ปาฐกถา: โอกาสและศักยภาพทางการเงินของไทยในยุค AEC

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday November 15, 2012 13:27 —ธนาคารแห่งประเทศไทย

ปาฐกถา

ดร. ประสาร ไตรรัตน์วรกุล

ผู้ว่าการ ธนาคารแห่งประเทศไทย

เรื่อง “โอกาสและศักยภาพทางการเงินของไทยในยุค AEC”

ในงานจุฬาวิชาการ’45 เนื่องในโอกาสครบรอบ 50 ปี บัณฑิตวิทยาลัย จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

วันพฤหัสบดีที่ 15 พฤศจิกายน 2555 เวลา 09.45-10.30 น.

ณ อาคารมหิตลาธิเบศร จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

___________________________________________________________________________

ท่านอธิการบดี คณาจารย์ นิสิต และท่านผู้มีเกียรติทุกท่าน

ผมได้รับเกียรติอย่างยิ่งจากท่านอธิการบดีจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยที่ได้เชิญผมมาเป็นผู้บรรยายปาฐกถาพิเศษในวันนี้ และรู้สึกยินดีที่ได้มีส่วนร่วมในงานจุฬาวิชาการประจำปี 2555 และในโอกาสครบ 50 ปีของบัณฑิตวิทยาลัยอีกด้วย

สำหรับเช้าวันนี้ ผมจะขอกล่าวถึงเสาหลักที่สำคัญของประชาคมอาเซียนที่จะเกิดขึ้นภายในปี 2015 นั่นคือ ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน หรือ ASEAN Economic Community: AEC และโดยที่ผมอยู่ในวงการภาคการเงิน ผมจึงขอถือโอกาสถ่ายทอดความรู้และมุมมองในเรื่อง โอกาสและศักยภาพทางการเงินของไทยในยุค AEC ซึ่งจะแบ่งเป็น 3 ส่วน ในส่วนแรกผมจะกล่าวถึงโครงสร้าง และองค์ประกอบ (Landscape) ของAEC โดยเฉพาะการมุ่งสู่ความร่วมมือทางการเงิน ในส่วนที่สองผมจะพูดถึงความก้าวหน้าตลอดจนเป้าหมายที่จะมุ่งบรรลุในแต่ละขั้น (milestones) ของการรวมกลุ่มทางการเงิน และในส่วนที่สาม ซึ่งเป็นส่วนสุดท้าย เป็นข้อคิดเห็นว่าภาคเอกชนไทยควรจะปรับมุมมองอย่างไรในยุค AEC

ส่วนแรก: โครงสร้าง และองค์ประกอบ ของ AEC

หากเปรียบกระแสการค้าและการลงทุนเป็นเสมือนแม่น้ำ การค้าขายในยุคก่อนหน้านี้จะเป็นแม่น้ำที่เกิดขึ้นตามธรรมชาติ ผสมรวมกับลำคลองสายเล็กๆ จนกลายเป็นแม่น้ำสายใหญ่ แล้วก็ไหลลงสู่ทะเลและมหาสมุทร การค้าก็เริ่มจากการซื้อขายตามธรรมชาติของอุปทานส่วนเกิน ถ่ายเทไปสู่ชุมชนที่มีความต้องการจนกระทั่งสุดท้ายไปสู่การค้าระหว่างประเทศเช่นเดียวกับที่แม่น้ำไหลออกสู่ทะเล

การรวมตัวเป็นประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน หรือ AEC ที่จะเกิดขึ้นในปี 2015 เป็นความพยายามของภาคทางการที่เกิดขึ้นมากว่า 20 ปี ที่จะเชื่อมรวมแม่น้ำสายหลักของแต่ละประเทศเข้าด้วยกัน ขุดลอกทางน้ำขยายคูคลองแขนงเล็กๆ ให้กว้างขึ้น ซึ่งเป็นมาตรการที่จะทะลายกำแพงการค้าและการลงทุนไม่ให้เป็นอุปสรรคกีดขวาง หรือที่เรารู้จักกันว่า “การรวมเป็นตลาดเดียว” (Single market) มาตรการที่เราเห็นได้ชัด คือ การลดภาษีศุลกากร การยกเลิกมาตรการอื่นๆ ที่กีดกันการค้าสินค้า การเปิดเสรีภาคบริการและภาคการลงทุน ตลอดจนการสนับสนุนการเคลื่อนย้ายแรงงานฝีมือ

ภายในปี 2015 เครือข่ายแม่น้ำสาย AEC จะโยงใยหล่อเลี้ยงประชาคมอาเซียนที่เป็นตลาดที่มีขนาดใหญ่มีประชากรเกือบ 600 ล้านคน มีมูลค่าเศรษฐกิจมากกว่า 2.1 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐฯ และเป็นกลุ่มเศรษฐกิจไฟแรงที่ทั้งโลกจับตามอง

อย่างไรก็ดี AEC ไม่ได้เป็นคำตอบสุดท้ายของอาเซียน ในทางตรงกันข้าม AEC เป็นเพียงแค่จุดเริ่มต้นในการขยายโอกาสที่จะผนวกประเทศอื่นๆ เข้ามาร่วมวงกับสมาชิกทั้ง 10 ของอาเซียน ที่ผ่านมาอาเซียนมีความร่วมมือทางการเงินกับกลุ่มประเทศ ASEAN+3 ที่รวม จีน ญี่ปุ่น และ เกาหลีใต้ นอกจากนี้ เรายังมีการร่วมมือทางการค้า โดยการทำเขตการค้าเสรีกับกลุ่มประเทศ ASEAN+6 ที่มี ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ และอินเดีย เข้ามาร่วมอีกด้วย ถ้ามองแล้ว กลุ่ม ASEAN+6 นี้ถือว่าเป็นกลุ่มเศรษฐกิจที่ใหญ่มาก ด้วยปริมาณการค้าภายในกลุ่มถึงร้อยละ 27.3 ของการค้าโลก และจำนวนประชากรเกือบครึ่งหนึ่งของประชากรโลก

ทั้งนี้ การสร้างเครือข่ายเชื่อมโยงการค้า การบริการ และการลงทุน มิได้เป็นความร่วมมือเพียงด้านเดียวของ AEC แต่ AEC ยังมีเป้าหมายที่จะสร้างปัจจัยสำคัญด้านอื่นอีกด้วย หนึ่งในนั้น คือ ภาคการเงิน โดยมีหน่วยงานอย่างกระทรวงการคลัง ธนาคารกลาง และหน่วยกำกับดูแลอื่นๆ ของทุกประเทศ ได้ร่วมกันวางยุทธศาสตร์การรวมกลุ่มภาคการเงินเช่นกัน

เป้าหมายหลักของการรวมกลุ่มทางด้านการเงิน คือ เพื่อสนับสนุนการรวมตัวของภาคเศรษฐกิจจริงในปี 2015 แต่ด้วยความอ่อนไหวของภาคการเงิน ประกอบกับการที่ประเทศสมาชิกยังมีพื้นฐานทางเศรษฐกิจที่แตกต่างอยู่มาก การรวมตัวด้านการเงินจึงเป็นไปในรูปแบบที่ยืดหยุ่น โดยตั้งเป้าหมายของการรวมกลุ่มด้านการเงินไว้เป็นปี 2020 เพื่อให้ประเทศสมาชิกมีเวลาปรับตัวและเตรียมพร้อม

ส่วนที่สอง: ความก้าวหน้า และเป้าหมายในแต่ละขั้น (milestones) ในการรวมกลุ่มทางการเงิน

ความร่วมมือทางการเงินในอาเซียนมีหลายเรื่องที่สำคัญ ก่อนหน้านี้ ผมเปรียบการค้าขาย และการลงทุนเหมือนกับแม่น้ำ ถ้ามีโครงข่ายแม่น้ำมากเพียงพอ การค้าและการลงทุนในภูมิภาคก็จะมากขึ้น ส่วนการรวมตัวในแง่การเงิน ก็คือการสร้างโครงสร้างพื้นฐานให้มีการเชื่อมโยงระบบการเงินเพื่อรองรับการชำระค่าสินค้าและบริการ และการเปิดเสรีด้านเงินทุนเคลื่อนย้ายเพื่อการลงทุนและบริการนั่นเอง

หลังจากนั้น เราย่อมต้องการให้นักธุรกิจที่ไปลงทุนในประเทศอาเซียนได้มีพาหนะและรู้จักเส้นทาง ซึ่งเปรียบเสมือนกับเรื่องที่สอง คือการเปิดเสรีภาคธนาคารเพื่อเอื้ออำนวยการทำธุรกิจและการลงทุน และสุดท้ายต้องมีการพัฒนาและเชื่อมโยงตลาดที่ธุรกิจต่างๆ สามารถข้ามพรมแดนแล้วใช้ประโยชน์ร่วมกัน นั่นก็คือเรื่องที่สาม คือ การพัฒนาตลาดทุน ทั้งนี้ ความร่วมมือด้านต่างๆ จำเป็นที่จะต้องทำไปพร้อมๆ กัน เพียงแต่ความเร่งด่วนอาจต่างกันไปตามความพร้อมของประเทศสมาชิก

ในเรื่องการเปิดเสรีเงินทุนเคลื่อนย้าย ซึ่งถือว่าเป็นปัจจัยสนับสนุนที่สำคัญต่อการรวมตัวทางการเงินอาเซียนได้กำหนดการเปิดเสรีตามความพร้อมของแต่ละประเทศ โดยหาสมดุลระหว่างความสะดวกของการเคลื่อนย้ายเงินทุน และ การรักษาเสถียรภาพของระบบการเงิน ควบคู่ไปกับการบริหารความเสี่ยงด้านอัตราแลกเปลี่ยนของแต่ละประเทศ สิ่งที่เราจะเห็นในปี 2020 คือ อาเซียนจะเป็นภูมิภาคที่มีการเคลื่อนย้ายเงินทุนที่เสรีมากยิ่งขึ้น เปิดโอกาสให้นักลงทุนจากประเทศอื่นมาลงทุนในประเทศเราได้มากขึ้น และในทางตรงกันข้ามนักลงทุนไทยก็มีโอกาสในการลงทุนในประเทศอาเซียนมากขึ้น จากการที่ทางการไทยจะผ่อนคลายกฎเกณฑ์การออกไปลงทุนในหลักทรัพย์ในต่างประเทศ ไม่ว่าจะเป็นการเพิ่มประเภทผู้ลงทุนสถาบัน หรือการยกเลิกข้อจำกัดวงเงินผู้ลงทุนต่อราย

ธปท. ได้จัดทำแผนแม่บทเงินทุนเคลื่อนย้ายระหว่างประเทศ เพื่อให้การหมุนเวียนของเงินทุนเข้าออกระหว่างประเทศของไทยสมดุลมากขึ้น และกระตุ้นการพัฒนาตลาดการเงิน เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการลงทุนและการทำธุรกิจสำหรับบุคคลธรรมดาและผู้ประกอบการ สามารถกระจายความเสี่ยงจากการลงทุนได้มากขึ้นรวมทั้งช่วยเพิ่มโอกาสในการเพิ่มความมั่งคั่งของนักลงทุนในประเทศ ทั้งนี้ เพราะเมื่อเรามาดูตัวเลขการลงทุนในต่างประเทศของคนไทยแล้ว พบว่ายังมีสัดส่วนที่ค่อนข้างต่ำ มีเพียงประมาณร้อยละ 15 ของ GDP เท่านั้น ซึ่งประเทศในระดับการพัฒนาเดียวกันมักจะมีการลงทุนต่างประเทศถึงร้อยละ 30 ของ GDP

ในส่วนของการเปิดเสรีภาคธนาคารมีเป้าหมายหลักเพื่อสนับสนุนภาคธุรกิจและประชาชนของประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนที่ทำมาค้าขายและพึ่งพาซึ่งกันและกันมากขึ้น ในปีที่ผ่านมา ธุรกิจไทยได้ลงทุนสุทธิในอาเซียนเป็นจำนวนกว่า 2.6 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ดังนั้น หากมีธนาคารพาณิชย์ของไทยไปให้บริการด้านการเงินก็จะเพิ่มศักยภาพการลงทุนของธุรกิจไทยได้ เพราะมีจุดแข็งตรงที่เข้าใจความต้องการของลูกค้าไทย รวมถึงลักษณะของธุรกิจที่จะไปเปิดเป็นอย่างดี ประกอบกับมีความสัมพันธ์กับบริษัทแม่เป็นอย่างดีอยู่แล้ว

ขณะนี้ ธนาคารกลางของแต่ละประเทศในอาเซียนกำลังหารือกันเพื่อกำหนดมาตรฐานสำหรับธนาคารพาณิชย์ที่จะดำเนินกิจการในประเทศสมาชิกอื่น หรือที่เรียกว่า Qualified ASEAN Banks (QAB) โดยหวังว่าการสร้างกฎเกณฑ์ที่จะทำให้ธนาคารพาณิชย์ของประเทศสมาชิกสามารถไปดำเนินกิจการในแต่ละประเทศได้สะดวกขึ้นกว่าปัจจุบัน ทั้งในด้านการจัดตั้งและในรูปแบบของธุรกิจภายในปี 2020

ซึ่งผลสุดท้ายจะเกิดการแข่งขันที่มากขึ้น ทำให้ค่าใช้จ่ายในด้านบริการทางการเงินลดลง ในขณะเดียวกัน จะมีผลิตภัณฑ์ที่หลากหลายขึ้น เพื่อตอบสนองความต้องการของธุรกิจและประชาชนของทั้งประชาคมเศรษฐกิจให้ดีขึ้น

แนวความคิด QAB ของอาเซียนนั้น ถือว่าสอดคล้องกับแนวความคิดในแผนพัฒนาระบบสถาบันการเงินฉบับที่สองของไทย ซึ่งตามแผนนี้ ธปท. จะเริ่มทยอยเปิดให้มีการแข่งขันจากภายนอกมากขึ้น เมื่อพิจารณาความแข็งแกร่งของธนาคารไทยแล้ว อาจกล่าวได้ว่ามีการบริหารจัดการและมีความมั่นคงที่สามารถรองรับการแข่งขันได้ และมีการดำรงเงินกองทุนที่พอเพียงและพร้อมที่จะปฏิบัติตามเกณฑ์การกำกับดูแลสากล เช่น บาเซิล 3 โดยสัดส่วนความเพียงพอของเงินกองทุนปัจจุบันอยู่ที่ระดับร้อยละ 15 ซึ่งสูงกว่าเกณฑ์ขั้นต่ำมาตรฐานที่อยู่ที่ร้อยละ 8.5 อย่างไรก็ตาม ธนาคารพาณิชย์ไทยไม่ได้เริ่มจากศูนย์ เนื่องจากธนาคารไทยหลายแห่งมีสาขาในประเทศสมาชิกอาเซียนอยู่แล้ว โดยขณะนี้มีสาขาในทุกประเทศของอาเซียนแล้ว ยกเว้นบรูไนและเมียนมาร์ (ที่ยังไม่มีสาขาแต่เปิดเป็นรูปแบบสำนักงานผู้แทน) ซึ่งการเปิดเสรีภาคการธนาคารจะทำให้ธนาคารไทยเริ่มการแข่งขันได้ทันที

สำหรับการพัฒนาตลาดทุน ถือว่าเป็นเรื่องสำคัญเช่นกัน เพราะนอกเหนือจากจะทำให้ภาครัฐและเอกชนสามารถระดมทุนได้สะดวกขึ้น และทำให้ผู้ลงทุนมีทางเลือกในการลงทุนที่หลากหลายแล้ว การพัฒนาตลาดทุนจะทำให้ระบบการเงินมีความสมดุลมากขึ้น เนื่องจากจะลดการพึ่งพาระบบธนาคารในการระดมเงินออมและจัดสรรเงินทุน ซึ่งช่วยลดความเสี่ยงที่จะเกิดวิกฤตทางการเงินโดยปริยาย

อย่างไรก็ตาม ตลาดทุนในแต่ละประเทศของอาเซียนมีขนาดเล็ก เช่น ตลาดหลักทรัพย์ไทยมีขนาดเพียงร้อยละ 0.5 ของตลาดหลักทรัพย์ทั้งหมดในโลก หรือคิดเป็นอันดับที่ 30 ดังนั้น การเชื่อมโยงตลาดทุนทั้ง 8 แห่งในอาเซียนจะทำให้มีเงินทุนมหาศาลเพื่อที่จะรองรับการรวมตัวทางเศรษฐกิจของประชาคม โดยจะมีขนาดถึง 1.98 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรืออยู่ในอันดับที่ 9 ของโลก

การเชื่อมโยงของตลาดทุนนี้ได้เกิดขึ้นแล้วในไม่กี่เดือนที่ผ่านมา คือ ที่รู้จักกันในชื่อว่า ASEAN Linkage โดยเริ่มจากการเชื่อมโยงของตลาดหลักทรัพย์สิงคโปร์และมาเลเซียในเดือนกันยายน และได้เชื่อมกับตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยในเดือนตุลาคมที่ผ่านมา สิ่งที่เกิดขึ้นทำให้คนไทยสามารถซื้อหุ้นที่จดทะเบียนในตลาดที่เชื่อมโยงกับตลาดเราได้ โดยในอนาคต คาดว่าตลาดหลักทรัพย์อื่นๆ ในอาเซียน จะเชื่อมโยงเข้าหากัน ผลที่จะเกิดขึ้นคือ ตลาดอาเซียนที่มีขนาดใหญ่ขึ้น จะสามารถดึงดูดความสนใจของนักลงทุนทั่วโลกได้มากขึ้น มีสภาพคล่องมากขึ้น ธุรกิจระดมทุนได้ถูกลง และยังป้องกันปัญหาการถูกลดบทบาท หรือที่เรียกว่าถูก marginalized ได้อีกด้วย นอกจากนี้แล้ว การระดมทุนในภูมิภาคจะสะดวกกว่าการออกไปนอกภูมิภาคเนื่องจากจะรู้จักธุรกิจดีกว่านอกภูมิภาคอีกด้วย

การพัฒนาตลาดทุนในอาเซียนไม่ใช่มีแต่เรื่องการเชื่อมโยงตลาด แต่มีเรื่องการยกระดับบทบาทและความสำคัญของตลาดหลักทรัพย์ในกลุ่มอาเซียนอีกด้วย โดยการกำหนดหลักทรัพย์ที่เรียกว่า ASEAN Stars ซึ่งเป็นหุ้น blue chips ที่มีความน่าสนใจในแต่ละประเทศจำนวน 30 หลักทรัพย์ของตลาดหลักทรัพย์แต่ละแห่งในอาเซียนโดยพิจารณาจากมูลค่าตลาด และสภาพคล่อง เพื่อช่วยนักลงทุนที่ไม่มีความคุ้นเคย โดยเฉพาะนักลงทุนนอกภูมิภาคให้สามารถเลือกลงทุนได้ง่ายขึ้น

ส่วนที่สาม : การปรับทัศนคติของไทย

ในส่วนสุดท้ายนี้ผมขอพูดถึงการปรับทัศนคติของภาคเอกชนไทยเพื่อฉกฉวยโอกาสที่มาจากการรวมกลุ่ม AEC โดยเฉพาะด้านการเงิน ในเรื่องนี้มีสองประเด็นที่สำคัญ

ประเด็นแรกเกี่ยวข้องกับการเปิดเสรีภาคธนาคาร ซึ่งเหมาะสมที่จะพูดในวันนี้ เพราะมีนายธนาคารมาร่วมเป็นผู้จัดสัมมนาด้วย สิ่งที่ผมอยากจะฝากไว้คือ อยากให้ธนาคารไทยมองว่าการเปิดเสรีภาคธนาคารเป็นโอกาส (opportunities) มากกว่าข้อเสีย (threats) เนื่องจากเป็นโอกาสดีที่ภาคธนาคารได้ทยอยปรับปรุงหรือแม้แต่ยกเครื่องกระบวนการทำงานให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น โดยอาศัยช่วงจังหวะที่อาเซียนกำลังรวมกลุ่มเป็น AEC และตักตวงผลประโยชน์จากเงินทุน เทคโนโลยี และทรัพยากรมนุษย์ที่เคลื่อนย้ายโดยเสรียิ่งขึ้น นอกจากนี้ ธนาคารไทยควรหาตลาดที่เหมาะสมกับจุดแข็งของตนเอง (Niche market) เพื่อตอบสนองความต้องการของลูกค้าในประเทศได้โดยไม่แพ้ธนาคารต่างชาติ ในขณะเดียวกัน ธนาคารไทยใดที่ยังไม่ได้ไปวางรากฐานในประเทศอาเซียน และเป็นธนาคารที่แข็งแกร่งพอที่จะผ่านกฎเกณฑ์ QAB ก็ควรจะถือโอกาสนี้ในการออกไปเปิดสาขานอกพรมแดนไทยด้วย ซึ่งตลาดในกลุ่มประเทศ CLMV ถือว่าเป็นตลาดเกิดใหม่ที่กำลังต้องการผู้นำทางที่จะนำพาธุรกิจไทยและขยายฐานลูกค้าของธนาคารเอง

ประเด็นที่สองจะเกี่ยวข้องกับผู้ผลิตคนไทย จะต้องเปิดกว้างต่อทางเลือกในการจัดสรรทรัพยากร และทางเลือกในการใช้ปัจจัยการผลิต เนื่องด้วยปัจจัยการผลิตมิได้จำกัดอยู่เพียงแต่ตลาดในประเทศอีกต่อไปหากแต่ผู้ผลิตสามารถเคลื่อนย้ายตัวเองไปตั้งโรงงานในประเทศอื่น หรือเคลื่อนย้ายแรงงาน วัตถุดิบจากประเทศอื่นมายังแหล่งผลิตของตนเองได้อย่างสะดวกกว่าแต่ก่อน

ในฐานะนักลงทุน ไม่ว่าจะเป็นผู้จัดการกองทุนขนาดใหญ่ เป็นนักลงทุนสถาบัน หรือเป็นบุคคลทั่วไปที่มีฐานะเป็นนักลงทุนก็ตาม ผมอยากจะชี้ให้เห็นว่าการเปิดช่องทางการลงทุนในประเทศอื่นๆ ในภูมิภาคจะมีส่วนสำคัญที่ทำให้นักลงทุนไทยกระจายการลงทุนไปสู่ต่างประเทศมากขึ้น (ลด home bias) ภาครัฐเองให้การสนับสนุน และได้ปูทางให้มีการลงทุนต่างประเทศแล้วจากการเชื่อมโยงตลาด และการลดอุปสรรคในด้านเงินทุนเคลื่อนย้าย ผมจึงเห็นว่าภาคเอกชน ไม่ว่าจะเป็นนักลงทุนสถาบันหรือนักลงทุนรายย่อย น่าจะถือโอกาสนี้เพื่อไปลงทุนในต่างประเทศ ทั้งนี้ นักลงทุนสถาบันอาจเริ่มโดยการขยายขอบเขตของการลงทุนให้ครอบคลุมถึงตลาดอื่นในอาเซียนได้ด้วย ซึ่งในที่สุดนักลงทุนไทยจะสามารถยกระดับตัวเองและประเทศเพื่อที่จะได้เป็นผู้จัดการเงินลงทุนระดับภูมิภาคได้

สรุป

ผมขอย้ำอีกครั้งว่า AEC เป็นเพียงแค่จุดเริ่มต้นของการพัฒนาของประเทศในภูมิภาค เป็นการเปิดโอกาสให้ประเทศสมาชิกใช้ศักยภาพระหว่างกันได้มากขึ้น ถ้าประเทศไทยอยู่เฉยๆ ก็คงได้รับประโยชน์ส่วนหนึ่ง หรืออาจจะถูกประเทศอื่นพัฒนาแซงหน้าไป แต่หากรู้จักฉกฉวยโอกาส ประเทศไทยก็จะได้รับประโยชน์มากขึ้น ดังนั้น ประเทศไทยจำเป็นต้องประสานงานกันทุกฝ่าย ภาครัฐจำเป็นต้องสร้างกฎเกณฑ์ดูแลที่พอเหมาะพอควร ให้การสนับสนุนและเปิดโอกาสให้แก่ภาคเอกชน ในการรวมตัวนี้ภาคเอกชนยังเป็นกลไกหลักในการออกไปแสวงหาโอกาสใหม่ๆ ที่เกิดขึ้น และประเทศไทยก็มีรากฐานทางการเงินที่ดี น่าจะเป็นปัจจัยช่วยให้ประเทศไทยเป็นประเทศที่อยู่ในระดับแนวหน้าของอาเซียนได้

ขอบคุณครับ

ที่มา: ธนาคารแห่งประเทศไทย


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ