทศไทย


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ